การหลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค 3 นักเดินทาง--ต่อ

ตอนที่ ๔ การเข้าสู่วงจร “สังเกต-รู้-ปล่อย” ที่ฐานใจ

---------------นาวาเอกกฤษณ์ ได้กรุณาให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ปฏิบัติว่า เมื่อเกิดตบะความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจแล้ว จิตผู้รู้จะทำหน้าที่วิ่งออกไปรับการกระทบระหว่างอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน คือ รูปกระทบตา รสกระทบลิ้น กลิ่นกระทบจมูก เสียงกระทบหู สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกาย ธรรมารมณ์(ความรู้สึกนึกคิด)กระทบใจ จากนั้นก็จะนำกลับมาส่งข่าวให้แก่ใจที่ตั้งมั่น เกิดการรับรู้อย่างเป็นกลางๆ ไม่มีการปรุงแต่ง แล้วก็ปล่อยไป เป็นสภาวะที่ท่านนาวาเอกกฤษณ์ให้ชื่อว่า “สังเกต-รู้-ปล่อย” ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสภาวะ “สักแต่รู้” ต่อไป ดังนั้นหากเข้าฐานใจได้แล้ว ก็เพียงแค่เพียรพยายามต่อไปด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จนเป็นอุปนิสัย ฝังลงในจิตใต้สำนึก หากไม่หลุดพ้นในชาตินี้ ก็จะได้ติดตัวข้ามภพข้ามชาติต่อไปได้

ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับในการปฏิบัติขั้นนี้ เกิดขึ้นเมื่อเข้าร่วมกลุ่มได้ประมาณปีกว่าๆ หลังจากบ่มเพาะการนับที่ฐานใจจนชำนาญ แล้วตั้งมั่นระลึกรู้อยู่ที่กลางใจ ขณะที่สงบนิ่งอยู่กลางใจ จะเริ่มสังเกตเห็นด้วยความรู้สึกว่าบริเวณใกล้ๆ ความตั้งมั่นนั้น มีกระแสความสั่นสะเทือนเหมือนระลอกคลื่นปรากฏขึ้น วูบ วูบ วูบ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ นี้คือกระแสที่เกิดจากการกระทบของอายตนะที่ถูกส่งไปที่ใจ ให้ปรุงเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ หรือที่เรียกว่าเวทนา แต่ละวูบคือการก่อตัวขึ้นของกระแสธรรม ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับลง กระแสอันใหม่ก็ก่อตัวขึ้นตามมา ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนา เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนาว่าเป็นอนิจจัง-ไม่เที่ยง ทุกขัง-ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา-บังคับบัญชาไม่ได้

----------------เมื่อเพ่งมองเข้าไปในกระแสธรรมแต่ละขณะ โดยหน่วงให้มันช้าลงเล็กน้อย จะพบว่ามันเป็นเพียงอาการซึ่งก่อตัวขึ้นในความว่าง และความว่างนั้นเองคือความว่างที่รองรับทุกสรรพสิ่ง เป็นความว่างที่ไร้กระแสธรรมโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้เขียน แม้เห็นอย่างนี้แล้วแต่มันก็เป็นเพียงแค่การรู้ ไม่สามารถเห็นแจ้งออกมาจากใจหรือทำให้ใจยอมรับสภาวะความว่างนี้ได้


หลังจากรู้การเคลื่อนของกระแสเวทนาในเวทนาอยู่หลายเดือน วันหนึ่ง ขณะเข้าสมาธิที่บ้าน ผู้เขียนแค่นิ่งรับรู้กระแสของเวทนาในเวทนาไปเรื่อยๆ อยู่ๆ กระแสการสั่นสะเทือนรอบๆ ความตั้งมั่นที่ฐานใจก็สงบลง แล้วเกิดกระแสสั่นสะเทือนแบบเดิมขึ้นภายในความตั้งมั่นซึ่งเป็นฐานใจ เรียกว่าเห็นเวทนาในจิต รับรู้กระแสของเวทนาในจิตไปเรื่อยๆ เรียนรู้ว่าแม้จิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นเพียงสภาวะที่ก่อตัวขึ้นชั่วขณะในความว่าง แล้วก็ต้องดับลง
เมื่อสังเกตรู้อยู่อย่างเป็นกลางๆ กับกระแสการสั่นสะเทือนในฐานใจอยู่ครู่ใหญ่ กระแสการสั่นสะเทือนในฐานใจก็สงบลง สภาวะการระลึกรู้เคลื่อนออกจากฐานใจขึ้นมาตามแกนกลางลำตัวมาอยู่ที่ระดับตา อาการของความตั้งมั่นก็ขยายตามมาด้วย เมื่อส่งความรู้สึกลงไปด้านล่างที่กลางอก กระแสต่างๆ เงียบไปหมด รับรู้ถึงองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของขันธ์ห้า คือความว่าง หรืออากาศธาตุ นิ่งรู้อยู่ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา สักครู่หนึ่งก็พบว่ามีกระแสการเกิด-ดับ ก่อตัวขึ้นในความว่างนั้น ทำให้รู้ว่า แม้ความว่างเองก็ไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์ (เป็นความว่างที่คู่กับความไม่ว่าง ซึ่งมีอยู่บนความว่างไร้กระแสธรรมอีกทีหนึ่ง แต่ในขณะนั้นยังไม่เข้าใจถึงตรงนี้ รู้แต่ว่าความว่างก็ไม่เที่ยงเท่านั้นเอง)

ผู้เขียนรู้-เห็นอยู่กับกระแสความไม่เที่ยงในความว่าง ปล่อยการรับรู้ให้เป็นธรรมชาติและเป็นกลาง รู้อย่างนี้หลายอาทิตย์ จนกระทั่งวันหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ระหว่างเข้าสมาธิอยู่กับกลุ่มที่โรงเรียนชุมพล เกิดการโพล่งออกมาจากใจว่า อะไรๆ ก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้เลย ความว่างก็พึ่งไม่ได้ มีแต่เกิดและดับ จะย้อนลงมาหาใจที่กลางอก ก็พึ่งไม่ได้ มีแต่เกิดและดับ เกิดสภาวะตกใจขึ้นมา แล้วก็ร้องไห้ด้วยความว้าเหว่ พยายามกลั้นเอาไว้จนกลับมาถึงบ้าน นอนร้องไห้ทั้งคืน ร้องออกมาว่าช่วยด้วย ช่วยด้วย เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะพึ่งอะไร นี่คือสภาวะการยอมรับของใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบ่มสภาวะรู้มาระยะหนึ่ง ระยะหนึ่งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะมันต้องเกิดขึ้นเอง บังคับบัญชาไม่ได้เช่นเดียวกัน นี่ไม่ใช่สิ่งตายตัวที่จะต้องเกิดขึ้น ความเข้าใจของบางท่านอาจไม่ได้เป็นไปแบบนี้

--------------ในการนั่งสมาธิวันหนึ่ง ผู้เขียนอยู่กับสภาวะการสั่นสะเทือนในความว่างซึ่งอยู่ระดับตา แล้วตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า เมื่อกระแสการสั่นสะเทือนนี้คือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วขณะนี้ผู้รู้อยู่ที่ไหน ก็พบว่าผู้รู้ในขณะนั้นอยู่ประมาณท้ายทอย ก็เลยวางการรู้กระแสความเคลื่อนในความว่าง มองย้อนเข้าไปภายในผู้รู้ที่ท้ายทอย คิดเอาเองว่านี่คงจะเป็นสติซึ่งทำหน้าที่รักษาจิต นิ่งรู้อย่างกลางๆ สักพักหนึ่ง ก็พบกระแสเกิด-ดับเกิดขึ้นภายในผู้รู้หรือสติที่อยู่บริเวณท้ายทอยนั้น ก็เกิดเป็นความเข้าใจขึ้นมาว่า สติเองก็ไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน แล้วจะทำอย่างไรต่อไปเล่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงไปเสียทั้งนั้น ใจก็เกิดการวางว่า “อย่าไปดูมันเลย ดู-รู้ไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง” ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนไม่จดจ้องว่าจะดูอะไร เวลานั่งสมาธิ มีอะไรเกิดขึ้นก็ปล่อยมัน ดูมันไปอย่างนั้นๆ แล้วแต่ว่ามันจะแสดงอะไรให้ดู อันที่จริงสภาวะที่ต่อจากสภาวะเห็นกระแสเกิด-ดับนี้ นาวาเอกกฤษณ์บอกว่าหากใจมีกำลังพอ จะสามารถกระโดดเข้าสู่สภาวะดับไม่เหลือได้ แต่ผู้เขียนและเพื่อนๆอีกหลายคน ไม่สามารถทำได้ ช่วงเวลานั้นประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๓

ตอนที่ ๕ ประสบการณ์พิเศษ

หลังจากการระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจเนืองๆ แล้วรับรู้ความคิดและการกระทำจากฐานใจ ผู้เขียนสังเกตตัวเองว่ามีความไวต่อการรับรู้คลื่นจากมิติอื่นมากขึ้น แต่จะรู้เป็นความหน่วงในใจ ไม่สามารถเห็นเป็นภาพ ตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย รู้สึกหน่วงในใจทั้งวัน พยายามแผ่เมตตาไป ก็ไม่หาย จนรำคาญ นึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันพุธที่จะไปนั่งสมาธิกับกลุ่มที่รร.ชุมพลทหารเรือ พอขับรถไปถึงรร.ชุมพลทหารเรือ กระแสหน่วงในใจยิ่งแรงขึ้น เมื่อไปถึงจึงเรียนนาวาเอกกฤษณ์ว่าขอให้แผ่เมตตาก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติ หลังจากพวกเราแผ่เมตตาแล้ว ความหน่วงนั้นก็หายไปทันที นาวาเอกกฤษณ์บอกว่ากระแสที่ตามมาตอนแรกมีผู้สมทบภายหลังอีกเพียบ เขารู้ว่าจะมีการปฏิบัติธรรมที่มีแรงมากพอที่จะส่งบุญให้เขาได้ การแผ่เมตตาหรือส่วนกุศลบางครั้งถ้ากำลังไม่พอเขาก็ไม่ได้รับ การส่งบุญครั้งนี้บางส่วนก็ได้รับการยกภูมิไปผุดไปเกิดด้วย

--------------เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้เขียนไปที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใกล้อ่างเก็บน้ำมาบประชัน พัทยากลาง รู้สึกกระแสหน่วงตั้งแต่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเช่นกัน พอขับรถไปถึงที่จอดรถในรีสอร์ต เปิดประตูรถจะก้าวลงมา รับรู้ถึงกระแสความหน่วงที่โถมเข้ามาทุกทิศทางจนเหมือนมวลอากาศในบริเวณนั้นหนาแน่นไปหมด ต้องหดขากลับเข้าไปนั่งตั้งสติอยู่ในรถ แล้วแผ่เมตตาแบบอัปปมัญญา โดยเข้าสภาวะยิ้มและโปร่งเบาภายใน เข้าฐานใจ น้อมบารมีธรรมทั้ง ๔ ประการคือ บารมีแห่งพระรัตนตรัย บารมีแห่งพระโพธิสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระศรีอาริยเมตไตร บารมีแห่งเทพพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งอนันตจักรวาล บารมีแห่งครูอุปัชฌาย์อาจารย์ในทุกภพทุกชาติ ประสานรวมเข้ากับทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีที่ผู้เขียนได้กระทำมาในทุกภพทุกชาติ แล้วแผ่บุญกุศลออกจากฐานใจ ไปถึงทุกสรรพวิญญาณในที่นั้นและทั่วทั้งอนันตจักรวาล นั่งนิ่งแผ่เมตตาอยู่ครู่หนึ่ง จนรู้สึกว่ากระแสความหน่วงเบาบางลง จึงออกจากรถ เมื่อได้ไปพบผู้อำนวยการของรีสอร์ต เขาบอกว่าเคยมีคนทักเหมือนกันว่าที่นี่วิญญาณเยอะมาก แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำอย่างไร ผู้เขียนจึงแนะนำให้ทำบุญเลี้ยงพระ ซึ่งก็ดีขึ้น ภายหลังเข้าไปที่นั่นอีก กระแสเบาบางลงไปมาก

ตอนที่ ๖ พบกับท่านอาจารย์กตธุโร เมื่อพวกเราหลายคนไม่สามารถข้ามผ่านขีดจำกัดของการดำเนินสภาวะเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ แม้จะรู้-เห็นจนหมดแล้วว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไม่สามารถดำเนินสภาวะต่อไปจากนี้ได้ เกิดสภาวะเหมือนแมลงวันบินชนกระจก ได้แต่รู้-เห็นอยู่กับสภาวะเดิมๆ ไปไหนต่อก็ไม่ได้ เพราะกำลังของใจไม่พอ เนื่องจากการบ่มเพาะกำลังของใจต้องใช้สมถภาวนาซึ่งทำได้ยากในวิถีชีวิตปัจจุบัน นาวาเอกกฤษณ์จึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ ให้พวกเราเดินแนวการปฏิบัติโดยใช้ปัญญาอบรมจิต และแนะนำให้พวกเราอ่านหนังสือชื่อ “เซ็นสยาม” ของท่านอาจารย์กตธุโร ผู้ก่อตั้งสำนักเซ็นสยาม ที่จังหวัดสระบุรี พวกเราได้รับแจกหนังสือมาคนละเล่ม นาวาเอกกฤษณ์บอกว่าให้อ่านทุกวัน เดือนละจบ เป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี

ผู้เขียนเริ่มอ่านหนังสือนี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีเทคนิคอยู่ว่า ต้องใช้ใจอ่าน ไม่ใช่ใช้สมองอ่าน วิธีการก็คือ ให้นั่ง ผ่อนคลาย เข้าฐานใจ นับเบาๆจนเกิดความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจ แล้วอ่านโดยระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจตลอดเวลาด้วยความผ่อนคลาย ยิ้มเบิกบาน เมื่ออ่านใหม่ๆ มีคำหลายคำที่งงมาก ไม่เข้าใจ ท่านอาจารย์พูดถึงความไม่มี คนไม่มี สัตว์ไม่มี กูไม่มี การเห็นว่าเราไม่มี เป็นเพียงขันธ์ห้าซึ่งก็มีไม่จริง เป็นการดำรงอยู่ชั่วคราวของธาตุขันธ์ ให้ฟังเสียงระฆังที่ยังไม่ได้ตี เหล่านี้เป็นปริศนาธรรมที่ใจต้องทำงาน นำไปขบคิดอยู่เสมอ โดยไม่รู้ตัว

-----------ในช่วงที่อ่านเซ็นสยาม พวกเรามีโอกาสได้ไปกราบท่านอาจารย์กตธุโรที่บ้านตำบลนาโฉง จ.สระบุรี โดยการนำของน้องหมวย ภรรยาของนาวาเอกกฤษณ์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ท่านอาจารย์เพิ่งหายป่วย และได้อธิษฐานจิตไว้ว่า หากใครมีวาสนาเกี่ยวข้องกันมา ก็ขอให้มีโอกาสได้พบและรับฟังธรรมะจากท่าน เพราะท่านเองก็อายุมากแล้ว (เกือบ ๘๐ ปี) พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่ได้ไปหาอาจารย์หลังจากการอธิษฐานจิต ท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตายิ้มแย้มใจดี แต่มีแววตาที่มีพลัง ดูน่าเกรงขามและน่านับถือ ท่านมักนั่งบนเก้าอี้โยกประจำตัว ผู้เข้ามาขอพบก็นั่งกับพื้นเรียงรายกันทั่วไปในบ้านซึ่งกระทัดรัดน่าอยู่และร่มรื่น

----------ท่านเป็นฆราวาส และไม่มีรูปแบบพิธีกรรมที่ยุ่งยากใดๆ ในการเรียนการสอน (พวกเราไปใหม่ๆ ก็นั่งพับเพียบฟังท่านอาจารย์อย่างมีระเบียบเรียบร้อย พอหลังๆ มีความคุ้นเคยมากขึ้นก็ลงนอนหนุนหมอนฟังกันเลยทีเดียว) ท่านสอนด้วยภาษาง่ายๆ ใครเรียนมาแค่ไหน ติดอะไร ยึดอะไร ท่านจะพูดให้หายติดหายยึด และไม่วกวน คือให้รู้สึกลงไปและเห็นลงไปว่า ไม่มีเราอยู่ในกองธาตุที่ประกอบเป็นร่างกายนี้ ผู้เขียนประทับใจอย่างยิ่งในการสอนและในความเมตตาของท่านอาจารย์ จึงตกลงกันว่าจะไปพบท่านทุกเดือน โดยนำพาผู้สนใจไปพบท่านให้ได้มากที่สุดในแต่ละครั้ง

ชื่อเดิมของท่านอาจารย์คือ “สมทรง คำนวณศร” ตอนบวชท่านใช้ฉายาว่า “กตธุโร” เหล่าศิษย์จึงเรียกท่านว่า “อาจารย์กตธุโร” การได้ไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ทุกเดือน ทำให้ทราบว่าท่านเรียนแค่ ป. ๔ แต่ท่านมีพรสวรรค์ด้านการแต่งกลอน ท่านได้เรียนรู้การเล่นและการร้องลิเกตั้งแต่เด็กๆ จนเป็นหนุ่ม ได้มีคณะลิเกเป็นของตนเอง มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านแต่งเรื่องที่ใช้เล่นลิเกด้วยตัวเอง เล่นแต่ละวันไม่ซ้ำกัน อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไปรับงานที่งานบุญแห่งหนึ่ง ขณะขนของเข้าไปในงาน ท่านได้ยินเทศน์จากเครื่องกระจายเสียงว่า ผู้ที่มีอาชีพศิลปินร้องรำทำเพลงให้คนดูสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสม เพราะทำให้คนลุ่มหลงอยู่กับกามตัณหา ปิดกั้นทางที่จะบรรลุธรรมของผู้คน ท่านเกิดความสะดุ้งกลัวต่อบาป จึงตัดสินใจเลิกคณะลิเกตั้งแต่นั้น และหันไปประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป

เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ท่านสามารถตั้งตัวได้ มีธุรกิจโรงแรมเล็กๆอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ท่านให้ภรรยาและลูกดูแลธุรกิจ ส่วนตัวท่านไปบวชและเริ่มปฏิบัติธรรม ท่านเล่าว่า วันหนึ่งท่านฝันว่ามีพระภิกษุรูปร่างผอมบาง มาพบท่านและบอกว่า โลกนี้จะต้องไม่ว่างจากพระอรหันต์ อีกสามวันฉันจะตาย อยากให้เธอรับปากว่าจะทำหน้าที่แทนฉัน ท่านตอบไปในฝันว่า เกล้ากระผมมิบังอาจดอก การเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นของสูง กระผมรับไม่ได้หรอกขอรับ แต่พระภิกษุรูปนั้นก็ย้ำแล้วย้ำอีก ให้ท่านรับปาก จนท่านจำใจต้องรับปากไป เมื่อตื่นขึ้น ก็บอกเพื่อนพระภิกษุด้วยกันว่าภายในสามวันนี้ หากได้ข่าวว่ามีพระผู้ใหญ่ท่านใดมรณภาพให้บอกกันด้วย ก็ปรากฏว่ามีข่าวการมรณภาพของพระภิกษุท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งเมื่อเห็นรูปแล้วก็จำได้ว่าเป็นพระภิกษุที่มาเข้าฝันท่านอาจารย์นั่นเอง


นับจากวันที่ฝันเป็นต้นมา การพัฒนาจิตของท่านอาจารย์ก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จากการเกิดความรู้ความเข้าใจว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่เคยมีมาในโลก แล้ววางกายเสียได้ จากนั้นก็เห็นว่าใจก็ไม่ใช่เรา ทั้งกายและใจเป็นของโลก ของธรรมชาติ มีกำเนิดมาจากความว่างที่รองรับสรรพสิ่งในอนันตจักรวาลนี้ การรู้การเห็นของท่านดำเนินไปจนเข้าสู่สภาวะแจ้ง และแทงตลอดในที่สุด ท่านบอกว่า เมื่อเรามีเงินอยู่ ๑๐๐ บาท ใช้หมดไปเท่าใดก็รู้ด้วยตัวเอง และเมื่อใช้ไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือแล้ว เหมือนกับสภาวะของใจที่ไม่มีเชื้อเหลือที่จะนำมาเกิดอีกแล้ว ก็จะรู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน ไม่ต้องให้มีใครมาบอก
ท่านลาสิกขาบทออกมาอยู่กับบ้านเพื่อความสะดวกในการสอนธรรม แรกๆ ท่านสอนแบบเถรวาท มีทั้งปริยัติและปฏิบัติ เป็นเวลานาน ไม่สามารถทำให้ใครเข้าใจธรรมจนถึงขั้นที่ท่านเรียกว่า “เปิดธรรม” (คืออาการที่แสดงออกเมื่อใจยอมรับธรรมะในขั้นต้น โดยมากมักเป็นอาการน้ำตาไหล) ได้แม้แต่คนเดียว ต่อมาท่านได้ปรับการสอนให้เป็นกึ่งเถรวาทและกึ่งเซ็น (หลักการของแนวเซ็นคือการใช้ปัญญาพิจารณาจนสามารถรู้เห็นได้จากใจว่าคนไม่มี สัตว์ไม่มี กายไม่มี ใจไม่มี กูไม่มี) แต่ก็มีผู้เปิดธรรมได้ไม่กี่คน มาระยะหลังท่านจึงตัดสินใจใช้การสอนแนวเซ็นเพียงอย่างเดียว ด้วยการใช้คำถามกระตุ้นความสงสัย ใช้การสาธิตด้วยสิ่งของต่างๆ รอบตัว และใช้นิทานคำกลอนที่ท่านแต่งขึ้นเอง ปรากฏว่าท่านสามารถเปิดธรรมให้แก่ศิษย์ได้มากมายหลายสิบคน และบางคนก็ไปถึงจุดที่เงิน ๑๐๐ บาทหมดสิ้นไปได้ นี้ทำให้ท่านมั่นใจในแนวทางของเซ็นมากขึ้น และใช้แนวเซ็นที่ท่านประยุกต์ขึ้นเอง เป็นแนวทางที่ท่านเรียกว่า “เซ็นสยาม”
ท่านมีโรคหัวใจประจำตัวมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ท้อถอย คงให้ธรรม สอนธรรมแก่ผู้มาขอฟังหรือมาเรียนอย่างไม่เคยปริปากบ่นเลย ไม่ว่าจะมารับฟังที่บ้านหรือโทรศัพท์มาคุยด้วย ทั้งที่อยู่ในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้ไกล เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงรายก็มี
----------สำหรับศิษย์ใหม่ ท่านมักอ่านข้อเขียนของท่านให้ฟังว่า “เราควรจะทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย ตามข้อเท็จจริงแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีโลก ไม่มีสิ่งใดๆ เลย เมื่อมีโลกขึ้นมาจึงมีสิ่งทุกสิ่ง…สรรพสัตว์เหล่าใดก็ตาม ถ้ายังมีจิตผูกพันในลักษณะที่เรียกว่ายึดติดใน ธรรม ก็ถือว่าเป็น อุปาทาน ทั้งสิ้น

--------------สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายพึงกำหนดรุ้ว่า ธรรมที่เราแสดงนั้นมีอุปมาดั่งพ่วงแพให้อาศัย แม้แต่ธรรมก็ยังต้องละเสีย จักกล่าวไปไยกับอธรรมเล่า...” แสดงว่าแม้ธรรมะพระพุทธองค์ก็ทรงสอนว่าไม่ให้ยึดถือ จึงไม่ควรกล่าวว่าสิ่งใดเป็นธรรมมะและมิใช่ธรรมะ เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายต่างก็อาศัยสังขตธรรมนี้แล้ว จึงมีความแตกต่าง...

------------------อะไรเล่าเป็นผู้ดับสรรพกิเลสและบรรลุพระนิพพาน จะเห็นได้ว่าว่างเปล่าทั้งสิ้น ไม่มีสภาวะใดเกิดขึ้นหรือดับไป ฉะนั้น ผู้บรรลุหรือผู้ถึงนิพพานหามีไม่ เปรียบเสมือนมายาบุรุษคนหนึ่ง ประหารมายาบุรุษอีกคนหนึ่ง การประหารของมายาบุรุษทั้งสอง ย่อมเป็นมายาไปด้วย เช่นนี้จะมีอะไรอีกเล่าสำหรับการบรรลุและไม่บรรลุ”

ตอนที่ ๗ แนวทางของ”เซ็นสยาม”

ในระหว่างการสนทนากับท่านอาจารย์กตธุโร ท่านจะให้พวกเราบอกว่าขณะนี้กำลังปฏิบัติไปถึงตรงไหน มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความสงสัยอย่างไร จากนั้นท่านจะชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก สภาวะธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดทางกายหรือทางใจ ล้วนเป็นของไม่มี เป็นของมีไม่จริง เป็นของที่เกิดขึ้นเพราะมีตัวกูเข้าไปยึดถือ พวกเราก็งงว่าแล้วจะเอาตัวกูออกได้อย่างไร ต้องทำอย่างไร ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเอาออก ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเดินจงกรม ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องสวดมนต์ ตัวกูนั้นมันมีไม่จริงอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเราไม่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ มีเพียงแค่ขันธ์ห้าที่เป็นของธรรมชาติ ฟังแค่นี้ก็มึนตึ้บแล้ว
ท่านให้เรียนรู้ ให้ดูเฉยๆ ว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่มีในเรา เราไม่มีในกาย ดูให้เห็นลงไปจริงๆ ว่ามันเป็นมัน มันเป็นของของโลก เกิดจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมกัน จึงมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้น เหมือนกับมีดินน้ำมันอยู่ก้อนหนึ่ง นำมาปั้นเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ขึ้นมา พวกเราก็งงไปงงมา ดูตัวเองทีไรก็เป็นเราอยู่นั่นแหละ

---ผู้เขียนกลับมาจากการพบกับท่าน ก็นำความรู้จากนาวาเอกกฤษณ์มาผสมผสานกับแนวทางของท่านอาจารย์กตธุโร คือ อันดับแรก เข้าฐานใจด้วยความผ่อนคลายแล้วนับ จนเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาที่ใจ รู้อยู่ที่ใจ แล้วหยุดนับ หันมาบริกรรมด้วย “ดาบอนัตตา” ของท่านอาจารย์กตธุโรว่า “มันเป็นมัน มันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน ไม่มีมันในเรา ไม่มีเราในมัน มันมีไม่จริง เราไม่มี” ด้วยวิธีนี้ เป็นการใช้ใจบริกรรม ไม่ใช่ใช้สมองหรือความคิดในการบริกรรม (นี่คือบทเรียนข้อสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากความล้มเหลวในช่วงเวลามากกว่าสิบปีของการปฏิบัติก่อนที่จะได้พบนาวาเอกกฤษณ์) พร้อมกับตามดู ตามรู้ ตามสังเกตว่ากายและใจนี้ มันหิวเอง มันกินเอง มันรู้รสเอง มันอิ่มเอง มันปวดท้องขับถ่ายเอง มันง่วงเอง มันหลับเอง มันคิดเอง มันรู้สึกเอง อารมณ์ความรู้สึกทั้งทางกายทางใจ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ด้วยตัวของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นตัวเรา ของเรา อยู่ในกระบวนการธรรมชาตินี้เลย ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามันยังรู้เห็นไม่ได้ ก็วิปัสสนึกไปก่อน บอกตัวเองไปเนืองๆ จนใจมันยอมรับและเกิดปัญญาขึ้นมา

ผู้เขียนทำเช่นนี้ตลอดทั้งวันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน ยกเว้นเวลาที่ต้องใช้ความคิดทำงานก็จะหยุดบริกรรม ผสมผสานกับความเข้าใจที่เคยประสบมาแล้วว่าทั้งเวทนา จิต (อาการที่ใจเกิดความปรุงแต่งเป็นความคิด เป็นอารมณ์) ความว่าง สติ ล้วนเป็นกระแสไหลเรื่อยที่อยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความรู้สึกว่าก้อนธาตุนี้คือเราก็ค่อยๆ จางคลายไปเรื่อยๆ



Create Date : 20 สิงหาคม 2554
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 1:48:39 น. 2 comments
Counter : 1763 Pageviews.

 
โมทนาสาธุครับ ท่านควรพิมพ์แล้วแจกเป็นธรรมทาน เพื่อให้ มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ประจักษ์ ความสุขที่แท้จริงครับ ขอบพระคุณในธรรมทานครับ


โดย: shadee829 วันที่: 20 สิงหาคม 2554 เวลา:9:02:34 น.  

 
เดี๋ยวจะเอาไฟล์ไปให้พ่อ พ่อผมมีเครื่องปริ๊นท์และเครื่องถ่ายเอกสาร ว่าจะเอาไปแจกพวกหมอ พยาบาล แถวๆนี้ก่อนครับ


โดย: jesdath วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:13:21:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jesdath
Location :
เชียงราย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jesdath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.