bloggang.com mainmenu search
นวัตกรรมในการรักษาแผลเบาหวานที่เท้า..โดยไม่ต้องผ่าตัด
ผู้เป็นเบาหวานประมาณร้อยละ 15 จะเกิดแผลที่เท้า และร้อยละ 14-24 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องถูกตัดขา สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย คาดว่าในปี พ.ศ. 2553 จะมีผู้เป็นเบาหวานประมาณ 2.1 ล้านคน และจะมีผู้ที่ถูกตัดเท้าถึง 27,300 คน หรือประมาณ 3-4 คนต่อวัน
สัญญาณเตือน...
. ขนที่เท้าหรือขาจะน้อย
• สีผิวของขาจะคล้ำขึ้น บางรายอาจจะซีด
• คลำชีพจรที่หลังเท้าไม่ได้
• เท้าจะเย็นอุณหภูมิเท้าสองข้างไม่เท่ากัน
• แผลเรื้อรังที่เท้า
• เล็บหนาตัว
• หากเป็นมากจะมีการเน่าของนิ้ว
จะมีอาการอย่างไร ?
ระยะแรก : อาจไม่มีอาการใดๆ เมื่อมีการตีบตันมากขึ้นจะเริ่มมีปัญหาการปวดที่ขาเวลาเดินได้ซักระยะหนึ่งจนจำเป็นต้องหยุดพัก
ระยะต่อมา: การตีบตันเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มเดินได้น้อยลงเพราะความปวด อาจมีแผลเกิดขึ้นซึ่งแผลรักษาไม่หายด้วยการรักษาปกติ จนไปถึงนิ้วเท้าดำ ตาย เสียขาได้
มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่มีอาการปวดขาใดๆ เลยจนกระทั่ง เกิดแผลไม่หาย หรือ นิ้วเท้าดำตาย ซึ่งโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว

จะรู้ได้อย่างไร ?
ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ เช่น มีอาการปวดชาที่ขาเวลาเดิน หรือ มีแผลที่เท้าเกิดขึ้นนานกว่าสองสัปดาห์ นอกจากประวัติและตรวจร่างกายซึ่งจำเป็นต้องทำในทุกรายแล้ว ยังมีการตรวจคัดกรองด้วยการวัดความดันเทียบระหว่างขากับแขน ที่เรียกว่า Ankle-Brachial Index หรือ ABI ซึ่งสามารถบอกได้คร่าวๆ ว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในรายที่อาการไม่แน่ชัดหรือไม่มีอาการ

ทำไมถึงต้องรักษา ?
ผู้ป่วยเบาหวานนอกจากมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดที่ขาตีบตันแล้ว ตัวโรคเบาหวานเองยังทำให้เท้าชาอีกด้วย เมื่อเกิดแผลที่เท้า ก็มักถูกปล่อยปละละเลย เพราะแผลไม่เจ็บปวด จนทำให้แผลลุกลาม
หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลอาจจะลุกลาม มีการติดเชื้อจนถึงขนาดต้องตัดขา บางรายมีการติดเชื้อรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การตัดนิ้วเท้าหรือ ตัดเนื้อตายเพียงอย่างเดียว มักไม่ทำให้แผลหาย แต่กลับยิ่งทำให้แผลลุกลามมากขึ้น ถึงขั้นเสียขาได้ ดังนั้นโรคนี้จึงต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจึงจะหายและรักษาขาไว้ได้

รักษาอย่างไร ?
เทคโนโลยีการรักษาแผลเบาหวานที่เท้า
การรักษาแผลเบาหวานที่เท้า ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดตีบตัน มีหลายวิธี ผู้ป่วยที่การตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มต้นด้วยการใช้ยารักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพยาธิสภาพมากขึ้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่มากขึ้น เช่นการสอดสายสวนขยายหลอดเลือด การผ่าตัดตัดต่อ bypass เส้นเลือดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงที่ขาได้ ปัจจุบันวิทยาการด้านการสอดสายสวนขยายหลอดเลือดรุดหน้าไปมาก จากเดิมทำได้เพียงขยายหลอดเลือดที่ตีบเป็นความยาวสั้นๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถทำได้แม้ในผู้ป่วยที่มีการตันของหลอดเลือดที่มีระยะทางยาวๆ ได้ จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

ข้อดีของการรักษาด้วยการสอดสายสวนขยายหลอดเลือด
การสอดสายสวนขยายหลอดเลือดมีข้อดีมากมาย เช่น ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลเกิดขึ้น มีเพียงรูเข็มเล็กๆที่ผิวหนังบริเวณที่เจาะเท่านั้น เจ็บเพียงเล็กน้อยคล้ายการเจาะเลือด ไม่ต้องเสี่ยงต่อการดมยาสลบเพียงแค่ฉีดยาชาบริเวณตำแหน่งที่จะเจาะหลอดเลือดเท่านั้นก็สามารถทำได้ หลังจากทำผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์เหมือนผ่าตัด สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายจากการผ่าตัด

“ หากคุณตรวจพบว่ามีปัญหาหลอดเลือดส่วนปลายตีบตันอย่านิ่งนอนใจ
เพราะนั่นอาจนำมาซึ่งความสูญเสียกับตัวคุณ และขาของคุณ
หากคุณเป็นเบาหวานและมีแผลที่เท้า ยังมีวิธีการอีกมากมายที่ช่วยคุณได้
ให้โอกาสกับตัวคุณและขาของคุณสักนิดก่อนที่คุณจะตัดสินใจตัดขา ”

//www.ram-hosp.co.th
Create Date :07 กรกฎาคม 2552 Last Update :8 กรกฎาคม 2552 10:49:20 น. Counter : Pageviews. Comments :1