A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Amachan - สาวน้อยร้อยรักสู่ฝันนักประดาน้ำ



โดยปกติแล้ว ซีรีย์ช่วงเวลา Asadora ของทาง NHK
ถือเป็นสูตรยาขมสำหรับตัวผู้เขียนโดยเฉพาะ ที่แม้จะเสพย์ติดซีรีย์ญี่ปุ่นอย่างไร
ดูมันได้แบบทุกรูปแบบไม่เกี่ยงผังรายการ แต่สำหรับกับงานช่วง Asadora
หรือที่รู้จักกันว่าเป็นซีรีย์รับอรุณตอนสั้นๆ ของค่ายนี้ด้วยแล้ว
มันทำให้เราเข้าใจตัวเองดีเลยว่า เราคงจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดฝั่งนี้แน่
ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องของเวลาที่ออกอากาศเพียงวันละ 15 นาทีเท่านั้น
ชนิดที่ดีไม่ดี ..... การเฝ้ารอดูจะนานกว่าการได้ดูหรือถึงดูก็ไม่อิ่มอกอิ่มใจ
หากไม่ใช่เป็นประเภทรวมเหมาตอนตั้งแต่ต้นจนจบ ลงเป็นแผ่นดีวีดี
ก็เชื่อเลยว่า ความสาแก่ใจเมื่อเทียบกับซีรีย์ภาคปกติทั่วไปนั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก
และเรื่องสุดท้ายที่ฝากรอยความประทับใจเอาไว้ ก็คงหนีไม่พ้น Oshin
ที่ทางช่องสาม อสมท.นั้น ค่อยๆทะยอยฉายในแต่ละตอน แม้ตอนนั้น
ก็ยังรู้สึกอยากที่จะเลิกรอ ......




แต่แล้วคันนบความเชื่อนั้นก็ผังทลาย ด้วยซีรีย์ที่กำลังเป็นปรากฎการณ์ของทางช่อง
ในปีที่แล้วอย่าง Amachan ซึ่งสร้างสถิติชนิดที่แม้ตัวเองไม่เคยที่จะแยแส
แต่ก็อดที่จะต้องเหลี่ยวตามามองดูไม่ได้ ประเด็นความน่าสนใจเบื้องต้นคงอยู่ที่
การเข้ามาเป็นคู่แข่งชนิดเบียดแย่งใน Television Drama Academy Awards ครั้งที่ 78
ซึ่งเกจิหลายท่านมองว่าซีรีย์ไล่บี้นายธนาคาร Hanzawa Naoki ของค่าย TBS
คงจะนอนมาแบบเหมาเข่งกวาดไปในทุกรางวัล แต่ประทานโทษเหอะ!! แพ้ให้กันอย่างสู้ไม่ได้
ขนาดเดียวกัน ก็เกิดกระแสเห่อเหิมนักแสดงหน้าใหม่ที่เป็นตัวเอกของเรื่องอย่าง Nounen Rena
ชนิดที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน แม้เธอจะเบียดในการออดิชั่นบทนี้กับคู่แข่งเกือบสองพันคน
นี้ยังไม่รวมไปถึงยอดจำหน่ายของฟอร์แมทดีวีดี ที่ทำลายอาถรรพย์เดิมๆไปหลุดลุ่ย
ซึ่งอย่างมากสุด ก็ขายได้แต่เฉพาะพวกลูกเล็กเด็กแดง-คนเฒ่าคนแก่
โชคดีว่า ... มีนักแปลใจดีนาม MinN8-FS ท่านบรรจงแปลซับภาคภาษาไทยให้เรียบร้อย
ซึ่งแรกๆ ก็ว่าจะแง้มพอให้ได้อิงกระแส แต่ไปๆมาๆ กลายเป็นงานเสพย์ติด
มาราธอนสี่ชั่วโมงครึ่งรวด ที่ถึงแม้ว่าเรื่องราวทั้งหมดของเรื่องจะยังไม่สิ้นสุดบริบูรณ์ทีก็ตาม
เพราะอย่างที่ทราบ ซีรีย์รับอรุณของค่ายนี้เน้นฉายเวลาน้อย แต่มากตอนอย่างต่ำก็ 156 ตอน





Amachan เป็นซีรีย์ดรามาสู้ชีวิตแบบคนชายขอบตามขนบนิยมของซีรีย์รับอรุณของทาง HNK
ที่ว่าด้วยชีวิตของเด็กสาววัย 16 ปีจากเมืองกรุง มีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในเขตโซเดกาฮามะ
พร้อมกับแม่ซึ่งเดิมที คุณแม่ของเธอนั้นช่วงสมัยวัยรุ่นได้หนีออกจากบ้านเพื่อมาเผชิญโชคในเมืองหลวง
โดยไม่กลับไปเหลี่ยวแลที่บ้านอีกเลย นับเนื่องได้ก็เป็นเวลากว่ายี่สิบสีปี จนกระทั่งเธอ
ได้ไปมีครอบครัวเป็นหลักเป็นแหล่งถาวร อยู่มาวันหนึ่งก็มีจดหมายด่วนแจ้งไปถึงเธอว่า
แม่ของเธอนั้นกำลังป่วยหนัก ให้รีบกลับมามาดูใจโดยด่วน !!





แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น คุณยายของเธอยังคงแก่ง่ายตายช้าเหมือนเคย
และคงทิฐิถือรั้นไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ยังคงประกอบอาชีพ "อามะ"
(-นักประดาน้ำงมเก็บหอยเม่น-) ซึ่งตัวแม่ของเธอไม่ปรารถนาทื่จะสืบทอด
และได้แอบหนีออกจากเมือง ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ในเมือง
ได้ประกาศเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่มุ่งออกสู่นอกตัวเมือง
เด็กสาวที่ไม่เคยเห็นหน้าคุณยาย จึงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน
ท่ามกลางความระหองระแหงขัดแย้งระหว่างแม่กับคุณยาย ขณะเดียวกัน
ก็เปิดโอกาสให้สาวน้อยจากเมืองกรุง ได้สัมผัสกับบรรยากาศของเมืองชายฝั่งท่าเรือ
ทำให้เธอได้ค้นพบถึงสิ่งที่เธอปรารถนาที่จะเป็น ได้พบปะกับมิตรภาพของคนท้องถิ่น
และเปิดโลกทัศน์อีกด้านเกี่ยวกับคุณแม่ของเธอ ที่เธอไม่เคยได้รับรู้มาก่อน





Amano Aki เด็กสาวจากเมืองกรุง ก่อนหน้าเธอมีพฤติกรรมชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคม
และเป็นเด็กขี้อาย แต่ด้วยความจำเป็นที่คุณแม่ของเธอต้องกลับมาเยี่ยมบ้านในรอบยี่สิบกว่าปี
ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่ทำให้เธอได้รู้จักคุณยายผู้สืบทอดกิจการอาชีพงมหอยเม่น
จนเมื่อก้าวแรกที่เธอได้แตะพื้นบนชานชาลาของสถานีคิตะซันริคุ และได้รู้จักการเป็น "อาเมะ"
มันแทบจะล้างพฤติกรรมเดิมๆของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นเด็กสาวจอมร่าเริงแจ่มใส
ช่างเรียนรู้ และมีความกระตือรือล้นที่จะเป็นอาเมะน้อยในรอบหลายสิบปีที่คุณแม่เธอเกลียดมันนักหนา (แสดงโดย Nounen Rena) 





Amano Haruko แม่บังเกิดกล้าวของ Amano Aki ที่มีเหตุให้ต้องกลับมาเยี่ยมบ้าน
แม้ตัวเธอจะไม่ค่อยอยากจะมานักก็ตาม ในสมัยเด็กเธอเกลียดท้องทะเลมากเนื่องด้วย
เธอมักจะถูกคุณแม่ของเธอเคี่ยวเข็ญอย่างหนักในการดำน้ำเพื่อที่จะสืบทอดอาชีพ
เธอจึงหอบผ้าหอบผ่อนหนีเข้าเมืองกรุง ในช่วงที่มีการเปิดเส้นทางสายรถไฟใหม่
และไม่เคยติดต่อกลับมาที่บ้านอีกเลย แม้กระทั่งงานศพของคุณพ่อเธอเอง
เมื่อสบช่อง เธอจึงถือโอกาสหอบลูกสาวให้ได้พบหน้ากับคุณยาย
แต่ความขัดแย้งเก่าก็หาได้เลิกราไป ด้วยมานะทิฐิของคนทั้งคู่
ซึ่งหารู้ไม่ว่า จริงๆแล้วคนทั้งคู่ต่างรู้อากัปกิริยาน้ำใสใจคอกันเป็นอย่างดี
(แสดงโดย Koizumi Kyoko จาก Shokuzai Tonbi และ Manhattan Love Story)





Amano Natsu เธอเป็นยายของ Amano Aki ปัจจุบันเป็นประธานร่วมของกลุ่มชมรมอามะ
มีความภาคภูมิใจในอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองโซเดกาฮามะเป็นอย่างมาก
(แม้ในระยะหลัง จะเน้นหนักไปในการงมหอยโชว์นักท่องเที่ยวต่างถิ่นก็ตามที)
เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คนในเมืองให้ความเคารพยกย่อง แม้จะรู้ว่าเป็นคนที่หัวรั้น
แต่ก็เป็นประเภทปากร้ายแต่ใจดี ซึ่งนอกจากจะมีอาชีพงมหาหอยแล้ว
เธอยังมีอาชีพเสริมนอกฤดู ด้วยการขายอาหารกล่องบนรถไฟในยามเช้า
การได้พบหน้ากันระหว่างยายกับหลาน ทำให้ความตึงเครียดระหว่างแม่กับยายดูบรรเทาลง
แม้ตอนแรกนั้น จะปฏิบัติกับแม่และหลานของเธอเสมือนลูกค้ามากกว่าลูกในไส้
(แสดงโดย Miyamoto Nobuko จาก Tengoku de Kimi ni Aetara)





Adachi Yui เด็กสาวท้องถิ่น ที่อยู่ในวัยร่วมรุ่นกับ Amano Aki
เธอเป็นบุตรสาวของผู้ว่าการเมืองโซเดกาฮามะ ซึ่งอดีตเคยเป็นครูของ Amano  Haruko
ซึ่งอากิเองรู้สึกถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น เพราะเธอมีอะไรหลายอย่างที่ดูคล้ายกัน เช่น
ชอบเก็บตัว ไร้สังคม ไม่ค่อยที่จะแสดงออก แต่ก็มีบางสิ่งที่เห็นต่างกับอากิอย่างสุดขั้ว
คือ ความคลั่งไคล้เกี่ยวกับเมืองหลวง ที่ซึ่งอากิเลือกที่จะหนีออกมา
ดังนั้นเมื่อเธอรู้ว่าอากิเป็นเด็กที่มาจากโตเกียว เธอจึงรีบปรี่เข้าประชิดตัว
แม้ความจริงจะเป็นว่า ตัวอากิเองแทบจะใช้ชีวิตแต่ละวันหมกตัวอยู่แต่ในห้องก็ตาม
(แสดงโดย Hachimoto Ai จาก Hard Nut และ Hatsukoi)





Adachi
Hiroi เขาคนนี้เป็นพี่ชายของ Yui Adachi
เคยใช้ชีวิตในเมืองหลวงอยู่ประมาณสองเดือนครึ่ง แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด
ต้องซมซานกลับมาตายรัง เป็นคนประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อ จับงานชิ้นไหนไม่ได้นาน
เลยมักจะถูกที่บ้านต่อว่า และไม่ได้รับการเคารพจากน้องสาว
แต่การมาของอากิ ก็ทำให้เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เสเพลไปวันๆ
ให้กลายเป็นคนที่ทำอะไรเป็นหลักเป็นแหล่ง เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น
(แสดงโดย Koike Teppei จาก IRYU และ Shibatora)





Daikichi Oomukai นายสถานีรถไฟยุคบุกเบิก
ซึ่งตอนที่เพิ่งประกอบอาชีพนี้ใหม่ๆ ในช่วงเปิดเส้นทางสถานี
เขาเป็นคนที่พยายามรั้งไม่ให้ Haruko หนีออกไปนอกเมือง
แต่ก็หยุดความดื้อรั้นของเธอไม่สำเร็จ เป็นคนที่แอบชอบ Haruko มาเนินนาน
ตราบมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งการได้มารู้ว่าครอบครัวในโตเกียวของเธอกำลังระหองระแหง
ยิ่งเป็นการคุกถ่านไฟรักเก่า ให้กลับมาโชติช่วงใหม่อีกครั้ง
(แสดงโดย Sugimoto Tetta จาก Limit และ Code Blue 2)





นอกจากที่ว่ามานี้ ก็ยังประกอบไปด้วยนักแสดงสมทบหลายท่านที่พอคุ้นหน้าคุ้นตา
แต่ไม่อาจจะนำเสนอออกมาได้หมด อาทิ YosiYosi Arakawa , Keizo Kanie , Eri Watanabe
Hana Kino , Tamae Ando , Sei Hiraizumi , Sansei Shiomi เป็นต้น โดยสว่นมาก
จะเป็นกลุ่มนักแสดงอาวุโส ที่มาสร้างสีสันความครื้นเครงในแบบมิตรภาพชุมชน
ซึ่งตัวอากิเติบโตมาในแบบครอบครัวเดียว แถมในแต่ละวันต่างคนก็ไม่มีเวลาให้กันอีก





Amachan จึงถือเป็นซีรีย์รับอรุณในแบบ Asadora
ที่เปลี่ยนวิธีคิดในความเชื่อแบบเดิมๆอยู่ไม่ใช่น้อย แม้โดยรูปแบบเมื่อได้ดู
ก็รู้ได้เลยว่านี้เป็นงานเอกลักษณ์แในแบบ asadora ในทางของเอ็นเฮชเคแน่ๆ
ที่เป็นงานเข็ดขยาดมาแต่ไหนแต่ไร เพราะฐานของกลุ่มคนดูประเภทนี้โดยส่วนมาก
ก็เป็นพวกคนแถบนอกเมือง (Kansei) ทั้งสิ้น เลยมีบรรยากาศการเล่าเรื่อง
ในแบบลูกทุ่งญี่ปุ่นชนิดที่ดูได้ทั้งครอบครัว ไม่ค่อยมีพิษมีภัยอะไร ก็สนุกสนานรื่นรมย์ไปตามเรือ่ง
แต่ก็ไม่ทิ้งโครงสร้างหลักของเรื่อง ประเภทความเป็นทอ้งถิ่นนิยม การสู้ชีวิตที่ยากลำบาก
ความมุ่งมั่นบากบั่นต่ออุปสรรค และมิตรภาพแบบชุมชม ซึ่งปกติก็เป็นโครงเรื่องแบบซ้ำๆ
เพียงแค่เปลี่ยนตัวละคร อาชีพ และสถานที่ ไปในแต่ละปี ดังนั้นเรตติ้งเฉลี่ยของแต่ละเรื่อง
จึงไม่ค่อยจะทิ้งห่างกันมาก ไม่เหมือนกับในสาย taiga อิงประวัติศาสตร์ของค่ายเดียวกัน
ที่มีความพยายามจะปรับเปลี่ยนโดยดึงดาราวัยรุ่นมาเล่น จนหลังๆ
เรตติ้งเป้กตกฮวบอย่างน่าใจหาย เลยมีนโยบายหันกลับมาใช้บริการดารารุ่นใหญ่กันอีกครั้ง





ซึ่งโดยที่จริงแล้ว พล็อกประเภทอุดมคติ ยอมละทิ้งวัตถุความเจริญของเมือง
เพื่อมาซึมซับค้นหาอัตลักษณ์ และรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมอันแก่เก่า ที่นับวัน
จะเสื่อมสลายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า พล็อกแบบนี้ ปกติก็มักได้ใจคนดูโดยวงกว้าง
เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป็นการสมมติเรื่องของตัวละคร
ที่ยอมละทิ้งความคาดหวัง และความใฝ่ฝันทางค่านิยมวัตถุนิยมของสังคม
เพื่อดำรงไว้ซึ่งการเคารพในเจตจำนงอันซื่อตรงของตนเอง พร้อมทั้งพัฒนา
ตัวจิตวิญญาณให้สูงขึ้น ด้วยหัวจิตหัวใจที่ใสซื่อและบริสุทธิ์ ซึ่งยากจะเป็นได้
ในโลกของความเป็นจริง ที่ทั้งตัววัตถุและชื่อเสียง ได้ครอบงำวิธีคิด
และวิถีชีวิตประจำวันเกือบทุกองคาพยพ





ซึ่งในเรื่อง ได้สะท้อนผ่านมุมมองด้านลบผ่านทางสถาบันครอบครัวที่แตกแยก
ทั้งจากมุมของคนชนบทที่ยอมละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนอย่างไม่ใยดี
โดยผ่านอิทธิพลของสื่อทีวีบันเทิงในสมัยนั้น ที่กล่อมเกลาให้เกิดความเชื่อเช่นนั้น
หรือการที่พ่อแม่ลูกในเมืองไม่หันหน้าพูดคุยกัน แม้จะอยู่ในอาณาเขตที่พอจะสื่อสารกันได้
(ในเรื่องจินตนาการอย่างสุดโต้งถึงเสียงของถั่วงอกที่ตกลงบนพื้น) จนเมื่อลูกสาว
ได้สลัดพันธนาการจากสิ่งแวดล้อมของคนเมืองมาสู่ชนบทที่อุดมไปด้วยภูเขาและท้องทะเล
เสมือนการจุติอวตารไปสู่ตัวตนใหม่ได้โดยฉับพลัน กลายเป็นเด็กสาวช่างจ้อ
ช่างรู้ช่างเห็น กล้าทำอะไรแบบเสี่ยงๆ ยอมเปิดใจให้กับผู้ปกครองและคนแปลกหน้าไม่คุ้นตา
อย่างที่คนเขียนบท "Kudo Kankuro" สคริปเตอร์จอมอารมณ์ขำ อยากจะให้เราเชื่อ
ซึ่งใครจะไปเชื่อ่ว่าครั้งหนึ่ง เขาคือคนที่เคยเขียนบทในซีรีย์ที่ทำให้ผู้เขียนพามึนมาแล้วใน
11 Nin mo Iru! (TV Asahi) และ Unubore Deka (TBS) สองเรื่องล่าสุด
ที่ผู้เขียนรู้สึกเลอะเทอะออกทะเลไปเยอะ ซึ่งต้องยอมรับว่า amachan ยังมีกลิ่น
ประเภทนี้อยู่เหมือนกัน ดีว่า ..... มันถูกตีกรอบแบบอย่าเล่นมาก หากจะเล่น
ก็ช่วยเคารพคนดูในวัยอาวุโสซึ่งเป็นฐานคนกลุ่มใหญ่แบบที่เอ็นเอชเคเคยเป็นมา
และอีกอย่าง ผู้กำกับ Tsuyoshi Inoue ก็คุมโทนให้มันพอเหมาะพอควรได้เป็นอย่างดี
จะว่าไปพล็อกประเภทนี้ ก็หาใช่เป็นการคิดใหม่ทำใหม่แต่อย่างใด พูดอีกอย่างว่า
เป็นน้ำเน่าสไตร์ซีรีย์เมืองยุ่นก็ได้ คงคล้ายกับละครแม่ผัวลูกสะใภ้
รักข้ามชนช้้นแบบไทยๆ ที่ทำทีไร มั่นใจได้ว่าจะมีแฟนมาเกื้อหนุนได้ทุกคราว
แต่แปลกที่ว่าสูตรที่ว่านี้กลับโดนใจ! ด้วยสูตรผสมจัดวางบางอย่าง
ที่ทำให้รสชาติดูแปลกออกไป ซึ่งผู้เขียนไม่เจนซีรีย์สายนี้เท่าไรนัก





กระนั้น .... ตัวซีรีย์กลับกลายเป็นงานที่ดูเพลิดเพลิน เอนเตอร์เทนหรรษากันสุดๆ
ไม่ได้มุ่งเป้าแต่เพียงเฉพาะกิจกรรมการดำน้ำหาหอยหาเม่นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ซีรีย์มีการเอ่ยให้หวนถึงอุตสาหกรรมบันเทิงในความเป็น pop culture ของยุคปี 80 ด้วย
ความสนุกนั้นมันยังรวมไปถึงการได้มีปฏิสัมพันธ์ของตัวอากิกับคนแปลกหน้าที่ไม่เป็นอื่น
การที่ได้สัมผัสวิถีมุมมองจากหลายสิ่งที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น
ยุคสมัย ค่านิยม โลกทัศน์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี ไม่เว้นแม้แต่ตัวเองในโลกใบใหม่
ทั้งที่การต้องเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือการถูกสิ่งกระทบจากภายนอก
ทั้งแบบตั้งใจก็ดีและไม่ตั้งใจก็ดี อย่างน้อยๆ มันก็เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง
ที่ดีกว่าการเข้าไปหมกตัวอยู่ในห้องแคบๆ หรือเพียงแค่ทอดสายตาผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ





กลายเป็นว่า ....... ถึงแม้ amachan จะนำเสนอไม่พ้นกรอบเดิมๆ
แต่กลับมีความลงตัวในองค์ประกอบที่สอดรับกับเนือ้เรื่อง โดยดึงเอาของดีระดับโอท้อป
ของเมืองแห่งคิตะซันริคุ ทางตอนเหนือของโซเดกาฮามะ บริเวณเขตชายฝั่งซันริคุ
ที่เชื่อว่าหลายคนก็ไม่น่าจะรู้จักมาผูกโยงกันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสตอรีที่ดูไม่เคอะเขิน
แม้บางส่วนจะดูจงใจไปบ้างก็พอให้อภัยกันได้ แต่ที่ทำให้เรือ่งนี้ดูเด่นกว่างาน asadora อื่นๆ
เห็นจะเป็นวิสัยทัศน์การเคสต์ตัวเอกของเรื่อง Aki Amano ซึ่งแสดงโดยน้อง Rena Nonen 
ที่แม้เอาเข้าจริงตัวเธอจะอายุปาไปย่างยี่สิบแล้ว แต่การมารับเล่นเป็นเด็กสาววัยสิบหก
ก็เชือ่ว่าไม่น่าจะทำให้คนดูสงสัย จะว่าไปตัวเธอเองก็ไม่ใช่น้องใหม่เปิดฤกษ์แต่อย่างใด
ถ้าจะนับกันจริงๆ งานแรกเห็นจะเป็นในปี 2011ซีรีย์รักริษยา Taisetsu na Koto.. (Fuji TV)
แต่ตอนนั้น เธอยังเป็นแค่นักเรียนประกอบหลังห้อง 2-1 ที่ไม่ค่อยมีบทบาทนัก
จากนั้นอีกปี ก็ไต่เต้าไปเป็นนักแสดงสมทบในซีรีย์ Kagi no Kakatta Heya ในบทเลขาสาว
และใน Summer Rescue ของทางทีบีเอส ซึ่งมาได้เป็นตัวเอกจริงๆก็ใน Amachan นี้แหละ
ที่ฉายแววความเป็นซูปเปอร์สตาร์ดวงใหม่ ผ่านตัวละคร akichan ที่ทำให้คนหลงรัก
และเอาใจช่วยได้ไม่ยาก ผ่านการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ และอุทานอักขระ JJJ ของเธอ
ชนิดที่ดารารุ่นเก๋าที่รับบทแม่อย่าง Kyoko Koizumi ที่แม้เธอจะเล่นได้ดีตามบทบาท
แต่ก็ไม่อาจแย่งความเด่นนั้นทั้งหมดที่พุ่งตรงไปยัง Rena Nonen ต้องเรียกว่า
เสน่ห์บารมีจับกันตั้งแต่ตอนถูกเคสต์ให้มาเล่นเป็นตัวละคร  Aki Amano ก็ว่าได้





ดังนั้น ปี 2013 จึงเรียกว่า เป็นปีทองของเธอก็ว่าได้
เพราะแค่การทุ่มเวลาให้กับงาน Amachan เพียงเรื่องเดียว
ก็สร้างกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ช่วยสานความต่อเนื่อง
ให้กับช่วงเวลาทองให้กับผัง asadora กันอีกครั้ง เรียกได้ว่าเรตติ้งเฉลี่ย 20.6 %
ของ amachan  เป็นรองกันชนิดเฉือนกันแค่ระดับจุดทศนิยมให้กับ
asadora ในตำนานอย่าง Umechan Sensei เพียงแค่ศูนย์จุดหนึ่งเท่านั้น
เลยส่งผลให้เธอเป็นหน้าเป็นตากับสถานี จนต้องเลือกให้เธอเป็น PR  Ambassado
ในงาน Kohaku Uta Gassen ซึ่งถือเป็นรายการใหญ่ส่งท้ายประจำปีของทางช่อง
จึงไม่แปลกใจ เมื่อมีการจัดอันดับสิบดาราหน้าใหม่ประจำปี 2014
(Top 10 most anticipated new adults) ของทาง Oricon
Rena Nonen  จะมาเป็นเต็งจ๋าอันดับหนึ่ง แซงหน้าเพื่อนนักแสดงอย่าง Kamiki
Souta ไม่เว้นแม้แต่หนู  Ai Hashimoto ที่เป็นนักแสดงร่วมในเรื่อง
หรือกระทั่งน้องใหม่มาแรงอย่างหนู Takei Emi ก็ตาม



อันนี้ยังไม่รวมคำสาปอาถรรพย์ ที่งานประเภท asadora ของค่าย NHK
ที่พอออกมาเป็นสินค้ารวมชุดแบบวีดีโอทีไร มักเป็นงานขายออกยาก
หรือไม่ค่อยจะติดอันดับสินค้าขายดีสักเท่าไร เมื่อเทียบกับซีรีย์ชุดต่างสถานี
แต่ล่าสุด Amachan ก็สร้างประวัติศาสตร์ที่ทำให้ Toei Video เจ้าของลิขสิทธิ์
หยิบหน้าบาน เพราะอันดับท้อปทรีของสินค้าหมวดของ DVD category
ในช่วงเทศกาลช้อป New Year's Eve แม้ราคาแผ่นจะแพงเวอร์นักก็ตาม




และสิ่งที่สุดจะเหลือเชื่อดังที่กล่าวข้างต้นให้กับผุู้เขียนเป็นที่สุดสำหรับเรื่องนี้
คือ การเป็นคู่ท้าชิงในความเป็นที่สุดของความยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัล
ของคนทำซีรีย์ทีวี Television Drama Academy Awards ครั้งที่ 78 เพราะเป็นครั้งที่
ใครหลายคนที่หากเคยได้ดูซีรีย์ปรากฎการณ์อย่าง Hanzawa Naoki มาแล้ว
คงจะอดสนุกระทึกไปกับเล่ห์เหลี่ยมของวานิชธุรกิจธนาคารไปเสียมิได้
และไม่แปลกใจเลย หากจะกวาดไปทุกรางวัลแบบไร้คู่แข่ง แต่ผลที่ออกมา
กลายเป็นว่า Hanzawa Naoki บอบช้ำหนัก ได้กลับมาเพียงแค่สามรางวัล คือ
ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
นอกนั้นที่เหลือ เสร็จ Amchan ซีรีย์ขวัญใจมหาชนแบบกินเรียบแทน
ไล่เรียงกันเลยตั้งแต่ ซีรีย์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม มือเขียนบทยอดเยี่ยม เพลงประกอบยอดเยี่ยม
และรางวัลสเปเชียลยอดเยี่ยม (ซึ่งตกเป็นของ Otomo Yoshihide) ซึ่งอันนี้
ผู้เขียนเห็นด้วยกับแค่ในส่วนของนักแสดงนำหญิงเท่านั้น รางวัลที่ได้ด้านอื่นๆ
มองแล้วค่อนข้างยืนพื้นตามมาตราฐาน แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นซีรีย์ที่คุ้มค่า
กับการทำให้ชีวิตดูรื่นรมย์ แบบถูกสุขอนามัยไปได้กับคนทุกเพศทุกวัย
และเชื่อว่าต่อจากนี้ไป Rena Nounen จะเป็นชื่อที่ขายได้ในอันดับต้นๆ
ของวงการอุตสาหกรรมบันเทิง ปิดประตูการเป็นแค่นักแสดงสมทบของเธอไปโดยปริยาย




อ้างอิงข้อมูล Wikipedia , Asiawiki , Dramawiki and MinN8-FS Subfan













































































































































































































































 

Create Date : 22 มกราคม 2557    
Last Update : 22 มกราคม 2557 11:42:48 น.
Counter : 9098 Pageviews.  

Hanzawa Naoki ปิดบัญชีแค้นโค่นแผนทรชน




คงไม่มีซีรีย์ในช่วงหน้าซัมเมอร์เรือ่งไหน ที่น่าจับตามองมากไปกว่า
ซีรีย์ตกดึกคืนวันอาทิตย์ของทางช่อง TBS Japan
ที่เป็นการตีแผ่แวดวงของวาณิชธนากิจ และวิกฤตผลกระทบของยุคฟองสบู่
ได้อย่างถึงแก่น และเล่นได้ถึงกึ๋นเท่า ......... โดยที่แม้จะไม่รู้เรือ่งระบบเงินๆทองๆ
ก็อดจะสนุกไปกับมันไม่ได้ !! และที่สำคัญทำรายสถิติยอดคนดูสูงสุดเฉพาะตอน
ที่แม่บ้านมิตะ ทำไว้เมื่อไว้ปี 2011 เร็วกว่าที่คาดไว้ ............





Hanzawa Naoki อดีตบุตรชายที่ซึ่งบ้านเปิดกิจการขนาดครอบครัว
ที่รับผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ป้อนโรงงาน ทว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้น
เขาเลือกเส้นทางโดยหันเหมาเป็นนายธนาคาร ทำหน้าที่รับผิดชอบ
ในสว่นของตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของธนาคารโตเกียวชูโอ
ประจำอยู่ในสาขาโอซาก้านิชิ ซึ่งสำหรับตัวเขาเองเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา
ด้วยการทำงานที่เน้นความซื่อสัตย์ เป็นคนตรง และมีความรอบคอบด้านธุรกรรมการเงิน
เกลียดความอยุติธรรมในสิ่งที่เห็นว่าเป็นเรือ่งไม่ชอบมาพากล หรือการทุจริตหมกเม็ดทางบัญชี
เขาพร้อมจะเข้าตีฝีปากกับใครก็ตาม ต่อให้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นถึงผู้บังคับบัญชา
หรือคุณลูกค้าในนามของบริษัท หากว่าการกระทำนั้นเป็นไปโดยมิชอบ
มีการเอื้อประโยชน์เชิงข้อมูลภายใน ตกแต่งบัญชี ยักย้ายถ่ายเทสินทรัพย์
โอนหุ้นชื่อของผู้อื่น ตลอดจนการยื่นฟ้องตนเองให้เป็นผู้ล้มละลาย
(นวัตกรรมการเงินนี้เห็นเขรอะในหน้าข่าวเศรษฐกิจของไทย แต่เเปลก
ที่ละครไทยไม่ยักสร้าง แต่ดันไปเล่นมุมประชดนักการเมืองจนละครจบไม่สวย)
ดังนั้นภารกิจแรกของเขา ก็คือ ความพยายามตามทวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย "ห้าร้อยล้านเยน"
กลับคืนมาจากบริษัทผู้ขอกู้นิชิ โอซาก้าสตีล ที่มีแนวโน้มจะเป็นหนี้สูญ
อันเกิดจากแรงบีบของผู้บังคับบัญชา ที่ให้เร่งรัดการอนุมัติปล่อยกู้
โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบงบดุลบัญชี และสภาพคล่องของบริษัทอย่างดีพอ
เมื่อภาระทั้งหมดต้องตกอยู่ที่เขาในฐานะเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเงินกู้ก้อนนี้โดยตรง
จึงนำมาซึ่งมาตราการการไล่ล่าขั้นเด็ดขาด ชนิดตามจิกตามเช็ดในทุกสินทรัพย์
ที่ถูกซุกซ่อนตามท่อน้ำเลี้ยงของกระแสบัญชี เพื่อให้ได้มาครบตามจำนวนของวงเงินกู้
ก่อนที่ทรัพย์ทั้งหมดนั้นจะถูกตีตกไป ตามคำสั่งฟ้องเพื่อให้ตกเป็นของรัฐ
ซึ่งหน่วยงานรัฐ ก็ได้จัดส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกรมบังคับคดีออกตามไล่ล่าทรัพย์สิน
ที่รอการอายัตินี้เช่นกัน เท่ากับว่าฮันซาวะจะต้องติดตามทรัพย์สินของบ.นิชิ โอซาก้าสตีล
ที่พยายามซุกหนี้ตามที่ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันในเงื่อนของเวลาเพือ่ไม่ให้หนี้ก้อนนั้น
ถูกพบตัดหน้าจนตกเป็นของรัฐไป จนจะนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร





ในส่วนครึ่งเรื่องหลัง จะเป็นกรณีที่ฮันซาวะเองขอเสนอตัวเพื่อไปกินตำแหน่งใหญ่
ณ สำนักงานใหญ่ส่วนกลางของธนาคาโตเกียวชูโอ โดยมาประจำ
ในฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติสอง อันเป็นหน่วยงานที่รวมตัวเหล่าหัวกระทิด้านการเงิน
แต่ปัญหาที่ท้าทายเขามากกว่ากรณีครึ่งเรื่องแรก ซึ่งก็คือ การต้องเข้าไปฟื้นฟู
แผนบริหารภายในของโรงแรมอิเสะชิมา ที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคาร
ซึ่งมีมูลค่าเงินกู้สูงถึงหมื่นสองพันล้านเยน! และมีแนวโน้มที่ทางโรงแรม
จะเข้าสู่สัญญาณของภาวะการล้มละลาย ชื่อของฮันซาวะจึงถูกกำหนดโดยตรง
จากปากของท่านประธานธนาคาร (แสดงโดยคิตาโอจิ คินยะ
จาก Karei naru Ichizoku) ซึ่งถ้าไม่สำเร็จ ทางธนาคารจำเป็น
จะต้องตั้งวงเงินกองทุนสำรองหนี้ ที่ไม่ส่งผลดีต่อสภาพคล่องภายใน
และมาตราฐานความเชื่อมั่นของทางธนาคารที่เคยมีอย่างยาวนาน
(หลังผ่านการควบรวมกิจการนับตั้งแต่เผชิญภาวะฟองสบู่) ในขณะเดียวกัน
ฮันซาวะก็ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการแข่งขันกับเวลาคล้ายกับครึ่งแรก
เมื่อทางองค์กรกำกับดูแลสถาบันการเงิน ก็ตั้งทีมชุดตรวจสอบ FSA
(Financial Services Agency)
เพื่อมาตรวจสอบธุรกรรมประจำปี
(แต่ในเรื่องคล้ายกับว่าจะมีการระแคะระคายเกี่ยวกับปัญหาภายใน
เพราะหัวหน้าทีมยังคงดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีที่ตามเช็ค
กันตั้งแต่สมัยอยู่ที่โอซาก้านิชิ) แต่กรณีนี้จะมีความเสียหายที่ใหญ่กว่ามาก
เพราะนอกจากธนาคารจะไม่ได้เงินค่าชดเชยจากเงินกู้ที่กลายเป็นหนี้สูญแล้ว
การที่โรงแรมอิเสะชิมะถูกสั่งให้เป็นผู้กู้ล้มละลาย ก็จะมีผลต่อการประมาณการ
ของรายได้ประจำปีของทางธนาคาร เพราะยอดหนี้ที่สูญถือว่าเป็นรายได้ของธนาคาร
โดยทางทฤษฎี มันจะส่งผลต่อการฉุดตัวของมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
อันเป็นเหตุให้ธนาคารเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนอาจถึงขั้นล้มละลาย
ความรับผิดชอบหลักจึงพุ่งเป้าไปยังตำแหน่งประธานคนปัจจุบัน ตามมติการโหวตเสียงข้างมาก
ของคณะกรรมการบริหาร เพื่อเปลี่ยนม้ากลางศึกโดยผู้ที่เห็นสมควรมานั่งเก้าอี้แทน
ซึ่งก็จะเข้าทางใครบางคนในธนาคารที่กำลังแต่งตัวรอ ด้วยเขาคนนั่น
เป็นทั้งตัวต้นตอและยังดำเนินแผนใต้ดิน เพื่อให้โรงแรมอิเสะชิมะเข้าสู่สภาวะล้มละลาย





ถือเป็นซีรีย์ที่มีความสนุก เข้มข้น ให้ได้ลุ้นระทึกทุกนาที
กับภารกิจเดอะสตาร์ไล่ล่าคว้าหนี้ ที่มีความสลับซับซ้อนในรูปแบบวาณิชธนกิจ
ชนิดหาตัวจับยาก และธุรกิจสินทรัพย์การเงินที่แปรรูปยักย้ายถ่ายเท
ซุกโน้นซ่อนนี้โดยอาศัยเหลี่ยมช่องของว่างทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่การเงินที่รู้ทันกัน บวกกับความเป็นคนกล้าท้าชนแบบกัดไม่ปล่อย
โดยไม่สนหน้าอิฐหน้าปูนใดใด ที่จะเข้ามาขวางเส้นทางเพื่อให้ได้สินทรัพย์นั้นคืน
แม้ว่า ...... มูลเหตุของเรือ่งจะไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวฮันซาวะเองก็ตาม
ซึ่งตัวเขาเองได้ก็ปฏิญาณอย่างมุ่งมั่น เพื่อที่จะทำทุกวิถีในการนำเงินกู้โดยชอบ
แม้บางครั้งอาจจะผ่านขั้นตอนและวิธีการอันไม่ชอบ และหากใครที่ทำให้เขาเจ็บ
เขาก็พร้อมที่จะเล่นงานคนๆนั้นคืน โดยเพิ่มเป็นสองเท่า !!





ด้วยผลของความตั้งใจ จริงใจและดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ยากลำบาก สุดท้ายกระทั่งลูกหนี้ที่เคยเจ็บปวดจากการถูกกระทำ
ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากมาตราการเด็ดขาดทางสินเชื่อก่อนหน้านี้
ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมอง กลายมาเป็นฝ่ายชี้ช่องและบอกแหล่งข้อมูลลับ
เพื่อให้ฮันซาวะสามารถเข้าถึงยังเอกสารและตราสารหนี้ประทับทะเบียน
ในอันที่จะเป็นหลักฐานชั้นดี มัดตัวบรรดาลูกหนี้ที่หวังจะล้มบนฟูก
ตลอดจนพวกนายแบงค์ที่สมคบคิด เอื้อประโยชน์จากเส้นสายและข้อมูลภายใน
ซึ่งพระเอกฮันซาวะก็ต้องขอบคุณสหายร่วมเป็นร่วมตายสองท่าน คือ
"ชิโนบุ โทมาริ" เจ้าหน้าที่การเงินที่รู้สึกถูกชะตากับฮันซาวะตั้งแต่ตอนสอบสัมภาษณ์
และมีฝันที่อยากจะเคลือ่นย้ายเงินกองทุนระดับโลก เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ
ให้หลุดพ้นภาวะชะงักงันจากเงินฝืดด้วยพิษฟองสบู่ (แสดง มิซึฮิโระ โออิคาวะ
จาก Nodame Cantabile และ Hotelier )
และ "นาโอสุเกะ คอนโดะ"
เพื่อนร่วมชั้นสมัยมัธยมของฮันซาวะ และเคยทำกิจกรรมในชมรมเคนโด้ด้วยกัน
ซึ่งหลังจากเรียนมหาลัยจบ คอนโดะก็มาสมัครงานที่ธนาคารพร้อมกัน
มีทักษะในด้านการจดจำตัวเลขอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คับขัน
(แสดงโดยเคนิชิ ทาคิโตะ จาก The Brothers Karamazov และ Strawberry Night)






แต่ก็ใช่ว่าซีรีย์จะตามบี้ตามเช็ค จนแทบจะกลั้นลมหายใจกันตลอดทั้งเรื่อง
เพราะอย่างน้อยๆก็ยังพอมีช่วงอารมณ์ผ่อน โดยเฉพาะภรรยาฝ่ายหลังบ้าน
"ฮันซาวะ ฮานะ" (รับบทโดยอุเอะโตะ อายะ จาก Attention Please และ Nagareboshi)
ซึ่งถ้าเห็นเธอเข้าฉากเมื่อไร บรรยากาศของเรื่องก็จะพลิกจากหนักเป็นเบาโดยปริยาย
แม้ว่าตัวบทเธอจะเป็นเพียงแม่บ้าน ที่ไม่ค่อยจะรู้อะไรที่เกิดขึ้นกับสามีในที่ทำงาน
แต่ฮานะเธอก็จะทำหน้าที่ให้กำลังใจและเป็นที่พักใจให้กับตัวสามี
ที่แม้ว่าตอนอยู่ธนาคารเขาจะเป็นคนที่เข้มงวดดุดัน แต่พอกลับมาถึงบ้านเมือ่ใด
เป็นต้องอ่อนให้กับภรรยาสุดที่รักไปเสียทุกครั้งไป






สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับซีรีย์เรื่องนี้ คือ การเคสต์นักแสดงประกอบ
โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ต่อมาตราการทวงหนี้ของฮันซาวะ
เพราะนอกจากหน้าตาจะดูเจ้าเล่ห์เป็นทุนเดิมแล้ว ยังสามารถแสดงออกมาได้
อย่างน่าหยามเยียดและยียวนดีชะมัด ชนิดที่ถึงแม้ว่าพฤติกรรมของพระเอกบางครั้ง
จะดูไม่น่าสรรเสริญไปในเชิงกึ่งๆแอนตี้ฮีโร่ที่พร้อมจะทำสิ่งที่ไม่ถูกวิถี
แต่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเราก็ยังรู้สึกอยากจะเอาใจช่วยตัวพระเอกอย่างสุดตัว
(หลายครั้งที่แม้อีกฝ่ายจะเพลี่ยงพล้ำ ยอมคลุกเข่ารับการสารภาพ
แต่ก็อดไม่ได้ที่หวังจะให้พระเอกของเราเอาคืนเหล่าศัตรูเป็นสองเท่าอยู่ดี)
โดยเฉพาะหัวหน้าฝ่ายผู้ตรวจสอบบัญชีของรัฐ "ชุนนิชิ คาตาโอกะ"
(ที่รับบทโดย อาอิโนสุเกะ คาตาโอกะ)
แม้ไม่เคยคุ้นผลงานของหมอนี้มากอ่น
แต่แกเล่นได้ชนิดทั้งรักและทั้งชัง กับการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจอมอายัติทรัพย์สิน
ที่หวังจะเล่นงานตัวฮันซาวะให้อยู่หมัด แต่ก็ไม่เคยทันเหลี่ยมของพระเอกสักครั้ง
จากบุคลิกของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง หมอนี้ดูออกไปในทางการ์ตูนเป็นที่สุด
จึงเป็นตัวละครที่ "โดด" ในฐานะเดิมที่เป็น Third Party
ทั้งความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นตัวละครสังกัดจร และเป็นคู่อคติของพระเอกตลอดกาล
หากมีโครงการภาคสองเกิดขึ้น เพราะมาเฟียมะกันที่ว่าร้ายๆ
ยังมาตายเพราะสรรพากรเล่นงานย้อนเรือ่งการเลี่ยงภาษีมานักต่อนักแล้ว





ส่วนอีกตัวละครหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ในฐานะที่เป็นตัวร้ายของเรื่อง "โอวาดะ อากิระ"
(แสดงโดย เทรุยุกิ คากาวะ จาก Mr.Brain,Ryoma Den และ Unfair)
ที่ผ่านมาเทรุยุกิซังมักจะได้บทเป็นตัวละครประเภทล้นๆ แต่กับเรือ่งนี้เล่นไม่ต้องมา
เพียงแค่การบริหารเหลี่ยมและลีลาไม่ให้ออกหน้าออกตา อาศัยเพียงสั่งการทางวาจา
และปูนบำเหน็จความดีความชอบทางหน้าที่ และก็พร้อมที่จะสลัดบ่วงความรับผิดชอบใดใด
ที่อาจโยงเข้าถึงตนด้วยการปล่อยเกียร์ว่างและทำตัวไม่รู้ร้อน โอวาดะจึงเป็นหนึ่ง
ในคณะกรรมการบริหารอาวุโสของทางธนาคาร ที่อาศัยเส้นทางการเติบโต
โดยเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อต๊อกต๋อย แต่ด้วยระดับความเขี้ยว
และไร้ความเมตตา จึงผลักดันให้เขาก้าวเข้ามามีอำนาจในการบริหารสั่งย้ายตัวบุคคล
รวมถึงการเสนอรายชื่อเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษ
ต่อพนักงานทุกคนของธนาคารให้มาสวามิภักดิ์ต่อตนได้โดยไม่ยาก
และกรรมการบริหารโอวาระนี้เอง ที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญของฮันซาวะ
ที่ทำให้เขาละทิ้งการสานต่อในการดำเนินธุรกิจของครอบครัว เพื่อเข้าวงสู่วงจรของธนาคาร
ด้วยความแค้นที่ฝังแน่นเมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่เคยปริปากเพื่อจะบอกใคร 






ซีรีย์กำกับโดยมือกำกับรุ่นใหญ่ ที่รับโปรเจ็คเล็กๆไม่ค่อยเป็น อย่าง
"ฟุคุซาวา คาซึโอะ" (Nankyoku Tairiku และ MR. BRAIN) โดยหยิบงาน
ต้นฉบับวรรณกรรมสองเรื่องที่เขียนโดย "อิไกโอะ จุน" อันประกอบด้วย
Oretachi Bubble Nyuukou-gumi และ Oretachi Hana no Bubble-gumi
งานที่ผู้กำกับบอกเลยว่า อ่านแล้วกระสันที่จะลงมือทำ และเคยมีประสบการณ์
ถ่ายทอดซีรีย์เกี่ยวกับการเงินการธนาคารมาแล้วใน Karei naru Ichizoku
ทั้งยังได้มือปรับบทที่เคยมีผลงานซีรีย์ดังอย่าง Tomorrow และ Rescue 
"ฮิโรยุกิ ยาสึ" เรียกว่าผ่านมาแล้วทั้งบู๊แอ็คชั่น และดราม่าน้ำตาริน
ยิ่งมาได้คู่พระนาง ซึ่งต่างคนต่างก็เพิ่งจะเข้าหอลงโรงกันในชีวิตจริงไปหมาดๆ
ทั้งมาซาโตะ ซาคาอิ (นี้ก็เพิ่งแต่งกับนักแสดงสาวคันโนะ มิโฮะ)
ส่วนอุเอะโนะ อายะ (เธอคนนี้ก็เพิ่งแต่งกับป็อปสตาร์รุ่นใหญ่ - ฮิโระ แห่งวง Exile)
โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของซาคาอิที่ก่อนหน้า มักจะได้บทประเภทจิกกัดเขาไปเรือ่ย
ทั้งจาก Nankyoku Tairiku , Legal High หรือ Engine
ยิ่งช่วยตอกย้ำให้สมกับบทเป็นทวีคูณ ดังนั้นการที่แกเคยเล่นเป็นโชกุนแสนดีใน Atsuhime
ผู้เขียนก็เลยรู้สึกเกิดการต่อต้านในจิตใจขึ้นนิดหน่อย





ความเก่งของซีรีย์เรื่องนี้ คือ การอธิบายความซับซ้อนในเรื่องนิติกรรมการเงิน
ให้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยง่าย และเอนเตอร์เทนได้อย่างถึงแก่น
เสริมสร้างประเด็นใหม่ๆ ให้กลายเป็นสถานการณ์ที่ลุ้นระทึกตลอดทั้งเรื่อง
นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากเสียงแวดล้อมเพื่อเพิ่มภาวะกดดันทางโสตประสาท
ไหนจะจังหวะดนตรีที่ครึกโครมอลังการ เร่งเร้าให้สถานการณ์ดูหนักข้อขึ้นเรือ่ยๆ
ทั้งยังทิ้งปมคาไว้ เพื่อเรียกเรตติ้งไว้ในตอนหน้า จะว่าไปซีรีย์อาศัย
การสร้างเรื่องจากตัวเงือ่นไข/ข้อบังคับ/กติกา อันเป็นระเบียบปฏิบัติสากลของทุกธนาคาร
มาโยงเข้ากับสำนึกทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของระบบธรรมภิบาล
ทั้งในแง่การตรวจสอบและถ่วงดุลของบุคคลสามฝ่าย อันประกอบไปด้วย
ธนาคาร บริษัทลูกหนี้ และองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ได้อย่างสนุกสนานและมีสาระ
แม้ว่าครึ่งเรือ่งแรกกับครึ่งเรือ่งหลัง โครงสร้างของเหตุการณ์ดูจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก
และสถานการณ์ดูคลี่คลายเร็วเกินกว่าความเป็นจริง (ซึ่งจริงๆแล้วมันต้องใช้เวลา
และมีเรื่องของศาลแพ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง) แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่คนดู
อยากจะเห็นคนผิดถูกลงโทษ และได้รับลงทัณฑ์อย่างสาสมแบบล้างบางการทุจริต
ที่สะเทือนกันทั้งองค์กร ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ระบบอุปถัมภ์และการเล่นพรรคเล่นพวก
เป็นเรือ่งที่เกินจะยอมรับได้ ซึ่งอาจถูกใจพลังเงียบที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในที่ทำงาน?
แต่อย่างน้อยๆ เรื่องนี้ก็มีวาทะเด็ดพูดตอกให้บรรดาพวกแบงค์ที่ไม่ค่อยปล่อยกู้
หรือสู้ต้าอ่วยเพื่อประนอมหนี้แล้วดอกไม่ค่อยลด พอเป็นกระบอกเสียงน้อยนิด
ให้ชาวเครดิตบูโรอย่างเรา .....








That's the face,That We Bankes aren't working to protect the bank.

( ข้อเท็จจริงก็คือ พวกเรานายแบงค์ไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องธนาคาร )

But to protect the working people of this country.

( แต่ทำไปเพื่อปกป้องมนุษย์ทำงานของคนประเทศนี้ )

Citizens don't exist for the bank but Banks have to exist for the citizens.

(ประชาชนนั่นไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อธนาคาร แต่ธนาคารต่างหากที่ต้องมีอยู่เพื่อประชาชน)






ไม่ว่าคนดูจะชอบหรือชังกันอย่างไร?
สุดท้ายก็ไม่อาจเปลี่ยนความเป็นประวัติการณ์ของซีรีย์เรื่องนี้
ผู้เขียนเอาเท่าที่พอประมวลให้เห็นในส่วนที่สำคัญอย่างมีนัยยะ ดังว่า .......



ก) เป็นซีรีย์ที่มีค่าถ้วนเฉลี่ยของเรตติ้ง (Average of Rating) อยู่ที่ 29 %
ซึ่งก็ถือว่าสูงมาก แม้จะยังสูงไม่เท่ากับอันดับหนึ่งตลอดกาล Hero ของค่ายฟูจิ
ที่ยังค้างสถิติไว้ที่ประมาณ 34%

ข) เป็นซีรีย์ที่ทำสถิติเรตติ้งสูงสุดเฉพาะตอน (Episode of Rating) โดยเฉพาะ
ตอนที่สิบซึ่งเป็นตอนอวสาน อยู่ที่ 42.2% ถือเป็นอันดับสี่ตลอดกาล
นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกโดยเริ่มต้นในช่วงของยุค Heisei

ค) เป็นซีรีย์ที่เรตติ้งดีไม่มีตก (without declining once) นับตั้งแต่ออกฉาย
ตอนแรกจนอวสาน (มีเพียงตอนที่ห้ากับหกเท่านั้น ที่ดันได้เรตติ้งเท่ากับ คือ 29 %)






ผลงานก่อนหน้าภายใต้งานวรรณกรรณของนักเขียน
อดีตนักการธนาคารและยังเคยเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงิน "อิไคโดะ จุน"
เฉพาะที่เคยถูกเป็นซีรีย์ชุดทางโทรทัศน์แล้ว ก็มี Soratobu Taiya ซึ่งฉายทางช่อง
WOWOW ในปี 2009 เป็นเรื่องประสบภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถยนต์
ซึ่งผู้เคราะห์ร้ายเป็นแม่และเด็กจนเสียชีวิต แต่มีการโยนความผิดให้กับ
หัวหน้าฝ่ายจัดส่งสินค้าทั้งที่ปัญหาจริงๆแล้วเกิดจากผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ได้มาตราฐาน
และภายหลังมีการเรียกเก็บคืนสินค้าคืน ถัดมาไม่นานปี 2011 งานชิ้นที่ได้รับ
รางวัล Naoki Prize ที่เขาเคยพลาดถึงสองครั้งที่ชื่อ Shitamachi Rocket
ก็ได้ถูกทำเป็นซีรีย์ โดยยังคงออกฉายทางช่อง WOWOW อีกเช่นเคย
เป็นเรือ่งทางกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องแย่งชิงสิทธิบัตรในชิ้นส่วนการผลิตจรวดอวกาศ
ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ หวังจะฮุบเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมครอบครัวขนาดเล็ก
ด้วยทุ่มเป็นจำนวนเงินกว่าสองพันล้านเยน และถ้าจะย้อนไปให้ไกลกว่านั้น ในปี 2001
ก็เคยมีผลงานการันตีรางวัลสุดยอดนิยายนักสืบ Edogawa Rampo Prize ของเขา
อย่าง Hatsuru Sokonaki ที่ตอนนั้นมีดารานำแสดง อาทิ อิจูนิ ฮิคารุ นิชิดะ เคน
และวาตานาเบ้ เคน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในงานของอิไคโดะ จุน ก็มักจะพูดถึง
ลมหายใจในอุตสาหกรรมครอบครัว อิทธิพลของทุนขนาดใหญ่
การป้ายสีความผิด และการเผยความจริงที่ดำมืดซึ่งหลบซ่อนในเครือข่ายทุจริต
ถือเป็นนักเขียน "มีปม" อีกคนของวงการ ที่มีเส้นการเล่าเรือ่งอย่างชัดเจน........











อ้างอิงข้อมูล


Asianwiki / IMDB / booksfromjapan










 

Create Date : 01 ตุลาคม 2556    
Last Update : 5 ตุลาคม 2556 12:07:12 น.
Counter : 7001 Pageviews.  

Rich Man Poor Woman เศรษฐีหนุ่มไอทีกับสาวไอเดียเคยเตะฝุ่น



Rich Man Pool Woman ชื่อแรกที่ได้ยินหลงนึกพาลไปว่า
น่าจะเป็นซีรีย์ที่อิงอิทธิพลหนังสือบริหารเงินฮาวทูชื่อดังในวันเก่าก่อน
Rich Dad Poor Dad ที่ร่วมเขียนโดย Robert Kiyosaki และ Sharon Lechter
(ที่มีแปลไทยโดย วารี ปานเจริญ จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ซีเอ็ดฯ) ทำนองนั้น
แต่พอดูไปดูมาแค่เพียงตอนแรก เอ๊! มันไม่ใช่แล้วนี้หว่า?
ตรงกันข้าม มันกับทำให้อดนึกถึงหนังสืออัตชีวประวัติ Steve Jobs
ของ Walter Isaacson อยู่มากมาย แม้ในเรื่องจะไม่ได้ให้เครดิต
หรืออ้างถึงใดใดเลยสำหรับติ่งสตีฟ จอปส์ ก็ตาม





Rich Man Poor Woman เป็นซีรีย์ปีที่แล้วที่พูดถึงคนหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จ
ในแวดวงธุรกิจไอที "ยูกะ โทรุ" (ซึ่งแสดงโดย โอการิ ชุน) จากการที่เขาและเพื่อน
"อาซาฮินะ โคสุเกะ"  (แสดงโดย อิอุระ อาราตะ จาก Ping Pong , Hanamizuki)
โดยที่ทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Next Innovation ณ กลางตึกร้าง
จนพัฒนาต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น เกม
สื่อออนไลน์ แอปพลิเคชั่น ตลอดจนซอฟต์แวร์พัฒนางานส่วนบุคคล
จนมีมูลค่าการตลาดจากการอันดับของนิตยสารฟอร์บมากกว่า 250 ล้านเหรียญ
และเป็นบริษัทคลื่นลูกใหม่ที่ได้รับการจับตาในวงการ ทั้งในแง่การออกแบบ
ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่โดนใจตลาด ซึ่งโดยหลักๆแล้ว โทรุจะทำหน้าที่
คุมบังเหียนเป็นซีอีโอ ด้วยเซนต์ทักษะเฉพาะทางด้านไอทีและความมีวิสัยทัศน์
แต่กระนั้นจุดเสียที่เกินแก้ของเขา คือ เป็นพวกไลท์สไตส์ ไม่แคร์กรอบสังคม
ทำงานโดยเชื่อมั่นตนเองสูง ไม่ยี่หระความรู้สึกของผู้อื่น และยังไม่เคยมี
พนักงานในบริษัทคนใด ที่พอน่าจำจดได้สำหรับเขา
ดังนั้นในแง่งานบริหารองค์กรและการเข้าหาผู้ลงทุน อันเป็นทักษะที่มนุษย์ควรมี
หน้าที่นี้จึงตกเป็นของโคสุเกะเพื่อนร่วมก่อตั้ง แม้ว่าโดยตำแหน่ง
จะบีบให้คนจากภายนอก อดมองไม่ได้ว่าเขาเป็นเพียงเบอร์สองของบริษัทก็ตาม





แต่แล้วชื่อของ "ชิฮิโระ ซาวากิ" (ที่แสดงโดย อิชิฮารา ซาโตมิ)
ก็กลายเป็นชื่อของผู้สมัครงานสาว ที่เพิ่งเข้ามาสมัครในบริษัท Next Innovation
เหตุที่ทำให้โทรุจำชื่อนี้ได้ไม่ลืม จากนักศึกษาจบใหม่ที่เดินเตะฝุ่นมากว่าแปดเดือน
ก็จับพลัดจับผลูเปลี่ยนชื่อตนเองหน้าตาเฉย แม้เธอจะมีชื่อจริงว่า "นัตสึอิ มาโคโตะ"
เผอิญว่าชื่อนี้ดันไปสอดรับกับชื่อของแม่โทรุเข้า แม่ที่ทอดทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก
เลยเป็นเหตุผลให้เขาเลือกเธอเข้ามาทดลองงาน ที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายากบริษัทหนึ่งของประเทศ
แม้ว่าโดยเริ่มต้นเธอดูจะไม่เป็นโล้เป็นพายในสายงานประเภทนี้ แต่ด้วยทักษะ
ในแง่การจดจำที่เป็นเลิศของเธอ โทรุจึงพยายามหยิบยืมทักษะนี้อันเป็นข้อด้อยของเขา
เพื่อเข้าแข่งขันประมูลงานในการออกแบบซอฟต์แวร์ของรัฐ ที่เข้ามาช่วยจัดการระบบ
ด้านข้อมูลทะเบียนสัมมะโนประชากรของผู้เกษียณอายุ ซึ่งถือเป็นอภิมหาโปรเจ็คใหญ่
อันจะเป็นสัมปทานที่สร้างชื่อให้บริษัท Next Innovation แข็งแกร่งมากขึ้น





เมื่อดูจนจบสิบเอ็ดตอน ถือเป็นซีรีย์ช่วงเวลาพาร์มไทม์ของทางช่องฟูจิ
ที่ชมได้พอเพลินๆ โดยเนือ้เรื่องมีจุดพลิกผันไปได้ตลอด แม้โดยบุคลิกของตัวละคร
อดไม่ได้ที่จะคิดไปว่าถูกสร้างมาโดยกำหนดตัวดาราไว้ล่วงหน้าของสองคู่พระคู่นาง
โอการิ ชุน และอิชิฮารา ซาโตมิ สำหรับตัวละครโทรุที่โอการิเล่นนั้น
ยังคงเป็นประเภทชายเจ้าอารมณ์ที่เป็นผู้กระทำ ขณะที่อิชิฮาราก็หนีไม่พ้น
อิสตรีที่ถูกกระทำในแพลทฟอร์มของสายคอเมดี้ เพียงแต่เนือ้หาของเรือ่ง
ประหนึ่งว่ามีความจริงจังและสมจริงในแบบแผนของงานสายธุรกิจไอที
ไม่ได้ออกไปในเชิงอานิเมะมังงะแบบคอเมดี้ทั่วๆไป โดยเฉพาะตัวพระเอก
รู้สึกว่าจะมีปมชีวิตค่อนข้างเยอะ ทั้งอดีตส่วนตัว เป้าหมายแรกเริ่มของบริษัท
ความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาประเทศด้วยงานไอที ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง
โทรุจึงเป็นตัวละครปักหลัก ที่ผู้เขียนในฐานะคนดูรู้สึกเข้าใจเขาเป็นอย่างดี
ภายใต้เงื่อนไขที่โทรุเป็นตัวละครไม่เคยจะพยายามเข้าใจในคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่า
มันก็มีส่วนที่เขาไม่พยายามจะทำความเข้าใจ (อย่างชื่อพนักงาน/วัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ
/รายละเอียด/มารยาท/ข้อบังคับ/ค่านิยมทางสังคม) และสิ่งที่เขาเข้าใจดี
แต่พยายามทำเหมือนว่าไม่เข้าใจ (ฉากไล่พนักงานที่เชื่อมั่นตนเองสูง/ตอนที่พบแม่
/อนาคตของนางเอก) ขณะที่ตัวละครที่อิชิฮาระเล่น ก็เป็นตัวละครที่สร้างมา
เพื่อให้คนดูรัก ที่ไม่ว่าจะถูกระทำให้เจ็บช้ำเท่าไรจากพระเอก ก็สู้ทนเพื่อพิสูจน์ตนเอง
และประคับประคองผลสืบเนื่องจากงานที่ผิดพลาด แม้เธอจะไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้าง
หรือในอีกด้าน เธอก็เป็นคนที่เข้าใจและอยู่เคียงข้างโทรุยามที่เขาจนแต้มต่อปัญหา
เพื่อให้เขารู้ว่า นอกจากการมี "วัด" เป็นที่พักใจแล้ว ก็มี "เธอ" อีกคนนี้แหละ
ที่ทำให้คนแรงอย่าง "เขา" ต้องยอมสยบอ่อนข้อให้ อย่างที่เขาไม่เคยจะเป็น
ซึ่งหาไม่คอ่ยได้ในยุคหลังๆ ที่ละครตัวเอกมักถูก "ฟิก" ให้นิสัยเป็นมาอย่างไร
ก็จงเป็นไปอย่างนั้นในฐานะบทที่ต้องแคร์นิสัยของตัวละคร หากเป้าประสงค์หลัก
คือ การเป็นซีรีย์สอนใจคนดู ไม่ใช่ให้มานั่งสอนใจตัวละคร





อีกตัวละครหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะมีบทบาทเป็นอย่างมาก
ทั้งๆที่โดยโครงสร้างของเรื่อง คล้ายจะสร้างมาเพื่อเป็นแค่จุดของความขัดแย้ง
และเปลี่ยนหักสถานการณ์ เพื่อการสถาปนาอำนาจสูงสุดขององค์กร ก็หนีไม่พ้น
เพื่อนร่วมก่อตั้ง "โคสุเกะ" ที่ทำท่าว่าในตอนแรกเหมือนจะมาดี
เพราะเป็นคนที่ค่อยตามเก็บปัญหาจากพฤติกรรมสุดห่ามของพระเอก
อีกทั้งช่วยประสานงานในแง่ของการตลาดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน
ซึ่งเป็นจุดบอดเสมอมาของพระเอก และถ้าไม่นับตัวนางเอก โคสุเกะน่าจะเป็นตัวละคร
ที่เข้าอกเข้าใจในฐานะเพื่อนร่วมก่อตั้งได้ดีที่สุด แม้แต่ตอนใกล้จบที่โทรุจะถูกหักหลัง
ทว่ามิตรภาพของความเป็นเพื่อนก็ไม่เคยเลือนหาย เลยเป็นตัวละครร้ายที่ร้ายไม่จริง
ที่โดยภาพรวมแล้ว มีการปูมิติของตัวละครไม่น้อยหน้ากว่าพระเอกแต่อย่างใด
ซึ่งปกติแล้ว อาราตะซังก็ไม่ค่อยมีงานซีรีย์ทีวีให้ปรากฎเท่าไร
จะหนักไปในทางเล่นภาพยนตร์เสียมากกว่า ถือว่าเรือ่งนี้สร้างความน่าจดจำ
อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าอายาโนะ โกะ ที่กำลังเป็นพระเอกดาวรุ่งซึ่งมารับบทเป็น guest





แต่กระนั้น Rich Man Poor Woman ก็มีจุดที่ไม่สบอารมณ์ของผู้เขียนอยู่พอสมควร
อาทิเช่น บทน้องสาวของอาราตะ "อาซาฮินะ โยโกะ" (ที่แสดงโดยไอบุ ซากิ
จาก Kaseifu no Mita / Rebound / Buzzer Beat) ที่เหมือนว่าจะมีอะไรมากมาย
แต่เอาเข้าจริงแทบจะไร้บทบาทในครึ่งหลัง ที่ทำท่าว่าจะเป็นมารความรักของนางเอก
ไปๆมาๆ โยโกะตัวนี้ก็กึ่งจะเป็นเพื่อนพระเอก? เดี๋ยวก็คล้ายจะเป็นคนรัก?
เป็นเชฟสาวผู้ที่พยายามทำตัวให้เพื่อนร่วมงานยอมรับ แล้วชายที่เป็นเพื่อนเชฟอีกคน
ตกลงมีความสัมพันธ์กันอย่างไร? เป็นน้องสาวที่ต่อต้านการกระทำของพี่ชาย?
แต่ท่าทีก็แสดงออกได้แรงไม่พอ ทั้งๆที่พี่ชายทำกับโทรุที่ต่างก็สนิทสนมกันดี
คือ เป็นอะไรก็ไม่ชัดซักอย่าง! ขาดลูกรายละเอียด วางน้ำหนักได้ไม่ดี
ในบรรดาตัวละครสี่คนที่ว่าตัวละครโยโกะดูจะไร้ค่าเป็นที่สุด ให้ผลต่อซีรีย์ค่อนข้างน้อย
ทั้งๆที่มาตราฐานการแสดงของซากิในเรือ่งไหนๆ เธอก็ทำได้ดีเสมอมา





ที่ไม่น่าให้อภัย คือ ดูไปก็เดาพล็อกได้แจ้งแทงตลอด
แม้ตัวละครโทรุอาจจะไม่ใช่สตีฟ จอปส์ ทั้งในแง่สายผลิตภัณฑ์องค์กร
และชีวิตรักที่ไม่โลดโผนเท่ากับตัวซีรีย์ แต่เส้นทางที่มาและที่ไป
มันเป็นอะไรที่อดให้นึกตามไปไม่ได้ ว่ามันช่างละม้ายคล้ายอะไรเยี่ยงนี้
อาทิ -โทรุกับอาราตะร่วมสร้าง next innovation ในตึกร้าง (จอปส์และวอซเนียก
ร่วมสร้าง Apple ในโรงรถ) โทรุเป็นคนเจ้าอารมณ์และใช้การปลดพนักงานผ่านหน้าคอม
(จอปส์ก็ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ร้ายและไล่คนโดยเหตุผลเรื่องสนามความจริงที่บิดเบือน)
ปมปัญหาเรือ่งแม่ที่โทรุออกตามหาโดยตลอด (จอปส์ถูกแม่ของเขาโยนให้เป็น
บุตรบุญธรรมของคนอื่นที่มีเงือ่นไขว่าต้องมีปริญญา) สุดท้ายโทรุก็หวนกลับคืน
บริษัทตัวเองอีกครั้งหลังจากที่ถูกไล่ออกไป เพื่อรื้อฟื้นก่อนถูกล้มละลาย
(หลังจากจอปส์ถูกคณะกรรมการและสกัลลีย์ไล่ สุดท้ายเขาก็กลับมาฟื้นฟู
ทิศทางบริษัทในตำแหน่ง iCEO) นอกจากนี้ มันก็มีจุดเชื่อมโยงหลายต่อหลายอย่าง
ให้อดคิดไม่ได้ ไม่ว่าทั้งชือ่ บ. Next Inovation ที่ไปตรงกับบ. Next
ที่จอปส์ก่อตั้งใหม่หลังถูกไล่ออก (ในเรื่องโทรุก็ออกไปตั้งบริษัทใหม่ด้วย)
นี้ยังไม่พูดถึงซีอีโอในชุดลำลอง หรือสุนทรพจน์เปลี่ยนโลกที่จอปส์มักใช้บ่อย บล๊าบลาๆ.....





ถ้าเรือ่งนี้บอกทิศทางให้ชัดตั้งแต่เเรก มันก็พอลดความวิจิกิจฉา
หรือเป็นการให้เครดิตตามมารยาทสังคม หรือได้รับอิทธิพลจากอะไรก็ว่ามา!
เรือ่งนี้นอกจากบอกไม่ชัดไม่พอ ถึงขั้นไม่เคยบอก ปล่อยให้คนดูตีความเอาเอง
ส่วนจุดดรามา เรือ่งนี้ก็ทำได้ไม่ถึงใจเท่าไร อย่างฉากที่ควรจะเรียกน้ำตา
ซีรีย์ก็ส่งไปได้ไม่ถึง ฉากที่ควรจะตลกก็มักจะเป็นแบบตลกแห้งๆ
แบบว่า ....... พาไปในสุดสักทาง แต่ที่พอจะประคองไปได้ คือ พลังการแสดง
ของพ่องอนแม่แง่ของชุนและอิชิฮารา ด้วยรางวัลการันตีที่พระเอกและนางเอกของเรื่อง
ต่างก็ได้รางวัลควบทั้ง Television Drama Academy Awards ครั้งที่ 74
และ Nikkan Sports Drama Grand Prix  ครั้งที่ 16 ดังนั้นหากใครมีแผน
ที่อยากจะวอร์มเครือ่งก่อนชมหนังเรือ่ง Jobs ที่แอสตัน ครูซเชอร์นำแสดง
ซึ่งจะเข้าในสัปดาห์นี้ หรือทดพิษความหนา 670 หน้า ของหนัง Steve Jobs
ที่วอลเตอร์ ไอแซคสันเขียนไม่ไหว ซีรีย์ Rich Man Poor Woman
น่าจะเป็นงานกลืนง่าย ที่ได้อรรถกลิ่นรสของประวัติสตีฟ จอปส์อยู่พอสมควร ........









อ้างอิงข้อมูล


Asianwiki and Youtube@Imagination1890




 

Create Date : 10 กันยายน 2556    
Last Update : 10 กันยายน 2556 18:38:27 น.
Counter : 3026 Pageviews.  

Galileo 2 ยอดนักสืบฟิสิกส์เทอมสอง




Galileo2 ถือเป็นซีรีย์ไฮไลท์ประจำซีซันฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา
และค่อนข้างเป็นจุดเปลี่ยนของตัวผู้เขียนอีกเช่นกัน
ที่ทำให้โลกที่ห่างหายจากซีรีย์ญีปุ่น เป็นระยะเวลาร่วมกว่าสิบปี
ให้หันกลับมาใช้พฤติกรรมแบบเดิมๆ คือ เขวี้ยงกระเป๋า และ เฝ้ารอตอนต่อไป
เพียงแต่ยุคสมัยอาจจะเปลี่ยนไปไม่น้อย จากเดิมที่ตั้งรอความเมตตาจากสถานี
โดยมีข้อจำกัดได้เพียงไม่กี่เรื่อง แต่มาบัดนี้.....เรามีสิทธิ์เลือกได้อย่างหลากหลาย
มากเสียจน การบริหารเวลาของการดูให้สมอยาก น่าจะเป็นเรื่องยากกว่าเมื่อก่อน
ซึ่งแม้แต่สถานี ยังต้องตามหลังเรา





Galileo2 ซีรีย์แนวฟิสิกส์ปริศนาฆาตกรรม Detective Genius
ที่ทิ้งช่วงจากภาคแรกไปพอสมควร แต่ยังคงได้ "ฟุคุยามา มาซาฮารุ"
พระเอกจากภาคที่แล้ว มารับบทเป็นอาจารย์แผนกวิชาฟิสิกส์แห่งมหาลัยไทโต
(การันตีในเรื่องด้วยนักศึกษาสาวจองเรียนเต็มทุกที่นั่ง) "ยุกาวา มานาบุ" หรือที่รู้จักกันดี
ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยให้ฉายาเขาว่า - นักสืบกาลิเลโอ
ผู้ที่จะมาช่วยไขคดีปริศนา ที่ฟังดูจะผิดแปลกประหลาดและอยู่เหนือธรรมชาติ
แต่ดร.มานาบุ ก็ใช้หลักทฤษฎีและข้อสมมติฐานที่แม่นยำ เปิดเผยทั้งเบื้องลึกเบื้องหลัง
การวางแผน และความน่าจะเป็นที่เป็นทักษะพิเศษเฉพาะบุคคล โดยไม่แคร์ว่า
จะเป็นไปเพื่อการพิทักษ์ความยุติธรรม หรือเสริมสร้างบารมีชือ่เสียงให้กับตนเอง
ด้วยสิ่งที่สำคัญอันดับต้น นั้นก็คือ ความน่าสนใจในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับคดี





กล่าวโดยสรุป ..... Galileo2 เป็นการ "ต่อเนื่อง" มากกว่าจะ "ต่อยอด"
จากรูปแบบในภาพรวมทั้งหมดที่Galileo1 เคยทำเอาไว้ พูดง่ายๆก็หมายถึง
มันไม่มีอะไรต่างไปสักเท่าไร เลยเข้าใจความพยายามของทีมผู้สร้าง
ที่พยายามจะทำให้รู้สึก "ไม่เหมือนเดิม" อาทิ





การเปลี่ยนหน้าบัดดี้ตำรวจสาวรุ้กกี้น้องใหม่ "คิชิตานิ มิสะ" ที่รับบทโดย โยชิกาตะ ยูริโกะ
โดยอ้างว่า เป็นการดึงตัวละครออริจินอลที่ปรากฎอยู่เดิมในหนังสือ ให้มาแทนที่กับ
ตำรวจนักสืบรุ่นพี่จากภาคแรก "อุซึมิ คาโอรุ" ที่รับบทโดยชิบาซากิ โค ในภาคนี้
ที่เธออ้างว่าจะต้องไปศึกษาต่อยังอเมริกา ซึ่งขอบอกความรู้สึกตามจริงเลยว่า
ตัวละครใหม่มิสะกับตัวละครเก่าอย่างคาโอรุ ถ้าไม่นับชื่อกับหน้าตาที่เปลี่ยนไป
เรียกว่า แทบจะเป็นตัวละครตัวเดียวกัน ทั้งนิสัย ลักษณะท่าทาง
ความกระตือรือล้นเอาจริงในการทำงาน และการไม่ทันกินในเรื่องฟิสิกส์เพราะชอบอิง
ในสมมติฐานเรื่องไสยศาสตร์ จนต้องตกเป็นลูกไล่ของนักสืบกาลิเลโออยู่เสมอ
แต่บัดดี้สาวภาคนี้ ดูดีกว่าภาคแรกในแง่ของการแชร์บท ที่พอให้ได้น้ำได้เนื้อ
จนไม่รู้สึกว่าบทมันจะส่งให้ดร.มานาบุ ดูโดดเด่นแต่เพียงผู้เดียว
กระนั้นระดับความสัมพันธ์ส่วนลึก ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเด็กน้อยเอาแต่ใจ
กับผู้ใหญ่ที่ไม่แคร์โลก เลยเป็นความมิตรภาพผิดฝาผิดตัวที่หมดลุ้นถ้าให้คิดเชิงอกุศล
ผิดกับในภาคแรกที่ยังพอมีเหลี่ยมให้ได้เชียร์กันบ้าง แม้ตัวบทมันจะปิดกั้นเสียงเฮ
ในเกือบทุกประตู แล้วที่ทางผู้สร้างมาบอกประเภทให้ความหวังที่ว่า
เราจะไม่ตัดหางชิบาซากิ โคเลยสักทีเดียว อย่างน้อยๆเรายังพอนับญาติ
ในความเป็นครอบครัวกาลิเลโอกันอยู่ เอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
พอเธอหมดบทบาทในตอนแรกเท่านั้นแหละ ก็ไม่เห็นใครที่คิดจะมาพูดถึงตัวละครตัวนี้อีกเลย
หรืออาจจะเป็นไปได้ ที่จะมาโผล่ให้ได้ลุ้นในภาคสาม อันนี้ก็ต้องใช้หลักปาฎิหาริย์
ของกฎความไม่แน่นอนของไอเซนเบิร์กกันต่อไป แต่ก็ใช่ปล่อยทิ้งแบบไร้เยื่อ
อย่างน้อยๆเส้นเสียงอันทรงพลังของเจ๊โคเธอ ก็ยังคงได้ร่วมฟิชเชอลิงในโปรเจ็ค KOH+
กับพระเอกมาซาฮารุ เพื่อมาร้องเป็นเพลงประกอบซีรีย์ที่ชื่อ Koi no Maryoku (Magic of Love)
ให้เธอได้มีพื้นที่สิงสถิตย์ในทุกตอน แม้ว่าจะโผล่มาช่วงท้ายตอนจบพบแต่เสียง
หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพราะไม่มีพื้นที่ในบทให้เธอก็ตาม กระนั้นแต้มภาษีของเจ๊เธอก็ดีกว่า
เมื่อเทียบกับเพลงเวอร์ชั่นเกาหลี ที่ร้องโดยนักร้องเกาหลี Hara แห่งวง KARA
ที่ร้องได้หน้า แต่ยังขาดพลังเสียง





ส่วนในรูปคดีของแต่ละตอน ยังคงอยู่ในหลัก "สุดจะบรรยาย"
ที่แม้แต่เด็กชายชั้นมัธยมปลายสายวิทย์ ก็คงนึกอึ้งคะนึงว่าเอาศาสตร์บริสุทธิ์
มาเป็นเครือ่งมือในการฆาตกรรมได้เช่นไร วิธีการสร้างเรื่องก็ยังมาทางสายเดิม
เริ่มต้นจากสมมติฐานตามสูตรของพวกตำรวจ ที่ตั้งต้นเอาไว้เกี่ยวกับอำนาจลี้ลับ
กฎความเชื่อ และภูตผีไสยศาสตร์ โดยยกเอาสภาพทางคดีให้กลายเป็นเรือ่งสุดวิสัย
เกินอำนาจของปุถุชนที่จะไปก้าวล่วงอำนาจดังกล่าว เท่ากับถูกการปกปิดความจริง
ด้วยอำนาจบางสิ่งที่ไม่มีชุดคำตอบเพื่อจะอธิบาย จึงเป็นโลกคู่ตรงข้ามกับพวกวิทยาศาสตร์
ที่ใช้หลักการอำนาจในพื้นฐานทางธรรมชาติ เพื่อตอบกฎของพระเจ้าได้
และเล่นบทของพระเจ้าในสภาพปุถุชน ทลายอวิชาความไม่รู้ที่มีแนวโน้มสยบต่ออำนาจมืด
ซึ่งต้องใช้คนจากโลกวิทยาศาสตร์เท่านั้นถึงจะทันกัน แน่นอนว่าไม่มีคร้ังไหน
ที่นักสืบกาลิเลโอเขาจะพลาด หากปริศนาการกระทำในคร้ังนั้นมีความสมเหตุสมผล
มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดปรากฎการณ์ และผู้ต้องสงสัยมีความชำนิชำนาญด้านวิชาชีพ
ส่วนที่เหลือหากจะเป็นในแง่สิ่งจูงใจแล้ว โดยปกติดร.มานาบุมักจะต้องโยนไปให้พวกตำรวจ
ไปสืบต่อหาคำตอบกันเอาเอง แต่พอมาภาคนี้ดูเหมือนแกจะก้าวล่วงลงมาเล่นเอง
จนบางทียังนึกบ่นในใจเอาว่า ซีรีย์เรื่องนี้จะมีตำรวจไว้ทำซากอะไร! ซึ่งดูจะผิดกับ
นิยามทางฟิสิกส์ที่ถ้าใครเคยอ่านไอน์สไตน์ โดยวอลเตอร์ ไอแซคสัน
มีบทหนึ่งที่หนังสือเขาได้กำหนดสัจนิยมในองค์ประกอบ ๓ ประการของฟิสิกส์
หนึ่งในนั้นกำหนดว่า "ฟิสิกส์" คือ ความพยายามทางความคิดที่จะเข้าใจความจริงอย่างสมบูรณ์
โดยเป็นความจริงที่ถูกคิดโดยไม่ขึ้นกับการถูกสังเกต เป็นPhysical Reality
แต่ในซีรีย์ก็ผสมเอาทั้งในสว่น "การทดลอง" และ "การสังเกต" เข้าไว้ด้วยกัน
เลยเกิดส่วนผสมทั้งสองมิติ ที่ไม่ได้เอาใจฝ่ายสมาทานลัทธิใดลัทธิหนึ่ง แน่นอนว่า...
ทุกเหตุการณ์ของคดีมันต้องอยู่ในกฎ สัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causality)
ความแน่นอน (Certainty) และ นิยัตินิยม (Deternism) โดยมีพื้นฐานเบือ้งต้น
ของความน่าจะเป็น (Probablility) ที่มีบทบาทต่อชุดของความจริง
ให้เหลือตัวความจริงเพียงหนึ่งเดียว





ขณะเดียวกัน หลายคดีในช่วงท้าย
มีการโยงให้เข้ากับประวัติภูมิหลัง หรือไม่ก็เป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวละครหลัก
ไม่ว่าจะเป็น ผช.คุริบายาชิ  ตัวตำรวจมิสะเอง หรือแม้กระทั่งตัวดร.มานาบุเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งโดยปกติ ในซีรีย์ภาคแรกจะไม่ก้าวล่วงความเป็นตัวตน คือแยกกันชัดเจน
ระหว่างคดีก็เป็นเรื่องของคดี ขณะที่ตัวเดินเรือ่งก็เดินหน้าตามหน้าที่กันไป
(ยกเว้นแค่ตอนที่ฉายในโรงภาพยนตร์ชุดก่อน ที่ชื่อ Yogisha X no kenshin
ซึ่งอาจจะโยงเพื่อเปรียบเทียบความเป็นอัจฉริยะระหว่างพระเอกกับอดีตเพื่อน)
แต่ไม่รู้ทำไม? พอเอาเหลี่ยมนี้มาเล่นในครึ่งหลังของซีรีย์
ซีรีย์จะดูแผ่วไปในแง่ของเรตติ้งโดยทันที ไม่ให้ปี๊ดแบบชื่นตาเหมือนกับครึ่งแรก
ที่ทำท่าว่าจะเป็นซีรีย์เรตติ้งสูงสุดแห่งปี มีการันตียืนพื้นเฉลี่ยร้อยละยี่
แต่ความที่เป็นซีรีย์แบบจบในตอน การขายเสน่ห์ของตัวละครสำหรับเรื่องนี้
ดูจะเป็นจุดสำคัญมากกว่า ไม่เหมือนกับการจะมาอาศัยความเป็นพล็อตต่อเนื่อง
เพื่อให้คนดูได้ลุ้นในตอนต่อไป ดังนั้นเมื่อสรุปจบลงที่ร้อยละ 19.9 ต่อตอน
ก็ต้องถือว่าเป็นมาตราฐานที่ดี เพราะยังเฉียดฉิ่วกับตัวเลข 20.8 ที่ทำไว้ในภาคแรก
ซึ่งจะมีอานิสงส์กับ Galileo The Movie : Midsummer Formula
ที่ผู้สร้างเขาดักรอไว้เมื่อจบภาคซีรีย์ในช่วงปลายมิถุนายน ผลก็เป็นอันว่า
Midsummer Formula ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในตารางบ็อกซ์ออฟฟิคของญี่ปุ่นโดยทันที
ด้วยผลสำรวจหน้าโรงที่ช่วยยืนยันว่าคนดูส่วนมาก เขาเฮโลกันมาจากภาคทีวี (27.6%)
และชอบมีความชื่นชอบนักแสดงเป็นการส่วนตัว (21.5%) 





"แขกรับเชิญ"
อีกมุมหนึ่งที่เชื่อว่าคนดูจะให้ความสนใจไม่แพ้Method Murders
ทางซีซันสองนี้ ถือว่าหน้าตาของเกสต์แต่ละคน เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย
ในการดึงนักแสดงมีชื่อมากประสบการณ์ ตรึงคนดูให้จดจ่อได้พอสมควร อย่างเช่น
โอซาวะ ทาคาโอะ จากหมอjin,อาโออิ ยู จากOsen,ทานาเบ้ เซอิจิ จากShokojo Seira
คาชิอิ ยู จากTokyo tower นาเมเซะ คัทซึฮิซะ จากGokuzen คิริตานิ มิราอิ จากApoya
หรือแม้แต่ป้าอามามิ ยูกิ จากBoss ดังนั้นเรื่องการแสดงพอให้หายห่วงได้
เพราะทุกคนต่างก็เป็นประเภท มีงานแสดงล้นมือ มีผลงานให้ติดตามกันในทุกปี
บางทีระดับฝีมือการแสดงมันก็ยังพอให้น่าเชื่อ มากกว่าฆาตกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์
ถึงแม้ว่ามันจะพอมีความเป็นไปได้ และพอยอมรับในหลักคำอธิบายที่มีเหตุมีผล
แต่ก็นะๆ ..... โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ สู้ตัดสายเบรคจักรยานยังมีโอกาสใหฺ้ิบหายได้มากกว่า









สรุปไปตอนต้นที่จบไม่ลง ก็ขอมาสรุปในตอนท้ายแบบจบแน่ว่า
Galileo2 ยังสามารถรักษาระดับมาตราฐานที่เคยทำเอาไว้ในภาคแรกได้ดี
เพียงแต่ ....... มันอาจจะไม่ค่อยรู้สึกมีความแตกต่างมากเท่าไรนักจากภาคที่แล้ว
ด้วยดำรงไว้ซึ่งวิธีการยืนพื้นแบบเดิมๆ ตามสูตรที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตามกฎฟิสิกส์
ซึ่งยากที่จะมีงานชิ้นไหนเลียนแบบ ให้มาตราฐานออกมาพอเทียบเคียงได้
โดยไม่เสียไปซึ่งความเป็นต้นฉบับนิยายวรรณกรรมชิ้นเอกของฮิกาชิโนะ เคโงะ
ด้วยองค์ประกอบที่สร้างชื่อ เรียกแขก และทำเงิน ได้ดีขนาดนี้แล้ว
เชื่อว่าป๋าฟุคุซังของเรา คงหากินในบทนักสืบกาลิเลโอนี้ไปได้อีกหลายเคสต์และหลายศพ ........
















อ้างอิงข้อมูล


Dramwiki , Asianwiki ,Tokyohive













 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 10 กันยายน 2556 18:50:53 น.
Counter : 5081 Pageviews.  

Iryu Sosu ยอดนักสืบผู้ดูแลของใช้ส่วนตัว



หากว่าคุณเริ่มเบื่อซีรีย์นักสืบญี่ปุ่นที่ชอบทำอะไรดูเวอร์ และเมพขิงเกินเหตุ
ไม่ต้องอะไรมาก เอาแค่หน้าฤดูใบไม้ผลิที่กำลังแข่งขันฟาดฟันกันแต่ละสถานี
กันอยู่ในขณะนี้ แต่ละช่องล้วนแล้วแต่พยายามคัดสรรพล็อดสุดแนว ขอยกตัวอย่าง........
ทางค่ายอาซาฮีก็เข็นสองตำรวจนักสืบขาลุยDoubles ที่มีพระเอกชัวร์ๆสองคน
คือ  ฮิเดะอากิ อิโตะ กับซาคากุชิ เคนจิ ขณะที่มัตซึดะ โชตะก็ทำตัวเป็นกิ้งก่าเปลี่ยนสี
ในนักสืบเอกชนแนวจ้างวานจากเรื่องSennyu Tantei Tokage ซึ่งเป็นของค่ายTBSเขา
แล้วยังมีขบวนการTake Five ที่ปานประหนึ่งว่าเป็นOcean’s Elevenฉบับซีรีย์ญี่ปุ่น
ที่มีขุนศึกคาราซาวะซังเป็นผู้นำทีม จึงไม่แปลกที่ทาเคอิ เอมิ นักแสดงสาว
ที่ได้รับการจับตามอง จะโดดมาร่วมวงซีรีย์แนวสืบสวนด้วย กับการเล่นเป็นนักพยากรณ์อากาศ
ที่ดูไม่น่าจะเข้ากับพล็อกแนวนี้สักเท่าไร คงต้องถางตากันหน่อยเพราะฉายเอาเกือบจะเที่ยงคืน
รวมไปถึงดาราสาวอีกคนที่กำลังได้รับการปั้นงานอย่างอิเอะคุระ นานะ ก็ยังขอลองวิชา
โดยได้เล่นเป็นตำรวจรุ้กกี้สังกัดหน่วยสาม ที่รับผิดชอบเฉพาะคดีโจรกรรมและการลักขโมย
ในKakusho ฉายทางช่องทีบีเอส ส่วนที่สุดของฤดูกาลนี้คงต้องยกให้กับขาใหญ่การกลับมา
ของGalileo2 ที่มีฟุกุยามา มาซาฮารุจะกลับมาสวมเสื้อกั๊กเป็นอาจารย์ฟิสิกส์
ช่วยไขปริศนาฆาตกรรมสุดพันลึก ที่ทางฟูจิทีวีกว่าจะหาเวลาคลอดภาคต่อนี้กลับมาได้
ก็ต้องรอให้พี่พระเอกท่านมีตารางว่างประจำปี หลังจากหมดเวลาส่วนใหญ่ปีที่แล้ว
ไปให้กับบทซามูไรในRyoma Den ทางช่องเอ็นเอชเค






อันนี้เป็นภาครวมเฉพาะที่คัดมาเล่า สำหรับซีรีย์แนวdetective cases
ในฤดูกาลล่าสุดนี้ ที่จะประกอบด้วยกันหลายรส หลายชาติ ทั้งสุดอัศจรรย์
สังสรรค์เฮฮา หรือเน้นขายตัวนักแสดง.....อันนี้ก็ว่ากันไป
แต่ถ้าใครเริ่มที่จะเบื่อกับอะไรที่มันดูจะเข้ารกเข้าพง ไม่ได้เข้าถึงแก่นสาร
ของความเป็นพล็อกนักสืบจริงๆจังๆ หรือถวิลหาซีรีย์สืบสวนในพล็อกเก่าก่อน
ที่ว่ากันด้วยพื้นฐานเรียบๆ ที่ตรงประเด็น ไม่ไปใส่ไข่เติมสีขยี้ผงชูรสนัก
มันก็พอมีซีรีย์ตำรวจนักสืบเรื่องหนึ่งที่อยากจะแนะนำ ที่ยังผลิตทันในพ.ศ.นี้
และที่สำคัญ......มันยังเรตติ้งดี พอมีหวังให้เกิดการสร้างภาคต่อ
ซึ่งตอนนี้ก็ปาไปภาคที่สามแล้ว









เรื่องที่อยากนำมาเสนอก็คือ Iryu Sosa จากค่ายอาซาฮี
เป็นIryuที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับIryu ของTeam Medical Dragon
จากค่ายฟูจิทีวีแต่อย่างใด เพราะอันนี้เขาว่ากันถึงเรื่องของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน 

(
handle and gather evidence to prosecute criminals for investigation)
"อิโตมุระ ซาโตชิ"
(ที่แสดงโดยพระเอกคามิคาวะ ทาคายะ) ประจำหน่วย
กองสืบสวนนครบาลหนึ่ง แผนกคดีนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ที่มีความกระตือรือล้น
ในความพยายามสืบหาความจริงจากหลักฐานที่ถูกค้นพบในที่เกิดเหตุ
โดยที่เขาจะต้องทำหน้าที่ทั้งในแง่การประสานกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ที่มักจะมองเขาเป็นบุคคลที่ชอบจุกจิกจุ้นจ้าน (annoying habit) และมักหางาน
มาให้ทำอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน ขณะเดียวกันตัวเขาเองก็ไม่ได้เป็นที่ปลื้มนัก
สำหรับหน่วยงานทีมตำรวจที่มักจะมองว่าเขาคือตัวป่วน และชอบทำอะไร
ที่เกินขอบเขตหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย บ่อยครั้งก็ชอบทำเรื่องพลการ
ที่ดูจะผิดมารยาทและการวางตัวให้พอเหมาะพอควร









ซึ่งมุมมองเดียวกันนี้ รวมไปถึง "โอดะ มิยูกิ"
(แสดงโดยคันจิมะ ชิโอริ จากBuzzer Beat ,Love ShuffleและApoyan)
ตำรวจนักสืบสาวรุ้กกี้ที่พยายามเรียนรู้ในแง่การสืบตามคดีนอกสถานที่
ไปพร้อมๆกับทีมคณะและตามสภาพ ด้วยความเป็นน้องใหม่ผู้มีไฟแรงในช่วงลองงาน
เธอจึงอยากที่จะพิสูจน์เพื่อทำผลงาน และไม่ปลื้มในบุคคลิกนิสัยของอิโตะมุระเอามากๆ
(แม้จะได้เห็นถึงความพยายามตั้งใจ และบรรลุในการไขคดีจากหลายๆกรณี
กระนั้น......ก็ยังไม่อาจทนรับได้กับการทำอะไรที่ดูพลการและขัดมารยาทของตัวเขาอยู่ดี)
มิยูกิจึงเป็นกำลังหลักสำคัญในแง่การตามจับกุม หลังจากที่เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน
โดยความกระตือรือล้นของอิโตะมุระ สามารถหาจุดเชื่อมโยงเพื่อเข้าถึงตัวผู้ต้องหาที่แท้จริง









ซีรีย์ไม่ได้หยิบประเด็น ที่จะเชิดชูความเป็นอัจฉริยะของตัวบุคคลมากไปกว่า
ความเพียรพยายามที่จะเป็นนักประสานสิบทิศ และสัญชาติพิเศษบางอย่าง
ซึ่งหากมองในแง่ดี ความจู้จี้จุกจิกในชิ้นของหลักฐานลงไปให้ลึกแบบสุดๆของอิโตะมุระ
เท่ากับคอยเป็นตัวกลาง ที่จะไปกระตุ้นประสิทธิภาพและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน
ให้ถึงขีดสุด อันจะส่งผลดีในแง่การมองหลักฐานชิ้นนั้นอย่างรอบด้าน
แม้เพียงเริ่มต้นหลายฝ่ายอาจจะตั้งคำถามถึงความจำเป็น และดูจะเป็นการเสียเวลา
ทั้งแง่การเบี่ยงประเด็นที่กินเวลาส่วนตัว และโอกาสการทุ่มเทให้กับประเด็นหลัก
ซึ่งโดยพฤติกรรมส่วนตัวของอิโตะมุระ ที่ไม่ค่อยจะแคร์ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น
ไม่ชอบใส่ใจในขอบเขต กติกาและมารยาท ทั้งเรือ่งของส่วนบุคคล ไม่ว่าคนๆนั้น
จะเป็นผู้ต้องสงสัย เหยื่อ ญาติของจำเลย เพื่อนของโจทย์ หรือคนที่เห็นเหตุการณ์
รวมไปถึงการละเลยต่อกฎระเบียบในองค์กรของตัวเอง จึงหนีไม่พ้นที่มักจะมองว่า
ตัวเขาเองเป็นตัวป่วนประจำหน่วย ในสถานการณ์ที่ที่คำสั่งเบื้องบนก็มีผล
ให้หน่วยงานแต่ละหน่วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยที่ออกพื้นที่และหน่วยปฎิบัตการภายใน
ให้มีเรื่องปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน แต่ข้อดีที่อิโตะมุระจะแตกต่างจากตัวละครซีรีย์
นักสืบเรื่องอื่นๆทั่วไป คือ จะไม่มุทะลุดึงดันในความคิดของตัวเองชนิดให้คนองค์กร
ต้องปฎิบัติตาม แต่จะหันมาปฎิบัติตามความเชื่อของตัวเองเงียบๆเพียงคนเดียว
โดยอาศัยไล่เลียงหลอกตะล่อมไปยังในส่วนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่รับฟังมากกว่า









หากจะมองในแง่ฐานะ-ตำแหน่ง Iryu Sosaก็มองได้ในแง่ของ
ทัศนคติด้านลบอันคับแคบระหว่างผู้มีอำนาจบังคับบัญชาที่มีต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
(หลักมีหัวหน้าสองท่าน คือ คากามิ โทรุ ที่แสดงโดยโอสุงิ เรน ที่ดูสุขุมลุ่มลึก
และทาเกโอะ โซเนะรับบทโดยซาโนะ ชิโระ ที่ชอบเอะอะมะเทิงโวยวาย
จะคล้ายหัวหน้ากับรองหัวหน้าในStrawberry Night)
ที่มักถูกกระทำด้วยวาทกรรมที่ดูแคลนทางวาจา หรือพูดเพื่อลดสภาพความเป็นจริง
ทางหน้าที่เขตความรับผิดชอบ โดยหลักๆแล้วหวยก็มักจะตกกับพระเอกอิโตะมุระ
ที่แม้สภาพตำแหน่ง ตัวเขาเองจะเป็นถึงเจ้าหน้าที่กองเก็บและพิสูจน์หลักฐาน
แต่ก็มักจะถูกอีกฝ่ายที่ไม่ขอบหน้าเขาหาว่าเป็น "พวกเก็บของใช้ส่วนตัวของผู้ตาย"
ในขณะที่เจ้าหน้าที่นักสืบหญิงภาคสนามเพียงคนเดียวของหน่วยที่เพิ่งเข้าประจำการ
ก็มักจะถูกอคติของเพศชายเป็นใหญ่ เรียกเธออย่างไม่ให้เกียรติ์ว่าเป็น "สาวน้อย"
มากไปกว่าการยอมรับในความสามารถ ให้เป็นสมาชิกคนนึงของหน่วย
จึงส่งผลให้เป็นแรงขับ เพื่อพยายามที่จะพิสูจน์ฝีมือและความสามารถ
โดยจะต้องแลกกับการทำงานที่หนักขึ้นเพื่อลบกับคำสบประมาท ดีกว่าการไปต่อล่อต่อเถียง
แล้วงานไม่เดิน แต่อย่างว่า...โอกาสที่จะได้เห็นการหักหน้ากลับระหว่างผู้อาวุโสกับผู้อ่อนพรรษา
ซีรีย์ญี่ปุ่นเขาไม่นิยมให้ปรากฎโผล่ฉากที่ว่านี้ให้ระคายเคืองตาจนกระเทือนวัฒนธรรม
ผลก็เลย ..... ถ้าในแง่ดูเอาเพื่อความสะใจเป็นปากเป็นเสียงของพวกวัยละอ่อน
ซีรีย์จึงไม่อาจตอบสนองความส่าแก่ใจในจุดนี้ มากไปกว่าผลสัมฤทธิ์ของเนื้องาน
(ซึ่งแม้สำเร็จ โอกาสการได้เห็นคนแก่ทำหน้าจ๋อยในซีรีย์เรื่องนี้ ก็ไม่ปรากฎมีให้เห็น
ยกเว้นเฉพาะตอนสุดท้ายของภาคแรก ที่จะได้เห็นมิยูกิตอกใส่ไม่ถึงสิบคำ
แล้วตัวละครตัวนี้ ก็หายไปจากสารบบของภาคต่อเรือ่งนี้อีกเลย)









สูตรของตำรวจนักสืบจากซีรีย์เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมาก
จัดไปตามแผนโครงสร้างที่วางล็อกเอาไว้แล้ว โดยสร้างมูลเหตุที่ปักใจเชื่อ
ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปในทางหนึ่ง ขณะที่ตัวหลักฐานที่รอการพิสูจน์จากพระเอก
ก็จะมาพลิกเฉลยในความจริงที่ไปในอีกทางหนึ่ง ส่วนตัวผู้ฆาตกรโดยสว่นมาก
จะเน้นไปในส่วนของตัวพยาน ที่ทางเจ้าหน้าที่ปักใจเชื่อหรือให้ความสำคัญน้อยที่สุด
หรือเรียกว่าแทบจะละเลยก็ว่าได้ ท้ายสุด .... ก็ต้องจบลงในแบบมีดราม่าเรียกน้ำตา
โดยที่ผู้ตายพยายามสื่อสารอะไรบางอย่าง แต่ไม่มีโอกาสจะได้บอกในช่วงยังมีลมหายใจ
มีเพียงสิ่งของของผู้ตายเท่านั้น ที่พระเอกอิโตะมุระจะเข้ามาถอดรหัสสืบหาความจริง
อย่างนอ้ยๆก็ออกมาในสองด้าน









ด้านแรก เห็นจะเป็นเรื่องของการตามหาตัวฆาตกร
ส่วนเรื่องรองลงมา ก็จะเป็นเรื่องความลับของผู้ตายที่ไม่มีโอกาสได้เปิดเผย
อันจะทิ้งท้ายไว้ในบางสิ่งบางอย่าง โดยที่คนหลังเองก็ไม่เคยได้รับทราบ
และคนหลังโดยส่วนมากก็มักจะมีความผิดใจกันมาก่อนกับตัวผู้ตาย
ที่มักจะปฎิบัติต่อหน้าอีกอย่าง แต่ลับหลังแล้วมีเจตนาที่ดี-มีใจที่เป็นกุศล
เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้บอก จะด้วยเหตุผลต่างต่างนานา
ทั้งบุคลิกแข็งกร้าวของผู้ตาย ทิฐิของอีกฝ่าย ความไม่ปลอดภัยของแต่ละฝ่าย
ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือจะรอเซอร์ไพร์เพื่อสร้างความประหลาดใจ
ผู้เขียนว่าดราม่าส่วนนี้ของเขาวางมาดี เผลอๆดีกว่าการรอได้รู้ว่า
ใครเป็นฆาตกรเสียอีก ไม่ใช่ประเภทจับใส่ให้มันจบๆเหมือนกับหลายเรื่อง
เพราะเรือ่งนี้ค่อนข้างให้เวลากับความเป็นดราม่าตอนท้ายพอสมควร
ฟังดู......เหมือนจะหวังผลเสียด้วยซ้ำ!









สำหรับเรื่องนี้จุดขายหลักๆ คือตัวพระเอกอิโตะมุระ ซาโตชิ
ที่แสดงโดยคามิคาวะ ทาคายะ ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยจะสันทัดหน้าตาของหมอนี้เท่าไร
ยกเว้นเสียจาก อาจจะเคยได้ดูในสมัยที่แกรับบทเป็นguest ให้เรื่องนั้นเรื่องนี้
อย่างน้อยๆก็มีซีรีย์นักสืบสองเรื่อง เรือ่งแรกก็จะเป็นMr.Brainในตอนอวสาน
ส่วนอีกเรื่องก็คือ ซีรีย์ที่ชื่อSPEC มาปรากฎเป็นแขกรับเชิญตั้งแต่ไก่โห่ตอนแรก
ส่วนที่แกรับเล่นเป็นตัวละครหลัก ก็มักจะเป็นงานซีรีย์เล็กๆที่บทแกมักจะเป็นตัวรอง
จากค่ายนั้นค่ายนี้ไปเรื่อย พื้นเพแกมีภูมิลำเนาเกิดอยู่แถวฮาชิโอจิ กรุงโตเกียว
ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสเดินสายในกลุ่มละครเวทีเล็กๆ แบบตระเวณไปเรื่อย
ก่อนจะมาตัดใจไม่เรียนต่อ เพื่อมุ่งในการจะเป็นนักแสดงเวทีอาชีพจริงๆ
ภายใต้สังกัดที่มีชื่อว่าCaramel Box จนมีโอกาสได้เขยิบเข้ามาในโลกของซีรีย์ทีวี
จากเรื่องแรกของทางช่องNHK ที่ชื่อเรื่องว่าDaichi no Ko โดยรับบทเป็นชาวจีน
ซึ่งตอนนั้นเจ้าของบทประพันธ์เขาเล็งสตาร์ดังอย่างมาซาฮิโระ โมโตกิไว้
(พระเอกจากDepartures) แต่ความที่โลเกชั่นส่วนใหญ่ต้องไปถ่ายทำในจีน
ผลก็เลยปรากฎว่า หนึ่งในทีมสต๊าฟของเรื่องไปเจอะรูปเขาเข้าในนิตยสารฉบับหนึ่ง
ซึ่งตอนหลังเจ้าของบทประพันธ์สารภาพว่า เขาคิดถูกแล้วที่ได้เลือกคามิคาวะซังคนนี้
จากนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปจากสายละครเวทีมาสู่ละครซีรีย์ทางทีวีตลอดมา
จนกระทั่งปี๒๐๐๙ เขาก็ได้ประกาศลาออกจากสังกัดละครCaramel Boxอย่างเป็นทางการ
ให้เวลากับการเล่นซีรีย์และภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่ อันเป็นปีเดียวกันกับที่เขา
ได้แต่งงานกับแฟนสาวที่คบหามาตั้งแต่สมัยที่ยังเล่นละครเวทีด้วยกัน









ความที่ ...... ซีรีย์มันรู้สึกดูเด่นขึ้นมากกว่าซีรีย์ญี่ปุ่นแนวนักสืบเรื่องอื่นๆทั่วไป
ตรงที่ทางผู้สร้างเขาไม่ได้เน้นความเป็นซูเปอร์สตาร์ หรือดาราค่าตัวพอขายได้
เหมือนกับวิธีคิดของค่ายอื่นๆ ที่ต้องหาทางให้สตาร์ดังท่านนั้นท่านนี้
มีโอกาสได้เล่นแนวนักสืบที่กำลังเป็นกระแส พอรัศมีความเป็นดาราตรงส่วนนี้ไม่มี
ผลก็เลย ทำให้ซีรีย์มีความโดดเด่นในแง่เนือ้หาและความเป็นพล็อกเรื่องที่คนดู
สามารถให้น้ำหนักกับเวลามันได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะเดียวกันตัวพระเอก
เราก็ไม่ได้รู้สึกติดกับภาพลักษณ์เรื่องอื่นๆก่อนหน้า จนรู้สึกต้องเอามาเปรียบเทียบ
ส่วนการนำเสนอในกรอบหลักที่ว่ากันด้วยแผนกปฎิบัติการของวงการตำรวจสืบสวน
ก็ไม่ได้ไปสร้างจุดอัศจรรรย์ที่ชวนหักเหออกไปจากความจริง หรือมีท่าไม้ตายในการไขคดี
อันเป็นวิธีการหนึ่งที่ทางสถานีมักจะใช้ไว้เป็นจุดขาย หรือพยายามฉีกแนววิธี
เพื่อที่จะหาประเด็นนำมาเล่น ไม่ก็สร้างความแตกต่างจากแบนด์อื่นที่แล้วมา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟิสิกส์ พลังจิต นักสะเดาะกุญแจ แมวเหมียว
นักเรียนไอคิวเกิน๑๘๐ สัปเหร่อ และพวกออติสติก เป็นต้น
Iryu sosu จึงกลับมาเล่นในพื้นฐานปกติ และให้เวลากับรูปคดีได้อย่างเต็มที่
จึงมีความเด่นในแง่การกลับคืนสู่สามัญ ระดับโอด์สคูลที่เคยนิยมในยุคก่อนๆ
หลีกความซ้ำซากจำเจและช่วงชิงพื้นที่ซีรีย์แนวเมโลดราม่าที่มีกันเกลื่อนจอ
รวมไปถึงการได้แขกรับเชิญโนเนมไม่คุ้นหน้า ยิ่งสร้างจุดเดาเหตุการณ์ของตัวฆาตกร
ได้ยากขึ้นกว่าซีรีย์ประเภทที่เชิญguestเดอะสตาร์ ที่เชิญมาก็พอให้คนดู
พอได้เดาว่า คงไม่ได้มาเล่นเป็นตัวละครพื้นๆเดินผ่านอย่างไม่มีสัญชาตญาณโหดแน่นอน










น่าเสียดายว่า ..... เนื้อหาตัวซีรีย์พยายามเน้นการที่ให้จบในตอน
ผลก็เลยแทบไม่ได้มีการพูดถึงที่มา หรือประวัติก่อนหน้าของตัวละครแต่อย่างใด
ตลอดไปจนถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ทั้งในเรื่องของคู่พระคู่นาง
หรือความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งรอการสมานของคนในองค์กรเดียวกัน
เรียกว่าการพัฒนาในบุคลิกของตัวละครแทบจะเป็นศูนย์ นั่นหมายถึงต่อให้
ไม่เคยดูตอนใดตอนหนึ่งมาก่อน คุณก็สามารถทำความเข้าใจได้เพียงแค่การดูตอนเดียว
ด้วยแพทเทิร์นที่เหมือนกันแทบทุกตอน ไม่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างตอน จบแล้วจบกัน
เพราะหลังจากภาคสองและภาคสามไปแล้ว ถ้าทีมผู้สร้างก็หันเปลี่ยนมาเน้นขาย
แต่ตัวพระเอกอิโตะมุระซังเพียงคนเดียว นั่นก็หมายความว่าบทบาทของ
นักแสดงสาวคันจิยะ ชิโอริ ที่รับบทเป็นนักสืบสาวรุ้กกี้โอดะ มิยูกิ ก็หายไปเฉยๆ
(อย่างว่าตัวละครมิยูกิแทบจะไม่เด่นในแง่ตีคู่แสดง เพราะบทมันอวยให้กับอิโตะมุระโชว์)
ถึงภาคหลังจะส่งผลกระทบไปบ้าง แต่โดยภาพรวมก็รักษาระดับเรตติ้งที่สมน้ำสมเนื้อ
กับความพยายามปูทางงานซีรีย์ที่มีภาคต่อ โดยเน้นการชูคามิคาวะ ทาคายะแบบเต็มตัว
ในวัยสี่สิบห้าย่างห้าสิบซึ่งถือว่าไม่ธรรมดา และถือเป็นซีรีย์ภาคต่อเรือ่งแรกของตัวเขาเอง
โดยล่าสุดขณะที่กำลังพูดถึงอยู่ ทางอาซาฮีทีวีก็เพิ่งเปิดฉายซีซันสาม เรตติ้งตอนแรก
ถือว่าเริ่มต้นมาดีตกอยู่ที่ ๑๔.๖ % เมื่อหันมาดูค่าเฉลี่ยต่อตอนภาคแรกอยู่ประมาณ ๑๔.๓%
ส่วนภาคสองเฉลี่ยลดลงแค่ ๑๒.๔% ล้วนเป็นระดับตัวเลขที่ไม่น่าแปลกใจต่อการจะได้เห็น
ภาคต่อของIryu Sosa ที่มีพระเอกอิโตะมุระเป็นจุดขายในอีกหลายๆซีซัน
(ขนาดโปรดิวเซอร์หมายหมั่นปั้นมือ ว่าจะให้เรื่องนี้เทียบเคียงในแบบฉบับซีรีย์อย่าง
Aibou และRinjo ซึ่งเป็นซีรีย์สืบสวนร่วมค่าย ที่ไปได้ดีกับการมีภาคต่อหลายภาค)
ซึ่งขนาดสตาร์ดังๆหลายท่าน พอลงมาเล่นพล็อกแบบนี้ ก็เป๊กหายไปในซีซันเดียวก็มีถมไป ........










อ้างอิงข้อมูล

Dramawiki , Asianwiki , Dramacrazy  and Wikipedia



---------------------------------------------------------------------------------------------------------------






 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 8 พฤษภาคม 2556 12:23:35 น.
Counter : 5351 Pageviews.  

1  2  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.