ทางหลุดพ้นแบบฉับพลัน ภาค2 นักเดินทาง

---เคยคุยกันกับพี่สาวว่า หากใช้สมองคิด จะช้า และไม่ถูกก็มี แต่ถ้าใช้จิตคิดจะเร็วและถูกต้องแม่นยำมาก
---ในการขับรถ รถที่พุ่งเข้าสหาเราจะมีพลังพุ่งมาถึงเราก่อนตัวรถเสียอีก บางครั้งเราจับพลังนี้ได้ และทำให้การขับรถนั้นปลอดภัยมากขึ้น

นักเดินทาง
โดย รศ. ดร.พงษ์จันทร์ จันทยศ


ตอนที่ ๑ เริ่มรู้จักศาสนาพุทธที่แท้จริงเพราะทุกข์

ผู้เขียนเริ่มได้เข้าปฏิบัติธรรมเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยเหตุแห่งทุกข์ที่วิชาความรู้ทางโลกที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยได้เลย ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเป็นชาวพุทธที่ไม่ค่อยได้เข้าวัด ทำบุญให้ทานตามโอกาสวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น เห็นคนไปนั่งสมาธิก็คิดว่าช่างเป็นการเสียเวลา ไปนั่งหลับตาอยู่ทำไม ทั้งยังร่ำเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ จึงเห็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเครื่องมือเป็นเรื่องงมงาย ต้องขอบคุณความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขอบคุณกัลยาณมิตรคือคุณรัชฎา (ฉันทวิริยวิทย์) เหมะศิลปิน ที่กรุณานำไปพบคุณแม่สิริ กรินชัย และได้เข้าปฏิบัติคอร์สพัฒนาจิตเพื่อให้ปัญญาเกิดสันติสุข ๗ วันที่บ้านของคุณสมชาติ-สุชีรา ปิยะบวร บริเวณสะพานใหม่ ดอนเมือง ก่อนไปก็ยังสองจิตสองใจเพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ขณะนั้นสอนอยู่ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ห่วงนักศึกษา ห่วงงาน ว่าถ้าเราไม่อยู่ใครจะทำแทน แต่โชคดีที่เกิดความคิดขึ้นว่า หากเราเดินข้ามถนนไปถูกรถชนตายในวันพรุ่งนี้ งานที่เราคิดว่าจะไม่มีใครทำแทนได้ ก็ต้องมีคนมาทำแทนอยู่ดี ทำไมจึงคิดว่าเรามีความสำคัญอะไรขนาดนั้น จึงบอกเพื่อนร่วมงานว่าขอไปตายเจ็ดวัน แล้วพบกันใหม่ เพื่อนก็อวยชัยให้พรว่าไอ้นี่มันท่าจะบ้าไปแล้ว

เจ็ดวันที่เข้าคอร์สของคุณแม่สิริ เป็นเจ็ดวันที่ผู้เขียนได้รู้ประจักษ์ใจเป็นครั้งแรกในชีวิตนี้ว่าศาสนาพุทธที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การปฏิบัติภาวนานี้เอง นึกเสียดายว่าทำไมเราจึงไม่รู้ให้เร็วกว่านี้ ความทุกข์ที่มีท่วมท้นหมดไปจากใจ เหลือแต่ความเมตตากรุณา ความปีติ แม้จะไม่ได้บรรลุฌาน ๑๖ อะไรต่างๆแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับใจก็เพียงพอที่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรอีก จึงไปเรียนอภิธรรมที่วัดมหาธาตุ แต่เนื่องจากผู้เขียนเป็นโรคภูมิแพ้การท่องจำในขั้นรุนแรง จึงเรียนไปไม่รอด

------------สำหรับการภาวนา ผู้เขียนก็ทำได้แค่หาโอกาสเข้าปฏิบัติระยะยาวปีละครั้งต่อมาอีกหลายปี โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในด้านสภาวะธรรม จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าอยากลองปฏิบัติแนวอื่นบ้าง จึงไปเรียนรู้แนวทางของคุณแม่ ก.เขาสวนหลวงที่เขาสวนหลวง จ. ราชบุรี แต่ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์ และได้ไปที่นั่นแค่ครั้งเดียว ต่อมาได้ไปเรียนรู้แนวทางของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ที่สำนักปฏิบัติธรรมบุญกัญจนาราม พัทยา ได้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาบ้างเกี่ยวกับรูปนามและทุกข์ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากไปกว่านั้น และไปพบอาจารย์ปราโมทย์ที่ศาลาลุงชิน กทม. ศึกษาการดูจิตจากท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาส ท่านเมตตาพาเข้าสภาวะ ได้รู้ถึงสภาวะที่ท่านบอกว่าถูกแล้วอยู่แว็บเดียว แล้วก็ไม่เคยทำได้อีก แต่ก็นำหลักการของท่านมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้พอสมควร ล่าสุดก็ไปศึกษาแนวทางของพระอาจารย์มานพ อุปสโม เน้นการเจริญสติด้วยการเดินจงกรม ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เขาดินหนองแสง จ. จันทบุรี ได้เรียนรู้สิ่งละอันพันละน้อยจากอาจารย์ต่างๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถมีความก้าวหน้าใดๆในการปฏิบัติ

ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนได้เริ่มเข้ากลุ่มปฏิบัติธรรมกับนาวาเอก กฤษณ์ บุญเอี่ยม ทุกวันพุธ เวลา ๑๘๐๐-๒๑๐๐ น. ที่ห้องประชุมกองบัญชาการโรงเรียนชุมพลทหารเรือ อ.สัตหีบ เป็นกลุ่มผู้สนใจในการปฏิบัติชื่อว่ากลุ่มจุดประกายธรรม ซึ่งแนวทางการปฏิบัตินั้น เน้นการเจริญสติที่อาศับองค์ธรรมสามประการ คือสติ สมาธิ และสัมปชัญญะ ทำความรู้ตัวชัดอยู่ที่ใจ (บริเวณกลางอก) พร้อมทั้งใช้การนับ ๐ - ๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙ - ๐, ๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑ – ๐ กลับไปกลับมาตลอดทั้งวันในขณะทำงาน เป็นการประยุกต์ใช้การเจริญสติเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างลงตัว

ตอนที่ ๒ การพัฒนาสติ
ผู้เขียนประมวลความรู้ที่ได้มาจากคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ว่า เป้าหมายของการภาวนาคือการพัฒนาสติ ความหมายของสติคือความระลึกได้ ในที่นี้คือการระลึกได้ถึงการนับ ๐-๐ แต่สติจะทำงานได้ดี ต้องถึงพร้อมด้วยสัมปชัญญะ หรือความรู้ตัว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนับ ๐-๐ ย้อนกลับไปกลับมา เมื่อสติและสัมปชัญญะทำงานร่วมกัน เกิดเป็นสัมมาสติ การมีสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียวคือการนับเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดสมาธิ สมาธิในที่นี้ประกอบอยู่กับสัมปชัญญะ จึงเป็นสัมมาสมาธิ
เมื่อสติ สมาธิ สัมปชัญญะ ทำงานร่วมกัน จะเกิดเป็นความตั้งมั่นขึ้นที่ฐานใจ มีลักษณะอาการตึงๆ ขึ้นมาตรงกลางอกให้สังเกตรับรู้ได้ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือรู้อยู่กับฐานใจตลอดเวลา รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรืออื่นๆ เมื่อเราใช้สติเฝ้าดูกาย เราจะเห็นความรู้สึกและความคิดด้วย หรือเมื่อเราใช้สติเฝ้าดูความคิด เราก็จะเห็นกายและความรู้สึกด้วย เมื่อตามดูตามรู้ไปเนืองๆ ใจที่ตั้งมั่นอยู่กับฐาน ไม่ซัดส่ายออกไปรับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบเข้ามาปรุงแต่ง ใจก็จะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น จนเป็นอุเบกขา ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ความจางคลาย ความสลัดคืน ใจเป็นอิสระและปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง เข้าสู่ภาวะความว่างที่ถึงพร้อมด้วยสติและปัญญาญาณ อันนำไปสู่วิมุตติและความหลุดพ้นได้ในที่สุด

ตอนที่ ๓ ยิ้มมาก คิดน้อย

ช่วงที่ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติตามแนวทางของกลุ่มจุดประกายธรรม มีความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งต่ออัจฉริยภาพของท่านนาวาเอกกฤษณ์ ที่สามารถวิจัยรายละเอียดของสภาวะธรรมแล้วนำมาหาวิธีที่ลัดสั้นสำหรับผู้ฝึกใหม่ให้สามารถเข้าถึงสภาวะได้ในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีเทคนิคการเข้าสู่สมาธิด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการนับ การใช้ปราณ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติวางฐานกายเข้าสู่ฐานใจได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังทำให้ผู้เขียนเกิดความเข้าใจว่าที่ผ่านมานั้น การปฏิบัติของผู้เขียนติดอยู่แค่การใช้ความคิดติดตามดูกาย แม้จะดูจิต ก็ดูแบบ คิด ตามอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเข้าสู่สภาวะ รู้ การเปลี่ยนแปลงของกายและจิตได้
----------------สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ ท่านนาวาเอกกฤษณ์จะให้นั่งในท่าที่สบาย ลืมตา มองไปกว้างๆ ในแนวขนานกับพื้นโดยไม่สำคัญมั่นหมายต่อสิ่งที่ได้เห็น แล้วส่งความรู้สึกภายในไปสำรวจร่างกายตั้งแต่ศีรษะลงมา โดยให้คลายความตึงเครียดของร่างกายกายทีละส่วน ผ่อนคลายศีรษะ ลำคอ ไหล่ แขน ลำตัว ขา ลงไปถึงปลายเท้า จนกระทั่งรู้สึกถึงลมหายใจเบาละเอียดที่เคลื่อนตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งเหลือเชื่อจริงๆที่เพียงแค่ผ่อนคลายร่างกายเท่านั้น ผู้ฝึกใหม่สามารถเข้าภาวะลมหายใจเบาละเอียด ร่างกายภายในโปร่งเบา มีสติรู้กายภายนอกคือลมหายใจและภายในคืออารมณ์และความคิดนึกได้ในขณะเดียวกัน เกิดการรู้อย่างเป็นองค์รวมและเป็นกลางๆ สักแต่ว่ารู้ ประคองด้วยสติและสัมปชัญญะ นำเข้าสู่ความสงบ คือสมาธิ โดยใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที ซึ่งสภาวะเช่นนี้ ในอดีต กว่าผู้เขียนจะทำได้ต้องเดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิเป็นเวลาอย่างน้อยสามวัน จึงจะละความคิดฟุ้งซ่านเข้าสู่ความสงบได้

เมื่อเกิดสภาวะโปร่งเบาภายใน นาวาเอกกฤษณ์ให้ยิ้มน้อยๆที่มุมปาก เกิดความรู้สึกแช่มชื่น เบิกบาน น้อมความรู้สึกเบิกบานเข้าไปภายในบริเวณทรวงอกที่โปร่งโล่ง เพื่อให้เกิดสภาวะแห่งกุศลรักษาใจ ขับไล่ความคิด ความฟุ้งซ่าน และอารมณ์ที่เป็นอกุศลอื่นๆออกไปจากใจ นี้เป็นอุบายวิธีที่เยี่ยมยอดสำหรับผู้เขียนและผู้ฝึกปฏิบัติทุกคนที่คุ้นชินกับการคิด และมักจะเกิดความคิดฟุ้งซ่านรบกวนเวลาต้องการนั่งสมาธิ การยิ้มน้อยๆ อยู่เสมอ ยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติคลายจากอาการเพ่งจ้องในระหว่างปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่อาการตึง เกร็ง ปวดหัว มึนหัว
--------------ในชีวิตประจำวันที่เราง่วนอยู่กับการทำงานจนวันทั้งวันแทบจะไม่มีเวลาฝึกสมาธิหรือฝึกสติ แต่ถ้าเราฝึกตนให้ใบหน้ายิ้มน้อยๆ อยู่เสมอ ยิ้มภายนอก จะเหนี่ยวนำให้เกิดยิ้มภายในฐานใจ เป็นความแช่มชื่นเบิกบานภายใน เกิดความตื่นตัวหรือใจตื่นรู้ขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ต้องตั้งใจปฏิบัติ

เมื่อใจตื่นรู้จากภายใน การทำงานทุกอย่างของเรา ไม่ว่าคิด พูด ทำ ล้วนออกมาจากใจที่แช่มชื่นเบิกบาน อยู่ในสภาวะที่เป็นกุศล หากทำมากๆและต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่การพัฒนาต่อไปเป็นความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หรือพรหมวิหาร ๔ ใจก็เข้าสู่ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดปัสสัทธิหรือความสงบระงับทางกายและใจ เป็นเหตุให้เกิดสมาธิที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่ออุเบกขา คือ ปล่อยวาง ละวาง จากอารมณ์ทั้งปวง

---------------หลังจากฝึกปฏิบัติกับนาวาเอกกฤษณ์ ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ในการพยายามปฏิบัติภาวนาของผู้เขียน สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงคือการสลัดตัวเองให้หลุดจากความคิด ทั้งนี้เพราะด้วยหน้าที่การงานซึ่งต้องใช้ความคิดเป็นหลัก ความเคยชินกับการควบคุมตัวเองไม่ให้อารมณ์หรือความรู้สึกอยู่เหนือความคิด เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการรู้ด้วยความรู้สึก ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน สภาวะนี้เป็นสภาวะที่สำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าในการภาวนา

------------------ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งของการเข้าฐานใจด้วยการนับ ๐-๐ คือ ความรับรู้เรื่องเวลาจะลดลง เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยเราเกือบไม่ได้สังเกต ผู้เขียนเอามาใช้ในชีวิตประจำวันเวลาต้องรออะไรนานๆหรือเวลาต้องทำงานที่เราเบื่อ ไม่อยากทำ ก็จะระลึกรู้อยู่ที่ฐานใจ ยิ้ม หายใจสบายๆ นับ แล้วก็ทำงานไป ผู้ฝึกปฏิบัติสามารถเข้าสภาวะนี้ได้ทั้งวัน ในทุกอิริยาบถ ทำให้สามารถเจริญสติได้ตลอดวันโดยไม่ต้องปลีกเวลาไปนั่งสมาธิ
ถ้าเราสามารถคงสภาวะยิ้มอยู่กับฐานใจและนับได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนสังเกตว่าใจจะมีความตั้งมั่น รับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อารมณ์ ความคิดนึก อย่างเป็นกลาง ๆ ดังนั้น เวลาทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ หรือต้องตกอยู่ในสภาวะที่ทำให้เครียด ก็จะยิ้มและนับเข้าไว้ ทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น เมื่อเข้าสภาวะนี้บ่อย ๆ ผู้เขียนเริ่มสังเกตว่าเริ่มมีการเกิดสภาวะตนเตือนตนได้โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งผู้เขียนเกิดความท้อถอยในการภาวนา จิตตก หดหู่ ประมาณครึ่งวัน แล้วอยู่ๆ ก็เกิดเสียงเตือนขึ้นมาจากภายในว่า “จะหดหู่ไปทำไม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษาใจให้เป็นกุศลและเบิกบาน อย่างอื่นนั้นไม่สำคัญเลย” ก็เลยหลุดออกมาจากความหดหู่ได้ แล้วก็ยิ้มและนับต่อไป

ผู้เขียนไม่ได้ปฏิบัติสมถภาวนาอย่างจริงจังมาก่อน ความตั้งมั่นของใจจึงมีน้อย สติไม่มีกำลัง ครั้นมาเน้นการปฏิบัติแบบยิ้มและนับที่ฐานใจ ทำให้สติ สมาธิ สัมปชัญญะ พัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างได้สมดุล ไม่เน้นหนักไปที่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงนำไปสู่การรู้กายรู้ใจอย่างเป็นกลางๆ อย่างต่อเนื่อง ได้ง่ายมาก

----------การนับกลับไปกลับมา ทำให้เกิดตบะซึ่งเป็นกำลังของใจ ใจต้องมีกำลังตั้งมั่นเพื่อพิจารณาสภาวะธรรมที่ปรากฏ และเกิดการปรับสมดุลพละ ๕ และอินทรีย์ ๕ ได้ตลอดวัน เกิดความสมดุลระหว่าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา อันจะนำเข้าสู่ขั้นตอน ระลึกรู้ในนามแล้วปล่อยนาม ระลึกรู้ในรู้แล้วปล่อยรู้ รู้และเห็นแล้วปล่อยรู้และเห็น เข้าสู่ภาวะสักแต่รู้สักแต่เห็นในที่สุด

เมื่อผู้เขียนพยายามระลึกรู้อยู่กับฐานใจอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าใจที่คิดว่าตั้งมั่นดีแล้วนั้น ถูกกระแสความคิดสอดแทรกเข้ามาโดยไม่รู้ตัว อาการก็คือ ยิ่งภาวนาไป ยิ่งเกิดอาการตึง แน่น ที่ฐานใจ บางทีก็เหมือนมีอะไรหมุนๆ อยู่ตรงฐานใจ ก็ได้แต่ดูไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนวันหนึ่ง กำลังนั่งสมาธิอยู่ เกิดอาการตึงขึ้นอีก บังเอิญถามตัวเองขึ้นมาว่า “รู้ไหม” “รู้สึกอะไร” ทันทีก็รับรู้ได้ถึงการหลุดกระเด็นออกไปของกระแสความคิดที่แทรกเข้ามา ความตึงหายไป กลายเป็นความสว่าง โปร่ง เบา สบาย จึงรู้ตัวว่าที่ผ่านมานั้น ผู้เขียน “คิดว่ารู้” มาโดยตลอด ไม่ได้ “รู้ว่ารู้” ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ โดยการถามตัวเองว่า “รู้ไหม” “รู้ไหม” แม้กระนั้นก็ยังเกิดอาการตึงขึ้นมาอีกบ้าง วิธีแก้ก็คือต้องเลิกนั่งสมาธิ แต่เจริญสติด้วยการเคลื่อนไหวแทน ความรู้สึกโปร่ง เบา สบาย ก็จะกลับมาตามเดิม

-------------------------------------ยังมีต่อ--------------------------------


Create Date : 20 สิงหาคม 2554
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 1:29:57 น. 2 comments
Counter : 1859 Pageviews.

 
สาธุธรรม ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นเทอญ _/|\\_

ขอขอบคุณในความเมตตาในการลงบทความของอ.กตฺธุโร ที่วันนี้ข้าพเจ้าเพิ่งมีโอกาสได้อ่านธรรมะของท่านในหนังสือที่ชื่อว่า "เซ็นสยาม" ที่ทำให้รู้สึกซาบซื้งและได้รับรสธรรมที่หยั่งลึกจนต้องมาค้นหาข้อธรรมของท่านอาจารย์เพิ่มเติม ซึ่งก็ได้มาเจอที่นี่




โดย: ธรรมหรรษา IP: 115.87.185.36 วันที่: 22 พฤษภาคม 2555 เวลา:20:30:04 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: พิชญา IP: 58.9.208.223 วันที่: 5 ธันวาคม 2556 เวลา:13:00:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jesdath
Location :
เชียงราย Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add jesdath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.