A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Tokyo Tower พันหอคอยก็ไม่เท่ากับแม่หนึ่งคน



"พวกเขาทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันตั้งแต่ตอนวัยรุ่น
โดยที่แม่คิดว่านี่ผู้ชายที่เธอรัก
และความรักคงจะเปลี่ยนเขาได้ สามารถหยุดอารมณ์รุนแรงเวลาที่เขาเมาได้
แต่แล้ววันหนึ่งความอดทนของแม่ก็ถึงขีดสุด เมื่อพ่อเมากลับบ้านและระเบิดอารมณ์ใส่ผม
ผมจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้เพียงแต่ว่าจากนั้นแม่เลี้ยงผมมาโดยลำพัง
แม่ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย ไม่เคยบอกว่าไม่ได้
เวลาผมเอ่ยปากขออะไร ทุกครั้งที่ผมกลับมาบ้านจะมีอาหาที่แม่ทำ
ไว้รอผมอยู่ที่บ้านเสมอ

เมื่อผมโตขึ้นผมบอกแม่ว่า ผมจะไปโตเกียว ไปทำความฝันของพ่อที่จะเป็นจิตรกรให้เป็นจริง
ผมเชื่อว่าผมจะต้องทำได้ แม่ให้ผมไปโดยไม่เคยทัดทานอะไรเลย แม่ส่งเงินมาให้ผมเสมอ
เวลาที่ผมเดือดร้อน เวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายปี ผมก็ยังคงหวังเสมอว่าสักวันผมจะประสบ
ความสำเร็จให้แม่ได้ภุมิใจ แต่แล้ววันหนึ่งผมเพิ่งได้ข่าวว่าแม่ไม่สบาย
แม่ไม่เคยบอกผมมาก่อนว่าแม่ป่วย .. ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

แม่ครับ จากนี้เวลาผมกลับบ้าน จะมีใครคอยทำกับข้าวไว้รอผมไหม ....
ผมขอโทษครับแม่และผมอยากให้แม่มาอยู่กับผมที่โตเกียวนะครับ “

- ลูกชายผู้ไม่เอาไหน..................................................



ถือเป็นความลำบากใจครั้งหนึ่งสำหรับการการเดินเข้าชมภาพยนตร์สักเรื่อง
ในสภาวะที่ต้องเผชิญหนังที่ทลายทำนบของต่อมน้ำ อีกทั้ง รันทดภายในใจหลัง
จากได้เดินออกจากโรงภาพยนตร์ เพียงครั้งแรกที่ได้ยินกิตติศัพท์ของหนัง
เรื่องนี้ก็ตั้งจิตปฏิญาณเอาว่า "อย่างไง๊ อย่างไง ก็ขอรอดูในรูปแบบของแผ่นหนัง
เสียยังจะดีกว่า น้ำตาลูกผู้ชายไม่ควรให้ต้องอับอายในโรงภาพยนตร์"

แต่เอาเข้าจริงก็อดตัณหา (Passion)ของตัวเองไม่ได้เสียแล้ว เมื่อได้ยินคำคุยโว
ของผู้ที่ชมท่านหนึ่งว่า "ถ้าคนที่ดูหนังเรื่องนี้สิบคน เก้าคนจะต้องรีบโทรศัพท์หาแม่
ในวันนั้น ส่วนอีกคนจะต้องรีบกดเงินเพื่อถอยโทรศัพท์เพื่อให้ได้ติดต่อหาแม่"
ได้ฟังแค่นี้ก็รู้สึกหมั่นไส้ระคน ว่าหนังอะไรมันจะหนักหนากันนักฟะ โธ่!มันก็แค่
การเสียตังค์จ้างคนมาหลอกผู้ชมว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อถือตั๋วบัตร
กำแน่นไว้ในมือพร้อมท่องคาถาเอาชัยว่า"มันก็แค่การแสดง มันก็แค่การแสดง"
แต่สุดท้ายไอ้การแสดงของหนังเรื่องนี้มันก็เล่นเอาผมตายได้เหมือนกัน



Tokyo Tower - Mom & Me, and sometimes Dad คือหนังเนื้อหาแสนธรรมดา
ที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคมยุคอุตสาหกรรมและการบริการ เด็กที่ไร้พ่อเท่าที่
เขายังพอจำความได้ (โจ โอดางิริ รับบทเป็น me) ด้วยที่พ่อกับแม่แต่งงานกัน
ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นนำมาซึงการแยกทาง สิ่งที่รับรู้ของmeการที่ต้องอยู่กับแม่เพียง
ลำพังตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเติบโตโดยมีความใฝ่ฝันในงานศิลปะที่พ่อเคยตั้งใจไว้
แต่ไม่สำเร็จ และการได้เข้าสู่เมืองหลวงก็นำพาให้เด็กต่างจังหวัดหลงระเริงไปกับ
แสงสีของเมืองศิวิไลท์อย่างกรุงโตเกียว แต่ด้วยกำลังใจและน้ำพักน้ำแรงที่แม่สู้ทำ
งานหนักคอยส่งเงินไปให้ไม่ขาด ลูกผู้ชายที่ไม่เอาไหนคนนี้ก็กลับมาตั้งหลักสร้าง
เนื้อสร้างตัวในระดับที่พออยู่อย่างสุขสบาย แล้วอยู่ๆเขาก็ทราบข่าวว่า แม่ของเขา
เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย ซึ่งเขาไม่เคยรับรู้จากปากแม่มาก่อน

หนังเรื่องนี้ ผมเคยเขียนถึงการคว้ารางวัลที่แซงหน้า Alway2 ไปตั้งหลายขุม (อยากรู้
ก็ลิงค์หาเอาเองละกัน) เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีกว่า ๒ ล้านเล่ม ที่จำหน่ายในปี
๒๐๐๕ โดยนักเขียน Lily Franky ที่นำเอาประสบการณ์จริงครั้งที่เขาเสียแม่บังเกิดกล่าว บอกเล่า
อย่างตรงไปตรงมาจากนั้นก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครที่ฮิตติดลมบน ก่อนที่จะออกมาเป็นหนังที่ถือว่า
เป็นหนังเทิดทูนมารดาที่ดีพอๆกับ The Village Album ของผู้กำกับ
Mitsuhiro Miharaที่เคยเทิดทูนบิดาอย่างไรอย่างนั้น

ถ้าใครที่ไดชมหนังเรื่องนี้จะเห็นถือเหล่านักแสดงที่ขายชื่อได้หลายคน อย่าง
โจ โอดางิริ พระเอกของเรื่อง (ผู้เคยเป็นตัวเองในเรื่องShinobi ) คิคิ คิรัน (นัก
แสดงเอกที่เคยรับบทเป็นแม่หลายต่อหลายเรื่อง และไม่พ้นเรื่องนี้ด้วย)
และ ทาคาโกะ มัตสึ (จาก April SnowและBe With You) แค่ชื่อชั้นเหล่านี้
ก็พอเรียกกระแสผู้ชมได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เหล่านักแสดง
ที่รับบทวัยเด็ก วัยสาว ของตัวละครหลักไม่ว่าตัวmeเองหรือแม่ของme ก็ตาม
ที่ทำให้เชื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนช่องว่างที่สืบเนื่องของตัวละครหลักได้
อย่างลงตัวและสนิทใจ (ปานศัลยกรรมแบบจงใจ) และยังรักษาเอกลักษณ์
บุคคลิกตลอดจนลักษณะนิสัย ไม่รวมถึงภาวะปมด้อย (Inferiority Complex)
ที่แฝงเร้นกดจิตใต้สำนึกของตัวละคร ซึ่งก็ทำได้เป็นอย่างดี เพราะมันทำให้
ผู้ชมไม่เชื่อมั่นว่าตัวละครจะผ่านพ้นปัญหานำมาซึ่งการเอาใจช่วยตัวละคร
ไปพร้อมๆกับการดำเนินเรื่อง



เนื้อหนังแทบจะดำเนินไปอย่างเรื่องเฉื่อยภายในต้นเรื่อง จนทำให้ผมเองรู้สึกว่า
"ไอ้หนังเรื่องนี้ไม่มีพล็อตเรื่องนี้หว่า" สิ่งที่เห็นก็คือพัฒนาการในอดีตของตัวละคร
ที่ดูคล้ายกับครอบครัวเดี่ยวอันอบอุ่น ที่มีพ่อแม่ลูกอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ทุกคน
ต่างเล่าถึงความใฝ่ฝันที่มีอยู่ในตัว พ่อของMEที่อยากเป็นนักศิลปะในเมืองกรุง
ส่วนแม่ก็มีความใฝ่ฝันเชิงครอบครัวที่อยากให้เราทั้งสามไปยืนชมพระอาทิตย์ตก
ดินบนหอคอยTokya Tower (หอคอยโตเกียวถูกใช้งานอย่างหนักเชิงสัญลักษณ์
หลายต่อหลายเรื่อง แต่แท้จริงมันมีความหมายอย่างไรกับคนญี่ปุ่นคงต้องให้
คนญี่ปุ่นเป็นผู้ตอบน่าจะดีกว่า) ผมว่าจุดนี้มีความสำคัญยิ่งต่อช่วงชีวิตพัฒนา
การในวัยเด็กต่อการรับรู้เป้าหมายชีวิตและรองรับเอกลักษณ์ของเด็กจากผู้เป็น
พ่อเป็นแม่ เรื่องนี้นักจิตวิทยาอย่าง Erik Homburger Erikson ได้อธิบายลำดับขั้น
ที่เรียกว่า Locomotor-Genitial:Initiative versus Guilt ซึ่งมันก็จะคล้ายคลึงกับ
Phallic Stage ของฟรอยด์ เพราะถ้าเด็กอย่างMe ผ่านพ้นปมความขัดแย้งนี้ไปได้
จนจะรับรู้ว่าตัวเองเป็นปัจเจกบุคคลเต็มขั้น ช่วงที่ถ่ายทอดMeวัยเด็กท่ามกลาง
ความขัดแย้งจากปัญหาครอบครัว เด็กเริ่มมีความคิดริเริ่ม ค้นหาตัวเองตั้งคำถามกับ
สิ่งแวดล้อมรอบตัวไปพร้อมกับสรีรศาสตร์ที่เติบใหญ่พอให้กระโดดโลดเต้นไปได้

จนเมื่อMeโตพอที่จะแสวงหาความตั้งใจทดแทนสิ่งที่พ่อของตนทำไม่สำเร็จ เขาเดิน
ทางโดยลำพังโดยมีผู้เป็นแม่มาคอยส่งที่สถานี สีหน้าของแม่ผู้ที่เคยชุบเลี้ยงประคับ
ประคองMeโดยปราศจากพ่อ ผู้ที่เคยหาข้าวปลาอาหารสำรับต่างๆ และใจดียกโทษใน
ความผิดต่างๆที่ลูกทำมา แต่ผู้เป็นแม่ก็ไม่เคยทัดทานในความตั้งใจของลูกที่จะไป
สิ่งนี้ตัวMeเองก็ช่างใจอย่างหนักที่จะปล่อยให้ผู้เป็นแม่ต้องอยู่อย่างลำพัง เป็นลำดับที่
Erikson เรียกว่า Adolescence:Identity versus Role Confusion เด็กวัยนี้จะเกิดความ
ขัดแย้งของด้านคือ ความเป็นส่วนหนึ่งอของครอบครัวกับความรู้สึกอิสระเสรีอย่างยิ่งยวด
มีเอกลักษณ์อย่างหลวมๆ มีทั้งในแง่ความรู้สึกบวกและลบ ทุกครั้งที่ถูกลงโทษจะเก็บ
ความละอายและไม่เอาไหนอยู่ภายในตัว แต่ตัวMeเองเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำจะดีทั้งตัวของเขา
และกับตัวแม่ในอนาคต ผมว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะมีสำหรับเราผู้ซึ่งต้องเลือกเส้นทางที่ห่าง
เหินจากคนที่บ้าน ไม่ว่า ทั้งการร่ำเรียน การทำงาานหรือนอกหลู่นอกทาง หรือสิ่งที่Meเป็นคือ
สิ่งที่เห็นภายใน ตัวของเราเอง?


แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีเวลารวมที่ฉายยาวนานไม่น้อย (กว่า๒ชั่วโมงหน่อยๆ) แต่เป็นหนังที่
ดูไม่น่าเบื่อ มีสาระแฝงเร้นในแต่ละฉากเหมือนการต่อจิ๊กซอร์ไปทีละตัว แล้วคอยๆขมวดปม
ตามแต่ละช่วงชีวิตของตัวละคร แต่โดยหลักๆแล้วจะมีแต่แม่กับMeสองคนที่มีบทมากที่สุด
จนทำให้เราเห็นลักษณเฉพาะของสองบุคคลทั้งในแง่ที่ลึกซึ้งและห่างเหิน การได้สายตา
จากแฟนสาวของMeอย่าง ทาคาโกะ มัตสึ รับบทเป็น มิซูเอะ เป็นเหมือนนักสังเกตการณ์
นอกเหนือจากคนดูอย่างเราๆที่เห็นความงดงามของความผูกพันอีกด้าน ที่ชัดเจนอีกด้าน
บุคคลที่สามสำหรับหนังหนึ่งเรื่องถือว่ามีความจำเป็นไม่แพ้กัน ไม่อย่างงั้นมันจะกลายเป็น
การสนทนากันของตัวละครหลัก ที่ได้มิติที่แคบและแห้งแล้งจนเกินไป ความน่ารักของแม่ที่
มีรอยยิ้มเสมอสำหรับคนผู้เป็นลูก และต้องถามซ้ำในใจว่าการที่จะให้ไปอยู่ด้วยที่โตเกียว
จะไม่สร้างความลำบากกับชีวิตความเป็นอยู่ของลูก แม่อย่างไรก็คือแม่ไม่ว่างานชิ้นไหน
จะห่วยเพียงใดแม่ก็ชื่นชมทุกงานเขียนที่ลูกสร้างแม้ว่ามันจะเป็นเพียงช่วงก้าวเดินสู่ความ
สำเร็จที่ยังไม่เห็นหนทางวางอยู่ข้างหน้า

เมื่อกลับกลายเป็นว่าจุดพลิกเหตุการณ์ที่รับรู้ว่าแม่กำลังเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เป็นจุดพลิกจากความ
รู้สึกสนุกสนานในช่วงต้นที่กำลังจะเป็นหนังFeel Good Movie ที่Meนำแม่ของตนอยู่ที่โตเกียว
ให้แม่ได้บรรลุความฝันที่จะได้เห็นหอคอยโตเกียวอย่างที่ตั้งใจแม้วาจะไม่สมบูรณ์แบบตาม
ความคิดหวังมากนัก การที่ได้รับรู้ความสำเร็จของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนในเส้นทางที่พ่อของ
เขาตั้งใจแต่ไม่สมหวัง การได้มีลูกสะใภ้สาวสวยและแสนดีจนผู้ชายในโรงอย่างผมยังแอบอิจฉา
หนังมาถึงจุดที่น่าจะจบอยู่หลายต่อหลายครั้ง (แต่ก็ไม่ยอมให้จบ) เรียกได้ว่าพอมาจุดพลิก
(Tripping Point) ผู้กำกับ Joji Matsuoka ก็เล่นเอาตายแม้จะ ไม่คาดคั้น เร่งบีบน้ำตาให้ไหลออก แต่การที่ได้รับการปูพื้นมาอย่างดี ดูแล้วไม่เหนื่อยให้ต้องลุ้นอย่างAlway2เป็นอารมณ
์เรื่อยๆเหมือนกำลังตกปลาที่มีฝนปร่อยๆ ตลอดจนพลังของนักแสดง จังหวะจักโคนที่เหมาะสม มีหลายฉากที่สะกดความดูให้ยากจะก้มหน้าเพราะด้วยหยดน้ำตากำลังก่อตัวจากมรสุมที่ภักดีต่อผู้เป็นแม่
ไม่ว่า ฉากที่จูงแม่ข้ามถนน หรือฉากผู้เป็นแม่ป่วยจน่ละเมอถึงซุปมิโซใส่มะเขือวางอยู่บนเตาให้ผู้เป็นลูกได้ไปอุ่นกิน
ฉากนอนโรง พยาบาลที่ช่องหน้าทอดเห็นหอคอยโตเกียวที่ส่องประกายไฟ มันเป็นเรื่องที่พันผูกในใจผู้ชมเป็น
ทรัยากรเมล็ดหว่านรอการผลิบานในช่วงท้าย ผ่านช่วงการรดน้ำพรวนดินมาโดยตลอดเรื่อง
ดังนั้นพอให้ถึงช่วงออกดอก ต่อมน้ำตามาก็เบ่งบานจนห้ามในไว้ไม่อยู่ แม้จะท่องมนต์สะกดมา
ตลอดตอนท้ายว่า "มันแค่การแสดง มันแค่การแสดง"



ผมว่าหนังเรื่องนี้เตือนให้เราตระหนักในคุณค่าของความเป็นลูกในตัวเราที่ได้รับอะไรดีๆหลายอย่างจาก
ผู้เป็นแม่ แม้ความจริงหนังเรื่องนี้มันเหมาะสมกับทุกคนที่เป็นผู้หญิงที่มีชื่อสากลว่า"แม่" แต่สำหรับคนที่ ต่างบ้านต่างเมืองห่างเหินจากภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่ มันจะยิ่งแทงใจเสียบลึกเพิ่มเป็นทวีคุณ จนพาล
ให้คิดเอาว่า "มันทำหนังเรื่องนี้ให้เรารึเปล่าหว่า?" จะว่าไปมันก็เป็นหนังสูตรสำเร็จแบบญี่ปุ่นที่เพียงแต่
มาเข้าใจวางกลเม็ดแต่ละช่วงนาทีต่อนาที (จึงเข้าใจว่าทำไมถึงมีความยาวกว่า๑๔๒นาที) แต่ไม่ใช่หนังที่ทำให้ฟุ่มฟ่ายแบบต่อยหอย อารมณ์ขันพอประมาณไม่ล้นทะลัก เนื้อเรื่องก็ไม่กระโชกโฮกฮากเพื่อจะเอาผู้ชมให้อยู่ตามใจผู้กำกับ จัดเป็นความเพียงพอแบบสมดุล ขณะที่โทนสีของเรื่องชวนให้ราบเรียบและหดหูไปพร้อมๆกัน Tokyo Towerเรื่องนี้จึงเหมาะสม ทุกประการเพื่อเติมเต็มคำว่าแม่ที่ไม่เพียงพอในพจานานุกรมและไม่ต้องรอให้ถึงวันแม่แห่งชาติ

เท่าที่สังเกตจากโรงภาพยนตร์มีคนแบ่งออกเป็นสามประเภท กล่าวคือ
-รอเดินออกจากโรงให้ช้าที่สุด มีไม่น้อยออกจากเก้าอี้เมื่อเครดิตนักแสดงหมดจากหน้าจอเพราะไม่อยาก
ให้ใครได้เห็นน้ำตา
-เดินออกตามปกติที่หนังฉายจบ พร้อมผ้าซับน้ำตาอย่างไม่อับอาย
-กดโทรศัพท์บอกรักแม่ ภายในเวลานั้น ด้วยหัวใจที่อิ่มเอม




ส่วนผม.........................บอกรักแม่ผ่านบล็อกนี้ละกัน ดีใจที่ได้เป็นลูกของแม่ครับถ้าชาติหน้ามีจริงเราคงได้เป็นลูกน้อยๆของแม่ต่อ ........






เรื่องย่อ ข้อมูลและภาพจาก //www.jkdramas.com/movie
ขอบคุณ ความรักของแม่ที่ทำให้แม่มีตัวตนที่ชัดเจนจากนั้นเรื่องนี้
ขอบคุณ ลิโด้ที่กล้าเอามาฉาย ยืนโรงได้นานพอควร >




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 12 สิงหาคม 2552 16:21:54 น.
Counter : 1114 Pageviews.  

"ไดโจบุได" ตำนานนี้มีความหลัง

แทบไม่ได้เปิดโทรทัศน์ชมรายการช่วงบ่ายวันเสาร์กับอาทิตย์มานานกว่า
ห้าปี (ไม่ได้โม้ครับ ห้าปีจริงๆ ก็ติดทั้งงาน ทั้งเที่ยว ทั้งๆๆๆ..) เห็นความปรับ
เปลี่ยนไปของวงการทีวีไทยอยู่ไม่น้อย ละครไทยได้แย่งชิงกับบันเทิงใน
รูปแบบที่คล้ายๆกัน นั้นคือ กระแสซิกคอม (ละครที่มีนักแสดงหลักยืนพื้น
มีการถ่ายทำในห้องส่ง และจำต้องตลกแบบมีการใส่เสียง ตีซาวด์เพิ่ม
ความขบขัน-ผู้เขียนนิยมเอาเอง) แล้วรูปแบบการนำเสนอแบบนี้แทบ
จะมีปรากฎทุกช่องที่เน้นขายความบันเทิง แสดงว่าคนไทยกำลังหาเรื่อง
ผ่อนคลายความเครียดในสภาพสังคมและเศรษกิจที่ยุให้เครียดได้ไม่ยาก

นี้แสดงว่าเราเองคงแก่ตัวลงไม่น้อย เพราะทนดูได้ไม่เท่าไรจำต้องปิด
เครื่องโทรทัศน์เสีย (เพราะมันไม่ตลกอย่างที่ควรตลกเอาเลย) มานั่งหลัง
ผิงนอนกร่ายหน้าผา รำลึกในอดีตว่า ทั้งย้อนไป....ปี ทุกบ่ายวันเสาร์
มันช่างเป็นความสุขแบบตั้งหน้าตั้งตารอแบบพิเศษ เพราะจะมีละครงช
ที่มีสองหนุ่มยุ่นปี่ มาทำเรื่องตลกโปกฮาตามประสาแดนปลาดิบยุคนั้น
ทางช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ




เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึงก็คือ "คู่หู-คู่ฮา" ภาษาอังกฤษ คือFun TV with
Kato-chan and Ken-chan ถ้าคนญี่ปุ่นก็อาโน้ ว่า 加トちゃんケンちゃ
んご きげんテレビ ละครเรื่องนี้โด่งดังในญี่ปุ่นไม่น้อยสำหรับคนยุคกลาง
ปี๘๐ ออกอากาศทางช่อง Tokyo Broadcasting System นำแสดงโดย
เคน ชิมุระ (Ken Shimura) และชา คาโต้ (Cha Kato) แสดงเป็นนักสืบเอกชน
ที่สามารถตามสืบได้ทุกเรื่อง (ถ้ามีลูกค้าเป็นผู้หญิง-ซึ่งจะเป็นดารารับเชิญ
สลับหน้าไปแต่ละตอน) โดยจะมีหัวหน้าที่เจ้าสองคนเรียกว่าBoss คอยโทร
ศัพท์แจ้งเรื่องที่ลูกค้าไหว้วานและนัดแนะเวลาให้ (ซึ่งก็ไม่เคยเห็นหน้าจน
ตอนสุดท้าย) เนื้อหาที่โปรดอย่าหาสาระ แต่มีนัยยะแอบแฝงเชิงวัฒนธรรม
(เผลอๆยิ่งกว่าละครเกาหลีเสียอีก) ถือเป็นการฉลาดที่เล่าเรื่องแบบตลก
เกินจริงโดยอาศัยวัฒนธรรมร่วมสมัยตลอดจนเอกลักษณ์ ความเชื่อ และ
สังคมเชิงอำนาจมากัดขบ เสียดสี และตีไข่ให้เป็นเรื่องฮาๆที่คนไทยเรา
รับรู้และเข้าใจได้ (ถึงขนาดทุกเช้าวันจันทร์ผมกับเพื่อนมักเอาเรื่องขำขัน
จากละครมาเล่าสู่กันที่โรงเรียน-ยังขำต่อ) สิ่งที่ผมว่าถึงความฉลาดในละคร
เรื่องนี้คือ การทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ ผ่านกลวิธีที่
ต้องอาศัยความสามารถของผู้เล่นทั้งการรุกมุขตลกของคาโต้และการรับมุข
ของชิมุระอย่างมืออาชีพ ยิ่งผ่านการพากย์เสียงเวอร์ๆของน้าต๋อยเซมเบ้ที่พากย์ใ
ห้ตัวละครคาโต้และ........พากย์ชิมุระ(เคยจำชื่อได้แต่เวลาผ่านความทรงจำก็เลือน)
ด้วยการนำเสนอสาสน์ที่เข้าใจได้ไม่ยากและไม่สมเหตุสมผลเกือบทุกประการ
(แน่ละเดี๋ยวเข้าท่อน้ำเจอตัวกะปะ ยากูซ่านับร้อยออกมาจากรถคันเดียว
หรือโชว์ฉากสต๊านท์แมนที่ตื่นตาตื่นใจ เป็นต้น)
และความเข้าใจได้ไม่ยากนี้้ มันทำให้สองตัวละครกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนดู ถึง
ความทะลึ่งตึ่งตังแบบซื่อๆ(จนเลยขั้นเซ่อๆ) ทำให้เราเห็นใจและติดตามภารกิจ
ที่ดูเป็นภาระชาวบ้านเกือบทุกตอนด้วยรอยยิ้มและอารมณ์ขัน (ฮา)



ละครคู่หู คู่ฮา ถูกย้ายเวลาฉายค่อนข้างบ่อยเรื่องหนึ่ง สำหรับซีรีส์คอมมาดี้
ต่างประเทศ เพราะมีทั้งบ่ายโมงของวันเสาร์ บางทีก็ห้าโมงเย็นวันเดียวกัน
และเคยนำมาฉายในวันศุกร์ตอนห้าทุ่มทางทีวีช่องเจ็ดสี ถ่ายทอดออก
อากาศสัปดาห์ ๒ ชั่วโมง (จำเก่งอะปล่าว)
แต่ละตอนที่ตั้งชื่อภาษาไทยก็บ่งบอกภารกิจของเรื่องในตัวและกรอบเนื้อเรื่อง
ที่ดูจะไร้กรอบ สองนักแสดงก็บ่ยันที่จะเล่นอย่างเราไม่คิดว่ามนุษย์วัยปูนนี้
จะเล่นได้ ทั้ง ตอนหนีคุก บ้านผีสิง มนุษย์ต่างดาว ถิ่นยากูซ่า และอื่นๆ
แต่คาถาประจำละคร(ที่ไม่รู้บ่งบอกความหมายอะไร) ว่า"ไดโจบุได อั๊วๆอั๋ว"
โดยใช้กลองพิธีกรรมสามแฉก ผมว่า"ใครที่วัยเดียวกับผม จำได้ดีกว่าคำ
ปฏิญาณของลูกเสือ เนตรนารีเสียอีก ทุกวันนี้เราสามารถหาชมได้ผ่านทาง
youtubeโดยพิมพ์คำว่า "คู่หู คู่ฮา"เข้าไป งานนี้ยังเรียกเสียงฮาวัยเด็กอย่างเด็กๆ
ได้อยู่เช่นเคย

เรื่องน่ารู้จากเรื่องเดียวกัน
-การกระแสความฮิตจากละครเรื่องนี้ ไม่เพียงแค่
คนตะวันออก แม้แต่ฝรั่งหัวทอง ในปี ๑๙๘๙ โปรดิวเซอร์ชาวมะกันอย่าง
Vin Di Bona เป็นพันธมิตรร่วมกับTokyo Broadcasting System พัฒนา
แผนงานสำหรับเขตพื้นที่เขตตะวัน นำมาสู่ความสำเร็จของAmerica’s
Funniest Home Videosและรูปแบบรายการคอมเมดี้โชว์ที่คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ยังผลิตเกมส์ katoken แนว action ให้เล่นด้วย




-ปัจจุบันนักแสดงทั้งสองแก่หงอม ผมขาวโพลน
ไม่น้อยและเปลี่ยนบทบาทไปอยู่เบื้องหลังการทำงานไป
-นักแสดงอย่างคาโต้ เคยมีข่าวลือหนักว่าเขา
เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายในปี ๑๙๙๖ จนต้องออกมาแก้ข่าวให้หึ่ม อีก๒ปีข้าง
หน้าเขาก็จะอายุ๖๐แล้ว ปัจจุบันออกเทปร้องเพลงเจาะตลาดกลุ่มคนวัยเดียวกัน
-ส่วนคุณชิมูระ เห็นถูกนายคาโต้ข่มเอาๆแต่อาวุโสกว่านายคาโต้ถึง๗ปี
ด้วยกัน
-ถ้าจะเอาลูกของคุณร่วมชมด้วย โปรดให้วิจารณญาณแก่เขาเหล่านั้น
ด้วยยุคนั้นยังไม่มีเซนเซอร์แบบยาหม่องหรือภาพโมสิคที่รู้สึกถึงความรำคาญตา
แบบปัจจุับัน

ข้อมูล //www.wikipedia.org
ภาพจากwww.jedineko.com




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 3 พฤษภาคม 2551 22:49:32 น.
Counter : 6253 Pageviews.  

Always : Sunset on Third Street 2 : หนังใหม่เล่าให้เก่า

<





มีหนังอยู่หลายเรื่องที่ผมภาวนาไม่ขอให้มีภาคต่อ ด้วยความเชื่อที่ว่า ความเป็น
"เอกภาพยนตร์" (the best of movie) นั้น ควรจะเริ่มต้นและสิ้นสุดในข้อจำกัดใน
กรอบเวลาจะสองชั่วโมงหรือสามชั่วโมงก็ตามแต่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของทีม
งานภาพยนตร์ที่จะตัดต่อ ลำดับภาพ เรื่องราวและนำเสนออย่างมีชั้นมีเชิงกัน
อย่างไร แต่หนังมิใช่งานมูลนิธิหรือสังคมสงเคราะห์ เนื่องด้วยการทำหนังแต่ละ
เรื่องมีต้นทุนที่สูงและต้องมีผู้อำนวยการสร้าง(Producer)ที่ใจถึงและระห่ำเพียง
พอที่จะควักเงินแต่ละก้อนในช่วงเริ่มต้น ช่วงกลาง ตลอดจนกรณีงบบานปลายใน
เรื่องต้นทุนที่คาดไม่ถึงอีกมาก ในจะต้องเจรจาแก่สายหนัง โรงภาพยนตร์ การประชา
สัมพันธ์และอีกสิบกว่ากลยุทธที่พอจะงัดมาใช้งานได้ อย่างน้อยก็ต้องถอนทุนในระดับ
ปฐมฤกษ์เอาไว้ให้อุ่นกระเป๋า ดังนั้นหนังภาคต่อคือการอาศัยโอกาสและความสำเร็จ
ที่หนังภาคแรกได้สร้างเอาไว้ ในแง่การรับรู้ของคนดูก็ส่วนหนึ่ง การได้ฐานจากนักชม
กลุ่มเดิมก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน การเจราระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจก็ง่ายขึ้นเพราะมี
ตัวเลข สถิติที่พอเป็นเครื่องยืนยันว่า"งานนี้อั๊วกะลื้อมีแต่ได้กับได้แน่นอน"

หนังเรื่อง "Always" ก็เช่นกัน หนังภาคต่อที่นักวิจารณ์ที่ปั่นหัวอ่อนอย่างผมให้เชื่อสนิทใจว่า
น่าควรทำใจในระดับหนึ่งก่อนที่จะยื่นตั๋วเป็นดีที่สุด หรือเป็นไปได้สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ก็ควรเริ่มต้นดูภาค
ที่๒ แล้วค่อยไปติดตามเอาภาคที่๑ ตามแผงหรือร้านเช่าทั่วไป จะได้ไม่รู้สึกขัดเคืองในอารมณ์กระมลหมาย ยิ่งในแง่ของรางวัลแล้ว
Japan Academy Awards ที่ได้รับก็ไม่ชวนปลื้มเหมือนกับภาคแรก
(แม้แง่ตัวรายได้ Always 2 ทำรายได้เปิดตัวไปถึง 4.74 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตามรายได้นี้ก็สูงกว่ารายได้เปิดตัวภาคแรกถึง 1.5 เท่า จากการฉายในญี่ปุ่น ที่ฉายต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่า 3 เดือน) โดยรางวัลปีนี้ถูกกวาดไป
โดยหนังที่ชื่อเรื่อง Tokyu Tower ที่ฟาดไปเนอะๆ ๕รางวัล รวมทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม
(โดย Always2 เข้าชิงถึง๑๓สาขา แต่ได้เพียง๒สาขา จากการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมและดารานำชายยอดเยี่ยม คือ ฮิเดทากะ โยชิโอกะ ที่รับบทนักเขียนไส้แห้ง) ภาคต่อในหลายต่อหลายเรื่อง การวัดจากรายได้รวมในสัปดาห์แรกไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นหนังที่ดีเสมอไป บ่อยครั้งมักมาจากต้นทุนที่ดี
อันเกิดจากคุณประโยชน์จากภาคแรก จึงทำให้หลายต่อหลายครั้งผมเองก็ปักใจเชื่อว่า ภาคที่สองมันย่อมดีไม่ต่างจากภาคแรกเป็นแน่ แต่มีไม่น้อยก็ออกอาการแป๊ก! ไม่ต่างจากศิลปินที่กำลังจะออกเทปชุดสองจำต้องเปลี่ยนองค์ทรงเครื่องแบบ
ยกเครื่องเพื่อให้เกิดรูปแบบการรรับรู้ใหม่ต่อผู้บริโภค

แต่ด้วยความเชื่อใจและมั่นใจว่าทีมงานนักแสดงเดิม (ที่ไม่มีใครสละบทเพื่อต้องหา
ตัวละครใกล้เคียง (แต่ไม่ใกล้ใจคนดู) กอปรกับผู้กำกับคนเดิม ( Takashi Yamazaki ) น่าจะเป็นเครื่องวัดใจให้ผมต้องควักสตางค์อันน้อยนิดในกระเป๋า เพื่อไปหาสหายตัวละครเก่าในภาคแรกที่ในแง่การรับรู้ก็ไม่ต่างจากน้องๆจากthe star
ประมาณนั้น งานนี้จึงมีความตั้งใจในการปล่อยทิ้งโลกยุคปัจจุบันไว้นอกโรง
กลับเข้าสู่เซลลูลอยด์ (หรือดิจิตอลไฟล์กันละหว่า?) สู่สมัยเมื่อปี ค.ศ.1959 หนึ่งปีที่
always ภาคแรก(ค.ศ.1958) ผ่านพ้นไปอย่างช้าๆ จากเสียงทีระเบิดตูมตามตั้งแต่เริ่มต้นในนาทีแรกที่หนังเริ่มฉาย




ระดับการสังเกตการณ์สำหรับตนเองแล้วนอกจากภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ อารมณ์ร่วมสำหรับผู้ที่ มาชมในรอบเดียวกันก็ถูกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการจะเอาตัวเองเป็นเกณฑ์วัดโดยพื้นฐาน(เริ่มต้นที่รับรู้ในแง่อคติดูจะไม่สมเหตุ
สมผลกับการวิจารณ์ในครั้งนี้(แต่มาคิดอีกทีก็ปล่อยให้คนดูพวกนี้เอาทัศนคติส่วนตัว
ไปไว้ลงบล็อกของพวกสู่เจ้าเองไม่ดีกว่าเหรอ?)

เรื่องย่อของภาคที่สองก็มีอยู่ว่า "เรื่องราวในหนังจะเกิดขึ้น 4 เดือนหลังจากภาคก่อน ภาพยนตร์ Always 2 ยังคงเล่าชีวิตของผู้คนในถนนสายที่ 3 ของโตเกียวกลุ่มเดิมอย่าง ริวโนะสุเกะ
(ฮิเดทากะ โยชิโอกะ)นักเขียนไส้แห้งตั้งหน้าตั้งตาเขียนนิยายเพื่อชิงรางวัลใหญ่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถเลี้ยงจุนโนะสุเกะ เด็กที่ฮิโรมิ (โคยูกิ) สาวบาร์ที่เขารักฝากมาได้ ส่วนครอบครัวซูซูกิ เจ้าของร้านซ่อมยานยนต์ ก็ต้องรับการมาเยือนของญาติมีฐานะแต่ตกอับ ซึ่งนำลูกสาวช่างเอาแต่ใจมาฝากให้ดูแลซึงกลายเป็นสาวน้อยขวัญใจลูกชายของ
ครอบครัวซูซูกิขึ้นมา"

เมื่อออกจากโรงแบบถูกเชิญออก (โดยนิสัยผมจะเลือกพื้นที่ส่วนกลางเวลาดูหนังโรง เพราะต้องการรับเพลงประกอบช่วงท้ายพร้อมกับเครดิตนักแสดงและรายละเอียดปลีกย่อยที่
ผู้กำกับไม่อาจไว้กลางเรื่องได้ แต่ไม่น้อยผมมักถูกพนักงานของโรงหนังอัญเชิญด้วยมารยาท เหตุด้วยจำต้องตรวจเช็คสภาพเพื่อให้ทันรอบหนังลำดับต่อไป) ก็พยายามใคร่ครวญถึงมูลเหตุความเชื่อและลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากหนังภาคแรกอย่างไร อันเป็นพฤติกรรมดั้งเดิมที่เสียค่าตั๋วหนังเป็นร้อยมันก็ย่อมต้องได้อะไรมากกว่าความบันเทิงเป็นที่ตั้ง แต่จะเล่าอย่างไรให้กระชับไม่เคืองขุ่นจากเพื่อนๆบล็อกที่บอกว่าบล็อกคุณน้องน้ำท่วมบล็อก ไร้เสันขนมจีนไปเสียหมดแล้ว

สิ่งที่alway2 เจออาถรรพย์ไม่ต่างเรื่องหนังอื่นที่มี๒ตามท้าย คือ ข้อจำกัดของฐานการดำเนินเรื่อง ผมคิดว่านักเขียนบททุกคนคงต้องลำบากใจที่ต้องสร้างเรื่องราวต่อเนื่องภายใต้แีรงกดดันจาก
โครงสร้างข้อบังคับเดิมที่มีมาตั้งแต่ภาคแรก จะให้นักแสดงปรับเปลี่ยนนิสัยกะทันหันก็ไม่ได้ หรือแม้การต่อเติมตัวละครใหม่ๆก็ต้องอยู่ในฐานที่ตัวละครยุคต้นสามารถปฏิสัมพันธ์กันได้อย่าง
ไม่อิหลักอิเหลื่อม อย่างน้อยตัวละครที่สร้างขึ้นมาใหม่อย่าง มิกะสาวน้อยที่เอาแต่ใจด้วยอดีตเคยเป็นลูกคุณหนู ทาโร่หมาน้อยที่ดันมาเกิดในยุคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาด ทาเคโอะเด็กหนุ่มมุมมืดที่หมายปองมัตซึโกะสาวช่างอดีตเพื่อนร่วมมัธยม ซึ่งก็สามารถสร้างสีสันของเรื่องราวและเป็นตัวเชื่อมความแปลกแยกขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาของ
ตัวละครยุคเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี ตัวละครยุคเก่าที่เท่าโดดเด่นและสังเกตเห็นน่ามีเพียงแต่ริวโนะสุเกะ
(ที่นำแสดงโดยฮิเดทากะ โยชิโอกะ)รับบทเป็นนักเขียนไส้แห้งที่สับสนกับความสามารถเชิงพรสวรรค์
ในการเขียนนิยายเพื่อเข้าชิงรางวัลอาคุตาเกะ(คงเทียบได้กับรางวัลซีไรท์ของบ้านเราด้วยมีเงินรางวัล
ยั่วใจถึงหนึ่งแสนเยนของยุคนั้น) บทที่ส่งและตัวละครเสริมที่ขับดันอยู่อย่างเสมอ จึงไม่แปลกที่เขาจะได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง ภาคต่อเรื่องนี้ยิ่งสร้างความแน่นแฟ้นของตัวละครเด็กอย่างจุนโนะซึเกะ
ลูกติดของเมียลับนักธุรกิจระดับเศรษฐีอันมีผลต่องานเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจที่ริวโนะซึเกะ
เขียนขึ้นเพื่อฮิโรมิ (โคยูกิ) สาวบาร์ที่เข้ารักอย่างหัวปักหัวป่ำ ยิ่งครอบครัวตระกูลซูซูกิ (โปรดอย่าถามว่าตระกูลนี้จะมีชื่อเสียงในเรื่องอะไร) เป็นตัวส่งที่สร้างเสียงฮาอยู่ตลอดเวลา ประมาณว่าเมื่อพ่อ แม่ ลูกเข้าฉากเมื่อไรเตรียมเรียกเสียงฮาได้เลย!

แต่ด้วยต้นทุนที่ภาคแรกทำไว้อย่างดีเยี่ยม(เหมือนของขึ้น) ไม่แปลกที่ผู้ชมอย่างเราๆจะเผลอไปเทียบกับรุ่นแรกอยู่เสมอ
สิ่งที่ภาคสองตอบโจทย์ผมได้ดีแต่ดีไม่พอ คงด้วยเรื่องของการดึงอารมณ์ร่วมของตัวละคร แม้ไม่ถึงกับห่างเหินแต่ก็ไม่ถึงกับสวมกอดอย่างสนิทใจอย่างในภาคแรก คล้ายตัวละครพยายามจะรักษาระยะห่างกับคนดูเพื่อพัฒนาตัวบทให้ก้าวไปเร็วขึ้นแทนที่จะ
ปูพื้นตัวละครเฉกเช่นกับภาคแรก เนื้อเรื่องหลายตอนเร่งรัดอารมณ์แล้วตัดทิ้งโดยกะทันหันอย่างไร้เยื่อใย ไม่ว่าฉากหิ่งห้อยหรือฉากก๊งเหล้ากับอดีตเพื่อนทหารผ่านศึกเรียกได้ว่าต่อมน้ำตากำลังทำงาน
มันก็ตัดขึ้นบทใหมขึ้น่เฉยเลย (เล่นเอางงเหมือนกัน) ส่วนสุดท้ายคือการเดาเนื้อเรื่องที่ง่ายเสียจนผมคิดไปเองว่าทั้งโรงกว่าครึ่งคงเดากันออก แต่สำหรับเรื่องนี้พอให้อภัยกันได้เพราะเราไม่อาจคาดเดาอารมณ์ตัวละครว่าจะมีความรู้สึกเช่นไร (ประมาณว่าเดาได้แล้วไง เดี๋ยวอั๊วหาเรื่องให้ลื้อเดาได้ไม่สิ้นสด จนผมต้องบ่นในใจว่า"เฮ้ยไม่ดงไม่เดามันแล้ว จะพาอั๊วไปทัวร์สะพานนิฮงบาชิ, รถไฟโคดามะ, สถานีรถไฟโตเกียวหรือสนามบินฮาเนดะก็ตามแต่เพราะทีมเทคนิคพิเศษของพวกลื้อมันเนี๊ยบไปเสียหมด) แต่ที่เสียดาย คือ มนต์คลังของโตเกียวทาวเวอร์ที่ภาคนี้มันถูกปรับเปลี่ยนในแง่สิ่งสมบูรณ์ที่ไร้มิติและ้พลัง
(ด้วยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียวไปเสียแล้ว)แต่ดูคล้ายจะกลับมาให้
ความใส่ใจกับดวงอาทิตย์ในแง่สัญลักษณ์แห่งชาติแทนที่อีกครั้ง แต่ทั้งหมดยังคงต่างในแง่สถานที่แต่มุมมองเดียวกัน ผมยังชอบประโยคที่พ่อเศรษฐีของจุนโนะสุเกะที่บ่นกับตัวเองว่า "ญี่ปุ่นเองกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีอะไรสำคัญมากกว่าเงินเป็นไม่มี" มันช่วยตอกย้ำข้อกังวลที่ทุนนิยมสามานย์ (คุ้นไหมครับคำนี้?)ว่าวิถีเศรษฐกิจในแง่ที่ขับเคลื่อนสังคมญี่ปุ่นหลังสงครามมันได้ทำลายในแง
่ความเชื่อแบบคุณค่าเดิมเดิมและสร้างโจทย์ในรูปแบบความเชื่อชนิดใหม่ แม้ยุคหนึ่งที่ญี่ป่นเองยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดยาวนาน(long term Deflation) ข้อกังวลในแง่ความเชื่อว่าเงินตราสามารถซื้อทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ความสัมพันธุ์ที่เชื่อใจระหว่าง
บุคคลต่อบุคคลถือเป็นสงครามทางจิตใจที่ยังคงหลอกหลอนแม้ญี่ป่นเองจะสิ้นสงครามโลกครั้งใหญ่
ไปแล้วก็ตาม

สำหรับผม always2 ไม่ได้เป็นหนังที่เลวร้ายอย่างที่นักวิจารณ์บางส่วนคิด(มีประเภทเพื่อนหาย ฉายเดียวมาดูในโรงแบบผมไม่น้อย ก็รู้กันอยู่กว่าจะเล่าภูมิหลังภาคแรกสู้เอาปากมาดูดน้ำ กินป๊อปคอร์นไม่ดีกว่าเหรอ?) เพียงแต่ในแง่ปรัชญาของเรื่องดูลดทอนลงแต่ให้ความสำคัญกับชีวิตชวาของตัวละครบางตัวมากขึ้น ทางด้านอารมณ์ขันยังคงมีให้อย่างเหลือเฟ้อ ส่วนการใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยชนิดของแทนใจไว้ดูต่างหน้าแทบตัดหายสำหรับภาคนี้ การตัดต่ออาจมีปัญหาสำหรับผม(แต่ผู้ชมรอบผมหลายๆคนดูยังสนุกสนานไปกับเรื่องที่ตัวละครเล่น ฮาแม้กระทังเห็นหน้าครอบครัวซูซูกิเข้าฉากเฉยๆ เล็บนี้จิกเก้าอี้เตรียมกลั้นใจฮา) ยิ่งคำบรรยายไทยบางช่วงดูเหมือนจะเร้าอารมณ์ขันเพื่อมิให้เขาหรือหล่อนนั้นดูเป็นคนเมืองเต็มตัว
-ต้องดูเอาเอง) แต่ยอมรับว่าการไหลลื่นมีไม่เท่ากับภาคแรก ก็ต้องเข้าใจว่าอะไรที่มันแรกๆมันย่อมแปลกหูแปลกตาสำหรับผู้ชมเป็นธรรมดา always2 ถือเป็นงานที่ไม่ต้องอ้างอิงหนังภาคแรก ก็สามารถไหลลื่นตามไปได้ เนื้อหาก็ไม่ซับซ้อนจนต้องพึ่งตำราประวัติศาสตร์สมัยโชวะที่๓๓แต่อย่างใด หากอยากจะหาความบันเทิงสักเรื่องหนังภาคนี้ก็พร้อมประเคนให้ท่านถึงที่ แต่สงสัยที่ให้เตรียมผ้าเช็ดหน้านี้สิ.....อาจด้วยหัวเราะจนน้ำหูน้ำตาไหลมากกว่า..


ขอบคุณข้อมูลจากwww.popcornmag.com and //www.jkdramas.com
สำหรับข้อมูลเีรื่องย่อและรางวัล
ขอบคุณ //www.varietyfair.comสำหรับข้อมูลที่แตกต่างจากชาวบ้าน
ขอบคุณรูป จากที่ไหนไม่ทราบเพราะลิงค์เสียจนตาลาย
ขอบคุณ วันแรงงานแห่งชาติ ที่ทำให้ตรวจอักษร จัดฟรอนต์โดยไม่กลัวเรื่องตอกบัตรไม่ทัน
ขอบคุณผู้ทนอ่าน ที่ไม่รู้ทนการเขียนไป อ้างเรื่องตัวเองตามนิสัย






 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2551 4:35:08 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

Always : หนังเก่าที่เอามาเล่าใหม่


เคยมีไหนครับ ที่เวลาที่เราเข้าไปดูหนังเรื่องใดสักเรื่อง
เราเองจำต้องแต่งองค์ทรงเครื่อง ให้อินกับหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
อันเป็นการสร้างอรรถรสส่วนบุคคล ไม่ต้องตงต้องจ้าง ชนิดที่ว่า"ข้ามาด้วยใจ"
(หากไม่นับโดนเรียนด้วยชุดเด็กมัธยมเพื่อไปดูหนังรักวัยรุ่น
กระโปงบานขาสั้นที่เกลื่อนเมืองในช่วงนั้น)
เคยแต่งพังค์เพื่อไปดูNature Born Killer หรือแต่งเป็น "L "
ตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่อง Death Note ไม่เว้นแต่งตัวเสื้อกล้าม
กางเกงขาสั้นเพื่อไปชมมหาลัยเหมืองแร่ จนกระทั่งแต่งชุดทีมฟุตบอลรีลมาดริด
เพื่อไปดูหนังบอลไตรภาคเรื่อง Goal วีรกรรมล่าสุดผมมีโอกาสขุดเสื้อไฟโดดีโด้
ตัวมาสค้อดของเครื่องดื่มเซเว่นอัพ สวมกางเกงฮาร่า หนีบรองเท้าส้นเกี๊ยะ
เพื่อไปดูหนังเรื่อง "Always"


เรื่องนี้เป็นภาคที่สองที่ฮิตถล่มทะลายในภาคแรก Always
เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2005 ทำรายได้สูงเป็นอันดับ 2
ประจำสัปดาห์นั้น ในสัปดาห์ถัดมา หนังก็สามารถแซงก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 บนบ๊อกซ์ออฟฟิศอย่างสง่างาม
และยังสามารถรั้งอันดับ 1 เช่นนั้นไว้ได้ในสัปดาห์ถัดมาอีกด้วย คว้าผลรางวัล
สถาบันภาพยนตร์ญี่ปุ่นประจำปี 2006 สามารถคว้ารางวัลมาครอบครองรวมแล้ว
ถึง 12 ตัว จากการเข้าชิง 14 สาขา
เป็นสถิติยอดเยี่ยมที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นกันบ่อยนัก 12 สาขา ทำให้หนังเป็นเจ้าของสถิติ
ผู้ได้รับรางวัลจากสถาบันดังกล่าวสูงสุดเป็นอันดับ 2 เทียบเท่า The Twilight Samurai
และเป็นรองก็เพียง Shall We Dance? ซึ่งได้รับรางวัลไป 13 ตัว



หนังย้อนกลับไปปี ค.ศ. ๑๙๕๘ หรือปีโชวะที่๓๓ นับจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่๒
ดับความฝันมหาอำนาจบูรพทิศอันเกรียงไกรของกองทัพญี่ปุ่น สั่นคลอนวิถีความ
เชื่อ
สถาบันแห่งเทพอาทิตย์อุทัย เหมือนกับการบอบช้ำในความฝันของคนร่วมชาติ
และทุกอย่างจำต้องกลับมาตั้งหลักยอมรับรูปแบบความเจริญชนิดใหม่ภายใต้การดิ้นรน
เพื่อไขว้หาความฝันอีกรูปแบบ โดยสถาบันแห่งจักรพรรดิ์มิได้กลายเป็นจุดศูนย์รวม
ความเชื่อดั้งเดิมในเชิงสมมติเทพ สำนึกความเป็นชาติกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไร้พลัง
ญี่ปุ่นกำลังขับเคลื่อนในสิ่งใฝ่ฝันใหม่ภายใต้สัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นองค์สถาปัตถ์ใจกลาง
กรุงนั้นคือ "โตเกียว ทาวเวอร์"



หอคอยนี้กำลังถูกสร้างขึ้นท่ามกลางการสร้างเนื้อสร้างตัว จากกลุ่มคนหลากหลายชนชั้น
เพื่อให้มีสถานะภาพที่ยอมรับจากคนในสังคมร่วมกันเอง เราจะเห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มที่
มีต่อสภาพรูปแบบขององค์กรเล็กๆอย่างหมู่บ้าน หนังเรื่องนี้อุปโลกคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง
ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่ยากลำเข็ญแต่ในเชิงที่ขบขัน สนุกสนาน และอลหม่านโกลาหล
คละเคล้ากันไป หนังญี่ปุ่นเกือบทุกเรื่องนี้ความชาญฉลาดที่จะใช้ข้อจำกัดของตัวละครโดย
ซ่อนปมขัดแย้งเชิงบุคคลไว้ภายในและค่อยๆพยายามคลี่คลายปมเหล่านั้นโดยเชื่อมโยง
กับสภาพสังคมและสอดรับกับกลุ่มของตัวละคร เราจึงสามารถมองเห็นพัฒนาการของตัวละคร
ไปพร้อมๆกับพัฒนาการทางสังคม หนังเริ่มต้นจากความฝันเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของเด็ก
สาวอย่าง มัตสึโกะ(มากิ โฮริกิตะ) ที่เดินทางจากต่างจังหวัดที่มีความหวังจะเข้าทำงาน
เป็นเลขาในบริษัทรถยนต์ชื่อดัง ตั้งแล้วมาพบกับเจ้าของกิจการประกอบรถเล็กๆ
โนริฟูมิ ซูซูกิ(ชินอิจิ ทสึสุมิ) เขามีภรรยาที่อารมณ์ดีอย่าง โทโมเอะ(ฮิโรโกะ ยากุชิมารู)
ซึ่งต้องรับมือกับ อิปเป ลูกน้อยนิสัยเอาแต่ใจอยู่เสมอๆ ด้วยความเข้าใจผิดในเรื่อง
ใบสมัครทั้งสองเลยจำต้องยอมรับสภาพของจำกัดของแต่ละฝ่ายและกลับกลายเป็นมิตรภาพ
ที่ครอบครัวในปัจจุบันยังต้องอิจฉา



ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านขายขนมของ ชากาวะ ริวโนสุเกะ(ฮิเดทากะ โยชิโอกะ)
เพื่อนบ้านของซูซูกิตั้งแต่สมัยเด็ก ภายนอกเขาเป็นชายหนุ่มผมยาว ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใครนัก
ทั้งบุคลิกและคำพูดคำจา เขายังคงหมกมุ่นกับการเป็นนักเขียนงานวรรณกรรมที่มักเอาตนเอง
ไปเปรียบกับ เคนซาบุโร่ โอเอะ(ปัจจุบันเป็นหนึ่งในนักเขียนรางวัลโนเบลของญี่ปุ่น)
แต่ตนเองก็ไม่เคยประสบความสำเร็จได้รับรางวัลอะไรเลยสักครั้ง จนต้องหันไปเขียนเรื่องสำหรับเด็ก
ให้ได้เงินมาพอเลี้ยงชีพแทน สิ่งที่พอจะช่วยเติมเต็มชีวิตชีวาให้กับเขา ก็คือ
การไปร้านเหล้าของเจ้าของร้านสาวสวยอย่าง ฮิโรมิ(โคยูกิ) แม้เธอจะหาเรื่องที่ทำให้เขาลำบากใจ
เมื่อขอร้องให้ช่วยเลี้ยง จุนโนสึเกะ(เคนตะ ซูกะ) เด็กน้อยที่ถูกพ่อและแม่ทิ้ง
ซึ่งเธอได้เป็นภาระเลี้ยงดูจากญาติๆ
นอกจากชีวิตของคนสองบ้านนี้ ผู้คนในถนนยังรวมไปถึง คุณป้าร้านขายบุหรี่ที่มักขี่จักรยานอย่างรีบเร่ง
และชนผู้คนเป็นประจำ, คุณหมอใจดีที่อาจกลายเป็นยักษ์ในสายตาคนไข้,
กลุ่มเด็กน้อยซึ่งต่างมาเล่นของเล่นใหม่ๆ และกลุ่มผู้ชายซึ่งหาความสำราญที่ร้านเหล้า
หลังตรากตรำทำงานทั้งวัน



เพียงแค่หนังเริ่มปฐมบท ความสนุกสนาน เฮฮาก็ดำเนินกันมาตั้งแต่ต้น
พร้อมๆกับ ความน่าทึ้งของเทคนิคพิเศษที่เนรมิตสภาพแวดล้อมที่ร่วมสมัย ไม่ว่า
หอคอยที่ยังสร้างไม่เสร็จ เมืองโตเกียวยุคหลัง สงครามไป๑๓ปี รถไฟรางสมัยก่อน
ไม่เหลือเค้าสภาพบ้านเมืองของกรุงโตเกียวในปัจจุบันที่แออัด แข่งกันสูงอย่างไม่ลดละ
เราจึงเห็นภาพรถกระป๋องกระแป๋ง ตึกรามสีดำครึ้มสกปรก แต่พฤติกรรมเชิงวินัย
สู้คนสู้งาน
มุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ยังปรากฎให้เห็นเสมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับคนประจำชาติ
(ดังนั้นคนไทยอัธยาศัยไมตรีดีและยิ้มสยามก็ควรจะรักษากันไว้เป็นสมบัติผลัดกันชม)
หนังเรื่องนี้จึงเหมือนการร่วมรำลึกวิถีชีวิตที่คนร่วมสมัยหนึ่งสะท้อนภาพกับอีกคนร่วมสมัยหนึ่ง
ถึงความทรงจำครั้งวัยเด็ก ว่าเราเติบโตไปนานแค่ไหนที่ปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านั้น
ดำลึกไปในจิตใจเรา



แม้หนังจะมีปัญหาในเรื่องความสมจริงในแง่วิธีคิดที่ดูจะไม่สมจริงตามยุคสมัย
และเป็นชีวิตที่อุดมคติจนเกินไป แต่ด้วยสีสันของตัวละครที่แสดงบุคคลิกลักษณะที่แตกต่าง
และจริงจังต่อความฝันเบื้องหน้าที่ไม่รู้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่ขอให้ได้ทำ
แม้บางทีจะไม่มีพรสรรค์จนมักถูกสบประมาทอยู่เนื่องๆ แต่พรแสวงที่มีของทั่วทุกคนทุกนาม
ที่ฟันฟ่าไปให้ได้แม้นักชมเก้าอี้ริมไซด์อย่างผมยังต้องแอบตะโกนในใจว่า
"เฮ้ย! ลองอีกสิตั้งซิพวก อั๊วนั่งเป็นกำลังใจลื้ออยู่ สู้มันคาซียะ"
ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า ที่ตลาดแบนด์ใหญ่ๆอย่าง โตโยต้า โซนี่ โตชิบา กว่าที่
เขาสร้างเนื้อสร้างชื่อได้ คงด้วยปัจจัยจากพื้นฐานที่ใจเป็นหลักและปรัชญาชีวิตที่ไม่ยอมแพ้
(จนผมต้องยอมแพ้ในใจเขาเหล่านั้น)




ภาพที่โทรทัศน์ยังเป็นสมบัติของอภิสิทธิ์ชน ที่สักหมู่บ้านจะมีเพียงเครื่องหรือสองเครื่องเท่านั้น
ต่างกับโทรทัศน์ในปัจจุบันแม้เป็นจอพลาสม่าแต่ไม่สามารถต่อเติมความพร่องอันโดดเดี่ยวของคนเราไปได้
ต่างลิบลับกับหนังที่ทีวีขาวดำภาพซ่าๆกับกีฬาปาหี่อย่างมวยปล้ำกับดึงเสียงเชียร์กว่าคนทั้งซอย
ให้มาตบมือเรียกเสียงเชียร์ส่งเสียงเฮฮาโดยไม่สนว่าเราจะได้รับสาระอะไรจากสาสน์นั้น
ตัวละครทุกตัวต่างช่วยเติมส่วนที่ขาด เหยียวยาส่วนที่แผลทางใจและเร่งเสริมให้ก้าวยืนพร้อมเดินร่วมกัน
เนื้อเรื่องกระชับว่องไว ต้องยกให้ผู้เขียนบทที่มีทั้งลูกผ่อน ลูกรับและเร่งไปให้ฉากแต่ละฉาก
สัมพันธ์ไม่เรอะระ หรือดูยุ่งเหยิง เรียกว่า ดึงความประทับใจวัยเด็กที่ได้รับรู้เป็นฉากๆ
แล้วให้ตัวละครสอดรับจากนั้นก็สร้างเงื่อนไขให้ตัวละครเป็นตัวแก้ไขเรื่องโดยให้ทรัพยากรของเรื่อง
เป็นตัวส่ง โดยมีอุปสรรคเป็นจุดพลิกผัน มันเลยทำให้คนดูอย่างเราลุ้นกันตัวโก่งและแอบผูกพันไปโดยไม่รู้ตัว
ยิ่งสังคมไทยที่รับวัฒนธรรมคนญี่ป่นมาเนินนานนับแต่สินค้าและวัฒนธรรมมาตีตลาดแข่งกัน
เรื่องราคา
โดยมีคุณภาพพอประมาณ ไม่จึงไม่รู้สึกแปลกแยกว่ากำลังดูหนังต่างประเทศแต่อย่างใด
ที่กล่าวมายาวยืดออยากบอกว่าผมกำลังรำลึกถึงหนังที่ทำให้คนรำลึก (Nogtalgia Movie)
เมื่อ กว่าปีกว่า ตอนแรกหวังว่าจะเชื่อมภาคหนึ่งกับภาคสองไว้ร่วมกัน แต่รู้สึกถึงความต่างจากสาสน์
ที่ได้รับจากหนังแต่ละภาค แต่ก็ให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูกยิ่งภาคสอง
มันเหมือนกับได้มาเจอเพื่อนตัวละครเก่ามาเฝ้าดู (แบบเสียตังค์ว่า) เขาเหล่านั้นดำเนินชีวิตไปถึงไหน
จนรู้สึกว่าบางทีไอ้เจ้าเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้น
กับทำให้มนุษย์บริหารกับอวัยวะ ที่มีได้ไม่เต็มกับที่ธรรมชาติวิวัฒนาการมาให้
และต้องมานึกเสียใจว่าเราไม่น่าให้สมองก้อนโตกับเจ้าพวกมนุษย์เหล่านี้เลย ........





เรื่องย่อ จากwww.jkdramma.com and //www.popcornmag.com
ภาพจาก //www.cinemacafe.net




 

Create Date : 30 เมษายน 2551    
Last Update : 16 มกราคม 2553 23:35:53 น.
Counter : 912 Pageviews.  

ค้นๆรื้อๆ กับเรื่องราวของStudio Ghibli





หลังจากที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือน กลับบ้านเนื่องด้วยภาระ
การไหว้บรรพบุรุษตามแบบธรรมเนียมจีนโบราณ ถือโอกาส
ได้ขุดคุ้ยและจัดระเบียบสมบัติเก่าๆของตัวเอง เลยได้ปัดฝุ่น
สมบัติเป็นตลับม้วนVHS 2 ม้วน ที่ไม่ได้ถูกใช้งานมานาน
เกือบสิบปี ไม่รวมเครื่องเล่นที่ดูเป็นสิ่งล้าสมัยในสายตาคน
รุ่นปัจจุบัน ยังดีที่ทั้งสองสิ่งยังสามารถใช้การได้แม้ไม่ดีนัก
สิ่งที่ถูกบันทึกในม้วนVHS นั่น เป็นหนังการ์ตูนที่นอกเหนือ
การรับรู้วัยเด็ก เพราะยุคดังกล่าว ถ้าไม่ใช่ DRAGON BALL
หรือ พวกเซเลอร์ มูน ประมาณนั่น ที่ได้มาก็คงไม่ต่างจากคนอื่น
ตรงที่ปากแนะนำต่อๆกันมา ประกอบด้วยเรื่อง สุสานหิ่งห้อย
(Grave of the Firefries) และ My Neighbor Totoro
ถึงแม้ทั้งสองเรื่องจะไม่มีตัวอักษรบรรยายใต้ภาพ และพากย์เสียงแบบต้น
ฉบับภาษาญี่ปุ่นทั้งเรื่อง แต่เราก็สามารถทำความเข้าใจจากเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน
และสามารถสื่อสารได้ดีกับทุกกลุ่มผู้ชมได้ไม่ยาก การรับชมในส่วน
ตัวของผมค่อนข้างจะยากลำบากและขัดใจอยู่ไม่น้อย หากใครที่เคย
เป็นนักเล่นเครื่องวีดีโอแบบยังใช้ระบบจักรกล กลไก คงพอรู้ว่า
เครื่องวีดีโอตลอดจนตลับหนังที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้นาน หัวอ่านจะ
สกปรกได้ง่าย จากที่ไม่ค่อยชัดก็จะกลายเป็นภาพซ่าๆ (แล้วการหา
ซื้อน้ำยาล้างหัวเทปก็ไม่สะดวกเหมือนยุคที่ตลัปวีดีโอยังเป็นที่นิยม
อยู่)
แต่สำหรับคนยุคใหม่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารอย่างรวดเร็ว
มันทำให้ผมรับรู้อย่างชัดเจนจากหนังทั้งสองเรื่องมากขึ้น แน่นอน
อรรถรสจากหนังก็ย่อมมีมากกว่าเดิม แต่อารมณ์ที่ได้รับก็ยังไม่ต่าง
จากวัยเด็กที่ผมรับรู้คือ ความเศร้าและรอยยิ้มปนระคนกันไป อย่าง
เรื่องแรก Grave of the Fireflies เรื่องนี้โด่งดังตั้งแต่ผมรู้จาก
นิตยสารรายเดือน ทีวีแมกกาซีน ฉบับต้นๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความ
สัมพันธ์ของสองพี่น้อง เซตะ กับเซตซะโกะที่รับผลจากความโหดร้ายจากสงครามโลกครั้ง
ที่สอง เพิ่งมาทราบที่หลังว่าเป็นการดัดแปลงจากหนังสืออัตชีวประวัติ
ของ อะคิยูกิ โนซากะ กำกับโดย ฮิซาโอะ ทาคาฮาตะ
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นหนังเชิงจินตนาการวัยเด็ก My Neighbor Totoro
สำหรับเรื่องนี้ผมจำได้ติดตาจากสัตว์ประหลาดที่มีส่วนผสมของ
กระรอก แรคคูน แมว จนออกมาเป็นตัวอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องของเด็ก
สองพี่น้อง ซัทซึกิ และ เม ที่ย้ายมาอยู่เขตชนบทกับพ่อเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับ
แม่ที่กำลังป่วยอยู่ จนได้พบเทพองค์หนึ่งในร่างของสัตว์ จนได้พบกับเรื่อง
ราวที่สนุกสนานและประทับใจในบัดดล กำกับโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ
หนังทั้งสองเรื่องของสตูดิโอGhibli (ตอนแรกผมคิดว่ามาจากผู้กำกับคนเดียวกัน)
ภาพยนตร์ของสตูดิโอGhibli โดยภาพรวมทั้งสองเรื่อง สำหรับเรื่องสุสานหิ่งห้อยเป็นสิ่งที่พยายามเชื่อมต่อทางความคิดทางประวัติศาสตร์ระหว่างคนรุ่นสู่รุ่นในท่ามกลางความรุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อรับรู้บาดแผลและความยากลำบากจากผลของสงครามโดยสื่อสารผ่านตัวแทนจากสองพี่น้อง แสงจากหิ่งห้อยจึงเป็นความหวังอันยิ่งใจจากจิตใจที่บอบช่ำที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น (ถูกสร้าง
เป็นภาพยนตร์ที่คนแสดงจริงในวาระครบรอบ60ปีของสงครามโลกครั้งที่สองในปี2005)
ส่วนโตโตโร่สะท้อนปรัชญาชินโต(Shinto Idea)และตำนานเทพแห่งลม(Kami Spirit)
ทั้งสองเรื่องเป็นการ์ตูนที่สร้างชื่ออันดับต้นๆ ของยุคปลายปี 80 ถือเป็นการเปิดชื่อให้กับสตูดิโอ
(จนตัวTotoroกลายเป็นMascotประจำของสตูดิโอไปบัดดล) ผู้กำกับทั้งสองถือ
เป็นเสาหลักตั้งแต่เริ่มต้นในการก่อตั้งสตูดิโอ เหตุที่เลือกชื่อ Ghibli มาจากเครื่องบินตรวจการณ์ของประเทศอิตาลีที่ใช้ในทะเลทรายซาฮารา ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง คำนี้มีที่มาจากคำในภาษาลีเบียนที่แปลว่า "ลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทรายซาฮารา" เปรียบได้กับ สตูดิโอที่พัดเอากระแสลมลูกใหม่ผ่านมายังอุตสาหกรรมอะนิเมะของญี่ปุ่น ภาพยนตร์เรื่องแรกภายใต้การก่อร่างสร้างตัวของสตูดิโอ คือเรื่อง Castle in the Sky (1986)
ล่าสุดประธานสตูดิโอ Toshio Suzuki ที่เป็นผู้เริ่มต้นและประคับประคองมาโดยตลอด ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ยังคงได้รับเกียรติในตำแหน่ง Producerและบอร์ดบริหาร
สตูดิโอGhibliจึงเป็นลมหายใจของการ์ตูนสองมิติ ท่ามกลางกระแสการ์ตูนสามมิติ
ที่เป็นที่นิยมในทุกสตูดิโอ แม้ว่ายุคหลังๆหนังจากสตูดิโอแห่งนี้มักมีจินตนาการลึกล้ำจนตามไม่ทันเสียที

ข้อมูลจาก wikipedia และ onlineghibli




 

Create Date : 04 เมษายน 2551    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2552 0:12:12 น.
Counter : 1807 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.