A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
ว่าด้วยเรื่องซีรีย์ญี่ปุ่น


วันนี้ทั้งวัน ได้แอบไปดูลิสต์รายชื่อใหม่ๆของละครซีรีย์ญี่ปุ่น

ทั้งจากทางบล็อกชาวบ้านและเว็บของคนอื่น ก่อนหน้านั้นก็มี

มิตรสหายบางท่านที่กำลังตามติดจนถึงขั้น "เสพติด" อย่างโหงหัวไม่ขึ้น

ขอบอกตามตรงว่า.............ผู้เขียนตามไม่ทัน-เข้าไม่ถึง

และได้ห่างหายจากวงการละครซีรีย์ญี่ปุ่นไปเสียนาน

ความที่การบริหารเวลาส่วนตัวทำไม่ได้ดีนึก อาจมองได้ว่า ถึงขั้นสอบตก

หากให้หันกลับไปมองสักสิบปีที่แล้ว การได้ติดตามซีรีย์ญี่ปุ่นเพียงสัปดาห์ละตอน

ช่างเป็นความสุขเล็กๆ ในโลกอันกว้างใหญ่ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเสรีในหน้าจอทีวี

ที่ในเวลานั้น มีละครไม่กี่ชาติที่เวียนว่ายตายเกิดเสนอหน้าให้ได้ชมกัน

ต้องเข้าใจสักนิดนะครับว่า กว่าสถานีจะกลับมาถ่ายทอดอีกครั้ง ก็ต้องเวลาบ่ายสี่โมง

มิใช่ยี่สิบสี่ชั่วโมงตามมาตราฐาน 7-eleven เหมือนกับทุกวันนี้


แต่แล้ว.....ความรุ่งโรจน์ของซีรีย์ญี่ปุ่น ก็ค่อยๆทยอยลดจำนวนลง

เพื่อแบ่งพื้นที่ให้กับผู้สร้างและนักจัดรายการละครสัญชาติไทย ที่ค่อยๆได้รับความนิยม

เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความเฟ้อในปริมาณต่อสัปดาห์ที่มากขึ้นตามมา

จนสามารถเบียดแย่งเวลาปกติของละครญี่ปุ่น

ให้จำกัดหรือไม่ก็ไปอยู่ช่วงเวลาที่แม่บ้านและคนตกงานเท่านั้น ที่พอจะมีโอกาสได้ดู

กลับกลายเป็นว่า คนไทยโดยส่วนใหญ่บริโภคความเป็นละครไทย

ที่มากจนเกินไปในปัจจุบัน

ละครบางเรื่อง ใช้เวลาการนำเสนอถึง ๓ ตอนต่อสัปดาห์

ทำให้โอกาสในการสร้างสรรค์งานคุณภาพต่อเรื่อง ลดน้อยถอยลงตาม

ส่วนหนึ่ง ต้องส่งป้อนงานให้ทันกับผังรายการของทางสถานี ขณะที่อีกด้านก็ต้อง

เร่งถ่ายทำไปพร้อมกัน เพื่อที่จะได้ปิดกล้องให้ทันกับการถ่ายทอดอันมีเส้นเดทไลน์รออยู่

ส่วนหนึ่ง เป็นการถูกตีกรอบโดยใช้ฐานความนิยมของผู้ชม ทำให้ผู้ผลิตจำต้อง

เลือกใช้ขนบนิยมทางท้องเรื่องแบบเดิม ประเภทแม่ผัว-ลูกสะใภ้ ชิงรักหักสวาท

พร้อมการโชว์พาวด์อันเกินงามของเหล่านังอิจฉา (จนอาจถือว่าเป็น ”ยาพิษ” สำหรับ

เยาวชน) หากละครเรื่องไหนไม่เป็นที่นิยม ก็อาจมีการเร่งให้จบเร็วขึ้น

เพื่อลดช่องว่างของการแข่งขันด้านเรตติ้งของสถานีคู่แข่ง โดยปริยาย


กลับมาที่โลกของละครญี่ปุ่น (โดยยึดเวลาอับเดททางความคิดของผู้เขียน

โดยใช้มาตราฐานเส้นตายของเรื่องสุดท้ายที่ตั้งตาชม จากเรื่อง

"อยากกู่ร้องบอกรักให้ก้องโลก" (Crying out Love ,at the center of the World)

ที่เคยฉายในตอนเที่ยงทุกเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง ITV เดิม

จากนั้นก็เสพงานละครญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆอย่างไม่ได้ปะติดปะต่อ)

โดยปกติ ละครญี่ปุ่นจะกำหนดค่าเฉลี่ยต่อเรื่องอยู่ที่ ๑๑ ตอนต่อละครหนึ่งเรื่อง

และจะฉายเพื่อเข้าช่วงฤดูกาลหนึ่งๆ ของประเทศญี่ปุ่นเขา

ดังนั้นละครหนึ่งเรื่อง จึงวางแผนงานให้จบตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่ได้ยืดเอาใจคนดู

และไม่เร่งจนงานออกมาอย่างลวกๆ อีกทั้งไม่บ้าระห่ำทำซีซั่นเยอะๆ แบบสายตะวันตก

จนทำให้วนอยู่กับพล็อกเรื่องเดิมๆ หรือไม่ก็ออกทะเล-หลงอ่าวกันไป


ละครญี่ปุ่นอาจจะมีภาคสองหรือเรียกภาคพิเศษ ก็สุดแท้แต่

อย่างน้อยก็ต้องจำเป็นที่จะทิ้งช่วงเพื่อผู้คนคิดถึงไปสัก ๓-๕ ปี

อย่างเช่น เรื่อง Beach Boys , Hana Yori Dango , Nodame Cantabile หรือ Gokusen

ละครหนึ่งเรื่องของญี่ปุ่นจึงกลายเป็น “อมตะ” และเป็นที่น่าจดจำในใจคนดูร่วมสมัย

โดยผู้ผลิตจะพยายามที่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานแต่ละชิ้นให้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ผู้สร้างงานจะถือเป็นความรับผิดชอบทางสังคม

ในการผลิตละครหนึ่งเรื่อง ที่จะต้องแฝงแง่คิด คติเตือนใจ

และสร้างสรรค์สังคมไปพร้อมกัน เพื่อสร้าง Socializaton ตามบริบททางวัฒนธรรม

ไม่มีตัวละครใดที่ดีสุดกู่หรือเลวสุดขั้ว ทุกตัวละครต่างจะต้องขับเคลื่อนความฝันในวัย

เยาว์ อีกทั้งต้องนำพากลุ่มหรือสังกัดของตน ให้ผ่านพ้นต่ออุปสรรคร่วมไปพร้อมกัน

จึงไม่ค่อยมีประเภทปัจเจกบุคคลแนวซุปเปอร์ฮีโร่แบบข้าขอลุยเดียว

ขณะเดียวกัน ตัวเอกของเรื่องจำต้องชนะจิตใจของศัตรูด้วยคุณธรรมและความดี

จะด้วยศิลปะในตัวบุคคลหรือสังคมร่วมหมู่ก็ตาม เห็นได้ชัดจาก

ละครเรื่องHero , Change , GTO , WaterBoys , One litre of Tears



ความเข้าใจในฐานทางสังคมของผู้ชมโดยส่วนใหญ่ (ของชาวญี่ปุ่น)

จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มของ “ชนชั้นกลาง” เป็นหลัก

(ผิดกับสังคมไทยที่ผมคิดว่าเป็น “ชนรากหญ้า” ) ดังนั้น

เนื้อเรื่องของละครญี่ปุ่นจึงมุ่งเน้น “คนธรรมดา” และ “คนในอาชีพเฉพาะ”

ที่พบเห็นในเมืองใหญ่ได้โดยทั่วไป นำมาสู่ความเป็นทรัพยากรอันหลากหลาย

ในการสร้างพล็อกเรื่อง จากประชากรแดนปลาดิบที่มีกว่า ๑๒๐ กว่าล้านคน

จึงมีทั้ง หนุ่มรถไฟ ในtrainman คนทำอาหารใน Queen of Lunchtime Cuisine

นักโฆษณาใน Power of Love บุรุษพยาบาลใน Nusreman และ นักข่าว ใน Anchor

Woman เป็นต้น






แต่บทที่จะซึ้ง ก็มีลูกซึ้งที่เรียกต่อมน้ำตาให้ทำงานได้ไม่ยาก

ทว่าความโศกเศร้าในแบบฉบับละครญี่ปุ่นจะไม่เหมือนกับละครเกาหลี

ที่เน้นย้ำทางอารมณ์แบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ปานจะเอาให้ผู้ชมใจสลายกันไปข้างหนึ่ง

แต่สำหรับละครญี่ปุ่น จะกลับไปวกในเรื่องการดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมในตัวตน

และคติทางสังคม หรือมุ่งมั่นกับความฝันที่ตัวละครตั้งใจมั่นไว้และปรารถนาที่ทำให้สำเร็จ

ดูๆไป ออกจะคล้ายกับพระเอก-นางเอกในมิวสิควีดีโอบ้านเรา โดยยอมเสียลสะคนรักเพื่อ

ภาพลักษณ์ดูดี (และต้องเต็มใจดว้ย) จึงมองเป็นความรักแบบเสียสละ เป็นรักแท้

-รักแบบพรหมวิหาร ทั้งในแง่การพัฒนาจิตสำนึกเฉพาะบุคคลและจรรโลงสังคม

ช่องทางของละคร เลยเป็นการจำลองในสถานการณ์สมมติของวงอันจำกัด

จากนั้นก็สร้างเงื่อนไขบีบบังคับแก่ตัวละคร เพื่อให้ตัวละครเลือกหนทางในการแก้ปัญหา

ซึ่งก็มีทั้งการกระทำด้านบวกและด้านลบตามแต่เจตจำนงด้านสว่างหรือด้านมืดที่ฝักใฝ่

แล้วสุดท้าย ผลของการกระทำก็จะปรากฎอันเป็นเครื่องสอนวิธีคิดแก่ประชากรในประเทศ

แต่ก็ไม่เคยมีเรื่องไหน ที่จะจบโดยไม่แฮปปี้เอนดิ้ง เป็น win-winที่ชอบทั้ง-คนชอบทั้งธรรม

ยกเว้นว่า นางเอกจะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บสุดเยี่ยวยา แต่ทว่า (มันก็สอนอีก)

ให้ผู้คนยอมรับกับสภาพของสังขารอันไม่เที่ยงแท้ และเลือกที่จะจดจำความดีงาม

ที่ตัวละครผู้นั้นได้สร้างสรรค์ไว้ ยามที่มีลมหายใจ จากนั้นเพลงซึ้งๆก็มา....น้ำตาก็เกิด

อย่างมีพลวัตรในเชิงบวก อย่างเช่น Crying out Love at the center of the World ,

First Love , Engine , Searchin for My Polestar และ Power of Love

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ละครญี่ปุ่นจะเน้นแต่ความสมจริง (Realism)

ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปเท่านั้น ไอ้ประเภทความรักแบบนวนิยายฝันเพ้อ

ก็ยังพอมีให้เห็น สมกับสำนวนที่ว่า ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ หมาเห่าเครื่องบิน หรือ

ดอกฟ้ากับหมาวัด แม้กระทั่งเรือ่งเกินจริงอิงแฟนตาซี ก็ยังพอมีให้เห็น

แต่จะถูกนำมากล่อมเกลาและคัดกรองในเนื้อหา เพื่อให้มีความสมจริงเพิ่มมากขึ้น

แต่ก็ไม่ทิ้งกลิ่นไอแบบโอเวอร์แอ็กติ้ง อันเป็นศิลปะเฉพาะตัวของทางแดนปลาดิบเขา

พยายามปรับสมดุลของความเป็นมนุษยนิยมของทั้งสองฝ่าย ที่มีรัก-โลภ-โกรธ-หลง

ที่สามารถทำสิ่งที่ผิดพลาดและให้อภัยได้ ในฐานะประสบการณ์ชีวิตอันเป็นเครือ่งสอนใจ

แม้ตัวละครเอกของเรื่องจากหน้าตาและพฤติกรรมจะชวนรังเกียจในช่วงต้น

แต่เมื่อมีการขมวดปมของตัวเรื่องไปในแต่ละตอน เราจะกลับเอาใจช่วยตัวละครนั้นอย่าง

ไม่รู้ตัว พล็อกของละครจึงแทบไม่มีอะไรมากไปกว่า

การเริ่มเรื่อง-ปูพื้นตัวละคร-สร้างอุปสรรค-การแก้ปัญหา-สร้างฐานคุณธรรม

ในกลุ่มทางสังคมที่มีผู้ชมอยู่หน้าจอ จนเป็นต้นทุนทางสังคมให้คิดและนำไปต่อยอด

ในฐานการปฎิบัติร่วมกันในสังคมกลุ่มก้อนแบบญี่ปุ่นเขา คนที่ถูกโดดเดี่ยวจากสังคม

ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายทั้งเป็น (นำไปสู่การฆ่าตัวตายกันเยอะ) ซึ่งแนวนี้จะมีเยอะมาก

อย่าง precious love , my husband , bewitched in tokyo , After school

หรือ101ตื้อรักนายกระจอก(อันนี้ผู้เขียนชอบมาก)


แต่จุดใหญ่ใจความของความเป็นละครญี่ปุ่น อยู่ในเรื่องของครอบครัว

คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ด้วยความที่เป็นสังคมครอบครัวเชิงเดี่ยวมากขึ้น

อีกทั้งหลายคนจำต้องเข้ามาหางานในเมืองใหญ่

ความโหยหาชีวิตแบบสังคมครอบครัวจึงมีอยู่สูง ประกอบกับคตินิยมพื้นฐานของสังคม

ญี่ปุ่นที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นสังคมร่วมหมู่ อันมีสถาบันทางครอบครัวที่เข้มแข็ง

ในแง่ความเปลี่ยนแปลงของระบบทุน ได้ทำลาย “ราก” ของต้นทุนทางสังคมเดิมนี้ตามไป

ด้วย ละครญี่ปุ่น จึงเครื่องมือในแง่ของการต่อเติมจุดพร่องทางสังคม

และกล่อมเกลาค่านิยม ตลอดจนถึงคุณธรรมให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดหายออกไปจากสังคม

ละครที่เน้นไปในด้านครอบครัวจึงมีให้เห็นอยู่มาก และมีทรัพยากรในการดัดแปลงและนำ

ไปใช้ของผู้เขียนได้อย่างสนุกสนาน เคล้าน้ำตาและไม่น่าเบื่อหรือซ้ำซากจำเจกับ

ละครเรื่องอื่นๆ และจะต้องมีสอดแทรกในทุกฤดูกาลสำหรับละครในแต่ละสถานีของทาง

ญี่ปุ่นเขา ไม่ว่าจะเป็น with the light , Sweet Daddy ,Papa to Musume no Nanokakan ,Dady ,Be nice to People


ส่งท้ายขอหยิบยก การวิเคราะห์ของอ.สุวินัย ภรณวิลัย ที่เคยมาจัดรายการ

“ชวนคิดชวนคุย” ทางคลื่นวิทยุผู้จัดการ ที่มาช่วยตีโจทย์รหัสนัยของละครญี่ปุ่น

เอาไว้ว่า


“สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมของประเทศที่แพ้สงครามโลก สิ่งที่จะสร้างชาติให้

กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง จึงเป็นพลังในด้านของจิตใจ การดำเนินชีวิตแบบ

ปัจเจกชนนิยมจึงไม่ใช่รูปแบบที่คนญี่ปุ่นจะสามารถปฏิบัติได้ จึงต้องมุ่งเน้น

ความปรองดองและการรวมหมู่ทางสังคมอย่างมีคุณธรรม

ละครซีรีย์จึงเป็นศิลปะประยุกต์เพื่อสอดรับกับค่านิยมดั้งเดิมที่เคยมีอยู่

(อย่าง ๔๗ โรนินหรือมูซาชิ) เพื่อให้เหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบัน” ........












ขอบคุณ ชื่อseriesย้อนยคและภาพ จาก ่jkdramas

และการวิเคราะห์เรื่องราวจากอ.สุวินัย ภรณวิลัย


Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 11 กรกฎาคม 2552 15:42:22 น. 5 comments
Counter : 1427 Pageviews.

 
เขียนบล็อคได้ยาวและได้อารมณ์มากค่ะ

ส่วนตัวชอบซีรีย์ญี่ปุ่นมากที่สุด ละครไทยไม่ต้องพูดถึง ส่วนเกาหลีไม่ดูเลย จีนก็ชอบดูเอามันส์สนุก แต่ส่วนตัวว่าซีรีย์ญี่ปุ่นมีมิติและสมจริงมากที่สุด ได้แง่คิดสมจริง ไม่เพ้อฝันไม่เพ้อเจ้อ บางเรื่องตลกแต่ไม่เคยไร้สาระ ไม่ว่าจะหนังเศร้า หนังรัก หนังตลก ทุกเรื่องได้แง่คิดในการใช้ชีวิตด้านบวกเสมอค่ะ


โดย: TaMaChAN (narumol_tama ) วันที่: 13 กรกฎาคม 2552 เวลา:23:07:58 น.  

 
ไม่ออกความเห็น เพราะเริ่มติดตามละคร จะนักแสดงมากกว่า
เช่น ช่วงนี้ชั้นชอบคนนี้ ก็จะหาเรื่องที่คนนี้เล่นมาดู
แล้วก็รู้สึกเสมอว่า ...เรื่องนี้ดี
ตลอดแหละ



โดย: นัทธ์ วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:09:16 น.  

 
5555 เป็นหัวข้อที่มารีอองคุ้นเคย ชอบจังค่ะ
ตัวเองเป็นคนที่ดูซี่รี่ส์ของทุกชาติ แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีจะเยอะเป็นพิเศษ จีนนี้จะเป็นช่วงสมัยเรียนมากกว่าที่ติด (ชอบ 7 กระบี่) ซี่รี่ญี่ปุ่นอย่าง rying out Love, in the Centre of the World ดูเพราะชอบยามาดะมากๆๆค่ะ แต่ชอบฉบับหนังมากกว่านิดนุง เกาหลัก็ดูค่ะ เรื่องไหนสนุกก็ว่ากันไป (ฉบับสาวขี้เหงา)

สมัยเรียน พอเลิกเรียน ก็ยังกลับบ้านไม่ได้(เพราะจะดูไม่ทัน) ต้องอาศัยบ้านเพื่อนใกล้ๆดูไปก่อน แล้วถึงค่อยกลับบ้าน - -" แต่มันก็เป็นการรอคอยทีละตอนอย่างสุขใจ แบบที่คุณMr.Chanpanakrit เขียนไว้เลยค่ะ

ช่วงหลังๆเนื่องจากงานเยอะ ลดการดูลงไปเยอะเพราะตามน้องๆในห้องซากุระไม่ค่อยจะทัน + ต้องดูหนังเรื่องๆเป็นหลัก แต่ก็ยังคงคิดว่าจะดูต่อไปเรื่อยๆๆ ละค่ะ ทุกชาติเลย

ตอบยาวมากกกกกกกค่ะ55


โดย: มารีออง วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:35:41 น.  

 
WoW คิดเหมือนเราเลย ท่านชอบ 101 ตื้อรักนายกระจอก เหมือนเราเลย เมื่อก่อน ช่องไอทีวี มันเอามาฉายตอนดึกๆ เรางี้รอดูทุกตอน ตอนจบซึ้งมากมายเลยท่าน เด็ดสุดเอาน็อตมาเป็นแหวนแต่งงาน (ปาดน้ำตา)

วาดการ์ตูนสวยมากๆ พรสวรรค์จริงๆ เราก็ PSU ปัตตานี จับปลาตีนมาหลายตัวแล้วท่าน


โดย: MamLHC วันที่: 16 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:57:43 น.  

 
เราเห็นท่าน วาดการ์ตูนแบบใส่พุทธภาษิต เราขอเดาเอาว่า ท่านเรียนเอกปรัชญา หรือเปล่า...55 (อาจเดามั่วก็ได้) ยินดีที่ได้เจอพี่น้องเลือดสีบลู เน้อ


โดย: MamLHC วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:12:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.