A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Orthros no Inu โอสถหัตถ์เทวะหรือมรณาหัตถ์ยมฑูต





ถึงเวลาที่ต้องให้รางวัลซีรีย์แห่งปี
รางวัลที่เกิดจากอคติสี่เป็นการส่วนตัว ถึงแม้จะมีพระเอกเป็นตัวชูโรงตลอดทั้งเรื่อง
ก็หาได้สำคัญเท่ากับการ ที่มีดารานักแสดงสาวสวยดินแเดนยากิโซบะเป็นตัวชูกำลัง
จึงเป็นรางวัลภายในใจ ที่หาได้มีความยุติธรรมใดใดเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในระยะหลัง
ยอมรับว่าตัดสินใจได้ลำบาก เพราะการทยอยเข้าวงการแบบเรียงแถว
ของดาราสาวรุ่นใหม่ ในขณะที่นักแสดงสาวรุ่นเก่าก็ยังไม่ยอมที่จะร้างราวงการ
เลยเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง จึงทำให้ต้องกลับมาครุ่นคิดถึงเจตนารมณ์ส่วนอื่นแทน
จะให้เชียร์พระเอกหล่อก็ใช่ที กุศโลบายนี้ดูเหมือนจะมีสาวเจ้าไม่น้อย ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสิน
เป็นเครื่องพิจารณา สุดท้ายจึงต้องกลับมาอาศัยเนื้อหา ประมาณว่าดูจบแล้ว
ยังคงหลอกหล่อนให้คิดต่อ เสริมสร้างสุขภาพและอนามัยภายในจิตใจที่ดี
โดยไม่จำเป็นต้อง "กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ"



อย่างปีที่แล้ว ผมยกให้ซีรีย์เรื่อง "Changes" อย่างไม่ต้องสงสัย
แบบว่า..........ปัญหาบ้านพี่ บ้านผมก็มี อีกทั้งโครงสร้างของเรือ่งราว
ก็ฉลาดที่รู้จักใช้ทรัพยากรทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกภาพความเป็น สส.
องค์ประกอบของการเลือกตั้งเสียงข้างมาก การบริหารของความขัดแย้งทางการเมือง
กติกาในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เอามาสร้างเป็นซีรีย์กระโหลกกระลาได้เรื่องหนึ่ง
แถมยังทำออกมาได้ดี แม้กระแสบ้านพี่จะไม่ค่อยตอบรับกับซีรีย์เรื่องนี้เท่าไรนัก
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลก ซีรีย์ติดลมบน ตัวเองกลับไม่ค่อยชอบ
แต่พอซีรีย์ค่าเฉลี่ยความนิยมต่ำๆ กับรู้สึกดีกับมันเสียเหลือเกิน
แสดงว่าเรืองทัศนคติโดยรวม ไม่อาจเป็นตัวตัดสินในสิ่งเร้าให้ถวิลต่อการดูได้ทุกเรื่องไป
เหมือนกับซีรีย์แห่งปีเรื่องนี้ ก็มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่หลักหน่วยเดียว แต่หน่วยเดียวนี้
กลับเป็นซีรีย์ที่หนึ่งในด่วงใจประจำปีนี้ไปสักได้.................กับซีรีย์ที่ชื่อว่า
Orthros no Inu


Orthros no Inu เป็นซีรีย์ที่ว่าแนว Supernatural คือ เหนือธรรมชาติมาผสมกับลูก Suspense Thriller
ตามแนวสืบสอบสองสวน หรือที่เรียกว่า สืบสวนสอบสวน จากค่าย TBS
ซึ่งทีวีค่ายนี้ คงกะเอามาชนกับซีรีย์แนวสืบสวนของค่ายฟูจิที่ออกมาอย่างยัวเยียะ ไม่ว่า
Boss , Voice ,Lair Game เป็นต้น โดยส่วนตัวเข้าใจว่าซีรีย์เรือ่งนี้เจาะตลาดคนดูด้วยกันหลายกลุ่ม
อย่างง่ายเลย ก็มีดารานักแสดงนำที่น่าจะรู้จักกันดีในบ้านเรา เอาแค่ละครสามตัวหลัก
คนแรก พ่อหนุ่มทักกี้ ทากิซาวา ฮิเดอากิ แค่คนนี้สาวเจ้าและหนุ่มเดี๊ยนคงเคยได้ตามกรี๊ด
จากหลายซีรีย์ที่ได้นำมาฉายในทีวีไทยบ้านเรา อย่าง Forbidden Love ,
สามหนุ่มขนมหวานกับร้านเก๋ Antique และ Strawberry on the shortcake
ส่วนพ่อรูปหล่ออีกท่าน คือ นิชิกิโด้ เรียว พ่อคนนี้เคยรับบทบ๊อบปี้เลิฟของอายะ
ในบันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร ไอ้หมอนี้จับตัวให้ใส่สูท ปัดผมนิดหน่อย ดูดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วนดาราสาวที่คนไทยน่าคุ้นตาบ้าง เพราะเจ๊โผล่มาตั้งหลายเรื่อง
อย่าง มิซูกาว่า อซูมิ อย่างซีรีย์เข้าฉายเมืองไทย ก็บานเปรอะทั้ง ไซอิ้ว Team Medical Dragon
ทั้งสองภาค ไหนจะสีไวโอลิน ในโนดาเมะอีก



ลำดับที่น่าสนใจต่อมา เป็นประเด็นในเรื่องสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ
ที่ไม่จำเป็นต้องบนบานเพื่อขอเลขเด็ด ก็สามารถลุ้นระทึกไปกับมันได้
เป็นพลังเหนือธรรมชาติเชิงบุคคล ที่ไม่ปรากฎในอภิญญา ๖ อันเป็นคุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคล
ในทางพุทธศาสนา ที่ว่าด้วย บินได้ล่องหน หูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติ อ่านใจและสิ้นอาสวะ
แต่ว่าด้วยเรื่องความเป็นปฎิภาคลักษณะเฉพาะบุคคลของพ่อสองหนุ่ม
เมื่อพี่ทักกี้ขอเปลี่ยนบทบาทตัวเองมารับบทเป็นตัวร้าย อย่าง ริวซากิ ชินจิ
ซึ่งร้ายของเขา ก็เหมือนสวรรค์แกล้งให้ต้องมีพลังของหัตถ์เทวะ (God Hand)
มือที่สัมผัสกับใครก็มีอนุภาคให้คนๆนั้นหายป่วยโดยฉับพลัน จากอาการบาดเจ็บทั้งหลายแหล่
ไม่ว่าเเผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลผุพอง เป็นหนองโดยไม่ต้องพึ่งโทนาฟ
(คล้ายกับหนังญี่ปุ่นเรือ่ง Kids ที่มีเจ้าเทปเป้หน้าหวาน ที่เล่นรักษาคนเพ่นพาน ไม่เหมือนกับซีรีย์เรือ่งนี้
ที่จะรักษาใครก็คัดแล้วคัดอีก)
ขณะที่บทตัวพ่อคนดีอย่าง อาโอกิ เรียวสุเกะ ที่รับบทโดย นิชิคิโด เรียว
ดีของเขาเหมือนนรกแกล้งให้ต้องมีพลังของหัตถ์ยมฑูต (Demon Hand) มือที่สัมผัสกับใครก็มีอนุภาคให้คนๆนั้น
ตายโดยฉับพลัน ไม่ต้องทรมานยื้อดูใจแบบโกโบริกับอังศุมาลิน ที่กว่าจะตายกินเวลาไปตั้งสองตอน
ส่วนอซูมิ นางเอกของเรื่อง (และของผม) เป็นตัวกลางในฐานะที่เจ๊แกรับบทตำรวจนักสืบสาวจอมห้าว
รับรู้ปรากฎการณ์พิเศษของคนทั้งสอง ขณะเดียวกันก็ต้องหยุดเจ้าพวกกลุ่มผู้หวังผลประโยชน์
จากพลังงานอำนาจของคนทั้งสอง ซึ่งก็มีทั้งหัวหน้าซีไอเอของญี่ปุ่นที่ต้องการหัตถ์ยมฑูต
เป็นเครื่องมือในการลอบสังหาร และรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ต้องการหัตถ์เทวะ เพื่อสร้างฐานะคะแนนเสียง
เพื่อให้ตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คนที่น่าจะเหนื่อยที่สุดเห็นจะเป็นพี่ทักกี้ ผู้มีหัต์เทวะรักษาโรค
เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องการใช้หลักประกันสังคมหรือบริการสามสิบบาทรักษาทุกโรค
ตราบใดที่ "อโรคา ปรมา ลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
แต่คนที่ประเสริฐคงหายาก ที่จะไม่หาหัตถ์เทวะจากพี่ทักกี้ของเรา ผู้คนส่วนใหญ่จึงแสดงความเห็นแก่ตัว
ขอเพียงเพื่อให้พี่ทักกี้ ได้สัมผัสรักษา ไม่ว่าจะเพื่อตนเองหรือคนที่เขารัก แต่อย่างว่าพี่ทักกี้ผม
เล่นเป็นตัวร้าย เรื่องที่จะให้รักษาฟรีๆตามสไตล์พระเอกมาดแมน คงทำไม่ได้ บทก็บอกอยู่แล้ว
ว่าพี่เขาเล่นเป็นตัวร้าย เหมือนที่พี่ทักกี้ป่าวประกาศอยู่ป่าวๆว่า
"คนที่จะรับบทเป็นพระเจ้า ยอมต้องเป็นคนที่ไร้หัวใจ" (แต่หัวใจพี่ดูจะเอียงไปหาน้องอาซูมิจังเลยนะ)



ความยอดเยี่ยมของซีรีย์เรือ่งนี้
อยู่ตรงที่ การถกเถียงในประเด็นเนื้อหาเรื่องศีลธรรมของความเป็นมนุษย์ปถุชน
ภายใต้อำนาจเชิงลึกลับที่ไม่ปกติจนสามารถแปรเปลี่ยนจิตใจคน ในสมมติฐานด้านศีลธรรมในขั้นพื้นฐาน
โดยฝ่ายหนึ่ง คือ พี่ทักกี้ของผม เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว
ประมาณว่า ตอนที่อยู่ในคุก คงได้อ่านงานเขียนของ Thomas Hobbes มาบ้าง
ในขณะที่คุณครูเรียว กลับเห็นต่างไปว่า โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เป็นคนดี เพียงแต่ถูกกระตุ้นจากกิเลส
ไปในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งโดยสภาพบุคคลแล้ว ทุกคนปรารถนาที่จะเป็นคนดีด้วยกันทั้งน่าน
ถ้าน้องเรียวของผมคิดเช่นนั้น แสดงว่าก่อนได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู คงได้อิทธิพลในงานเขียน
ของ John Lock มาบ้างเช่นกัน จากนั้นแรงกระตุ้นหรือพลังในสิ่งเร้า ล้วนถูกกระทำตามทัศนคติ
ความคิดเห็นและอุดมคติที่เชื่อไปตามนั้น อันสอดคล้องการกำหนดฤทธิ์แห่งอำนาจวิชาของตัวละคร
ที่ปรารถนาให้คนนั้นๆ จะอยู่หรือจะไป แม้จะผ่านการสัมผัส แต่ก็ต้องควบคู่กับสัมปะชัญญะ
ที่ประสงค์ไปตามความคิดนึกของผู้เป็นเจ้าของหัตถ์แห่งพระเจ้า


นอกจากนี้ ฉากเริ่มเรื่องก็น่าสนใจไม่หยอก
เพราะดูปัจจัยเชื่อมโยงแวดล้อม แลจะสะเปะสะปะจนปะติดปะต่อเนื้อเรื่องไม่ถูก
พี่ทักกี้อยู่ดีไม่ว่าดี ไปโผล่อยู่คุกที่เป็นกระจกกั้นพิเศษรอบด้าน อันใกล้วันประหารหลังจากติดมาเป็นปีที่สิบแล้ว
จากคดีฆ่าคนบริสุทธิ์ไปตั้งสามศพ น้องเรียวก็ไม่ว่าดีเช่นกัน อยู่ๆเดินลุยฝนโท่งๆไปมอบตัวถึงโรงพัก
บอกเเต่เพียงว่า เพิ่งจะฆ่าคนตายไปมาดๆ แล้วกล้องไปแพนไปที่เครื่องรางของคนทั้งสอง
ดูไปก็เครียดไป เหมือนว่าจะดีหน่อย เมื่อน้องอซูมิโผล่เข้ามาในฉาก แต่สุดท้ายก็กลับมาเครียดอีก
เพราะคุณน้องในเรื่องอายุแค่ ๒๖ ดันมีลูกสาวกระเตงๆอายุประมาณ ๓-๔ ขวบ
(รับบทโดย หนูคูมาดะ เซอะ เล่นดีขอบอก) แต่สุดท้ายก็หายเครียด เพราะมาเจอเด็กดริ๊ง
ซึ่งเป็นศิษย์สาวของครูเรียว วัยกำลังน่าคบหา ที่ชื่อ ฮารุ (เล่นโดยชิราคาวา คานา)
รับรู้เหตุการณ์ว่ามีการค้ายาและฆาตกรรม หนึ่งในมิจฉาชีพนั้น
เป็นลูกของมหาเศรษฐีผู้ผลิตยา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้กับรมต.สาธารณสุข
เป็นไงละครับ เห็นความซับซ้อนของเนื้อเรื่องอะยัง แต่ยังไม่หมดเท่านี้
ยังมีไอ้อ้วนทำตัวผีเข้าตลอดทั้งเรื่อง ที่แว้บไปวนมาในทุกๆตอน ไอ้หมอนี้ดันกำความลับสำคัญ
ของเรือ่งสักอีก แรกๆอาจรำคาญมันหน่อย แต่ทนๆเจ้านี้ไปสักนิด เพราะสุดท้ายจะนำพาไปสู่
การคลี่คลายเรือ่งทั้งหมดที่เป็นภูมิหลัง ว่าทำไมทักกี้ของผมถึงเข้าคุก ทำไมพระเอกทั้งสอง
ถึงมีพลังของหัตถ์พระเจ้า ทำไมทักกี้ถึงอยากแหกออกจากคุก ทำไมๆและทำไม
บอกได้เลยว่า เนือ้เรื่องสมเหตุสมผลเพราะถูกวางเงื่อนปมอย่างฉลาด ไม่เหมือนซีรีย์หลายเรื่อง
ที่คิดอะไรไม่ออก ก็เอาตัวละครตัวนั้นตัวนี้ มาจับยัดใส่เฉยเลย!



แถมซีรีย์นี้ยังทำเก๋ โดยการย้อนอดีตผ่านภาพของการ์ตูนอนิเมทชั่น
จึงทำให้เรื่องที่ดูเกินเลยความจริงในอดีต ดูมีความสมเหตุสมผลเป็นที่น่ายอมรับในปัจจุบัน
แบบที่มีการนำไปใช้ในเรื่อง Kill Bill อีกทั้งในซีรีย์ยังมีส่วนผสมจากอิทธิพลของหนัง
หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าตอนในคุก แบบ Silence of the Lamb การวางระเบิดโรงพยาบาล
ในแบบ 24 แต่ทั้งหมดเป็นเพียงลูกเล่นที่จะนำเสนอในเรื่องเดินต่อไป ด้วยเทคนิคแบบผสมผสาน
เพราะใจกลางของหลักจริง คือ การถกเถียงถึงในแง่คุณธรรม แบบที่เราเคยเห็นใน DeathNote
ว่าคนๆนี้ สมควรจะถูกบันทึกรายชื่อให้มีอันเป็นไปรึไม่? ซึ่งตรงจุดนี้ผมว่ามันดีกว่า DeathNote
เพราะใน Orthros no Inu ดูจะจริงจังและมีความเป็นไปได้ โดยไม่มีเรื่องความหลงใหลในอำนาจวิชา
ด้วยทั้งสองต่างก็อยากจะสลัดอำนาจในฝ่ามือทิ้ง แล้วไปใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขเหมือนคนธรรมดา
โดยจุดแห่งการถกเถียงศีลธรรมของอำนาจที่อาจจะเป็นอาวุธนี้ ทำให้ผมคิดถึงการสนทนาของ
โสเครตีสกับยูไทโฟรที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงก่อนคริสตกาล
แต่ถึงกระนั้นก็ขอติหน่อยเถอะ ไอ้ประเภทจะเอามือพิพากษาใคร แล้วพี่ค่อยๆเอื้อมไปหา
อันนี้เดาทางง่ายไปหน่อย บทที่พี่จะหวังให้สัมฤทธิ์ผล ดูเหมือนพี่จะไม่รอช้า แตะเป็นแตะ
แต่ประเภทที่หลอกคนดูว่า จะทำแต่ไม่ทำ ถ้าง้างเกินห้าวิเมื่อไร ทายได้เลยว่า
เดี่ยวต้องชักมือกลับ แล้วก็เป็นจริงตามคิด แต่แน่นอนว่าทั้งหมดนี้แล้วแต่พระประสงค์ของพวกพี่
แม้จะมีกลุ่มผู้หวังประสงค์จากอิทธิฤทธิ์นี้ บันดาลให้พวกพี่เล่นบทเป็นพระเจ้า แต่อย่างที่พวกพี่บอก
เราจะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของ "ผู้ถูกเล่น" มากกว่าเป็น "ผู้กำหนดเกมส์" ให้คนอื่นเล่นเสียเอง
บอกเเค่นี้ ก็ทำให้ตอนที่เหลือดูท่าจะสนุก และน่าติดตามเสียนี้กระไร




จึงมิใช่ซีรีย์ที่ขายฉากแอคชั่น หรือขายมนต์เสน่ห์ของนักแสดงแบบที่เคยเห็นในงานชิ้นก่อนๆ
(แม้จะยังพอมีบางเถอะ) แต่เป็นการก้าวข้ามที่มุ่งขายประเด็นของเรื่อง
และเป็นความท้าทายในการพลิกบทบาทของตัวละคร ในแบบเดิมๆ ที่เราเคยได้เห็นกันมา
สูตรผสมระหว่างเทพปกรนัมของกรีกมาผูกเรือ่งกับนิทานปรำปราพื้นบ้านลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
อ่านการให้สัมภาษณ์ในการรับเล่นบทในซีรีย์เรือ่งนี้
ไม่ว่าจะเป็นพี่ทักกี้ก็ดี หรือน้องเรียวของใครๆก็ตาม ก็รู้สึกกระหายที่จะเล่นเมือ่ได้อ่านบท
ถึงแม้ว่า..........บทบาทในการแสดงจะไม่ได้พลิกชนิดเป็นคนละคน
อย่างที่เห็นน้องโนดาเมะอยู่ๆ ก็ไปเล่นเป็นสาวทอมใน last friend หรือตาชินโงะ ที่เคย
เป็นหงอคงจอมโวยวาย อยู่ๆก็กลายเป็นพ่อพระใน the Flower without a roes
แต่น้องอซูมิ ดูจะเด่นเป็นพิเศษในฐานะบทตำรวจสาวลูกหนึ่ง ที่ต้องแบกรับทั้ง
คดีฆาตกรรมที่มีอาวุธเป็นมือพระเจ้า ไหนจะลูกสาวผู้มีอาการหอบหืดแต่กำเนิด และเจ้าสามี
ผู้ใส่ใจแต่การค้นคว้าหัตถ์เทวะเพื่อสกัดเป็นตัวยาโดยไม่สนสิ่งใด แต่กระนั้นก็กลับมีตัวละครที่เล่นได้
เหนือตัวเอกสักอีก (ตามผมคิดเอานะ) คือ ตัวรมต.สาธารณสุขผู้ใฝ่สูงจะเป็นนายกฯ
ที่เล่นโดย อซึโกะ ทากาฮาตะ ด้วยเจ๊เล่นได้ปานประหนึ่งเคยได้เป็นรัฐมนตรีก่อนจะผันตัว
มาเป็นนักแสดง แถมยังสามารถทำตัวไหลตามน้ำ ปลิ้นปล้อนหลอกลวงยังกะเคยเป็นสส.มาหลายสมัย
แม้เดิมจะมีอาการของโรคหัวใจวายก็ตาม แต่พอรู้พี่ทักกี้มีพลังวิเศษ ก็ชักเอาใหญ่
จากที่ไม่เคยชอบสไตล์สาวใหญ่มาก่อน สามารถทำให้ผมติดใจและถวิลหน้าเจ๊ในเกือบทุกตอน
แม้ว่าซีรีย์เรื่องนี้จะสั้นเพียง ๙ ตอนก็ตามที ส่วนอีกคนที่เล่นโรคจิตใช้ได้ คือ
คนที่เล่นเป็นหัวหน้า CIA ที่เล่นโดย คุราโนะสุเกะ ซาซากิ คนนี้เห็นออกบ่อยเพราะเล่นเป็นหมอใน
Medical Dragon และ ดร.สติเฟื่องผู้สร้างหุ่นไซบอร์กใน Zettai Kareshi
ที่เหลือก็ได้แต่ภาวนา อย่างที่ครั้งหนึ่ง เคยอยากเห็นลุงอาเบะเล่นเป็นยากูซ่า ก็ได้เห็นจริงใน
Shiroi Haru ตอนนี้ชักอยากเห็นลุงซาซากิ เล่นเป็นไอ้โรคจิตในซีรีย์สักเรื่อง อันนี้ผมจะตั้งตารอนะลุง



ถือเป็นซีรีย์ที่ใช่คนเขียนบทเปลืองที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะเข็นนักเขียนกว่า ๕ ชีวิต
โดยปกติแล้ว การใช้จำนวนนักเขียนบทขนาดนี้ โอกาสที่โครงเรื่องจะไม่มีเอกภาพ
จึงเป็นไปได้สูง ถึงกระนั้นก็แทบจะไม่รู้สึก ยังคงไหลลื่นไม่ออกลูกลอยทะเลเท้งเต้งแต่อย่างใด
กลับทำให้เนื้อเรื่องดูยังคงน่าสนใจ และยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงใกล้จบตอน
และมีบทจบ ที่ผู้ใหญ่ยังเราเห็นแล้วยังรู้สึกอาย (อายยังไงก็หาดูเอาละกัน)
แต่กระนั้น ซีรีย์ยังทิ้งท้ายให้มีโอกาสสร้างต่อ เพราะมีการแอบสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือด
เพียงแต่ว่า ซีรีย์ไม่ได้เล่าเรื่องต่อจนจบ ก็เหมือนกับซีรีย์อีกหลายเรื่องที่ทิ้งไว้ค้างๆคาๆ
แม้แต่กว่าจะเข้าใจชื่อ Orthros no Inu ก็ต้องรอถึงท้ายเรื่อง จึงจะร้อง "อ้อ"
ว่าแล้วทำไมชื่อมันคุ้นๆหูจัง ที่แท้ก็เป็นชื่อ สุนัขสองหัวในโลกยมฑูต ซึ่งตัวละครนี้
ในการ์ตูนเซนต์ เซย่า เคยนำมาใช้เป็นหนึ่งในนักรบชุดเกราะ ที่เป็นสมุนฮาเดสตัวร้ายของเรือ่ง
เป็นซีรีย์ที่ชูเชิดจิตสำนึกของความเป็นมนุษยนิยม ที่รู้จักผิดชอบชั่วดีอย่างมีมโนสำนึก
อย่างตัวละครที่เปิดตัว ดูเหมือนว่าจะร้ายมาแต่ท้องพ่อท้องแม่
แต่เมือ่ได้เีรียนรู้ต่อความผิดพลาดและเกิดสำนึกผิดในสิ่งที่ได้ก่อขึ้น
ทุกคนต่างก็ให้อภัย และพร้อมรับการปรับปรุงตัวเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
แม้แต่บทตัวละครที่ว่าเลวที่สุด ก็เป็นความเลวภายใต้ในแนวคิดของโลกพระศรีอาริย์
ที่ปรารถนาให้สังคมอยู่ภายใต้กรอบกติกา เพราะหมดศรัทธาต่อสภาพสังคมปัจจุบัน
ที่กฎหมายเอื้อไปไม่ถึงและลดทอดความศักดิ์สิทธิ์ จนต้องพึ่งหวังฤทธิ์บันดาล
แม้ฉันทามติของคนในสังคม จะส่งมอบอำนาจให้ผู้ปกครองได้มีอาญาสิทธิ์เหนือผู้ใต้ปกครอง
แต่ผู้ปกครองนั้น ก็ปรารถนาต่ออาญาสิทธิ์ที่เหนือธรรมชาติ เพื่อหลุดพ้นจากสภาพข้อกล่าวหา
นำมาสู่สิทธิธรรมพิเศษ ที่เหนือกรอบของปถุชนพึ่งมี คือ หายป่วยไข้และตายอย่างสงบ
อันเป็นกรอบของความคิดเชิงอัตตา โดยไม่ได้หันกลับมามองว่า ผู้ให้จะสิ้นอนันตาด้วยต้องแบกรับ
ความรู้สึกผิดจากพลังอำนาจที่เขาไม่พึ่งปรารถนาตั้งแต่กำเนิด



ลองนึกในมุมกลับเ่ล่นๆ ถ้าคุณสมบัติของพลังอำนาจพิเศษสอดรับกับจริตพื้นฐานของตัวละคร
ถ้าพี่ทักกี้ตัวร้ายในเรื่อง ดันไปมีหัตถ์ยมฑูต ส่วนน้องเรียวคนดีของใครต่อใครกลับไปได้พลังจากหัตถ์เทวะเอา
สถานการณ์ของเรื่องราวจะเป็นอย่างไร แค่คิดก็อลหม่านอยู่ไม่น้อย
เพราะอุดมคติในจิตสำนึกของตัวละครดันสอดคล้องต้องประสงค์ กับอำนาจที่จะดลบันดาลชีวิตใครต่อใคร
เท่ากับว่าตัวตนของเหล่าตัวละครเอก จะไม่สามารถพิจารณาปัจจัยในจิตใจของอีกฝ่าย ในฐานะที่ต่างฝ่ายลุ่มหลง
พลังอำนาจที่ตรงกับจริตของตน หาได้ทุกข์ทรมานจากอำนาจวิเศษที่ไม่สอดรับต่ออุดมการณ์
กลายเป็นว่าปฏิภาคแห่งอำนาจของหัตถ์แห่งพระเจ้า เป็นตัวสร้างสมดุลให้บังเกิดสติและสัปชัญญะ ที่ช่วยดึง
มิใช่ตัวละครแต่ละฝ่าย มุ่งเน้นการกระทำอันมีผลผูกพันต่อภารกิจที่ต่างก็ต้องรับ
ผิดชอบร่วมกัน ในฐานะที่มีอำนาจเยี่ยงพระเจ้า แต่กลับมีหัวจิตหัวใจของความเป็นมนุษย์อยู่



ถึงจะเป็นซีรีย์ในดวงใจ อย่างไงก็ขอมีสองแขนปกติแบบมนุษย์มนาไว้ทำมาหากินโดยสุจริต
ดีกว่านะพี่น้องงงง...... ........
.



รำลึกได้จาก
//wiki.d-addicts.com/Orthros_no_Inu
//forums2.popcornfor2.com















 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 10 ธันวาคม 2552 22:04:45 น.
Counter : 3075 Pageviews.  

101 ตื้อรักนายกระจอก (101 Marriage Proposal )




ชั่งใจที่จะเขียนซีรีย์เรื่องนี้พอสมควร
แม้ที่จริงแล้ว มีความประสงค์แค่จะบอกเล่ามาเนิ่นนาน แต่ยิ่งช้านานปีไปยิ่งจะเข้าตัว
เพราะทุกวันนี้ ให้ขืนบอกไปก็มีแต่จะเจ็บช้ำ ประมาณว่าช้ำทั้งจากการรู้ซึ่งอายุขัย
ช้ำอีกหนึ่งถึงทรวงใน ว่าครั้งหนึ่งผู้เขียนเองก็ติดซีรีย์น้ำเน่าประโลมโลกอยู่เช่นกัน
แต่อย่างไรเสีย ขอสักครั้งเถอะที่จะได้บรรยาย เผื่อต้องเลือกในเส้นทางการดูตัว
อันเป็นหนทางเลือกสุดท้าย ด้วยเหตุแห่งการไร้น้ำยา จะได้มีซีรีย์เรือ่งนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ดีๆ
ว่าผู้ชายดีๆก็พยายามที่จะมีคู่ แม้แต่พลาดการดูตัวมาตั้ง ๙๙ ครั้ง แล้วก็ตาม



ซีรีย์ทีว่านี้ ชื่อ 101st Marriage Proposal
หรือชื่อที่ทางช่องห้าสนามเป้าเคยตั้งเอาไว้ว่า ๑๐๑ ตื้อรักนายกระจอก
ซีรีย์ที่ต้องกล้าเอ่ยปากว่าแสนจะน้ำเน่า แต่ว่าเน่าตามสมัยนิยม
เพราะเป็นซีรีย์ที่เคยถูกสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้วนำเข้ามาฉายทางช่อง ๕
ในช่วงหัวค่ำ ยังจำได้ถึงความชอกช้ำ ที่ตอนจบอวสาน แม้ทางสถานีไทย
ต้องเลื่อนการฉายแล้วฉายอีก ด้วยติดปัญหาโลกแตกแบบไทยๆจำพวกรายการเฉพาะกิจ
เห็นสัญลักษณ์นี้ขึ้นหน้าจอเมื่อไร เข้าใจได้เลยว่าหมุนเปลี่ยนไปช่องไหน ก็หนีไม่พ้น
จนจะอวสานชาวบ้านให้ได้ปรีเปรมกัน ก็เล่นเอาน้ำตกน้ำตาไหลกันกระเจิง
ด้วยความที่เป็นซีรีย์ที่วางพล็อตเรื่องง่ายๆ ตามคอนเซ็ปต์ดีสนีย์ประเภทนิทาน
โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ที่เล่นเอากันถึงตาย โดยเฉพาะใครที่ได้ลุ้นตามเชียร์
ตาคุณพี่ "โอชินะ ทัตสึโระ" (ที่เล่นโดยทาเคดะ ทัตสึยะ ทุกวันนี้ลุงเขาก็ยังวังวนอยู่ในวงการ
ล่าสุดเห็นโผล่ในซีรีย์เรื่องBoss แม้แค่มารับบทเชิญเป็นคนร้าย ซึ่งก็ได้เจอพี่ยุกาตะที่หายหัว
ไปนานอีกเช่นกัน) กับบทก็แสนจะเป็นสามัญชนระดับล่าง ทำงานเป็นพนักงานบริษัทก่อสร้างต๊อกต๋อย
ชอบเอ่ยปรับทุกข์เสมอกับไอ้น้องชายผมยาว "ยูกูชิ โยสุเกะ" (รับบทโดย โฮชิโนะ จุนเป ที่ตัดผมสั้น
เล่นซีรีย์เรื่อง Unfair จนเกือบจำไมได้) น้องชายมันก็ช่างเจนโลก แนะแต่ละอย่างให้พี่มัน
ประเสริฐๆ ทั้งน่าน ก็มันน่าอยู่หรอก น้องชายเฮียออกจะเจ้าเสน่ห์ ผิดกับดีเอ็นเอของพี่ชาย
ทั้งซื่อ ทั้งเซ่อ อยู่ไม่หล่อ แถมยังเตี้ยติดดินอีก ได้ฟังรายการวิทยุ ชวนคิด-ชวนคุย
ถึง ๓ คอนเซ็ปต์ของสาวญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นต้องมีส่วนสูงประมาณ ๑๗๕ ซม.
ต้องบอกว่าเฮียทัตสีโระเรา ตกรอบตั้งแต่เนิน่ๆ มีที่ไหนเห็นนางเอกครั้งแรกในงานดูตัว
ยังหาว่าสาวเจ้าคงเป็นกระเทยแปลงโฉม ช่างดูถูกน้อง (ที่ตอนนี้คงเป็นป้าผมได้แล้ว) "ยาบุกิ คาโอรุ"
(เล่นโดย อซาโนะ อซึโกะ ที่ลาวงการไปพักหนึ่งเพื่อไปแต่งงานจริง ตอนนี้กลับมาปิ๊งปั๊งในวงการอีกครั้ง)





ในเรื่องทำท่าว่าการดูตัวครั้งที่หนึ่งร้อย คงไม่คล้อยที่จะรับแห้วรับประทานในท้ายรายการ
เรือ่งของดูตัว ทุกครั้งไป เขาก็เล่นงัดเอาจุดดี-จุดเด่น ให้สาวเจ้าเขาประทับจิตประทับใจ
แต่สิ่งที่พี่แกเล่นมาเสนอ ดันเอาส่วนด้อย-ปมพิการ มาประเคนให้สาวเจ้า ซึ่งใครเขาจะเอาไปทำผัว
แต่ดีว่าน้องนางเอกคาโอรุ แม้สกุลรุนชาติจะเกิดมาดี เป็นนักดนตรีระดับ orchestra
ชายหล่อหน้าตาดีนั้นก็ตามจีบกันเป็นพรวน แต่อย่างว่า เล่นเจอลูกตื้อสลับกับทำคะแนนสงสาร
เอะอะเฮียพระเอกแกก็ขายตัวเลขสถิติของการดูตัว ๙๙ หน ยังโสดตลอดเส้นทางอย่างงี้
แม้น้องนางเอก จะพยายามให้กำลังใจเชิงบ่ายเบี่ยง ประมาณว่า
"ที่ผ่านมา เจ๊แม่สาวเหล่านั้นตาไม่ถึงบ้างละ" "จงอย่ายอมแพ้บ้างละ"
พูดไปก็เหมือนเข้าตัว หันมาสำรวจใจตัวเอง แท้จริงก็คิดไม่ต่างจากแม่สาวเหล่านั้นเท่าไร
สุดท้ายก็เกริ่นพูด แบบให้กำลังใจพี่พระเอก ว่าบางทีเราทั้งสองอาจเข้ากันดีก็ได้
แต่ไม่ได้หมายความว่า ตูจะรับปากคำมั่นมรึงนะ ประทานโทษ!
พี่พระเอกของเรา คิดเป็นตุเป็นตะ เป็นอื่นเป็นไกลและเป็นจริงเป็นจังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"แล้วผมจะรอรับโทรศัพท์จากคุณนะครับ" พี่พระเอกเราโยนระเบิดทิ้งท้ายก่อนลา
"ซวยละสิตู" เป็นประโยคเสียงอ่อยๆ จากน้องนางเอกคาโอรุ ชนิดที่เจ๊ก็ไม่ทันตั้งตัว



ในการดูตัวแบบที่คิดเลยเทิดเป็นจริงเป็นจังถึงขั้นจะแต่งงาน ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า omiai
ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นไปเสียแล้ว ได้ฟังอ.สุวินัย เล่าว่า
ด้วยสภาพสังคมเชิงการแข่งขันอย่างรุนแรง คนญี่ปุ่นจึงพยายามที่จะมุ่งมั่น
ต่อวิถีครรลองในระบบสังคมที่ถูกวางรูปแบบเป็นที่เรียบร้อย ปลดปล่อยพลังงานทั้งหมด
ไปที่สิ่งที่รับผิดชอบเบือ้งหน้า ถ้าเรียนก็ต้องเรียนให้ติดอันดับมหาลัยชื่อดัง
หาได้ทำงานก็ต้องทำงานในบริษัทใหญ่ อุทิศชีวิตให้กับกลุ่มในสังกัดแบบถวายหัว
พอมารู้สึกอีกที ก็ตายละหว่า! หน้าที่การงานก็เพียบพร้อมแล้ว ไง!ชายหนุ่มอย่างเรายังโสด
อีกละเว้ย แต่ช้าก่อน! ไม่ได้มีเฉพาะชายโสดอย่างเราเท่านั้น สาวเจ้าก็เป็นกัน
ธุรกิจการนัดเดท-หาคู่ จึงไม่เคยจางหาย ตราบจนถึงปัจจุบัน
เรื่องแบบนี้ จึงมีปรากฎทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายโฆษณา รายการทีวี
เว็บไซด์ ไปจนถึงธุรกิจหาคู่ จำกัดมหาชน เห็นบ้านเราที่มีประเภทชิงสุกก่อนหาม
ก็ไม่รู้ว่าตกลงมาจะดีหรือร้ายกันแน่...........คงต้องมองเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมไป



ถือเป็นซีรีย์สุดฮิตเรือ่งหนึ่งของทางค่าย ฟูจิทีวี
ที่ค่าเฉลี่ยเรตติ้งสูงประวัติการณ์ ที่ ๓๖.๗ ลากยาวไปกว่า ๑๒ ตอน
เป็นซีรีย์ที่ช่วยปลุกกระแสยุคทองของคนทำทีวี และปลุกให้คนที่คิดว่าตัวเองหน้าตาไม่ดีให้มีความหวัง
สำหรับการนำมาฉายในเมืองไทย ก็ถือว่าเป็นซีรีย์แห่งความทรงจำอยู่เหมือนกัน
ที่ดูจะถามใคร ใครก็พอนึกออก แม้จะบอกว่าคนที่พระเอกหน้าตาเหมือนหม่ำ จ๊กมกใช่ไหม?
(ซึ่งตอนนั้น ตาหม่ำแกยังไม่แจ้งเกิดเลยเพ่)
นึกถึงยุคหนึ่ง ที่ยังดูหนังชื่อ ชิริ ที่ยังเป็นหนังทางเลือกคนดูจากประเทศเกาหลี
พอตอนนั้นได้สร้างทัศนคติที่ดี ที่พระเอกประเทศนี้ไม่จำเป็นต้องหน้าตาหล่อเหลา
ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจที่จะเข้าสู่วงการนอกประเทศ แต่ใครจะเชื่อว่าเมือ่อุตสาหกรรม
หนังเกาหลีตีตลาดทั่วเอเชีย แม้แต่พื้นที่ให้คนหน้าตาดีแต่กำเนิด ถ้าไม่ผ่าน
อาคมจากมีดหมอศัลยกรรม ก็ยากที่จะเข้าทวารวงการบันเทิงเมืองโสมได้อย่าง
สนิทใจ
กับมาที่เรื่องเราดีกว่า ซีรีย์ได้มุ่งทางพล็อกเรื่องประเภทดอกฟ้ากับหมาวัด
มันสอดรับได้ดีกับวัฒนธรรมการชมละครแบบไทยๆอยู่แล้ว แต่ญี่ปุ่นดีอย่าง
ที่ไม่เอามารีเมก กระทำชำเราซ้ำ ให้เหมือนกับละครไทยประเภท บ้านทรายทองหรือดาวพระศุกร์
ของเก่าเขาก็ทำมาดีแล้ว ยังซาบซึ้งตรึงใจตามยุคสมัย พอเอามาสร้างใหม่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ก็ดูจะอิหลักอีเหลื่อมอย่างไงชอบกล
ถึงทุกวันนี้ จะได้เอาซีรีย์กลับมาดูซ้ำ ก็ยังถือได้ว่าไม่ตกยุคตกสมัยสักทีเดียว
แม้ในช่วงตอนที่หนึ่งถึงหกนั้น อาจจะเผลอชวนให้คิดว่าเป็นซีรีย์ตลกโปกฮาประเภทพ่อแง่แม่งอน
โดยพระเอกของเราระดมใช้ยุทธศาสตร์ระดับบุคคล ประเภท "ตื้อเท่านั้นที่จะครองโลก"
แต่พอเข้าตอนที่เจ็ดถึงตอนสุดท้าย ก็ต้องถือว่าเป็นฉากเรียกน้ำตาเอาคืน
โดยเฉพาะเรื่องจังหวะจักโคน ต้องถือว่าผู้เขียนเขาเเม่นยำ กำหนดช่วงคนดูให้บิวอินตามเขา
พอมาดูรายชือ ถึงได้รู้ว่าเจ้าหมอนี้อีกแล้ว ที่ชื่อ โนจิมา ชินจิ
ที่ได้สร้างคำพูดโรแมนติกมัดใจสาวเจ้าให้พี่พระเอกทัตสึ กล้าพูดจนอยากลองไปใช้กับสาวเจ้าในชีวิตจริง
"จากนี้อีก ๕๐ ปี ผมจะรักคุณ ไม่ต่างจากวันนี้" หรือฉากตอนจบที่เอาอุปกรณ์
ทางวิชาชีพมาใช้แทนแหวนหมั้น
ไหนจะทำตัวพุ่งให้รถสิบล้อชน เพื่อจะบอกว่ากลัวตายแต่ยังรักคุณ
ที่ท่าวันนี้ได้กลับมาดู ไอ้คารมประเภทนี้นำกลับมาใช้อาจโคตรจะรู้สึกว่าเชย
แต่ไม่รู้ทำไมเมือ่สิบกว่าปีที่แล้ว ถึงได้รู้สึกว่าพี่ทัตสีท่านนี้
แมนโคตรพ่อจัง!



ส่วนที่ช่วยเสริมให้ซีรีย์เรื่องนี้เป็นที่จดจำ
ก็ด้วยเพลงประกอบแบบใช่เลย ที่ว่า Say Yes ที่ช่วยกันเบ่งร้อง (ถ้าได้ดูตามคลิปYoutube)
โดยสองหนุ่มจงอยบอยแบนด์แบบดูโอ (เมื่อตอนนั้น) Chage กับ Aska ดังระเบิดระเบ้อไปพร้อมกับหนัง
ทุกวันนี้จะลากสังขารขึ้นเวทีที่ไหน เพลงSay Yes ก็ยังถูกขอให้เอามาร้องรำลึกรุ่นเคยหนุ่มเคยสาว
ว่าแล้วนัดบอดครั้งหน้าของเรา มันเป็นครั้งที่เท่าไรกันแล้วละหว่า? ........




ได้รำลึกจาก
-//www.jdorama.com/drama_2.htm
-//wiki.d-addicts.com/101st_Marriage_Proposal
-รายการชวนคิดชวนคุย คลื่นผู้จัดการ

ภาพจาก
//topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3652183/A3652183.html





 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 10 ธันวาคม 2552 21:28:18 น.
Counter : 3180 Pageviews.  

Galileo : Suspect X ฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ ก็ไม่อาจแก้ปัญหาชีวิตได้





เคยมีความรู้สึกต่อระดับความประทับใจ ในช่วงที่เวลาที่ห่างกันไหมขอรับ?
เป็นความรู้สึกที่เคยมีต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วพอมาอีกช่วงเวลาหนึ่ง
เราจะรู้สึกโหยหาต่อสิ่งๆนั้น โดยรู้สึกถึงระดับของคุณค่าที่เพิ่มขึ้น
หรือค้นพบในแง่มุมที่ได้ละเลย อันเนื่องมาจากการขาดแคลนข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอ
สิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้นกับเจ้าซีรีย์ที่ชื่อว่า Galileo ซีรีย์ทีเคยฉายในโทรทัศน์ไทย
เมื่อสองปีล่วงเลยมาแล้ว





Galileo เป็นคนละฉบับที่มีสองสาวสวยชาวไทยออกตามหาตัวตนยังต่างแดน
อันเนื่องมาจาก อีกคนโกงข้อสอบกับอีกคนถูกแฟนบอกเลิก แล้วยังไปงอนใส่กันที่ต่า'ประเทศอีก
แต่เป็น Galileo ฉบับซีรีย์แนวสืบสวนเชิงฟิสิกส์ ที่คิดว่าเด็กสายวิทย์
ถึงได้ดูก็ยังงงๆ ที่ว่าด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ที่อธิบายเสียฟังดูยุ่งยาก
เมื่อคดีฆาตกรรมปริศนาที่ทางกรมตำรวจญี่ปุ่น ไม่สามารถจะคลีคลายในรูปคดี
จึงต้องพึ่งพารองศาสตรจารย์ทางวิชาฟิสิกส์ ที่รักจะตามสืบเสาะให้ ในฐานะที่มัน
น่าสนใจมากกว่าที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ
งมงายในปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติของผู้ตาย ให้มาอยู่ในสมมติฐานที่เป็นจริง
ในฐานะความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถจับต้องและทดลองซ้ำ
จนในที่สุด ......ก็เป็นจริงตามข้อสมมติฐานนั้น ในแง่ความจงใจของจำเลย
ในการดำเนินแผนการเพื่ออำพรางคดี โดยมีใช้กลวิธีทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน




ตัวละครหลักๆในภาคซีรีย์ ที่ชื่อไทยว่า "ยอดอัจฉริยะไขคดีป่วน"
จึงมีเพียงสองท่าน คือ รศ. ยุกาว่า มานาบุ ที่เล่นโดย ฟุกุยามา มาซาฮารุ
ในฐานะนักสืบกาลิเลโอของเรื่อง (Galileo investigator)
ที่สนใจเพียงแต่การค้นคว้าและหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ยังถูกสร้างบุคคลิกให้น่าสนใจแก่สาวๆ ทั้งเก่งทางกีฬา ศิลปะและการทำอาหาร
แต่ก็มีจุดแย่ๆ ในด้านมนุษยสัมพันธ์ และติดกรอบในหลักวิชาจนเกินไป
ส่วนตัวละครนางเอกอีกท่าน คือ อุทสึมิ คาโอรุ ที่เล่นโดย ชิบาซากิ โค
เป็นตำรวจสืบสวนมือใหม่ ที่จิตใจทางวิชาชีพมุ่งมั่น แต่ไม่ค่อยประสีประสาต่อรูปคดี
ถือเป็นคุณหนูเจ้าอารมณ์ แต่ก็ปรับเปลี่ยนทัศนคติอีกด้านให้กับรศ.ยุคาว่าว
ให้มองเห็นสิ่งต่างๆนอกกรอบความเป็นวิทยาศาสตร์ให้ลงมาสู่ความเป็นมนุษยนิยม




ความจริงผมเคยละเลงซีรีย์เรื่องนี้เมือ่หลายเดือนก่อน
ในช่วงที่กระแสความบ้าเห่อทางวิทยาศาสตร์กำลังจี๊ดขึ้นเส้นสมอง
แต่เป็น "จี๊ด" ในแง่ความหวั่นเกรง ถึงภัยตามกรอบแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
ถึงขั้นเปิดตำราและแสวงหาสิ่งบันเทิง ที่เกี่ยวกับแนวไซ ไฟ หลายต่อหลายชิ้น
ซึ่งก็มีทั้งจริงบ้าง มั่วบ้าง ปะปนกันไปตามความหยิบฉวยสะดวกและแพร่หลาย
ซีรีย์ Galileo จึงเป็นหนึ่งสิ่งในการตอบสนองความบ้าเห่อส่วนตัว ในฐานะที่
เคยได้ยินชื่อเสียงและคำวิจารณ์มานาน ก็อาศัยการดูย้อนหลังเอาผ่านทางเน็ต
เป็นซีรีย์ที่ครั้งหนึ่ง เคยปรามาสเอาไว้ว่า..............


"ดูทีเดียวถึงสิบตอนรวด ล้วนไม่ได้เกิดจากตัวละครหลักของเรื่องแต่อย่างใดเลย
แต่เกิดจากปรัชญาวิพากษ์ ที่แอบซ้อน ชนิดที่ต้องขอกัดของจิก เจ้าความเป็น
"วิทยาศาสตร์" ในทุกๆตอน"






ถ้าอธิบายตามหลักการของรัฐบาลชวนเทอมสองแล้ว ก็ต้องบอกว่า
"เป็นไปตามหลักการ และยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการ"
ซึ่งข้อแย่ในตอนนั้น ก็คือ ความขาดแคลนในข้อมูลเบื้องหลัง อีกทั้งในแง่เชิงเปรียบเทียบ
ตามประสบการณ์ หลังจากที่ได้รับชมและพิจารณากับซีรีย์แนวใกล้เคียงกัน
แต่ทำได้ไม่ส่าแก่ใจ ไม่ว่าจะเป็น Mr.Brain , Voice, ,Unfair , Lair game
แม้ซีรีย์เทือกนั้น จะสนุกสนานดี แต่ก็ยังรู้สึกถึงความไม่ลงตัว ขาดๆเกินๆ
บางคำตอบก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร ถึงกระนั้น เจ้า Galileo ก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ
เพราะคุณพี่อธิบายเสียจน Over Suspected คือ เกินกว่าที่ฆาตกรจะสามารถอำพรางคดี
ด้วยระดับสติสตางค์เพียงนี้ มันเฉียดที่จะคว้ารางวัลโนเบิลสาขาฟิสิกส์ได้ไม่ยากเย็น
และที่สำคัญอีกด้าน คือ ภาคความเป็นดราม่าเข้มๆ ที่แทบจะไม่ปรากฎ เพราะหนักไปทาง
พ่อแง่แม่งอนและการตีโจทย์เสียเป็นส่วนใหญ่




แต่สิ่งเหล่านี้ ที่เคยเป็นข้อเสียในแง่ของประเด็นหลัก
กลับถูกนำมาแก้ไขใน Galieo ในโลกภาพยนตร์ ที่ใช้ชื่อว่า Galileo : Suspect X
ในฉบับที่แฟนพันธ์แท้ของ Galileo ซีรีย์ อาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ
ที่ชอบ อาจเพราะเป็นการยกระดับของการพัฒนาบทและตัวละคร (บางตัว) ให้มีมิติ
ในด้านอารมณ์ของตัวละครมากกว่าความวิจิตรพิสดารของรูปคดี ทุนสร้างที่หนาขึ้น
แง่ของโปรดักชั่นก็อลังการขึ้นเป็นกอง ส่วนที่ไม่ชอบ อาจเป็นไปได้ถ้าไม่นับตัวละครเดิมๆ
ที่เคยโลดแล่นในทีวี กลับมาสู่ภาพยนตร์อีกครั้ง ที่เหลือก็แทบไม่เหลือความเป็น
Galileo ซีรีย์ที่เราเคยได้ชมกันมา
บทบาทของตัวละครนักสืบสาวนัยน์ตาดุ อย่าง โค ชิบาซากิ ก็มีน้อยเสียจนน่าเคือง
ไม่นับตัวประกอบรองๆ ที่เล่นในตอน Galileo ซีรีย์ ที่มีให้อย่างกะปริดกะปรอย
หรือไม่ก็จางหายไป ด้วยความที่ฉบับหนังเริ่มต้นไขคดีปริศนา ที่ดูจะเรียกความสนใจของคนดู
เมื่อมีเรือเดินสมุทรจมพลิกคว่ำกลางทะเล โดยมีนักข่าวสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่
คาดคะเนเอาว่า การล่มครั้งนี้น่าจะเกิดจากอาวุธสงครามในกองทัพเพียงประการเดียว
แต่เชื่อไหมว่า คดีมหภาคนี้กลับเป็นคดีหลอกความสนใจของคนดู เพราะเอาเข้าจริง
เป็นเพียงคดีเปิดเรื่อง เพื่อจะแนะนำให้คนดูทำความรู้จัก รศ.อัจฉริยะกาลิเลโอ
อย่าง รศ.ยุกาว่า เท่านั้น ขณะที่คดีจุลภาค อย่างคดีฆาตกรรมภายในครอบครัวเล็กๆ
กลับเป็นเรือ่งราวหลักทั้งหมดของเรื่อง ครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง
ที่หญิงหม้ายที่อาศัยกับลูกสาวในอพาร์ทแมนเล็กๆ ถูกอดีตสามีเก่าตามรังครวญ
เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ความที่แม่ต้องปกป้องลูกจากอดีตสามี จึงเกิดการ
ป้องกันตัว จนมารู้สึกอีกทีอดีตสามีก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว
ชายผู้อยู่ห้องใกล้เคียง เมื่อได้ยินเสียงเข้าจึงรับปากที่จะช่วยอำพรางคดีนี้ให้
ซึ่งมาทราบอีกที่ว่า ชายคนนี้เป็นครูสอนคณิตศาสตร์เด็กมัธยม ที่ชื่อ เทซึยะ อิชิกามิ
(เล่นโดย ชินอิจิ ซึสึมิ ใน Always ทั้งสองภาค)
ที่มักจะไปแวะเวียนให้บริการร้านขายข้าวกล่องของหญิงหม่ายท่านนี้เสมอๆ
แต่เรื่องมันไม่ธรรมดาเข้า เพราะภูมิหลังความสัมพันธ์ของครูคณิตศาสตร์ท่านนี้
คือ อดีตนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันกับ รศ. ยุกาว่า
แต่ทว่า เรียนกันคนละคณะ เพราะ รศ. ยุกาว่า เลือกเรียนทางฟิสิกส์
คณะที่ครูท่านนี้ เลือกเรียนคณิตศาสตร์ แต่ประโยคการยอมรับที่น้อยครั้ง รศ. ยุกาว่า
จะเอ่ยปากก็คือ "ไอ้หมอนี้ มันเป็นอัจฉริยะจริงๆ"





หนังเรื่องนี้สร้างประเด็นหลอกคนดู ที่เคยหลงในเชื่อสูตรสำเร็จของหนังทั่วไป
ถึงกระนั้น หนังเรือ่งนี้ก็ใช้สูตรสำเร็จบางอย่างของหนังหลายๆเรือ่งที่เราอาจจะเคยดูกันมา
โดยตัวหนังลดทอนในแง่การอธิบายทางวิทยาศาสตร์ลง ให้กลายเป็นคดีฆาตกรรมธรรมดา
ที่เราน่าจะพอเดาทางกันได้บ้าง (หลังจากที่ภาคซีรีย์ต่อให้เปิดตำราเตรียมเอ็นท์มาอ่านก็ยากจะคาดเดา)
เพราะหนังที่เน้นย้ำในการฉายภาพของสังคมบางส่วน ที่สังคมญี่ปุ่นเองไม่ปรารถนา
แม้บางคนอาจจะคิดมากไปว่า เป็นการสะท้อนสัญลักษณ์บางอย่างที่ผู้กำกับตั้งใจ
ที่เอาเข้าจริง หนังกับเฉลยอย่างโจ่งแจ้งและเป็นตัวเงื่อนสำคัญในการไขคดี
จึงมีอารมณ์ประเภทชิงไหวชิงพริบ ที่อาจพอรู้สึกได้ใน Death Note ที่นักเรียนหัวดี
แต่อยากเปลี่ยนโลก อย่าง ไลท์ ต้องหักเหลี่ยมกับ แอล เด็กไฮเปอร์จอมอัจฉริยะ
ความที่หนังให้น้ำหนัก กับตัวละครสมัยยุคนักศึกษามหาวิทยาลัย จึงต้องมีการเลือกใช้
ตัวละครเด็กหน้าคล้าย งานนี้ก็เลยเลือกใช้บริการของมิอุระ ฮารุมะ (ที่เล่นbloody monday)
รับบทเป็น รศ. ยุกาว่า ตอนวัยรุ่น ขณะที่ตัวละครเพื่อนพระเอก อย่าง ชุนเป คุซานากิ
(คนที่เล่นเป็นตำรวจผู้แนะนำให้ตำรวจหญิงคาโอรุ ได้รู้จักรศ. อัจฉริยะกาลิเลโอ)
เด็กคนนี้หาชื่อไม่เจอ อีกอย่างก็รู้สึกหน้าจะไม่เหมือนด้วย เลยไม่ค่อยสนใจ
เหตุที่ย้อนภูมิหลังตามสไตล์ขนบเดียวกันกับหนังฮ่องกงอย่าง Internal Affair ภาคสอง
ที่ย้อนไปไกลถึงนักเรียนนายร้อย หนังจึงเล่นประเด็นในส่วนทั้งความสัมพันธ์ของ
สองตัวละคร



อย่างแรก คือ การฉายแววความเป็นอัจฉริยะของ รศ.ยุกาว่า ที่ช่วยให้อนาคตของเพื่อนตำรวจ
อย่างเจ้าชุนเป ที่ตอนนั้นยังหน้าใสเป็นเด็กส่งพิซซา รอดพ้นความเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่า
ลูกค้า โดยผลักตกตึกถึงแก่ความตาย
อย่างที่สอง คือ การสนิทสนมรู้จักกับจอมอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ อย่าง เทซึยะ อิชิกามิ
ที่ปัจจุบันมีชีวิตที่หดหู่ สังกะตายไปวันๆ ทำกิจกรรมแต่ละวันซ้ำๆซากๆ
ดูไม่น่าจะเป็นเพื่อนกับพระเอกอย่างนักสืบกาลิเลโอของเราได้เลย




ในหนังยังคงเน้นสลับฉากในสองเหตุการณ์ อันอาจจะมีการย้อนสลับในวัยอดีตบางช่วง
ส่วนหนึ่งว่ากันด้วยของการสืบสวนศพผู้ตายปริศนา ที่ใบหน้าทุบจนเละ ทำลายลายนิ้วมือ
และมีการนำเสื้อผ้าไปเผา เรียกว่ากลบหลักฐานทุกอย่าง ซึ่งทั้งหมดเป็นการวางแผน
ของจอมอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์เทซึยะ โดยผ่านการติดต่อทางโทรศัทพ์สาธารณะ
อีกทั้งสร้างสถานการณ์หาสิ่งบอกเหตุที่จะยืนยัน ความไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลา
ให้แก่สองแม่ลูก เพื่อให้รอดพ้นจากผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม
โดยพยายามที่จะคาดเดาวิธีการสืบสวนของตำรวจ
แต่จากนั้นเรื่องทำท่าว่าสองแม่ลูกจะรอดพ้นของกล่าวหา
เมื่ออดีตสามีไปโยงใยกับแก็งค์ยากูซา จนผลของการสืบสวนพุ่งเป้าไปอีกประเด็น
จะมีก็เพียงนักสืบกาลิเลโอและตำรวจสาวอุซึมิ ที่จงใจเชื่อได้ว่า
มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสองแม่ลูกในฐานะจำเลยในที่เกิดเหตุ (suspect's alibi)
แต่สุดท้ายเรือ่งก็ชักบานปลาย เมือ่ความพยายามบ่งการความเป็นไปของรูปคดี
กลายเป็นการบ่งการชีวิตของสองแม่ลูก ด้วยกิเลสเบื้องต่ำที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว





อย่างที่บอก ...........ใครที่เคยมาเปิดดู Galileo ซีรีย์ แล้วตั้งใจจะเป็นสาวก
ที่ต้องดูให้ครบสูตร ทั้งภาคซีรีย์ปกติเอย ภาคพิเศษใน Galileo Zero เอย
แล้วคิดว่าจะได้อรรถรสอย่างที่เคย โดยหวังว่าจะปรากฎใน Galileo Suspect X
อันนี้คงต้องทำใจอย่างแรง เพราะฉบับหนัง ถือว่าเป็นภาคที่ Dark สุดๆ
แบบที่ไม่เกรงอกเกรงใจว่า จะมีแฟนเก่ากลุ่มหนึ่ง รับความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้
เข้าใจว่าเจ้าของบทประพันธ์ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ไม่ตันเนื้อเรื่อง ก็อยากเล่าเรื่อง
ที่ชวนแตกต่างให้ท้าทายความสามารถยิ่งขึ้น
การนำเสนอของเรือ่งก็ไม่ได้วืดหวา ฉวัดเฉวี้ยงอย่างที่เคยรู้สึกชนิดที่ต้องอึ้งผสมกับทึ่ง
ที่ต้องเฉลยกรรมวิธีการฆาตกรรม ด้วยการวิธีทดลองทางวิทยาศาสตร์ในแบบเดียวกัน
เอาเข้าจริง หนังแทบจะไม่ได้หวังผลในจุดเฉลย ที่อยู่ในประเด็นนั้นด้วยซ้ำ
เพราะคนดูต่างก็รับรู้ว่า ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้วางแผน และจุดจบจะมาสิ้นสุดเช่นใด
แต่หนังกลับจะเป็นประชันบทบาทการแสดงของตัวละคร ระหว่างพระเอกของเรา
กับคนร้ายที่เรารู้จักเห็นอกเห็นใจยิ่ง แม้โดยส่วนตัวอาจไม่รู้สึกถึงความสามารถที่ว่า
ไอ้หมอนี้เป็นถึงนักคณิตศาสตร์ที่อัจฉริยะตรงไหน แม้พี่นักสืบกาลิเลโอของเราจะ
พยายามอธิบายความแตกต่างของนักฟิสิกส์กับนักคณิตศาสตร์อย่างมีเส้นแบ่งไว้ว่า.......


"นักฟิสิกส์พิสูจน์ความจริง จากการปฎิบัติในห้องทดลองชนิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่นักคณิตศาสตร์พิสูจน์ความจริง จากการจำลองทางสูตรตัวเลข
แต่ทั้งหมด ล้วนต่างต้องการผลลัพธ์ที่ตายตัว"



เพียงแต่ในประเด็นการเชื่อมโยงในแง่พฤติกรรม ของมูลเหตุการจูงใจของตัวละคร
อาจทำให้เรารู้สึกทึ่ง เมื่อหนังค่อยๆเฉลยทีละส่วนๆ ทีละประเด็น
แล้วมาผูกโยงรวมให้เข้ากัน จนเกิดเป็นรูปเป็นร่าง
อย่างไรเสีย........คำรับสารภาพสุดท้าย
ก็ไม่ได้เอ่ยจากปากของผู้กระทำความผิด มากกว่าผู้สมรู้ร่วมคิดที่รู้สึกผิดในจิตใจ
ในฐานะที่ไม่อาจเก็บงำความรู้สึกในใจไปได้ตลอด





ดังนั้นในความเห็นส่วนตัว ถือว่าออกไปแนวทางชอบ
ในฐานะดราม่าหนักๆ ที่ไม่ค่อยมีให้เห็น ในหนังสืบสวนสอบสวนแนวฆาตกรรมสักเท่าไร
เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปในความตื่นเต้น เร้าใจและความสยดสยองพองขน
เพราะเอาเข้าจริง ถึงจะมุ่งเน้นไปที่ความเรียบเนิบ อึกอัดและค่อยเขยิบคลี่ปม
มาใช้อย่างถูกจังหวะจักโคน ก็ยังคงทำให้ชวนติดตาม แม้จะเบี่ยงเบนการคาดเดา
ไปกับภาพตัวอย่างที่คิดว่าจะมาตามขนบเดิมๆ
กลายเป็น ผู้กำกับนำเรามาสู่การเป็นหนังชีวิตที่ชวนให้เราสนใจความเป็นไปของตัวละคร
ว่าจะออกในทิศทางไหน ขณะที่ความใส่ใจในแง่คดีที่เคยเป็นตัวเอกตามฉบับซีรีย์
ดูจะเป็นเรื่องรองไปถนัดตา อ่านคำวิจารณท่านอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่คิดไม่ต่างกัน
ถือเป็นชัยชนะในความเศร้าในการไขปริศนาให้กระจ่าง ที่ไม่ว่าผู้สืบสวนหรือ
คนร้าย ต่างก็เจ็บปวดในชัยชนะทั้งสิ้น




ทางด้านตัวผู้กำกับ อย่าง ฮิโร่ชิ นิชิตานิ ดูจะภูมิใจกับเรื่องนี้อย่างมาก
เพราะค่อนข้างได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกจากใจมหาชน
เพราะในประวัติการทำงานของแกก็สร้างซีรีย์ดีๆ
อย่าง ซูเปอร์สตาร์ถามหารัก Engine และ Galileo ภาคปกติมาแล้ว
ขณะที่ประวัติของนักแสดงเอกอย่างนักสืบกาลิเลโอก็น่าสนใจ
เป็นคนที่อยู่กับวงการเพลงทั้งในส่วนของการแต่งเพลงและเล่นกีต้าร์เอง
มาก่อนที่จะเล่นลงหนังเต็มตัวเสียอีก
ล่าสุดก็เพิ่งฉลองจะมีอัลบั้มฉลองยี่สิบปีไปหมาดๆ
นอกจากลุงฟุคุยาม่ากับน้องชิบาซากิจะเล่นซีรีย์ร่วมกันแล้ว ยังได้ทำโปรเจ็คเพลงร่วมกัน
ในวงที่มีชื่อว่า KOH กระแสนี้ก็ดีไม่แพ้กัน คนอะไร!ทำอะไรก็ดูดีไปโหมด.....
ไม่เหลือเผื่อแผ่เลยนะเฮีย ยกเว้นอายุเฮียที่ย่างเข้าสิบสี่ขวบ
อันนี้ไม่ต้องแผ่เผื่อ เพราะทุกวันนี้ก็เหลือที่จะขอเสียแล้ว ........




ข้อมูล จาก


wikipedia wikidrama และ //www.moviexclusive.com

รวมถึงบทความเก่าๆ ไว้รื้อฟื้นความจำ ในGalileo โอ้!ทำให้อาการเสพย์ติดซีรีย์กำเริบอีกแล้ว







 

Create Date : 18 ตุลาคม 2552    
Last Update : 10 ตุลาคม 2555 13:44:10 น.
Counter : 3120 Pageviews.  

Beach Boys ร้อนนักก็พักร้อน


Sorimachi Hits


เคยอ่านงานวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์จิตวิทยา
ที่อ่านเพราะไอ้หมอนี้ มันดันไปได้รางวัลโนเบลว่ากันด้วยเรื่องของ "ความพอใจ"
ในแง่ความเป็นปัจจัยภายใน มาเปรียบเทียบกับ "การมองไปในอนาคต" ในตัวของผู้บริโภค
จนมีชื่อเก๋ในทฤษฏีที่ชื่อ Prospect Theory
แต่เผอิญตัวความพอใจ มันเป็นอารมณ์ประเภทขึ้นๆลงๆ ตามแต่สถานการณ์
ดังนั้น อารมณ์ในตอนนี้ที่ผมกำลังถวิลถึงซีรีย์เก่าๆ อาจเป็นด้วยมูลค่าของความพอใจ
ในฐานะผู้บริโภคที่ยังจดจำรสชาติเดิมๆของซีรีย์ในวันวาน โดยเผลอไปเทียบกับซีรีย์
ณ ปัจจุบันเข้า (และแอบเหลือบมองยังเทรนด์ของอนาคตด้วย) เลยตั้งใจว่า
วันนี้จะขอรำลึกอดีตซีรีย์สักเรื่อง ตามประสาศัพท์หวานๆ ที่ว่าด้วย Nostalgic Series



ยังจำได้ดีว่า ได้รับรู้ข่าวคราวความนิยมของซีรีย์เรื่องนี้ครั้งแรก
จากนิตยสาร TV Magazine นิตยสารที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักมากไปกว่า
เซลเลอร์มูนได้พบแหวนแห่งจันทรารึยัง? หรือสะสมลูกดราก้อนบอลไปกี่ดวงบนดาวนาแม็ก
เข้าใจว่าในฉบับนั้น บก.นิตยสารคงไม่มีอะไรจะลง เลยลอกข่าวที่ไม่เกี่ยวกับการ์ตูน
มาให้อ่านกันเล่มๆในคอลัมภ์สั้นๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มให้ผมได้หลงเสน่ห์คุณน้องเรียวโกะ ฮีโร่สุเอะ
แล้วค่อยๆถอนตัวจากวงการการ์ตูนออกไปอย่างช้าๆ นับย่างก้าวของจุดเริ่มในการดูซีรีย์อย่างไม่รู้ตัว
(ประมาณว่า แก่แดดเกินวัย ในขณะที่เพื่อนร่วมวัยยังจ้ำเป้าอ่านการ์ตูนในวิชาเรียนอยู่เลย)
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก่อนหน้านั้น ก็ได้มีโอกาสติดตามซีรีย์ญี่ปุ่นอยู่หลายเรื่องตามช่องฟรีทีวี
แต่มิได้ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราวหรือแสวงหาข่าวสารเพิ่มเติมนัก แบบที่สาวกผู้พรรคดีควรจะเป็น
ด้วยตอนนั้น.......ยังมีอาการก้ำกึงเกี่ยวกับการ์ตูนผสมกับกระแสซีรีย์ฮ่องกงครองตลาดส่วนใหญ่
ขณะที่ช่องสามไทย ยังเอาซีรีย์ญี่ปุ่นค้างเก็บมาฉายตอนสี่โมงเย็น (ซึ่งตูยังทำเวรห้องอยู่เลย กรรม!)




ซีรีย์เรื่องที่ว่าวันนี้ คือ Beach Boys
หรือ ชื่อตั้งภาษาไทยที่ตรงคอนเซ็ปต์ดีจังว่า "ร้อนนักก็พักร้อน"
ซีรีย์จากค่าย Fuji Tv เรื่องนี้ถูกนำมาฉายทาง ไอทีวีเดิม ในปลายเดือนธันว่าคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ศิริอายุก็ปาครบไปสิบปีพอดิบพอดี (แต่เอาเข้าจริง มันถูกฉายที่บ้านเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐)
ถือเป็นซีรีย์ที่เข้ายุคสอดรับกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในตอนนั้นพอดี
ว่ากันด้วยการของหนีปัญหา - โดยพักปัญหา - เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาในภายภาคหน้า
แต่ตอนนี้ขอ (ตู) ไดเพักร้อนก่อนเถอะ (วะ)
เป็นซีรีย์ที่อัดฉีดสตาร์ดังฝ่ายแมนขั้นเทพ ที่เรียกเหล่าบรรดาแม่ยกแดนปลาดิบได้ชะงัด
เป็นซีรีย์ที่มีพระเอกให้เลือกถึงสองคน เพราะมีท่านชายสุขุมอย่าง
"ทาเคโนอุชิ ยูทากะ" ที่รับบทเป็นนายซูสุกิ พนักงานคอปกขาวกินเงินเดือนบริษัทระดับ
multinational trading company ความที่วิสัยทัศน์ไกลมีอนาคตแต่บังเอิญไปทำพลาดในโปรเจ็คใหญ่
เลยทำใจไม่ได้ เขาจึงต้องขอพักใจเพื่อไป "พักร้อน"
ส่วนแมนอีกคน คือ "โซริมาจิ ทาคาชิ" รับบทเป็นซากุราอิ อดีตนักว่ายน้ำดาวรุ่งดีกรีตัวแทนทีมชาติ
ที่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก แต่ทว่าได้รับบาดเจ็บหนักจนไม่สามารถเข้าร่วมทีมได้ ชีวิตก็ตกต่ำแต่นั่นมา
แฟนสาวก็บอกเลิก แถมยังเฉดหัวให้ออกจากอพาร์ทแมนคุณป้าเอ้ยคุณแฟนอีก เลยทำใจไม่ได้
เขาจึงต้องขอพักใจเพื่อไป "พักร้อน"




ในเรื่องได้สร้างบุคคลิกตัวละครฝ่ายแมน ที่ดูขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว
อีกคนมีบุคคลิกสุขุม ลุ่มลึกและชอบเก็บงำไว้ในใจ
ขณะที่อีกฝ่าย บุคคลิกสนุกสนาน ฮาเฮ บ้าบิ่น และมุทะลุ
ไม่ว่าจะลงมือเริ่มทำอะไร เป็นต้องขัดแย้งและไม่ชอบขี้หน้ากันไปเรื่อย
แต่ด้วยความที่วัตถุประสงค์ในเป้าหมายบรรจบกัน คือ ชอบทะเล (และบ้ายอดมนุษย์)
ทำให้แต่ละฝ่าย ค่อยๆที่จะเรียนรู้ และศึกษาในมุมมองด้านบวกของอีกฝ่าย
แม้แต่ละคนจะมีจุดตกอับในชีวิต จากเหตุผลของคนละฝ่ายในสถานการณ์ที่ต่างกัน
แต่เมื่อมาเริ่มต้นเป็นศูนย์ในชายหาดทะเลที่กว้างสูงเสียดท้องฟ้า ทุกคนต่างก็เท่าเทียมกัน
ละทิ้งสิ่งที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นอดีต ค้นหาและศึกษาตัวตน ณ ปัจจุบัน
ก่อนที่จะย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต ที่มีความหมายอีกด้าน คือ อนาคตที่ยังมาไม่ถึง
เพียงแต่สามเดือนต่อจากนี้ ขอเพียงแค่ ชาร์ตพลังให้เต็มแบตในหัวใจ
ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง



จะสงสารก็แต่น้องเรียวโกะของผม ที่ดูเหมือนเป็นเหยื่อจากความเอาแต่ใจของสองคนนั้น
น้อง "เรียวโกะ ฮิโระสุเอะ" ที่เล่นเป็นมาโคโตะ นักเรียนมาดทอมบอย ในชั้นมัธยมปลายปีสอง
เดิมก็มีปัญหาหนักอกจากการที่พ่อแม่แยกทางกัน คุณน้องก็เล่นแง่
ไม่ต้องการจะไปอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงขอเลือกที่จะอยู่กับปู่ สองต่อสอง
กับรีสอร์ตริมทะเลที่เหมือนกับบ้านพักทรงไม้เก่าๆ ที่ชื่อ Diamond Head Resort
ต้องมาเจอพ่อหนุ่มพระเอกของเรา ที่ตกอับ รถเสีย กระเป๋าตังค์หาย (เพราะไม่รู้จักแก้กรรม)
จากสถานะ "ลูกค้า" กลายมาเป็น "ลูกจ้าง" ที่ทำงานชดใช้หนี้ตลอดหน้าร้อน
แถมยังอยู่กินหลับนอน ที่ห้องใต้หลังคาโรงแรมไม้สักอีก เรียกได้ว่า.....สุดสุด
(ถ้าคุณพี่ได้ทำงานใกล้ๆคุณน้องเรียวโกะ พี่จะเหวี้ยงกระเป๋าผูกสมอเรือ
ให้จมลงทะล จะได้เป็นทาสรับใช้คุณน้องทั้งชีวิต)



แต่เห็นหลานๆสาว หน้าตาจิ้มลิ้มเช่นนี้
เชื่อได้เลยว่า พ่อตาดุ แม่ยายตาย ......................... ตามคาด
ถึงแม้ชายทั้งสองจะไม่ได้คิดอะไรอื่นไกลกับคุณน้องเรียวโกะของผม
อาจด้วยบทบาทของชายวัยทำงานกลางคน ที่มีแฟนเป็นตัวเป็นตนวัยใกล้เคียงกันอยู่แล้วด้วย
แต่คุณน้องเรียวโกะของผมสิ คิดนะ........คิดมากด้วย เอาจริงเอาจังถึงขั้นหนีตาม
ซ่อนตัวอยู่ท้ายรถเต่าของเจ้าซากุราอิ เป็นบ้อบบี้เลิฟแบบแปลกๆ
โดยที่ต้องใช้สายตาแบบคนไกล ประมาณว่า บทคงพาไปให้ชวนติดตามตอนต่อไป
ไม่อยากเชื่อเลยว่า ในชีวิตจริงคุณน้องที่เป็นแม่คนทั้งๆที่เรียนไม่จบเช่นกัน
คุณน้องที่เติบโตมากับท้องชายหาด เมื่อคนอื่นต่างพักผ่อน
ขับรถหนีออกจากเมืองเพื่อมาเที่ยวชายทะเล มันจึงภาพที่แสนจะปกติสำหรับคุณน้องเรียวโกะ
เพราะขณะที่คนอื่นเขา ขอพักใจเพื่อไป "พักร้อน" แต่คุณน้องกลับต้องร้อน ด้วยงานเข้า
จนแทบไม่ได้พัก เป็นภารกิจที่รับใช้ประชาชนโดยแท้จริง




ซีรีย์จะไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีบทเสริมของปัจจัยองค์ประกอบแวดล้อม
อย่างตัวละครเสริม เพื่อสร้างมิติของการเรียนรู้และร่วมแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน
ตามกฎสังคมร่วมหมู่ในสังกัด ที่ตัวละครแต่ละตัวจำต้องเรียนรู้โดยผ่านการพิจารณา
อย่างไม่รู้จบ ที่เรียกว่า ฮันไซ และ ปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ที่เรียกว่า ไกเซน
ตัวละครอาทิเช่น ปู่จอมบู้อิซุมิ แม่มาเอดะสาวเจ้าของบาร์ที่ไม่กล้าพบหน้าลูก
สาวเทราโอะผู้พักฟื้น เพื่อนหนุ่มเพื่อนสาว อย่าง นาโอโตะกับฮารา ก็สร้างสีสันได้ไม่หยอก
สูตรสำเร็จตรงจุดนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านมาเป็นสิบปี ขนบของการสร้างซีรีย์แดนปลาดิบ
ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนไปแต่ประการใด
แต่ที่น่าแปลกใจ คือ คนเขียนบทอย่าง "โยชิกาซุ โอกาดะ" โดยส่วนตัวดูเหมือนจะถนัด
ในการเขียนงานเลิฟคอเมดี้ แต่กลับไม่ได้สร้างงานเขียนที่น่าประทับเหมือนกับ Beach Boys
(อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะขอรับ) จะดูเข้าท่าแต่ไม่พี้ดสุดอีกเรือ่ง คือ
สวย เซี้ยว ซ่า นางฟ้าของผม เท่านั้น แต่ผู้กำกับสิที่ผมติดใจในชื่อชั้นที่ไม่ธรรมดา
แม้ซีรีย์ Beach Boys จะใช้ผู้กำกับร่วมถึงสองท่าน เพราะหนึ่งในนั้นมี "เคนซากุ ซาวาดะ"
อย่างงานซีรีย์ Beach Boys ถือเป็นงานกำกับชิ้นแรกของพี่แก ยกตัวอย่างงานซี๊ดๆ
สามเรื่องล่าสุด ก็มี ฮีโร่อย่างงี้ ไซอิ้วอย่างงี้ และ changeอย่างงี้ ทำให้เรื่องกำกับล่าสุด
ปีนี้ อย่าง Wasted Land ที่ร่วมกำกับถึงสามคน ดูน่าสนใจขึ้นเป็นกอง




ต้องขออภัยที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวของซีรีย์เท่าที่ควร เอาเป็นว่า
แค่เห็นทะเลในฤดูร้อนสี่ช่วงเวลา คือ ยามโพล้เพล้ ยามบ่าย ยามอัสดง และยามค่ำคืน
เพียงแค่นี้ก็คุ้มค่าที่จะได้ดูสักแล้ว ถือเป็นซีรีย์ยอดเฉลี่ยคนดู ๒๖.๕ %
จนต้องทำภาคสเปเชียลให้หายคิดถึง ในอีกสองปีต่อมา (ความเห็นส่วนตัว ไม่น่าสร้างเลย!)
ฟอร์แมตที่ผมได้ดู เป็นการอัดทับมาจากเทปวีดีโอที่บันทึกจากหน้าจอทีวี
ในส่วนของเสียงพากย์ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะคุ้นชินเป็นอย่างดี
แต่ไอ้ประเภทตัววิ่งประชาสัมพันธ์ใต้จอนี้สิ มีอะไรที่มันตกยุคตกสมัย ดูไปก็ฮาดี
ดีนะที่ไม่มีโฆษณาแฟลตปลาทองติดมาด้วย
บทจะลาจาก ก็จากลาอย่างใจหาย แม้ตอนที่หนึ่งก็ทำท่าว่าจะจบในตอนเดียว
แต่ไปๆมาๆ ก็ยึดยือเป็นคนดูต้องใจหายใจคว่ำ ดูซีรีย์เรื่องนี้ต้องลุ้นให้ปฎิทิน
หน้าร้อนมีมากกว่าสามเดือน แต่สุดท้ายอย่างปู่อิสุมิที่บอก

"คนที่มาัพัก เพียงแค่จรมาแล้วก็จากไป"

เหลือไว้แค่ความอาลัย กับขยะใบใหญ่ที่กองไว้ให้
แต่สิ่งที่น่าสงสัย นักแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องนี้แทบจะหายหน้าหายตาไปจากวงการ
จะเห็นก็น้องเรียวโกะ ที่ดูมีอายุมากขึ้น ล่าสุดเห็นแว้บๆโผล่มาตอนแรกแบบหลอกให้ดีใจ
ใน Mr.Brain แล้วจะหายเข้าสู่กลีบเมฆ แม้จะดูจนจบตอนที่แปดแล้วก็ตาม
อาจเป็นซีรีย์ญี่ปุ่นลำดับต้นๆ ที่ทางสถานีไทยมีนโยบายนำมาฉายซ้ำ
ในภาคกลางวัน ดูกี่ครั้งก็ยังประทับใจ แค่กรอกหาแต่หน้าน้องเรียวโกะตอนอ่อนเยาว์วัย
แค่นี้ก็คุ้มแบบสุโค้ยว์แล้วละพี่น้อง ........







ขอบพระคุณข้อมูลจาก imdb dramawiki และ jkdramas





ส่วนนี้เป็นเพลง Forever ที่เจ้าโซริมาจิขับร้อง ร่วมบรรเลงกับ Richie Sambora





ครั้งหนึ่งเคยรำลึกถึงภาคสเปเชียลของ Beach Boy ได้ ที่นี้







 

Create Date : 11 ตุลาคม 2552    
Last Update : 9 มกราคม 2555 13:47:24 น.
Counter : 4033 Pageviews.  

อาลัยเขา ผู้ทำให้เรารู้จักญาติที่ชื่อ "บุญชู"





ความจริงตัวผมเองไม่ได้มีรสนิยมอ่านคอลัมภ์ดวงชะตาด้วยฐาน
ความคิดบางอย่าง ที่เชื่อว่าการไม่รู้อะไรในอนาคต คือ พรสวรรค์
ที่แสนดีที่ธรรมชาติประทานให้ แต่สุดท้ายเหล่าบริวารรอบข้าง
ประเภทฝ่ายสาวออฟฟิคและเกือบเป็นสาวออฟฟิค มักนิยมล้อมกรอบ
บุคคลากรรอบข้างเพื่อเทียบเคียงดวงชะตาส่วนตน ถ้าร้ายก็หวังว่า
จะมีเพื่อนร่วมร้าย ยิ่งถ้าดีก็ขอให้ดียิ่งกว่า สรุปเอาเองว่าถึงแม้ว่าจะ
ได้คำตอบส่วนตนเรียบร้อย ส่วนลึกๆของใจก็ยังไม่เชื่อมั่นในคำพยากรณ์
จนกว่าจะมีเครื่องเทียบเคียงเชิงตัวบุคคล ถ้าตรงเผงเมื่อไร ก็เตรียมใจ
รอได้ว่า อั๊วะก็จะเป็นรายต่อไปแน่นอน



คำพยากรณ์ที่ตนเองมักถูกโดนย้ำแล้วย้ำเล่า แทบทุกเดือน คือ
"การจะได้พบมิตรรักที่จากไปไกล"
อาจบิดเบี้ยวไม่ตรงประเด็นนัก แต่โดยหลักการแล้วนี้มันใช่เลย
สำหรับประเด็นนี้มิใช่เรื่องแปลก ตราบเท่าที่ผมเองมักเป็น
ฝ่ายเข้าหาเพื่อนมิตรเก่าๆอยู่ตลอดเวลา ผมว่า ดวงชะตาของเพื่อนรักของ
ผมถูกกระทำจากการเข้าหามิตรเก่าด้วยตัวของผมเองเสียมากกว่า แต่แล้ว
วันนี้ มิตรเก่าท่านหนึ่งก็ปรากฎตัวแบบที่ผมเองไม่ทันตั้งตัว เพราะรอบสัปดาห์
มัวแต่ใส่ใจอยู่กับปัญหาบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด จนเฉียดหน้าโรงหนังแบบเดิน
ดุ้มๆแบบไม่ได้ทำการบ้านมา คำพยากรณ์นั่นก็สำแดงเดชเอาเสียสองเด้ง
เด้งแรกได้พบมิตรเก่า เด้งสองมิตรเก่าเขามีทายาทตามมาด้วย ลูกมันชื่อ
"บุญโชค" ส่วนพ่อมันชื่อ"บุญชู" จุดดีที่ยกชูอยู่ที่สระอู..............



บุญชู (แสดงโดยสันติสุข พรหมศิริ)
เป็นหนังมหากาพย์แบบไทยๆที่ถูกสร้างเสียหลายภาค
(แม้จะบอกว่าภาคเก้าแต่เอาเข้าจริงๆ เป็นเพียงภาคหกเท่านั้น)
หนังที่สร้างให้สันติสุขกับจินตหรา ดังพลุแตกกลายเป็นดาราคู่ขวัญ
ประจำประเทศแห่งยุคสมัย
(จนมีความพยายามที่จะให้กลายเป็นคู่รักจริงนอกจอ)
ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๐ ถือเป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้อาบัณฑิต ฤทธิ์กล
แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะผู้กำกับแห่งค่ายไฟร์สตาร์
(แม้ระยะหลัง จะพยายามสร้างงานที่ฉีกแนวออกไปหลายต่อหลายเรื่อง
อาทิ อุกการบาต ๑๔ตุลาสงครามประชาชน สตางค์ เป็นต้น
ล้วนเป็นหนังที่ไม่ทำเงินเท่ากับบุญชู
แม้คุณภาพในบางเรื่องถือเป็นหนังที่น่าปรบมือให้ดังๆ ว่ากันว่า ตัว"บุญชู"
คือ อัตลักษณ์ของลักษณะอัธยาศัยแบบไทยๆ ที่มีชีวิตเรียบง่าย
ใสซื่อ บริสุทธิ์และมีจารีตทางพุทธศาสนามากำกับพฤติกรรมในตัวบุคคล
แวดล้อมไปด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรรม เพียงแต่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง
กับสังคมเมือง ด้วยแนวคิดเชิงอุดมคติที่จะนำความรู้จากมหาวิทยาลัย
มาพัฒนาท้องถิ่นแห่งหมู่บ้านโข้งในฐานะตัวแทนคนเดียวของหมู่บ้าน
ที่กำลังจะมีใบปริญญามาประดับเพื่อเป็นโอท้อปของชุมชน



แต่สุดท้ายหนุ่มบ้านนอกคอกนา ผู้พกพฤติกรรมแบบอุดคติชุมชนไทย
ต้องมาเผชิญกับสังคมอีกด้านที่แทบจะเป็นอีกคนละขั้ว
กับมวลมิตรจากสารทิศของประเทศ ในมหาวิทยาลัยเกษตร
ความซื่อๆของบุญชู บวกกับอาการเซ่อที่คนต่างถิ่นก็ย่อมจะให้อภัย
สามารถซื้อใจหมู่ลิงทะโมน อย่าง ไวยกรณ์ (วัชระ ปานเอี่ยม)
หยอย (เกียรติ กิจเจริญ) คำมูล (กฤษณ์ ศุกระมงคล)
เฉื่อย (ดร. นฤพนธ์ ไชยยศ) นรา (อรุณ ภาวิไล) ประพันธ์ (เกรียงไกร อมาตยกุล)
ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้ตัวละครเอก มันไม่ใช่แค่หนังสะท้อนสังคม
เพียงเท่านั้นมันยังทำให้เสียงหัวเราะสะท้อนกึกก้องโรงภาพยนตร์ได้อย่างชะงักนักแล



ในฐานะคนที่เติบโตและได้ชมโรงหนังติดพัดลม ที่มีลำโพงใหญ่เพียงสองตัว
บุญชูจึงมีเสน่ห์ที่ไม่ต้องอาศัยภาพที่คมชัด มีเสียงเซอร์ราวรอบทิศทาง
จึงเป็นหนังที่ขายสาระของเรื่องเพียวๆ ตามคอนเซปต์ตลกแบบมีสาระ
จำได้ว่า ภาคแรก "บุญชู ผู้น่ารัก"
เด็กชายอย่างผมแทบไม่สนใจดาราเอกเท่ากับเหล่าตัวประกอบเรียกเสียงฮา
เพราะกระแสหนังกลิ่นสีและกาวแป้งที่แทบยกขบวนมาเล่นหนังอีกเรื่อง
ถือเป็นตลกแบบปัญญาชน ที่เด็กประถมอย่างผมสนแต่เรื่องขบขันเพียงอย่างเดียว
เมื่อบุญชู บ้านโข่ง เข้ามากวดวิชาในเมือง พบรักแรกกับสาวน้อย
จริงๆ นะ แต่ตอนนั้น อย่างโมลี (จินตหรา สุขพัตร)
คำว่า"น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า"จึงเป็นคำสอนของแม่บุญชู ที่ผมจำแม่นมากกว่าคำขวัญวันเด็กเสียอีก
พอมาภาคสอง "บุญชูสองน้องใหม่" ความเป็นผู้ใหญ่ของตัวละครขยับขึ้นอีก
ก้าวกับเรื่องเศร้าๆที่บุญชู เอ็นท์ไม่ติดจิตตก จนต้องกลับไปเลี้ยงควายที่สุพรรณบ้านนอก
แต่เพราะเป็นเด็กรักดี จึงมีเส้นของมหาแจ่มที่เป็นบรรณารักษ์ที่มหาลัยลูกแม่โดม
พอจำได้ดีว่าตอนนี้บุญชูแกมีความรักเชือ่มต่อกันหลายเครือที่ลุ้นระทึกแบบเอาใจช่วย
เป็นตอนแบบแฮปปี้ เพราะรักไปได้ดี เอ็นท์อีกทีก็ปรีดีแบบต้องลุ้นตัวโก่ง



โผล่อีกที บุญชูโตไปไกล เพราะหนังเล่นขึ้นไปภาคห้า
(จำได้ว่ามีจบแบบหลอกๆอยู่หลายช่วง จนลุกเก้าอี้ออกจากโรงอยู่หลายหน)
"บุญชูห้าเนื้อหอม" ถือเป็นภาคประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
เพราะพี่บุญชูกระโดดแข่งเป็นกรรมการมหาวิทยาลัย เข้าช่วยเหลือทุนการศึกษาของรุ่นน้อง
เพราะมีรุ่นพี่ใจร้ายโกงเงินเด็ก ไปกินเหล้าเมายา ใช้จ่ายเสียฟุ่มเฟือย
(ขอย้ำเป็นเรื่องเกือบยี่สิบปีก่อน มิใช่สภาพสังคมปัจจุบัน ย้ำจริงๆนะี่พี่น้อง)
พอมาภาคหกสระอูไม่ยาวแต่ชื่อโคตรยาว
"ตอนโลกนี้ดีออกสุดสวยน่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย"
ถือเป็นชีวิตภาคการศึกษาใกล้ฝั่ง เรียนจนถึงปีสี่
งานนี้มีตัวละครเพิ่ม อย่างทองดีญาติ ห่างๆที่สำรองนิสัยบุญชูแทบทุกกระเบียดนิ้ว
นางเอกอย่างโมลีจบไปก่อนหน้า (ตามประสาเด็กเรียนเก่ง)
มาทำงานกับพี่สาวที่ชื่อมานี(ที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวละครเล่นหลายตัว
แต่มานีในสมองส่วนตัว สมควรให้ตำแหน่งนี้แก่ญานี จงวิสุทธผู้เดียว)
ตอนนี้ไม่ได้สร้างความขัดแย้งในเรื่องราวชีวิตแต่เป็นมิตรภาพของเพื่อนฝูง
เป็นตอนที่ผมชอบน้อยที่สุด รู้สึกถึงความไม่ลงตัว กลิ่นของความเป็นบุญชูก็ออกแปร่งๆไปพิกล
น้ำหนักของตัวละครหลายตัวขาดเสน่ห์ไป แต่ต้องดูจนจบในฐานะแฟนพันธ์ทางแบบไม่รู้ตัว



ภาคเจ็ด(ที่คิดว่าจะอวสานแน่ ตามปากท่านพี่บัญฑิตที่บอกว่าจะไม่คิดสร้างแล้ว)
"รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ" ล้อเลียนชื่อหนังจีนฮ่องกงแปลงให้
เป็นไทยในสมัยนั้นหลายเรื่องมาปะแปะ
เรื่องนี้ถือมองโลกในแง่ไกลที่เข้าสมัยคนบ้าเห่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้
เมื่อแม่บุญล้อมเอ่ยปากยกบ้านริมน้ำให้เป็นเรือนหอของบุญชูกับโมลี
ขณะมานียื่นคำขาดหากทั้งสองจะแต่งงานกันก็ต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ
ศึกแย่งกรรมสิทธิ์ชิวิตจึงเกิดขึ้น ด้วยเงื่อนไขที่ว่าถ้าแม่น้ำลำคลองที่เน่าเสีย
ของเรือนหอบ้านริมน้ำ ถูกโสตทัศนวิสัยสะอาดจากกรมอนามัย
ก็จะให้แต่งงานอยู่กินที่บ้านโข่งชนบทประเทศ
งานนี้จึงเดือดร้อนเหล่าเพื่อนๆของบุญชู ที่ต้องเร่งมือซ่อมแซ่มเรือนหอ
และรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมเน่าเสียในท้องที่
การเปิดประตูน้ำเหนือเขื่อนเพื่อไล่น้ำเสีย กลายเป็นอภิมหาความรักครั้งยิ่งใหญ่
ที่มีทั้งตัวบุคคลและชุมชมดำเนินเรื่องไปพร้อมๆกัน
และแน่นอนว่าย่อมต้องออกมาแฮปปี้เอนดิ้งแบบจบบริบูรณ์


ถือเป็นบทหนังที่ล้ำสมัยสังคมในเวลานั้น
แม้นำมาฉายรีมาสเตอร์อีกครั้งก็ยังคงร่วมสมัยในปัจจุบัน ที่พ่อแม่คนไทย
ยังขวนขวายให้ลูกได้เรียนสูงสุดในระดับมหาวิทยาลัยมีใบปริญญามาประดับฝาบ้าน
ค่านิยมของการรังเกียจคนชนบทในสายตาคนเมือง
และความใฝฝันอุคมคติที่คนเมืองอยากมีชีวิตที่สงบในท้องนาท้องไร่
บุญชูจึงเป็นสิ่งสะท้อนสังคมไทยในโครงสร้างหลักที่คนส่วนใหญ่นึกคิด
และความเป็นอยู่ การเข้าถึงเรื่องบุญชูจึงเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน
มากเรื่องมากราว ความแพรวพราวของมุขตลกถือเป็นระดับเทพ
ที่อาศัยสถานการณ์รูปแบบเดิม แต่ดำเนินเรื่องบทสนทนาที่แตกต่าง
ซึ่งต้องอาศัยทีมเวิรคในการสอดรับมุขลักษณะเอกแต่ละตัวละคร
ยิงปุบ รับปับสอดกลับ แล้วแทงเรื่องโดยไปสัมพันธ์กับสถานการณ์
ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หนังไหนๆก็ตลกแบบบุญชูไม่ได้ ใ
นวาระที่ถูกกลับมาสร้างภาคต่ออีกตอน ขอบอกว่าฮากว่าที่เห็น
ในโฆษณาตัวอย่างในโรงที่เล่นเอาคนดูอย่างผมแป้กเอามากๆ ตลกแบบนี้
ต้องอาศัยภาพรวมของเรื่องเป็นตัวส่งให้เราเห็นภาพก่อนหน้าเพื่อเชื่อมโยงมุขตลกที่เห็น
ในตัวอย่างการตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วเล่าในทันที
บอกได้เลยว่าไม่ขำหรอกครับ......กลับมานั่งคิดอีกครั้ง
เออ...ผู้กำกับช่างมีพรสวรรค์ในการดำเนินเรื่องในมุขตลกเชิงนี้
แบบหาใครเปรียบได้ยาก ผมยังรู้สึกกลัวคนดูรุ่นเด็กปัจจุบัน
ที่ยังจดจำบทบาทของสันติสุขจากเรื่องจัน ดารา ของจินตหราจากเรื่องเด็กหอ
เพราะถือเป็นการฉีกบทไปคนละทางกับเรื่องที่บุญชูเป็น เอาเป็นว่า
ค่อยมาเล่า ไอ เลิฟ สระอูในทีหลัง
เพราะเล่นเกริ่นมาทีก็ได้บทความร่ายเสียยาวจนรู้สึกว่าญาติคนนี้
สร้างตำนานดีๆไว้เยอะในวงการหนังไทยไม่น้อย................. ........



ขอบคุณสิ่งดีๆจาก //www.thaicinema.org/
เป็นการย้อนหลังบทความนี้อีกครั้ง ด้วยจิตคารวะผู้กำกับท่าน




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2552    
Last Update : 1 ตุลาคม 2552 21:15:51 น.
Counter : 1516 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.