A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

ไอน์สไตน์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน







ไอน์สไตน์



ชายหัวฟู ตัวรุ่มร่าม ..............
ซึ่งทั้งชีวิตเขา เป็นเสมือนตัวแทนแห่งความอัจฉริยะ
ตลกขี้เล่น ผู้พิทักษ์เสรีภาพ ประชาธิปไตย และนักรณรงค์สันติภาพตัวยง
ที่สำคัญ ...... ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ช่วยปลุกฟื้นให้เกิดยุคฟิสิกส์ควอนตัม
เป็นมิติโลกใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านพ้นม่านวัดเชิงกลศาสตร์แบบนิวตัน
และพลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของแม็คซ์เวลล์ และยังทำลายความเชื่อที่ว่า
โลกแห่งฟิสิกส์หลังศตวรรษที่๑๙  มันหมดความน่าสนใจไปแล้ว





แต่สำหรับชีวิตส่วนตัวของเขา บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากพอๆสมการ
E = MCยกกำลังสอง ที่ดูเรียบง่าย แต่ทว่า....มันต้องผ่านตรำเชี่ยว
ของชีวิตมาพอสมควร






เมื่อให้สรุปในตัวตนของเขาแล้ว แน่นอนว่า เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกแน่
แต่ก็เป็นพ่อที่แย่ และสามีที่ไม่เอาไหน ชนิดที่ใครก็อย่าริได้ทำตาม ........





ไอน์สไตน์ โดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน
หนังสือฉบับแปลภาษาไทย ที่ค่ายเนชั่นบุ๊คเคยสร้างปรากฎการณ์
ให้สตีฟ จ็อบส์ที่ตายปุบ ตัวฉบับพิมพ์ภาษาไทยก็มาปับ ขายดิบขายดีกันไป
งานนี้จึงเกิดการย้อนรอยงานเขียนของอดีตหัวหน้าบก.ไทม์ อีกครั้ง
แม้ไอน์สไตน์จะชาตกาล จนยูเนฟโกฉลองครบรอบร้อยปีไปนานแล้ว
แต่ความยิ่งใหญ่ของเขา ก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่ ทั้งจากภาพลักษณ์
ของความเป็นดร.สติเฟื่อง ไปจนถึงแบนด์ของสถาบันกวดวิชา
แม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจผลงานทางฟิสิกส์ของเขามาก่อน
ยังสนุกได้ในแง่มุมลำดับชีวิต ที่สำคัญ มันก็มีความเป็นดราม่าอยู่ไม่น้อยเลย









เพราะได้อ่านหนังสือไอน์สไตน์ ตัวสตีฟจ๊อปส์จึงเทียวเช้าเทียวเย็น
หวังจะให้ไอแซคสัน เป็นคนที่มาเขียนประวัติชีวิตเขาอย่างเป็นทางการ
ในฐานะที่จ๊อปส์อ่านอังกฤษ แต่ผมอ่านไทย จึงถือวิสาสะมาคิดแทนจ๊อปส์
ว่ามันน่าจะเกิดอะไรดลใจ ที่อยู่ๆ เขาก็โปรดปรานผู้เขียนหนังสือเล่มนี้






อย่างแรก ไอแซคสันเก่งในเรื่องขุดคุ้ยข้อมูล หาเหลี่ยมหามุม
อย่างครบถ้วนรอบด้าน รอ้ยแปดพันเก้า เพื่อมาอธิบายคนๆหนึ่งที่เขาสนใจ
เป็นนักร้อยข้อมูลสารพัดเรื่อง เพื่อสร้างกระบวนชีวิตที่มีลำดับขั้นตอน
หาจุดเชื่อมให้หนึ่งชีวิต ดูน่าอ่าน มีทั้งทุกข์ มีสุข มีโศก มีแค้น
ขุดด้านที่ดี ชี้จุดที่เลว จนทำให้รัฐบุรุษกลายเป็นมนุษย์มนาที่สัมผัสได้
แม้ว่าหนังสือเกี่ยวกับไอน์สไตน์จะมีอยู่เกลื่อนเมือง ที่ขึ้นปกก็ขายได้
แต่ในปี๒๐๐๗ ไอแซคสันก็ทำให้หนังสือไอน์สไตน์ของเขา
เป็นหนังสือชนิดที่แฟนพันธ์แท้ไอน์สไตน์จะขาดเสียไม่ได้ เพราะว่าเขา
ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูลหลักที่เสนอด้านเดียว ยังเต็มไปด้วยข้อมูลชั้นรอง
ชั้นย่อย ชั้นเขยิบย่อยกว่า แม้แต่หนังสือไอน์สไตน์ของชาวบ้าน
พี่แกก็ยังอุตสาห์คัดลอกมา โดยให้เครดิตไปในตัว






อย่างต่อมา ไอแซคสันคงไม่ชอบทำให้มนุษย์ท่านใด ทำตัวเป็นหิ้ง
เขาจึงสามารถกระชากหน้ากาก ลดอุปทานอัตตาผ่านข้อมูลด้านมืด
ขยายจุดเสียขอวคนๆท่านนั้น แล้วเสริมน้ำหนักในมุมที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง
แม้จะพูดถึง พี่ท่านก็หาสิ่งเติมแต่งจากหลายๆทาง จนบางที
ก็ทำให้บุคคลที่เขากำลังเขียนประวัติถึง กลายเป็นคนไม่น่าคบ
หรือทำให้คู่ปรปักษ์ของคนๆนั้น ดูกลายจะเป็นยักษ์เป็นมาร
เป็นดาร์กเวเดอร์ที่ทำให้หนังสือชีวิต มีสีสันขึ้นอย่างจงใจ
อย่างในหนังสือสตีฟ จ๊อปส์ ก็จะเห็นการออกมาแย้งของคนที่ถูกอ้างถึง
วิจารณญาณอาจจะมีความจำเป็นสำหรับหนังสือทุกเล่ม
แต่ถ้าเป็นของไอแซคสันด้วยแล้ว เราอาจต้องทำตัวหนามากขึ้นกว่านั้น







ส่วนตัว ชอบในการเลือกปกของไอแซคสันเป็นทุนเดิม
ไม่ต้องมาตัดต่อ จัดสร้างโฟโต้ชอปด้วยเทคนิควิจิตรล้ำลึก
อาศัยโปรยรูป แล้วคัดเอาภาพที่ชอบใจเป็นพอ ปกหนังสือของเขาทุกเล่ม
จึงดูเรียบง่าย เพื่อหลอกตาภายใน อันบรรจุอัดข้อมูลอย่างแน่นหนา
เลาๆก็หกร้อยกว่าหน้า อันนี้ ยังไม่รวมเนื้อหาในแง่บรรณานุกรมอ้างอิง
ที่กินพื้นที่ไปอีกร้อยหน้า เอาแค่บุคคลสำคัญในเรื่อง ที่คัดย่อ
พอให้เป็นน้ำจิ้มในปฐมบท ถ้าริจะนำมาสร้างเป็นหนัง
คงต้องใช้เวลาคัดเลือกนักแสดง น้อยๆก็เกือบปี







แต่หนังสือไอน์สไตน์ มีจุดเสียที่ใครตั้งใจศึกษา อาจมองว่าเป็นจุดดี!
คือ ในส่วนของการอธิบายความเป็นวิทยาศาสตร์
ด้วยความเคารพ หนังสือเล่มอื่นๆที่บอกเล่าถึงทฤษฎีของไอน์สไตน์
ทั้งจากสัมพัทธภาพทั่วไป อิเลกโตรไดนามิกส์ จักรวาลสี่มิติ
ทฤษฎีสตริง หรือกฎโฟโต้อิเล็กทริก (ที่ทำให้ได้โนเบลไพร์ซ)
ไอแซคสันพยายามอธิบาย ในแบบที่ดูเหมือนงานสัมมนาของผู้รู้
ผลก็เลย คนที่พยายาม(จะ)รู้แบบกระผม ก็เลยมึนตึบนึกภาพตามได้ยาก
เพราะยิ่งขยายความมากเท่าไร ก็เหมือนลอยทะเลไกลขึ้นเท่านั้น
ไม่เหมือนกับครั้งที่เคยอ่านงานของคนอื่น อย่าง มิชาเอล คากุ
หรือสตีเฟน ฮอกกิ้ง ที่สั้น-กระทัด-ได้ใจความ-ไม่อารัมภบทมาก
มีการยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์ที่มองให้เห็นภาพ แม้จะไม่เข้าใจชัด
แต่ก็โอเคได้ในระดับหนึ่ง ว่าอย่างน้อยๆ ก็ได้เขย่ง
เข้าสู่ขอบอาณาจักรของไอน์สไตน์อยู่บ้าง แม้ก้าวแรกขาอาจจะชาอยู่บ้างก็เหอะ









ผมอาจจะไม่เคยอ่านเบนจามิน แฟรงคลิน เฮนรี คิสซินเจอร์
ไม่เคยอ่านWise Men สามเล่มที่เหลือ ที่รอความเมตตา
จากผู้แปลและสำนักพิมพ์ในประเทศไทย เลยไม่สามารถชี้นำ
ถึงเทคนิคเฉพาะตน ที่ครอบคลุมในทุกงานเขียนของตัวไอแซคสัน
แต่อิงความหนาของขอบ เริ่มจากหนังสือแปลสองเล่มที่ได้อ่าน
ทำให้รู้ซึ้งว่า เวลาศึกษาใครสักคน อ้ายหมอนี้มันเอาจริงแหะ
ทุ่มทั้งชีวิต ออกเซอร์เวย์สำรวจ สัมภาษณ์คนสนิทชิดใกล้ ทายาทลูกหลาน
โดยค่อนข้างให้น้ำหนักกับแหล่งข้อมูล และตัวบุคคล มิใช่ประเภทยัดใส่
เพื่อให้หนังสืออ้วนพีเข้าว่า แต่อย่างว่า.....งานของไอแซคสันเป็นประเภท
ปักธงไว้ในใจ สมมติฐานทางข้อมูลจึงรู้สึกค่อนข้างจะชี้นำสักหน่อย
อย่างเช่น ไอน์สไตน์มีหัวเสรีจัด อิงทิฐิจนขาดการอ่อนน้อม
มองเห็นอะไรเป็นภาพในหัว เจ้าชู้ปฎิโลม อ่อนในเรื่องเรขาคณิต
เกลียดลัทธิทหารและสงคราม  ธงประเภทนี้จะมีให้เห็นกันตั้งแต่ต้นยันจบ
ซึ่งข้อมูลประเภทนี้ หนังสือเกี่ยวกับไอน์สไตน์อื่นๆ มันก็มี
เพียงแต่ไอแซคสัน ทำให้มันดูเด่นขึ้น จนคล้ายจะเป็นสมาการส่วนตัวสักงั้น






ตัวผมเอง ติดตามหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ได้ไฟล์อีบุ๊คภาษาอังกฤษไม่กี่MB
พยายามจดจ่อแบบสร้างภาพ ว่าในเครื่องตูมีหนังสือไอน์สไตน์ด้วย
สุดท้ายหน้าเดิมนั้นก็ค้างเครื่องมากว่าปี เป็นความฝักใฝ่ก้าวหน้าแต่หน้าไม่พัฒนา
ดีใจที่ได้ฟังรายการพอดแคสทางไอจูน ที่ชื่อ witcast
มีสัมภาษณ์ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ น่าจะสักตอนที่ห้าในหลายเดือนก่อน
ตอนนั้นเขาว่าหนังสือแปลเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่า
ทำไมสำนักพิมพ์จึงไม่พิมพ์จำหน่ายสักที
มั่นเวียนเช็คตามร้านค้าอยู่บ่อย แต่เวียนทีไร ได้หนังสืออื่นกลับมาทุกที
จนกระทั่ง งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ทางเนชั่นประกาศให้จอง
ออกสื่อเครือเนชั่นปานประหนึ่งเป็นสัปดาห์ของไอน์สไตน์
ถึงมีเปิดให้จอง เราก็ไม่รีบ เพราะรู้กันอยู่ว่าหนังสือแบบนี้มีเหลือคาสต็อกแน่
ซึ่งก็จริงตามนั้น มีไปแอบถามพนักงานในร้านก็บอกประมาณว่า ........
ถ้าไอน์สไตน์ผันตัวมาเป็นซีอีโอเครื่องใช้ไฟฟ้า และใช้การพรีเซนต์เจ้าเสน่ห์
แบบที่ทำให้นักศึกษาวิทยาลัยซูริกเต็มทุกที่นั่ง (ที่ๆไอน์สไตน์จบ)
บางทีหนังสือเล่มนี้ ก็อาจจะเป็นมิตรช่วยให้ขายดีพอๆกับสตีฟ จ๊อปส์ ก็เป็นได้





เหมือนกับที่ข้อสมมติที่ว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ใหญ่มีโอกาสกลับชาติ
แล้วให้เด็กเรียนสายวิทย์ทุกคน สามารถตั้งคำถามได้คนละหนึ่งข้อ
นักเรียนชาติอื่น คงถามถึงแรงจูงใจ หรือไม่ก็หลักการทางทฤษฎี
ผิดกับเด็กไทย ที่ยิงคำถามในเชิงโอดครวญว่า ............

"ท่านจะขยันคิดอะไรมาตั้งเยอะตั้งแยะ เพื่อให้พวกหนูต้องมาสอบในวันพรุ่งนี้ด้วย"
........











 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2556 8:48:01 น.
Counter : 3910 Pageviews.  

ฮายาโอะ ชายผู้ฉีกกฎอนิเมชั่น




หลายคนทำสิ่งที่ "ไม่ใช่" เพื่อจะหยัดยืน แต่บางคนนั่น "ยืดหยัด" เพื่อทำสิ่งที่.."ใช่"





ขอสรุปจากประโยคนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้อ่าน

"ฉีกขนบแอนิเมชั่น : เอกลักษณ์ของฮายาโอะ มิยาซากิ (นักล่าฝันแห่งตะวันออก)

แค่ชื่อก็เทพแล้ว สำหรับหนังสือเล่มนี้ แต่ทว่า.............

เนื้อในของหนังสือเล่มนี้จริงๆ เทพยิ่งกว่า ทำไมนะเหรอ?

เพราะมาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของ "นับทอง ทองใบ"

ที่เผลอได้ชม Spirited Away เข้า ก็เอ่ยปากแบบไม่อายสาวเลยว่า



"รักแรกพบ"





แค่อยากจะบอกว่า ถ้านับทองบอกว่ารัก ผมก็คงเป็นชายชู้ ที่รักคนๆเดียวกัน

แล้วฮายาโอะ มิยาซากิ นี้เป็นใคร


แม้ภายนอกจะเป็นลุงแก่ๆผมดอกเหลาๆ

แต่ทว่า ..........เป็น "ความแก่" ที่ตรำเคี่ยวและยืนหยัดในสิ่ง "ใช่"

หลายคน อาจมีความใช่ไว้ในใจ แต่ไอ้ที่ว่า "ใช่" ในใจลึกแล้ว ก็มีความ "ไม่" ด้วยกันทั้งนั้น



"ไม่"...............เพราะว่า ขืนเลือกทางที่ "ใช่" มีหวังอดตายตามๆกัน

"ไม่"................เพราะว่า ขืนเลือกทางที่ "ใช่" รู้เลยว่าทางข้างต้องเหนื่อยอย่างหนักแน่

"ไม่"................เพราะว่า ขืนเลือกทางที่ "ใช่" ต้องไปตอบโจทย์ ว่าทำไมถึง

"ไม่" อีกเป็นร้อยเป็นพัน




"ใช่" คำง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่กับฮายาโตะแล้ว

"ใช่" ก็ต้อง คือ "ใช่"


รู้บ้างไหมละ ว่ากว่าจะเป็นอนิเมชั่น อย่าง สุสานหิ้งห้อย ,my neighbor totoro

,Porco Rosso หรือ Spirit Away บนเวทีออสการ์ ให้ได้ชมเต็มสายตาสองคู่ทั่วโลก

ปู่ฮายาโอะ ต้อง "ฉีก" กฎเกณฑ์เดิมๆ ในตลาดอุตสาหกรรมอนิเมะแค่ไหน

(ถึงใช่ "แหก" ก็ไม่น่าเกลียดเกินไป เมื่อเทียบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอนิเมะสักขนาดนั้น)




ฮายาโอะก็เหมือนใครอีกหลายคน ที่มีปมเรือ่งเกลียดสงคราม (เพราะพ่อไม่รับคนขึ้นรถ)

ฮายาโอะก็เหมือนใครอีกหลายคน ที่ไต่เต้าจากงานที่ต่ำต๋อยในการวาด (แม้จะจบเศรษฐศาสตร์)

ฮายาโอะก็เหมือนใครอีกหลายคน ที่มีอุดมคติในการที่จะเปิดธุรกิจของตัวเอง

อันนำมาซึ่ง "สตูดิโอจิบลี่" ที่ไม่เน้นมุ่งเน้นกำรีกำไร มากไปกว่า การสร้างอนิเมชั่นที่มีชีวิต

แต่กระนั้นแหละ การจะขายโปรเจ็คในความฝันนั้นได้

ก็ต้องมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ Nausicaa of the Valley of the Wind

ในปี 1984 ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นงานที่ทำแล้ว ได้ทั้ง "ตังค์" และ ได้ทั้ง "คำชม"

เพราะมันทั้ง "เอกลักษณ์" "ปราณีต" และ "แรงบันดาลใจ" ซึ่งคำหลังนี้สำคัญมาก

แม้แต่ john Lasseter ผู้กำกับหนังอนิเมชั่นสามมิติล้ำยุค อย่าง Toy Story

ยกให้งานของสตูดิโอจิบลี่ เป็น "โอสถสำหรับขาดแคลนแรงบันดาลใจ"





งานของฮายาโอะ จึงไม่เคยเร่งรีบ ค่อยๆก้าว ค่อยๆทำไปที่สเต็ป

ขอเพียงให้งานได้เกิด "คุณภาพ" มาก่อน "บริหารองค์กร" มาทีหลัง

จากการทำได้เพียงจ้างทีมงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว

ค่อยๆยกระดับเป็น พนักงานประจำ การตลาดค่อยตามมา พีอาร์ค่อยตาม

ตลาดนอกค่อยตามมา อาคาเนมีสตูดิโอค่อยตามมา

คิด "เล็ก" แต่ปฏิบัติ "ใหญ่" ส่วนต่อไปจากนั้น ก็จะไหลมาเองตามธรรมชาติ

แต่ทว่า "จุดยืน" ต้องไม่เคยเปลี่ยน ความปราณีตที่เป็นเอกลักษณ์ของจิบลี

เรียบง่าย นุ่มนวล ใส่ใจต่อธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ สิ่งนี้ต้องมีปรากฎ

ต้องเอาให้ชัวร์ แม้กระทั่งเขาจะนั่งเป็น "หัว" ก็ต้องลงมาดู "ข้างล่าง" สม่ำเสมอ

ทำไงได้ ก็ "ฮายาโอะ" มักบอกใครต่อใครหลายคนว่า

ถ้า "อนิเมชั่น" เป็นโจร ก็ได้ขโมยหัวใจผมไปหมดสิ้น





ความจริง หนังสือ "ฉีกขนบฯ" นี้ มีวางจำหน่ายมาเนินนานแล้ว

แต่เพราะหลงเชื่อจากข้อมูลเบื้องต้นไปว่า เป็นงาน "ปริญญาโท"

แถมชื่อเดิม แค่ "ศัพท์" ก็สูงศักดิ์ยังกับกำแพง "นวลักษณ์ในการเล่าเรือ่ง...ฮายาโอะ"

(โหย ไรวะ "นวลักษณ์" แค่ชื่อ ก็ยังเจ็บจี๊ด....


จึงเดินเตะไป เตะมา ทำซ่าไปว่า "หนังก็มี จะอ่านหนังสือให้เมื่อยตุ๋มทำไม"

แต่ทางสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เขาก็นำมาขัดเกลา ลดระดับ เลาะขั้นบันไดงาช้าง

ลงมาเหลือเท่าเล็บ เลยเป็นงานที่อ่านแล้ว จากที่เคยรักงานฮายาโอะซัง

ก็กลายเป็น งานที่ควรเคารพบูชาได้ในอีกแนว ทำให้มองสตูดิโอจิบลีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

(เคยทำเป็นเอกสารแจกในงานเทศกาล จนต้องพิมพ์ซ้ำก็ยังไม่พอพิมพ์แจก

หรือ อาจเพราะของฟรี!)





แต่ถ้าจะให้ใคร ยืมหนังสือเล่มนี้ ด้วยใจที่อยากจะเชียร์หนังเขา

ขอบอกเอาไว้ก่อนเลยว่า อย่าลืมเก็บดีวีดีจิบลีครบเซ็ตไว้อย่างมิดชิด

มิฉะนั้น คงได้หามาไล่เก็บตามหน้าหนังสือไม่รู้ด้วยหน๊า.................




 

Create Date : 30 เมษายน 2554    
Last Update : 30 เมษายน 2554 21:12:37 น.
Counter : 2361 Pageviews.  

Mario Vargar Llosa:รางวัลโนเบลไม่อาจจะเปลี่ยนกรรมวิธีของข้าพเจ้า


มีชายสองคนชกต่อยกันขึ้นภายในโรงหนังเเห่งหนึ่งกลางกรุงเม็กซิโก
ในปี ๑๙๗๖ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในเมืองไทยก็หวิดจะมีวางมวย
เพราะใครบางคนไม่อยากลุกขึ้นยืน หรือเสียงริงโทนไปกระแทกโสตประสาท//www.pantip.com/cafe/richtext/
แต่ถ้าจะบอกว่า ชายสองคนที่ว่า อนาคตอีกไม่กี่สิบปีต่อไป
เขาทั้งสอง ต่างเป็นชายที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่เป็นความภาคภูมิใจ
ของชนชาวลาตินทั้งหมด และปรากฎการณ์โนเบลไพร์ซ
ก็กำลังจะเชื่อมความสามัคคีที่แตกแยกนับสี่สิบปี ให้กลับคืนมา



"ไอ้ตอนแรกที่ผมคิด นึกว่าเป็นเรื่องตลกสักอีก"
(At first I thought, but what if this is a joke?)


เมื่อรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้ ถูกประกาศชื่อ Mario Vargas Llosa
นักเขียนชาวเปรู ผู้คว่ำหวอดในวงการวรรณกรรมและการเมืองของแถบซีกลาตินทวีป
ชนิดที่ หลายเสียงคงมองไม่ต่างกันว่า เขาน่าจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ์นี้แน่
แต่จะเป็นปีที่เท่าไร ก็เท่านั้นเอง
โดยภาพรวม ที่คณะกรรมการทางสวีเดนสักการะความ ไว้ก็คือ

"เป็นการทำแผนที่ทางโครงสร้างอำนาาจเฉพาะตน
ให้ภาพที่เฉียบคมของระดับการต้านทนในส่วนของปัจเจกบุคคล ปฏิวัติและความพ่ายแพ้"

(his cartography of structures of power and trenchant images of
the individual's resistance, revolt, and defeat)




ตลอดชีวิต ๗๔ ปี กับเขียนงานมากถึง ๓๐ กว่าเล่ม ( นี้ยังไม่นับบทความที่กระจายเกลื่อน)
ลุงวาร์กัสเป็นคนลาตินที่ห่างหายไปนานที่ได้รับรางวัลสาขานี้ นับแต่ปี ๑๙๘๒
เพราะหวยรางวัลครั้งนั้น ตกกับนักเขียนขึ้นหิ้งชาวโคลัมเบีย ที่ชื่อ กาเบียล การ์เซีย มาร์เควซ
(ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1982)
คนที่ลุงวาร์กัส เคยนำมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
เป็นชายผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียน เป็นพ่อทูนหัวให้กับลูกของลุงวาร์กัสเอง
ก่อนที่ความสัมพันธ์ลึกซึ้งนั้นจะแตกสลาย ณ โรงหนังแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก ในปี ๑๙๗๖
โดยมีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเห็นน้าวาร์กัส (วัยขณะนั้น) เดินจ้ำพรวดออกจากโรง
พร้อมด้วยรอยตาที่ดำโปนพร้อมสีหน้าที่บึ้งตึง ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองก็เลิกคบหากัน
ไม่เคยมีฝ่ายไหนออกมาเล่าความจริงให้ปรากฎ ถึงเหตุผลที่แท้จริงของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ไม่มีการตรวจดีเอ็นเอ สื่อไม่เอามาเล่นขยายผล
ข่าวแวดวงวรรณกรรมช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อเผลอไปเทียบกับข่าววงการบันเทิงเสียกระไร




แต่การมอบรางวัลครั้งนี้ ได้ลดข้อครหา ที่ในสี่ห้าปีที่ผ่านมา
คณะกรรมการทางสวีเดน วนเวียนอยู่กับการมอบเงินรางวัล ๙๓๘,๐๐๐ ดอลล่าร์
แก่นักเขียนเฉพาะโซนใน (ในที่ว่าหมายถึงเครือฝั่งยุโรปและตะเข็บไม่กี่โพ้นชายแดน
นับหัวได้ก็มี ห้านักเขียนยุโรปกับอีกหนึ่งเตอร์กนักเขียน)
จนอาจมองอย่างอคติได้ว่า รางวัลนี้เขาแจกให้เฉพาะคนเชื้อสายคอเคเซียนก็เป็นได้
เพียงแต่ตลอดชีวิตที่ผ่าน มาริโอ วาร์กัส โลลซา ไม่ได้หยุดแค่การเป็นนักเขียน
แต่เขายังเป็นทั้งนักการเมือง นักข่าว นักปฏิวัติ นักวิจารณ์หนังและอาจารย์มหาวิทยาลัย
ลุงวาร์กัสเกิดในเมืองเล็กๆ อย่าง Arequipa เมืองที่เขายอมรับว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างมาก
ทั้งชีวิตที่หย่าร้างของพ่อแม่ กอ่นที่จะกลับมาคืนอีกเมื่อเขาอายุได้แปดขวบ
ความเป็นครอบครัวขยาย ปู่ย่าตาทวด หอบหิ้วเขาไปโน้นมานี้เสมอๆ
จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ชีวิตเขาก็ไม่ได้ต่างไปจากเยาวชนเปรูทั่วไป เต็มไปด้วยเรื่องราว
ในยุคสมัยของการปฏิวัติเพื่อปกครองตัวเองและโค่นล้มอำนาจที่มองว่าเผด็จการ
เขาได้เข้าร่วมสมัครในโรงเรียนทหาร Leoncio Prado ช่วงต้นปี ๕๐
และประสบการณ์จากโรงเรียนแห่งนี้ ก็มีผลต่อการสร้างนิยายปลายปากกาเรื่องแรกของเขา
เป็นงานที่มุ่งโจมตีเรื่อง มาตราฐานทางศีลธรรมและการทุจริตภายในโรงเรียน
และแน่นอนว่า มันมีผลต่อความคิดของมวลชนโดยภาพรวม
งานเขาจึง " ขายดี" พอๆกับ "เผาดี"
ยอดขายนั่นไม่รู้แน่ แต่ยอดเผานี้เกลี้ยงไปกว่าพันเล่ม ตามเท่าที่ได้รับรายงาน
นิยายเล่มที่สองของเขา Green House ก็ยังไม่พ้นแอบวิพากย์
ความเป็นสถาบันพื้นฐานของเปรู ว่าด้วยเรื่องการละเมิดและแสวงหาประโยชน์
จากแรงงานในซ่องโสเภณีชาวจากน้ำหื่นของกลุ่มนายทหาร




"ผมจะแกล้งพยายามอยู่ให้รอด เมื่อรางวัลโนเบลมาถึง"
(I will try to survive the Nobel Prize) -โนเบลมีกฎว่า ผู้ได้รับรางวัลต้องไม่ตายไปสักกอ่น-



ประสบการณ์พื้นฐานจากงานเขียนของเขา
เชื่อได้ว่า เติบโตมาพร้อมในยุคสมัยของปี ๕๐ ในสมัยที่เขายังเป็นนักเรียนอยู่
ลุงวาร์กัสจับงานกิจกรรมที่หลากหลาย ท้งในส่วนของนักข่าว ผู้ช่วยบรรณาธิการ นักข่าววิทยุ
จนกระทั่งเมื่อจบออกมา แล้วจำต้องประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงชีพ
เปรู ไม่ใช่สถานที่ที่รองรับความฝันใฝ่ได้อย่างเพียงพอ เขาจึงถ่อสังขาร
ไปหางานที่ฝรั่งเศส จนได้เป็นครูสอนภาษาสเปน แล้วค่อยๆผันมาเป็น
นักข่าว ผู้ประกาศข่าว จนเตลิดมาไกลเป็นถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายเเห่ง
จนล่าสุด ณ ปัจจุบัน เขาก็ได้สอนนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐ
(อาจเป็นโทรศัพท์สายเดียวกับคนละเบอร์ ที่ผู้ป่วยแนช ทราบข่าวว่าตัวเองได้นักเศรษฐสตร์โนเบล)
ก่อนหน้านี้ เขาเคยได้แต่งงานและหย่าร้างไปในปี ๑๙๖๔
จนตอนที่เขาเข้าสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยฝั่้งยุโรป
เขาได้มาพบรักกับผู้หญิงที่ชื่อ แพทและการแต่งงานถือเป็นประสบการณ์ครั้งที่สองของชีวิต
จนมีลูกด้วยกันสองคน ซึ่งพยานบางคนอ้างว่า เหตุที่ทะเลาะกับกาเบรียล มาร์เซีย มาเควนซ์
ในโรงภาพยนตร์ที่เม็กซิโก ก็มีสาเหตุมาจากภรรยาแพทของเขา เป็นตัวก่อฉนวนให้เกิด




มาร์กัสใช้ชีวิตอิสระไปประเทศโน้น ประเทศนี้
ก่อนที่ห้าปีต่อมา หลังจากที่เขาเคยได้ไปปักหลักที่บาร์เซโลน่าอยู่พักหนึ่ง
เขาเลือกที่จะกลับมาประจำ ณ เปรูบ้านเกิด หมดยุคการเร่ร่อนไปอีกหลายปี
ที่นั้นเขาได้ไปผูกพันกับการตัดสินให้ Taxi Driver หนังของ ผกก.มาร์ติน สกอเซซี่
รับรางวัลที่เมืองคานส์ในปี ๑๙๗๖ เนื่องจากเขาได้รับเกียรติ์ให้ไปเป็นคณะกรรมการตัดสิน
นอกจากนี้งานเขียนของเขาอย่าง Aunt Julia and the Scriptwriter
ก็เป็นต้นฉบับชั้นดี ให้ทางฮอลีวู้ดนำไปใช้เป็นบทภาพยนตร์มาแล้ว ในเรื่อง Tune in Tomorrow (1990)
ที่มี Barbara Hershey, Peter Falk และ Keanu Reeves เป็นนักแสดง
กำกับโดย Jon Amiel ที่เคยกำกับหนังผ่านตาอย่าง Copycat




แม้งานเขียนเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
แต่สำหรับเส้นทางทางการเมืองแล้ว เขาล้มเหลวไม่เป็นท่า
โดยเฉพาะการประกาศลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ๒๐๐๐
เขาพ่ายแพ้ต่อนายฟูจิมูริอย่างหมดคราบ ซึ่งเป็นที่รับรู้แน่นอนว่า
ฟูจิมูริถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริตคอรัปชั่นหลายกระทงในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
เป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น ที่ๆเป็นบ้านประเทศบ้านเกิดของบรรพบุรุษของนายฟูจิมูริ
จนในระยะหลัง เขาได้ปลีกตัวออกจากทางการเมือง หันมาเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน
แก่ผู้สมัครสายอนุรักษ์นิยมระดับกลาง และกลุ่มปฏิวัติรัฐบาลของฟิเดล คาสโตรแทน



ทุกวันนี้ผลงานของเขาหลายเล่ม ได้รับการแปลมากกว่า ๓๑ ภาษา
ไม่ว่าจะเป็นทั้งจีน โครเอเชีย ฮีบรู อาหรับ (แต่ไม่ยักจะเจอภาษาไทย)
ผลงานที่โดดเด่นและขายได้เรื่อยๆ ก็มี Conversation In The Cathedral
The War of the End of the World และ The Feast of the Goat เป็นต้น
งานวรรณกรรมของเขาได้รับการวิพากย์วิจารณ์ในชั้นเรียน ถึงแนวคิดการเขียน
ที่มีกลิ่นไอของโมเดรินท์และโพสต์โมเดรินท์อยู่ในตัวเอง
มีความซับซ้อนและยากลำบากในเชิงเทคนิควิธี
ครอบคลุมเนื้อหาประวัติศาสตร์เชิงประสบการณ์ส่วนตัว เขายังได้ขยายช่วงความคิด
และสร้างรูปแบบที่ท้าทายต่อแนวคิดต่างไปยังส่วนอื่นๆทั่วโลก มีความเป็นนักประยุกต์
ต่อรูปแบบวรรณกรรมสากลที่หลอมรวมรูปแบบและยกระดับเนื้องานอาชีพแบบเดิมๆ
ผสมกับลูกเล่นอันประปรายในแบบโพสต์โมเดรินท์ที่ไม่ตายตัว
งานของวาร์กัส จึงอิทธิพลของรุ่นพี่นักเขียน อย่าง Albert Camus,
Ernest Hemingway, และ Jean Paul sartre
รวมถึงอิทธิพลของงานเขียนจากคนท้องถิ่น อย่าง
Martín Adán, Carlos Oquendo de Amat, and César Moro
และขาดไม่ได้เลย คือ ปู่การ์เซีย มาร์เควส ที่หลายคนคงพอสบายใจ
ถึงความสัมพันธ์แบบตายไม่เผาดีอยู่เดิม
เมื่อปรากฎการณ์คนแก่คืนดีกัน เริ่มค่อยๆเป็นผล เมื่อปู่วากัสบรรจงเขียนคำนำเป็นเกียรติ์
ในหนังสือ the 40th anniversary edition of Garcia Marquez's classic work, A Hundred Years of Solitude เมื่อกลางปี 2007 ไม่กี่ปีมานี้เอง



ทำดีแล้ว หากคนที่ปลายทางไม่ประสาน ก็ไร้ผล
หลังจากการประกาศรางวัลโนเบล ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ปู่Garcia Marquez ก็ได้ทำเท่ห์ ด้วยการทวิตเตอร์ส่วนตัวตรงมายังลุงมาร์กัส
โดยมีข้อความเป็นภาษาถิ่นว่า "iguales Cuentas" (Now we're even)

"เราเสมอกันแล้วนะ" (คำแก้จากท่านทุเรียนกวน ป่วนรัก)

เพื่อสะท้อยนัยยะความสัมพันธ์อะไรบ้างอย่าง ระหว่างเราสอง
(แต่ขอร้องนะ ว่าอย่าเอาเมียมาด้วย!!)


ใครบอกละ? ว่าเจ้าแห่งโนเบลวรรณกรรมสองคน จะอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้??........






อ้างอิงข้อมูลจาก>>>>>>


TimeSearch
- Book and Arture โดย Bamber Gascoigne
- BBCNews
- Wikipedia

และภาพจาก wikipedia , IMDB




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2553    
Last Update : 17 ตุลาคม 2553 0:39:41 น.
Counter : 928 Pageviews.  

Age of Turbulence ยุคแห่งความโกลาหล


"อลัน กรีนสแปน"
ชื่อนี้อาจเป็นคำที่คุ้นหู สำหรับผู้เขียนในวัย เมื่อเทียบชั่งในเช้าวันนี้
ซึ่งอาจจะต่างกับอยู่หลายขุมและหลายพรรษา แต่ทว่ามีความคาบเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะที่ดำเนินชีวิตหล่อเลี้ยงประสบการณ์หน้าจอทีวี พอที่จะไล่เรียงกับการตระหนักในภารกิจ
ที่ยิ่งใหญ่ ในอีกฟากของคนไกล อย่างในส่วนของ "ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ"
หรือชื่อที่ย่อสั้นจนได้ใจ ประโยคคำเดียวว่า "เฟด" (fed)
ตำแหน่งเดียวในวาระของปู่แกที่กินความอายุไปตั้ง 18 ปี ร่วมสมัยประธานาธิบดีมะกันไป 6 ท่าน
นับตั้งแต่ประธานาธิบดีที่เป็นอดีตดาราหนัง อย่างโรนัล เรแกน ไปจน ประธานาธิบดีมาดคาร์บอย
อย่าง จอห์น บุช ผู้ลูก ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดโมแครต หรือ รีพับลีกัน ที่ท่านอิงแอบร่วมสมัยคร่าเดียวกัน
ต่างก็ยอมรับนับถือและมอบความไว้วางใจทั้งเต็มใจและต้องฝืนใจ ให้แก่ปู่อลันไปอีกสมัย
คนที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน เปรียบเปรยอย่างเรียบง่ายแต่อลังการ ว่า
"เมื่อประธานกรีนฯพูด โลกจะหยุดฟัง"





แน่นอนว่า ผู้เขียนก็คงไม่ต่างจากการรับรู้จนชื่อคุ้นหูในนาม "อลัน กรีนสเเปน"
จากบรรดาสื่อฟรีทีวี ที่พร่ำชื่อนี้กรอกหู ในทุกๆช่วงข่าวต่างประเทศ
ชนิดที่ ถ้าว่ากันในเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้วไม่มีชื่อของแกปรากฎร่วมอยู่ในข่าว
อาจไม่ได้รับการันตี ว่าข่าวนี้กำลังเอ่ยถึงในฐานะความเป็นข่าวเศรษฐกิจของสหรัฐ
หรือถ้าจะใช่ แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะยืนยันจนเชื่อถือ ผ่านสถาบันที่เป็นตัวบุคคล
ชายชรา ในชุดสูทเต็มยศ แว่นตากลมใหญ่ สอดรับกับใบหน้าเชื้อสายยิว
ที่มีท่วงท่าการเดินเงอะๆหงะๆ คนที่นักข่าวคิดอุตริซูมกล้องจับภาพความหนาของกระเป๋า
ที่ปู่แกบรรจงแบกในทุกๆก่อนการเข้าประชุม
ถ้าแลดูหนา แสดงว่า น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นในไม่ช้า
ถ้าแลว่าเบาเเฟบ ก็หมายถึง ไม่มีเรื่องอะไรที่น่ากังวล เหล่าบรรดาแมงเม่ายังคงเริงร่ากันได้
ซึ่งว่ากันตามขำๆของนักวิเคราะห์มวยวัดว่า ดัชนีกระเป๋าอลัน
(แม้แกจะมาเฉลยว่า ที่หนาบางทีก็เพราะมีแซนวิชชุดเร่งด่วนซ่อนไว้ยามฉุนเฉินต่างหากละ)





ผู้เขียนรู้จักตัวตนของปู่อลัน ชัดกว่าที่เคยรับรู้ผ่านหน้าข่าวที่ฉายเพียงไม่กี่วินาที
เป็นการเผยตัวตนในสายตาของคนนอกที่หากินกับชื่อของแก อย่าง นาย จัสติน มาร์ติน
ในงานหนังสือฉบับหนึ่งของสนพ.มติชน ที่ชื่อ
"กรีนสแปน ชายผู้อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจการเงินโลก"
ที่แปลโดย บุษบง ลาวัลย์ เป็นเหตุให้พอรู้ว่า โลกเกือบจะสูญเสียนายธนาคารฝีมือดี
ถ้าหากเขาคิดจะเอาดีในวงดุริยางค์ของกองทัพ และเป็นที่รักของชาววงคณะ
เพราะหลังเลิกแจมโซโล ปู่อลันยังใจดีช่วยกรอกขอคืนภาษีให้กับสมาชิกทางวงอีกต่างหาก
นอกเหนือจากนั้นก็เป็นในสว่นของการแฉชีวิตเงินๆทองๆ
ในเรื่องของประตูสู่ธุรกิจการเงินในฐานะที่ปรึกษาการเงิน กับคู่หูที่มีอายุคราวพ่อ
จนเป็นชื่อ "ทาวน์เซนด์ กรีนสแปน" ที่เน้นในสายหนักๆ อย่างเครื่องจักรอุตสาหกรรม
การเป็นทีมหาเสียงให้กับพรรครีพับลีกันโดยไม่หวังค่าตัว และระยะเริ่มต้นของการเป็นนายธนาคารกลาง
เป็นหนังสือเล่มไม่หนาในสายตาของคนนอก ที่สนใจศึกษาชีวิตของปู่อลันมากกว่าการศึกษาชีวิตตัวเอง
งานลำดับเป็นขั้นเป็นตอนของชีวิต ที่ไม่อาจเติมเต็มด้านลึกและปรัชญาการใช้ชีวิต
เสมือนว่า คำให้การของสายสืบ หรือจะมีความชัดเจนยิ่งกว่าปากคำของพยานฉันใด
วันหนึ่ง Age of Turbulence หรือ ยุคแห่งความโกลาหล
อัตชีวิประวัติตัวเป็นฉบับปู่อลัน ที่แฉในทุกแง่ทุกมุม และทุกเม็ด
ที่ประกอบความเป็นนายประธานธนาคารกลาง ที่ทุกคำแถลงการณ์ขึ้นหรือลดดอกเบี้่ย
จะไปมีผลต่อการสั่นสะเทือนและปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจมหาภาค
ที่ไม่ใช่เฉพาะภาคพื้นอเมริกา แต่หมายถึงภาคพื้นโลกตั้งแต่ตลาดหุ้นลอนดอน
ไปจนถึงตลาดหุ้นไทย แม้วันนั้นจะปิดทำการไปแล้วก็ตามที




Age of Turbulence ฉบับนำเข้าปกเเข็งภาษาอังกฤษ
ว่ากันว่า วันแรกที่นำเข้ามาขาย ถึงขั้นหมดเกลี้ยงในท้องตลาดอย่างรวดเร็ว
ชนิดที่ต้องทำการสั่งจองด้วยการชำระเงินเต็มราคา หรือไม่ก็สาสมให้คุ้มกับการจอง
แล้วไม่ไปพลาดตกกับมือผู้จองรายอื่นที่ให้ราคาจองที่สูงกว่า
ที่แม้ฉบับภาษาไทย ด้วยการแปลของ นรา สุภัคโรจน์ แห่งค่ายโพสต์พับฯ
จะล่วงเลยล่าช้าไปจากฉบับภาษาอังกฤษ ไปกว่าสี่ปี
แต่เมื่อเห็นกับตาในขนาดของความหนา และยังเอาหน้าตาของปู่อลัน
ในความพยายามที่จะเปผมให้พอดูออก ว่าเป็นการแสกข้างด้วยงบประมาณอันจำกัด
อย่างน้อยๆ สารบบของการวิเคราะห์โลกในเซกชั่นที่สอง
ที่ว่ากันด้วย ความเป็นมาและจะเป็นไปของเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อการเก็งกำไร
และคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่ที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับเวทีตลาดโลก
อาทิ จีน อินเดีย รีสเซีย ลาติน เป็นต้น ถือเป็นโภชนาการชั้นดีสำหรับมือกระบี่ในฉายานักวิเคราะห์
ที่น่าจะมีสัดส่วนในการกินพื้นที่ได้หน้ากระดาษเมื่อเทียบกับประวัติโดยย่อว่ากันด้วยเรื่องของชีวิต
ของคนที่ปรากฎอยู่บนหน้าปก แต่กระนั้นในบรรดาที่หลายร้านหนังสือเอาความสะดวกเข้าว่า
ด้วยการจัดหมวดให้เป็นหนังสือ Biophoto อะไรเทือกนั้น ซึ่งดูจะหาได้ง่ายกว่า
การไปแชร์พื้นที่อยู่บนของหมวดหนังสือ Economic ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เทไปให้ในจุดนั้น
ผู้เขียนไม่รู้หรอกนะว่า ลุงแกไปได้ข้อมูลและพวกสถิติฐานวิเคราะห์จากความเป็น
อดีตประธานธนาคารกลางแบบอินไซเดอร์ หรือ ความเป็นนักช่างจดช่างจำประดับฝาบ้าน
แต่นั้น ก็เป็นข้อได้เปรียบให้งานอัตชีวประวัติของปู่ ดูดีกว่างานอัตฯของคนอื่นคนดังทั่วไป
ที่นอกจากจะขายความเป็นคนในทำเนียบขาววอชิงตันแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่า
ทำเนียบขาว ไม่เคยมีรั้่วกงหรือประตูทางเข้า ที่ปล่อยให้ปู่แกเดินเข้าและก้าวออก
ไปแตะเขตภูมิภาคอื่่นอย่างอิสระ ไมได้มาหมกมุ่นเพียงแต่ในเรื่องการเมืองแต่ประการเดียว
ผิดกับงานสหายวอชิงตันที่เอาดีกับการขายเสี้ยวหนึ่งในทำเนียบ ไม่ว่าจะเป็น
พอล วอกเกอร์ บิล คลินตัน ดิก เชนนี่ย์ โรเบริต รูบิน
ปู่แกยังเอาข้อได้เปรียบจากความมีชื่อเสียงกอ่นหน้าอย่างผู้มีบารมีก่อนเกษียณราชการ
โดยเพิ่มข้อถกเถียงอย่างไม่สวงนหน้ากระดาษ
ในเรื่องทางอภิปรัชญาเศรษฐกิจระหว่างทุนนิยมกับความเป็นคอมมิวนิสต์
ที่กลุ่มพวกต่อต้านโลกาภิวัฒน์ หรือกลุ่มทุนนิยมสามานย์ตามแต่จะเรียกขาน
ได้ฟังแล้วหรือว่าอ่าน อาจจะมีลูกคล้อยตามไปกับการวาดฝันประกอบสถานการณ์จริง
ที่ผ่านหน้าประวัติศาสตร์รำลึกบทชีวิต ทั้งการรับรู้และได้เห็น
เพราะปู่ท่านไปโยงใยขุดประวัติกันตั้งแต่ เจ้าทุนนิยม อลัน สมิธ ไปจนถึง
ล่าสุดการเปิดรับจีนเข้าสู่เขตการค้าเสรี WTO
เปิดเผยภูมิธรรมทางปัญญาอย่างไม่สงวนท่าที ที่คงเก็บกดจนไม่มีโอกาส
ได้ทำการชี้แจ้งตราบเท่าที่สวมชฏานายธนาคาร จนกระทั่งปลดเปลื้องพันธะมันออกมา
จากนั้นก็ปลดเกียร์ว่าง ปล่อยร่ายชนิดใส่กันอย่างไม่ยั้งรอ
จึงเต็มไปด้วยีความพรั่งพรูเชิงทรรศนะอย่างเฒ่าผู้เจนโลก ไม่ว่าในประเด็นเรื่อง
ประชานิยม หุ้มดอดคอม ต้มยำกุ้ง y2k 11กันยา blackseptember
ที่ได้เสียงมันฮากว่านั้น น่าจะเป็นเรื่องการวิพากย์อดีตหน่วยงาน อย่างอดีตประธานาธิบดี
ในแต่ละสมัยที่ปู่ท่านร่วมสังฆกรรมในแต่ละสมัย เอาตรงที่เห็นเข้าว่า
ประทับใจช๊อตไหน หรือทำปู่แกปี๊ดแตกแค่ไหน ก็อรรถาธิบายกัน เป็นต้น
แต่กระนั้น ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่า ปู่จะไปจับตามองอยู่กับกลุ่มตลาดบนหรือชนชั้น
ที่ได้เปรียบจากช่องว่างทางการแข่งขัน และบูชาวัตถุหรือจีดีพีเป็นสรณะ
มากไปกว่าผลอีกด้านของคลื่นคามเป็นทุนนิยมจัดจ้าน ทั้ง
ความเสื่อมทรามทางจิตใจ ที่เป็นมูลค่าการลงทุนที่มีผลตอบแทนเป็นลบ
จากอิทธิพลของกรอบทุนนิยม นี้ยังไม่รวมลัทธิบริโภคนิยมกินทิ้งกินขว้าง
ช่องว่างทางรายได้ และอำนาจทางการแข่งขันของประเทศยักษ์ใหญ่
ภาวะการเก็งกำไรโดยไม่มีพื้นฐานในมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง
ซึ่งจะว่าไปผลจากสืบเนื่องแรงกระตุ้นทางนโยบายทางการเงินที่ปู่แกดำรงวาระ
ในหัวเรือการเงินใหญ่ ก็เป็นการเพาะเชื้อแฮมเบอร์เกอร์ไคร์ตซิสอยู่กลายๆ
แต่อย่างว่า งานของปู่ใน age of turbulence เป็นงานแก้ต่างทุนนิยมชั้นดี
ในโลกของการค่ากำไรที่ปู่แกเติบโตและหล่อเลี้ยงเป็นตัวตนที่ชื่อ อลัน กรีนสแปนมาทั้งชีวิต
เพราะปู่แก นอกจากจะตีโจทย์ความปวนแปรของตลาดทุน
ที่กวักแกว่งขึ้นๆลงๆ โดยใช้เครื่องมือเพดานอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวรักษาสมดุลของตลาด
อีกทั้ง ใส่เรื่องซุบซิบหลังม่านของเข้าประชุมกับผู้นำโลก
ชนิดเช็คแฮนด์จับมือ ผ่านประรอมด้วยการพูดคุยสำรวจวิธีคิดของผู้นำต่างถิ่น
อาจถือเป็นความชำนาญผ่านสายเลือดชนชาติยิว ที่มักจะทำเรื่องราวเหล่านี้ให้มีเสน่ห์เฉพาะตัว
ขณะเดียวกัน ปู่ยังทำให้องค์กรประธานกลางสามารถกำหนดทิศทางนอกเหนืออำนาจการเมือง
ที่นักการเมืองคนใดขืนไปแตะเข้าก็สะดุ้งโหยง ด้วยข้อครหาว่าแทรกแซงและบิดเบือนตลาด
โดยเฉพาะพ่อลูกตระกูลบุช ดูจะเข็ดหลาบกว่ารัฐบาลใดใดในยุคสมัย
ที่ปู่แกเข้ามาควบคุมบังเหียนบริหาร แม้ขั้นตอนและวิธีดำเนินการ
ปู่แกก็มิได้มีอำนาจสิทธิ์ขาดชี้เป็นชี้ตายในการกำหนดนโยบายธนาคารกลาง
ที่จำต้องฟังเสียงจากคณะบริหารจากภาคส่วนธนาคารกลางในสาขาต่างๆ ตามมา
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านง่ายตามหน้าคำนำอยู่ดี
เพียงแต่ ถ้าอ่านจบแบบถนอมมิตรภาพ ที่ปู่แกได้ทิ้งงานเขียนทรงคุณค่าว่ากันด้วยความทรงจำ
จากสมองรูปก้อน มาเป็นฉบับหนังสือรูปเล่ม
ที่บอกเล่าการผ่านร้อนผ่านหนาวจนวัยเกษียณ และระดมสรรพกำลังข้อมูลที่ลวงลึกขุดโคตร
แล้วมาชำแหละวิเคราะห์ให้เห็นทีละภาคส่วน ที่ถ้าไม่เกิดจากความเก็บกดทางการเมืองเป็น
การส่วนตัว ก็ต้องอาจมองได้ว่าเป็นการฟุ่มเฟือทางความทรงจำที่มนุษย์คนหนึ่ง
จะได้รับประสบการณ์ที่สาสมต่อการมีชีวิตอันน่ามหัศจรรรย์ได้เพียงนี้




age of turbulence จึงไม่ใช่แค่หนังสือชีวประวัติธรรมดาแค่คนๆหนึ่ง
แต่เป็นการฉายภาพรวมของประวัตศาสตร์เศรษฐกิจโลกด้วยสายตากูรูที่โลกยกย่อง
และประจักษ์ให้เห็นในผลงาน ทั้งการให้ยาแรงและยาเบา บนหลักการร้่อยเรียงอย่างเป็น
เหตุเป็นผลชนิดเล่าได้เป็นฉากๆ และสุขุมบริภาษด้วยใจรับที่เปิดกว้างอย่างเมตตา
แบบยากที่จะหาคนในวอชิงตันสักคน แสดงอย่างความเป็นสุภาพบุรุษชนได้เยี่ยงนี้
ตกลงแล้วมันอาจจะเป็นภาพย่อของเศรษฐกิจโลก ที่มีประวัติศาสตร์ ปรัชญา
สังคมศาสตร์ การเมือง ศีลธรรม ผสมผสานอยู่ตลอดต่อเนื่องจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ภายใต้พ่อครัวผู้ชำนาญการในสายบุ๋น โดยต้นตำรับของปู่กรีนแปน
ส่วนบทรัก ก็หวานได้ไม่แพ้กับในฉากรักของหนังเรื่อง beautiful mind
ที่จอห์น แนช อาจประโลมหลอกใช้ดวงดาวพราวเสน่ห์ แต่ปู่แกทำได้เก๋กว่านั้น
ตามประสานักวิชาการนายธนาคาร ริจะตะล่อนนักข่าวสาวมือทองของสถานี ABC
ส่วนเป็นอะไร โปรดไปหาอ่านจากยุคแห่งโกลาหลเองละกันนะขอรับ.........




"เราแทบจะไม่ได้พิจารณาถึงหน่วยที่สำคัญที่สุดในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ มนุษย์
เราคือใคร? อะไรคือลักษณะที่ฝังแน่นอยู่ในธรรมชาติของเราซึ่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
เรามีดุลยพินิจและจิตอิสระในการกระทำและเรียนรู้มากแค่ไหน ผมพยายามปลุกปล้ำ
คิดหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ตั้งแต่ที่มันเร่ิมเกิดขึ้นในใจ" (หน้า 35)
........




 

Create Date : 09 กันยายน 2553    
Last Update : 9 กันยายน 2553 21:32:32 น.
Counter : 1162 Pageviews.  

โซเชียลมีเดีย ไฟล์ับังคับของชุมชนคนเล่นเน็ต



วันนี้เผลอแวะไปคืนสังเวียน facebook หลังจากที่ได้แยกทางกันอยู่สักพักใหญ่
เพราะเผลอไปมีกิ๊กใหม่ เป็นเจ้า twitter ที่มีฤทธิ์ยั่วสวาทคาจอ
ด้วยแนวนิยม ทรงสั้น กระฉับ และเร็วรวดได้ดั่งใจเป็นอย่างแรง
ซึ่งกว่าจะกลับมาง้อคืนดีได้อีกครั้ง ระคนด้วยองค์ประกอบในสองทาง
ทางแรก คือ มีเซเลปคนดัง ที่เจ้าตัว ซึ่งผู้เขียนแอบแอดไปด้วยนั้น
อาจจะไม่ยอมรับความโด่งความดังในส่วนของตัวเอง
อย่างว่า คนที่เราอยากจะรู้จัก มันน่าจะมีนิสัยดี
ที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวมาจากความเป็นคนดังโซนนอก
แต่พยายามจะแอบเลี่ยงภาษี เหมือนกับฝั่งเมืองนอกเมืองนาเขา
สังเกตกระแสอยู่อย่างว่า ระยะนี้คนมีชื่อและพอมีชื่อในวงสาธารณะ
มีรสนิยมการเปิดพื้นที่ส่วนตัว อย่าง facebook กันอย่างมาก
และเห็นแอบชะแว้บชะแวม เขาก็ไม่เห็นจะปลูกผัก เข้าเรสเตอรอง
เป็นหมกเป็นมุ่น เหมือนกับมิตรสหายในออฟฟิค
แต่คนมีชื่อหลายคน ก็ไม่รู้จะเป็นพรีเซ็นท์ตัวเองรึเปล่า
ถ้าอยากกินเกาเหลา ก็แค่สั่งญาติพี่น้อง คนใช้ หรือไม่ผู้จัดการส่วนตัวก็ได้
ไม่เห็นต้องสร้างกระแส ด้วยการปรุงเกาเหลาใส่ดาราคู่อริกันเลย
แต่จะโทรหา เรียกสื่อ หรือเปิดโต๊ะแถลงข่าว ก็ใช่ที่
อันนี้ คงจะทางการกันเกินไป ว่าแล้วก็สาดกระจาย
แล้วค่อยเอาไปแอด follow ผ่าน facebook ของสื่อบางเจ้า
ที่เขาถนัดไอ้เรื่องพรรค์นี้ บางทีอาจจะเป็นการใช้สื่อมัลติมีเดียวิธีใหม่
เวลาไปงานไหนมาไหน ไปเจอะเจอกับคู่กรณีในงานโดยบังเอิญ
จะได้แย่งซีน ไม่ต้องมาเบ่งเนินอก ที่ไปไหนก็สันเนินเดิมๆ
ที่อยู่นอกพื้นที่การครอบคลุมของ google earth เขาทุกทีไป





เอ๊! นี้เรากำลังมาเท้าความในประเด็นไหนกันหว่า
เพราะจริงๆแล้ว ตัวเองต้องการที่จะเล่าลิงค์ข้อมูลหนึ่งใน facebook
อย่างว่า เข้าไปแล้วมันไม่รู้จักใคร ส่วนเพื่อนเก่าๆก็บล็อกหนี ตีจาก
ด้วยเจ้าของยูสเซอร์เดิม เขาอัปเปหิตัวเอง ด้วยเชือ่ว่าขี้งอน
เพราะไปปลูกผักไม่ทันแข่งกับชาวบ้านชาวเฟดเขา
เลยต้องไปแสวงหา บุคคลยอมนิยมแห่ง facebook ประจำประเทศไทย
จึงได้มาพบกับไฟล์บังคับ อย่าง คุณ สุทธิชัย หยุ่น
ชื่อนี้จำง่าย เพราะต้องไปแอบมีกิ๊กกับ twitters ก็อาศัยแอด follow เชื่อม
แบบที่ทุกประจำทวิสต์เขามีกัน ก็อาศัยลอยคอตามน้ำแบบเขาไปทั่ว
ใน facebook จะดีอย่าง ตรงที่มันมีรูปที่ช่วยดึงดูดความสนใจ
ซึ่งอันนี้ twitter เขาไม่มีให้ อยากเห็นก็ต้องคลิกไปในหมวดรูปภาพ
ซึ่งก็ต้องใช้เวลาโหลดอีกสักระยะ ถ้าเน็ตเร็วจัดจะไม่ว่าเลย
แต่ใน facebook เขาย่อเป็นสัดส่วนเล็กๆ
ตาเหล่ ตาเอียง อย่างไรก็ต้องเห็นกันบ้างละ
ผลก็เลยไปเจอะกับ คลิปรายการชีพจรโลกย้อนหลัง
ที่มีสัปดาห์ละครั้ง ในทุกคืนวันอังคาร ช่วงห้าทุ่มโดยประมาณ
และอาจจะมีห้าทุ่มครึ่งบ้าง โดยเกินประมาณในบางสัปดาห์
มีหัวข้อหนึน่งที่น่าสนใจ ที่คนเล่นเน็ตคนไหนเป็นต้องโดนกันทั่ว
เพราะหัวข้อนี้ ว่ากันด้วย เรื่องของ โซเชียลมีเดีย
ถือเป็นของเล่นไฟล์บังคับอีกอย่างของนักท่องเน็ต
ที่คนบางกล่ม บางจำพวก เขาไม่เอามาทำเล่น
แต่อาศัยเน้นย้ำ ทำเป็นช่องทางรายได้จริงๆจังๆ
เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ประยุกต์เข้ากับคุณลักษณะวิสัย
ที่รวดเร็ว ฉับไว และแม่นยำ สอดรับกับยุคสมัยด่วนรับประทาน
ที่แม้แต่บ้านของคนที่ไม่มีเน็ต ก็ยังอยากที่จะแอบไปยืนอยู่หลังๆของบ้านที่มี
แม้ว่าบ้านที่มีอินเตอร์เน็ตนั่น จะไม่ชอบเล่นหวย
แต่ก็แอบถูกเป็นตัวช่วย เพราะคนเล่นหวยข้างบ้าน เขายังไม่มี






ถือเป็นโซเชียลมีเดียตามหัวข้อ
ที่อาจจะไม่สุขสมอารมณ์หมายนัก ด้วยหัวข้อมันเน้นความรวดเร็ว ตื่นไว
ในขณะที่ผู้เขียน นั่งชมโดยเอามือลูบคาง พยักหน้าเห็นด้วยเป็นระยะๆ
แม้จะเป็นการดูช้ากว่าชาวบ้านที่มีจอทีวีประจำบ้าน เพราะเขาดูกันไหนต่อไหน
มาเป็นเดือนเข้าไปแล้ว (กำหนดเวลาถ่ายทอดทางช่องเก้า วันที่ 29 ก ค. เวลา 5 ทุ่ม)
แต่การดูช้า ก็เป็นจุดได้เปรียบข้อหนึ่งของเทคโนโลยีแห่งโลกไซเบอร์
ที่ต่อให้มีจอทีวีพลาสมาไฮเดฟ แต่ถ้าไม่ต่อเน็ต ก็คลิกดูไม่ได้
แค่ตัวอย่างก็ตรึงคนดูกันตั้งแต่ต้นเเล้ว เมื่อทางรายการ
อาศัย personal brand โดยหยิบเอาชีวิตจิตวิญญาณนักข่าวทุกลมหายใจ
อย่าง คุณ "สุทธิชัย หยุน" ที่แม้เจ้าตัวจะอยู่ในรถบนเส้นจราจรที่ติดขนัด
แต่ทว่า มือสองข้างกับปากหนึ่งเสียง ก็ยังทำงานไม่มีสถานีหยุด
ไม่ได้กำลังทานอาหารเช้ากันอยู่หรอกนะ แต่เป็นการบันทึกรายการข่าว
ผ่านเจ้าตัว "ไอเพด" โคตรเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ส่วนที่ไม่เป็นทางการ ก็โคตรจะปั่นราคา
ผสมกับอีก เจ้าสองเครื่องสุดฮิป ที่เกะกะระรายไม่แพ้กัน
"ไอโฟน" และ "แบล็กเบอรี่"
ที่หนุ่มๆสาวๆ เขาเอามาโชว์อวด โชว์เก๋ บีบี ทวิสต์ๆ เชิดใส่กันสลอน!
แต่ทว่า กับคุณสุทธิชัยแล้ว มันเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารเท่านั้น
เหตุที่ทำไมต้องมีทั้งสองนะเหรอ แกก็อ้างว่า
เพื่อความสะดวกในการกระจายข่าวสาร ตามแต่ละสถานการณ์และภูมิรัฐศาสตร์
จะได้ไหลผ่านทางข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ ไปถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง
ผ่านไปหลายๆ ท่อน้ำเลี้ยง เอ้ย ช่องทาง ที่มีสาวกและแฟนๆเฝ้ารอ
แม้จะมียอดขึ้นๆลงๆ แต่น้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่า นับหมื่น!!
ด้วยเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก และกระจายคอมเทนด์ต่างๆได้ฉับไว
ไม่ว่าจะเป็น facebook , twitter, เว็บไซด์ส่วนตัว และ รายการวิทยุประจำวัน
มิใช่เป็นเพียงแค่ "ผุ้ให้" แต่เท่านั้น
คุณสุทธิชัยยังบอกว่า ตัวเขาเองยังเป็นทั้ง "ผู้รับ" ในการแลกเปลี่ยนทัศนะ
การรับรู้ทางอารมณ์ และการสร้างชุมนุมข่าวสารร่วม
จึงไม่ใช่แค่จุดเล็กๆ แต่เป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญของนักคนทำข่าว
ที่จะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของการรับรู้ข่าวสารอันทรงพลัง ที่ยากจะปิดกั้นได้
ส่วนการจัดระเบียบนะเหรอ แวดวงอย่างงี้เขามีระบบระเบียบ กติกาชุมชนเนินนานแล้ว


รายการชีพจรโลก

Nirun | MySpace Video



และถ้ามีโอกาส ได้ไปเห็นห้องการทำงานส่วนตัว
ที่คุณสุทธิชัยพูดติดขำท้าทายพรก.ฉุกเฉินที่ว่า เป็น "ห้องวอร์รูมส่วนตัว"
ซึ่งอาวุธก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ ไมค์สองตัว เครือ่งบันทึกเสียงตกยุคหนึ่งเครื่อง
และที่สำคัญที่สุด แต่อาจจะสามัญในการรับรู้สำหรับคนทั่วไป
ก็หนีไม่พ้น "คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล" ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพียงหนึ่งเครื่อง
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่นี้ ก็กุมการกระจายข่าวสารให้แก่ผู้บริโภคนับหมื่นนับแสน
แล้วอาจต่อขยายไปในส่วนของสื่อมวลชนของต่างประเทศ
ที่มีผู้คนอีกนับล้านๆที่สนใจสถานการณ์ในเมืองไทย
แม้เบื้องต้น คุณสุทธิชัยจะออกตัวก่อนว่า เป็นคนที่ไม่ถนัดเลยกับเจ้าไอทงไอที
แต่เมื่อเป็นอาชีพ และเจ้าเครื่องมือส่วนนี้มันต้องสนองตัณหาในวัตถุประสงค์
ทั้งหมดทุกอย่างที่คนข่าวเขามีกัน แล้วจะรอช้าอยู่ทำไม
ยิ่งเป็นทวิสเตอร์แล้ว คุณสุทธิชัยบอกแบบไม่คิดเลยว่า "เข้าทาง"
อย่าลืมนะว่า แกเคยเป็นบรรณาธิการข่าวมาก่อน
เรื่องตัดคำให้สั้น ทำข่าวให้กระชับ พอที่จะขึ้นหน้าหนึ่งแบบวือหวาเนี่ย
ขอให้บอก!!






แต่กระนั้น! ก็ไม่พ้นข้อครหา ว่าแม้มันจะเร็วได้ใจเพียงใด
มันก็ยังมีลูกมั่วและข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือให้พอติดตามมา
จุดนี้ คุณสุทธิชัยก็เล็งเห็น และไม่ได้ปฏิเสธ แต่ไม่ได้ถือเป็นข้อกังวล
เพราะมันมีกรณีเปรียบเทียบอยู่แล้ว เจ้ากับเว็บสูรู้ อย่าง " wikipedia"
ที่ใครต่อใคร ไม่ว่าหน้าไหนก็เข้ามานิยามความหมายของคำๆหนึ่งได้
และใครต่อใครนี้แหละ! ก็มาช่วยกันกลั่นกรองเนื้อหาและใจความ
มาช่วยตรวจ ช่วยบรุ๊ฟ และลงความเห็นถึงข้อที่ไม่สมบูรณ์
จนให้คำนั้นๆ ได้ความน่าเชื่อถืออย่างถึงที่สุด
ไม่เว้นแม้แต่การโพสต์ข่าว ที่แม้แต่แกเองก็ยังต้องอ่อนน้อมในบางเรื่อง
เพราะเกิดเป็นคน มันไม่ได้รู้ทุกอย่างนิ
ยังมีผู้รู้ ที่รู้ยิ่งกว่า ลองมี "ลูกมั่ว" ก็จะเจอ "ลูกแย้ง"
แล้วถ้าจะถามว่า เคยมีวันหยุดสำหรับเจ้าเรือ่งพวกนี้บ้างไหม?
แน่นอน! ตารางวันหยุด ไม่อาจกำหนดการหยุดที่จะเป็นข่าวสารได้
ขณะเดียวกัน การบริหารข่าวสารก็เป็นงานที่ท้าทายต่อการบริหารเวลาส่วนตัว
อย่าลืมนะว่า ..................... นิวมีเดีย
แม้ดูจะเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยข้อจำกัดของเวลานักข่าว ..... แต่ทว่า
คุณสุทธิชัยเอง ก็ยังคงนั่งเสนอข่าว เขียนคอลัมภ์ ประชุมทีมงาน
และวิเคราะห์สถานการณ์ตามปกติเช่นทุกวัน
ไม่มีงานไหนเลยที่ขาดตก บกพร่อง ไปเลยสักชิ้น อย่างไรเสีย............
ก็ใช่ว่าจะไม่มีโทษสำหรับคนที่บริหารการใช้ประโยชน์ของโซเซียลมีเดียไม่เป็น
โทษอย่างที่รู้สึกได้สำหรับนักข่าวอาวุโสอย่าง คุณสุทธิชัย
ก็คือ "เรือ่งของมารยาททางสังคม"
โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ปากก็ว่าคุย แต่ตาเนี่ยจ้องกดบีบีบี๋
หรือกำลังสั่งงานการประชุม แต่มือหุบเข้าใต้โต๊ะ ไล่เช็คทวิสต์แบบถี่ยิบ
พอถูกขานชื่อที.........................ก็ตอบรับไปที
ซึ่งถ้าเป็นคุณสุทธิชัยแล้วจะไม่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ประชุมคือเลิก!!
ถือเป็นการตัดขาดจากโลกมีเดียไซเบอร์ชั่วคราว
เข้มข้นจริงจังกับการประชุมอย่างเต็มที ใส่ใจในเนือ้หาการประชุมอย่างถึงที่สุด
ออกนอกห้องประชุมเมื่อไร# ก็ค่อยกลับมาเช็คข้อมูลเปิดเครื่องปกติตามเดิม
ถือแอบประชด คนบ้ากดแบบไม่ลืมหูลืมตาอยู่หน่อยๆ ว่า
"ใช่ว่าเราจะตายหายไปจากโลกสักทีไหน เมื่อไรนิ"
แต่ถ้าบอกให้ไปโอนเงินหน้าตู้เอทีเอ็ม อันนี้เอเอฟรุ่นหนึ่งเขาสร้างอุทาหรณ์ไว้แล้ว
คงหลงกินแกได้ยาก โดยเฉพาะพวกคนข่าว.................





แต่กระนั้น
แม้ผู้บริโภคจะหลับตาลาด้วยข่าวมิดไนต์และลืมตาด้วยข่าวรับอรุณ
ภายใต้ชื่อทวิสต์ยูเซอร์ของ คุณสุทธิชัย หยุน
ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะในนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นการรีทวิสต์ข่าวจากทีมงานในเครือเนชั่น
และในบางส่วน เป็นการรีทวิสต์ข้อความที่น่าสนใจโดยตัวคุณสุทธิชัย หยุ่นเอง
โดยจะพยายามเป็นผู้ทวิสต์และคัดเลือกด้วยตัวเองก่อนเป็นสำคัญ
เพราะทุกๆความเห็นที่ปล่อยออกมา มันสะท้อนตัวตนและพฤติกรรมของคนๆนั้น
ให้ผู้อื่นได้รับทราบและพิจารณาในการสื่อสารตอบโต้ซึ่งกันและกัน
ไม่ใช่แค่ทวิสเตอร์เท่านั้น ยังรวมถึงเครือ่งมือไซเบอร์อื่นๆ อย่างเฟคบุ๊คด้วย
แต่ความสบายอารมณ์ของคุณสุทธิชัย
ไม่ใช่แค่การได้ใช่เครือ่งมือเพื่อถ่ายทอดความคิดและเนื้อหาข่าวสารใหม่ๆเท่านั้น
แต่ส่วนที่สองที่ให้ความสบายอารมณ์ไม่แพ้กัน คือ หลายชายอีกสองคน
ที่ถูกทำเป็นวอลล์เปเปอร์ขึ้นไว้บนหน้าจอ เป็นหลานสองคน
ที่ไม่รู้ว่าวันข้างหน้า เขาจะเข้าใจข่าวในรูปแบบหนังสือพิมพ์
หรือจับกดแป้นพิมพ์ที่เป็นตัวอักษรบนคีย์บอร์ดได้รึไม่?
เพราะโลกของข้อมูลข่าวสาร มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
และมีพัฒนาการประสานเทคโนโลยีอย่างคาดไม่ถึง และไม่อยากคาดถึง
เหมือนในมือของคุณสุทธิชัย ที่กำลังกำเครื่องไอโฟนทางซ้ายมือ
เพียงไม่ถึงห้าปี มือขวาของคุณสุทธิชัยหันมาจับไอเพคที่มีความก้าวล้ำไปอีกขั้น
และไม่รู้ว่าอีกห้าปีต่อไป จะไปเจอเครื่องมืออะไรใหม่ๆในการรองรับการถ่ายเทข้อมูล
ที่ตัวเขาเอง จำต้องพยายามตามไล่ให้ทัน นอกจากเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรแล้ว
ยังจะต้องเป็นแบบอย่างให้กับนักข่าวรุ่นหลังๆ
มากกว่าเพียงแค่ปากพูด แต่ในมือยังจิ้มทวิสต์ไม่เป็นเอาสักเลย........




อ้างอิง.........................................
ข้อมูลก็ รายการ ชีพจรโลกรายสัปดาห์ เลย





 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2553 0:35:23 น.
Counter : 890 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.