bloggang.com mainmenu search

บางรายยอมทนปวดก่อให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนได้และมีสิทธิ์ลุกลามรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแพทย์แนะให้ตรวจหาความผิดปกติแต่เนิ่นๆ เพราะมีเทคโนโลยียุคใหม่มาช่วยให้ทราบผลอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยอย่างได้ผลมากขึ้น

โรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกโปร่งบางคือภาวะที่เนื้อกระดูกลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้นซึ่งกรณีของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาจากศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลรามคำแหง จะมาด้วยอาการเจ็บปวดบริเวณสะโพก หลังหรือไหล่ซึ่งจากการตรวจวินิจฉัยก็พบว่ามีกระดูกหักโดยมีสาเหตุมาจากภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

โดยทั่วไปกระดูกพรุนจะไม่มีอาการ และผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองกระดูกพรุน จนกว่าจะหกล้มแล้วเจ็บไม่ยอมหาย ญาติจึงจะพามาพบหมอซึ่งหลังจากส่งตรวจเอ็กซเรย์แล้วจะพบทั้งกระดูกหักกับร่องรอยของกระดูกพรุนที่มีอยู่ก่อนแล้ว นี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมล้มนิดๆหน่อยๆ จึงทำให้กระดูกหักซึ่งภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุนี่เองที่ทำให้กระดูกหักง่าย

ทั้งนี้สำหรับผู้สูงอายุและญาติผู้ใกล้ชิดที่อาจสงสัยว่าเข้าข่ายภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ก็สามารถทำการตรวจเพื่อหาภาวะกระดูกพรุนได้ก่อนที่จะมีอาการโดยการใช้เครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกซึ่งหากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีค่าต่ำกว่ามาตรฐานคือ -2.5 ก็ถือว่ามีภาวะกระดูกพรุนแล้วซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยขั้นตอนการใช้ยาแต่หากในรายที่ถึงขั้นกระดูกหักแล้วศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อก็จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเป็นลำดับต่อไป

วิธีการรักษานั้น ถ้ากระดูกหักบริเวณคอสะโพก เรามักจะเปลี่ยนเป็นสะโพกเทียม แต่ถ้าถัดจากบริเวณคอลงมา เราจะทำการยึดตรึงกระดูกให้กับผู้ป่วยซึ่งก็มีโอกาสสูงที่กระดูกจะติดเร็ว แล้วการผ่าตัดกระดูกหักบริเวณนี้พัฒนาไปมากแผลก็เล็กลง คนไข้จะเจ็บน้อย หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 วันคนไข้ก็สามารถที่จะนั่งได้ เป้าหมายขอการรักษาก็คือพยายามนำคนไข้กลับไปสู่สภาพเดิมก่อนจะหัก เพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตประจำวันของเขาเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด

สำหรับผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ทนเจ็บปวดโดยไม่ยอมไปรับการรักษาอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอาทิ ภาวะปอดอักเสบ ปอดบวม มีแผลกดทับหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบอันเป็นผลจากการที่ไม่สามารถขยับตัวได้ และอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่พบว่าผู้สูงอายุหกล้มแม้เพียงเล็กน้อยญาติผู้ใกล้ชิดก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆเพื่อมิให้อาการบานปลายจากกรณีกระดูกหักโดยไม่รู้ตัว

ข้อมูลสุขภาพโดย โรงพยาบาลรามคำแหง

Create Date :19 มิถุนายน 2555 Last Update :19 มิถุนายน 2555 15:11:19 น. Counter : 2291 Pageviews. Comments :1