A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
Tokyo Tower พันหอคอยก็ไม่เท่ากับแม่หนึ่งคน



"พวกเขาทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันตั้งแต่ตอนวัยรุ่น
โดยที่แม่คิดว่านี่ผู้ชายที่เธอรัก
และความรักคงจะเปลี่ยนเขาได้ สามารถหยุดอารมณ์รุนแรงเวลาที่เขาเมาได้
แต่แล้ววันหนึ่งความอดทนของแม่ก็ถึงขีดสุด เมื่อพ่อเมากลับบ้านและระเบิดอารมณ์ใส่ผม
ผมจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้เพียงแต่ว่าจากนั้นแม่เลี้ยงผมมาโดยลำพัง
แม่ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย ไม่เคยบอกว่าไม่ได้
เวลาผมเอ่ยปากขออะไร ทุกครั้งที่ผมกลับมาบ้านจะมีอาหาที่แม่ทำ
ไว้รอผมอยู่ที่บ้านเสมอ

เมื่อผมโตขึ้นผมบอกแม่ว่า ผมจะไปโตเกียว ไปทำความฝันของพ่อที่จะเป็นจิตรกรให้เป็นจริง
ผมเชื่อว่าผมจะต้องทำได้ แม่ให้ผมไปโดยไม่เคยทัดทานอะไรเลย แม่ส่งเงินมาให้ผมเสมอ
เวลาที่ผมเดือดร้อน เวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายปี ผมก็ยังคงหวังเสมอว่าสักวันผมจะประสบ
ความสำเร็จให้แม่ได้ภุมิใจ แต่แล้ววันหนึ่งผมเพิ่งได้ข่าวว่าแม่ไม่สบาย
แม่ไม่เคยบอกผมมาก่อนว่าแม่ป่วย .. ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

แม่ครับ จากนี้เวลาผมกลับบ้าน จะมีใครคอยทำกับข้าวไว้รอผมไหม ....
ผมขอโทษครับแม่และผมอยากให้แม่มาอยู่กับผมที่โตเกียวนะครับ “

- ลูกชายผู้ไม่เอาไหน..................................................



ถือเป็นความลำบากใจครั้งหนึ่งสำหรับการการเดินเข้าชมภาพยนตร์สักเรื่อง
ในสภาวะที่ต้องเผชิญหนังที่ทลายทำนบของต่อมน้ำ อีกทั้ง รันทดภายในใจหลัง
จากได้เดินออกจากโรงภาพยนตร์ เพียงครั้งแรกที่ได้ยินกิตติศัพท์ของหนัง
เรื่องนี้ก็ตั้งจิตปฏิญาณเอาว่า "อย่างไง๊ อย่างไง ก็ขอรอดูในรูปแบบของแผ่นหนัง
เสียยังจะดีกว่า น้ำตาลูกผู้ชายไม่ควรให้ต้องอับอายในโรงภาพยนตร์"

แต่เอาเข้าจริงก็อดตัณหา (Passion)ของตัวเองไม่ได้เสียแล้ว เมื่อได้ยินคำคุยโว
ของผู้ที่ชมท่านหนึ่งว่า "ถ้าคนที่ดูหนังเรื่องนี้สิบคน เก้าคนจะต้องรีบโทรศัพท์หาแม่
ในวันนั้น ส่วนอีกคนจะต้องรีบกดเงินเพื่อถอยโทรศัพท์เพื่อให้ได้ติดต่อหาแม่"
ได้ฟังแค่นี้ก็รู้สึกหมั่นไส้ระคน ว่าหนังอะไรมันจะหนักหนากันนักฟะ โธ่!มันก็แค่
การเสียตังค์จ้างคนมาหลอกผู้ชมว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อถือตั๋วบัตร
กำแน่นไว้ในมือพร้อมท่องคาถาเอาชัยว่า"มันก็แค่การแสดง มันก็แค่การแสดง"
แต่สุดท้ายไอ้การแสดงของหนังเรื่องนี้มันก็เล่นเอาผมตายได้เหมือนกัน



Tokyo Tower - Mom & Me, and sometimes Dad คือหนังเนื้อหาแสนธรรมดา
ที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคมยุคอุตสาหกรรมและการบริการ เด็กที่ไร้พ่อเท่าที่
เขายังพอจำความได้ (โจ โอดางิริ รับบทเป็น me) ด้วยที่พ่อกับแม่แต่งงานกัน
ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นนำมาซึงการแยกทาง สิ่งที่รับรู้ของmeการที่ต้องอยู่กับแม่เพียง
ลำพังตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเติบโตโดยมีความใฝ่ฝันในงานศิลปะที่พ่อเคยตั้งใจไว้
แต่ไม่สำเร็จ และการได้เข้าสู่เมืองหลวงก็นำพาให้เด็กต่างจังหวัดหลงระเริงไปกับ
แสงสีของเมืองศิวิไลท์อย่างกรุงโตเกียว แต่ด้วยกำลังใจและน้ำพักน้ำแรงที่แม่สู้ทำ
งานหนักคอยส่งเงินไปให้ไม่ขาด ลูกผู้ชายที่ไม่เอาไหนคนนี้ก็กลับมาตั้งหลักสร้าง
เนื้อสร้างตัวในระดับที่พออยู่อย่างสุขสบาย แล้วอยู่ๆเขาก็ทราบข่าวว่า แม่ของเขา
เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย ซึ่งเขาไม่เคยรับรู้จากปากแม่มาก่อน

หนังเรื่องนี้ ผมเคยเขียนถึงการคว้ารางวัลที่แซงหน้า Alway2 ไปตั้งหลายขุม (อยากรู้
ก็ลิงค์หาเอาเองละกัน) เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีกว่า ๒ ล้านเล่ม ที่จำหน่ายในปี
๒๐๐๕ โดยนักเขียน Lily Franky ที่นำเอาประสบการณ์จริงครั้งที่เขาเสียแม่บังเกิดกล่าว บอกเล่า
อย่างตรงไปตรงมาจากนั้นก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครที่ฮิตติดลมบน ก่อนที่จะออกมาเป็นหนังที่ถือว่า
เป็นหนังเทิดทูนมารดาที่ดีพอๆกับ The Village Album ของผู้กำกับ
Mitsuhiro Miharaที่เคยเทิดทูนบิดาอย่างไรอย่างนั้น

ถ้าใครที่ไดชมหนังเรื่องนี้จะเห็นถือเหล่านักแสดงที่ขายชื่อได้หลายคน อย่าง
โจ โอดางิริ พระเอกของเรื่อง (ผู้เคยเป็นตัวเองในเรื่องShinobi ) คิคิ คิรัน (นัก
แสดงเอกที่เคยรับบทเป็นแม่หลายต่อหลายเรื่อง และไม่พ้นเรื่องนี้ด้วย)
และ ทาคาโกะ มัตสึ (จาก April SnowและBe With You) แค่ชื่อชั้นเหล่านี้
ก็พอเรียกกระแสผู้ชมได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เหล่านักแสดง
ที่รับบทวัยเด็ก วัยสาว ของตัวละครหลักไม่ว่าตัวmeเองหรือแม่ของme ก็ตาม
ที่ทำให้เชื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนช่องว่างที่สืบเนื่องของตัวละครหลักได้
อย่างลงตัวและสนิทใจ (ปานศัลยกรรมแบบจงใจ) และยังรักษาเอกลักษณ์
บุคคลิกตลอดจนลักษณะนิสัย ไม่รวมถึงภาวะปมด้อย (Inferiority Complex)
ที่แฝงเร้นกดจิตใต้สำนึกของตัวละคร ซึ่งก็ทำได้เป็นอย่างดี เพราะมันทำให้
ผู้ชมไม่เชื่อมั่นว่าตัวละครจะผ่านพ้นปัญหานำมาซึ่งการเอาใจช่วยตัวละคร
ไปพร้อมๆกับการดำเนินเรื่อง



เนื้อหนังแทบจะดำเนินไปอย่างเรื่องเฉื่อยภายในต้นเรื่อง จนทำให้ผมเองรู้สึกว่า
"ไอ้หนังเรื่องนี้ไม่มีพล็อตเรื่องนี้หว่า" สิ่งที่เห็นก็คือพัฒนาการในอดีตของตัวละคร
ที่ดูคล้ายกับครอบครัวเดี่ยวอันอบอุ่น ที่มีพ่อแม่ลูกอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ทุกคน
ต่างเล่าถึงความใฝ่ฝันที่มีอยู่ในตัว พ่อของMEที่อยากเป็นนักศิลปะในเมืองกรุง
ส่วนแม่ก็มีความใฝ่ฝันเชิงครอบครัวที่อยากให้เราทั้งสามไปยืนชมพระอาทิตย์ตก
ดินบนหอคอยTokya Tower (หอคอยโตเกียวถูกใช้งานอย่างหนักเชิงสัญลักษณ์
หลายต่อหลายเรื่อง แต่แท้จริงมันมีความหมายอย่างไรกับคนญี่ปุ่นคงต้องให้
คนญี่ปุ่นเป็นผู้ตอบน่าจะดีกว่า) ผมว่าจุดนี้มีความสำคัญยิ่งต่อช่วงชีวิตพัฒนา
การในวัยเด็กต่อการรับรู้เป้าหมายชีวิตและรองรับเอกลักษณ์ของเด็กจากผู้เป็น
พ่อเป็นแม่ เรื่องนี้นักจิตวิทยาอย่าง Erik Homburger Erikson ได้อธิบายลำดับขั้น
ที่เรียกว่า Locomotor-Genitial:Initiative versus Guilt ซึ่งมันก็จะคล้ายคลึงกับ
Phallic Stage ของฟรอยด์ เพราะถ้าเด็กอย่างMe ผ่านพ้นปมความขัดแย้งนี้ไปได้
จนจะรับรู้ว่าตัวเองเป็นปัจเจกบุคคลเต็มขั้น ช่วงที่ถ่ายทอดMeวัยเด็กท่ามกลาง
ความขัดแย้งจากปัญหาครอบครัว เด็กเริ่มมีความคิดริเริ่ม ค้นหาตัวเองตั้งคำถามกับ
สิ่งแวดล้อมรอบตัวไปพร้อมกับสรีรศาสตร์ที่เติบใหญ่พอให้กระโดดโลดเต้นไปได้

จนเมื่อMeโตพอที่จะแสวงหาความตั้งใจทดแทนสิ่งที่พ่อของตนทำไม่สำเร็จ เขาเดิน
ทางโดยลำพังโดยมีผู้เป็นแม่มาคอยส่งที่สถานี สีหน้าของแม่ผู้ที่เคยชุบเลี้ยงประคับ
ประคองMeโดยปราศจากพ่อ ผู้ที่เคยหาข้าวปลาอาหารสำรับต่างๆ และใจดียกโทษใน
ความผิดต่างๆที่ลูกทำมา แต่ผู้เป็นแม่ก็ไม่เคยทัดทานในความตั้งใจของลูกที่จะไป
สิ่งนี้ตัวMeเองก็ช่างใจอย่างหนักที่จะปล่อยให้ผู้เป็นแม่ต้องอยู่อย่างลำพัง เป็นลำดับที่
Erikson เรียกว่า Adolescence:Identity versus Role Confusion เด็กวัยนี้จะเกิดความ
ขัดแย้งของด้านคือ ความเป็นส่วนหนึ่งอของครอบครัวกับความรู้สึกอิสระเสรีอย่างยิ่งยวด
มีเอกลักษณ์อย่างหลวมๆ มีทั้งในแง่ความรู้สึกบวกและลบ ทุกครั้งที่ถูกลงโทษจะเก็บ
ความละอายและไม่เอาไหนอยู่ภายในตัว แต่ตัวMeเองเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำจะดีทั้งตัวของเขา
และกับตัวแม่ในอนาคต ผมว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะมีสำหรับเราผู้ซึ่งต้องเลือกเส้นทางที่ห่าง
เหินจากคนที่บ้าน ไม่ว่า ทั้งการร่ำเรียน การทำงาานหรือนอกหลู่นอกทาง หรือสิ่งที่Meเป็นคือ
สิ่งที่เห็นภายใน ตัวของเราเอง?


แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีเวลารวมที่ฉายยาวนานไม่น้อย (กว่า๒ชั่วโมงหน่อยๆ) แต่เป็นหนังที่
ดูไม่น่าเบื่อ มีสาระแฝงเร้นในแต่ละฉากเหมือนการต่อจิ๊กซอร์ไปทีละตัว แล้วคอยๆขมวดปม
ตามแต่ละช่วงชีวิตของตัวละคร แต่โดยหลักๆแล้วจะมีแต่แม่กับMeสองคนที่มีบทมากที่สุด
จนทำให้เราเห็นลักษณเฉพาะของสองบุคคลทั้งในแง่ที่ลึกซึ้งและห่างเหิน การได้สายตา
จากแฟนสาวของMeอย่าง ทาคาโกะ มัตสึ รับบทเป็น มิซูเอะ เป็นเหมือนนักสังเกตการณ์
นอกเหนือจากคนดูอย่างเราๆที่เห็นความงดงามของความผูกพันอีกด้าน ที่ชัดเจนอีกด้าน
บุคคลที่สามสำหรับหนังหนึ่งเรื่องถือว่ามีความจำเป็นไม่แพ้กัน ไม่อย่างงั้นมันจะกลายเป็น
การสนทนากันของตัวละครหลัก ที่ได้มิติที่แคบและแห้งแล้งจนเกินไป ความน่ารักของแม่ที่
มีรอยยิ้มเสมอสำหรับคนผู้เป็นลูก และต้องถามซ้ำในใจว่าการที่จะให้ไปอยู่ด้วยที่โตเกียว
จะไม่สร้างความลำบากกับชีวิตความเป็นอยู่ของลูก แม่อย่างไรก็คือแม่ไม่ว่างานชิ้นไหน
จะห่วยเพียงใดแม่ก็ชื่นชมทุกงานเขียนที่ลูกสร้างแม้ว่ามันจะเป็นเพียงช่วงก้าวเดินสู่ความ
สำเร็จที่ยังไม่เห็นหนทางวางอยู่ข้างหน้า

เมื่อกลับกลายเป็นว่าจุดพลิกเหตุการณ์ที่รับรู้ว่าแม่กำลังเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เป็นจุดพลิกจากความ
รู้สึกสนุกสนานในช่วงต้นที่กำลังจะเป็นหนังFeel Good Movie ที่Meนำแม่ของตนอยู่ที่โตเกียว
ให้แม่ได้บรรลุความฝันที่จะได้เห็นหอคอยโตเกียวอย่างที่ตั้งใจแม้วาจะไม่สมบูรณ์แบบตาม
ความคิดหวังมากนัก การที่ได้รับรู้ความสำเร็จของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนในเส้นทางที่พ่อของ
เขาตั้งใจแต่ไม่สมหวัง การได้มีลูกสะใภ้สาวสวยและแสนดีจนผู้ชายในโรงอย่างผมยังแอบอิจฉา
หนังมาถึงจุดที่น่าจะจบอยู่หลายต่อหลายครั้ง (แต่ก็ไม่ยอมให้จบ) เรียกได้ว่าพอมาจุดพลิก
(Tripping Point) ผู้กำกับ Joji Matsuoka ก็เล่นเอาตายแม้จะ ไม่คาดคั้น เร่งบีบน้ำตาให้ไหลออก แต่การที่ได้รับการปูพื้นมาอย่างดี ดูแล้วไม่เหนื่อยให้ต้องลุ้นอย่างAlway2เป็นอารมณ
์เรื่อยๆเหมือนกำลังตกปลาที่มีฝนปร่อยๆ ตลอดจนพลังของนักแสดง จังหวะจักโคนที่เหมาะสม มีหลายฉากที่สะกดความดูให้ยากจะก้มหน้าเพราะด้วยหยดน้ำตากำลังก่อตัวจากมรสุมที่ภักดีต่อผู้เป็นแม่
ไม่ว่า ฉากที่จูงแม่ข้ามถนน หรือฉากผู้เป็นแม่ป่วยจน่ละเมอถึงซุปมิโซใส่มะเขือวางอยู่บนเตาให้ผู้เป็นลูกได้ไปอุ่นกิน
ฉากนอนโรง พยาบาลที่ช่องหน้าทอดเห็นหอคอยโตเกียวที่ส่องประกายไฟ มันเป็นเรื่องที่พันผูกในใจผู้ชมเป็น
ทรัยากรเมล็ดหว่านรอการผลิบานในช่วงท้าย ผ่านช่วงการรดน้ำพรวนดินมาโดยตลอดเรื่อง
ดังนั้นพอให้ถึงช่วงออกดอก ต่อมน้ำตามาก็เบ่งบานจนห้ามในไว้ไม่อยู่ แม้จะท่องมนต์สะกดมา
ตลอดตอนท้ายว่า "มันแค่การแสดง มันแค่การแสดง"



ผมว่าหนังเรื่องนี้เตือนให้เราตระหนักในคุณค่าของความเป็นลูกในตัวเราที่ได้รับอะไรดีๆหลายอย่างจาก
ผู้เป็นแม่ แม้ความจริงหนังเรื่องนี้มันเหมาะสมกับทุกคนที่เป็นผู้หญิงที่มีชื่อสากลว่า"แม่" แต่สำหรับคนที่ ต่างบ้านต่างเมืองห่างเหินจากภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่ มันจะยิ่งแทงใจเสียบลึกเพิ่มเป็นทวีคุณ จนพาล
ให้คิดเอาว่า "มันทำหนังเรื่องนี้ให้เรารึเปล่าหว่า?" จะว่าไปมันก็เป็นหนังสูตรสำเร็จแบบญี่ปุ่นที่เพียงแต่
มาเข้าใจวางกลเม็ดแต่ละช่วงนาทีต่อนาที (จึงเข้าใจว่าทำไมถึงมีความยาวกว่า๑๔๒นาที) แต่ไม่ใช่หนังที่ทำให้ฟุ่มฟ่ายแบบต่อยหอย อารมณ์ขันพอประมาณไม่ล้นทะลัก เนื้อเรื่องก็ไม่กระโชกโฮกฮากเพื่อจะเอาผู้ชมให้อยู่ตามใจผู้กำกับ จัดเป็นความเพียงพอแบบสมดุล ขณะที่โทนสีของเรื่องชวนให้ราบเรียบและหดหูไปพร้อมๆกัน Tokyo Towerเรื่องนี้จึงเหมาะสม ทุกประการเพื่อเติมเต็มคำว่าแม่ที่ไม่เพียงพอในพจานานุกรมและไม่ต้องรอให้ถึงวันแม่แห่งชาติ

เท่าที่สังเกตจากโรงภาพยนตร์มีคนแบ่งออกเป็นสามประเภท กล่าวคือ
-รอเดินออกจากโรงให้ช้าที่สุด มีไม่น้อยออกจากเก้าอี้เมื่อเครดิตนักแสดงหมดจากหน้าจอเพราะไม่อยาก
ให้ใครได้เห็นน้ำตา
-เดินออกตามปกติที่หนังฉายจบ พร้อมผ้าซับน้ำตาอย่างไม่อับอาย
-กดโทรศัพท์บอกรักแม่ ภายในเวลานั้น ด้วยหัวใจที่อิ่มเอม



ส่วนผม.........................บอกรักแม่ผ่านบล็อกนี้ละกัน ดีใจที่ได้เป็นลูกของแม่ครับถ้าชาติหน้ามีจริงเราคงได้เป็นลูกน้อยๆของแม่ต่อ ........






เรื่องย่อ ข้อมูลและภาพจาก //www.jkdramas.com/movie
ขอบคุณ ความรักของแม่ที่ทำให้แม่มีตัวตนที่ชัดเจนจากนั้นเรื่องนี้
ขอบคุณ ลิโด้ที่กล้าเอามาฉาย ยืนโรงได้นานพอควร >


Create Date : 11 พฤษภาคม 2551
Last Update : 12 สิงหาคม 2552 16:21:54 น. 5 comments
Counter : 1108 Pageviews.

 
ชอบเรื่องนี่นะ ... ได้ดูใน version ที่เป็นละคร TV สนุก ซึ้ง เศร้า... ชอบ ชอบ มากเลย


โดย: นาฬิกาตีสิบ วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:11:58 น.  

 
ได้ไปร้องไห้ในโรงกับหนังเรื่องนี้เหมือนกันครับ

เป็นภาพยนต์ที่ดีเรื่องหนึ่งนะครับ เหมือนเป็นครูสอนเราด้วย เป็นความดีของหนังเลยที่ทำให้ลูกห่างบ้านได้กลับไปดูแลแม่มากขึ้นโดยไม่เอาเงื่อนไขใดๆมาผ่อนเวลาอีกต่อไป


โดย: ป้อจาย วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:03:42 น.  

 
อยากไปดู แต่ไม่มีรอบโดนๆ


โดย: หลังจอ วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:29:34 น.  

 
รักเจ๊รีย์ที่สุดเรย ดูแล้ว (ที่บ้าน) นั่งร้องไห้ โทรหาเจ๊รีย์ร้องไห้ เจ๊ก็งงว่าชั้นเป็นไร สรุป เจ๊ไม่เข้าใจด่ากลับมาเรย ฮ่า ๆ ๆ ด่ายังไงก็รักเจ๊นะ อิอิ


โดย: ~Ging-ga-Deng~ IP: 58.8.175.118 วันที่: 9 ธันวาคม 2551 เวลา:10:47:16 น.  

 
ยังไม่ได้ดูเสียที เรื่องนี้


โดย: คนขับช้า วันที่: 22 สิงหาคม 2552 เวลา:18:36:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.