bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สุโขทั, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 17° 0' 48.80" N 99° 42' 8.82" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม





โบราณสถานแห่งถัดไปในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เจ้าของบล็อกจะพาไปเที่ยวต่อไปยังเป็นโบราณสถานที่ยังอยู่ในกำแพงเมืองสุโขทัยอยู่นะครับ เป็นโบราณสถานที่เคยเป็นศาสนถานในศาสนาฮินดูมาก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นวัดในพุทธศาสนา วัดนี้จะมีความสวยงามแปลกตามีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะมากๆครับ จะสวยงามยังไงตามมาเที่ยวกันเลยครับ



วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สุโขทัย



วัดศรีสวาย  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างมาประมาณ 350 เมตร ใกล้ประตูเมืองทางด้านทิศใต้

ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดเจนของวัดศรีสวายคือปราสาท 3 หลังเรียงกัน อันเป็นจุดศูนย์กลางของวัดสันนิษฐานว่าเดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อนโดยมีการต่อเติมวิหารทางด้านหน้าจึงทำให้แผนผังของวัดศรีสวายต่างจากวัดในศาสนาพุทธทั่วไปที่นิยมที่จะหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออกแต่วัดศรีสวายจะหันหน้าไปทางทิศใต้ การสร้างปราสาท 3 หลังเรียงกันเป็นความเชื่อในคติวัชรยาน









วัดศรีสวายมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่มองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเพราะมีด้านยาวเกือบๆจะเท่าด้านกว้าง คือมีขนาด 106.50 x 117.50 เมตร ล้อมรอบโบราณสถานสำคัญที่กึ่งกลางกำแพงด้านทิศใต้ (ทิศที่เป็นหน้าวัด) มีประตู 1 ประตูเป็นทางเข้าออก






ถัดเข้ามาคือ พระวิหารชั้นนอก สันนิษฐานว่าเป็นพระวิหารโถง คือไม่มีฝาผนัง ขนาด 5 ห้อง เสาพระวิหารใช้ศิลาแลง “โกลน” เป็นทรงกลมซ้อนกันขึ้นไปเป็นเสาขนาดใหญ่ ปลายสอบ แล้วฉาบปูนทับทำเป็น 8 เหลี่ยม ยังสามารถเห็นร่องรอยของการเจาะเสาพระวิหารใส่เครื่องบนซึ่งเป็นไม้ พระวิหารด้านนอกนี้น่าจะเป็นวิหารโล่งๆ ที่ท้ายพระวิหารชั้นนอกทำเชื่อมต่อกับกำแพงแก้วชั้นในและพระวิหารชั้นใน









พระวิหารชั้นในมีขนาดเล็กกว่าพระวิหารชั้นนอกนิดหน่อยเป็นพระวิหารทึบมีกำแพงผนังล้อมรอบทั้งสี่ด้านเจาะช่องแสงเป็นช่วงๆ มีซุ้มประตูทางเข้า 3 ประตู ประตูทางเข้าจริงอยู่ตรงกลางอีกสองประตูเป็นประตูหลอก ด้านบนซุ้มประตูมีซุ้มบันแถลง 3 ซุ้มล้อกันไปกับปราสาท ผนังด้านหน้าของพระวิหารชั้นในเชื่อมต่อกับกำแพงแก้วชั้นกลางที่ล้อมรอบองค์ปรางค์เอาไว้พื้นที่ภายในกำแพงแก้วชั้นกลางมีขนาด 34 x 44 เมตร ที่ท้ายพระวิหารชั้นในมีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐด้านบนมีแท่นศิลาฤกษ์หินทรายตั้งอยู่ (คาดว่าน่าจะขนย้ายมาจากที่อื่น) เป็นแท่นศิลาขนาด 40 X 40 เซนติเมตร สูง 12 เซนติเมตร ด้านบนเจาะเป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็กกลางแท่นหินและที่มุมทั้ง 4 รวม 5 หลุม สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับบรรจุวัตถุมงคลในพิธีกรรมวางศิลาฤกษ์ในการสร้างปราสาทหินก่อนที่จะดัดแปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนา (จากการขุดค้นพื้นเพิ่มเติมที่บริเวณระหว่างกำแพงแก้วชั้นกลางกับวิหารน้อยพบก้อนหินควอตซ์คาดว่าน่าจะเป็นวัตถุมงคลที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์)








ที่ผนังด้านนอกที่ส่วนกลางค่อนไปทางท้ายๆของพระวิหารชั้นในมีกำแพงชั้นในล้อมรอบองค์ปรางค์ไว้อีกที ตามรูปแบบสันนิษฐานจะเห็นได้ว่ามีหลังคาคลุมตลอดคล้ายๆ “ระเบียงคต” ที่ด้านนอกกำแพงชั้นในข้างพระวิหารชั้นในทำเป็นคล้ายๆวิหารเล็กๆประกอบพระวิหารชั้นในทั้ง 2 ด้าน







กลางกำแพงแก้วชั้นในเป็นที่ตั้งของปราสาท 3 หลังสร้างเรียงกันในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก ปราสาทแต่ละหลังมีขนาด 6.50 x 6.50 เมตร หลังกลางมีความสูง 15 เมตร หลังที่อยู่ทางทิศตะวันออกและตะวันตกสูง 12 เมตร ปรากฏร่องรอยการก่อสร้างและซ่อมแซมดัดแปลงมาแล้วหลายครั้งนับแต่อดีต ส่วนฐานจมอยู่ในดินก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่จนมาถึงเรือนธาตุสันนิษฐานว่าเป็นงานก่อสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ส่วนหลังคาที่ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆก่อด้วยอิฐมีสัดส่วนที่ยืดสูง ประดับกลีบขนุนรูปครุฑยุดนาค เทวดา อัปสร และนาคโคนกรอบซุ้ม เป็นงานปูนปั้นซึ่งคลี่คลายลวดลายมาจากศิลปะเขมร (ศิลปะเขมรนิยมแกะสลักหินเพราะฉะนั้นงานปูนปั้นน่าจะเป็นงานสมัยหลังๆสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศิลปะลพบุรีตอนปลายๆ) ผสมผสามลวดลายที่มีเค้าลายมาจากศิลปะของจีนบวกกับลวดลายที่เป็นศิลปะสุโขทัยที่มีลักษณะเด่นคือ “ใบหน้าบุคคลเป็นรูปไข่” งานปูนปั้นประดับยอดปราสาทจึงควรมีอายุราวๆพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ภายในปราสาทมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพลายเส้นรูปคนยืนพนมมือแต่เลือนลางไปมากแล้ว








นอกจากนั้นยังมีร่องรอยของสิ่งก่อร้างขนาดเล็กอื่นๆอีก เช่น ฐานอาคารด้านหลังปราสาทองค์กลาง ฐานอาคารด้านหน้าปราสาทองค์ทางทิศตะวันออก และบ่อน้ำที่มุมทางด้านทิศใต้






พื้นที่ระหว่างกำแพงวัดกับกำแพงแก้วทางด้านหลังของปราสาทมีร่องรอบของคูน้ำโบราณสันนิษฐานว่าน่าจะโอบปราสาททางด้านหลังเป็นรูปตัว U แต่ภายหลังมีการถมขาตัว U ด้านทิศตะวันตกเพื่อสร้าง พระวิหารน้อย ขึ้น ชาวบ้านเรียกร่องรอยของคูน้ำนี้ว่า “สระลอยบาป” เพราะถ้าเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดูมาก่อนจริงก็จะต้องมีสระลอยบาปเพื่อใช้ในพิธีกรรมลอยเคราะห์


พระวิหารน้อย ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวิหารทึบเจาะช่องแสง หน้าวิหารน้อยมีฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง และนอกกำแพงวัดทางด้านทิศเหนือก็ยังมีฐานอาคารอีก 1 หลังด้วย


จากการขุดค้นวัดศรีสวายได้พบรูปสลักพระอิศวร รูปสลักเทวรูปต่างๆ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กร เทวรูปและศิงลึงค์หล่อด้วยสำริด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง








ขอบคุณ code เพลงจากบล็อก  "ป้ากล้วย"  ครับ





อีกช่องทางหนึ่งในการติดตามการท่องเที่ยวแบบตามใจทนายอ้วนครับ



ทนายอ้วนพาเที่ยว - ChubbyLawyer Tour



https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/





Chubby Lawyer Tour …………… เที่ยวไป...........ตามใจฉัน




SmileySmileySmiley

Create Date :18 พฤศจิกายน 2559 Last Update :18 พฤศจิกายน 2559 17:40:45 น. Counter : 2132 Pageviews. Comments :7