bloggang.com mainmenu search


สิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ คือ คุณภาพของชีวิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ ความสุขสงบของจิตใจ สุขภาพที่ดี และ ปัญญาที่ทำให้ทราบว่าทำอย่างไร จึงทำให้เกิดความสุข สงบของจิตใจ และทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพที่ดี คุณภาพของชีวิต นั้นไม่สามารถจะซื้อหาได้ด้วยเงิน ถึงแม้จะเป็นร้อยล้านพันล้านก็ตาม แต่ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็สามารถจะแสวงหาคุณภาพของชีวิตได้อย่างเต็มที่


สมองคือที่ตั้งของปัญญา การจะมีปัญญาจะต้องมีสมองดีเสียก่อน สมองจะดีได้จะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถจะบรรยายได้หมดในที่นี้ แต่ขอยกเรื่องการนอนหลับมาบรรยายก่อน เพราะเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วไปว่า การนอนหลับที่ปกตินั้น มีความสำคัญต่อสุขภาพของร่างกาย สมอง และจิตใจเป็นอย่างมาก

การนอนหลับที่ปกตินั้น หมายถึงการนอนหลับรวดเดียวตลอดทั้งคืน และเมื่อตื่นขึ้นจะแจ่มใส สดชื่น พร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ ระยะเวลาของการนอนหลับในหนึ่งคืนนั้น โดยเฉลี่ยประมาณ 6-9 ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างไป แล้วแต่ตัวบุคคล บางคนนอนเพียง 6 ชั่วโมงก็เพียงพอ บางคนอาจจะต้องการ การนอนหลับถึง 9 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำวิจัยเรื่องการนอนหลับเห็นพ้องต้องกันว่า ระยะเวลาของการนอนหลับนั้นไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอนหลับ ซึ่งโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วยสองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืน คือ
rem sleep และ non-rem sleep ถ้าหากระยะทั้งสองอย่างนี้มีอัตราส่วนที่เหมาะสมก็นับว่าเป็นการนอนหลับที่ปกติ

Rem (เร็ม) นั้นย่อมาจาก rapid eye movement ซึ่งหมายถึง การกลอกตาทั้งสองข้างไปมาอย่างรวดเร็วในขณะนอนหลับ ส่วน
non-rem sleep นั้นคือ การนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้างไม่กลอกไปมา ทั้งสองระยะนี้จะสลับกันไปมาคืนละหลายครั้ง เรายังไม่ทราบว่าหน้าที่ที่แท้จริงของ rem นั้นคืออะไร แต่พบว่ามันมีความสำคัญมากต่อสุขภาพของสมอง

คนเราต้องการการนอนหลับทั้งสองชนิดด้วยอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกาย และสมองได้พัก ได้จัดระบบใหม่ เตรียมพร้อมที่จะทำงานวันรุ่งขึ้นต่อไป
การนอนไม่หลับนั้น อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวได้กับทุกคน แต่ถ้าเกิดนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอ เป็นระยะเวลานานแล้วไม่แก้ไข อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ภายหลังผู้ที่นอนไม่หลับ หรือหลับไม่ปกติที่เป็นเรื้อรังมานาน จะมีหน้าตาไม่แจ่มใส ดูแก่กว่าอายุจริง ไม่มีสมาธิต่อการปฏิบัติหน้าที่ หงุดหงิด สัมพันธภาพต่อคนทั่วไปไม่ดี ซึมเศร้า เบื่อชีวิต เบื่อการดำเนินชีวิตความเข้าใจดั้งเดิมที่ว่า ผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับน้อยกว่าที่เคยต้องการ เมื่ออายุน้อยกว่านั้น เป็นการเข้าใจที่ผิด ผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับที่ปกติที่ยาวนานเหมือนคนอื่นๆ เหมือนกัน แต่ส่วนมากผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ โดยเฉพาะหลับแล้วตื่นบ่อยๆ และบางทีตื่นแล้วไม่ง่วงอีก เลยทำให้เข้าใจผิดว่า ผู้สูงอายุไม่ต้องการการนอนหลับนาน การนอนหลับที่ผิดปกติที่สมควรได้รับการแก้ไข อย่าถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติถ้าหากท่านนอนหลับไม่ปกติมาเรื้อรัง ควรจะลองปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอนหลับดังต่อไปนี้

1.ควรฝึกนิสัยให้เข้านอนและตื่นเป็นเวลา การเข้านอนไม่เป็นเวลาอาจจะทำให้เกิดการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุเพราะจะปรับตัวได้ไม่ดีเท่ากับวัยเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว

2.ควรฝึกนิสัยให้เข้านอนและตื่นเป็นเวลา การเข้านอนไม่เป็นเวลาอาจจะทำให้เกิดการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุเพราะจะปรับตัวได้ไม่ดีเท่ากับวัยเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว

3.พยายามอย่านอนหลับตอนกลางวัน หรือถ้าหากรู้สึกเพลีย และง่วง ก็ให้นอนหลับระยะสั้นสัก 10-20 นาที ก็จะทำให้สดชื่นขึ้น อย่านอนหลับกลางวันให้นานกว่านี้

4.ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุ คือการเดินเร็วๆ วันละ 20-30 นาที อย่าออกกำลัง 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะอาจจะนอนไม่หลับได้

5.งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางอย่าง ช็อกโกแลต เครื่องดื่มที่โฆษณาว่าเป็นการบำรุงเพิ่มกำลัง และมีคนนิยมดื่มมากนั้น มีทั้ง คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ก่อนจะดื่มสิ่งใดควรศึกษาส่วนประกอบของเครื่องดื่มนั้นก่อน

6.ควรงดดื่มสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์อาจจะทำให้ง่วง และหลับได้ง่ายก็จริง แต่มักจะทำให้ตื่นกลางดึก แล้วนอนไม่หลับอีก

7.งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคติน ที่ได้จากการสูบบุหรี่ อาจจะกระตุ้นสมอง ทำให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก แล้วยังมีอันตรายต่อสุขภาพทางด้านอื่นๆ อย่างมากอีกด้วย

8.อาหารมื้อสุดท้ายก่อนนอนควรเป็นอาหารเบาที่ประกอบด้วยอาหารแป้ง ไม่ควรมีน้ำตาล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายท่าน แนะนำให้ดื่มนมร้อน และกินกล้วยเพราะทั้งสองอย่างมีสารชื่อ Tryptophan (ทริบโทแฟน) ที่จะช่วยให้นอนหลับได้ดี

9การอาบน้ำอุ่นก่อนนอนรวมทั้งการอ่านหนังสือ หรือการนั่งสมาธิประมาณ ครึ่งชั่วโมง ก่อนนอนก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีเช่นกัน

10.ยารักษาโรคบางอย่างอาจจะทำให้นอนไม่หลับได้ ท่านควรจะถามแพทย์ผู้รักษาโรคนั้นๆ ว่ามียาที่อาจจะมีผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับหรือไม่
ควบคุมความเครียดต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวัยสูงอายุหรือความเครียดที่สะสมมานาน การแสวงหาความสงบของจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการนอนหลับ

วิธีการปฏิบัติตัวทั้ง 10 ข้อนี้ สรุปรวบรวมมาจากการค้นคว้าวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการนอนหลับ ถ้าหากท่านได้ลองปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้วยังมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับเรื้อรัง ท่านควรจะปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยให้การนอนไม่หลับเรื้อรังไปนานจะบั่นทอนสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ อย่าซื้อยานอนหลับมาใช้เอง เพราะยานอนหลับบางอย่างอาจจะทำอันตรายต่อสมองได้

อีกประการหนึ่ง มีโรคบางอย่างที่รบกวนการนอนหลับโดยตรง เช่น การปวดจากข้ออักเสบ การปวดศีรษะกลางดึกจนการมีความดันในสมองเพิ่ม การลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะบ่อยจากการเป็นต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง ถ้าหากท่านมีโรคเหล่านี้ท่านควรจะรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้สูงอายุนั้นเปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ ที่ใช้มานาน แต่มีข้อมูลสะสมไว้มากมาย (Data Bank) ข้อมูลเหล่านี้หาค่ามิได้ เพราะได้สะสมจากประสบการณ์ของชีวิตที่ยาวนาน คอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาใหม่ถึงแม้จะทำงานรวดเร็วทันใจกว่า แต่ก็ขาดข้อมูลสะสมดังกล่าวมานี้ คุณค่าของผู้สูงอายุนี้ควรจะนำมาเป็นประโยชน์ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนวัยกว่า และยังขาดประสบการณ์เพื่อที่เขาจะได้นำไปเป็นต้นตอที่จะปลูกเป็นต้นไม้ที่ใหญ่โตขึ้นอีก และไม่ต้องเริ่มเพาะเมล็ดใหม่ให้เสียเวลา นี่คือเหตุผลอย่างหนึ่งที่สมองของผู้สูงอายุควรจะได้รับการดูแลให้ดีจะได้ทำประโยชน์ต่อไปอย่างยาวนาน
Create Date :18 มีนาคม 2554 Last Update :18 มีนาคม 2554 11:06:30 น. Counter : Pageviews. Comments :4