A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Tomorrow ปลายฝันวันพรุ่งนี้


"Losing is not the end. Giving up is what ends everything"
(Tomorrow-2008)


ไม่ง่ายเลยครับ ที่จะเขียนความในเกี่ยวกับซีรีย์เรื่อง Tomorrow ของค่าย TBS เจ้านี้
แม้ผู้เขียนจะใช้เวลาในการรับชมแบบจริงๆจังๆ เพียงแค่สามวัน
แต่ต่อจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ ก็มีเรื่องให้ครุ่นคิดเกี่ยวกับซีรีย์เรื่องนี้มากมาย
ทั้งระบบความนัยที่ซ่อนไว้สำหรับเรื่องนี้ ประกอบกับความตื้น ลึก หนาบ้างและบางเบา
จนเป็นเหตุให้จำต้องเว้นวรรคสำหรับนักร่ายซีรีย์ ที่ขอพักไปทำความเข้าใจในหนึ่งสัปดาห์
แม้ว่า ความจริงที่ผ่านมา ซีรีย์เรื่อ่งนี้จะเคยถูชะแว้บแอบเปิดไว้เมื่อเดือนก่อน
แต่ก็เพราะ มิอาจทนทานต่ออัตราส่วนของเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ในช่วงของตอนแรกได้
จึงเป็นเหตุผลให้ Tomorrow มิอาจสำราญไปตามสมชื่อที่อ้างอิงของความหมาย
ชนิดที่ไม่เหลือเผื่อแผ่ เอาไว้ให้ดูต่อในวันพรุ่งนี้ แล้วที่เหลือก็นำไปหมกเก็บในพื้นที่มิดชิดซะ
มิให้เห็นเดือน และเห็นตะวัน...................





แต่สุดท้ายปลายทาง Tomorrow ก็ถูกมานำมาสานชมต่ออีกครั้งหนึ่ง
ในหลายพรุ่งนี้ของวันถัดไป เป็นความฝืนที่เคยปฏิบัติมากับอีกหลายซีรีย์ที่ไม่ชอบหน้า
แต่ก็นั้นอีกละครับ ผู้เขียนก็เกือบจะไม่ tomorow กับซีรีย์เรื่องนี้อยู่ดี
จนกระทั่ง เมื่อก้าวทนดูไปที่ถึงลำดับที่แปดสิบเปอร์เซ็นต์
ทำลายสถิติเก่ามากกว่าเดิมแค่ห้าเปอร์เซ็นต์ แบบเส้นอรุณผ่าแปดที่แสกพร่า
จากคำประกาศแบบสัจวาจาของตัวพระเอกเขา ที่อยู่ๆก็โผล่พรวดขึ้นมาทันที
ว่าโดยแท้จริงแล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นหมอ
ก็เป็นผลให้รูปเกมส์ของซีรีย์จากรับหันกลับมาเป็นรุก
มีโอกาสแบบเห็นเดือนและเห็นตะวัน เพราะจากนั้นสถานการณ์ของซีรีย์ที่เหนื่อยและเอื่อย
ตลอดที่ผ่านสายตาและบันทึกทางความทรงจำในส่วนเฉพาะผู้เขียน
แล้วก็ปรามาสความเป็นซีรีย์โดยภาพรวมที่เหลือในส่วนทั้งหมด ว่ามีสิทธิ์เข้าชิง
รางวัล “อสุโค้ยย์แห่งปี” ทำไมอย่างนั้นเหรอครับ
ผู้เขียนจะขอเล่าถึงสามวันทำการของสัปดาห์ก่อนในปฎิบั่ติการ Tomorrow ซีรีย์
ให้ได้รับฟังกัน ว่ามีความน่าสนใจเพียงไร
แล้วทำไม ถึงทำให้ผู้เขียนนั่งจึ๊งหนึบชนิดที่เคยลุกนั่งหนีในประสบการณ์จากซีรีย์ดังกล่าว




"เมื่อวาน (Yesterday)" เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ผู้เขียนเกิดไปติดอกติดใจ
ซิงเกิล้เพลงของนักร้อง โฮริมูระ ไม ในเพลงที่ชื่อ Hikari ที่มีความหมายถึง แสงสว่าง (light)
และเพลงนี้ ก็ถูกนำไปเป็นเพลงประกอบซีรีย์ เรื่อง Tomorrow
ซีรีย์ที่ผู้เขียนรู้สึกถึงความเป็นพยัคฆ์ซีรีย์ร้ายชวนส่ายหน้า ด้วยพล็อกเรื่อง
ที่ว่ากันด้วยเรื่องเฟ้อๆเฟื่อยๆ ของการที่เป็นโรงพยาบาลรัฐในเขตท้องถิ่นแห่งหนึ่ง
กำลังจะถูกแผนปฏิรูปรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่(reestablish) เพื่อจะกลับมามีผลกำไร
แทนที่จะมานั่งประคับประคองชีวิตผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยและพึ่งพาอาศัยจากงบสนับสนุนของรัฐอยู่ฝ่ายเดียว
เลยเป็นผลให้โรงพยาบาลมีภาระการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง
และมิอาจจัดสรรเเผนพัฒนาในการขยายตึกตัวอาคาร
ตลอดจนการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย
การเข้ามาของผู้อำนวยการหญิงคนใหม่วัยกลางคน “เอ็นโด ซายะ” (แสดงโดย โอกาวะ ทามามิ)
จึงเข้ามาพร้อมกับแผนการปฎิรูปแบบครบวงจร สร้างผลกระทบต่อแบบแผนการดำเนินงานทางแพทย์ของรัฐ
ที่มุ่งตอบสนองต่อการเข้าถึงในรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นต่อการแสวงหาในเชิงของผลกำไรสูงสุด





I would like to inform you of our plans form here on our first.
Please abandon all thoughts of this hospital betng being for the townpeople.
(ฉันอยากที่จะแจ้งให้ทราบว่าแผนการดำเนินงานของเราในอันดับแรก
กรุณาปล่อยวางความคิดเดิมๆเกี่ยวกับโรงพยาบาลแห่งนี้ทิ้งไปซะ
โดยเฉพาะที่เชื่อกันว่าเป็นโรงพยาบาลของทุกคนในท้องถิ่น)

it will be here for patients most profitable to us.
If we don't make a profit this hospital will go bankrupt.
(ต่อไปมันจะเป็นที่ที่สำหรับการบริการคนไข้ที่สร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่พวกเรา
ถ้าเรายังขืนที่จะไม่นำพาผลกำไรที่ดีให้แก่โรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว
ในไม่ช้า มันก็จะต้องล่มหายตายจากไปในที่สุด)




แน่นอนว่า แนวคิดสุดลิ่มทิ่มประตูโรงพยาบาลแห่งนี้ ย่อมมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย
เพียงแต่ไม่กล้าที่จะแสดงออกอย่างซึ่งๆหน้า จะยกเว้นในเชิงวีรกรรมของนางเอก
ที่เป็นนางพยาบาลน้องใหม่ และลุกโชติในจิตวิญญาณของการอุทิศแก่ผู้ป่วยอย่างแรงกล้า
ทานากะ อากิโอะ (เล่นโดย คันโนะ มิโฮะ จากเรื่อง Last Present และ Dance Drill)
สตรีนางเล็กที่ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ แต่ก็หน้าหง๋อกลับมาทุกครั้งที่เจอะตอกหน้าหงาย
เพราะในโลกอุดมคติและวิชาชีพ เมื่อต้องเผชิญเข้าสู่โลก่ของความเป็นจริง
หลายสิ่ง ก็ไม่ได้เดินทางมาเป็นเส้นขนานควบคู่กันไปอย่างปรานีปราศรัย
ซ้ำร้าย มันกลับค่อยๆกลืนกินสามัญสำนึกในแง่ดีให้ค่อยๆซึมลึกไปตามระบบของผลกำไร
ที่กว่าจะรู้ตัว ก็มีเหล่าผู้ร่วมวิธีการเดียวกันและมองคุณค่าเดิมของผู้ดำรงความดีนั้นไว้
ว่าเป็นเพียงผู้ไร้เดียงสาที่ยังไม่เจนโลก





If you were not paid your wages, Would you still work for these patients?
(แล้วถ้าเธอทำงานโดยไม่มีอามิสสินจ้าง เธอยังจะทำงานนี้เพื่อคนไข้เหล่านั้นอีกไหม)
Those patients with money can help us cover the expenses of the other patient once again.
(กลุ่มคนไข้ที่มีกำลังทรัพย์มากพอ จะช่วยเราในการหักลบกลยหนี้ค่าใช้จ่ายจากกลุ่มคนไข้เจ้าปัญหาเดิมไม่ดีกว่าเรอะ)


ต้องขอบอกก่อนเลยว่า พล็อกเรื่องหมอๆที่ไปเกี่ยวกับระบบตลาดแข่งขันอย่างเสรี
ที่เส้นทางศีลธรรม อาจเป็นตัวไปขัดขวางความเป็นกำหรีกำไร
อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคอหนังซีรีย์ญี่ปุ่นเท่าไรนัก
กับการมีส่วนผสมของความลงเอยในแง่นี้ที่มีให้เห็นเสียหลายเรื่อง
โดยเฉพาะงานที่ต่อท้ายความเป็นสายสกุลหมอซีรีย์
ที่จัดแจ้งสุดในแง่ครอบงำกิจการเลยก็เห็นจะมีในซีรีย์ Team Medical Dragon
ทั้งในส่วนของภาคหนึ่งที่ว่าหนักแรงแล้ว ภาคสองก็ช่วยทวีคูณหนักขึ้นไปอีกเท่าตัว
(ส่วนภาคสามที่กำลังฉายอยู่มิอาจรู้ได้ แต่คิดว่าคำสาปส่งในตัวหมออาซาดะคงไม่แพ้กัน)
จากนั้นก็มีลดหลั่งกันมา ไม่ว่าเป็น หมอโคโตะ Nurse'Aoi และ Code Blue
ไม่เว้นแม้แต่ Heaven's Coin ที่เป็นซีรีย์แนวหมอเมื่อกว่าสิบปีก่อน ก็ยังพูดถึงเรื่องประเด็นนี้
ยิ่งสำหรับซีรีย์ Tomorrow ด้วยแล้ว การที่มาช้ากว่าชาวบ้านเขา
อีกทั้งเทคนิคการเล่าเรื่องที่ช้าและชวนเนิบเหมือนเซริฟต์อาหารเหนือ
ไม่มีลูกบทอัศจรรย์ทางการแพทย์ให้ตื่นเต้นวือหวา
หรือใส่ความเป็นมิติไซไฟ แบบที่ในเห็นในซีรีย์อย่างหมอจินกำลังละเลงในทีวีไทย
หากไม่นับดาราจุดขายหลักที่คุ้นหน้านักชมชาวไทย อย่างนาย ทาเกโนะอุจิ ยุกะตะ
ที่รับบทเป็น “โมริยามะ โคฮิเอะ” เจ้าหน้าที่ธุรการประจำโรงพยาบาลท้องถิ่น
ที่ต้องมารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยท่านผอ. คนใหม่ ซึ่งโดยการเปิดเรือ่งก็ใช้ชีวิตปกติแสนจะธรรมดา
เป็นเหมือนเช่นข้าราชการทั่วไป ที่เช้าไปแล้วต้องเย็นกลับด้วยพาหนะสกู้ดเตอร์ปุโร่ทัง่เจ้าประจำ
แวะพัก สวัสดีทักทายด้วยอัธยาศัยดีต่อผู้คนที่รู้จักมักจี่เขาไปทั่ว
ซึ่งถ้าหากยังคงเรื่องราวในส่วนของอารมณ์เช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง
ต่อให้เป็นแฟนคลับยุกาตะก็เหอะ ก็ยากที่จะทำใจด้วยพี่ท่าน
นอกจากจะมาในมาดที่ไม่เน้นหล่อ และดูไม่เท่ห์แล้ว
วันๆก็มุ่งจับเจ่าสนทนาบนโต๊ะเกมส์โกะ พลิกเข้าสลับหงายเจ้าเม็ดเหรียญขาวๆดำๆ
กับรุ่นพี่ผู้สูงวัย ที่แฟน IRYU คงรู้จักกันดี เพราะเคยเล่นแอบร้ายเป็น ผอ.โนงุจิ
ทั้งสองภาคชนิดเลวเข้าไส้ จนยากที่จะเกินแกงไปตามวัย
แต่ในซีรีย์ Tomorrow ลุงคิชิเบ อิโตะกุ ก็เลยต้องปรับเปลี่ยนพฤติการให้ผู้คนหันลืมสภาพ
แม้จะไม่ห่างไปจากสายความเป็นซีรีย์โรงพยาบาล แต่งานนี้ราษฎร์ก็ยินดีเพราะเป็นลุงใจดี
ที่คอยชี้แนะและให้คำปรึกษาไว้คลายทุกข์แก่พี่พระเอกเขา
ชนิดที่อยากจะจับผิด ว่าจริงๆแล้วเป็นการแกล้งแสดงเล่น ด้วยตัวตนที่ติดตา
จากความเป็นหมอโนงูจิจอมเจ้าเล่ห์ แต่ไม่ว่าจะดูอย่างไรและโผล่ในแต่ละซีนด้วย
จำนวนร่วมที่น้อยกว่าชาวบ้านเขาตั้งเยอะ ก็ไร้ซึ่งรอยกระหยิ่มยิ้มอย่างเลศนัยภายในมุมปากสักแอะ
ลบภาพความเป็นดาวร้ายสุดขั้วได้เสียสนิทใจ จึงเก็บความแค้นไว้เป็นทุนเดิม
ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าใน IRYU ภาคที่สาม จะได้มีโอกาสประสบความชั่วร้ายจากการแสดง
ของลุงอิโตะกุอีกรึไม่ แต่ต้องเข้าใจหน่อยเพราะภาคที่สองก็โดนเวรกรรมเก่าเล่นงาน
จนสติไม่สมประดีเป็นการตอบแทน แบบนานๆทีจะมีให้กับตัวละครร้ายสักตน





"วันนี้ (Today)" เป็นการสืบตอนต่อเนื่องในลำดับถัดมา
ผู้เขียนเห็นว่า ซีรีย์เรื่องนี้พลิกความน่าเบื่ออย่างร้ายกาจที่ปรากฎให้เผชิญต้นเรื่อง
แล้วค่อยๆ เผยปริศนาของแต่ละตัวละครไปทีละประเด็น
สารภาพในเริ่มแรกเลยว่า ผู้เขียนยังคิดระเคืองใจว่านายยุกาตะเผลอไปรับบทตัวละคร
อันแสนน่าเบื่อนี้ได้อย่างไร ด้วยธุรการต๊อกต๋อย ใช้ชีวิตบนโต๊ะทำงานแข่งกับเข็มนาฬิกาในแต่ละวัน
พอมีโอกาสได้รับใช้ตามก้น ผอ.ผู้มีวิสัยทัศน์เงินเป็นใหญ่ คนไข้เป็นรองเท่านั้นแหละ
สายตาของบุคลากรในโรงพยาบาล ก็ล้วนคิดมองไปว่าโคฮีเอะคงถูกแนวคิดทุนนิยมสามานย์เข้าครอบงำ
ด้วยการปฏิบัติที่ไม่ขัดขืนต่อหลักการของผู้บังคับบัญชา อีกทั้งปฏิเสธการโน้มน้าวเปลี่ยนใจใดใด
ที่จะไปมีผลกระทบโดยตรงต่อความคิดของท่านผอ.คนใหม่ ซึ่งเข้าข่ายการเป็นเกียร์ว่างในสำนวนไทย
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ต้องทำคลอดฉุกเฉิน แล้วเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่เพียงพอในกลางดึก
อยู่ๆ การที่พี่ยุกาตะในบทหมอโคฮิเอะเข้าพรวดกลางวง
อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยให้ ผอ.และเหล่าพยาบาลตะลึงงัน
ปานเจ้าหน้าที่ชุดสลายการชุมนุมเข้าทลายวงดัมมี่
ว่าจริงๆแล้ว ตนเองเคยเป็นหมอผ่าตัดมาก่อน จากนั้นก็แสดงฝีมือเป็นที่ประจักษ์
สามารถเข้ารักษาได้ทั้งชีวิตของผู้เป็นแม่และบุตรไปพร้อมกัน
การเฉลยเบือ้งหลังที่แท้ในตอนที่หนึ่ง เป็นเพียงน้ำจิ้มจานเเรกๆ
ที่มือเขียนบท "ชิโนซากิ เอริโกะ" บรรจงใส่เเบบผลิปลายในช่วงปฐมฤกษ์แบบเชิญแขก
เพราะจากนั้นในแต่ละตอนที่เหลือในทุกๆท้ายเรื่อง ก็จะค่อยๆเฉลยปริศนาไปทีละประเด็น
และในทุกประเด็นที่ถูกวางเอาไว้ จะค่อยๆไปร้อยสัมพันธ์กันเป็นเรือ่งราวของปมในอดีต
ที่จะยังเป็นผลให้พระเอกอย่าง โคฮีเอะ และ นางเอกพยาบาล เอริโกะ
มีชะตาชีวิตที่ผูกพันกันมาแต่ในอดีต ในฐานะที่โคฮีเอะไปมีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่
ให้กลับคนในครอบครัวสกุลทานากะของนางเอก และเป็นแรงอาฆาตสืบต่อเนื่อ่ง
ไปถึงตัวน้องสาวของเออิโกะ ที่มุ่งมั่นจะสอบเข้าเรียนในวิชาเอกกฎหมาย
เพียงเพื่อไปชำระล้างความแค้น ฟื้นสืบเพื่อคลี่คลายคดีที่ดำมืดของครอบครัวตนอีกครั้งหนึ่ง
แต่ปัญหา มันกลับไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะยิ่งคอ่ยๆเข้าใกล้ความจริงจากเหตุการณ์
มากขึ้นเท่าไร ความสนิทชิดเชื้อระหว่างความสัมพันธ์ที่หวาดระแวงแต่ก่อนเริ่ม
ของตัวพระเอกกับตัวนางเอก ก็กลับกลายเป็นความไว้ใจมากขึ้นเรื่อยๆ
เป็นเหตุให้โคฮีเอะกล้าที่จะหันมองตัวเองและยอมรับในแรงปรารถนาที่จะหวนกลับมา
ถือมีดหมอบนเตียงคนไข้นี้อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานกว่าแปดปีเต็ม
ขณะเดียวกันก็ครุ่นคิดที่จะเปิดเผยอดีตด้านมืดของตัวเอง
ก่อนที่ความจริงนั้นจะถูกเปิดเผยก่อนหน้า เมื่อผู้อำนวยการได้จ้างนักสืบ
เพื่อค้นหาประวัติทางการแพทย์ในทะเบียนประวัติการรักษาในโรงพยาบาลเก่า
ที่โคฮีเอะเคยทำงานอยู่ แม้ว่าความจริงนั้น
อาจจะเป็นการทำลายความรู้สึกดีๆที่เคยสร้างมาให้จบสิ้นด้วยถ้อยคำเพียงประโยคเดียว
ที่เป็นปัญหาในอดีตของคนทั้งคู่



When l was a little my mom nearly died because of a serious illness
Everyone else thought it was all over for her
but there was one doctor who never gave up
That doctor taught me that “it's only over when you give up”.

(เมื่อผมยังเล็กนัก แม่ของผมใกล้ตายเพราะโรคร้ายที่สาหัสเอาการ
ทุกคนลงความเห็นว่าอีกไม่ช้าแม่ของผมคงต้องจากไปก่อนกาล
แต่มีเพียงหนึ่งคนในนั้น ที่ไม่เคยยอมแพ้
หมอท่านนั้นสอนกับผมว่า เกมส์จบเมื่อไปสบยอมกับคำว่ายอมแพ้)




"วันพรุ่งนี้ (Tomorrow)" คือวันสุดท้าย ที่ผู้เขียนฟาดชงสามตอนที่เหลือ
เสร็จสรรพประทับใจ แม้อาจจะคลาดเคลื่อนในทิศทางของความหมายของ Tomorrow
ที่ผู้กำกับ ยามามุโระ ไดสุเกะ และชาวคณะ ต้องการจะบอก หรือให้คิดเอาเอง
เพราะมันมีหลายนัยยะที่สามารถจะนำเสนอ ทั้งเรื่องของแสงอรุณยามเช้า ความหวังใหม่ในเบื้องหน้า
การให้อภัย การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตลอดจนหนึ่งชีวิตที่ถูกกำเนิด
ไม่เว้นแม้แต่หนึ่งชีวิตที่ถูกยื้อให้มีชีวิตรอด หรือเข็มเวลาเที่ยงคืนที่ทบต้นซ้ำเลยอีกวัน
เป็นต้น กระนั้นก็ถือว่าเริ่มต้นได้ผิดแนวธรรมเนียมที่ ผกก. ไดสุเกะ มักชิงความได้เปรียบ
จากการเป็นผู้กำกับในตอนแรก ที่นิยมใส่อะไรที่เป็นปรัชญาหรือความรู้
แล้วค่อยๆไปไล่เลาะถึงรายละเอียดของตัวละคร ถึงลำดับที่มาตลอดจนนิสัย และต่อจากนี้สืบไป
แบบที่ทำให้เห็น ใน ซีรีย์ อย่าง หมอจิน และ Mr.Brain
แต่กระนั้นฝีมือในการดึงคนแบบชิงติดก่อนห่าม ก็ยังคงไม่ทิ้งลวดลายอยู่เช่นเคย
ยังคงความเป็นซีรีย์ที่ไม่มีคนเลวอยู่ในสายตา แม้แต่จะปรากฏผู้อำนวยการคนใหม่
ที่หมกมุ่นเม็ดเงินเข้าเส้นเลือด แต่ก็เป็นเส้นเลือดของการมองโลกในแง่จริง
ที่จะส่งผลดีโดยภาพรวมตอ่ความอยู่รอดของกิจการโรงพยาบาล
นอกจากหน้าตาของเจ๊ซายะจะคมแลดูจนร้ายเข้ากับบุคลิกความเป็นสาวเก่ง
แต่เบือ้งหลังชีวิตนอกเวลางานผู้อำนวยการ เธอเองก็มีจิตใจที่รักเด็กสูสีพอๆกั
บสูตรสำเร็จของการปั้นตัวให้เป็นผู้ประกวดเข้าชิงนางงามอย่างตั้งใจ
อีกทั้งเธอยังมีคนที่เธอห่วงใย ที่เผ้ารอวันปาฏิหารย์ทางการแพทย์ทุกวัน
แม้ต้องแลกกับค่ารักษาเดือนละกว่าห้าแสนเยน





"วันนี้ คิอ พรุ่งนี้ ของเมื่อวาน"(Today is Tomorrow's yesterday)
ผู้เขียนมองว่า มุมมองต่อโลกการรักษาระหว่างนางเอกอากิโอะกับผอ.คนใหม่ซายะ
เป็นสายตาจากภาพลักษณ์มุมเดียวกัน แต่ต่างกันในเชิงร่วมของประสบการณ์ที่ได้รับ
อากิโอะเธอเชือ่อย่างบริสุทธิ์ในอุดมคติทางวิชาชีพในแบบที่เธอรู้สึกและเข้าใจ
แต่กับซายะแล้ว เป็นความเข้าใจโลกเพื่อจะอยู่รอดและการศึกษาข้อมูลที่เป็นปัญหาจริงที่เธอประสบ
ซายะจึงสามารถอธิบายเชิงตัวเลขทางสถิติกระทรวงสาธารณสุข โดยตัดในเรือ่งการรับรู้ทางจิตใจ
ซึ่งผิดกับอากิโอะที่มีประสบการณ์ตรงตอ่คนไข้และไม่นำเรื่องความเข้าใจในเชิงธุรกิจมารกสมอง
เมื่อตำแหน่งหน้าที่และลำดับขั้นเป็นเครื่องชี้ขาดในทิศทางอนาคตของโรงพยาบาล
สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอนุสัยใฝ่ชอบของผอ.ซายะ จึงเหลือเพียงมองคนไข้ไปไม่ต่างไปจาก
สมาชิกในครอบครัว ต่อให้เป็นคนในครอบครัวแล้วแม้แต่เงินนับแสนนับล้าน
เพื่อแลกกับความหวังในพรุ่งนี้ที่จะเกิดขึ้น เจ๊แกก็ยินดีเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว
คงเป็นเหตุผลของความผูกพันคล้ายๆกัน ที่ซีรีย์แนวหมอทุกเรื่อง
มักเล่นประเด็นให้ช่องว่างความห่างไกลระหว่างหมอผู้เป็นตัวเอก กับผู้ป่วยที่น่าจะอื่นไกล
กับเป็นคนใกล้ชิดที่ตัวหมอเองรู้จักกันดีชนิดรู้เช่นเห็นชาติ เป็นพลังนำพาให้คนดู
ยิ่งอยากเอาใจช่วยร่วมไปกับสถานการณ์ แม้จริงๆแล้วคนดูอาจจะเพิ่งรู้จักตัวละครนั้น
ไม่กี่สิบนาทีที่ผ่านมา และนี้เลยเป็นความฉลาดในการสร้างสถานการณ์ลำดับถัดไป
เพื่อสอดรับพฤติกรรมอยู่แต่เดิมของแต่ละตัวละคร มันเลยทำให้ซีรีย์ในแต่ละตอน
มีทางออกของเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผลและแลดูจริงจัง
แม้จะมีเฟกบ้างในฐานะทางออกตามสูตรวิธีที่ดูคล้ายจะไปลอกซีรีย์รุ่นพี่
ชนิดที่ไม่สร้างสรรค์ทางออกใหม่ๆ ไว้ประดับวงการ จึงเป็นอนุรักษ์นิยมซีรีย์
ที่เน้นทางออกหลักแบบเจ็บตัวน้อย เพื่อให้เข้าทางซีรีย์เก็บคนดูส่วนมาก
ซึ่งแน่นอนว่า ทางออกนี้มุ่งจับคนดูที่อยู่ชานเมืองเป็นหลักเอาไว้ก่อน




ในความเห็นโดยส่วนตัวของนักแสดงพระเอกกับนางเอกของเรื่อง
ผู้เขียนอาจจะไม่คอ่ยได้ติดตามในงานของ นางเอกมิโฮะสักเท่าไร
แม้จะเคยติดตามใน Last Present ก็เป็นความทรงจำที่เลือนลางบนความไม่ประทับใจ
เพียงแต่ในบท ที่ต้องรับเป็นบทเป็นนางพยาบาท เวลาที่เห็นเธอเข้าฉากเมื่อใด
เป็นต้องทำให้ผู้เขียนนึกถึงนางเอกอีกคน อย่าง โค ชิบาซากิ
ที่นอกจากสายตาชีจะดุโดยกำเนิดแล้ว การประคับประคองอารมณ์ในแบบขึ้นๆลงๆ
ก็เป็นบทคล้ายคลึงกับที่เจ๊โคเลือกเล่นในหมอโคโตะ ในบทนางพยาบาลลูกปลัดอำเภอ
จึงเป็นเสน่ห์ ที่ไม่สดตามการรับรู้โดยส่วนตัวแต่ประการใด
แต่กับพระเอกยุกาตะแล้ว ถือว่าไปได้ดีตามบทถนัด
ถ้านักฟุตบอล มักหาประโยชน์จากการทำประตูด้วยวิ่งหาจังหวะโดยไม่อยู่นิ่ง
โอกาสที่จะได้เห็นการแสดงในซีนชั้นดีของนายยุกาตะ คือ การที่อย่าปล่อยให้หมอนี้ยืนนิ่ง
เพราะถ้าเขานิ่งจนคิดนานเมื่อไร เป็นได้เห็นการแสดงอารมณ์อย่างมีชั้นเชิง
ที่แม้ร่างจะไม่ไหวติ่ง แต่จิตนั้นมุ่งเตลิดไปไหนต่อไหน ให้คนดูได้คิดตามกับไอ้หมอนี่ซะเรื่อย
บทประทานอย่างงี้ เคยมีให้เห็นถนัดตาบ้างใน Beach Boys ,With Love,Yankee Bokou ni Kaeru
ก็น่าเเปลกใจอยู่หนอ่ย คือ ในซีรีย์ Tomorrow พี่ท่านโชว์ของไว้เยอะอยู่ไม่น้อย
แต่ทำไมไม่ค่อยได้เห็นรางวี่รางวัลอะไรติดไม้ติดมือสักชิ้น
หรือว่านี้เป็นจุดเฟ้อในซีรีย์หมอๆอ่ยางที่ตนเองรู้สึก ไม่อย่างนั้น
อาจเป็นปัญหาเริ่มต้นของลำดับการไล่เรื่องชนิดที่รอเก็บไปลุ้นเอาท้ายๆ
ที่ถือเป็นลูกชิ้นชั้นดี ในอารมณ์ประมาณทานเส้นเล็กน้ำหมดถ้วยเจียนจะชูมือ
ให้เซี่ยวเอ้อคิดตังค์ แต่ดันพบลูกชิ้นหลงอยู่หนึ่งลูก เลยพาลให้แต่ละตอนที่ควรจบ
มักจะโผล่ประเด็นให้ติดตามสาวกันต่อไปไม่จบไม่สิ้น จนต้องยุติธุรกรรมบนชามก๊วยเตี๋ยว
แต่นั้นก็เป็นข้อดีให้ตัวละครหลัก
ได้สร้างความกระชับสัมพันธ์กันมากขึ้น และเข้าใจตัวตนลึกๆในอีกด้านที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น
แต่ส่วนจะดูแย่หน่อยคงเป็นความเนื่อยในช่วงเปิดม่านของแต่ละตอน อาจไปสร้างความระอาใจ
ให้กับท่านคณะกรรมการให้ถอดใจตั้งแต่ 75 เปอร์เซ็นต์แรกแบบผู้เขียนประสบ
อันนี้ก็สุดพรรณนา



แต่อย่างไรเสีย ซีรีย์เรื่องนี้ก็ทำให้ข้อยืนยันของอิริค ฟรอมม์ นักจิตวิทยาชาวยิว
ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งว่า ถ้าเราไม่รู้จักพวกเขา เราก็ไม่สามารถที่จะนับถือและรักใครได้อีก........



ครั้งหนึ่งเคยร่ายถึงซีรีย์หมอๆไว้ใน


Dr.Koto หมอชนบท,หมอเกาะ,หมอโคโตะ

.Dr.Koto Special วิถีที่เพียงพอของหมอโคโตะ

Jin หมอทะลุศตวรรษ




 

Create Date : 16 กันยายน 2553    
Last Update : 18 กันยายน 2553 19:52:41 น.
Counter : 1792 Pageviews.  

precious Time อยู่เพื่อรัก

ในชีวิตมืดมนแห่งหนไหน
เมื่อทุกข์จางจากใจเคยไหม้หมอง
ในม่านจิตจึงจะมีรุ้งสีทอง
เป็นค่าของชื่นชมที่ตรมทน
เราพบกันวันนี้จึงมีค่า
หลังจากฟ้าชุ่มฉ่ำด้วยน้ำฝน
หลังจากที่ชีวิตเรามิดมน
เราผ่านพ้นอุปสรรคที่รักไกล


(จาก สุดสงวน : ประยอม ซองทอง)




ขึ้นต้นลงบท ผู้เขียนก็ดลด้วยความเป็นลิเกหน้าจอ
ด้วยปรารถนาถึงความแตกต่าง จากสถานการณ์พื้นที่หน้าบล็อกเดิมๆ
เป็นอารมณ์ฝันๆเพลอๆ ชนิดที่เขย่ายาชูกำลังทางใจสักสามที
เพื่อเสริมเพิ่มพลัง เพราะระยะหลังแทบจะหาเวลาพักผ่อนจากการดูซีรีย์ก็แสนยาก
เมื่อเวลาไม่เอื้อ ที่เหลือก็เอาตัวกลิ้งเกลือกไปกับงาน
ดังนั้น คงไม่แปลกเท่าไรนักที่ผู้เขียน จะขุดสมบัติเก่าเก็บกินเพื่อมาอธิร่าย
ดีกว่าปล่อยให้หายไปสักหนึ่งสัปดาห์ ด้วยระยะนี้ซีรีย์ญี่ปุ่นดูจะจางหายไปจากสารบบ
หมวดบล็อกซีรีย์อย่างผิดสังเกต


เลยไปจับเอาซีรีย์ในความทรงจำ ซึ่งเป็นงานระบายความคิดถึงส่วนตัว
ของพ่อแก่ ทาเกชิ ทาเคชิโระ หรือชี่อจีนว่า จิน เชียง วู
ที่ห่างหายไปจากการรับเล่นซีรีย์คุณยุ่นนับตั้งแต่เรื่องท้ายสุด คือ
Golden Bowl ทางค่าย NTV เมื่อสีักปี 2002
แต่นั้นก็ยังไม่เท่ากับ น้องเคียวโกะ ฟุคุดะ ที่แม้น้องหนูทุกวันนี้ จะตะล่อนรับเล่นซีรีย์
ในทั่วราชอาณาจักรแดนเจแปน อย่างปีที่แล้วก็มี Tenchijin ของค่าย NHK
กับ Karei naru Spy ของค่าย NTV และ Kurobe no Taiyo จากค่าย Fuji
จะว่าไปน้องหนูเขาก็มีงานเข้าเจ้าประจำ แวะเวียนให้ได้เล่นโผล่หน้าจออยู่ไม่ขาด
แต่ทำไมในช่วงระยะเวลาแปดปีล่าสุดที่ผ่าน มีแต่เพียงบทรับเชิญในGalileoให้ได้ผ่านตาผู้เขียน
งานที่เหลือจากนั้น ก็หายไปดั่งกลีบเมฆที่โผล่ชะแว้บอีกทีก็ตัวผอมเพรียวบางร่างชง่อน
ยิ่งสร้างจุดกระส้นเกินกระสันหา ให้อยากจะแสวงงานใหม่ในร่างไม่เดิม ที่เคยเตะตา




แต่กระนั้น Precious Time หรือ "อยู่เพื่อรัก" ที่จะเอามาร่าย
ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากพลังแรงดึงดูดของสองนักแสดงที่ว่าแต่อย่างใด
ยังจำได้ตรึงใจว่า เหตุที่ซีรีย์เรื่องนี้สะกดมนต์ต้องสายตามิให้พรากหน้าจอไอทีวี
ด้วยเนื้อหาของประเด็นที่แรงก่อนรับปีสหัสวรรษ เพราะว่ากันถึงเรื่องโรคร้าย
ที่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ถือเป็นสิ่งน่าขยะแขยงทางสายพันธ์ของผู้ติดเชื้อ
ที่มีชื่อว่า โรคเอดส์ AIDS (Aquired immunodeficiency syndrome)
จากภาวะของการติดพาหะเชื้อไวรัส HIV (Human immunodeficiency virus)
ที่เข้าไปทำร้ายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เสื่อมสภาพ
เคียวโกะต้องมาเล่นเป็นเด็กสาวผู้ติดเชื้อเอดส์ โอ้น้อง! เธอเองก็ช่างกล้าเหลือแสน
พลิกบทบาทจากเด็กสาวหน้าใสในร่างอึ๋ม กลายมาเป็นผู้ทนทุกข์ต่อบาปที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว
จากรักแท้ที่มีให้แก่ไอดอลในดวงใจ ที่ผู้ชมคนใดถ้าใจแข็งพอ ก็อาจห่อเหี่ยวใจในทุกๆตอน
เพราะแทบจะไม่มีความหวังใหม่ใดใด เป็นพลังเยี่ยวยาไซร้ มอบให้แก่เธอ




เคียวโกะ ในบท มาสากิ คาโนะ เด็กสาวมัธยมปลายวัยสิบหกทั่วไป
ที่ชอบเดินเล่นและเป็นต้องเที่ยว ทั้งในช่วงเวลากลางวันและเป็นเอาหนักหลายครั้งในเวลากลางคืน
ซึ่งก็ไม่ดูแปลกอะไร เพราะในสมัยเอ๊าะผู้เขียนก็ออกจะแปลงเริ่ดอยู่บ่อยๆ
ด้วยข้ออ้างการกวดวิชาอันเป็นสายงานถนัด แต่ประสบการณ์ที่เปลี่ยนทั้งชีวิตในตัวของหล่อน
เกิดจากตั๋วคอนเสิร์ตเพียงใบเดียว ที่เป็นการแสดงสดของ เคอิโกะ อิชิกาวะ
ซึ่งเป็นศิลปินไอดอลที่เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลงในดวงใจของเธอแบบสุดกรี๊ด
เธอจึงเทหมดหน้าตักด้วยการปฎิบัติตัวเป็นเด็กไซด์ไลท์ใจแตก
ให้ชายแปลกหน้าข้างทางได้โดยดม ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อแลกกับเงิน
เด็กสาวกลุ่มนี้ คนญี่ปุ่นจะเรียกขานว่า พวก "erekurabu" หรือ Telephone club
ซึ่งกลุ่มนร หญิงจะโทรศัพท์ไปหาลูกค้าและพบปะตามที่นัดแนะกัน
ส่วนกลุ่มผู้ซื้อบริการ จะเีรียกว่า "enjo kosai" เป็นการซื้อค้าทางเพศที่ถูกกฎหมาย
ระหว่างสาวมัธยมกับคนรุ่นพ่อ ที่มีความหมายถึงการคบหาแบบช่วยเหลือกัน)
ที่จะมีโอกาสทดแทนกับบัตรคอนเสิร์ตใบก่อน
ที่เธอได้ทำหายไปพร้อมกับกระเป๋าสตางค์ใบจิ๋วไว้ในตู้โทรศัพท์แห่งหนึ่ง

แต่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อกันระหว่าง มาสากิ กับ นักร้องคนดัง เคอิโกะ
ไม่ได้เกิดจากงานแสดงคอนเสิรต์โดยตรง กลับเป็นความประทับใจ
ที่มาสากิยืนประกาศชูป้ายหล๋าท้าฝนบนสะพานลอย แสดงถึงความคลั้งไคล้
ที่มีต่อเคอิโกะ เย้ยฟ้าพระพิรุณ จนเศิลปินดังอย่างเคอิโกะต้องสั่งให้จอดรถ
และรับตัวเด็กสาวแปลกหน้ามาสากิ เข้ามายังบ้านส่วนตัวของเขา จากนั้นก็..........
(น15 เด็กควรได้รับการรับชม โดยที่มีผู้ใหญ่คอ่ยอยู่เคียงข้าง)
จนกระทั้งหลายวันผ่านไป มาสากิได้รับอุบัติเหตุทางท้องถนน
จึงต้องมีการตรวจร่างกายเกิดขึ้น ผลที่ปรากฎ คือ เธอได้ติดเชื้อเอดส์เป็นที่เรียบร้อย




ก็อย่างที่บอก ความเข้าใจในเนื้อหาสิ่งสัมพันธ์ระหว่างโศกนาฏกรรมกับโรคร้ายในความเป็นซีรีย์
ก็พอรับได้ประมาณหนึ่ง คือ สร้างจุดแตกพรากในอารมณ์ผู้ชม ในฐานะ
ที่ได้สร้างความสัมพันธ์สานต่อมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละตอนระหว่างตัวละคร
และ ความเป็น"โรคร้าย" ก็ถือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติประการหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา
จะมีโศกมีซึ้ง และให้กำลังใจตามมา อันนี้ก็เป็นวิถีปกติของความเป็นละคร
ที่อย่าว่าแต่จะเป็นเฉพาะซีรีย์ญี่ปุ่นเลย แม้แต่เกาหลี ฝรั่งและละครไทย
เขาก็มีสูตรทำนองนี้ อยู่เสียเพ่นพานบานตะไท
แต่โรคอะไร ก็ไม่เหมือนกับโรคเอดส์ ที่การรับรู้ของผู้เขียน
นับจากช่วงระยะเวลาห่างของหนังเรือ่ง philadephia แล้ว
แทบไม่เห็นความต่อเนื่องใดใดตามมา ยิ่งในงานละครที่เป็นช่องสาธารณะด้วยแล้ว
ดาราคนใดที่รับบท "ผู้ติดเชื้อเอดส์" ในการรับรู้ของคนเมื่อสิบกว่าปีก่อน
ต้องถือว่าเป็นอะไรที่กล้าและท้าทาย ทั้งสายตาคนดูและทัศนคติภาพลักษณ์ที่อาจจะติดตัว
เพราะการรับรู้ในอสมมาตรทางข้อมูลการเเพทย์สมัยนั้น เขายังแยกแยะไม่ออกหรอกว่า
เสมหะของอีกฝ่าย หรือยุงหิวจนหน้ามืดไปกัดเอาเลือดของผู้ติดเชื้อ
จะมีโอกาสทำให้อีกฝ่ายติดเชื้อตามรึไม่? อย่างน้อยๆก็ทำให้ถุงบางชนิดฮิตติดชื่อไปตามผู้รณรงค์
ดังนั้นความเข้าใจต่อโรคโดยอนุโลมทางสังคม จึงอย่าได้ไปเทียบกับเคสต์ลหุโรคทางสังคม
เพราะมันไม่เหมือนกับ อายะ ในเรื่อง one litre of tear ที่เป็นโรค Spinocerebellar
Degeneration Disease
หรือ อากิ จากเรื่อง Crying out Love, in the Centre of the World ที่เป็น
โรค leukemia Disease ที่การรับรู้ของคนในสังคม
ยังมองว่า มีสาเหตุหลักจากทางพันธุกรรมส่วนครอบครัว
คงไม่ได้มีผลอันจะเป็นภัยมาถึงผู้อยู่รอบข้าง ผิดกับมาซากิในเรื่องนี้
เพราะนอกจากความผิดที่ถูกตีตราจากสังคม ด้วยการกระทำที่ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว
เหมือนในตอนหนึ่ง ที่แฟนใหม่ของอิซามุ ซึ่งเดิมทีอิซามุเคยเป็นเพื่อนชายของมาสากิ
ได้ทราบข่าวการติดเชื้อเข้าโดยบังเอิญ จึงนำเรื่องนี้ไปแพร่กระจายและเม้าท์แตกเม้าท์แตน
ให้คนทั่วโรงเรียนได้รับทราบ ถือเป็นตอนที่แรงบี๊ดและกระชากเพดานความสะเทือนใจผู้เขียน
ที่แม้คนดูจะไม่ได้ติดอะไรกับเขาด้วย ก็ยังรู้สึกถึงสลดทดท้อไปตามๆกันกับตัวละคร




ซีรีย์เรือ่งนี้นอกจากจะสะท้อนความเห็นแก่ตัวในบริบทของปถุชนรอบข้าง
ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนที่ทั้งสนิทและไม่ค่อยสนิทด้วยแล้ว ครู เพื่อนบ้าน
หรือแม้แต่ไอ้หนุ่มนักร้อง อย่างเคอิโกะก็ยังรู้สึกโล่งใจ
เมื่อทราบถึงผลของการตรวจพิสูจน์ ว่าตัวเองมีผลเป็นลบ
และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมาสากิ เสมือนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ขณะเดียวกัน มาสากิก็ไม่อยากทำตัวให้เป็นภาระด้านลบในหน้าข่าวบันเทิงของตัวเคอิโกเอง
ความซับซ้อนของ precious Time ไม่ได้ตอกย้ำแต่เพียงเรือ่งของโรคร้ายนี้เท่านั้น
ยังไปผนวกอยู่กับปัญหาเดิมก่อนหน้า คือ ปัญหาความไม่เข้าใจภายในครอบครัวของมาสากิเอง
และกำลังมีเหตุผลของการหย่าร้างเป็นทุนเดิมก่อนหน้า
ประกอบกับนักร้องคนรัก อย่าเคอิโกะก็ทำตัวเหมือนจะไปคืนดีกับคาโอรุสาวทีมงาน
ที่ชอบในตัวเคอิโกะเช่นกัน
จึงเป็นผลให้มาสากิ ที่ชีวิตยังเป็นแค่วัยรุ่นในจุดเริ่มต้น จึงมีแผนที่จะฆ่าตัวตาย
ในสภาวะที่เคราะห์กรรมตามซัดอยู่เป็นระวิง ที่อาจจะทำให้ตอนที่สองถึงสี่
กลายเป็นจุดอเวจีในความทรงจำของผู้ชม ถ้าเจอเข้ากับตน
อาจจะคิดสั้นได้เร็วขึ้น นับตั้งแต่เผชิญกับปัญหาแรกก็เป็นได้





แต่ดีนะ ที่ซีรีย์เริ่มเข้ารูปเข้ารอย โดยไม่ปล่อยให้ไปสมหมายปลายท้ายเรื่อง
เมื่ออิซามุแฟนเก่ามาช่วยชีวิตมาสากิจากการคิดสั้นได้ทัน และได้นำความเรื่องนี้
ไปแจ้งให้กับทางบ้านของมาสากิได้ทราบ อีกทั้งผลงานเพลงใหม่ของเคอิโกะ
ที่มีแรงบันดาลมาจากตัวเธอ ก็สร้างพลังและกำลังใจในการที่จะมีชีวิตอยู่เพิ่มขึ้นเป็นกอง
กล้าที่จะไปประกาศว่า เธอเองเป็นผู้ติดเชื้อตามที่ลือกันให้กับทางโรงเรียนได้ทราบกันทั่ว
กล้าที่จะไปแถลงข่าวถึงความจริง ที่เคอิโกะจะถูกยกเลิกสัญญาจากค่ายเพลง
เป็นความกล้าแบบส่งท้ายปลายชีวิต ด้วยการแวดล้อมจากความรักความปรารถนา
ของคนเพียงไม่กี่คน หรือพูดอีกอย่างว่าจากบุคคลที่เหลือพอคบได้อยู่
โดยเฉพาะความอบอุ่นจากครอบครัวถือเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
ไหนจะความสำคัญจากเพื่อนแท้ที่เป็นผลลัพธ์จากวิกฤต และสำคัญกว่าใดนั้น
ก็เป็นมายดาร์ลิ่งของฉัน ที่ขาดไปอาจกลายเป็นหนังรักเเฟมิลีไป
โลกก็จะเข้ามาสวมกอดตัวเธอ ตราบเมื่อเธอได้เข้าใจโลก
มาสากิก็ค่อยๆเปิดใจและรับสภาพที่เป็นจริง จากสิ่งที่ได้รับแม้เธอจะยอมรับอย่างไม่เต็มใจ
แต่มันก็ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอ




แม้จะสะเทือนใจในทุกตอนที่ได้ดู แต่ซีรีย์เรื่องนี้ก็ให้อะไรอีกมากมาย
สำหรับการมีศรัทธาและการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนความจริงของสิ่งลวง
สิ่งลวงที่ว่า คือ การขาดความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม เพราะการเเพร่ระบาด
ของโรคจากคนสู่คน เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ถ้าไม่ผ่านทางความสัมพันธ์จากทางเพศและเลือด
มิใช่สะบัดๆ จับมือและเช็คแฮนด์ แล้วจะปุบปับรับโรคกันสักเมื่อไร
ถึงแม้บทจะฉีกแนวดาร์กดราม่าในแบบเดิมๆ จนสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นข้อห้ามในสังคมของการนำเสนอ
กระนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นบทที่มีความสมบูรณ์แบบโดยสิ้นเชิง
มันก็ยังมีข้ออ่อน-จุดด้อย จากความไม่แข็งแรงของบท ให้ชวนเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสเป็นจริงได้ในโลก
ที่ปรากฎเยอะแยะเต็มไปหมด อาทิ เคอิโกะกับมากิโอะจะรักปานประเดี๋ยว ระหว่างดาวค้างฟ้า
กับสามัญชนเด็กคอซอง แล้วถ้ารักกันปานจะกลืนกินเช่นนั้น เคอิโกะจะต้องติดคุกหัวโต
ในฐานะพรากผู้เยาว์ต่ำกว่า18 เป็นไปได้เหรอที่เคอิโกะไปมีสัมพันธ์สวาทแล้วไม่เป็นผู้ติดเชื้อ
อีกทั้งบุตรเธอเองก็ไม่ติดเชื้อไปตามแม่ แล้วทีฉันไปชูป้ายเชียร์เอเอฟแทบตายหลายสมัย
ทำไม๊ทำไมน้องเบอร์นั้นถึงไม่เคยเหลี่ยวแล เป็นต้น
แต่กระนั้นก็ถือเป็นบทงานเขียนชิ้นเอก ของ อาซาโนะ ทาเอโกะ
มือเขียนบทที่มักเน้นในสายสัมพันธมิตรแรงๆ อย่าง last friend ,Innocent love
และ Hard to say l love you (ถ้าไปเจอเธอ ก็อย่าให้เธอมาลิขิตชีวิตของเราละกัน
มิงั้น งานนี้เล่นเอาอ่วมแน่) ส่วนสองผู้กำกับก็ได้สายคุณภาพหลากรส อย่าง
ทาเกอุชิ ฮิเดกิ ที่มีงานเปี่ยมคุณภาพอย่าง Fire Boys,Densha Otoko ,Nodame
และ อิวาโมโตะ ฮิโตะชิ จาก Nobuta wo Produce ,Karei naru Spy
แถมทำเกินโควต้าปกติ เลยไปตั้งสิบสองตอน ถึงระดับที่นักวิจารณ์นิรนามท่านหนึ่ง
ถ้าคะแนนมีสิบแกก็ให้เต็มสิบอย่างน่าเกลียด (แบบอิงหนูเคียวโกะเยอะคำหน่อย) โดยถอดความได้ว่า
"อันนี้นะ ป๋าก็เห็นหน้านังหนูเคียวโกะมานาน หล่อนก็มักเล่นบทตัวประหลาดๆ อย่างนะหนูนะ
Fighting Girl, Strawberry on the Shortcake, To Heart และ Otousan แต่นี้มันเป็นอะไร
ที่มหัศจรรรย์มากในสายตาของป๋า ที่ได้เห็นนังหนูเคียวโกะรับบทที่แสนจะหนักอึ้งเช่นนี้
คิดดูดี๊ เธอเองเป็นแค่สาววัยสิบเจ็ดเอ๊าะๆเอง แล้วหล่อนต้องแบกน้ำหนักดราม่าตลอดเรื่อง
(แล้วเจ้าทาเกฯ ในเรื่องนี้วันๆแกทำอะไรลงไปบ้าง นอกจากจูงมือน้องวิ่งท่าเดียว)
นังหนูนี้ช่างแจ่มแจ๋วชะมัด แตกต่างจากสิ่งที่เคยพบเจอมาตามประสาป๋าเป็นคนรักเด็ก
ก็ซีรีย์โคตรจะซีเรียสเลยจริงๆ ถึงแม้มันโคตรเศร้าแต่ก็เป็นซีรีย์ที่งดงามเกินจะหาที่เปรียบได้
มันเสี่ยงต่ออาการต่อมน้ำตาแตกในทุกตอนๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง (ป๋าก็เป็นนะ)
เพราะสถานการณ์ระหว่างชีวิตของหล่อน มันขึ้นก็สุดลงก็มิด (แต่หนักไปทางลงนะ)
งั้นควรที่จะรัดเข็มขัดไว้ให้ดี เพราะซีรีย์เที่ยวนี้ไม่ต่างไปจาก roller coaster of feelings
ถ้าคุณแสดงความแห้งแล้งในความรักที่มีต่อหนูเคียวโกะแล้ว ก็เอาเรื่องนี้ไปบำบัดซะ
(If you like Kyoko the tinyest bit this is a must see. )"




จุดเด่นของซีรีย์เรื่องนี้อีกอย่าง คือ เพลง I for You ของวงน้ำทะเลเดือนหงาย
LUNA SEA ทั้งที่จริงแล้ว ซีรีย์เรื่องนี้มันมีเพลงประเภท insert song มาแกะกระแสอยู่พรวด
อาทิ In The Sky กับ Kirara by Kudo Shizuka และ Wishes โดย S.E.N.S.
แต่ก็ไม่มีเพลงไหนโดดเด่นเท่านกับ I For You ที่เป็นเพลงเปิด ที่ดังปุบ
ก็ลิงค์ถึงซีรีย์เรื่องนี้ปับ และไปมีความสำคัญต่อมน้ำตาจี๊ดแม้ไม่เข้าใจภาษา
ถึงขั้นประกาศอุทิศให้ตอนสุดท้าย เรตติ้งเกือบสามสิบในตอนที่มีชื่อว่า
Ep 12: I FOR YOU...For love and brightness of life
หลังจากที่เคยประกาศแยกวง ปีนี้ก็มีแผนการรียูเนียนฟอร์มวงขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเวิรลด์ทัวร์
คอนเสิรต์ที่มีชื่อ 20th Anniversary World Tour Reboot -to the New Moon โดยมีประเทศสัญจร
อย่าง เยอรมัน อเมริกา ฮ่องกง และไต้หวัน ตามกำหนดแผน แล้วค่อยไปเมอรีคริสตมาสในที่สุดท้าย
ในโตเกียวโดม อินเจแปน ว่าแล้วก็ทิ้งท้ายเพลงนี้ก่อนลาซะเลย........










 

Create Date : 05 กันยายน 2553    
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 20:26:05 น.
Counter : 5309 Pageviews.  

Yasuko to Kenji สิงห์คะนอง น้องหนูขอร้อง



ผู้เขียนไม่รู้หรอกนะว่า พี่น้องจะรู้สึกเช่นไรกับข่าวคราวของเหล่าบรรดา
แก็งค์ซิ่งครองเมือง ที่บิดแหว๋นกันตั้งแต่ถนนหลวงไปจนถึงมุมตรอกท้ายซอย
เพียงได้เห็นข่าวประเภทตามหน้าจอทีวีไทยด้วยแล้ว
ก็มีความรู้สึก เซ็ง-เบื่อและวุ่นวาย อาจสบถบรรพบุรุษเหล่ากอตามสภาพ
แต่ผิดกับเด็กแก็งค์ซิง่ครองเมือง ที่เป็นซีรีย์คอมเมดี้จากค่าย NTV ของญี่ปุ่น
ที่พออ่านเรื่องย่อพอประมาณ ดันไปมีความรู้สึก
ตื่นเต้น เฝ้ารอ กระวนกระวาย และอยากยกธูปกราบบูชาบรรพบุรษตามเหล่ากอสภาพ
ด้วยผลผลิตทางทุนวัฒนธรรมเฉพาะของค่ายนี้ ที่มักจับกลุ่มแบดบอย
มาปู้ยี้ปู้ย่ำทำซ้ำแปรสภาพ ให้กลายเป็นงานอรรถรสเย้ยสภาพแห่งโลกความเป็นจริง
ที่ไม่กะเอาให้ขำเป็นตาย แต่ก็มีความหมายดีๆแอบแฝง
เพียงแต่เขาเอาจุดขายในความสนุกเป็นที่ตั้ง แต่ลับหลังก็เล่นเอาซึ้งจนน้ำตาคลอ





เหตุที่ทำไมต้องเป็นค่าย NTV นะเหรอ?
เพราะค่ายนี้มีมาตราฐานการทำเรื่องในแนวแบดบอย จนเป็นล่ำเป็นสัน
มีความแม่นยำ ในการร้อยเรียงและยิงฉมังได้ตรงจุดโดนใจวัยสะรุ่น
มีสูตรสำเร็จเฉพาะของทางสถานี ที่ถือเป็นสูตรตายสนิท ชนิดที่แวดวงอโคจรไหน
เข้าใกล้ในรัศมีสูตรการันตีสำเร็จแบดบอยคัมปานีนี้เข้า เป็นต้องเสร็จทุกราย
และไปมีความหมายเป็นบวกอยู่เสมอ
ทำให้นักชมคราวรุ่นและเคยรุ่น เห็นเข้ายังปรีดาและชักเริ่มแยกแยะสังคมเลวในคนดีไม่ถูก
ไม่ใช่ชนิดที่ดูข่าวแล้วตามมาตบซ้ำปัญหา แต่เป็นการขุดปัญหาสังคมเยาวชนที่ว่าหนักๆ
เอามาขัดเกลา เขย่ามุข แล้วเข้าสู่กระบวนการอนิเมทลิเซชั่น
ให้แลมีความเป็นการ์ตูนภายใต้บริบทของปัญหาที่ซุกซ่อนจริงภายในสังคม
ที่ดูแล้วอาจเรียกอารมณ์ขำปนฮา แต่ขณะเดียวกันก็รับรู้ว่าปัญหานี้ยังมีจริงบนท้องถนน
มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว ล้วนแล้วแต่สร้างชือ่ให้กับสถานี NTV ทั้งสิ้น
อาทิ Gokusen ทั้งสามภาค ,My Boss My Hero และรวมถึงเรื่องนี้
Yasuko to Kenji ที่ผู้เขียนอยากตั้งชื่อภาษาไทยว่า "แก็งค์ซิงสิงห์คะนอง น้องหนูขอร้อง"




I'm Oki Yasuko.Ever since our parents died in an accident
I've been living with my brother.It's absolutely terrible.
He hides his indentity as a manga artist
because he's actually a loud ex-biker gang leader.
(ฉันชื่อโอกิ ยาสุโกะ นับตั้งแต่พ่อแม่ของเราได้ตายไปด้วยอุบัติเหตุ
ฉันก็ได้อาศัยอยู่พี่ชายเพียงสองคน มันเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัวอย่างหาที่เปรียบมิได้
เขานะได้หลบซ่อนตัวตนด้วยการผันมาเป็นนักวาดการ์ตูน เพราะอะไรนะเหรอ
เพราะเขาเคยเป็นหัวหน้าเด็กแหว๋นชื่อเสียงนามกระฉ่อนนะสิ)


Also my crush's sister seem to be a rival of his
Surely,it's like a Romeo and Juliet scenario.
(อีกทั้งนะ น้องสาวผู้แสนจะบอบบางอย่างฉัน ยังถูกกระทำเยี่ยงนักโทษในสายตาเขา
แน่ละสิน้อ มันไม่ต่างไปจากบทประพันธ์ ในโรมิโอแอนด์จูเลียทเลยว่าไหม)



Yasuko to Kenji เป็นซีรีย์ที่ทำมาจากการ์ตูน ที่ลงในเครือของนิตยสารโชนัน
โดยทั้งวาดและสร้างพล็อกเรื่องเอง ภายใต้นามนักเขียน "อารุโกะ"
เป็นเรื่องราวของพี่น้องกำพร้าคู่หนึ่ง ที่บิดามารดาเส่ียชีวิตจากอุบัติเหตุ
เมื่อสิบกว่าปีก่อน พี่ชายจึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดการ์ตูนตาใสหาเลี้ยงชีวิต
เพื่อส่งเสียเลี้ยงดูน้องสาว "โอกิ ยาซุโกะ" ที่กำลังโตเป็นสาวเข้าสู่ชีวิตมัธยมปลายเต็มขั้น
ด้วยช่องว่างระหว่างวัย จึงเป็นเหตุให้เคนจิ เป็นพี่ชายที่เข้มงวดและหวงน้องสาว
ยิ่งกว่าไข่ในหิน ซึ่งสร้างความอึดอัดใจในการใช้ชีวิตวัยรุ่นของยาซุโกะเป็นอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน ในอดีตพี่ชายของยาซุโกะ ซึ่งก็คือนายเคนจิ
เคยเป็นหัวหน้าแก็งค์มอเตอร์ไซด์ประจำถิ่น ที่มักมีเรื่องขัดแย้งในการทับซ้อนพื้นที่
กับหัวหน้าแก็งค์อีกฝ่าย ที่ชื่อ "ซึบากิ เอริกะ" เป็นหัวหน้าแก็งค์มอเตอร์ไซด์ฝ่ายหญิง
ที่แอบปลื้มนายเคนจิ ทั้งๆที่เป็นคู่แข่งต่างแก็งค์ มาแต่ไหนแต่ไร
เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่าน แต่ละฝ่ายก็แปรสภาพจากกลุ่มคนใต้ดิน
โผล่พรวดขึ้นมาทำสัมมาอาชีพอยู่บนดิน ที่ปัจจุบัน
เอริกะหันมาเปิดร้านขายดอกไม้ ใช้ชีวิตเป็นสาวอินโนเซนท์เส้นตื้น
เสมือนหนึ่งว่าไม่เคยข้องเเวะกับทางอโคจรใดใดเลยมาก่อน
ความที่ร้านดอกไม้ เป็นทางผ่านระหว่างบ้านกับทางโรงเรียนของน้องยาสุโกะ
เลยทำให้ยาสุโกะกับเอริกะมีความสัมพันธ์อย่างเข้าอกเข้าใจแบบแนบแน่นแสนจะใกล้ชิด
นอกจากนี้น้องชายของเอริกะ ที่ชื่อ "ซึบากิ จุน" ก็เป็นถึงหนุ่มดาวโรงเรียน
ที่ตัวน้องหนูยาสุโกะแอบปลื้ม ในอารมณ์ไม่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ารักแต่ประการใด
แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็มาติดอยู่ในปัญหาประการเดียว คือ ตัวพี่ชายเคนจิ
ที่นอกจาก จะเขี้ยวกับน้องสาวเพียงคนเดียวไม่หาย อีกด้าน
ก็ยังประกาศความเป็นศัตรูของสองตระกูล แบบคงทนและถาวรที่ฝังรากลึกใส่กลุ่มตระกูลซึบากิ
ชนิดที่ถ้าบ่าวโรมิโอเกิดดันมีใบขับขี่ และสาวจูเลียทขี่มอเตอร์ไซด์เป็น มันก็คืองานวรรณกรรมอมตะของ
เช็คสเปียร์สชัดๆเลย






เนื้อเรื่องก็มีสั้นๆแค่นี้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมึนงงมากมาย
จะว่าไปพล็อกเรื่องในแต่ละตอน ก็หมุนวนในประเด็นแก่นหลักเดิมๆ
ที่นึกสงสารความเป็นทายาทสารบบสกุลนักเลง เพราะสังเกตมากี่เรื่องๆ
ตัวเอกก็ต้องแบบเบาะในความเป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ สภาพอุบัติเหตุไม่ตายดีแบบยกครัว
ที่มักจะบอกเกริ่นแต่เนิ่นๆแล้วยังไม่ชัดเจน ให้บุตรที่เกิดจากสายสกุลอโคจร
เสริมกำลังความมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากเทือกบิดามารดาโดยปกติวิสัย
แต่ทว่า กลับไปได้ความรักความอบอุ่นเป็นพลังทดแทน ที่ทำถ้าว่าจะไม่แพ้รักแท้ของพ่อและแม่
ทั้งจากเครือญาติก็ดี หรือบริวารที่ยังพอมีเหลืออยู่





ผู้เขียนไม่รู้หรอกนะว่า วง "Tokio" จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่นบ้านเขาแค่ไหน
แต่การใช้ทรัพยากรบุคคลเชิงภาพลักษณ์ (imaged personal resource)
ก็ทำให้สมาชิกอย่างน้อยๆก็สองคน คือ นางะเซะ โทโมยะและ มาซึฮิโระ มัตซึโอกะ
มีสัญญะของความเป็นแบดบอย ปรากฎขึ้นติดตัวในแบนด์ของวง tokio
อย่างน้อยๆ ในความรู้สึกของผู้เขียน ที่แม้จะร้องฮัมไม่ได้สักเพลง แต่หลงเชื่อไปว่า Tokio
มีความเป็น "กบฎทางสังคม" แฝงอยู่ในตัวตนของวงการเพลง
ที่แม้ไม่ได้เอากีต้าร์เขวี้ยง หรือไล่กระทึบกล่องชุด แต่ก็เผลอไปเชือ่มโยงจากสิ่งที่เห็นในซีรีย์
อย่างที่โรล็องด์ บาร์ตส์ ผู้อธิบายสัญวิทยาและมายาคติ ว่าในทุกๆตรรกะที่สื่อความหมาย
โดยใช้สัญญะ เป็นมายาคติสื่อความหมายที่อาศัยการยึดครองวัตถุ โดยพิจารณาซึ่ง
ประโยชน์ใช้สอยควบคู่กับลักษณะของวัตถุ เป็นการสวมทับความหมายไปอีกชั้น
สร้างภาพลักษณ์การเป็น "ไอ้เสือกลับใจ" ที่นอกจากจะเป็นคนดีที่ตอนสุดท้ายแล้ว
ซีรีย์ยังได้สอดแทรกความเป็นสัญญะแบดบอยไว้ในตัวบุคคล
อย่างน้อยๆ ก็ทำให้วง tokio ในการรับรู้ของสาธารณชน มิใช่วงเด็กดิอินโนเซนท์อีกต่อไป
สำหรับนายมัตซึโอกะ เรื่องนี้อาจจะทำให้ช่องว่างของความอยากชิดใกล้
นั้นดูห่างไกล เมื่อเทียบกับครั้งที่แสดงใน Psychometer Eiji กับ Nurseman
เพราะพี่แกเล่นได้แรงและแลดูสถุล ตามสไตล์ของเด็กแหว๋นนอกรัง
เข้าใจว่าหลังจากการซ้อหลังเลิกวง อาจมีการติวเป็นการส่วนตัวกับรุ่นเพื่อน อย่าง
เจ้าโทโมยะ ที่่ผ่านงานแสดงกุ๊ยๆ อย่าง My Boss My Hero หรือ Tiger and Dragon
ว่าจะเอาความร้าย บวก ฮา ผสมให้สมประกอบอย่างไร ให้สัมฤทธิ์ผลแก่คนดู
ส่งผลให้ ฉากการเจรจาล้มโต๊ะ(กินข้าว) และพฤติกรรมของอาการหน้างิกเพราะคิดเก็กการ์ตูนไม่ขึ้น
กลายเป็นสิ่งที่ติดตัวและยังขาดเสียมิได้ในแต่ละตอน จะเสียดายก็ตรงที่สูตรสำเร็จ
แบบคนดีสองบุคคลิก ที่จำต้องปกปิดความจริงเอาไว้เพื่อกะเอาฮา
ใน Yasuko to Kanji ดูจะไม่จำเป็นต้องปิดมิดชิดอะไรมากมาย
ยังคงปล่อยตัวตนที่เป็นอยู่ และอยู่อย่างที่เคยเป็น ให้กับนายเคนจิได้ปฎิบัติตน
ทั้งในส่วนหน้าฉากและหลังฉากอย่างเต็มที่ และเต็มทาง
อยา่่งน้อยก็เป็นจิ๊กโก๋ประเภทปากร้าย แต่ใจดี แสดงออกลึกๆแต่ละที
ก็ต้องมีลูกเล่น ลีลา และลูกแก้ตัว แถมท้ายมาเสมอ
แต่กระนั้นก็ได้ใจสำหรับคนดู ที่ชอบอะไรที่ดูตรงๆแรงๆ ตามสไตล์เด็กบู้ที่ไม่ต้องการอะไรเยิ่นเย้อ
แต่มั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าน้องคนใดได้ตัวละครอย่างนายเคนจิเป็นพี่แล้วไซร้
ต่อไปภายภาคหน้าเกิดเป็นอัมพฤตอัมพาตหรือสวมชุดเจ้าหญิงนินทากระทันหัน
อย่างน้อย ก็จะมีกระทาพี่ชายนายเคนจิคอยอยู่เฝ้าไว้มิได้ห่าง





สำหรับ หนูมิกาโกะ ทาเบะ ที่เล่นเป็น "ยาสุโกะ" น้องสาวเจ้าเคนจิ
ที่เผลอแป้ปๆ น้องแกก็โตเป็นสาวอย่างสมใจ นับตั้งแต่ติดตามจากงาน
ภาพยนตร์ชิ้นแรกๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหุ่นกระป๋องHinokio เมื่อสักห้าปีก่อน
จนต่อมาดูเหมือนจะไปเป็นศิษย์รักของ ผกก. แนวฝันวันมัธยมปลาย อย่าง
มาซาฮิโกะ นากาซาวะ เพราะโผล่ไปเป็นตัวเอกในหนังของ ผกก.
ให้นักแสดงคนอื่นอิจฉาเล่น อาทิ way of blue sky และ Night Time Picnic
ในซีรีย์เรื่องนี้ เธอดูจะเล่นได้เด่นกว่าใครๆ ในฐานะตัวศูนย์กลางของการดำเนินเรื่องทั้งหมด
ขณะเดียวกันด้วยวัยที่กำลังน่ารักสดใส และการมองโลกในแง่ดี
มีกำลังใจในการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมของครอบครัวที่ไม่น่าพิสมัยในสายตาใครๆ
เป็นเด็กหญิงต๊องๆ ที่มีความได้เปรียบกว่านักแสดงรุ่นเดียวกัน
ที่ได้รับการบ่มเพาะทางงานแสดงตั้งแต่ยังอายุย่างเข้าทำบัตรประชาชน
แค่ได้เห็นหน้านังดูคนนี้ ก็เชื่อแล้วว่าบริวารแวดล้อมทั้งหลายย่อมต้องมีความสุข
จากรอยยิ้มที่สดใสตามเธอไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะถ้าตัวละครตัวนี้
ไม่สามารถซื้อใจคนดูได้ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ก็เห็นท่าว่าซีรีย์เรื่องนี้จะเดินต่อไปได้ลำบาก
เพราะเราไม่อาจคาดหวังความมหัศจรรรย์จากพล็อกเรื่องอันเกลื่อนกลาด
ที่ปัจจุบันนานเข้า กลายเป็นสูตรสำเร็จธรรมดาสูตรหนึ่งของค่าย NTV ไปเสียแล้ว
อืม ลืมบอกไปอีกว่า คนที่มาเล่นเป็นหนูโยสุโกะในวัยเด็ก คือ นักแสดงเด็กคนเดียวกัน
ที่เล่นในเรื่อง Flowershop without Roses ซึ่งหนูยูกิคนนี้
ก็ยังคงรับบทผลิตน้ำตาเรียกคะแนนความสงสาร
ตามความสามารถถนัดถนี่ ที่ไม่สงสารเบ้าตาตัวเองอีกเช่นเคย
ซึ่งนับแต่ flowershop น้องหนูก็มีงานชุก ที่แม้เจียดเวลาเพื่อเบียดเวลาเรียนไม่ได้
แต่หลายค่ายก็นิยมนำน้องหนูมารับบทนางเอกวัยเด็กในฐานะดารารับเชิญ
สักตอนสองตอน ซึ่งคงพอค่าเล่าเรียนต่อไปได้อีกหลายเทอม





ส่วนคนที่ดึงดูดในเบื้องต้น ตั้งแต่เห็นลิสต์ในรายชื่อนักแสดงแล้ว
คงหนีไม่พ้นน้องเรียวโกะ ฮิโรสุเอะ ที่ยังอยากคงสรรพนามตามชื่อว่าน้องตลอดไป
ด้วยการติดตามผลงานการแสดงมานับเป็นสิบกว่าปี
ถ้าว่ากันด้วยความสามารถทางการแสดงแล้ว เจ๊ฮีโระสุเอะก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครๆ
แต่ในซีรีย์เรื่องนี้ที่ต้องเล่นเป็นสาวสองสถานะ ที่หน้าฉากเป็นสาวหวานร้านดอกไม้
แต่อดีตเบื้องหลังเป็นถึงหัวหน้าแก็งค์มอเตอร์ไซด์ขาใหญ่ ไม่ใช่เด็กสก๊อยสวมกางเกง
ขาสั้นลายดอก ซ้อนท้ายไอ้หนุ่มเด็กแหว๋นที่ไหน
ที่แม้แต่เส้นทางอิทธิพล ยังไปทับขาและเบิ้นท่อไอเสียใส่หัวหน้าแก็งค์อย่างเคนจิเข้า

รู้สึกได้ถึงบารมีที่ถูกกดทับ โดยไม่สมกับประสบการณ์อันเชี่ยวและพรสวรรค์ที่มีอยู่
ถ้าดูเอาเรือ่ง ก็คงหมดเรื่องที่จะคุย เพราะเจ๊เรียวโกะเธอหวานเกินจะเชื่อว่าเคยเลวมาแต่ไร
แต่ถ้าดูอย่างไม่เอาเรือ่งเอาราวนัก แล้วมีใครสักคนกล่าวขึ้น
อย่างกระทบกระเทียบเข้าให้ว่า เจ๊แกเล่นได้อย่างดูออกเลยว่ามันเป็นการแสดง
ผู้เขียนผู้นี้ คงจะสวนกลับออกไปว่า "เออ แล้วคนอื่นมันไม่ได้แสดงรึไงกันละ(ฟะ)"
แต่ถึงกระนั้นก็เจียมตนว่า ในระยะหลังๆ เจ๊ฮีโระสุเอะเธอรับเล่นซีรีย์แต่ละเรื่อง
ได้ไม่เข้าตาผู้เขียนเลย ไม่ว่าจะเป็น triangle, Long Wedding Road
รวมทั้ง Yasuko to Kenji ด้วยก็ตาม เข้าใจเอาเองอีกแล้วว่า
เอเยนซี่ผู้เลือกบท น่าจะมีปัญหาต่อการใช้ทรัพยากรตัวบุคคลของฮีโระสุเอะ
หรือไม่ก็องค์ประกอบโดยภาพรวมของเรื่อง มันมีปัญหาเกินกว่าที่เจ๊ฮีโระสุเอะจะแบกรับไหว
ถ้าดูให้พอหายคิดถึง คงหายขาดเพราะแต่ละเรื่องที่รับเล่น
ล้วนแล้วแต่เทช่วงเวลาให้กับเจ๊อย่างล้นเหลือ ในบางช่วงที่ไม่น่ามีก็ฝืนบังคับให้มันมี
ถ้าดูอย่างมีเป้าหมายอย่างสูงสุดแบบผู้เขียน เรื่องนี้ก็ถือว่าสมหวังดั่งตั้งใจ
แบบไม่พกสาระใดใดให้รกสมอง นอกจากหน้าตางามๆของใครไม่กี่คน





รวมถึงเครื่องมือที่สร้างประสิทธิภาพสูตรสำเร็จทางต่อมฮา
ที่ทาง NTV ใช้ในการตีกินมาโดยตลอดอย่างได้ผล คือ เหล่าลูกเห็บลูกหาบ
หรือเรียกง่ายๆว่า ลูกสมุนที่ต้องเป็นสองรองหัวหน้า ที่เคยใช้กันมาได้ดี
อย่างในซีรีย์ Gokusen ก็มีบ่าวรับใช้อ้วน-ผอม นายหญิง อย่าง เท็ตซึ กับ มิโนรุ
ขณะที่ My Boss My Hero เลือกใช้คู่หูต่างวัยรับใช้คูโจ อย่าง เทรุยะกิ กับ คาซึยะ
ดังนั้น Yasuko To Kenji ก็ไม่หลงลืมที่จะใช้สูตรนี้ เพื่อกันเหนียวเช่นกัน
โดยเลือกใช้ โมสุ ที่เล่นโดย อุชิยามา ชินจิ ผู้มีชั่วโมงบินความเป็นขี้ข้านางน้อย
ในบท มิโนรุ ในซีรีย์ Gokusen และอีกคน คือ อาจิดาซุ ที่รับบทโดย
วาตาเบะ โกดะ ที่ตลอดชีวิตการรับเล่นซีรีย์ ก็ไม่ค่อยจะได้รับบทเด่นอะไร
กับชาวบ้านเขาอีกเช่นกัน ซึ่งก็มีผลุบๆโผล่ๆ อย่างในซีรีย์
Operation Love,Hotaru no Hikari และSaru Lock
ก็ต้องเรียนตามตรงว่า สูตรสำเร็จที่ว่านี้ไม่ทำปฏิกิริยาความเป็นตัวช่วยของความสนุก
เท่าไรนัก ที่นอกจากเป็นบทเสริมที่ไม่มีความโดดเด่นเชิดหน้าชูตาอย่างเห็นคุณค่าเท่าไรนัก
ความลงตัวในการรับมุขของตัว โมสุ กับ อาจิดาสุ ที่ดูจะฝืดๆเฝือๆ
ที่วันๆก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่า การที่ช่วยเคนจิถมสีกับตกแต่งกราฟฟิค
บทจะให้หวนขึ้นหลังอานมอเตอร์ไซด์ ก็ใช้เพียงไม่กี่ฉากให้สมศักดิ์กศรีลูกกระจ๊อก
แต่ละวันส่วนมาก ก็มาปั่นต้นฉบับการ์ตูนตาหวานกลมโป๋ ภายใต้ชื่องานของนายเคนจิ
ให้ดูน่ารัก สดใสและทันในเดธไลท์เวลาส่งงานเข้าแท่นพิมพ์






และอีกหนึ่งสูตรสุดท้าย อันเป็นของตายของค่าย NTV เขา
ก็คือ ตัวละครสุภาพบุรุษสุดภูมิฐาน ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเป็นอุดมคติของสาวๆ
ที่นอกจากหน้าตาจะดีแล้ว ยังต้องมีความเป็นสุภาพสุดเรียบร้อย
แบบที่เอาให้คอนเทรสกับตัวเองแบบเเบ่งแยกให้เห็นอย่างเด่นชัด
ถ้าเป็นอย่างใน gokusen บทอย่างนี้ก็จะตกกับครูผู้เป็นหวานใจของยัยยาคุมิ
แต่ถ้าไปตกอยู่กับ My Boss My Hero ให้เข้าแล้ว บทนี้จะต้องเป็นของ
นายน้อยผู้เป็นน้องชายทางสายเลือดของคูโจมาคิโกะอย่างแน่นอน
แต่พอบทบังคับนี้ มาตกใส่ใน Yasuko to Kanji ให้เข้า
บุคลิกภาพเชิงอุดมคติแบบแมนๆนี้ ก็ตกเป็นของน้องชายของเอริกะ อย่าง
หนุ่มชุน ผู้เป็นหวานใจมายดาร์ลิ่งของน้องหนูยาสุโกะแทน
เป็นไอ้หนุ่มอีกคน ที่ดูจะเขย่งเข้าวงการตามรอยพระเอกทัตซึโอโกะ
เพราะหนุ่มโอคุระ ทาดาโยชิ ก็นั่งทับเก้าอี้ตำแหน่งมือกลองแต่อยู่กันคนละวงกับเฮียเท็ตซึซังเขา
คงรู้อยู่นะว่าเท็ตซึซัง เขานั่งเปิดตาตีกลองให้กับวง Tokio มาเป็นชาติ
แต่ทาดาโยชิหน้าใหม่คนนี้ เขาเป็นเด็กในสังกัด Johnny's Entertainment ที่ไปตีกลองโป๊งๆ
ให้อยู่กับวง Kanjani8 ความที่ไม่เคยดูงานก่อนๆของหมอนี้มาเลย
การที่ต้องรับบทเป็นคุณชายสุขุมแห่งดาวโรงเรียน ก็เป็นบทสร้างภาพ
ให้ยืนเก๊ะๆ เตะตาสาวๆ แล้วสะกดอารมณ์ไม่ให้พลุกพล่านเกินงาม
จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการขายความหน้าตา มีชาติสกุลที่พ่อเป็นถึงประธานบริษัท(ตามเรื่อง)
อย่างน้อยๆก็ทำให้น้องโยสุโกะ มีเป้าหมายแห่งการช่วงชิงให้กับชีวิต
มีกิจวัตรฝันจนเพ้อแม้เผลอเข้าในเวลาเรียน แต่หน้าตาก็ไม่น่าจะมาเป็นน้องชายของเอริกะจัง
ด้วยตาไม่เหมือน จมูกไม่ใช่ ปากเบี้ยวไปนิดและลูกบู๊ก็ไม่มีให้ปรากฏ
หากไม่ทำตัวแย่จนถูกดองงาน เข้าใจว่าน่าจะมีโอกาสได้แจ้งเกิดอยู่ในวงการต่อไปนานๆ
แต่บทอย่างนี้ใครเล่นก็น่าสงสาร เพราะไม่ได้มีมิติด้านลึกของตัวละคร
ให้โดยโชว์ความสามารถทางการแสดง นอกจากกินบุญเก่าของความหน้าตาดี
ที่พ่อแม่ให้มาพอให้เป็นบุญถาวร แต่ดูในเชิงเปรียบเทียบแล้ว บทของเจ้าชุน
ดูจะมีโอกาสได้โชว์ของดีมากกว่าใครๆที่กล่าวอ้าง เพราะผู้สร้างเขาเจียดบท
ให้คุณน้องโอกุระ ทาดาโยชิ ได้แสดงออกเชิงการแสดง ซึ่งจะมากไปกว่าตอน
ทำเพลงร่วมกับวงบอยแบนด์............รึไม่ อันนี้ก็ไม่ทราบได้
เพราะไอ้ผู้เขียนคนนี้ก็ไม่เคยอยู่ทนฟังเสียด้วยสิ





It's true that.Yasuko isn't very smart.She isn't a looker.
and she makes eggs salty.She's carefree slow and stubborn.
I don't know what to do with her.
(มันจริงเสียยิ่งกว่าจริง ยาสุโกะนั้นดูไม่แจ่ม ไม่น่าหลงใหลและทอดไข่ก็แสนที่จะเค็ม
ทำอะไรก็ไม่คิดหน้าคิดหลัง แถมยังดื้อรั้งเสียอีก จนพี่ชายอย่างฉันไม่รู้จะจัดการอย่างไร)

But she's a great woman,She's the world's best woman.
(แต่เธอก็เป็นผู้หญิงที่วิเศษที่สุด เป็นผู้หญิงที่ดีที่สุดในโลกนี้ก็ว่าได้)





ความจริงถ้าจะให้จับประเด็นที่ต้องการนำเสนอใน Yasuko to Kenji
ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรไปมาก นอกเสียจากความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง และการเปิดเผยความรู้สึกลึกๆในจิตใจ
เป็นเรื่องของ Self-mastry ว่าด้วยทักษะการการบริหารจัดการเรื่องของตนเอง
ตามความรู้สึกที่ตัวเองปรารถนา มากไปกว่าสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือมาตราฐานทางสังคม
ขีดเส้นไว้ และต้องการบรรลุศักยภาพนั้นด้วยกำลังที่ตนเองมีอยู่ ไม่ใช่พึ่งพิงบารมีของผู้อื่น
เมื่อเราสามารถบริหารจัดการเรื่องของตนเองได้ จะมีภารกิจควบคู่อย่างต่อเนื่องถึงการบริหารดูแล
ผู้อื่นที่ตนรู้จัก ไมว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง เครือญาติและลูกน้องเพื่อนฝูง
ซึ่งนี้ก็จะเป็นจุดแข็งของเรื่องที่กล่าวย้ำมาโดยตลอดทุกตอน แต่ถ้าหวังในความบันเทิง
ด้วยแล้ว เรื่องนี้ประเคนให้เพียงประมาณหนึ่งไม่มากนักเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่างใน
My Bossฯ และ Gokusen ที่ให้ได้อิ่มกว่าและบทแข็งแรงกว่า
เข้าใจว่าพลังของชื่อเสียงและบารมีของนักแสดง มีผลต่อการขับเคลื่อนและประคอง
ความเป็นไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าถ้าปลุกปั้นนักแสดงใหม่ทั้งทีม บางทีเรื่องนี้อาจเป๋แบบกู๋ไม่กลับก็เป็นไปได้
ยิ่งเห็นความนิยมไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ มาเรียงๆ แสดงว่าเกิดความผูกพันของตัวละครในใจคนดูตามลำดับ
ขณะที่อิทธิพลของเด็กแหว๋น
ก็ค่อยๆจางไป แต่ไปให้ความสำคัญกับผลงานในอาชีพนักวาดการ์ตูนของเคนจิแทน
ถือเป็นการเปลี่ยนแผนทางสโลแกนอย่างได้ผล ชนิดที่อาจลืมไปว่ากำลังดูซีรีย์ที่ว่า
ด้วยอดีตสิงห์นักซิงที่หันมาจับปากกาวาดการ์ตูน ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูนจอมซ่าแต่ทว่า
ดันผันมาเขียนในแนวการ์ตูนรักหวานแหวว โดยปล่อยให้มอเตอร์ไซด์แต่งไปจอดให้ฝุ่นจับเล่น
ถือเป็นงานผิดฟิวส์ของผกก. Gokusen อย่าง โอตานิ ทารุ ที่หันมาสายพิราบ
โดยไม่เน้นในสายจับเตะ แล้วหักศอก แบบหนึ่งต่อสิบ หรือภาษาง่ายๆว่าหมาหมู่
แบบฟุ่มเฟือยในทุกตอนของตอนท้ายๆ อย่างที่เคยเป็น ถึงแม้มีบ้างในช่วงแรกๆ
แต่ก็ถือว่าน้อย




ถ้าข้อจำกัดประมาณนี้ การสร้างเพียงแค่ตอนเดียวก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก
แต่สถานีฉลาดพอ ที่จะทำให้เรื่องราวไปไกลได้มากไปกว่านั้น
โดยค่อยไปพัฒนาสร้างมุข และหยอดประเด็นเสริม ให้เรื่องพอเดินไปต่อได้
แต่คงเป็นความฉลาดของทีมงาน ที่รู้จักการบริหารเงื่อนไขที่มีอยู่น้อย
และทยอยใส่มุขอันแสนจิปาถะ ตรงโน้นมุข ตรงนี้หน่อย
แม้ว่าในหลายๆมุข ความขำจะไม่ปรากฎอย่างเด่นชัด แต่อย่างไรเสีย
ความวุ่นวายและความอลหม่านในสถานการณ์ มีให้เห็นปรากฎอย่างชัดเจน
แม้จะตั้งคำถามถึงความจำเป็นถึงความ "ต้องมี" ในมุขนั้นๆเองก็ตาม
และด้วยความที่พล็อกที่มาจากการ์ตูนญิ๊งๆ ที่เป็นคอเมดี้ขำๆแบบดูเวอร์
น้ำหนักในการจะพาให้ซีรีย์เรื่องนี้ไปตลอดลอดฝั่ง โดยไม่ล่มไปกับการวนมุขที่จำเจ
ส่วนหนึ่งต้องยกให้กับ "พลังดารา" ที่มีส่วนสำคัญกับการพาซีรีย์เรื่องนี้ไปถึงสิบตอน
มันคือสีสันที่สร้างส่วนผสมแม้จะขาดไปบ้าง แต่ก็มีพลังส่วนเกินทับถมให้สมดุลอยู่ตลอด
เป็นผลให้ Yasuko to Kenji เป็นงานแบดบอยคอเมดี้
ที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากสายสกุลโกคูเซนและมายบอสฯ อย่างโดดเด่น
ดูมีความเป็นกันเองอย่างเต็มที่ งานนี้จึงต้องอาศัยนักแสดงตัวเก๋า มีประสบการณ์มากพอ
ที่จะเดินหมาก วางเกม ให้เรื่องราวที่ไม่น่าจะมีสาระถูกมองข้ามด้วยพลังในการแสดง
หากใครเป็นแฟนพันธ์แท้และพันธ์ทาง ของ My Boss และ Gokusen
และยังไม่สะอิดสะเอียน เลียนรสชาติของสูตรสำเร็จประเภทนี้ Yosuko to Kenji
จะมาช่วยเสริมความต่อเนื่องของรสชาติที่แม้จะไม่ถูกใจ เต็มอิ่ม
แต่ความถูกปากจากรสชาติที่คุ้นเคย ก็เป็นความปลอดภัยในโภชนายากูซาซีรีย์ไปได้อีกเปลาะนึงเช่นกัน........




ครั้งหนึ่งเคยร่ายไว้ถึงยากูซ่าซีรีย์ ไว้ใน

My Boss My Hero เจ้าพ่อขอไปเรียนหนังสือ

และ


Gokusen ลูกสาวเจ้าพ่อขอเป็นครู





 

Create Date : 28 สิงหาคม 2553    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 18:47:26 น.
Counter : 2790 Pageviews.  

Antique สามหนุ่ม ขนมหวานกับร้านเก๋า


ผู้เขียนโดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
พอๆกับ การที่ไม่ชอบทานขนมหวานเลยสักชิ้นสักอัน
ความที่ไม่ชอบอะไรที่มีส่วนผสมของความเป็นน้ำตาล
ด้วยชาติตระกูลชื่อแซ่ เป็นคำสาปในคู่ปรปักษ์ที่สอดรับได้ดีกับความเป็นโรคเบาหวาน
โรคที่พิสูจน์ทางอาการจากปากคำของบรรพบุรุษแล้วว่า ไม่ได้เบา และไม่ได้หวานเลยสักนิด
แม้แต่การเข้าไปยืนขาถ่างในร้านขนมหวาน ก็ยังรู้สึกเป็นอะไรที่อิหลักอิเหลือ่มชอบกล
ทั้งในแง่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ต่อชิ้น เป็นวัวถึกที่ไม่รู้องค์ประกอบและโครงสร้างใดใดเลย
ไม่เว้นแม้แต่ตำนานความเป็นไปเป็นมาของขนมนมเนยอะไรกับเขาสักชิ้น
แม้แต่เจ้า "เทรามิสุ" ผู้เขียนยังหลงนึกว่า น่าจะเป็นหนังสักเรื่องของค่ายแดนปลาดิบเขา
ทั้งๆที่จริงแล้ว มันเป็นชื่อของขนมทางอิตาลี ที่ผู้เขียนได้ไปวิจัยนอกพื้นที่จริง
ยังต้องปาดเหงื่อ ด้วยราคาต่อชิ้นต่ำๆ ต้องใช้อัตราเเลกเปลี่ยนเป็นยูโรโซน
มันจึงจะดูเหมือนว่า ราคาช่างสมปากสมคำให้พอหม่ำสักครึ่งคำเสียจริงๆ





ผู้เชียนมีเพิ่งโอกาสได้ดูหนังเกาหลีเรื่องหนึ่ง ที่แสนจะทรมานตา-ฆ่ากระเพาะ
โดยผู้กำกับ คยู ดอง มิน ที่ชื่อ Antique Bakery (2008)
ซึ่งจะไม่ขอลงลึกในรายละเอียดมากนัก เพราะคาดเดาเอาไว้ก่อนละกันว่า
ถ้าไม่ขอซื้อลิขสิทธิ์มาจัดทำใหม่ ก็น่าจะได้รับอิทธพลจากซีรีย์ญี่ปุ่นของค่ายทืวีฟูจิ
ที่เริ่มฉายในปี 2001 และได้เข้าฉายในประเทศไทยในอีกปีต่อมา
ภายใต้ชื่อสุดเก๋แสนจะสอดคล้อง ว่า "สามหนุ่ม...ขนมหวาน กับร้านเก๋า"
หรือในชื่ออินเตอร์ฯสั้น ไม่มีหางยาวเป็นว่าว ว่า "Antique"




Antique ที่มีความหมายไปทางโบราณวัตถุควรสงวน
แต่ทว่าต้องกลายมาเป็นของอุปกรณ์ประกอบร้าน ในร้านขนมหวานสไตล์ยุโรป
ที่แม้แต่ คนที่ไม่ชอบและไม่ปรารถนาในรสนิยมเลี้ยนๆหวานๆ
ก็ยังเผลอรู้สึกว่า น่าทาน –อยากลองและขอสักชิ้นเถอะ เป็นการแลกเปลี่ยน
แล้วไอ้ตอนที่เข้าฉายในช่องไอทีวีไทย ก็เข้าใจเลือกผังเวลาเข้ามาฉาย
ในช่วงก่อนทานยามื้อเย็น อันเป็นเวลาท้องร้อง-ไส้กิ่ว ต้องทำตัวเป็นคนดีให้คุณแม่เห็น
เพราะถ้าขืนคุณแม่ไปมีองค์ประทับยักษ์ในร่างคน มีหวังว่าอาจถูกตัดจากกองมรดกข้าวเย็น
ซึ่งเมื่อก่อนก็เป็นอยู่บ่อยๆ หนึ่งในนั้น ก็มาจากการนั่งจดจ้องอยู่กับซีรีย์ Antique
ที่เป็นสิ่งระบุโทษอย่างหนึ่ง





ความที่พล็อกเรื่อง มาจากฉบับการ์ตูนของนักประพันธ์ ฟูมิ โยชินากะ
ถือเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีผลงานรางวัลมากมายทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนในงาน Antique Bakery ที่เป็นต้นฉบับให้กับการทำซีรีย์ที่ตัดชื่อสั้น ย่อให้เหลือแต่ Antique
แค่ชื่อผลงานฉบับการ์ตูน ก็ได้รับการการันตีทางคุณภาพจากรางวัลชนะเลิศ Kodansha ครั้งที่ 26
ในสายการ์ตูนโชจูตากลมใสกระดิก เพราะ Antique ไม่ได้ว่ากันแค่เรื่อง
หวานนี้ เราจะทานอะไรกันดี หรือ วันนี้ในตู้อบของทางร้านจะผลิตขนมรสเลิศประมาณไหน
แต่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของคนในร้าน กับ ลูกค้าที่เป็นคนนอกร้าน
ที่ต้องอาศัยขนมหวาน เป็นจุดเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างกัน ผ่านแทนคำพูด
ซึ่งจะว่าไป อาจเป็นไปได้ว่าซีรีย์เรื่องนี้ มีอิทธิพลต่อการอธิบายความให้กับ
ซีรีย์แนว "โภชนปัญญา" ให้แก่ค่าย NTV อย่างใน "โอเซน" ด้วยไม่มากก็น้อย




"สามหนุ่ม...ขนมหวาน กับร้านเก๋า" ชื่อไทยที่อาจฟังแล้วขุ่นเคืองใจ
แทนลุงอาเบะของเรานัก เพราะเขาตัดจำนวนตัวบุคคลโดยมองข้ามหัวลุงแกอย่างชัดเจน
(จะว่าไปก่อนหน้าที่จะเล่น Antique ลุงแกก็เก็บเกี่ยวชื่อได้โขจาก Hero และ
Kekkon Dekinai Otoko และ Dragon Zukura)
แต่สามหนุ่มสามมุมที่เหลือก็ถือว่าเป็นจุดขายหลักในเรื่อง
ในสายตาตลาดนักชมชาวไทย ที่กะกวาดกลุ่มเป้าหมายสักวัยเพราะมีให้ตั้งสามคน
เป็นสามหนุ่มที่มีพื้นฐานชีวิตกันคนละอย่าง แต่มีวาระผูกพันกับร้านขนมที่ชื่อ Antique
ในฐานะหน่วยสมาชิกของผู้ประกอบรังสรรค์ขนมหวานสุดจะน่ากิ๊นน่ากิน
ที่แม้จะไม่ได้กลิ่น หรือสามารถเอานิ้วตวัดลากครีมขึ้นจุ่มชิม
สามหนุ่มในเรือ่งที่มีใจรักการทำขนม แต่ก็ทุกข์ตรมเดิมจากปมปัญหาที่ติดตัวมา
"เคอิชิโระ" (แสดงโดย ลุงชิอินะ Code Blue2 , Artificial beauty)
ดารารุ่นเก๋าต้องมาเล่น เป็นเจ้าของร้าน Antique
เป็นพี่ใหญ่ที่สอนปรัชญาชีวิตดีๆที่ซ่อนไว้กับขนม แต่ก็มีปม
ที่ครั้งวัยเด็กมีประสบการณ์การถูกลักพาตัว ให้ต้องหวาดกลัวจนถึงในปัจจุบัน
"ยุสุเกะ" (แสดงโดย น้าฟุจิกิ จากOne for love ,Operation loveและ Hotaruฯ)
พี่คนกลาง ที่มีฝีมือระดับพรสวรรค์
หน้าตาดีที่หนีหญิงเป็นอาจิณ เพราะมีปมเรื่องผู้หญิงหักอก
เลยต้องมาหมกตัวอยู่แต่ในหลังครัว และนายคนเล็ก
"เออิจิ" (แสดงโดย ทากิซาวะ ทักกี้-forbidden love,Strawberry on the Shortcake )
อดีตนักมวยที่มาหลงเสน่ห์
การทำขนมหวาน เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ โดยเริ่มนับจากศูนย์ถึงหนึ่งในเรื่องขนม
เด็กฝึกงานที่ยังมีอารมณ์แปรปรวนตามประสาเด็กวัยรุ่นทั่วไป
ผู้เขียนขอเสริมอีกคนในร้าน เป็นหนุ่มคนที่สี่ จิคาเงะ (แสดงโดยลุงอาเบะ จากDragon Zakura)
สมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ ผู้เคยเป็นพี่เลี้ยงของไคอิชิโระมาตั้งแต่เเบเบาะ
มีพฤติกรรมลับๆล่อๆ ไม่คอ่ยจะเปิดเผยตัวตน เป็นเพียงตัวแถมในเรื่อง
ที่ส่งมาเพื่อสร้างสีสันและเติมความตลก ถือเป็นส่วนผสมนอกชั้นขนมเค้ก
ถ้าจะเอาฮาโดยใส่แก๊สหัวเราะอัดใส่ขนมก็ใช่ที เลยต้องส่งลุงมาทำตัวต๊องๆ
เพื่อเรียกเสียงฮาแทน ตามประสาเพิ่งไต้เต้าสั่งสมชื่อชั้นให้กับตัวเองในโลกซีรีย์






แต่รู้สึกเสียของเป็นที่สุด ในสายตาผู้เขียน
เห็นจะเป็นการแสดงของ เจ๊โคยูกิ ในบทนักข่าวสาว เป็นความรู้สึกที่เจ๊แกเล่นได้ไม่เข้ากับบท
ทั้งๆที่เสน่ห์เจ๊แกก็ล้นเหลือ แต่ความเป็นบทนักข่าวสาว “โมโมโกะ”
ที่ไม่ยอมเปิดเผยสถานะอาชีพแต่ต้น เพียงเพราะเธอเป็นนักข่าวสายกีฬา
ที่มาเสาะหาความเป็นไปสืบเนื่อง ของชีวิตอดีตนักมวยดาวรุ่งเออิจิ
แค่บทมันก็ชวนน๊อนเซ็นท์แล้ว แล้วหลายคนที่เคยติดตามผลงานซีรีย์อย่าง Kimi wa Pet
และ Engine คงนึกหน้าเจ๊แกเวลาทำแย่ ที่รู้สึกดูทื่อๆในอารมณ์เดียว
เอาเป็นว่า ผู้เขียนอาจจะมีอคติต่อเธอคนเดียวก็เป็นได้ เอาเป็นว่าเรื่องนี้บารมีไม่พอเกิด
น่าจะลองหาเล่นบทนังร้าย ที่ไปชะแว้บแอบเห็นแววใน blood และ รับเชิญใน Mr.Brain
เป็นร้ายแบบเก็บซ่อนเสียเกือบมิด ที่น่าจะส่งเสริมให้มีบทเช่นนี้เพื่อพัฒนาความร้ายลึกไปนานๆ





ถือเป็นซีรีย์ที่เล่นกับ "ความทรงจำ" และ "กาลครั้งวัยเยาว์ อยู่ในทุกๆตอน
เป็นขนมเพื่อสร้างจุดเชื่อม เพื่อจะได้เข้าสู่ประเด็นในเนือ้หาหนักๆ
ประมาณว่า ทานซะก่อน อร่อยไหม? เอาละเรามาเข้าเรื่องกันเถอะนะ........(แล้วโปรดวางช้อนด้วย!)
ก็อย่างว่าละน้อ ไอ้สิ่งที่จะล่อเด็กๆให้เลิกง้อแง้ ดิ้นเพ่นพ่านกองอยู่กับพื้นได้
ถ้าไม่ใช่ของเล่น มันก็ต้องไอ้เจ้าขนมหวานจานใสนี้แหละกระมัง
ขืนมาล่อเจ้าพวกโตๆ กัน มันก็มีข้ออ้างบ้างละว่า ทานแล้วก็อ้วน หรือไม่ก็ของหลอกเด็ก
ขนมหวานจึงกลายเป็นไทม์เแมนชีนโดเรมอน ที่มีลิ้นชักทางเข้าอยู่ตรงที่ปาก
ส่วนความทรงจำจะผุดมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและชาติกำเนิดในการเข้าถึงขนมนั้นๆตามสภาพ
แต่ผู้เขียนจะไม่ชอบเลย ถ้าบอกว่าจะซื้อฝากหลานๆ แต่ตัวเองทานไปซะสามส่วนสี่
ไอ้ข้ออ้างอย่างนี้ เห็นมากับตาแล้ว ตอนออกให้ไปซื้อช่วยไปเป็นเพื่อน
แล้วบอกว่าจะตอบแทนสักชิ้นหนึ่งสำหรับค่าไปเป็นเพื่อน แล้วไอ้เพื่อนคนนั้น
ก็ดันยกชิ้นของแถม แถมมันยังมีหน้ามาคัดชิ้นสวยเก็บไว้ ชิ้นบรรลัยแหว่งข้าง
ครีมเลอะและดันเป็นชิ้นที่เล็กที่สุด เอามาเป็นค่าของการมาเป็นเพื่อนให้กับเรา
ความรู้สึกบนโลกจริงต่างกับโลกในซีรีย์เสียชัดเจน เพราะสามหนุ่มแห่ง Antique
เขาจะบรรจง คัดสรร ประดิษฐ์ประดอย และใส่ใจในทุกรายละเอียดของส่วนผสม
ที่มาไม่เว้นแม้กระทั่งการหยิบยกตำนานของการเป็นขนมแต่ละชิ้น
แล้วไอ้พวกลูกค้าร้านนี้ มันก็มีกันทั้งในทุกเพศและทุกวัย
ผู้เขียนว่า ในแง่การให้อาหารเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนผ่านคำพูดและกลั่นความรู้สึก
ถ้าให้เผลอไปเปรียบเทียบกับในซีรีย์โอเซนให้เข้าแล้ว
ความน่าเชือ่ถือจากโอเซนน่าจะมีภาษีที่ดีกว่า เพราะในแง่สามัญของการเข้าถึง
โอเซนยังมีความเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นศิลปะตกทอดที่รังสรรค์ผ่านตัวอาหารจานถ้วย
ที่ตกหม้อหนึ่ง ก็ทานได้ตั้งหลายหัวและให้มั่วสุ่มกันเองภายในครอบครัวสมาชิก
แต่ไอ้ขนมหวานจานกระจิ๋วหลิว๋ ทานพอดีคำ มันจะไปแชร์ประสบการณ์ร่วมมากไปกว่า
ประโยชน์อิ่มเฉพาะบุคคลได้อย่างไรกัน





ถ้าเอาผลของการประกาศรางวัล TDAA ครั้ง 31 เป็นบรรทัดฐาน
ก็ต้องถือว่า Antique ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรางวัล
ดรามายอดเยี่ยม คัดเลือกนักแสดง ดาราประกอบชาย (ลุงเคปเป้) ดนตรีเปิดตัว การเรียบเรียงดนตรี
ไม่พ้นแม้กระทั่งรางวัลพิเศษประหลาดๆ อย่าง รางวัลหน้าเค้กยอดเยี่ยม
ซึ่งก็ต้องถือว่า ทีมงานเขาไปตระเวณหาก้อนเค้กจากหลายย่านๆ ทั้งมีของจริงบ้างและทำมาจากโฟม
แต่ของอย่างนี้ เวลาเอามาประดับเข้าฉาก เขาไม่รู้หรอกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม
เพราะสายตาอุปโลกไปด้วยความอยาก ได้ทั้งสิ้น อย่างน้อยๆ ในแง่ interior ออกแบบ
ก็เป็นซีรีย์เรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ "ฉาก" กลายเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดตาผู้เขียน นับตั้งแต่ชีวิตนี้สวามิภักดิ์ฝักใฝ่
แต่ตัวนางเอก นางสมทบ นางรอง ดารารับเชิญฝ่ายหญิง ไม่เว้นกระทั่งตัวเด็กหญิงในเรื่อง
ยิ่งได้เห็นการใช้วัสดุลายไม้โบราณสีทึบๆอึมครึม เป็นฐานรองรับการจัดวางโบราณวัตถุนานาชนิด
เสริมรับกับรัศมีออล่า ที่เปล่งประกายของวัตถุชิ้น เมื่อมาประกอบกับการจัดแสงนวลอ่อน
กระทบกับโบราณวัตถุสีหม่นเทาประกายน้ำตาล ส่งสะท้อนโดยตรงมายังขนมหวานจานโปรด
เป็นการชมที่ต้องสะอึกกระดึกคออยู่เป็นระยะ นี้สำหรับคนที่ไม่ชอบทานขนมหวานนะ
แล้วถ้าเป็นสายถนัดนักชิมที่ไม่เน้นการควบคุมปริมาณด้วยแล้ว
แทบไม่อยากนึกถึงช่วงจบตอน ที่จะไปสร้างภาระริมรอบขอบเอวที่ปริ่มทะลักขึ้นอีกซะกี่นิ้ว





พอดูซีรีย์เรื่องนี้จบ ทำให้นึกถึงนักคิดทางสังคมวิทยาสำนักชิคาโกท่านหนึ่ง
ที่ว่าด้วย การทำความเข้าใจระเบียบสังคมในชีวิตประจำวัน สามประการ
อัลเฟรด ชูทส์ เล่าว่า องค์ประกอบนั้นจะรวมขึ้นจาก สามัญสำนึก
การจัดประเภท และ ภาวะตอบสนองกัน ด้วยซีรีย์ไม่ได้อธิบายเพียงแค่
การสร้างคุณค่าและการตีความในแง่ของการกระทำจากตัวบุคคล
ให้เหมาะสมกับการจัดประเภทของผู้รับจากประสบการณ์ส่วนตัว และคาดเดาในสิ่งที่คนอื่น
หรือผู้บริโภค จะเข้าใจตามหลักความหมายที่ตนเองประสงค์จะอธิบายว่าถูกต้องรึเปล่า
เป็นจิตวิสัยที่ทำให้เกิด โลกแห่งสามัญสำนึกที่ผู้คนรับรู้ร่วมกัน
และเมื่อใดที่ระเบียบสังคมนี้ล่ม จากความหมายเดียวกันที่ผู้คนรับรู้ได้ต่างกัน
ความสับสนวุ่นวายนั้นก็จะตามมา ก็เหมือนกับความหมายที่ค่อยแปรเปลี่ยนทำให้ Antique
ไม่ได้เป็น Antique ในความหมายเดิมเหมือนกับตอนแรก
ท้ายที่สุด บทสรุปของตอนจบอาจจะไม่เหมือนกับซีรีย์ โอเซน ที่สำนักอิชโชคัง
ต้องมาแพ้ภัยต่อยุคสมัย ที่ไม่อาจจะตอบโจทย์ของผู้บริโภคยุคใหม่
แต่ใน Antique เกิดจากการที่บุคคลากรของร้าน ได้สร้างคุณลักษณะของตัวสินค้า
ที่ตอบสนองต่อสามัญสำนึกของตัวผู้ผลิต ในวิถีภูมิปัญญาประยุกต์ของตน
กล่าวง่ายๆ คือ เออิจิได้ค้นพบสูตรจากการทำเค้กก้อนเดียวกันในรสชาติที่ต่างไปจากเดิม
ที่ร้าน Antique เคยผลิต และไคอิชิโร่ก็ยอมรับในฝีมือที่เริ่มฉายแววของเออิจิ
ที่ไม่ควรหยุดอยู่แค่การเป็นพนักงานฝึกหัดของร้านอีกต่อไป
ส่วนทาง ยุสุเกะ ก็หายจากอาการหนีหญิง เมือ่ได้เปิดใจยอมรับความเป็นจริง
และกล้าที่จะเผชิญโลกในเงื่อนไขที่เปิดกว้างและเป็นอิสระ
ทั้งๆที่ฝีมือเขาเป็นเชฟระดับเทพแต่ไหนแต่ไรมา
ส่วนไคอิชิโระพี่ใหญ่ มีแผนที่จะล้างมือในอ่างล้างจานในวงการขนมหวานอย่างจริงๆจัง
เพียงแค่นี้ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ใกล้ถึงวันอำลาของแบนด์ Antique ในไม่ช้า
ถือเป็นการจากลากันด้วยดี ที่ทุกคนก็มีหนทางในการเป็นผู้กระกอบการในทิศทางที่ตนได้เลือก





จะว่าไปแล้ว ตัวบทโครงสร้างรวมๆ ออกจะงานอารมณฺ์กึ๋ย
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ในบรรดาซีรีย์ช่วงต้นปีสหัสวรรษ ที่มักจะมีซีรีย์ทำนอง
กลุ่มตัวเอกยืนระยะ แล้วสักพักสิ่งวุ่นวายที่เหลือก็จะค่อยๆโผล่มา ทีละอย่างสองอย่าง
จึงไม่น่าเเปลกใจ ที่ใครหากได้ชมในตอนแรก ก็จะนึกว่าเป็นซีรีย์ที่จบตอนแต่โดยดี
โดยที่ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรให้เชื่อมต่อได้อีก ซึ่งมันก็ไม่เคยเป็นเช่นนั้น
(แล้วปรากฎการณ์ประเภทขอหั่นตอน ประคองเรตติ้ง ก็ไม่ค่อยอยู่ในสารบบในสมัยนั้น)
มือดัดเเปลงบท "โอกาดะ โยชิกาซุ" เคยเป็นมือเขียนบทที่ผู้เขียนมั่นติดตาม
แม้ส่วนใหญ่จะเพิ่งมารู้ว่า เป็นงานที่ผู้เขียนเคยดูแล้วมารู้ทีหลังว่ามันทำ
อย่างน้อยๆ Beach Boys, Last Present และ Friend (งานร่วมสร้างระหว่าง TBS และ MBC)
ถือเป็นงานที่เอามาดูซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งได้แทบทั้งสิ้น แต่จะเป็นห่วงสไตล์ลุง
ดูจะไม่เหมาะเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน เรตติ้งก็เลยหล่นเรี่ยราดชวนให้นึกถึงวันวาน
ผิดกับหนทางที่ค่อยดีวันดีคืนขึ้น ของสองผู้กำกับร่วมกันสร้าง
เป็นผู้กำกับร่วมสองท่านที่มักจะสร้างงานที่ผู้เขียนไปสอดส่องข้ามห้วยในฝั่งภาพยนตร์เสียมากกว่า
อย่าง ผู้กำกับ "โมโตฮิโระ คัทซึยูกิ" ก็มีงานหนังหลากหลายไม่ซ้ำอารมณ์ อาทิ
Summer Time Machine Blues (2005) ,Udon (2006) Shaolin Girl (2008)
ส่วน ผกก. "ฮาสุมิ เออิชิโระ" ก็เพิ่งสร้างงานเข้าโรงเพื่อได้ออกเป็นแผ่น ใน Oppai Volleyball
ที่แม้ไม่ใช่แฟนอายาเสะ แต่ก็ต้องเพ่งตาดูจนจบ ด้วยพล็อกเรื่องที่ชวนติดตาม
เพื่อหวังผลจากความพยายามของเหล่านักเรียนประจำชั้น
แต่ประทานโทษ ไม่ได้มีจุดขายเหมือนกับที่โปรยผ่านหัวเรื่องสักช็อต
กลายเป็นหนังที่เหมาดูได้ทั้งครอบครัวสักงั้น เซ็งวอลเลย์!!ป้าด
แต่ได้เกิดกันอย่างสุดๆในซีรีย์ Antique เห็นจะไม่พ้นวงร็อคแบนด์ Mr.Children !
เริ่มฟอร์มวงในปี 1988 ที่เลือกใช้บริการงานเพลง ถึงสองซิงเกิ้ล
ทั้ง Kimi ga suki ที่ใช้เป็นเพลง insert song และเพลงเปิด อย่าง Youthful Days
ผลงานซิงเกิ้ลชิ้นที่ 21 ของทางวง ที่ไปตบท้ายได้รางวัลและความนิยมอย่างกิ้วก้าว
ว่าแล้วก็จัดงานเพลงนี้มากำนัลความคิดถึงและขอตัวไปทานขนมชั้น
ชิ้นละไม่กี่บาท ตามสันดานนิสัยรักของถูก แถมยังอนุรักษ์ขนมไทย
เพราะใจไม่ปล้ำพอที่จะเข้าร้านเบเกอรี่วิสัย นอกจากจะไม่ต้องทอนด้วยไม่มีจะจ่าย
และจะซื้อได้ ก็ต้องรอร้านปิดจนคิดครึ่งราคา ซึ่งบางก้อนที่เล็งไว้ตอนเช้า
ก็มักไม่ค่อยจะอยู่เหลือ เมื่อตอนหัวค่ำด้วยสิ.............





อวยข้อมูล

ข้อมูล d-addict และ jkdramas



ครั้งหนึ่งเคยเปรียบเทียบความหมายของ Osen ไว้ใน
Osen เมนูที่ประเมินค่าไม่ได้




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2553    
Last Update : 16 สิงหาคม 2553 23:16:24 น.
Counter : 3289 Pageviews.  

Love of May :Not May be but in Sure of love Liu Yifei


มันมีอะไรติดอกค้างคาแบบไม่จางหาย
นับตั้งแต่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์รอบเช้า ที่ชื่อไม่เข้ากับเดือนที่นำมาฉาย
Love of May หนังไต้หวันเกินคุณภาพ แบบที่ไม่ตั้งตารอ
แต่ทว่า มันกลับเป็นอาการเดียวกับ การที่ตั้งตารอตีตั่วเข้าดู อินเซปชั่น inception
หนังของคนล่าฝัน ที่ไม่ได้เป็นญาติโกโหติอาคาเดมีแฟนตาเชียแต่อย่างใด
กระนั้น มาครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาส่งเสริมความเป็นเชิงปริมาณ
กับการร่ายเรื่อง inception แต่อย่างใด เพียงทว่า สองเรื่องนี้สร้างอารมณ์หลอนขึ้นประสาท
หลอนใน inception เป็นอาการหลอนของ่คนดูหนังแอคชั่นเล็คเชอร์
ที่ถ้าอยากให้เข้าใจ อาจตอ้งเตรียมสมุดบันทึกหรือเครือ่งบันทึกเทปไว้กวด
แต่ละเงื่อนไขที่ไถลไปพร้อมกับกรณีในภาคสนามจริง
แต่ใน Love of May ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นความหลอนปนหลง
กับคุณน๊องนางเอ๊กนางเอก หลิว อี้ เฟย (Liu Yifei)
แม้ในดวงใจทั้งสี่ห้อง จะมีดาราสาวท่านอื่นๆจับจองเสียแน่นเอี๊ยด
แต่ก็ต้องตีห้องเปล่าไว้ เพื่อสร้างพื้นที่สำรองให้กับคุณน้องอีกคนนี้อีกคน






Love of May จะว่าไป ช่วงที่เปิดทีวีห้องชาวบ้าน
ก็นึกว่า เอาอีกแล้วช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ (โฆษณา) คงจะตัดกระชับพื้นที่เวลา
แต่โดยปกติแล้ว สถานีช่อ่งนนี้เขามักปราณีให้กับผู้ชมในช่วงครึ่งแรก
ที่เปิดพื้นที่เวลาอย่างเต็มอิ่มอยู่พอสมควร ก่อนจะเข้าวิญญาณแบบ saw 7
ที่คอยๆตัด คอยๆหั่น เฉือนแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว (และดูไม่รู้เรื่อง) ในตอนท้ายๆ
ที่ไม่ว่าหนังจะชั่วโมงครึ่ง หรือสองชั่วโมง หรือเฉียดสามชั่วโมง
ก็พอดิบพอดีกับช่วงเวลาอันกำหนดกรอบชัดเจน เพื่อจะได้เข้าข่าวต้นชั่วโมง
หรือเกมส์โชว์แจกตังค์ให้ดารา อันนี้ก็ว่ากันไป ก็เข้าใจอยู่
จนมานึกได้ว่า ไอ้เราเองก็มีแผ่นหนังเรือ่งนี้ไว้ในครอบครองนิ
ที่ไม่พยายามหยิบขึ้นมาดู เพราะพระเอกเฉินป๋อหลิน (Wilson Chen) ผู้เขียน
เห็นสวนกับบ่อยๆ เพราะไปโผล่ในซีรีย์ญี่ปุ่นเสียหลายเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็น Tokyo Tower และ Ketsuekigatabetsu Onna ga Kekkon Suru Hoho
ไปแตะจับแต๊ะอัง้ดาราญี่ปุ่นในด่วงใจ อย่าง ยู คาชิอิ แล้วเคืองอย่างแรง
เป็นการเคืองแทน ที่เป็นสามีตัวแท้ โจ โอดางาริ
ที่สามีตัวปลอมอย่างผู้เขียนเป็นเดือดเป็นร้อนแทนทั้งๆที่ ธุระก็ไม่ใช่
ความจริงก็มีงานของหมอนี้ฝังในกรุ หลายต่อหลายเรื่อง
เพราะความพาลอย่างไม่ยั้งคิด เลยทำให้ผู้เขียนรู้จักกับเธอคุณน้องนางเอกหน้ามนต์คนงาม
อย่างช้าไป ทั้งๆที่ตอนดูทรีเซอร์ The Forbidden Kingdom ยังแอบชื่นชม
เจ็ต ลี กับ เฉินหลง ลุงสองคนนี้ ว่าเข้าใจไปสรรหาสาวหน้าตาดี
ที่ว่าจะไปดู แต่ก็ติดในเสียงวิจารณ์ทางลบ จนเป็นความบัดซบส่วนบุคคล
ที่ทำให้ผู้เขียนและเธอ ต้องเจอะเจอกันช้าไปอีกปี ขอบคุณเจ็ดสีที่ทำให้เราพบกัน







Love of May เป็นหนังรักแน่ เพราะสะกดคำว่า Love ไว้ก่อนหน้า
เป็นงานของผู้กำกับ ฮู เซียว มิง ที่มีจังหวะการกำกับ ไม่ได้เป็นไปในขั้นตอน
ที่เปิดตัวของพล็อกเรือ่งหลวมๆ ของไอ้หนุ่มไม่เอาไหน อย่าง อาหลี เฉินป้าหลิน)
แต่มีดีกรีเป็นน้องชายของมือกีต้าร์ของวง MayDay ทางวงเขาเลยสังเวช
ให้เจ้าหมอนี้คอยไปช่วยตอบอีเมล์แก่แฟนคลับของวง แต่เจ้าอาหลีคงนึกสนุก
ประกอบกับตัวเองอยากเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง Mayday
แต่ทางวงยังไม่ยอมรับในฝีมือ นายอาหลีก็อุปโลกตัวเองว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง
โดยโต้ตอบอีเมลล์กับสาวจากจีนแผ่นดินคนหนึ่ง ที่ชื่อ เซียวซวน (น้องอี้เฟย)
ซึ่งเป็นแฟนคลับที่คลั่งไคล้ในวง Mayday เป็นอย่างกรี๊ด
และเธอกำลังจะมีแผนร่วมทัวร์การแสดงของทางโรงเรียน
เป็นการแสดงศิลปะอุปรากรจีนแลกเปลี่ยน (ก็บ้านเราเรียกว่า งิ้ว ไง)
เธอและเขาจึงขอนัดพบปะเป็นการส่วนตัวแบบแอ็คคลูซีฟ
ขณะเดียวกัน เซียวซวนก็มีทริปการเดินทางส่วนตัว
เกี่ยวกันความลับบางอย่างในครอบครัวที่ไม่เปิดเผยให้ใครได้ล่วงรู้





อย่างที่บอก เป็นหนังที่ในตอนแรก นึกเอาเองว่า
คงถูกหั่นตอนให้สั้นลงจากทางสถานี จนนึกว่าคงจะดูต่อไปไม่รู้เรื่อ่ง
แต่ปรากฎว่า เอาเข้าจริงมันเป็นสูตรทำเรือ่งให้หลวมๆ กว้างๆ
ก่อนที่จะค่อยๆผนวกรวมความซับซ้อนแต่เริ่มแรก ให้กลายเป็นความเข้าใจที่ตรงกัน
ซึ่งจริงๆ ผู้กำกับท่าน เอาตอนกลางเป็นตัวเล่าเรือ่ง หรือเกริ่นในช่วงต้นสักนิดหน่อย
ซึ่งแกเองก็ไม่ยอมทำ สงสัยกลัวจะกลายเป็นหนังสูตรมากเกินไป
Love of May จะมองว่าเป็นหนังที่ดูง่าย ก็ง่ายอยู่
มันก็เป็นหนังรักวัยรุ่นใสๆ หนุ่มกับสาว ที่มีขอบฟ้าอันห่างไกลให้เป็นอุปสรรคเล่นๆ
แต่จะมองให้ลึกก็ลึกอยู่ ในกรอบของกรรมการบริหารบุริบุโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ไม่ว่าจะเป็นการมองประเด็น
จีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวันที่พยายามแยกเป็นอิสระในนามของประเทศ
ความสัมพันธ์ในช่องว่างที่แปลกแยกของคนต่างเจเนเรชั่น
เส้นแบ่งของวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์นิยมกับวัฒนธรรมตะวันตก
และมีลูกกระทบเสียดสีของต่างทางวัฒนธรรม ให้เป็นเรือ่งตลกขำร้าย
แม้ว่าหนัง จะมีดนตรีประกอบเป็นเพลงร็อคในสไตล์ brit-rock เป็นส่วนมาก
แต่หนังก็ไม่ประนีประนอมให้ลดทอน อุปรากรจีนให้ลดน้อย
หรือแปรเปลี่ยนคุณค่าเดิมที่เคยมีอยู่ แต่พยายามนำเสนอชี้วัดถึงความแตกต่าง
อันน่าอัศจรรย์ แต่ไม่เเปลกแยกทางความคิด ที่เด็กจากวิทยาลัยนาฏศิลป์งิ้ว
จะโยกหัวทำตัวโจ๊ะไปกับเพลงร็อคที่หล่อนคลั่งไคล้ตามสาววัยรุ่นทั่วไป
แล้วสาวคนดังกล่าว ก็น่ารักแสนจะต้องให้อภัย เพราะหล่อนมีนามว่า "น้องอี้เฟย"






ผู้เขียนขออนุญาติเตะเจ้าอาหลี หรือไอ้หนุ่มเฉิน ออกไปในวงโคจร
เพราะจะได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกอย่างหมดเปลือกต่อน้องยีเฟยได้มากขึ้น
ตัวรูปหน้าสรีระของน้องหนู ช่างแม็ชต์เข้ากับตัวละครที่ต้องเล่นเป็นตัวเอกในอุปรากร
ส่วนหนึ่งเพราะน้องหนู ได้เข้าเรียนในสถาบัน Beijing Film Academy เมื่ออายุ 15
และไม่ได้หัวโปรจีนนิยมนัก เพราะมีประสบการณ์ใช้ชีวิตในต่างประเทศพอสมอยาก
จะว่าไปใน 25 ของเดือนนี้ น้องหนูก็ใกล้ที่จะครบรอบวันเกิดที่ 23 ขวบในไม่ช้า
ผู้เขียนเคยตั้งข้อสงสัยในความงามของอิสตรี ที่ขับขานกันว่า "งามระหงส์"
Love of May ได้ทำให้ผู้เขียนประจักษ์ว่าความงามนี้มีอยู่จริง
ที่ไม่ต้องแหวกโพรงหญ้าในป่าหิมพาตน์ ก็ตื่นเต็มตาแบบไม่ต้องใช้หน้าจอทรีดี
เพราะจอรูปแบบสามมิติ อาจให้ความตื่นตาในทางภาพ
แต่กับน้องหนูยีเฟยแล้ว ให้ชอนลึกถึงนัยต์ตา ผังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึก
เป็นหลอนปนหลง ที่เล่นเอาต้องหางานลับหลัง อย่าง forbidden kingdom
มาระงับอาการคลั่ง และพยายามตั้งตารอ ซึ่งถ้ารอไม่ได้พี่ก็จะช่องโหลดในสักทาง
เพราะในรอบปีนี้ มีหนังสองเรื่องของน้องหนูที่จะเข้าโรงฉาย (ที่โน้น)
อย่าง Love In Disguise ที่เป็นงานคอเมดี้ออเคสต้าที่น่าดูอยู่เช่นกัน
และอีกเรื่องที่อาจต้องปิดตาดูสักหน่อย ใน A Chinese Ghost Story
ที่ว่าศพไม่สวย น่าจะมียกเว้นไว้ในบางกรณี




Love of May เป็นหนังที่น่าจะพอเชื่อใจได้สำหรับคนดู
แม้จะมีลูกกึ๋ยในมุขประดิษฐ์สร้าง และในจุดเฉลยความลับที่ยืดเยื้อสโรชา
ไม่รู้จักการกระชับเวลา ใช้จุดขายจากหน้าตาของดาราและวิวทิวทัศน์งามๆ
ผู้กำกับอย่าง ฮู เซียะ หมิง คงกะกินตลาดคนทุกกลุ่ม
ซึ่งพี่ท่านอาจลืมไปว่ากำลังทำหนังรักฉบับวัยรุ่นอยู่
แต่ถ้าใครไม่ติดใจตรงนั้น แต่ติดใจที่มีดีกรีของโปรดิวเซอร์จาก
Blue Gate Crossing และ Beijing Bicycle ก็น่าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก
เพราะความคละคลุ้งทางอารมณ์ ยังพอมีให้รู้สึกได้อยู่
ดูแบบไม่ต้องรอรักให้ถึงเดือนพฤษภา แค่หน้าสิงหาถ้าไม่ติดรักแม่
คิดว่ายีเฟยคงโดนหนักแบบเททั้งใจให้ทั้งกระจาดมากไปกว่านี้ ........





 

Create Date : 13 สิงหาคม 2553    
Last Update : 14 สิงหาคม 2553 13:11:30 น.
Counter : 1567 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.