A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Smile รอยยิ้มที่รอวันอิ่มเอม


โดยปกติแล้ว การชมซีรีย์ญี่ปุ่นของผู้เขียน
จะมุ่งเน้นเจาะจง เพียงเฉพาะความบันเทิงเริงรมย์แต่เพียงอย่างเดียว
แม้เสียงใหญ่ของนักชมซีรีย์ญี่ปุ่น จะมีเสียงออกไปในทางชื่นชมของ
หลักคิดและการให้กำลังใจ ไปสู่การบรรลุความฝันและการปรองดองร่วมกลุ่ม
แต่นั้น ก็แทบจะไม่มีความหมายแต่ประการใด ต่อผู้เขียนนัก
เพราะโอกาสในการปฏิบัติได้จริง มันสวนกันคนละเลนกับฉบับโลกซีรีย์
ที่ปรารถนาจะให้ตอนจบเป็นเฉกเช่นไรก็ได้ แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น
แม้ปฏิบัติตามเหตุปัจจัยฉบับซีรีย์อย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ตามมา
ก็ไม่ได้เป็นเช่นตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง จากเหตุของความซับซ้อนในจิตใจของมนุษย์
และค่าความเบี่ยงเบนของตัวแปรอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามสูตรเคมีหรือคณิตศาสตร์
ชนิดต้องเป้กทุกเม็ด



อย่างดีที่สุด ที่ซีรีย์จะผลิดอกออกผลได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว
คือ การเป็นภูมิคุ้มกันข้างต้นเมื่อภัยที่ยังมาไม่ถึง จึงเป็นโอกาสของการได้เรียนรู้
แบบภาพจำลองในภาวการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพื่อให้ได้พอมีโอกาสเตรียมรับมือ
และวางแผนการรองรับในผลกระทบที่จะตามมา กล่าวง่ายๆ ก็คือ
ถ้า "วิชาสปช." ตามความหมายมีว่า "สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต" เช่นไร
ซีรีย์ญี่ปุ่น ก็เกือบจะมีค่าเท่านั้น ค่าศูนย์กลางทางการศึกษา จึงมุ่งตรงไปที่ตัวเอก
เมื่อต้องเจอะกับภาวการณ์ความซวยมาเยือนเยี่ยงไร แล้วถ้าสมมติว่าเขาเป็นเรา
ควรจะปฏิบัติตัวเยี่ยงนั้นรึไม่ อยากจะเป็นพระเอกแสนดี แต่ไม่เหลืออะไร
หรือจะเป็นผู้ร้ายที่แสนเลว แต่กอบโกยความมั่งคั่งที่กองอยู่ตรงหน้า อันนี้ก็ว่ากันไป
แต่เพิ่งจะมามี ซีรีย์ญี่ปุ่นในฐานะ "สิ่งปลูกสร้างกำลังใจ" และ "ประกอบเป็นยาชูกำลัง"
แม้โดยความหวังที่ว่านั้น ตามท้องเรื่องจะเเล่นไหลเชี่ยว มีเลี้ยวบ้างไปตามบท
แต่ผู้เขียนก็อดไม่ได้ ที่จะเตลิดคิด ไปแบบเป็นจริงเป็นจัง เป็นตุเป็นตะ
ทำตัวแบบสวมวิญญาณพระเอกเข้าว่า ทั้งที่ในใจลึกๆแล้ว
โคตรจะสังเวชจิต ในตัวพระเอกอย่างหนักหนาระทม




ช่วงพักเวลาบาดเจ็บ
จากพิษของหน้า(น้ำเข้า)ที่และการ(ไม่เป็น)งาน มาบรรจบกันแบบไม่ตั้งตัว
ผู้เขียนเเอบไปเยี่ยวยาใจตัวเอง ด้วยการค่อยๆทยอยเปิดซีรีย์เรื่อง Smile
ของค่าย TBS แบบพักฟื้นอยู่เงียบๆคนเดียว เหตุที่เงียบไว้ก็เพราะ
ในช่วงเวลาที่คับขันแบบเข้ามาได้ แต่หาทางออกให้กับตัวเองไม่เจอ
ความเงียบ นอกจากจะไม่เป็นการรบกวนใจผู้อื่นแล้ว
ยังเป็นการสร้างสมาธิสมดุล หลักจากที่จิตเตลิดเกิดๆดับๆ นับครั้งไม่ถ้วน
แต่ประทานโทษ บางทีแล้ว "ความดัง" อาจจะเป็นเสียงที่เรียกแขกให้ร่วมดู
จนต้องสูญเสียน้อง "อารากาชิ ยูอิ" ไปทั้งเซ็ทซีรีย์หกแผ่น แบบเสีย smile
ด้วยรอยยิ้มที่พิมพ์ใจ จนแอบสงสัยว่า การเรียกรอยยิ้มกลับคืนของคนกรุงเทพ
ตัวเราเองจะผูกขาดวัฒนธรรมการยิ้ม ให้เป็นสมบัติประจำชาติตนไปเลยรึไง
ถ้าการยิ้ม เป็นการส่งสัญญาณถึงมิตรภาพ ความหวังและการให้กำลังใจอย่างเป็นสากล
แล้วเราจะมา "อมยิ้ม" โดยไม่ยอมแจกจ่ายและถ่ายเทมิตรภาพนี้
ประคองไว้ให้เป็นของชาติใดชาติหนึ่งกันทำไม


แม้ผู้เขียนจะขอสวมวิญญาณพระเอกตลอดเรื่อง
ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนจะชื่นชมในบทของพระเอก "วีโต้"
ที่มัตซึโมโตะ จุน ต้องรับบทพระเอกลูกครึ่งเสี่ยว พ่อฟิลิปปินส์-แม่ญี่ปุ่น
ซึ่งต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเด็กหลังครัว เพื่อจะเก็บเกี่ยวสูตรการทำอาหาร
ให้สมเจตนารมณ์ตามความฝัน ที่หวังจะเปิดร้านอาหารนานาชาติ
ที่ชนทุกชาติทุกภาษา สามารถมีความสุขและร่วมโต๊ะรับประทาน
โดยไม่มีอคติในเรื่องของสีผิว เชื้อชาติและศาสนา
แต่กระนั้น ปมปัญหาในชีวิตของวีโต้ ที่เป็นบาปติดตัวเขาสองเรือ่ง
ก็ทำให้เส้นทางตามความฝันของเรา ตีบตันและค่อยๆหลุดลอยไป ประกอบด้วย


ประการแรก ความเป็นลูกครึ่งฟิลิปปิโน-เจแปน
ส่วนนี้ เป็นอคติเชิงมุมมองของวัฒนธรรมเฉพาะที่คนญี่ปุ่นโดยสว่นใหญ่
มักมองคนต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศของตัวเองด้วยความเหยียดหยาม
และไม่ไว้ใจ ทั้งที่จริงๆแล้ว วีโต้เกิดและเติบโตในประเทศญี่ปุ่น
พูดภาษาตากาล็อกก็ไม่ได้สักคำ และไม่เคยเลยที่จะออกไปนอกประเทศสักครั้ง
ประการที่สอง วีโต้เคยถูกกล่าวข้อหาว่าด้วยไปพัวพันก็แก็งค์มิจฉาชีพ
และถูกลงโทษให้ติดคุกด้วยข้อหาในเกณฑ์ระดับเยาวชน เมื่อถูกพ้นโทษมา
ก็ถูกยัดเยียดข้อหามียาเสพย์ติดไว้ในครอบครอง เคราะห์ยังตามซ้ำ
เมื่อร้านอาหารที่เขาฝึกงานไปมีส่วนผสมของสารปนเปื้อน
ที่เป็นเหตุให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง
ต่อจากนั้น ก็ไปมีส่วนร่วมกับการทำร้ายและยึดปืนของเจ้าหน้าที่
หนีคดี ถูกตามล่าหมายหัว และข้อหาฉกรรจ์ คือ ฆ่าคนตายโดยเจตนา





แต่กระนั้น ท่ามกลางทุกข์ซ้ำกรรมซัด อยู่โดยตลอด
วีโต้ก็ยังมีกัลยาณมิตร ที่ให้ความเชื่อมั่นแก่เขาและพร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้เสมอ
ไม่ว่าจะเป็น ลุงโชสุเกะ ป้ามิโดริ เพื่อนเกลอทั้งสอง ฮิเดโนริกับสุซุโนสุเกะ
และที่สำคัญเหนือกว่าใครๆ ก็หนีไม่พ้น น้องหนูมิชิมะ ฮานะ
(ที่รับบทโดย อรากาคิ ยูอิ) สาวใบ้ปริศนาที่พบกับโดยบังเอิญที่้ร้านหนังสือ
และดูเหมือนกำความลับบางอย่าง ที่อยากจะบอกเล่าให้วีโต้ได้ทราบ
จนได้มีโอกาสเข้ามาช่วยฝึกงานในร้านเดียวกันกับวีโต้
จนถักทอกลายเป็นรักที่บริสุทธิ์ให้กับวีโต้ และส่งสัญญาใจ
ผ่าน "รอยยิ้ม" ที่บานไม่มีหุบ และ "หมูตุ๊กตา" อู๊ดๆ อีกหนึ่งตัว



ขณะเดียวกัน ซีรีย์มีวิธีการนำเสนออย่างแยบคาย ด้วยผู้กำกับ
"ยาสุฮารุ อิชิอิ" (จากKurosaki,Hana Yori Dango,Byukiyako)
"ทซึโบอิ โตชิโอ" (จากManhattan of Love,Tiger&Dragon,Love Suffle)
ใช้กรรมวิธีเล่าเรือ่งแบบราโชมอน "หนึ่งเรือ่ง-หลายปากคำ"
เพื่อสร้างความซับซ้อนของเหตุการณ์และสร้างปรากฎการณ์เกินคาดเดา
ให้กับคนดูให้ได้ตามลุ้นและหาความจริงของเรือ่ง
ต่ออดีตตัวตนที่คลุมเครือของวีโต้เอง และเบื้องหลังที่ดำมืดอันไปพัวพันกับอีกหลายเหตุการณ์
ที่ไปยึดโยงกลายเป็นปัญหาระดับองค์กรแห่งชาติ
แต่ในเรื่องการสลับห้วงเวลานี้ เล่นเอาสับสนพอสมควรในช่วงแรกๆ
ซึ่งกว่าจะปรับตัว โดยอาศัยรากไทร้ยาวๆของเจ้าจุนเป็นตัวบอกระยะ ก็คลำทางพอสมควร
ซีรีย์เหมือนจะเริ่มต้นว่าด้วย
ประเด็นปัญหาเล็กน้อยจนคล้ายจะชาชินของเมืองใหญ่
อย่างกรณี การจำหน่ายยาเสพย์ติดตามเธคตามบาร์
จนสุดท้ายก็สะสางและแก้ปมในข้อกล่าวหาที่ดูเหมือนจะเเฝงเร้นไปด้วยอคติทางชาติพันธ์
แต่จากนั้น ก็มีปมปัญหาใหม่ตามมาอีกหลายระลอก
ที่ทวีความหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการยึดโยงในแง่ตัวบุคคลเป็นหลัก
แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงในอคติทางชาติพันธ์ดังกล่าว ที่ไม่สอดคล้องกับการกระทำ
โดยมุ่งที่จะโยงใยในรูปคดีที่เกิดขึ้นเพื่อให้เข้าถึงการซัดทอดยังตัวบุคคลที่หมายหัวแรกเริ่ม
โดยไม่ได้สนใจในข้อเท็จจริงของรูปคดีตามประจักษ์พยานของหลักฐาน
ซึ่งถ้าไม่มองเป็นความซวยซ้ำซวยซ้อนแบบยกกำลังสองด้่วยแล้ว
ก็ต้องมองได้อีกอย่างว่า วีโต้เป็นชายที่เลือกเกิดในผิดที่และผิดที่ประเทศนี้เขาไม่เห่อลูกครึ่ง
จนถูกกดทับเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง ทั้งๆที่ในสูจิบัตรแล้ว เขามีความเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์



If one was hurt by someone.
that person surely would have sought revenge.
(ถ้าใครสักคน ทำให้คนอื่นบาดเจ็บ แล้วคุณมั่นใจว่า
อีกฝ่ายต้องตามราวีไม่เลิก)

Because you can only look at people on that basis
I said that you're a pitiful man.
(เพราะว่าคุณมองเขาเหล่านั้นอย่างไม่ใส่ใจ
ฉันถึงบอกว่า ฉันเวทนาในตัวคุณจริงๆ)

In this world,There are people who live with
all their might indifferent to such attitudes.
(ในโลกนี้นะ ยังมีคนอีกมากที่เขาอาศัยร่วมอยู่กับเรา
โดยที่ไม่จำเป็นต้องคิดให้เหมือนกัน ด้วยกะลาครอบใบเดียวกัน)


แต่ความลึกซึ้งของซีรีย์เรือ่งนี้มีมากไปกว่านั้น
เพราะไม่ได้แตะเพียงแค่ประเด็นทางอคติในเรื่องของชาติพันธ์เท่านั้น
ยังไปกระทบชิงเชิงตั้งคำถามถึง "โครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม"
แบบที่ไม่ต้องมาทำคลิปหลุด แอบถ่ายหรือโพสต์ลืมไว้ในยูทูป
เพื่อเจตนาดิสเครดิตของคณะตุลาการเหมือนกับบางประเทศ
ซีรีย์เรือ่งนี้ เลยสร้างตัวละครในสังกัดขบวนการยุติธรรม
ไม่ว่าจะเป็น "ฟุรุเซะ" ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตามแค้น
(แสดงโดย ทาคามิ โตชิยุกิ จากCode Blue , Last Friend, GTO ,Dr.Koto)
หรือ "คิตากาวะ" ที่เล่นเป็นอัยการตามเช็ด
(แสดงโดย โคโมโตะ มาซาฮิโระ จาก ส่วนใหญ่เจอเขาในบทรับเชิญอย่าง
Jin และ Galileo)
ขณะเดียวกัน ก็สร้างกระทู้วิพากย์ไปถึงระบบลูกขุนญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า The saiban
(ที่มีลูกขุนหก ผู้พิพากษาสาม คน รวมเป็น 9 คน ทำหน้าที่รับฟังพยานและตัดสินคดี
ซึ่งคดีที่จะใช้ลูกขุนทำการตัดสินคดี เป็นระบบประมวลกฎหมาย (CIVIL LAW)
ส่วนการพิจารณาคดีในศาลใช้ระบบกล่าวหาตามแบบสหรัฐอเมริกา (the Anglo-American model)
โดยฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวหามีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อน จากนั้นให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ
โดยโจทก์จำต้องสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย
ซึ่งมองในข้อดี ก็จะมองได้ว่า เป็นพิจารณาพิพากษาที่เคารพความเห็นของประชาชน
และตัดความมีอคติของผู้พิพากษาออกไป แต่ถ้ามองในข้อเสีย
ก็จะมองได้ว่าเป็นการให้อำนาจตัดสินความเป็นความตายของจำเลยสักคน
จากบุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการตัดสินคดีและแบกรับความกดดันด้วยระยะเวลาที่จำกัด
ในซีรีย์บ่งบอกถึงวุฒิภาวะของการ "เชื่อได้ว่า" ซึ่งไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงในเหตุการณ์
แน่นอนว่าสว่นนี้ไม่พ้น อคติทางชาติพันธ์ ที่ปักธงไว้ในใจกลางก่อนเริ่มคดี
ที่ยากจะสลัดมันทิ้งได้




ซึ่งน่าชื่นชมคนเขียนบท "ทากามะ ทากายุกิ" (เหมาในตอนที่1-9)
ว่าเขียนเรือ่งได้น่าติดตามและกำหนดเงื่อนไข ที่ต้องตามลุ้น
กันจนเหนื่อยหอบไปข้าง แต่ไม่ได้ระดมใส่ตะพืดตะพืออย่างเอาเป็นเอาตาย
อย่างน้อยๆ ก็มีลูกผ่อนลูกพัก ไม่ทารุณกรรมคนดูจนเกินเหตุแบบ Life
และ Last Friend โดยเฉพาะทากายุกิ ดูจะพีคฟอร์ม
ผิดกับงานเขียนในงานก่อนๆ ที่ยังเป็นเรื่องชิวๆ อย่าง Osen ,
Yasuko to Kenji ,Hana Yori Dango และ Tiger and Dragon
แต่ก็พอเข้าใจอยู่บ้างว่า ในตอนที่สิบและสิบเอ็ด
จำเป็นต้องตบมือเปลี่ยนข้าง ให้ "เจ๊เอริโกะ"
มาพลิกบทใส่ลูกจูดิคอลดราม่า ที่เข้มข้น ซับซ้อน หนักแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ไหนจะต้องหาทางลงจอดของเรื่องให้สวยงาม ซึ่งก็เป็นรันเวย์
ที่ค่อยๆไถลลงได้อย่างนุ่มนวล แม้ในใจอยากให้พระเอก
สวมวิญญาณเจ้าสคอร์ฟิวใน Prison Break แหกคุกไปพบรักนักก็ตาม




แต่ปัญหาสำหรับซีรีย์เรือ่งนี้สำหรับผู้เขียนแบบเต็มๆ คือ
ความเชื่อที่ว่า เจ้าจุนคนดีนักหนานี้ละนะ เป็นลูกครึ่งต่างชาติ
แม้จะพยายามปล่อยให้ลื่นไหลไปตามน้ำทีละตอน แบบว่า
ค่อยๆกัดกลืนจนหลงเชื่อไปโดยปริยาย แต่อย่างไรเสียก็กลืนไม่ลืนคอ
เพราะผู้เขียนติดตามงานแสดงของหมอนี้มาเนิ่นนาน ตั้งแต่
Gokusen ,Kimi wa Pet,Hana Yori Dango.Bambino
กล่าวง่ายๆเลย ดูอย่างไรก็ไม่ดูออก ว่าหมอนี้มันใช่ชาวต่างชาติครึ่งเสี้ยวกันตรงไหน
แม้จะพยายามโปะโคลนอับสีแทนไปตามพื้นผิว ปล่อยทรงผมกระเซอะกระเซิง
ขณะเดียวกัน ปัญหาอีกอย่างที่แลดูจะขัดใจอย่างมาก
คือ "ความแสนดีที่เกินกว่าเหตุ" ประมาณว่า ก็เข้าใจอยู่นะ
ว่าพระเอกเขาต้องเป็นแมนแสนดีไปตามบท แต่ความแสนดีที่ว่านี้่
ถ้ามีสัดส่วนที่พอเหมาะพอควร ก็จะกลายเป็นความเห็นใจได้อย่างไม่ยาก
ถึงเข้าใจแล้วว่า "ผู้ชายที่ดีเกินไป" ทำไมผลลัพธ์ถึงไม่ดีไปตามความเกิน
มันกลายเป็นระดับเกินความพอดี ชวนให้ "สังเวช" และ "เวทนา" ในท้ายที่สุด
ถ้าดีแล้วยอมรับในผลของการกระทำ จะไม่ว่าเลย
นี้มีแอบตีอกชกหัว มาร้องห่มร้องไห้ แถมยังมีหน้ามาไล่น้องยูอิให้กลับบ้าน
เหมือนไม่เคยมีอะไรต่อกัน ในฐานะแฟนบุญธรรมของน้องเขา พี่ของเคืองหน่อยเหอะ




ส่วนของดี ที่เกินคุณภาพของการคาดหมายในการเล่นตามบท
แบบที่ตระหนักเต็มๆตา ยกให้เลยสำหรับสามท่านนี้
ท่านแรก คือ คนที่เล่นเป็น "ทนายคาซุมะ"
(แสดงโดยนากาอิ คิอิชิ จาก Hero SP,Kaze no Garden)
ที่กะจะไม่ว่าความให้แต่ต้น เพราะวันๆพี่ท่านมุ่งสนใจแต่ออกหน้ากล้องทีวี
เพื่อสร้างชื่อให้กับบริษัทว่าความของตัวเอง ดูตอนแรก
น่าจะเป็นการคัดคนที่โหลยโท้ย แต่พอได้ขึ้นว่าความเท่านั้นแหละ
เป็นได้โชว์ของร้อนวิชากันทั้งบัลลังค์ ยิ่งมีการใส่ปมอดีตชนิดให้หงายหลังกันอีกรอบ
กลายเป็นนักแสดงที่ได้่รับความเห็นใจในสัดส่วนที่พอเหมาะ มากกว่าตัวพระเอกสักอีก
เลยอธิษฐานปรารถนา ให้แกได้สมรักกับคู่เลขาฯ ชิโอริ เสียจริงๆ



ส่วนคนที่สอง คือ เจ้า โอการิ ชุน ที่รับบท "รุ่นพี่เซอิจิ"
เล่นได้เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงสำหรับเรื่องนี้
ถึงได้รู้ว่า บทจะเลว ไอ้หมอนี้ก็เลวได้ไม่หยอกเช่นกัน
เป็นตัวละครที่พัวพันกับแก็งค์อันตพาล เมื่อตอนที่วีโต้ถูกดำเนินคดี
แม้บทพูดจะมีให้ไม่มากนัก แต่ทุกตอนที่เข้าฉากสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจ
และสมควรที่จะหลีกเลี่ยงไปให้ไกลๆ ตามประสาผู้ก่อการร้ายฉายเดี่ยว
ถือเป็นบทเลวในการแสดงที่ดี พอมีดีกรีเป็นคนขี้คุก ไ
ม่ต่างจากเจ้าวีโต้เช่นเดียวกัน
ที่นานๆที จะมีตัวละคร "เลวได้ถ้วย" ปรากฎในซีรีย์สักเรื่อง
ทำให้ในบางการกระทำของวีโต้ ที่ขัดแย้งกันผู้เขียนมาโดยตลอด
อย่างน้อยๆ ก็สมประสงค์ใจตรงกันสักอย่าง ซึ่งถ้าใครได้ดูคงรู้อยู่ชิมิๆ




ส่วนตัวละครสุดท้าย คือ "อัยการคิตะงาวะ"
อยู่ในฐานะที่หน้าตาของพี่ ก็ไม่น่าไว้วางใจ
และดูช่างคิดช่างแค้นจนตามเช็คไม่เลิก อยากจะขอแก้มืออยู่ไม่รู้หาย
ยิ่งประกอบท่วงท่าเริ่ดๆเชิดๆ ซ้ำยังกดปากกาจิ้มจุ๋มๆ ให้ชวนรำคาญไปตามหน้า
เวลาที่เจอะลูกตอกสวนกลับ จากฝีปากของทนายคาซามะ
โคตรจะได้ใจเสียทุกครั้งที่มีการนำเสนอ แม้อาจจะไม่ถึงกับเกลียดมาก
แต่ก็ชอบอาการหมั่นไส้ของพี่ไม่หาย ถ้าลองเอานักแสดงอื่นมาเล่น
ก็ยังนึกไม่ออกว่าใครจะยียวนกวนได้เท่าผืนหน้าแกได้อีก


แต่กระนั้นทั้งหมดที่ว่ามา ก็หาได้มีใครดีเท่ากับ น้องยูอิ
ในบท "ฮานะจัง" สาวใบ้ปริศนาเกือบทั้งเรื่อง เคยดูซีรีย์ My Boss My Hero
ว่าน้องเธอน่ารักแบบสุดๆแล้ว เธอยังทำได้พิกัดเกินสุดสำหรับซีรีย์เรื่องนี้
อาจเพราะความใบ้ จึงทำให้เธอต้องเค้นความน่ารักที่หลบใน
ให้โผล่มากขึ้นกว่าที่เคย ผลก็คือ ตกหลุมรักยูอิจังกันทั้งบ้านทั้งเมือง
ความที่ปากทำงานไม่ได้ นอกจากฉากจูบเย้ยยีราฟเหล็กแถวริมแม่น้ำ
ทั้งสีหน้า ท่าทางและแววตา ดูจะถูกใช้ในงานแสดงมากกว่าซีรีย์เรื่องก่อนๆ
ไม่ว่าจะเป็น Papa to Musume no Nanokakan หรือ Code Blue ทั้งสองภาค
จนได้รับการันตีทางรางวัล TDAA ครั้งที่ 61 ในฐานะนักแสดงสมทบหญิง
แบบโผล่พรวดอยู่คนเดียว โดยที่คนอื่นแห้วรับประทานกันทั่วหน้า
ความที่ต้องมารับบท "ยาใจคนจน" "เทพีบ้านไพร" และ "มื้อใด๋สิคิดฮอด"
ต้องถือเป็นความโชคดีของพระเอก ที่ได้น้องฮานะมาเป็นยาชูกำลังใจ
ที่ผู้เขียนอยากดื่มเกินวันละสองขวด และต้องเเสร้งเสทำตัวเป็นพระเอกวีโต้ชั่วคราว
เพื่อให้หลงเชื่อไปเองว่า กำลังมีน้องฮานะ "ยืนยิ้มแจกหมู" อยู่ข้างหลัง
เมื่อเเผ่นจบตอน ก็เข้าสู่หมวดโลกของความเป็นจริงที่โหดร้ายต่อไป



ถือเป็นซีรีย์ที่กล้าลองของ ต่อโครงสร้างอคติเชิงวัฒนธรรมประจำชาติ
ที่อาจจะไม่โสภานักต่อนักดูที่เป็นชาติเดียวกัน โดยว่าด้วยเรื่องของสิทธิพลเมือง
(citizenship) ในลำดับของการเป็นสมาชิกในชุมชนร่วมหมู่
ที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธ์และวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อน
ในรูปแบบเมือง แต่ดูเหมือนว่า "ไกจิน" ที่เป็นคำจำกัดกรอบของการมีส่วนรวม
ที่ไม่เอื้อต่อพหุนิยมในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ (identity) ทางวัฒนธรรม
ภาษา ชาติพันธ์ ศาสนาและเพศสภาพ วาทกรรมเรื่องของความเป็นพลเมือง
จึงเป็นวาทกรรมของผู้ด้อยอำนาจ ใช้ในการแสวงหาการยอมรับ
และการขยายสิทธิภายใต้เขตแดนของรัฐชาติ ซึ่งหน่อความคิดนี้น่าจะถูก
ถกเถียงได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งในหนังสือ Next 100 Year ของ Grorge Friedman
มีตอนหนึ่ง ว่าด้วยขุมนรกของแรงงานต่างชาติ เป็นประเทศที่แรงงานอยากเลือก
โดยเลือกที่จะไม่เลือกไปร่วมทำงานด้วย แม้แต่เกาหลีที่อาศัยและทำงานในญี่ปุ่นตลอดชีวิต
เขาก็จะได้รับเอกสารที่ออกโดยตำรวจญี่ปุ่น ว่าเขาคือ "คนเกาหลี"
ซึ่งคนญี่ปุ่นก็รู้ในการติดยึดวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เลยแก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานการผลิต
และสอนหนังสือให้คนชาตินั้นพูดภาษาญี่ปุ่นซะ



How did you accept a whole of your life?
When l saw you,You overcome a pain by smile
How do you it?
(นายยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ยังไง
ตอนที่ฉันมองนาย นายเอาชนะความเจ็บปวด ผ่านรอยยิ้มได้ยังไง)



Smile จึงเป็นซีรีย์ที่ดี ที่มาถูกที่และถูกเวลา
เป็นโอสถแผนกการสร้างกำลังใจ สำหรับคนที่กำลังท้อแท้และเป็นทุกข์อยู่ตอนนี้
ให้รู้สึกปลุกเร้าความมีกำลังใจ และการเผชิญกับรอยยิ้มที่หล่นหายโดยที่มีเราเป็นเจ้าของ
แม้จะไม่ข้ามขั้น "ยิ้มเย้ยประกัน" ตามแบบฉบับ "ยิ้มได้เมื่อภัยมา"
แต่หลังจากรวบยอดความคิดปิดท้ายของซีรีย์ จุดหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนขบคิดได้
เป็น ความคับแคบทางสังคมญี่ปุ่นที่มีผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์การปิดประเทศ
ในยุคซาโคคุกว่าสองร้อยปี แต่กระนั้นก็ตอบไม่ได้เพราะในสมัยพระเพทราชา
อาณาจักรอยุธยาก็เคยขับไล่ที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ในสมัยพระนารายณ์ด้วยเช่นกัน
แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่สังคมญี่ปุ่นขาดหาย คือ สังคมวัฒนธรรมอันหลากหลาย (Multiculturalism)
ในความหมายหนึ่งก็คือ สังคมพหุนิยม เท่ากับเป็นการบิดเบือนความหมายที่แท้จริง
เป็นสังคมที่ขาดการยอมรับและเคารพในความแตกต่าง เกิดปฏิปักษ์ ไม่ไว้ใจ แบ่งแยก
ปิดกั้น ล้อมรั้ว และวางขอบเขตวัฒนธรรมตนเองออกจากวัฒนธรรมอื่น
เข้าข่ายต่อต้านความเป็นพหุนิยม (anti-pluralist) แต่แปลกเพราะปราบดา หยุ่น
เคยเขียนถึงว่า สังคมญี่ปุ่นนิยมที่จะอ่านมุมมองของคนต่างชาติที่ย้อนมองวัฒนธรรมของชาติตนง
จึงพอเข้าใจถึงค่าเฉลี่ยของเรตติ้ง ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจของผู้สร้างเท่าไรนัก
ตามประสา "ตีแสกหน้าชนชาติเดียวกัน" ซึ่งสภาวการณ์นี้
มือเขียนบททากายุกิ น่าจะเคยซาบซึ้งกันดีจากประสบการณ์ของซีรีย์ Osen
ที่ไปตีแสกหน้าวัฒนธรรมการบริโภคแดกด่วนฉบับพี่ยุ่นเขา
จนผู้เขียนรู้สึกเป็นกังวล ถึงงานสร้างซีรีย์ของญี่ปุ่นที่เน้นในเชิงสายวิพากย์
แต่สุดท้าย มักจะประสบความไม่น่าพึงปรารถนาของอัตราเรตติ้งท่านผู้ชม
ซึ่งก็ได้แต่ส่งผ่าน "เรตติ้งเมืองนอก" แบบนับรายหัวได้กลีบหนึ่งคะแนนเสียง
แบบที่ต้องกล่าวขอบคุณงานซีรีย์ดีๆ แบบดูอย่างเป็นกังวัลว่า

"เซโลงัง อารากิโตะ" ........




"Smile" ซีรีย์ดีที่บิวต์อารมณ์ไม่ค่อยจะขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ยังมีเพลงเสียงแป๋นๆ
ที่ชื่อ "Ariamaru Tomi" (ความมั่งคั่งที่ไม่จำเป็น) Theme Song
ประกอบซีรีย์ Smile ที่ร้องหลอนกันกระหึ่ม โดยการเดียวโซโล่ของ
Ringo Shiina หนึ่งในสมาชิกของวง Tokyo Jihen
ซึ่งเธอนิยามความเป็นตัวเองว่า นักแต่งเพลงสไตล์ชินจูกู (Shinjuku-style writer-performer)
แต่ชอบในยามที่เธอคงอยู่กับวง Tokyo Jihen มากกว่า มันแนวกว่าเยอะอะนะ ชิมิๆ



อ้างอิงจาก wikipedia,d-addict,prysang@bloggang




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2553 20:56:57 น.
Counter : 2409 Pageviews.  

Puzzle ครูสาวซ่าล่าปริศนา


แม้ผู้เขียนจะริลองร่ายกับเหล่าบรรดาซีรีย์เทือกเขาเหล่ากอเป็นกอง
จากสกุลชาติเจแปน อย่างเป็นคุ้งเป็นแควยาวนานกว่านับปี
เป็นการร่ายเอาเรื่องบ้าง เอาถ่านก็ไม่น้อย
โดยมุ่งคัดในลำดับต้นๆ ที่พอสามารถจะหาซื้อเดินเตะจากกองแผง
แต่ไม่วาย หลายเรื่องรอคอยการรีวิวจากผู้เมตตา
เพื่อประกอบพิจารณาถึงรายละเอียด และข้อมูลในการช้อปปิ้งส่วนตัว
ไว้เป็นเครื่องคัดสรรเงินในกระเป๋า ให้สำเร็จเป็นมรรคผล
สมทั้งราคาและเวลาที่ได้สูญเสียไป แต่กระนั้นก็จำต้องลงมาเล่นเสียเอง
ด้วยกุศลความดีของซีรีย์ ที่ไม่อาจจะอยู่นิ่งเฉย อมความสนุกไว้เป็นการส่วนตัว
ถึงจะเคยร่ายซีรีย์พอประมาณ ก็ไม่ได้หมายความว่า
ผู้เขียนจะรู้แจ้งเห็นชาติ มีอาณาเขตในการริลองซีรีย์ญี่ปุ่นอย่างชาญฉลาด
ตรงกันข้าม ผู้เขียนก็ยังติดกรอบอยู่แต่เฉพาะบางค่าย
ที่ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้น ค่าย ฟูจิทีวี ทีบีเอส และเอ็นทีวี
บางทีก็อาจจะมีเอ็นเอสเคทีวี เล็ดลอดให้โม้เป็นประปราย
แบบไม่ตั้งใจ แต่ทว่าพอได้เปิดไปดูและเห็นแบนด์ของบางสถานี
บางที อาจต้องพักปิดเครื่องเพื่อปรับสติ-จูนสมาธิ ก่อนการรับชม
ไม่ให้ไปตรงกับกรรมวิธีนำเสนอของอีกค่าย ที่ยังค้างคาในสายตา
ด้วยแต่ละสถานี เขาก็มีสูตรมีวิธีแต่ละชนิด ที่เป็นเอกลักษณ์วิธีของตน



อย่างล่าสุดที่เพิ่งได้ชมมา แม้ไม่ต่อเนื่อง
เพราะขยับกระชับการดู สุดแต่ปรารถนาทางอารมณ์ฆาตกรรมปริศนา
จากเรื่อง Puzzle ของค่าย อาซาฮีทีวี (TV Asahi)
ที่อาจจะเป็นเรื่องแรกในชีวิต นับจากลืมตาแล้วให้โลกดูเรา
เป็นโลกที่ได้สรรสร้างอารยธรรมอันน่าพิศสมัยอย่างซีรีย์ญี่ปุ่น
ให้เป็นสินค้าอิมพอร์ต สำหรับสร้างความบันเทิงภายใต้โลกาภิวัฒน์
puzzel เป็นหนึ่งในซีรีย์ ในแนวสืบสวนสอบสวนฆาตกรรมอำพราง
ถ้านับโครงสร้างความเข้มแข็งเฉพาะ ในส่วนของงานวรรณกรรมประเภทนี้
แค่ในงานมหกรรมหนังสือ ครั้งที่ได้เยือนมาล่าสุด
มีชิ้นงานวรรณกรรมแนวฆาตกรรมอำพราง ทั้งเก่าและใหม่
ได้รับการแปล เพื่อเอาใจนักอ่านเสพย์ติดการฆ่าและผู้ต้องหาล่องหน
ไม่ว่าจะเป็น คินดะอินจิแพ็ก นักสืบกาลิเลโอ ไหนจะมิกะเนะโกะโฮมส์ เป็นต้น
ส่วนเฉพาะแนว ที่ถูกทำเป็นซีรีย์นี้ ก็เยอะไม่น้อย
ไม่ว่า เรือ่ง Galileo ,Voice ,Boss ,Trick ,Karei naru Spy
เหตุที่กระแสงานสาย Mystery Murder
ไหลเกลื่อนออกนอกคุก-เฉียดกระทรวงเช่นนี้
มีผู้รู้ท่านเล่าว่า เพราะปริมาณปัญหาอาชญากรรมของประเทศเขามีน้อย
ในขนาดที่ แนวโน้มของการใช้ชีวิตระดับเส้นความจำเจคงที่เช่นทุกวัน
แนวฆาตกรรม จึงเป็นอะไรที่ไปกระตุ้นด้านมืดของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่
เพื่อให้อะดรีนาลินท์ส่วนตัว มีการขยับเขยื้อนออกกำลังกายเป็นการสมควร
ขนาดเดียวกัน ก็ส่งเสริมจินตนาการในความซับซ้อนทางคดี
โดยใช้ทรัพยากรของการมีศพในเรื่อง เป็น"วัตถุปริศนา"ประเภทหนึ่ง
เพื่อโยงปริศนาในรูปแบบฆาตกรรมอำพราง ให้องค์ความรู้ชั้นเทพ
ระดับ "เนติวิทยาศาสตร์" ยังต้องหงายหลัง
ถ้าขืนไปเจอะเคสต์กรณีฆาตกรรมเฉกเช่นนี้ สักสองสามคดี
แบบที่ผู้เขียนได้ชมในซีรีย์ Puzzle




yoshida sensei will be absent for a little
while due to sickness.
(ครูโยชิดะ จะขอลาพักชั่วคราวในขณะที่มีอาการป่วยอยู่)

so from today onwards a new teacher
will be teaching you in english.
(นับตั้งแต่วันนี้ไป จะมีครูเข้ามาสอนใหม่ในวิชาอังกฤษ
ให้กับพวกเธอ)

She looks young but she's been
in this field for over to years.
(หล่อนอาจจะดูเด็กไปหน่อย แต่ทว่ามีประสบการณ์
ในการสอนมาหลายปีพอควร)




ความเด่นของ Puzzle ที่สามารถฉีกกรอบให้มีความต่างไปจาก
เหล่าบรรดาซีรีย์แนว "ทิ้งศพแล้วหลบหนี" ทั่วไปได้
ผู้เขียนพอจะจับจุดสังเกตได้อยู่สองกรณี คือ
จุดหนึ่ง การใส่ลูกอารมณ์ comedy
ที่ดูไม่น่าเข้ากับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบงานเข้า
ในแต่ละตอนที่การันตีว่ามีศพเป็นเครือ่งสังเวยโจทย์ปริศนา
เป็นสภาวะอารมณ์แบบเทียบเคียงในแนวโคนันการ์ตูนหรือคิดะอินจิ
ที่กลุ่มคณะตัวเอก ไปเป็นฝ่ายเยือนบ้านไหน ก็"งานเข้า"
ทำให้เขาเป็น "ศพ" และมี "ตำรวจ" ที่ออกโรงท้ายในทุกตอนจบเสียทุกที
น่าเห็นใจ แขกรับเชิญที่มาร่วมเล่นในแต่ละตอน
ที่ถูกกรอบจำกัดของความเป็นสถานะเพียงไม่กี่จำพวก
ถ้าไม่ได้รับบทเป็น "ศพ" หรือ "ผู้ต้องสงสัย" ซึ่งที่เหลือที่พอให้คุณเป็นได้
ก็แค่ "ฆาตกร"






สอง คือ เสน่ห์ในโครงสร้างเงื่อนไขหลักของตัวละคร
ผู้เขียนมองว่า ทีมงานคัดนักแสดงของทีวีค่ายนี้ตาถึง
ที่เลือกเอา "ซาโตมิ อิชิฮาร่า" มารับบทเป็น "อายุกาวา มิซาโนะ"
ครูสาวสอนภาษาอังกฤษ ที่หน้าฉากเเสร้งทำจริตใสซื่อมือสะอาด
แต่เบื้องหลังนิสัยที่แท้จริงแล้ว
แสนจะเจ้าเล่ห์เพ่ทุบาย 1ต่อหน้าประชาชีsheจะทำแอ็บซื่อไปทั้ว
จะมีก็แค่นักเรียนภายใต้การคอนโทร์ลของแก
ที่รู้่ไส้เห็นผุง จนบรรดาลูกศิษย์ต้องส่ายหน้า
โดยเฉพาะลูกศิษย์สามเกลอหัวไปร์ทอนาคตไกล เพราะเป็นเด็กม.ปลาย
จากโรงเรียนเคมปิน สถาบันชื่อดังที่ใครต่างใครได้ยินชื่อก็ชูนิ้วให้
ที่มักเผลอไปเผชิญชะตากรรมร่วม
ด้วยครูท่าน ประสงค์ต่อทรัพย์ปริศนาที่มีค่าเป็นล้านแบบรวยทางลัด
สามนักแสดงเด็กมัธยม ประกอบไปด้วย
"ชิอิจิ" (แสดงโดย โยสุเกะ ยามาโมะโตะ จาก
Rookie The Gradution,Taiyo to umi no kyoshitsu ,Rescue,
"อากิระ" (นำแสดงโดย คิมุระ เรียว จาก Yankee Boukou ni Kaerue
,Nodame Cantabile, Akai Ito)
และ "โยชิโอะ" (แสดงโดย นากายามะ เคนโตะ จาก Ghost Town No Hana)
Koizora,Liar Game the Final Stage)
ทีอาสาพาช่วยอาจารย์สาวด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่สุดท้าย
มักตกเป็นแพะรับบาปในทางคดีไปเสียทุกคราว
และเสียงยกย่องดันไปตกใส่ครูสาวมิสาโกะไปเสียทุกครั้ง





ที่ผู้เขียนกล่าวชื่นชมในทีมงานที่คัดเลือก "อิชิฮาระ"
มารับบทครูสาวหน้างก (แต่เบื้องหน้าทำใสทำซื่อ)
เพราะทีมงานรู้จัก นำบุคลิกหลักของอิชิฮาระ
ที่ไม่ว่าไปรับบทซีรีย์เรื่องไหนๆ ก็ไม่ละทิ้ง "ดาราหน้าโก๊ะ"
ฝากไว้เป็นลายเซ็นต์ในงานแสดง ไม่ว่าเป็น Waterboys 2
Ns Aoi,H2 และ Voice
ซึ่งอาจมองได้ ทั้งในส่วนของแง่ดีในรูปลักษณ์การแสดงที่โดดเด่น
เกินหน้าและงามตามากกว่านักแสดงหญิงเจ้าไหนๆ
แต่ในขนาดเดียวกัน ก็ยังมองในแง่ร้ายได้อีกว่า
เป็นเหตุให้ เธอมีข้อจำกัดในงานแสดงที่ไม่อาจละทิ้ง
อารมณ์โก๊ะๆ ให้ดูแตกต่างอย่างไม่เหลือเยื่อใยในเรื่องก่อนๆ
อาจเป็นเหตุให้ เธอไม่อาจยกระดับในรางวัลนักวิจารณ์สถาบันใดใด
ซึ่้งตรงกันข้ามกับการขายเสน่ห์ส่วนตัว ที่ Puzzle
จำเป็นต้องพึ่งพาพลังในตัวเธอมากเป็นพิเศษ
เพื่อเอาคนดูให้อยู่หมัดในฐานะตัวป่วน นอกเหนือจากพล็อตปริศนา
และสาเหตุแรงจูงใจในการฆาตกรรมที่มีอิทธิพลแบบโคนันคุงการ์ตูน
อาทิ ฆาตกรรมในห้องปิดตาย คำสาปในตำนาน ปริศนาองค์กรลับ เป็นต้น
จนมีแนวโน้่มว่า จะก้าวข้ามความเป็นการ์ตูนไปเสียหลายครั้ง
ผิดกับสามเกลอหัวเรียน ที่ไร้อารมณ์เกรียนตามแบบอาจารย์ผู้ชักนำ
ตามความเห็นสว่นตัวนะ "ใครมาเล่น ก็เป็นได้"
ซึ่งเป็นคนละความหมายกับ "ไม่จำเป็นต้องมี" เพราะถ้าไม่มี
เรือ่งน่าจะกร่อยไปอีกเยอะเลย แม้จะไปเพิ่มเวลาให้ครูมิซาโนะก็เหอะ
(ใครเล่นก็เป็นได้นี้ รวมถึงสามสาวมัธยมวัยศึกษา โดยการนำของ
อิวาตะ ซายุริ จาก Akai Ito เป็นคู่แข่งในการออกล่าสมบัติ
ที่มักใช้เล่ห์อิสตรีให้สามหนุ่มเคลิบตาม
แต่สุดท้ายก็เตะเบรคกำราบ จากครูสุดงกมิซาโกะให้แก็งค์ไตรสตรีอยากกรี๊ด)





ในขณะเดียวกัน กรรมวิธีในการเล่าเรื่องของค่ายอาซาฮีทีวี
ถือเป็นหลักสูตรใหม่ ที่ผู้เขียนไม่คุ้นชิน
(ก่อตั้งขึ้นกลางปี 1957 โดยมีนโยบายเป็นช่องเพื่อการศึกษาเป็นแก่นหลัก)
แต่สะท้อนเอกลักษณ์ของการนำเสนอที่มุ่งตอบโจทย์ของการดำเนินเรือ่ง
มากกว่าการลำดับเรื่องแบบที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว
จึงเป็นผลให้ งาน Puzzle ของค่ายอาซาฮี
ไม่เอื้อนเอ่ย และเหนิบนาบจนรำคาญใจ
แต่มีความฉับไวในแบบฉบับการ์ตูน ที่เน้นไปทีละฉาก
ไม่ค่อยให้ความสำคัญในข้อปลีกย่อย ส่วนเกินและเเหล่งที่มา
ซึ่งอาจเป็นผลให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของเรือ่งดูอ่อนลงไปถนัดตา
หรือเป็นการแสดงที่ดูออกว่า เป็นการตัดตอนในหนึ่งเหตุการณ์
แล้วมาปะติดปะต่อเพื่อเปลี่ยนเเปลงมุมกล้อง
สำหรับคนดูแล้ว Puzzle จึงเป็นงานที่ไม่เนียน และขาดลูกประณีตในการเล่าเรื่อง
เข้าข่าย "เทคเดียวผ่าน" ไม่ต้องมาถ่ายปรับแก้ให้กินเวลาถ่ายทำ
แต่ซีรีย์ก็ไม่ถือขนาดว่า "แย่" เพราะวัตถุประสงค์
อยู่ที่การสร้างอรรถรสร่วมมิให้ขาดตอน แบบเข้าถึงเนื้อหาหลักโดยพลัน
และปริศนาของแต่ละเคสต์ ชนิดที่ส่งยื่นให้อัยการก็น่าจะรับทำสำนวน
เพราะล่อหลอกคนดูให้อยู่หมัด ชนิดที่อนุญาติให้เดาถูกแต่ไม่ใช่กับทุกคน
ซึ่งถือว่าผิดแนววิธีการปรุงแต่งของ ผกก. "คาตายามะ โอซามุ" ที่เคยกำกับซีรีย์
Tiger and dragon ,Hana yori dango
Call center no koibito นับจากปี 2006 พี่ท่านก็มาเป็น ผกก.
ประจำให้ค่ายอาซาฮีเป็นการถาวร
ส่วนดีที่มีเสน่ห์แบบโดดเด่นกว่าซีรีย์แนวฆาตกรรมอำพรางทั่วไป
คือ การอาศัยทรัพยากรพื้นบ้านโบราณแบบญี่ปุ่น สอดรับกับบรรยากาศ
ของเคหสถานร่วมสมัยในยุคของเมจิตอนต้นได้อย่างลงตัว และเพิ่มศักยภาพใน
บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยปริศนามากมาย แม้อาจจะไม่ซึมซับ
และก็ขลังจนยากที่จะเลี่ยงศรัทธา




ด้วยความที่ปริศนา หรือ puzzle ในแต่ละตอน
จะโยงใยที่เต็มไปด้วย ขุมทรัพย์จากลายแทงในอันดับแรก
ในฐานะ "ตัวล่อ" แก่ทุกฝ่าย ก่อนจะไล่มาถึง
"เรื่องเล่าหรือตำนานในท้องถิ่น" เพื่อให้เกิดการผูกเรือ่งไปถึง
"การฆาตกรรม" "วิธีการฆาตกรรม" "แรงจูงใจในการฆาตกรรม"
และท้ายสุด "ขุมทรัพย์อันสืบเนื่องจากเหตุของการฆาตกรรม"
ซึ่งน่าชื่นชมในตัวผู้เขียนบท
"มากิตะ มิทซึฮารุ" ซึ่งดีกรีประวัติก็ไม่เบา เพราะมีสว่นเขียนบท
ทั้ง ซีรีย์ trick, Bloody Monday และMr.Brain
ถ้าไม่หยิบยกแต่เริ่มแรกว่า Puzzle เป็นซีรีย์แนว comedy thriller
ที่นอกจากจะมีองค์ประกอบของ main puzzle ที่แก่นหลักในแต่ละตอน
แม้ในแต่ละตอน ก็ยังมีส่วนที่เรียกว่า sub puzzle ที่แยกย่อย
ทั้งที่ส่งเสริมในส่วนของ main หลัก และใส่ๆไว้เพื่อ "โชว์วิชา"
และ "เอนเตอร์เทนด์สมอง" Puzzle ยังอาจเป็น "ยากระตุ้นและบำรุงสมอง"
เพราะแม้แต่ชุดปริศนาที่ยากขนาดไหน เขาก็ยังมีวิธีอธิบายให้เห็นภาพ
ว่าใครเป็นใคร แม้ว่าวิธีการอาจจะเชย ด้วยการตัดกระดาษวาดหน้าคนนั้น
แทนที่จะพึ่งคอมพิวเตอร์กราฟฟิคแบบซีรีย์ทันสมัย
จุดนี้เลยได้ความคลาสสิกบันเทิงใจ โดยที่แม้ทุนสร้างจะไม่มาก
แต่ฉลาดเลือกกรรมวิธีในการอธิบาย ที่ง่ายทั้งการเข้าใจทำและการเข้าใจเล่นอีกด้วย






แต่อุปสรรคของนักดูชาวไทยสำหรับซีรีย์เรื่องนี้
ต้องเข้าใจว่า ในฐานะของปริศนาคำถามจากในเรื่อง
บางส่วนเข้าข้ายความเป็นสากลนิยม ที่ชนทุกชาติเข้าใจได้
แต่บางส่วนก็เข้าข้ายความเป็นท้องถิ่นนิยม
ที่มีเฉพาะคนญี่ปุ่นในชาติเท่านั้น ที่จะเข้าใจกันเองได้
โดยเฉพาะการเล่นเสียง สะกดคำ ถอดความหรือสำนวนโบราณ
ซึ่งเงื่อนไขสว่นนี้ คงไม่น่ามีปัญหาในการรับชม
ผู้ซึ่งเคยมีประสบการณ์จากงานการ์ตูนเทือกๆของประเทศนี้
เพราะไม่ใช่ระดับสาระสำคัญ ที่จะไปทำให้อรรถรสโดยรวมของเรื่อง
ชนิดไม่อยากติดตามในปลายท้องของตอนเรื่องกันสักที่ไหน
เพียงแต่การตายของตัวละครรับเชิญทีก่ินค่าตอน แบบมาแค่ตอนเดียว
ดูจะไม่ได้สร้างความรู้สึกร่วมในฐานะ "ผูกพันกับตัวละคร"
มากไปกว่า "เหยือ่ที่ถูกกระทำ" ในฐานะสิ่งจงใจให้เป็นศพมาแต่เเรก
หรืออาจจะเรียกว่า ในฐานะ "ศพรับเชิญให้มาเป็น" (ชั่วคราวแล้วค่อยตายนานๆ
ดังนั้น ผู้เป็นห่วงในอวัยวะ "ต่อมน้ำตา" ว่าจะทำงานหนัก
โดยฐานะที่เหมารวมความเป็นซีรีย์ญี่ปุ่น ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับ "เช็ดหัวเข่า"
ก็อาจเบาใจได้ แต่ถ้าจะคัดสรรหาระดับงานคุณภาพมาสเตอร์พีช
เรืองนี้อาจสร้างความทรมานใจสำหรับนักล่ารางวัล
แต่ถ้า "หนุกหนานเพื่อไปสังหารเวลา" Puzzle ก็เข้าทางฆาตกรเวลาชั้นดีเชียว ขอบอก




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2553    
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2553 20:52:21 น.
Counter : 2717 Pageviews.  

Gokusen the Movie เมื่อลูกสาวยากูซายังอยากจะขอเป็นครูต่อ


"เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวงการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นไปเสียแล้ว
ที่ต้องเอาละครที่ประสบความสำเร็จ มาสร้างภาคต่อเพื่อเก็บตังค์เนื้อ ๆ จากผู้ชมทั่วประเทศ"

จริงของท่าน Filmism แห่งบล็อกแก็งค์ที่เคยว่าไว้ เมื่อกรกฎาคม สองปีที่แล้ว
ทำไงได้ ในเมื่อฐานของคนดูผู้เป็นกำลังซื้อ มันมีอยู่
ด้านหน่วยสปอนเซอร์เองก็กล้าที่จะลงทุน ในขณะที่ทีมผู้สร้างก็มีแรงพอที่อยากจะทำ
องค์ประกอบครบครันเช่นนี้ มีเหรอจะปล่อยวางได้ เมื่อเห็นกำไรอยู่ตรงหน้า
เราจึงพอมองเห็นซีรีย์ที่ไปเติบโตทางการเงิน ผ่านกระบวนการฟอกตัวซ้ำที่ช่องขายตั๋ว
นึกตัวอย่างตอนนี้ได้ก็มี Rookie,Galileo,Hana Yori Dango
เดินพาเหรดแบบเรียกสมาชิกแฟนคลับ ให้เปลี่ยนจอโลกทัศน์ทางทีวีไปสู่หน้าจอกลางโรง
ซึ่งอาจจะมีน้อยคนนัก ที่จะรอการอารัมภาบทล่วงหน้าแบบโอดครวญของเสียงนักวิจารณ์
ด้วยคุณสมบัติของการเป็นแฟนคลับที่ดี เขาไม่มัวมาพะวาพะวงอยู่กับคุณภาพของเนื้อหา
มากไปกว่า การได้ปลดปล่อยแรงความคิดถึงอันบริสุทธิ์ใจ
ที่เคยได้เชือ่มสัมพันธภาพระหว่างกันและกันไว้กับกลุ่มคนดู
ให้เปรียบเสมือน ญาติสนิทที่ต่างบิดา-มารดา เรียกว่า
เกริ่นเรื่องขึ้นมานิดหน่อย อดีตความต่อจากนั้นก็เข้าถึงได้โดยฉับพลันและทันการณ์




เหมือนกับงานคืนสู่เหย้าชาว Gokusen ที่จะมาเสนอในวันนี้
ก็เป็นฤทธิ์จากงานที่ประสบความสำเร็จด้วยดีในฉบับไตรซีรีย์
ที่ไม่ว่า ค่าย NTV จะลงมือทำภาคหนึ่งภาคใด ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จด้วยดี
หรือจะพูดให้เข้าที ก็ต้องเรียกว่า "อย่างล้มหลามทางเรตติ้ง"
ชนิดที่เกินหน้าและข้ามตา กับอีกหลายๆซีรีย์ ไม่ว่าจากค่ายเดียวกันเอง
และนี้ยังไม่รวมถึงค่ายต่างถิ่น ที่เห็นยอดเปอร์เซ้นต์ เป็นต้องน้ำลายหก
จึงมักเป็นผลให้เกิด ในส่วนของภาคขยายอย่างตอนสเปเชียลอยู่เนืองๆ
ไฟล์บังคับของซีรีย์ขายดีที่จบลงในแต่ละภาค และในที่สุดก็จำต้องยกระดับงานสร้าง
ไปสู่โลกของภาพยนตร์เพื่อตอบสนองแก่จิตศรัทธาของผู้คนในสายโปรโกคูเซน
ที่ต่อท้ายยามใด ผู้เขียนมักจะไตร่ถามถึงจุดของการพัฒนาที่มากไปกว่าเดิม
ว่าคุณพี่ท่านจะใช้สูตรตีกิน ด้วยเพียงแค่การเปลี่ยนหน้านักเรียน 3D ยกชั้น
แค่กระนั้นเหรอ?




ถึงปากจะเที่ยววิพากย์วิจารณ์งานซีรีย์สกุลโกคุเซน อย่างไม่ลดละมาถึงสามภาค
แต่ทว่า สุดท้ายปากก็มักไม่ตรงกับใจ แม้สรีระภายนอก
จะฟ้องว่า มันมักจะไปตรงกับจมูกสูดกลิ่น แล้วไปจบสิ้นผ่านช่องปากอย่างสบายใจ
ดังนั้น ถ้าเรื่อง "กิน" เป็นเรือ่งที่ตามใจ "ปาก" แล้ว ก็อยากจะบอกอีกทางว่า
"โกคุเซน" ก็เป็นเรื่องที่ตาม "ใจ" ที่เปลี่ยนสภาพเป็นนายสั่งใช้ให้ทำ
โห! เห็นสำนวนเล่นคำที่ลึกซึ้งอย่างนี้แล้ว อย่านึกไปว่า โกคุเซนเดอะมูวี่
จะเป็นงานที่ซับซ้อนตามระบบคิดของผู้เขียน ตรงกันข้าม
โกคุเซนกับเป็นหนังที่แทบไม่ต้องคิดอะไรให้ยุ่งยากใจรำคาญใจ
ซ้ำร้าย อาจจะต้องเรียกหา "ความซับซ้อน" เพิ่มเติมเชิงปริมาณอีกไม่น้อย
หนังเปิดเรื่องดูเหมือนจะเข้าท่า เมื่อมีกลุ่มสลัดอากาศกำลังจี้เครื่องบินอยู่บนเครื่อ่ง
และถือเป็นความโชคร้ายของกลุ่มสลัดอากาศเหล่านั้น เพราะในเที่ยวบินไฟล์ดังกล่าว
ดันไปมีอาจารย์สาวผมแกละ-แว่นตากลม "ยามากูชิ คุมิโกะ" กำลังนั่งหลับเจ่าแบบไม่รู้เรื่อง-ราว
ถ้าเป็นแฟนคลับที่เคยติดตามกระบวนทัศน์แห่งโกคุเซน ไม่ต้องถึงขนาดไตรภาค
เอาเพียงแค่ภาคใดภาคหนึ่ง ไม่สิ! ตอนใดตอนหนึ่งก็ได้
คงพอคาดเดาโศกนาฎกรรมของกลุ่มสลัดอากาศกลุ่มหนึ่งได้ถนัดตา
และนี้ อาจจะเป็นปัญหาระดับต้นๆของตัวผู้เขียนเอง ที่นั่งคิดไปไกลถึงตอนจบของหนัง
ว่า "ขนาดกลุ่มสลัดอากาศระดับผู้ก่อการร้าย ยังไม่คณามือเยี่ยงนี้
แล้วทื่เหลือต่อจากนี้ ก็คงไม่มีอะไรในใต้ฟ้า ที่ยัยทาคุมิจะจัดการให้ไม่ได้"
แต่ช้าก่อน หนังไม่ได้ขายการจัดการแบบดุดันประเภทนั้นเสียทั้งหมด
ถึงแม้ว่าทีเซอร์จะมองว่า นี้แหละน๊า! คือ จุดขายที่สมบูรณ์แบบอันตื่นตาตื่นใจ
ของชนชาวโกคุเซน ที่ชอบเห็นความเจ็บปวดของอีกฝ่ายเป็นบทเรียนเสมอๆ




ต้องทำความเข้าใจเป็นภูมิเบื้องต้นนิดก่อนละกันนะครับ ว่า
งานสร้างของโกคุเซน ฉบับมูวี่ที่เป็นหนังใหญ่ เป็นงานที่รีบสร้างแบบต่อยอด
ของความเป็นภาคสามในฉบับซีรีย์ ที่เพิ่งจะฉายจบลงไม่นานนัก เรียกได้ว่า
ฉบับซีรีย์ในภาคที่สามจบบริบูรณ์เมื่อ มิถุนา ปี ๒๐๐๘ ต้นเดือนมีนา ปี ๒๐๐๙
ทางค่าย NTV ก็เข็นภาคสเปเชียล ให้มาเรียกน้ำย่อยกันสักหน่อย
ก่อนจะเปิดฤกษ์ให้ได้เข้าโรงฉายพร้อมกันทั่วประเทศ ในอีกสี่เดือนถัดมา
แบบมีลำดับการณ์เป็นขั้นเป็นตอน มีทั้งยั่วและดึงเกมส์
มิใช่รีบเข็นจนสิ้นไร้ถึงการรอคอยที่คุ้่มค่า แต่ทว่าเนื้อหาของการเป็นสากลภาพยนตร์
มันเป็นอะไรที่ต้องเอาข้อเปรียบเทียบนั้น โยนไปให้ไกลๆ
อาจถือว่าเป็นโชคดีหน่อยของคุณครูคุมิโกะ ที่ไม่โดนย้ายโรงเรียนเมื่อครั้งก่อนๆ
เพราะครั้งนี้ในฉบับมูวี่ เจ๊เธอยังคงเป็นครูประจำชั้นของห้องสุดเฮ้ว 3D แห่งรร.อาคาโดะ
3D ทีไร ก็รับประกันความยอดแย่เอาไว้กลายๆ
(แบบว่าถ้าดูไม่ออกก็พาไปโกรกหัวทองยกช้ั้น เพราะนักเรียนแต่ละคนหน้านี้หวานซะ)
ซึ่งครูสาวทาคูมิ ผู้มีภูมิหลังเป็นถึงทายาทรุ่นที่ ๔ของยากูซาตระกูลโอเอะโดะ
ต้องพยายามซื้อใจและมอบความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมแก่ลูกศิษย์ของตน
เพื่อนำทางให้พวกเขามาสู่ความเป็นลูกศิษย์ที่ดี มีความฝันบั้นปลายเป็นของตัวเอง
และพอที่จะยิ้มรับใบประกาศนียบัตรเมื่อจบชั้นปี ด้วยความภาคภูมิใจ
ผู้เขียน เคยเขียนสูตรสำเร็จนี้ สำหรับโกคุเซนมาแล้วถึง "สามครั้ง"
แล้วประทานโทษ!! ดันเขียนเหมือนกันทุกครั้งที่ได้ดูจนจบ แม้คนละช่วงเวลา
ในฉบับหนังใหญ่เดอะมูวี่ ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมแต่ประการใด
มีเพียงการลดสัดส่วนของเรื่องให้ดูสั้นลง
ไปสัมฤทธิ์ผลแห่งความเชื่อใจในหลักสูตรที่เร่งรัดขึ้น
เพื่อจะได้ให้เวลาส่วนใหญ่อีกครึ่้งหนึ่ง ให้กับนักเรียนศิษย์เก่าประจำรุ่น
ที่แบ่งออกได้เป็นสองส่วน กับอีกหนึ่งข้อยกเว้น




ส่วนแรก คือ ศิษย์เก่าอย่าง "โอดางิริ" (คาเมะ แห่งวง Kat tun)
ศิษย์ผู้สำเร็จการศึกษาในภาคที่สอง ซึ่งมีครูคุมิโกะเป็นครูประจำชั้นห้อง3D
เป็นผู้ชี้แนะทางสว่างให้เขากลับมาร่วมชั้น เพื่อสำเร็จการศึกษาปลายภาคเรียนไปพร้อมกับเพื่อนๆ
ก่อนที่พ่อของเขาจะส่งตัวไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การกลับมาครั้งนี้ของโอดางิริ
เปลี่ยนสถานะของนักเรียน มาสู่การเป็นครูฝึกสอนชั่วคราว
ที่ยังไม่แน่ใจนัก ในชะตาชีวิตของการเป็นครูต่อจากนี้ที่เหลือ
เลยได้มีโอกาสรับการชี้แนะทางสว่างอีกครั้ง โดยครูคุมิโกะคนเดิมเจ้าเประจำ


ส่วนที่สอง เป็น ศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจากภาคที่สาม ประกอบไปด้วย
คาซามะ เคน (รับบทโดย ฮารุมะ มิอุระ) โอกาตะ ยามาโต้ (รับบทโดย ทากากิ ยุยะ)
เคนโกะ ฮอนโจ (รับบทโดย ฮิเดโอะ) อิชิมุระ ริกิยะ (รับบทโดย จุตะ)
และ ซาโตรุ คุรากิ (รับบทโดย อากิ) เรียกได้ว่า รับช่วงการแสดงมายกแผง
สืบเนื่องจาก ช่วงเวลาที่ต่อยอดระหว่างภาคซีรีย์ กับ ภาคความเป็นหนัง
ยังดูไม่ห่างไกลนัก เมื่อเปรียบเทียบกับศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจากภาคหนึ่งและสอง
โดยศิษย์รุ่นที่สาม ต้องไปพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดกับการดัดสันดานห้อง 3D
ในเจเนเรชั่นสองของโรงเรียนมัธยมอากาโดะ ด้วยน้ำอกน้ำใจคุณครูคุมิโกะ
ที่มีดาราหน้าเกิดของค่าย Johnny อย่าง โทมาโมริ ยูตะ เป็นเดียวชูโรง
(ซึ่งครั้งนี้มาแปลก เพราะทุกทีเล่นขายกันเป็นแพ็ค แต่งวดนี้เฮียขอขายปลีก)
ใช้การดำเนินเรื่องเชิงคู่ขนาน ที่จะไปทับซ้อนกันสองเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียวในภายหลัง
ซึ่งความชั่วร้ายเหล่านี้จะยั่งยืนได้ ก็ต้องมีนักการเมืองผู้ส่งอิทธิพลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง
(แทนที่จะเลือกนักการเมืองหน้าใหม่สักหน่อย ทีมงานดันไปเลือกเอา
ซาวามุระ อิกกิ ที่อดีตเล่นเป็นตำรวจหนุ่มสุดปิ๊งในโกคุเซนภาคแรกให้ยัยคุมิโกะลุ่มหลง
มาเปลี่ยนบท แปลงโฉมหน้าตาเฉยเลย)




ส่วนข้อยกเว้น ที่ว่าแบบใส่คำว่า "ส่วนที่สาม" ไม่ได้
คือ การร่วมรุ่นศิษย์ที่เหลือแบบเก็บตกภาคหนึ่งและสอง
โดยหาช่วงเวลาคั่น ไม่ต่างจากโปรโมชั่นของโทรศัพท์มือถือ
เพราะต้องเข้าใจว่า สถาบันโกคุเซนเป็นแหล่งบ่มเพาะนักแสดงดาวรุ่งชั้นยอดมานักต่อนัก
ที่ปัจจุบัน ไปได้ดิบได้ดีในวงการบันเทิง จนแทบจะเฉียดเวลาหายใจยังเป็นเรื่องยาก
จึงเป็นการไล่เก็บแบบเข้าฉาก ที่บางคนก็ดูเข้าทีดี แต่อีกหลายคนนี้
ดูเป็นการยัดเยียดแบบบรรจงถีบเข้าฉากเห็นๆ นักดูศิษย์เก่าแห่งสถาบันโกคุเซนอย่างเราๆ
เลยได้เห็นหน้าคาตาพวกเขาเหล่านี้อีกครั้งในเวทีซีรีย์เรื่องเดิม
อย่าง เจ้ามัตซึโมโตะ จุน ,โองุริ ชุน,นาริมิยะ ฮิโรกิ
อิชิกากิ ยูมะ,โคอิเกะ เทปเป,โคอิเดะ ไคสุเกะ,ฮายามิ โมโคมิชิ
(ขาดเจ้าอานากาชิ จิน นักแสดงจากภาคสองเพราะถูกต้นสังกัดตัดหางปล่อยสหรัฐ)
ชนิดที่ว่าที่ว่า ถ้าเป็นสาวๆ หรือหนุ่มทำสาว มีต้องออกอาการกรี๊ดแอนด์กรี๊ดจนคอแห้ง
เพราะเขาเหล่านี้ ค่อยๆทยอยมาให้สังเวยผ่านสายตากันทีละคน
ส่วนใครที่ไม่เคยได้ติดตามโกคุเซนเลยสักภาค อาจจะมีลูกติดงงในเก้าอี้ตัวข้างๆ
ว่าแก็งค์ชะนีเหล่านี้ชีมาในอารมณ์ไหน และประมาณใด
แต่อารมณ์นี้แบ่งปันกันกรี๊ดได้ ในกรณีที่บ้าดาราหรือผ่านตาซีรีย์เรื่องฮิตจากประเทศญี่ปุ่น
ด้วยนักแสดงเหล่านี้ที่เอ่ยมา ล้วนผ่านการเข้าค่ายสถาบันโกคุเซนอาคาเดมีให้พอประทับตรา
ดังนั้นอย่าได้แปลกตา หากจะมีนักแสดงหน้าใหม่หลายคน
พยายามกระเสือกกระสน ที่จะเสนอหน้าเข้ามาในโกคุเซนภาคถัดมา แบบว่าดังชัวร์
ถึงแม้บทจะดูอ่อนๆการ์ตูนๆ เพราะมันทำมาจาการ์ตูนก็เหอะ ถ้าเล่นดีแล้วโตเร็ว
ใครเหล่าเขาจะไม่อยากจะโชว์ตัว



เป็นเรื่องยาก ที่จะไม่ลองเปรียบเทียบระหว่างฉบับเดอะมูวีกับฉบับซีรีย์
ว่าจะมีความแตกต่างกันมากน้อยประการใด ซึ่งคนดูคงไม่ต้องทำใจอะไรกันมาก
ก็แค่เป็นการเข็นโกคุเซนฉบับซีรีย์ แล้วหาน้ำยาลบคำผิดมาป้าย
เขียนแปะทับใหม่ว่าเป็นเดอะมูวีแทน หรือพูดง่ายๆกว่านั้น
ว่าเป็นการปฏิบัติตามสูตรอย่าเคร่งครัด จะเสียดายก็ตรงนักแสดงที่ถูกตัดบท
ให้เหลือเพียงบุคลากรเข้าฉาก ที่ถือเป็นข้อบังคับของการเอาซีรีย์มาลงในหนัง
ซึ่งก็ไม่พ้นในเรื่องของข้อจำกัดทางเวลา ส่วนนี้ ผกก. โทยะ ซาโตะ
ที่ถือเป็นตัวตั้วตัวตี จากการกำกับโกคุเซนมากับมือทั้งสามภาค
เลือกที่จะหั่นเวลาการแสดงของเหล่านักแสดงรุ่นใหญ่ มากกว่านักแสดงวัยรุ่นทั่วไป
แบบไม่บอกก็รู้ว่า จะขายตลาดคนกลุ่มไหนมากไปกว่ากัน
เป็นผลให้นักแสดงเรียกเสียงฮา แบบปิดทองหลังพระ อย่างครูใหญ่คู่กัด โกโระ
ครูบาบา และเหล่าบรรดาสหายลูกหาบนายหญิง อย่าง เท็ตซึกับมิโนรุ
เป็นเพียงแค่การมาปรากฎตัว ให้บทพูดนิดหน่อย แล้วไปรับค่าตัวเต็มๆ
ในภาคที่สี่ละกัน (ถ้ามี? ซึ่งคงจะมี ออกจะเป็นหน้าเป็นตาของสถานีซะ)
แล้วจะกล่าวหาว่าไปมีจุดขายอยู่แต่เฉพาะดาราวัยรุ่นชาย อันนี้ก็เกินไป
เพราะหลักใหญ่ใจความที่เป็นตัวยืน ให้โกคุเซนอยู่ยั่งยืนยงมาได้สามภาคกับหนึ่งมูวี
คงหนีไม่พ้นดารานักแสดง "นากามะ ยุกิเอะ" ที่คว้ารางวัลสถาบันวิจารณ์ทางซีรีย์
TDAA ถึงสามครั้งซ้อน เมื่อไปรับบทครูสาวสองร่าง "คุมิโกะ"
ซึ่งถ้าจะถามว่า การแสดงของเธอพัฒนาขึ้นไหม ก็ถือว่าพอเสมอตัว
ไม่ดีขึ้นและไม่ได้เลวลงกว่าเมื่อก่อน แม้จะเปลี่ยนสมรภูมิการฉายก็เหอะ
เป็นความดีที่ออกจะจำเจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะมีใครพอรับบทนี้ได้ดีเท่าเธอ
จะว่าไป เล่นในเงื่อนไขเดิมๆถ้านับเป็นตอนก็ได้ตั้ง ๓๓ ตอน ๓ สเปเชียล กับอีก ๑ มูวี่
ก็ยังถือว่าบริหารเสน่ห์ในบทครูอ่อนนอกแต่เเข็งใน ได้อย่างไม่รู้เบื่อ
ยังคงเล่นบทซื่อได้ฮา บทจะออกลูกบ้าก็ยังฮาได้อย่างหลุดลุ่ย
พอเวลาทำซึ้ง ก็เล่นเอาเงียบอึ้งจนพร่ำจะมีน้ำตาคลอมาหน่อยๆ
(แต่พอภาคที่สองทันไป ก็พอจับทางอารมณ์ของสูตรนี้ได้จะชักเฟ้อๆ)




ถือเป็นงานคืนสู่เหย้าชาวโกคุเซน ที่หวังจะจับแผลแบบนักวิจารณ์
ก็คงต้องเรียกหารถพยาบาลโดยฉับพลัน ผู้เขียนจึงไม่กล้ายืนยันว่า
คนที่ไม่เคยอ่านฉบับการ์ตูน หรือเคยชมซีรีย์ตอนหนึ่งตอนใดมาก่อน
จะมีผลประทับหลังจบโรง แบบที่ต้องถวิลหาตามซ้ำในฉบับซีรีย์เลยรึไม่
เพราะในฉบับเดอะมูวี ก็ไม่ได้ถือว่าจะสร้างความประทับใจอะไรมากมาย
ให้กับแฟนเก่าที่อุตสาห์อดตาหลับขับตานอน หรือแหกขี้หูขี้ตาตื่นแต่เช้า
แล้วรีบจองหน้าจอทีวีเจ็ดสี ประมาณสิบโมงเช้าของวันเสาร์อาทิตย์
ถือเป็นงาน "เติมเต็มทางอารมณ์" หรือเป็น "มิตติ้งริมจอ" ที่พอเอาสาระ
แม้จะซ้ำกับฉบับซีรีย์อยู่บ้าง แต่ถ้าลูกอารมณ์ฉันท์มิตรแล้ว
ส่วนนี้มันมีดีเพราะจุดนี้ ลูกขยี้ดูเหมือนจะไม่เคยได้นำมาใช้บนฐานของซีรีย์มาก่อน
(ยกเว้นว่าสูตรนี้เคยใช้กับอ้วนคุมะ ทายาทร้านบะหมี่ แต่เป็นฐานะปัจเจกบุคคลไป)
จึงเป็นงานที่ดูก็ดี ไม่ดูก็ได้เพราะไม่ได้สร้างมิติที่แปลกใหม่มากไปกว่าเดิม
ยังคงอยู่ในวงวนคำสอนให้เชื่อใจลูกศิษย์อย่างเชื่อมั่นและเติมพลังความฝันอย่างไม่ลดละ
ซึ่งก็เป็นความเสียดายทุกครั้ง ที่ดันเสลอมาดูเอาตอนแก่แบบใกล้มอดมะร่ำมะร่ออยู่เนี่ยไง........




ครั้งหนึ่งเคยรำลึกถึงโกคุเซนฉบับไตรภาค ไว้ที่


Gokusen ภาคหนึ่ง


Gokusen ภาคสอง


Gokusen ภาคสาม






 

Create Date : 16 ตุลาคม 2553    
Last Update : 23 ตุลาคม 2553 17:04:06 น.
Counter : 6733 Pageviews.  

Rookies and Oppai Volleyball กีฬาๆเป็นยาวิเศษ เป็นอุบัติทำคนให้เป็นคน


เร่เข้ามาๆ สองเรื่องควบ สองเรื่องควบครับพี่น้อง
ฟังแล้วดูดีนะครับ ว่าครั้งนี้ผู้เขียนใจดีมีเรื่องเสนอถึงสองเรื่อง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คือ ความเกียจคร้านอย่างสุดๆ
ใจนะก็อยากจะชำแหละเล่าหนังญี่ปุ่น ที่เพิ่งเป็นแผ่นเช่าสดๆร้อนๆ
โดยแบ่งการเล่าไปทีละเรื่อง
แต่ทำไงได้ ตอนที่ดูมันก็มีเวลาดู แต่พอถึงเวลาที่อยากจะเล่าแล้ว
หัวอ่านจากก้อนสมองที่ใหญ่กว่าก้อนถั่วมัดรวมสักหนึ่งถุง
เกิดอาการออกตัวช้าและหมุนด้วยอัตราเสถียรที่ไม่คงที่
จะมีทางไหนที่ดีไปกว่า การใช้มาตราการควบกิจการ (Merge or Acquired)
ที่ไม่ได้ผิดหลักของตลาดหลักทรัพย์ หรือละเมิดสิทธิผู้บริโภคใดใด
เป็นความขี้เกียจล้วนๆ แต่ไม่อยากถูกค่อนแขะว่าเป็นคนที่ชอบดองงาน
มาครั้งนี้ จึงประสงค์จะร่ายหนังญี่ปุ่นสักสองเรื่อง
ที่มีทิศทางในเกมส์กีฬามัธยมศึกษา แต่ทว่าออกรสออกชาติไปคนละแนว
คือ Oppai Volleyball และ Rookies สองงานดีที่ดูไปอาจจะอยากสลายไขมันสวมเกิน





แต่ดูเหมือนว่า Oppai ฯ จะเป็นหนังที่แตะตาผู้เช่า มากไปกว่า Rookies
หนังแผ่นอีกเรื่องที่ตั้งค้างวางอยู่บนแผงเช่านับสัปดาห์
ชนิดที่ Rookies ถูกวางครบสมองค์ประกอบ แถมตอนที่เช่าแผ่นก็ไม่ค่อยจะเป็นริ้วเป็นรอย
อันเป็นผลสะท้อนแบบหยาบๆ ในการวัดปริมาณการนิยมของผู้เช่า
โดยผ่านการปู้ยี้ปู้ยำผ่านแผ่น ผิดกับ Oppai Volleyball
ที่บนเนื้อแผ่น มีปรากฎร่องรอยการถูกกระทำอย่างชัดเจนและดูแจ่มแจ้ง
เมื่อสวมวิญญาณนักสืบโคนัน ที่แหกขี้ตาตื่นทุกเช้าวันเสาร์อาทิตย์
ก็สันนิษฐานแบบส่งเดชเอาเองว่า น่าจะเป็นการกรอกแผ่นเพื่อแสวงหาซึ่งฉากบางฉาก
หรือมุ่งเข้าสู่ประเด็นหลักตามชื่อเรื่องภาคภาษาไทย ที่ชวนมิให้รอค้างคาตามยัตถาของเครือ่ง
เพราะทีมงานผู้จัดจำหน่ายสัญชาติไทย ไม่รู้สวมวิญญาณหื่นอีท่าไหน
หรือเพราะมีเชื้อรหัส DNAV อยู่ในตัว จึงเปลื่ยนชื่อ Oppaiฯ แบบเข้าถึงตลาดชายไทย
แบบเห็บปุบก็คว้ามับอย่างไม่ทันยั้งคิด ว่าในเรื่องจะมีวอลเลย์สักกี่เซริฟให้รับประทาน
หรือเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อเอาใจเฉพาะกลุ่มอีสาวจุ๊ง อาชิกะจังและชาวคณะหรือไม่
แม้ปากจะวิพากย์ด่าทอบรรดาละครไทยหลังข่าว ที่ต้องมีซีนบังคับแบบตบตี
เพื่อแยกสามีผู้ครองเป็นของตน แต่"ตบ"ใน Oppai Volleyball น่าถลาให้ตบกว่าตั้งเยอะ
ตั้งชื่อไทยตัวใหญ่กลางหน้าแผ่นอย่างจงใจให้เห็นชัดๆเลยว่า "ครูครับผมจะตบเพื่ออกอึ๋ม"
ผิดกับ Rookies ที่ตั้งชื่อไทยก็งั้นๆว่า "Rookieมือใหม่ ไฟแรง"
ด้วยความหมายนั้นยังคงเดิม แม้จะเติมเชื้อไฟให้ดูแรงขึ้น แต่ก็แรงไม่พอ
ว่าจะแรงไปเพื่ออะไร ผิดกับ Oppaiฯ ที่เป้าหมายเขาชัดเจนตั้งแต่ชื่อเรื่องอยู่แล้ว




แหะๆ จะว่าไป มันก็แค่ความจริงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด
แม้หนังทั้งสองแผ่น จะยังถือว่าเป็นหนังใหม่ในฐานะที่อยู่ในข้อจำกัดการเช่า 1 คืน
แต่ทว่า Rookies:Graduation (ก็คือชื่อเต็มของ Rookies The Movie นั้นแหละ)
ถูกทำเป็นแผ่นเช่าก่อนหน้า Oppai ฯนานร่วมเดือน
นานพอที่จะตอบสนองฐานของนักอ่านฉบับการ์ตูน ของผู้วาด มาซาโนริ โมริตะ
แต่ฐานส่วนใหญ่ น่าจะเกิดสาวกแฟนคลับของนักชมฉบับซีรีย์
ที่ยังคิดว่า 11 ตอนของค่าย TBS ดูจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการตามที่คิด
ที่บรรดาเหล่าอดีตนักเรียนนักเลงแห่งโรงเรียนฟุตาโกะทามางาวะ
ที่ถูกชำระล้างและซื้อใจแบบมอบให้เกินราคาจากคุณครูโคอิจิ คาวาโต้
ครูผู้ซึ่งมีประวัติการใช้ความรุนแรงต่อยเด็กโรงเรียนเก่า จนล้มฟุบหน้าหงายตกจากชั้นสอง
อีกทั้งมีฝีไม้ลายมือดีกรีระดับคาราเต้สายดำ การกลับมาเป็นครูอีกครั้งก็เป็นเพียง
แผนอันเจ้าเล่ห์ของผู้อำนวยการ ที่จะยืมมือครูคาวาโต้เพื่อกำราบเด็กแสบชมรมเบสบอล
(อ่านฉบับร่ายซีรีย์ Rookies ได้
ที่นี้)
ความจริงแล้วจะว่าไป ในฉบับซีรีย์ที่ฉายทางทีวี
ก็ถือได้ว่า เป็นการลงจอดที่สวยงามและมีความสมบูรณ์ตามแบบฉบับซีรีย์ครบถ้วน
ที่นำพาให้ผู้ชมรู้จักทั้งตัวละคร เรื่องราว อุปสรรค ความเป็นมาและเป็นไป
อีกทั้งการปรับความเข้าใจและบรรลุในวัตถุประสงค์ร่วมกันซึ่งการทำฝันนั้นให้เป็นจริง
แต่กระนั้น ก็พอทำความเข้าใจได้ถึงผลในการเซ็ตทีมงานเดิม
เพื่อลงไปเล่นในตลาดภาพยนตร์ของ Rookies the movie
ที่น่าสันนิษฐานการต่อยอดงานสร้างที่ได้รับรู้ในสาม สี่ จุด คือ


จุดแรก เนือ้หาในฉบับการ์ตูนที่ยังไม่ถูกสร้างด้วยคนแสดงจริง
ยังพอมีทรัพยากรให้เอามาเล่น ด้วยเนื้อหาฉบับซีรีย์ทางทีวี
ละเลงไปได้แค่ครึ่งเล่มของฉบับการ์ตูนทั้งหมด
หรือจะพูดง่ายๆ คือ ซีรีย์เล่นเพียงแค่เรื่องสมัยชั้นปีที่หนึ่ง ในขณะที่ฉบับภาพยนตร์
เขาหันมาเล่นในปีสุดท้ายก่อนจบภาคเรียน และโคชิเอ็งยังเป็นอะไรที่ค้างๆคาๆ
ไม่ได้บรรลุซึ่งความฝันร่วมโดยสมบูรณ์
จุดที่สอง อาการของการกระชากเรตติ้งในตอนที่สิบเอ็ด ซึ่งเป็นตอนจบของฉบับซีรีย์
สะกดจิตคนดูให้ต้องนั่งตามติดชนิดไม่อาจกระพริบหายแว้บไปยังห้องน้ำ
ก็น่าจะทำให้ทีมงานพอมั่นใจในยอดตัวเลขของคนดู
หากจะทุ่มงบลงเสี่ยงไปก่อน แล้วคอ่ยไล่เก็บตังค์ค่าตั๋วคนดู
โอกาสของการเจ็บตัวน้อยก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่สูงขึ้น
จุดที่สาม ลูกเล่นเสริมตัวละครใหม่ ตามบทในการ์ตูนที่จะช่วยสร้างสีสันให้กับ
Rookies The Movie แบบเรียกแฟนสาวกของยามาโมโตะ โยสุเกะื
(จาก HanaKimi,Taiyo to Umi no Kyoshitsu ,Puzzle) ที่กำลังไต่ชื่อเสียงโด่งดังพอเป็นพระเอก
มารับบทตัวละครสำคัญที่ชิงหน้าชิงตาของประจำยกก๊วน ด้วยข้อหามาใหม่ต้องปูประวัติตัวละครตัวนี้ไว้เยอะ
จุดที่สี่ ช่วงนี้สนามโคชิเอ็งคงว่างจัด ไม่ได้เอามาใช้ทำประโยชน์อะไรนักหนา
ทิ้งไว้ให้หญ้าคารกสนามเล่นสักงั้น กระนั้นเราเอามาเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังกันดีกว่า (อันนี้ฟุ้งซ่านไปเอง)


href="//www.bloggang.com/data/c/chanpanakrit/picture/1286106560.jpg" target=_blank>



แม้กระนั้นก็ตาม ฉบับภาพยนตร์อาจจะไม่สุโค้ยย์อัตโต้ยย์ทเน่ะ
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับฉบับซีรีย์ ที่ทีมงานเขามีความอดทนในการเล่าเรือ่งสูงกว่า
ในฐานะที่มีข้อจำกัดของการนำเสนอในพื้นที่ของเวลาที่มีมากกว่าในฉบับภาพยนตร์
ดังนั้น ในปัญหาลำดับต้นๆที่เป็นอุปสรรคของเเฟนเก่าขอเข้ามาลองในฉบับ Movie
ก็คือ ความเป็น Rookies ที่เร็ว ห้วน และรวบรัดเอามากๆ
ชนิดที่ ผู้กำกับ ยุฮิชิโระ ฮิรากาวา ทั้งที่เป็นคนๆเดียวกันกับที่กำกับในฉบับซีรีย์ส่วนหลัก
แม้จะถ่ายทอดในอารมณ์ชนิดคงเดิม แบบที่พอรู้สึกได้ในฉบับซีรีย์
แต่ดูเหมือนพี่ท่านจะเปลี่ยนวิธีการลำดับเรื่องพอสมควร
จึงเป็นผลให้ กลุ่มคนที่เผลอเข้าตรงดิ่งในฉบับ Movie โดยทันทีแบบไร้ภูมิ
ขาดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า "ความผูกพันกับตัวละคร" และ "ฐานประวัติสมาชิก"
ชนิดที่ว่าเห็นปรอยทรงผมรำไรก็รู้ว่าเป็นเขาคนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครูคาวาโตะ, อานิยะ,มิโคชิบะ,ชินโจะ,
เซกิคาวะ,วาคานะ,โอกาดะ เป็นต้น (ส่วนนักแสดงที่นอกเหนือไปจากครูคาวาโตะกับ
สมาชิกทีมเบสบอลจอมเฮ้ว ก็เป็นบุคลากรประกอบฉากที่ถูกจัดวางหาซีนให้โผล่แบบเราไม่ลืมกัน
เป็นไปตามสูตรบังคับของบทประพันธ์ ซึ่งถ้าสละพวกเขาได้ ผกก.คงสละพวกเขาไปนานแล้ว )
ส่วนคนที่ไม่คุ้นชิน อาจจะไม่อินกับตัวผู้เล่นของทีมเบสบอลโรงเรียนฟุตาโกะทามางาวะ
เสมือนว่าอยู่ๆ ก็มีนักกีฬาเบสบอลกวนๆแบบครบทีม มีครูคนหนึ่งที่เป็นโค้ชไปในตัว
วันๆไม่ทำอะไรมากไปกว่า ยืนให้กำลังใจลูกทีมและโปรยรอยยิ้มอย่างบริสุทธิ์ใจ
จนบางทีอาจจะเกิดการตั้งคำถามไว้ในใจว่า
แล้วทำไม การแข่งขันในสนามโคชิเอ็ง จึงมีความหมายกับพวกเขามากมายขนาดนั้น
แต่สิ่งนั้น ก็จะถูกทดแทนสำรองได้ หากเป็นบุคคลซึ่งเคยได้อ่านฉบับการ์ตูนมากอ่น
ซึ่งผู้กำกับค่อนข้างจะเคารพต่อบทประพันธ์ในฉบับการ์ตูน ที่เขียนตั้งแต่ 1998-2003
ชนิดแบบช็อตต่อช็อต มุขต่อมุข โดยมิได้แตกสรรหาอะไรเพิ่มเติมมากมาย
ซ้ำร้ายเสียอีก ยังต้องพยายามตัดตอนรายละเอียดฉบับการ์ตูนในหลายส่วน
แล้วประคับประคองส่วนที่ยังคงเหลือ ให้มีความต่อเนื่องและแลดูสอดรับกัน
ซึ่งไม่รู้สินะว่า ใครจะรู้สึกแบบผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นคนฉบับอ่านการ์ตูนและชมฉบับซีรีย์
ว่าจริงๆแล้ว Rookies The Movie
เป็นงานที่ไม่สมควรถูกนำสร้างในรูปแบบของสื่อบันเทิงบนแผ่นฟิลม์
แต่สมควรที่จะถูกนำมาสร้างเป็นภาคต่อ ในฉบับซีรีย์จะอาดูลเสียมากกว่า
เพราะมันทำให้จุดดีๆในปีสุดท้าย ของRookies The Movie เหลือเพียงแต่เรื่อง
การบรรลุในความหมายร่วม ที่ไปรอปลายทาง ณ โคชิเอ็ง เป็นประการสำคัญโดดๆ
ทั้งๆที่จะว่าไป ในฉบับการ์ตูนยังให้สำคัญถึงในเรือ่งมิตรภาพ การสำนึกผิด
อุปสรรค บาดแผล ความรัก บททดสอบของการจะเป็นคนดีในทางอโคจร
ซึ่งใช่ว่าในหนังจะไม่มีนะขอรับ เพียงแต่มันถูกตัดแบ่งจนกลายเป็นเพียงบทที่ถูกบังคับให้เข้าฉาก
ไม่ได้สร้างจุดอารมณ์ร่วมแบบที่เห็นในฉบับการ์ตูน หรือถูกใช้นำมาเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่เห็นในซีรีย์
แต่จะบอกว่า เป็นงานที่เสียของไหม? ก็ต้องบอกว่าไม่
ออกจะเป็นงานซอฟท์ ที่ลดทอนความสถุลรุนแรงให้ได้รับโอกาสให้เข้าฉายผ่านหน้าจอทีวี
ซึ่งผิดกับญาณทัศนะฉบับซีรีย์ที่แรงสุดเกรียนเสียคาดเดาว่าหมดโอกาสการเข้าฉายในทีวีไทย
ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นจริงตามนั้นมิซ่างซา
คนที่ไม่เคยอ่านฉบับการ์ตูน หรือดูซีรีย์เลย ก็น่าพอที่จะจำจับทางได้
และอาศัยประสบการณ์พิเศษในการปะติดปะต่อเรื่องราว และคาดเดาอนาคต
เพราะมันก็สร้างเอกภาพอะไรบางอย่าง สำหรับคนที่ไม่เคยมีภูมิrookiesอยู่ในตัว
จะว่าไป มันก็เป็นงานตามแบบแผนขนบนิยมเเบบ "Spoto Konyo" หรือเรียกไทยๆว่า
"กีฬาๆเป็นยาวิเศษ ชะล้างกิเลสทำคนให้เป็นคน"
ที่แทรกซึมและมีอิทธิพลในสื่อบันเทิงของพี่ยุ่นเสมอมาและเสมอไป






ส่วนอีกเรื่อง คือ Oppai Volleyball หรือ "ครูครับผมจะตบเพื่ออกอึ๋ม"
ผู้เขียนก็ตกเป็นเหยื่อของการตั้งชื่อเรื่อง ทั้งที่มีความสงสัยอยู่เก่าก่อนแล้วว่า
ใยมันถึงได้กลายมาเป็นหนังที่รับชมได้ทุกเพศทุกวัย ถึงขั้นที่บางคนให้คอมเมนต์ว่า
ควรที่จะนำไปแบ่งปันให้แก่เด็กๆเพื่อต่อเติมเชือ้แห่งความฝัน!!
แบบที่ต้องพกคำบาลีเพื่อปล่อยวางปานชำแหละ โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) อกโต เอ้ย ตโจ(หนัง)
คงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ ก็ปกของค่ายเจบิ๊กเขาทำเข้าสูตรรบเร้าให้บริโภค
การที่มีชือ่เรื่องจูงใจ ประกอบกับหน้าใสๆของอายาเสะจัง
มันเป็นอะไรที่ไม่ต้องปรึกษาหารือ หรือคลำทางว่าลูกศิษย์จะมีจมูกเหนือปากรึไม่เพียงไร
หรือผู้เช่าจะต้องมีดีกรีเป็นอดีตนักกีฬาชมรมวอลเลย์บอลถ้วย ค ถ้วย ง สมัยไหน
จะว่าไปแล้ว ลึกๆผู้เขียนยังคาดหวังถึงอารมณ์ประมาณกัน แบบที่เคยได้ชมใน
waterboys หรือ swing girls เสียด้วยซ้ำ คือ เอาหนุกเอาฮา หรรษาๆ
ส่วนสาระที่จะติดตามมาในท้ายเรื่อง ค่อยไปแสวงกันในช่วงท้ายๆ
มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่ซีเรียสอะไร
ไปเปิดดิกชันนารีตามตัวสะกดของคำว่า"oppai" ที่เด็กชมรมวอลเลย์
สะกดพยางค์กันทุกๆห้านาทีแบบกลัวว่าจะลืมความฝันตั้งปณิธาน
สมมุติว่าเป็นงานที่แสนง่วง แต่เฮียก็จะทนดูขออย่างเดียว ไอ้น้องอย่าไปแพ้เค้านะเฟ้ย!
นำพาให้ละเมิดกฎวินัยของนักชมที่ดี ที่จะลนหาที่
ไปยังฉากสุดท้ายที่จะการเฉลยทุกอย่างและสำคัญเพียงแค่บางอย่าง
ก็ Oppai มันแปลตรงตัวว่า "หน้าอก"
หน้าอก อันเป็นภารกิจแห่งชีวิตครั้งยิ่งใหญ่สมัยหนึ่ง
ที่เด็กชมรมวอลเลย์บอลชายสุดเหลาเหย่แพ้ แม้กระทั่งทีมหญิงแห่งมัธยมในคิตะคิวชู
วันๆคิดแต่เรื่องลามกอนาจารตามวิสัยแต่ไปในทางสุด
ได้ยื่นขอเสนอในชัยชนะ เพื่อแลกกับได้ยลoppaiของสงวนของคุณครูมิกาโกะ เทระจิมะ
(ฮารุกะ ฮายาเซะ) ซึ่งเป็นครูเข้าใหม่ใจซื่อมือสะอาด
ความบรรลัยในทางปฏิบัติจึงเกิดขึ้น แม้จะไม่ตกปากรับคำอย่างเต็มใจ
แต่เด็กทั้งหกหื่นของชมรมก็คิดเตลิดไปไกลถึงขั้นเป็นแชมป์ กระตุ้นฮอร์โมนเฉพาะกิจ
ที่มั่นซ้อมเอาเป็นเอาตาย ชนิดที่ผู้เขียนที่ดูหนังมาพอสมควร
ก็ยังรู้สึกแบบลำเอียงว่า ช่างเอาใจช่วยไอ้เด็กพวกนี้มากกว่าหนังเรื่องอื่นๆอย่างผิดสังเกต
แม้จริงๆจะทำใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า Oppai Volleyball คงมี Oppai เป็นหน้าม่าน
แต่เนื้อหาใจความทั้งหมด ก็แค่เปลี่ยนจากคำว่า "ออกไปหาความฝัน"
มาเป็น "อ๊อปไป้นั่นแหละความฝัน" ตัวหนังเล่นกับความทะลึ่งในจินตนาการ
ซึ่งในภาคของความเป็นจริง ทะลึ่งก็เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงอย่างมีชีวาของการเล่าเรือ่ง
จนท้ายที่สุด กลับกลายมาเป็นการตระหนักในคุณค่าแท้มากไปกว่าการแสวงหาในคุณค่าเทียมที่ผุดขึ้น
ความที่หนังเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆในสังคม
แต่มีผลลัพธ์กลับยิ่งใหญ่ขึ้นเมื่อตกมาเป็นจำเลยของสังคมกลายเป็นประเด็นสาธารณะ
ที่วิพากย์วิจารณ์เชิงประสบการณ์อย่างไม่รู้รายละเอียด ตื้นลึกหนาบาง
oppai ในสถานะของอวัยวะบุคคลอาชีพที่สังคมยกย่อง
ไปผูกกับประเด็นกับคำมั่นสัญญาระหว่างครูกับลูกศิษย์อย่างคมคายตอนท้ายๆ
ซึ่งจะว่าไป หนังมีทิศทางในวัตถุหลักเอาไว้แต่ต้น
เพียงแต่แสวงหาสิ่งจูงใจที่จะเป็นเครื่องหลอกล่อให้คนดูติดกับ
โดยใช้sex appearของอวัยวะเป็นจุดขาย ที่สำคัญเป็นการจงใจขายแบบตีแสกหน้า
ซึ่งถ้าเอาข้อกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเครือ่งชี้วัด
หนังเรื่องนี้ก็เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภคเต็มๆ แบบไม่มีดอกจันตัวจ้อยวางไว้ล่างโปสเตอร์
แต่จะไปได้มโนสำนึกสำคัญอะไรบางอย่าง ที่ดูไม่น่าจะเข้ากันได้กับ oppaiฯ
แต่หนังก็ผูกโยงเชื่อมต่อจนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจอย่างร้ายกาจ
ยังดำรงความใสฉบับเยาวชนดูได้ ผู้ใหญ่ดูก็ผิดทาง
ซึ่งคุณลักษณะโดยพิเศษทางสรีระของคุณน้องอายาเสะ ก็ขึ้นชื่อลือชามาแต่ไหน
แถมคอสตูมคัดสรรชุดเสื้อผ้าของนักแสดงให้กับตัวอายาเสะ
ถึงแม้จะเป็นชุดมิดชิดรัดรูปก็เหอะ แต่ก็เผยถึงการล้นทะลักหากเต็มใจ
จึงเป็นงานโชว์ของในฐานะฝีมืออายาเสะเอง
โดยปล่อยให้การโชว์ของอย่างอื่นเป็นเรื่องที่รอลุ้นพิจารณากันทีหลัง
ซึ่งกว่าจะถึงจุดพิจารณาได้ หนังก็คอ่ยๆกลบประเด็นเพ้อเจ้อที่เกริ่นไว้แต่ต้นเรื่อง
และไปสร้างภาระผูกพันกับปมของตัวละคร ถึงเหตุที่ย้ายมาเป็นครูประจำพื้นที่ใหม่
ของคุณครูเทระจิมา พื้นเพที่ทำให้เด็กชายวอลเลย์กลายเป็นเด็กลามกจกเปรต
แทนที่จะมาใส่ใจการฝึกซ้อมเหมือนกับชมรมอื่นๆ





Oppai Volleyball ดัดแปลงมาจากนิยายของ มุเนะโนริ มิซึโนะ
และผ่านการกำกับของ เออิจิโระ ฮาสึมิ
ที่เคยทำงานตลกวัยทำงานของกลุ่มสาวปลาแห้งใน Hotaru No Hikari
(ครั้งหนึ่งเคยร่ายไว้งานของ ผกก.ฮาสึมิไว้ ที่นี้)
เสน่ห์ของหนังที่ไม่ได้เอามาเป็นจุดขาย แต่ที่น่าสนใจอย่างมาก
คือ การจำลองฉากให้เข้ากับบรรยากาศปลายปี 70 อีกทั้งยังมีเนื้อทำนองเพลง
ปลุกใจเลือดนักสู้สมยุคสมัย แบบที่ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงสมัยที่เคยได้ติดตาม
ซีรีย์ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์ฯ เจ้าหนูเคนโด้ หรือไม่ก็ พวกหน้ากากเสือ
อะไรเทือกนั้น ยิ่งการถ่ายทำบนพื้นที่เกาะริมชายฝั่งคิวชู
ยิ่งทำให้หนังแลแอ็บแบ๋วทำซื่อ ที่ออกฤทธิ์พอจะเป็นหนังหรรษาทั้งครอบครัวได้ไม่ยาก
ส่วนความน่าเสียดาย ไม่ได้อยู่ที่ความอ่อนของการสมเหตุสมผล
เพราะแนววิธีการเล่าฉบับเจเเปนคอเมดี้ เป็นงานที่คนดูสามารถให้อภัยในจุดนี้ตั้งแต่เริ่มต้น
ทว่าในฐานะงานแบบ Age of School ที่มีกีฬาเป็นตัวเรื่องหลัก
หนังเรื่องนี้ดูจะไม่ทำงานในฐานะการปลุกปั้นนักแสดงหน้าใหม่มาประดับวงการ
เหมือนกับที่ได้ปั้น ซาโตชิ จาก Waterboys หรือ จูริ จาก Swing Girls
แต่ก็ไม่แน่นะ เพราะเป็นเพียงการคาดเดาสุ่มที่มีผลผูกพันกับอนาคตอาชีพ
เพียงแต่ว่ามองไม่เห็นความโดดเด่นในการเอื่อบทให้กับนักแสดงหน้าใหม่พวกนี้
นอกจากสิ่งอ๊อปๆที่เรียกว่า อก ร้องกันดังระหึ่ม ว่า "Oppai Oppai" เพียงสถานเดียว........




ภาพจาก...........................
//www.kapook.com






 

Create Date : 03 ตุลาคม 2553    
Last Update : 7 ตุลาคม 2553 23:36:27 น.
Counter : 3463 Pageviews.  

Hotaru no Hikari สาวปลาแห้งขอปิ๊งรัก


เมื่อปลายเดือนก่อน เสธ.ผู้อุปถัมภ์แผ่นซีรีย์ได้แจ้งถึงการออกอากาศของภาคต่อ
"โฮตารุ สาวปลาแห้ง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Hotaru no Hikari
พร้อมทั้งเสธ ท่านคนดังกล่าว เสนอเชิงการประมูลถึงการจัดส่งปลายทาง
ของซีรีย์ภาคต่อดังกล่าว ซึ่งในพระคุณของในตัวภาคแรกที่ผู้เขียนเองก็ยังคงเก็บดอง
ค้างสต็อกในหมวดซีรีย์ที่รอการพิจารณาทางภาวะอารมณ์ที่เหมาะสมคงความเป็นเพศ
มิใช่ว่าซีรีย์ Hotaru no Hikari จะไม่สนุก หลั้นล๊า และก๋ากั่น ตามแบบฉบับของพื้นที่ปก
ในทางตรงกันข้าม กับเป็นซีรีย์ที่ออกรสถึงชาติอย่างเกินการคาดหมาย
และสมถึงอย่างที่กล่าวอ้างและที่เคยได้ยินมาก่อนหน้า
ว่าอัดแน่นไปด้วยพิกัดของความสนุกที่เกินขนาด แต่กระนั้นผู้เขียนจำต้องยุติในการชม
เพื่อพิจารณาการเต้นของชีพจรความเป็นชายอยู่เป็นระยะ
ว่ายังคงรักษาสมดุลทางเพศกำเนิดของตัวเองต่อไปได้อีกรึไม่ แต่มิวายก็ยังมีเสียงที่ผิดปกติ
ปรากฎขึ้นอย่างแผ่วเบาว่า "แอ็บแมน แอ็บแมน" ให้ภาวสมดุลมันตุ๊มๆต่อมๆ
อ่ยางน้อย ก็ไม่ให้ถูกครหาโดยนิยามว่าชอบนอนกลิ้งหมุนวนไปมา
และมัดจุกเดินคืบคลานเพื่อหาเบียร์สักยี่ห้อ มาดื่มโซ้ยให้ได้รับฉายา "ไอ้หนุ่มปลาแห้ง"





แต่จริงๆแล้ว ที่ว่ามาทั้งหมด ผู้เขียนก็ออกลูกเวอร์ไปงั้นแหละ
เพราะ Hotaru no Hikari เป็นซีรีย์ที่แม้จะจัดแจ้งในการเสนอจุดขายความเป็น Female Comedy
ที่มีหลักใหญ่ใครสร้าง อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีดาราหญิงเป็นตัวนำเรื่อง
ที่เหลือจากนั้น ก็ใส่รายละเอียดญิ๊งๆ ทั้งทรรศนคติ อุดมคติ อคติ และฉันทำได้อ่ยางไม่มีที่ติ
แต่กระนั้น จะขายความเป็นดาราหญิงแต่ประการเดียว โดยมองข้ามไปถึงเนื้อหาสาระไปเลยซะ
ก็ทำให้ Female Comedy ในซีรีย์ญี่ปุ่น มีน้อยเรื่องนัก ที่จะนำพาให้พวกเราจดจำ
ชนิดที่ว่า ถ้าให้ลองหยิบยกในบรรดาซีรีย์เทือกดังกล่าว ก็บอกฉับพลันได้ตามตรงว่า
ยังคิดไม่ออกและบอกไม่ได้ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเมื่อบอกไปแล้วจะเกรงจะเสียซึ่งเชิงชาย
ที่ดูไม่แมนและแรงไม่ออก แต่ถ้าบังคับฝืนใจแม้ไม่มีใครมาบอกให้ฝืน
ก็คงยกให้กับเรื่อง Hataru no Hikari ได้เพียงประการเดียว




ความจริงแล้ว อาจจะดูช้าไปเสียด้วยซ้ำ
ที่อยู่ๆผู้เขียนเพิ่งจะมาหยิบยกซีรีย์เรื่องดังกล่าวออกมาร่ายในวันนี้
เพราะดูเหมือนว่า Hotaru no Hikari จะถูกเพื่อนๆในบล็อกแก็งค์นำมาเล่าและละเลง
ในหลายๆสำบัดสำนวนให้ชวนดู และเหนืออื่นใดทั้งหมด ล้วนเป็นการให้ปากคำของเหล่าสตรีเพศ
ที่สอดรับกับประเด็นและอารมณ์ของเรื่องได้เป็นอย่างดี งานนี้จึงมีกึ๋ย
เหมือนผู้เขียนริอาจจะลองเปียแชร์สำหรับความรู้สึกส่วนลึกของท่านชาย
(ที่พิมพ์ไปอาจมีนิ้วติดจีบโดยเฉพาะนิ้วก้อยที่ง้อเป็นระยะๆ
เพื่อเข้าถึงในจิตวิญญาณถึงก้นบึ่งในประเด็น)
สำหรับซีรีย์เรื่องนี้อย่างน้อยๆก็เพื่อ รอคอยต้อนรับความเป็นภาคสองของเรื่องดังกล่าว
มิใช่โผล่พรวดแล้วชวนต่อไม่ติด หรือปะติดปะต่อแบบงูๆปลาๆ เขาดินๆ
จนทีมงานผู้สร้างอาจระอาทดท้อ พอให้ส่ายหัวด้วยผิดเจตนารมณ์หลักที่อยากจะให้เป็น



ผู้เขียนว่า อย่างน้อยๆ ซีรีย์เรือ่งนี้มีความโดดเด่นมาตั้งแต่ชื่อเรื่อง
เพราะได้กำหนดการสร้างชื่อในภาคภาษาไทยโดยนิยามศัพท์เฉพาะของสาวปลาแห้ง (Himono onna)
สาวปลาแห้งที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตเฉพาะทางอย่างไม่แคร์สื่อและไม่ออกนอกหน้าด้วยหน้ามุดอยู่แต่บ้าน
ของหญิงสาวที่สมควรจะโสด ด้วยวัยทำงานเพียง 27 เธอชื่อ อาเมมิยะ โฮตารุ
ที่หน้าฉาก ณ สำนักงานออฟฟิครับจ้างออกแบบภายใน
เธอดูจะเป็นผู้หญิงที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงาน
แสดงออกถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
และพร้อมทุ่มเทพลังอย่างไม่รู้จักเหน็ดมีเหนื่อย
ปฎิบัติการวางตัวและแต่งองค์ทรงเครื่องสาวออฟฟิค ได้ตามระเบียบของลูกจ้างระดับพอที่ส่งเข้าประกวด
ซึ่งแขกไปใครมา หากได้เห็นก็เป็นที่ชื่นชมและยกย่อง
พอมองได้ว่าจะมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของบริษัทในอนาคต
แต่ทว่า ..................................เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว!!!
เธอก็ปรับสภาพเข้าหมวดปฏิบัติการของสาวปลาแห้งคอลโทรล์
อันเป็นสูตรเดียวกันกับที่สาวออฟฟิคนัดบอด ที่เดี๊ยนไม่อยากขึ้นคานจับกลุ่มเมาท์สุ่มหัวนั่งนิยาม
ความเป็น "สาวปลาแห้ง" ได้ชนิดพูดปุบ ก็"อี๋ย"ปับ โดยทันที



Dry fish Girl ?
(ห๊า! อีสาวปลาแห้ง)

For example ,at work they seem like an aggressive office lady.
But when they get home.they change into their work-out clothes.
and tie their hair into a samurai-style bult.

(ก็ยกตัวอย่างนะอะเธอ อย่างเวลาทำงานพวกชีจะขมักเขม่นเอาจริงเอาจังในการทำงาน
แต่พอลับหลังตายเกลือกถึงบ้านเมื่อไร พวกชีจะเปลี่ยนสีเป็นคนละคน
และจะผูกจุกมัดผมแบบซามูไรตกยุคก็ไม่ปานละเธอ)

They open a can of beer like this and drain all of it down their mouths.
Over the weekends,she just go straight home without going to blind-dates
they only eat and sleep during break and has no interest in men.
l ganrantee that our company wouldn't have anyone like this.

(พวกชีจะกระดกซดเบียร์แบบไม่แคร์สภาพ แถมยังหร่อชนิดสลายชั้นบรรยากาศ
ยิ่งในทุกๆสุดสัปดาห์นะ ชีจะดิ่งตรงทะลุประตูบ้าน ไร้ซึ่งเซลล์สมองปรองดองเกี่ยวกับเนื้อชู้หาคู่นัดเดท
พวกชีนะ วันๆตื่นมาก็ลุกขึ้นกิน กินอิ่มเสร็จแล้วก็กลับไปนอน และไม่ยี่หระหรอกนะกับเรื่องผู้ชาย
ฉันฟันธงคอนเฟริมได้เลยละนะว่า ในบริษัทของพวกเราต้องไม่มีเผ่าพันธ์เยี่ยงนี้เป็นอันขาด เป็นอันขาด เป็นอันขาด(ก้อง))







ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า โดนแต่เฉพาะนางเอกสาวโฮตารุฉบับเต็มๆ
มิได้หมายถึงใครบางคนบนหน้าจอ ทางที่ดีที่ปลอดภัยขอกลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่า
แต่ก็นั้นแหละ พอทุกนิยามนี้โดนเข้าตัวแบบเสกทั่วท้องโฮตารุในทุกเม็ดเช่นนี้
เงื่อนไขที่ทุกประโยควางไว้เป็นข้อๆจะสัมฤทธิ์ผลให้ชีเป็นม้ายขึ้นคานทองนิเวศได้
หากเข้าข่ายในนิยามที่ว่าไว้ ยกเว้นอย่างเดียวว่าคนๆนั้น ต้องมิใช่นางเอก
แล้วถ้าเป็นนางเอกละ เท่ากับว่าคำสาปนั้นจะต้องสลายผล แม้จะไม่เป็นไปในบัดดล
แต่ผลของการคลี่คลาย ก็มักจะชวนให้เนื้อเรื่องตอนที่เหลือแลดูสนุกขึ้น
ประเด็นของเรื่องมันมีมากกว่า อคาเดมี่สาวปลาแห้งที่จะมานั่งหน้าจอดูวิถีการดำเนินชีวิต
ของสาวปลาแห้งทุกซอกทุกมุมห้อง เมื่ออยู่ๆ บ้านพักที่เธออาศัยเป็นเขตปลอดภัยประจำเรือน
เป็นที่ๆเดียว ที่หัวหน้าของเธอ เซย์อิจิ (เล่นโดย ฟุจิกิ นาโอฮิโตะ)
ขอย้ายตัวเอง มาพักทำใจจากชีวิตเศร้าที่กำลังจะเข้าหย่าร้างแบบไร้พิธีกับอดีตภรรยา
แต่มาติดปัญหาที่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหัวหน้า ดันเคยไปคุยถูกคอกลางร้านเหล้ากับสาวเจ้าโฮตารุ
จึงได้เซ็นสัญญาให้เช่าบ้านหลังนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งนอกจากหัวหน้าเซย์อิจิ
จะไม่มีอำนาจขับไล่ด้วยข้อนิติกรรมสัญญาแล้ว ยังต้องทนเห็นสภาพอีสาวนอนกลิ้ง
และชุดชั้นในกองเกลื่อน ด้วยอำนาจของความเปํนหัวหน้าใช้ได้เฉพาะในเขตเวลางานเท่านั้น





แต่ใช่ว่า โฮตารุเองจะไร้ซึ่งต่อมจรรโลงพิสวาทประจำแบบหญิงรักชาย
จนกระทั่งโฮตารุได้พบกับมาโคโตะ นักออกแบบคนใหม่ของบริษัท (เล่นโดย คาโตะ คาซุกิ)
ก็เกิดอาการรักปิ๊งอยากจะอิงแอบ แต่ทว่างานนี้ไม่ใช่ของง่ายเพราะโฮตารุจะต้อง
ปะทะกับคู่ปรับที่เป็นยพนักงานสาวในบริษัทเดียวกัน ที่ชื่อชั้นต้องถือว่าเป็นดาวประจำบริษัท
ยุอุกะ (เล่นโดย กุนินากะ เรียวโกะ) ที่มีความได้เปรียบในทุกๆองค์ประกอบของสาวปลาสด
งานนี้ ผู้ที่ดูเกมส์อยู่ห่างๆ อย่างหัวหน้าเซย์อิจิ นอกจากจะต้องเป็นที่ปรึกษาจำเป็น
แบบที่ไม่อยากเห็นใจ แต่ทำไงได้เพราะดันอยู่หลังคาบ้านผืนเดียวกัน
ที่นอกจากตัวเองจะต้องเก็บความลับ ว่าพักอาศัยบ้านหลังเดียวกับลูกน้องตัวเองแล้ว
ในทางกลับกัน หัวหน้าเซย์อิจิเองก็ได้โฮตารุ ที่แม้ภายนอกแล้วดูพึ่งพาไม่คอ่ยจะได้
แต่อย่างน้อยๆ การมีเพื่อนที่ช่วยค่อยปลอบใจและให้กำลังใจยามที่ไม่เหลือใครจะให้ปลอบ
การมีโฮตารุไว้สามัญประจำบ้านรอการย้ายออกเมื่อมีคู่ ก็ทำให้ชีวิตหลังเลิกงานในแต่ละวัน
ของหัวหน้าดูจะผ่อนคลายขึ้นเป็นกอง ขณะเดียวกันก็กองปัญหาให้ได้ตามแก้ในทุกๆเที่ยวกลับ
ซึ่งถ้าให้มองทั้งสองด้าน ก็มิอาจแน่ใจว่าหัวหน้าแกจะมีความสุขของการทำส่วนไหนมากไปกว่ากัน



ถ้าไม่เอาความเป็นหน้าหนังของซีรีย์เป็นเครื่องพิจารณาแล้ว
มีความเชื่อลึกๆว่า Hotari no Hikari เป็นซีรีย์ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย ปลอดภัยแบบไม่ต้องมี ฉ15
มาเป็นเครื่องกวนใจ ส่วนหนึ่งที่หน้าหนังไม่โปรสายสิทธิสตรีจ๋า จนไม่เหลือพื้นที่ให้สิทธิบุรุษ
ก็เพราะต้นฉบับของเรื่อง ดัดเเปลงมาจากฉบับการ์ตูนที่ลงในนิตยสารการ์ตูน Kiss
โดยฝีมือวาดของ ฮิอุระ ซาโตรุ และมีแปลในฉบับภาษาไทยที่ชื่อ โฮตารุ ด้วยแสงแห่งรัก
ที่จัดจำหน่ายขายจริง โดยสำนักพิมพ์ บงกช
ในแง่ความเป็นสาสน์แล้ว จึงดูจะเข้าถึงกลุ่มคนดูได้กว้างกว่าความตั้งใจที่จะเขียนให้เป็นซีรีย์โดยตรง
ด้วยฤทธิ์ของการดัดแปลงบท มันแฝงด้วยการประนีประนอม ทั้งในส่วนต่อการเคารพตัวต้นฉบับ
ขณะเดียวกัน ก็ต้อง่ปรับในสัดส่วนบางอย่าง เพื่อความเหมาะสมกับโอกาสของการถ่ายทำ
อีกด้าน ก็ต้องชื่นชมมือดัดแปลงบท มิซุฮาชิ ฟุมิเอะ (ซึ่งไม่ค่อยอยากเชื่อเลยว่าเป็นมือเขียนบท
คนเดียวกันกับที่เขียนให้กับซีรีย์ triangle
เชื่่อว่าคงได้รับประคับประคองจากคุณสามีที่เป็นผู้กำกับชั้นเซียน
นากาเอะ อิซามุที่แฟนนักดูซีรีย์ อย่าง หมอโคโตะและ flowershops
แม้อาจจะไม่รู้จักชื่อ แต่คงพอลูบคลำในงานฝีมือมาบ้างแล้ว)
ที่สามารถถอดความจากฉบับการ์ตูน ให้สอดรับกับการมีตัวตนในพื้นที่จริงของชีวิต
อย่างไม่รู้สึกอิหลักอิเหลื่อมว่ามันมาจากเค้าโครงในฉบับการ์ตูน
(แถมไปจี๊ดใจสาวทำงานในชีวิตจริงสักอีก)
ส่วนลิสต์รายชื่อผู้กำกับ ก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร
เพราะเป็นสายทำเพื่อเอาใจนายหญิงที่เป็นกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ของค่าย NTV มาตั้งแต่ไก่อ่อน
ทั้งผกก. ฮิโรชิ จาก Oh!My Girl!! และ ผกก. เซย์อิจิ จาก Osen
การได้ทำงานสายถนัดก็เลยแลดูเข้าทางผู้กำกับ เพียงแต่แปลกใจไม่น้อยว่า
ทำไม?ถึงเสนอกลเม็ดเด็ดพราย ด้วยลีลามุขที่แพรวพราวฮากลิ้ง ที่จะว่าไป
งานชิ้นก่อนๆ ของผกก. สองท่านที่ว่ามา ก็แทบไม่อาจเรียกเสียง "หึๆ" จากปากผู้เขียนได้เลย




และก็อีกนั้นแหละ ซีรีย์เรื่องนี้ดูจะผิดกลิ่นจากค่าย NTV ทั้งในเรื่องรูปแบบและสาระโดยปกติ
เพราะแนวสาวออฟฟิคแบบพาร์ทไทม์ ที่เคยได้ยลจากค่ายนี้
นับเนื่องด้วยเเล้ว สายหลักที่ชัดเจนดูจะมีแค่ Haken no Hinkakuที่ดูจะเป็นงานสร้างชาติจนเกินงาม
พอมาสำรวจตัวงานของ Hotaru แล้ว ถือเป็นงานสร้างที่สุ่มเสี่ยงไม่น้อย
เพราะในซีรีย์ต้องเล่นกับสภาวะของโลกสองส่วน คือ ส่วนที่จริงจังจากการทำงาน
และส่วนที่ดูเพ้อเจ้อยามที่อยู่ในบ้าน การจะประกอบให้เรือ่งราวดูสอดคล้องต้องกันได้
โดยไม่รู้สึกแปลกแยกทั้งจากเนื้อเรื่องอยู่เดิมและจากพฤติกรรมของตัวละคร
แค่คิดจะวางแผนงาน คำว่า"เหนื่อย" ดูเหมือนจะจอดรอป้ายหน้าสักแล้ว
ยิ่งถ้าไม่อาจเลือกเฟ้นนักแสดงที่สะกดคนดู และทำให้คนดูเชื่อว่าสามารถแบ่งภาคสองบุคคลิก
โดยที่คนดูไม่รังเกียจมิติตัวละครครึ่งหนึ่งและไปรอลุ้นพฤติกรรมอีกด้านที่กำลังจะรอเข้าฉาก
งานนี้ก็ต้องบอกว่า "อายาเซะ" เธอมีของและกล้าลองฝีมือในงานที่สุ่มเสี่ยงจะดับอนาคตของตัวเธอเอง
ทำให้พฤติกรรมสุดเพี้ยนของสาวปลาแห้งให้กลายเป็นน้ำปลาตรากระตัก คุณภาพคับ อย.
ที่ไม่ต้องโคลนนิ่งพฤติกรรมแอบเเป๋วแล้วทำแกมป๋อง แต่ขายในจุดที่ตัวเองเป็นอย่างไม่เสแสร้ง
ถ้าจะบอกว่าเป็นงานสร้างภาพ ก็ต้องเป็นงานสร้างภาพให้ดูต่ำลงแต่กลับมีคนดูรักมากขึ้น
จึงทำให้บท อาเมริยะ โฮตารุ ดูเป็นที่น่าจดจำในลำดับทะเบียนผลงานของ อายาเซะ เอง
ไม่แพ้ในบท สุกิมุระ อากิ ใน Crying out , ยุกิโฮะ จาก Byakuyako และ ทาจิบาน่า ซากิ จากซีรีย์ Jin



ส่วนอีกคนที่จะไม่พูดไม่ถึงไม่ได้ คือ บทหัวหน้าเซย์อิชิ ที่รับบทโดย นาโอฮิโตะ ฟุจิกิ
ก็ต้องถือว่า เป็นการเรียกศรัทธาชื่อชั้นในการแสดงจากระดับกลางๆ
ให้กับมาเป็นนักแสดงมีชื่อลำดับต้นๆ ที่พอเอาไว้เรียกแขกไปใครมาหน้าจอได้อีกครั้งหนึ่ง
เพราะนับจากที่พอฉายแววความเป็นตัวเอกแบบไม่พึ่งพาใคร ใน To the one I love
งานต่อจากนั้นก็มักจะได้รับบทระดับกลางๆอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็เป็นตัวเอกแต่ก็ถูกกดทับความเจริญ
ด้วยต้องแชร์ความมีเสน่ห์เพื่อถ่ายเทให้กับนักแสดงท่านอื่นๆ อาทิ Proposal Daisakusen
Galcir , Around 40 เพิ่งจะเห็นงานนี้ละมั้ง ที่โชว์ความมีน้ำมีนวลและมีของ
ประมาณว่าอายุสามสิบกลางๆก็งานเข้า นับจาก Nurse no Oshigoto
ก็เพิ่งจะมีเรื่อง Hotaru นี้แหละที่เป็นงานภาคต่อ ให้พี่ท่านได้รับประทานบทเดิมอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งดูแล้วจะว่า จบจากภาคแรกก็ดูเหมือนจะไม่มีปมอะไรให้ค้างๆคาๆ
จึงน่าสนใจว่า ในภาคต่อลำดับต่อมาเขาจะมีอะไรใหม่เป็นประเด็นให้พี่ท่านได้ฟาดฟันกับ
อีสาวโฮตารุได้อีก แต่น่าจะมีอยู่หรอกนะเพราะเรตติ้งเฉลี่ยภาคต่อสูงปี๊ดกว่าภาคแรกพอสมควร




ส่วนที่ติดใจรองลงมาเห็นจะเป็นนักแสดงชิงรักแต่ไม่หักสวาทสไตล์บูชิโดเขา
จะมีใครละ ก็เจ๊ คุนินากะ เรียวโกะ ที่เล่นรับบทยุกะ
เพราะรูปร่างและหน้าตาทำปฏิกิริยาอย่างแรงเเซงตัวนางเอกสักอีก
แถมเป็นบทซ่อนร้ายภายใต้ การแสดงออกทุกอย่างที่บ่งชี้ว่าคนดีแบบสุดๆ
เห็นเสธ ผู้อุปการะซีรีย์ บอกว่าเจ๊แกเคยโด่งเคยดังจากซีรีย์ของค่าย NHK เรื่อง Churasan
ที่ได้รับการการันตีฝีมือจากสถาบันซีรีย์ TDAA ในบทเอริ พยาบาทสาวสวย
แต่ปลื้มอย่างไรคงทนพิษบาดแผลของค่ายนี้มิไหว ด้วยเขาขายเหมาเป็นเเพ็ก
ด้วยคุณภาพนี้พอทน แต่กลับปริมาณ 156 ตอน คงได้หลอนกันกันพอดี
แต่เห็นรายชื่อหนังใหญ่ที่ผ่านสายตาผู้เขียนมาบ้าง ทั้ง Densha otoko และ Hero Movie
แต่กระนั้นก็ยังไม่คุ้นหน้าค่าตาพอให้ถลาโอบไหล่ งานนี้อาจมีทบทวนซ้ำตามทรัพยากรจำกัดที่พอเข้าถึง
และนับก้าวบันไดวงการบันเทิงก็เผยมาว่าครั้งหนึ่งเคยได้แจมในซีรีย์ summer snowมาอีกด้วย
ผู้หญิงอะไร! หน้าตาดีที่ไม่เคยเอามาจดจำเอาสักเลย
อันนี้คงโทษเจ๊เพียงฝ่ายเดียวมิได้ นอกจากผู้เขียนขอเป็นผู้รับผิดแต่เพียงผู้เดียว
และพร้อมจะรับชอบผู้เดียวอีกเช่นกัน




ส่วนพ่อหนุ่ม คาซุกิ คาโต้ ที่โผล่มาก็หล่อเลย แถมดีกรีนักเรียนนอกเสียอีก
จึงไม่แปลกที่จะทำให้อีสาวโฮตารุตกหลุมรักอย่างจัง และต้องฟาดฟันกับชาวคณะสาวในออฟฟิค
ดูจากประวัติแล้ว เจ้าหมอนี้ถือว่าเติบโตในวงการอย่างรวดเร็ว
และเป็นบุญที่ได้ร่วมเล่นในซีรีย์ Hotaru ที่ส่งเสริมก้าวย่างให้แจ้งเกิดในวงการไม่กี่ปี
ก็ตามสูตรหล่อเทพจากสายยอดมนุษย์โตคุซาทซึ
ในสกุลคาร์เมนไรเดอร์คาบูโตะ ที่เป็นการร่วมทุนของอิชิโมริและโตเอะโปรดักชั่น
ที่ได้สิทธิเผยแพร่ในช่องอาซาฮีทีวี ก่อนจะสลัดคราบลอกเด็กรับประทาน
มาหากินกับตลาดผู้ใหญ่ ก็ข้ามห้วยมาสายคนวัยทำงานแทนที่จะไปรับเล่นบทเด็กมัธยม
แต่กระนั้น ก็ยังไม่สายที่จะมาดังตอนแก่ ด้วยวัยเพียงแค่นี้คงยังพอทำกินในวงการได้ไปอีกนาน
(แบบว่าหมั่นไส้ในความหน้าตาดี ก็เลยไม่สงวนท่าทีในการทูตเท่าที่ควร)






เป็นซีรีย์ที่มีเสน่ห์แบบแปลกๆ แบบไม่ได้สุดทางใดทางหนึ่ง
ผู้เขียนกลับมองไปอีกว่า เป็นซีรียชุดอลวนวุ่นวายในบ้านหลังคาเดียวกัน
ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ไม่ซับซ้อน แต่เล่นกับบริหารความซับซ้อนนั้นเพื่อเปิดพื้นที่ความเข้าใจ
ระหว่างกันของแต่ละตัวละคร ที่มีอิทธิพลความเป็นซีรีย์ชุดของปี 90 แบบครบถ้วนสมบูรณ์
ที่ในระยะหลังค่าย NTV หันกลับมาบูรณะ ในขณะที่ ฟูจิทีวี และ TBS หันไปสร้างสรรค์แนววิธีใหม่ๆ
ซึ่งมีความสำเร็จและล้มลุกคลุกคลานบ้าง อันเป็นเรื่องธรรมดาของการแสวงหาวิธีการเล่าเรือ่งแบบใหม่
ถ้าชำแหละความมีเสน่ห์ของซีรีย์เรื่องนี้ มองได้ว่าเป็นซีรีย์ที่มีความชัดเจนในทุกๆมิติ
ตั้งแต่การปูประวัติของตัวละคร ความหมายของการตั้งชื่อ การเท้าความเป็นมาและการคาดหวังต่อไป
การออกเสียงในใจตัวละครให้ออกมาเป็นคำพูด หรือการบอกเล่าในปัญหาส่วนตัวผ่านที่ปรึกษา
เลยเป็นงานที่ผู้ชมแทบไม่ต้องจะตีความอะไรให้วุ่นวาย มากไปกว่าการนั่งดูแล้วปล่อยให้ซีรีย์นำผ่าน
ให้จบไปทีละตอน และชูมือชูไม้ตามเชียร์ตามลุ้นในตัวละครเอกให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมุ่งหวัง
จนไปถึงการเสกภาวนาให้หัวหน้าคุโจเซย์อิจิ
โผล่มาช่วยถนอมปลอบดวงใจน้อยๆและเป็นที่ปรึกษาชีวิตรักส่วนตัวให้กับโฮตารุในยามที่มีปัญหา
ซึ่งหลายที ผู้ชมอย่างผู้เขียนยังคิดเลยเถิด ให้ก่อเกิดเป็นความรักระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย
ให้โฮตารุสลัดรักในตัวมาโคโตะซะ แล้วหัวหน้าเซย์อิจิก็รีบไปเซ็นใบหย่ากับอดีตภรรยาโดยทันทีทันใด
หรือริจะเป็นชู้ซะ ก็ไม่เห็นน่าแปลกอันใด สถานที่ก็อำนวยมิดชิดปิดตา
ดังนั้น พอดูจบในแต่ละตอน ผู้เขียนต้องมาพิจารณาสำรวจจิตใจตัวเองว่ายังเหลือความเป็นคนดี
ตามสมอ้างของการชะล้างจิตใจผ่านกระบวนซีรีย์คอเมดี้อยู่อีกรึไม่
จึงเป็นผลให้ซีรีย์ Hotaru คืบคลานไม่ไปไหน แล้วมักจะหยิบข้ออ้างข้างๆคูๆว่า ดูไปแล้ว
ไม่ส่งเสริมความเป็นชาย เพื่อประกอบการพิจารณาซึ่งจริงๆแล้วไม่เกี่ยวกันสักแอะเลย
ส่วนจะมองในจุดเสีย ก็เป็นการละเลยเงื่อนไขบางส่วน
เพื่อไปให้ความสำคัญในเชิงความสัมพันธ์ของตัวละคร อย่างประเด็นการอยู่บ้านหลังเดียวกัน
อาจดูไม่ make sense ของคนทั่วไป
และการใช้อำนาจนิยมของความเป็นหัวหน้าก็สามารถเฉดหัวลูกน้องเรื่องมากได้ไม่ยาก
แม้กระนั้น จะมีใครสนับสนุนหลักการสมเหตุสมผลที่ว่ามาใช่ป่าว ?
เพราะถ้าสำเร็จเกิดขึ้นจริง ความสนุกหรรษาปลาแห้งรับประทาน
ก็คงไม่เกิดขึ้นในพิภพซีรีย์ให้เราได้ชม แต่กลับกลายเป็นดาร์กดราม่าของการชำระแค้น
เพื่อแย่งชิงบ้านหลังเก่า ที่เป็นศึกภายนอกสำนักงานระหว่างเจ้านายกับลูกน้องเก่าโดยปริยาย




ในงานเขียนจิตวิทยายุคหลังของ คาร์ล เรนซัม โรเจอร์ ได้ว่าไว้ในประเด็น
emerging persons ซึ่งเขาเขียนถึงยุคที่ผู้คนสับสนและแสวงหาความหมายใหม่ของชีวิต
การไม่ปรารถนาความสุขจากลาภยศและอามิสสินจ้าง แสวงหาความสุขอย่างง่ายๆ
โดยไม่มีการถือตัว เป็นความสุขในพื้นที่จำกัดและมีความปลอดภัยในความรู้สึกส่วนตัว
เพียงเพราะเขาสามารถบริหารความอำนาจเฉพาะกิจ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบทางสังคม
เพียงแต่ป ฏิบัติในอยู่ตามครรลองที่ซ้ำซากจำเจ อันนี้ก็ว่ากันไป แต่หยิบยกแนววิเคราะห์นี้
หาได้หมายความว่าจะนำมาสวมทับกับซีรีย์ Hotaru ได้นะครับ เพราะงานของโรเจอร์
เขียนขึ้นในสมัยสงครามเวียดนามกำลังกรุ่นๆ
แต่ใน Hotau มันเป็นเรื่องของสงครามความรักภายใต้ออฟฟิคเดียวกัน
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ต่อให้โรเจอร์เหอะเจอะนางหิ่งห้อยน้อยโฮตารุเข้า ก็วิเคราะห์พฤติกรรม
ภายใต้นิยามเฉพาะกิจส่วนก๊วนได้ยากเย็นเต็มที แม้กระนั้นแนววิเคราะห์นี้อาจชี้วัดอะไรไม่ได้
แต่ความนิยมของมหาชนในสถาบันรางวัล Nikkan Sports Drama Grand Prix ครั้งที่ 11
ก็ชี้ชัดๆ ได้เป็นอย่างดีถึงความนิยมที่น่าจะส่งผลตามมาในโครงการสาวปลาแห้ง 2
(ต่างกับสถาบัน TDAA ที่เน้นนักวิจารณ์เชิงคุณภาพ ที่ออกลูกทะเลก็หลายเรื่อง)
ที่พอเชื่อได้เลยว่า ถ้าคนดูรักในตัวละครพระเอก นางเอก และมีดราม่าเป็นตัวคั่นกลาง
โดยที่นักแสดงสมทบหญิงไม่ถูกเกลียดน้ำหน้าแล้ว
ทำไมสถานีจะไม่ลองเสี่ยงผุดโปรเจ็คสร้าง เพื่อสนองการแทงใจสาวปลาแห้งในชีวิตจริง
ที่นอนเกลือกแดกดิ้นคาที่นอนในนอกเวลาทำการราชการ เฝ้าฝันอวตารจะเสกเนื้อคู่ครอง
แม้สุขนั้นจะปรากฎเฉพาะในฝันก็ตามที........







 

Create Date : 26 กันยายน 2553    
Last Update : 26 กันยายน 2553 22:01:49 น.
Counter : 4365 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.