bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 17° 1' 8.96" N 99° 42' 6.50" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม







โบราณสถานแห่งถัดไปที่จะพาไปเที่ยวกันต่อภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นวัดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของทั้งคนไทยและต่างชาติครับ อยู่ด้านหลังวัดชนะสงครามที่เจ้าของบล็อกพาไปเที่ยวมาในบล็อกที่แล้วคราบ




วัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สุโขทัย




วัดสระศรี  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  สุโขทัย ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่าด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ เยื้องจากวัดชนะสงครามไปทางทิศตะวันตก อยู่บนเกาะกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ชื่อ “ตระพังตระกวน” ที่ตั้งของวัดสระศรีอยู่เกือบๆจะกึ่งกลางเมืองเก่า อยู่ห่างจากประตูศาลหลวง (ประตูเมืองทางด้านทิศเหนือ) 400 เมตร ห่างจากประตูอ้อ (ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก) 450 เมตร






วัดสระศรี   เป็นวัดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมากวัดหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ตัววัดตั้งอยู่บนเกาะใหญ่  2 เกาะ  กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานฯ  ชื่อว่า “ตระพังตระกวน”  (ตระพัง = สระน้ำ, หนองน้ำ) มีสะพานไม้ทอดยาวข้ามไป ทำให้มีภาพที่สวยงามแปลกตาเมื่อมองเห็น จึงมักจะใช้เป็น Background งามเฉลิมฉลองต่างๆที่จัดขึ้นภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  เช่น งานเผาเทียนเล่นไฟ  งานแสดงแสง  สี เสียง  ในบริเวณวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ  พระวิหาร เจดีย์ประธาน  และเจดีย์รายรวม  9  องค์






วัดสระศรี   หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก มีผังของวัดในแนวแกนเดี่ยว คือ พระอุโบสถ พระวิหาร และเจดีย์ประธานตั้งอยู่ในแนวเดียวกันตามลำดับ แต่จะแตกต่างกับวัดอื่นๆตรงที่พระอุโบสถของวัดสระศรีตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆอีกเกาะหนึ่งแยกต่างหากทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ต้องใช้สะพานไม้เพื่อข้ามไป พระอุโบสถมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 10 เมตร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอุโบสถโถง คือไม่มีผนังล้อมรอบ มีเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ปักโดยรอบ แนวความคิดที่สร้างพระอุโบสถอยู่กลางน้ำเป็นความเชื่อในแบบพุทธศาสนาตามแนวคติแบบลังกาที่ใช้น้ำในความหมายของความบริสุทธิ์เป็นขอบเขตของปฏิบัติสังฆกรรมเรียกว่า “อุทกสีมา” หรือ “นทีสีมา”








พระวิหาร ตั้งอยู่หน้าพระเจดีย์ประธานในแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถและเจดีย์ประธาน มีขนาดใหญ่ ความกว้าง 16 เมตร ยาว 31 เมตร ขนาด 9 ห้อง ด้านหน้ามีมุขเด็จ มีบันไดขึ้นทั้งสองด้าน ซ้าย – ขวา มีผนังก่อด้วยอิฐถือปูน เสาพระวิหารใช้ก้อนศิลาแลงโกลนเป็นทรงกระบอกเรียงซ้อนๆกัน ส่วนโคนเสามีขนาดใหญ่กว่าส่วนปลาย แล้วโบกปูนทับทำเป็น 8 เหลี่ยม ท้ายพระวิหารล้ำผ่านระเบียงคดที่ล้อมรอบเจดีย์ประธานเข้ามา ฐานพระวิหารก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ประดิษฐานบนฐานกลีบบัวเป็นประธาน พุทธลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย มีพระพักตร์อิ่มเอิบ พระเกศาขมวดใหญ่ พระอุษณียะเป็นเปลว















ท้ายสุดของแนวแกนของวัดสระศรีคือ เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา (หรือทรงระฆัง) ขนาดใหญ่ รูปทรงสมบูรณ์จนถึงยอด มีระเบียงคดรอบเจดีย์ประธาน เชื่อกันว่ามีแถวพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ มีฐานชั้นล่างสุดทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง ชั้นถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสลดหลั่นกัน 2 ชั้น ชั้นถัดขึ้นไปเป็นฐานสูงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างยาวด้านละ 17.20 เมตร ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงทรงกลม 3 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกัน ชั้นถัดมาเป็นบัวถลา (บัวคว่ำ) องค์ระฆังทรงกลมคล้ายระฆังคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ก้านฉัตร ไม่มีเสาหาน และปลียอด ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์บริวารขนาดเล็กแต่พังลงมาเหลือแต่ฐาน ไม่สามารถสันนิษฐานรูปแบบได้


เจดีย์ทรงระฆังทั้งที่ปรากฏอยู่ที่วัดสระศรีและที่อื่นๆ เป็นรูปแบบของเจดีย์ที่นิยมสร้างในลังกาเป็นหลักฐานว่าเราได้รับเอาพุทธศาสนาและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาจากลังกา เจดีย์รูปแบบทรงคล้ายระฆังคว่ำแบบนี้นี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เจดีย์ทรงลังกา”







ด้านใต้ของเจดีย์ประธานมีเจดีย์บริวารอีกองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ (สมบูรณ์เองหรือสมบูรณ์ด้วยการบูรณะก็สุดจะเดาได้ครับ) เป็นเจดีย์ห้ายอดทรงลังกาผสมศรีวิชัย มียอดประธานหนึ่งยอด และยอดบริวารอีกสี่ยอดชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเจดีย์อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกสูง ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนบนก่อนถึงองค์ระฆังก่อเป็นซุ้มทั้ง 4 ทิศ คาดว่าน่าจะไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป สันนิษฐานว่าคงเคยมียอดบริวารของเจดีย์ประดับเหนือสันหลังคาซุ้มทิศทั้งสี่ ชั้นถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ แกนฉัตร ไม่มีเสาหาน และปลียอด ด้านหลังเจดีย์บริวารยังมีเจดีย์ขนาดเล็กอยู่อีก 4 องค์ แต่ได้หักพังลงเหลือแต่ฐานไม่สามารถที่จะสันนิษฐานรูปแบบได้






เมื่อมีการตัดถนนจรดวิถีถ่องก่อนที่จะมีการขุดค้นศึกษาอุทยาประวัติศาสตร์สุโขทัยกรมทางหลวงได้ตัดถนนเข้าไปกลางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทำให้เกิดความเสียหายต่อหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย อีกทั้งเมื่อมีความเจริญเข้ามาก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่เมืองเก่าสุโขทัยให้เป็นเขตหวงห้ามก็ทำให้วัด เจดีย์ ต่างๆ ถูกคนใจบาปหยาบช้าอีกทั้งโง่เขลาเบาปัญญา ไม่นึกถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะมีให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้ย้อนไปถึงรากเหง้าของตัวเองได้ คนพวกนี้ได้ลักลอบขุดค้นเอาสิ่งของมีค่าไปจากโบราณสถานต่างๆมากมาย



เมื่อ พ.ศ. 2507 นางหลิ่น ปรีชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายจารึกลานทองคำแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระบุแต่เพียงว่าพบบริเวณวัดสระศรีกับวัดมหาธาตุจากการขุดถนนจรดวิถีถ่อง ซึ่งอาจจะเป็นจารึกที่ได้จากการลักลอบขุดกรุ จารึกระบุปีทีสร้างคือ พ.ศ. 1927 ใจความสำคัญมีอยู่ว่า ...



“...พระมหาสังฆราชเจ้าแก่มหาธรรมราชา ให้เอาหินผามากระทำเป็นเจดีย์ 4 ด้านแห่งมหาธรรมราชา ด้วยกว้างได้ 14 วา 2 ศอก สูง 17 วาค่าแขน ...”



มีผู้รู้เคยสันนิษฐานว่าจารึกแผ่นนี้คงบรรจุอยู่ในเจดีย์ประจำทิศองค์ใดองค์หนึ่งของพระเจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ โดยจากการคำณวนขนาดของเจดีย์แล้วน่าจะใกล้เคียงกับขนาดของเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ เนื่องจากวัดมหาธาตุกับวัดสระศรีมีอาณาเขตใกล้ๆกันจารึกจึงอาจจะโดนคนลักลอบขุดจากเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งจากวัดมหาธาตุก็ได้


โบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากการสำรวจวัดสระศรีที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูปสำริดสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ที่สำคัญพบเจดีย์จำลองภายในกรุเจดีย์ประธานของวัด ภายในเจดีย์มีเจดีย์ทรงกรวยซ้อนอยูภายในเชื่อว่าน่าจะเป็นสถูปที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง




ขอบคุณ code เพลงจากบล็อก  "ป้ากล้วย"  ครับ





อีกช่องทางหนึ่งในการติดตามการท่องเที่ยวแบบตามใจทนายอ้วนครับ



ทนายอ้วนพาเที่ยว - ChubbyLawyer Tour



https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/





Chubby Lawyer Tour …………… เที่ยวไป...........ตามใจฉัน





SmileySmileySmiley

Create Date :04 ตุลาคม 2559 Last Update :4 ตุลาคม 2559 13:31:07 น. Counter : 4448 Pageviews. Comments :13