A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
Ponyo ปลอดภัยแม้แต่เด็กที่มีผิวบอบบาง



และแล้วความฝันเล็กในใจผมก็เป็นจริง
ความฝันง่ายๆ ที่ดูจะเป็นไปได้ยากในตลาดภาพยนตร์ของไทย
ความฝันที่ว่า ครั้งหนึ่งจะได้มีโอกาสได้ชมหนังการ์ตูนของค่ายจิบลิ
ปรากฎในโรงภาพยนตร์ขนาดยักษ์อย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม
หลังจากที่ได้หลบๆซ่อนๆ จากการติดตามหนังการ์ตูนค่ายนี้มาโดยตลอด
ไม่ว่าจะนับตั้งแต่ระบบตลับเทป vhs แบบไม่มีซับไทย อย่าง
สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Firefries) หรือ เพื่อนบ้านฉันที่ชื่อโตโร่ ( My Neighbor Totoro)
จนพัฒนามาเป็นระบบเลเซอร์ดิสต์จานใหญ่พอๆกับฝาหม้อร้านข้าวต้ม
อย่าง แม่มดน้อยคิคิ (Kiki's Delivery Service)
จากนั้นด้วยระบบเทคโนโลยีที่ถูกลง ด้วยต้นทุนการผลิตครั้งละมากๆ
ก็มีพ่อค้าหัวใส จับข้อมูลมายัดใส่แผ่นแบบรักษาขนบแบบตลับ vhs
คือ ยังไม่มีซับแปลให้อีก .........จึงอาศัยใจรักและดูเอามันส์เข้าว่า
จนทว่า............เมื่อสุดยอดเทคโนโลยีที่ภาพและเสียงชัดกริบ อย่างดีวีดี
ตีตลาดทั้งขนาดของตัวเครื่องและราคา งานทยอยแบบเรียงตับกันอย่างพร้อมหน้า
แบบคอเลกชั่น อย่าง Only Yesterday , Pom Poko , Princess Mononoke เป็นต้น
ก็ได้สร้างสาวกผู้รักงานแบบจิตวิญญาณศิลปแนวจิบลี ที่อยู่นอกเหนือกระแส
อนิเมทชันแบบคอมพิวเตอร์ซีจีที่ล้ำสมัยกว่า ถึงกระนั้น...... ก็ยังต้องเผชิญกับซับผี
ที่ทำให้งานดีๆของค่ายนี้ต้องปนเปื้อน อย่างไม่น่าให้อภัย (ได้ข่าวว่ามีแบบลิขสิทธิ์พร้อม
นำเข้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะ)
จนปัจจุบัน .........ได้นำไปสู่การเข้ารอบตามโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการและมีลิขสิทธิ์ถูกต้อง
ถือเป็นนิมิตใหม่ในการเปิดศักราชของหนังค่ายจิบลีในประเทศไทย และถือครั้งใหญ่ของวงการ
แม้ว่า......จะเข้าฉายเพียงไม่กี่โรง และพอนับหัวผู้เข้าชมที่เป็นเด็กไม่น้อยไปกว่าฐานของผู้ใหญ่



ความบาดเจ็บจากครั้งที่แล้ว จากเรื่อง Tales from Earthsea
งานกำกับของลูกชายตัวดี ที่ไม่ประสบความสำเร็จแง่เสียงวิจารณ์และการสร้างภาพลักษณ์ใหม่
ภาพลักษณ์ที่มุ่งเน้นตลาดของกลุ่มคนที่สูงวัยขึ้น
งานนี้ทำให้ฮายาโตะผู้พ่อ ต้องกลับมาหวนวงการ รักษาหน้าของหนังการ์ตูนค่ายจิบลีอีกครั้ง
หากใครจดจำงานอันน่าประทับใจ อย่างเรื่อง My Neighbor Totoro
เราจะได้สัมผัสมันอีกครั้งใน Ponyo on the Cliff by the Sea ภาพยนตร์การ์ตูนลำดับที่ ๑๗
ของค่าย กวาดเงินเยนที่ตีเป็นดอลลาร์ในเดือนแรกที่ฉาย กว่า ๙๐ ล้านเหรียญ
จนเป็นหนังทำเงินประจำปีที่แล้วของประเทศ ทิ้งห่างที่สองและสามอย่างไม่เห็นคลื่นทะเล


หนังก็เรียบง่ายดี ว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กอนุบาลตัวผู้ (โซสุเกะ) กับปลาทองตัวเมีย
(โปะโก) ดูจะมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน แล้วบังเอิญวันหนึ่ง
โซสุเกะได้ไปพบโปะโกะที่เป็นปลาทอง กำลังที่เอาหน้าออกจากขวดโหลที่เข้าไปซุกจากอุบัติเหตุเรืออวน
และตอนที่ได้ช่วยเหลือให้ออกจากขวด ปลาทองตัวนี้ดันได้ไปดื่มเลือดของเด็กชายคนนี้เข้า
เรื่องจึงมาชุลมุนชุลเก เมื่อปลาทองตัวนี้ไม่ธรรมดา มีราชศักดิ์แห่งหนระดับเทพธิดาแห่งท้องทะเล
การดื่มเลือด ก็เท่ากับ ต้องคำสาปให้สามารถกลายเป็นมนุษย์ได้ และที่ทำเช่นนี้ได้
เพราะครั้งหนึ่งบิดาของโปะโกะ (ฟุจิโมโตะ) ก็เคยเป็นมนุษย์มาก่อน
แต่ไม่อาจรับสภาพความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ จนเมื่อมาพบรักกับเทพธิดาแห่งท้องทะเล
จึงได้มาเป็นเจ้าแห่งมหาสมุทรในบัดนั้นเป็นต้นมา
ความประทับใจระหว่างเด็กตัวน้อยกับปลาทองตัวจ้อย ได้ทำลายพันธสัญญาทางธรรมชาติ
ผู้ที่จะถอนคำสาปนี้ได้ คือ มนุษย์จะต้องประกาศความรักอย่างบริสุทธิ์และจริงใจ
นอกเผ่าพันธ์วงศาของตัวเอง จึงจะช่วยชีวิตเจ้าหญิงปลาทองโปโกะ
มีโอกาสได้เป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นเด็กหญิงโปโกะ ที่ยิ้มง่ายไม่ซึมเปื้อน
ตนนี้ เอ้ย! ตัวนี้ เอ้ย! คนนี้ เอ้ย! เอาเป็นว่า ..........อะไรเทือกนี้แหละ



การกลับมาครั้งนี้ ของผู้กำกับและเขียนบทเอง อย่าง ฮายาโตะ มิยาซาว่า
ถือเป็นการเรียกราคาและความศรัทธาให้กับแฟนหนังค่ายจิบลีได้ไม่น้อย
(แต่ความจริง Tales from Earthsea ก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร สามารถขึ้นอันดับหนึ่งสัปดาห์แรก
ที่ญี่ปุ่น เตะ Pirates of the Caribbean: Dead Man's Chest ตกอันดับสองในทันที)
เพียงแต่ เจ้าบุตรชาย โกโระ ฮายาโตะ ดันไปทำหนังการ์ตูนที่ฉีกแนวขนบและทอดทิ้ง
กลุ่มสาวกเก่าๆ ที่ยังคงชื่นชอบการ์ตูนแนวใสๆ ปลอดภัยต่อมมลภาวะทางอารมณ์
และมีกลิ่นไอแฟนตาซีแบบที่เคยรู้สึกได้ในงานของผู้พ่อ ได้สร้างไว้ใน
Totoro , Kiki และ Spirited Away (เรื่องที่ไปตบหน้าการ์ตูนซีจีค่ายยักษ์บนเวทีออสการ์ ปี๐๒)
แต่เข้าใจว่า งานชิ้นแรกในฐานะผู้กำกับของโกโระ
เขาปรารถนาที่จะสร้างรูปแบบเฉพาะตน เพื่อฉีกหนีอิทธิพลของผู้เป็นพ่อที่ได้จัดวางไว้
หลายต่อหลายเรื่อง จึงกล้าพอที่จะรวมเอาพ๊อกเก๊ตซีรีสย์ของตระกูล Earthsea
มาเล่าจบด้วยการ์ตูนเพียงไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง ต่างกับบิดาที่มักนำเอาโครงเรื่อง
ผ่านอิทธิพลจากงานเขียนชื่อดัง ไม่เว้น Ponyo ที่ได้รับความประทับใจ ในครั้งที่ได้อ่าน
The Little Mermaid ของ Hans Christian Andersen แล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสม
กับตำนานพื้นบ้านและสภาพแวดล้อมอย่างที่ญี่ปุ่นควรจะเป็น



ท่ามกลางการทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ของค่ายดิสนีย์ ที่มีต่องานอนิเมชั่นสองมิติ
โดยหันไปพึ่งโคตรเทคโนโลยี อย่างซีจีสามมิติ จากค่าย Pixar
แต่โปรดิวเซอร์ อย่าง โตชิโอะ ซูซุกิ ยังคงปรารถนาที่จะอนุรักษ์การวาดแบบลายเส้น
ที่ดูเรียบง่ายและจริงใจ เป็นอะไรที่แลดูจะสามัญดีเป็นที่สุด
ผ่านการแต่งแต้มสีด้วยโทนสีที่เด็กประถมก็สามารถระบาย
เองได้ จากตลับแม่สีที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ไม่ต้องตวัดหรือบรรจงอย่างเลิศเลอ
แลดูอลังการ อย่างที่ใครเคยได้ดูแบบ Paprika ของผู้กำกับ ซาโตชิ คอน
หรืออนิเมชั่นผสมที่ทำให้การ์ตูนอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ ใน The Prince of Egypt
ของผู้กำกับ Brenda Chapman และ Steve Hickner
หรือจะเป็นการต่อยอดแฟนพันธ์แท้ แต่ไม่สามารถพัฒนาตัวละครได้ ที่หาชมได้
Doraemon The Movie ในทุกภาค
งานของจิบลีทุกเรื่อง เท่าที่สังเกตุแบบที่ต้องใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องชี้วัด
โดยไร้หลักทางวิชาการใดใดมาประกอบ โดยความรู้สึกส่วนตัวจึงเป็นงานที่
ทนุถนอมประสบการณ์ครั้งวัยเยาว์ เติมเต็มโลกแห่งจินตนาการแห่งความคิดสร้างสรรค์
และอ่อนเยาว์ต่อทุกสรรพสิ่งที่ต้องเผชิญ
อาจไม่ใช่งานการ์ตูนที่เล่นงานจนขากรรไกรค้าง แต่ก็อดอมยิ่มได้ถึงความน่ารักของตัวละคร
น่ารักพอที่ชวนให้ติดตาม แม้เด็กอนุบาลวัยไม่กี่ขวบปี จะปะติดปะต่อเรื่องราวชวนสับสน
หลังจากเดินออกจากโรง เพราะอ่านซับไทยได้ไม่ทันและความชำนาญทางอักษรภาษา
ที่ยังคงไม่แม่นยำ แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะขอดูซ้ำ ในยามที่ถูกทำเป็นแผ่นซีดี




ใครจะบังอาจ ไปเอาเรื่องตรรกะเชิงสัญลักษณ์
ไปวิเคราะห์ว่า เหตุที่ผู้พ่อบังเกิดเกล้าใช้อำนาจนิยมเพื่อไม่ให้โปโกะเป็นมนุษย์สมถวิลย์
เด็กชายโซสุเกะออกตามหาแม่เพื่อทดแทนความอ้างว้างของผู้เป็นพ่อ
โปะโกะคือสัญญะบางประการ เพื่อแสดงความเป็นฑูตของสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมสัมพันธ์กับมวลมนุษย์
การพ่นน้ำใส่หน้าคนที่ไม่ชอบ เป็นนัยยะของบุพพาชน
ใครเผลอเพื่อไปค้นหาปรัชญาสัญญะเทือกนี้ ขอบอกว่าจะดูหนังตระกูลจิบลีเทือกนี้ได้ไม่สนุกนัก
การไม่รับรู้อะไรเลย ดูเป็นทางออกที่ดีที่สุด
การปรับสภาพจิตใจให้เป็นเด็กอีกครั้ง กล้าเผชิญกับความฝันที่ครั้งหนึ่ง
เราได้ละเลยจากมันมาแสนไกล
ตื่นตาตื่นใจกับสัตว์ประหลาดตามท้องเรือ่ง ที่อาจดูเหมือนกับสัตว์นำโชคตามงานกีฬาประจำจังหวัด
แล้วอย่าไปแยกแยะว่าทำไม มันถึงเรียกว่า "โปะโกะ" ทุกครั้ง ทั้งๆที่ชื่อหน้าโรง
อ่านไปว่า "โปะเนียว" ทำไมเค้าเรียกว่า "ปลาทอง" ทั้งๆที่ตลอดเรื่อง ตัวมัน "สีแดง"
ฟุจิโมะโตะไปพบรักกับราชินีแห่งท้องทะเลตอนไหน ทำไมจึงมีสภาพเหมือนมนุษย์ดีจัง
ทำไม ทำไม และทำไม ........................ลองไม่ทำไมสักเรื่อง แล้วจะทำไมละ?


การ์ตูนสกุลจิบลี จึงไม่อาจอธิบายใดใดได้มากนัก มากไปกว่าการใช้ความรู้สึก
ยิ่งถ้าเผลอไปเทียบกับพัฒนาการของการ์ตูนฝั่งอเมริกาเข้าแล้ว
จะรู้ถึงการก้าวกระโดดที่เชื่องช้า แต่ทว่ามนต์เสน่ห์ที่ได้กลับเข้าถึงได้ยากกว่า เอ๊!ทำไม


การ์ตูนที่ต้องถอดหัวใจ "ผู้ใหญ่" ไว้นอกโรง แล้วดึงความเป็น "เด็ก" ในใจตน
กลับมาร่างเดิมที่ไม่คุ้นเคยขึ้นมาอีกครั้ง แล้วจะรู้ว่า "สุข" จากที่เคยเฝ้ารอศิลปะหลอกเด็ก
ที่เราเคยกระดี้กระดากอย่างสุขล้น มันหาได้ไม่ไกล แม้ว่าคนที่นั่งใกล้
มันจะเรียกว่า "ลุง" ก็ตาม............................. ........
.



ขอบคุณ wikipedia เพียงเจ้าเดียวนะเอิ้งเอิย.....และเด็กๆในโรงที่ไม่ร้องง้อแง๊







Create Date : 07 กันยายน 2552
Last Update : 7 กันยายน 2552 23:07:30 น. 2 comments
Counter : 1370 Pageviews.

 
เป็นความฝันของผมเหมือนกัน
ที่ได้ดูผลงานของจิบลิ (รอบปกติ) ในโรงภายนตร์


ดูแล้วชอบครับ...ชอบทุกวินาทีของภาพยนตร์เรื่องนี้เลย


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 8 กันยายน 2552 เวลา:15:48:16 น.  

 
เรื่องPonyoไม่ได้ดูในโรงหนัง ดูจากแผ่น แต่แปลกใจมาก
ว่าทำไมตัวเองถึงได้ดูก่อนหนังเข้าโรงอีก
แถมภาพชัด เสียงโปเนียวก็สุดจะน่ารัก
ชอบเสียงโปเนียวที่สุดเลย ซับก็แปลได้ดี
เป็นหนังที่ลุงฮายาโตะ บอกให้"รักษ์"โลกอีกเรื่องหนึ่ง

ปล.เปิดฟังเพลงของJoe Hisaishi ไม่ได้ค่ะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.24.19.211 วันที่: 29 มีนาคม 2553 เวลา:20:42:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.