bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดศรีรองเมือง ลำปาง - ตามรอยละครรากนครา เที่ยวบ้านแม้นเมือง, ลำปาง Thailand
พิกัด GPS : 18° 17' 24.83" N 99° 28' 50.80" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
   



 
วัดสุดท้ายในจังหวัดลำปางที่ได้ไปเที่ยวมาในทริปเหนือเมื่อตอนต้นปีเป็นวัดที่เป็นรีเควสของหลานสาวตัวยุ่งครับ ... ก่อนไปเที่ยวเชียงใหม่น้ำปิงดูละครพีเรียดที่มี  location  ในวัดในภาคเหนือมากไปหน่อยเลยขอให้พาไปเที่ยววัดที่เป็น  location  ของละครด้วย  เผอิญในจังหวัดลำปางมีอยู่วัดหนึ่งที่เป็น  location  ละครเรื่องโปรดของน้ำปิง  -  รากนคราครับ  เลยพาน้ำปิงไปเที่ยวด้วย  เพราะถือว่าการจัดทริปไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวก็ควรจะเอาใจใส่สมาชิกทุกคนในทริป ครับ
 
 



วัดศรีรองเมือง  ลำปาง
 


 

วัดศรีรองเมือง เดิมชื่อ วัดท่าคะน้อยพม่า  ตั้งอยู่เลขที่ 80 ท่าคร้าวน้อย ต.เวียงเหนือ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง  วิธีการไปวัดศรีรองเมืองก็ใช้  Google  map  เลยครับ ไปถูกแน่ๆ
 
 
นับย้อนไปสมัยปลายๆรัชกาลที่  5 
ลำปาง  ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญด้านการทำอุตสาหกรรมป่าไม้  มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้  มีคนงานจีน  แขก  พม่า  กะเหรี่ยง  ฯ  มาทำงาน  ในสมัยนั้นทางรถไฟสายเหนือมาหยุดที่ลำปาง  ยังไม่ขึ้นไปถึงเชียงใหม่  เมื่อเดินทางมาถึงลำปางแล้วต้องการจะเดินทางต่อไปยังเชียงใหม่จะต้องค้างคืนที่ลำปางก่อนแล้วจึงจะขึ้นช้าง  หรือลงเรือต่อไปยังเชียงใหม่ได้  ในสมัยนั้นลำปางเป็นเมืองที่ร่ำรวยมาก  ว่ากันว่า ....              “รวยยิ่งกว่าเชียงใหม่เสียอีก” 
 
 
เมื่อชาวพม่าเข้ามาทำงานค้าขายกับต่างชาติก็มีฐานะที่มั่นคงขึ้น  โดยอุปนิสัยเดิมของชาวพม่าแล้วเป็นคนใจบุญมาก  เศรษฐีชาวพม่าจึงนิยมแข่งกันสร้างวัดเพื่ออวดฐานะ  อวดความมั่งมี  อวดบารมีกัน
 

วัดศรีรองเมืองก็เป็นวัดพม่าอีกที่หนึ่งของเมืองลำปาง  สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2446 - 2447  โดยคหบดีชาวพม่า ที่เข้ามารับจ้างทำไม้ในเมืองลำปางให้กับบริษัทบอมเมย์เบอร์ม่า  ซึ่งเป็นบริษัทชาติอังกฤษผู้รับสัมปทาน ก่อสร้างโดยใช้ช่างฝีมือพม่าจากเมืองมัณฑะเลย์ ใช้เวลาในการสร้างประมาณ 7 ปี  ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2547 พ่อเฒ่าอินต๊ะ ศรีรองเมือง ร่วมกับชาวบ้านบริจาคที่ดิน จัดหาวัตถุมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ  จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดศรีรองเมือง  เพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อเฒ่า 
 
 
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดแบบพม่าคือส่วนต่างๆของวัด  วิหาร  ศาลาการเปรียญ  กุฎิ  จะรวมอยู่ภายในอาคารเดียวขนาดใหญ่  จะมีการแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนโดยการกั้นฝา  กั้นประตู 



ตัว
วิหารของวัดศรีรองเมืองเป็นอาคาร  2  ชั้น  ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน  อาคารด้านบนสร้างด้วยไม้สักเป็นอาคารแบบขยาย  มีหลังคาจั่วซ้อนเป็นชั้นๆเป็นซุ้มเรือนยอดแบบพม่า  มียอดแหลมนับได้  9  ยอด  ว่ากันว่าบางส่วนของซุ้มเรือนยอดถอดแบบมาจากพระราชวังในเมืองมัณฑะเลย์  มีลายฉลุบนสังกะสีที่ใช้ประดับบนจั่วและเชิงชายคา เพิ่มความอ่อนช้อย และสง่างามให้วิหาร











 
 
 


 
 
เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะเห็นว่าตัวอาคารจะเป็นประตูเรียงกันหลายๆบาน  เมื่อเดินผ่านประตูเหล่านั้นเข้าไปจะเป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นพระวิหาร 









 

 
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปมากมาย  ทั้งที่เป็นศิลปะพม่า  ล้านนา  และศิลปะแบบไทย
 
 
พระพุทธรูปองค์ซ้ายมือสุด  และขวามือสุด  (ถ้าเราหันหน้าเข้า)  เป็นพระพุทธรูปบางมารวิชัย  ศิลปะแบบมัณฑะเลย์  พุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร  พระพักตร์กลม  พระขนงโก่ง  พระนาสิกค่อนข้างสั้น  ห่มจีวรแบบพม่า  (ห่มคลุม (ไหล่))
 
 
พระพุทธรูปองค์ที่สองจากทางซ้ายมือเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ  มีซุ้มเรือนแก้ว  ศิลปะเชียงแสน








 
 
ส่วนพระพุทธรูปองค์ถัดมา  องค์ใหญ่ที่สุด  เป็นพระประธานประจำพระวิหาร  ปางสมาธิ  ห่มจีวรเฉียง  ศิลปะพม่า  แต่ความสำคัญของพระประธานประจำพระวิหารก็คือ 
“สร้างจากไม้สักทองทั้งต้น”
 
 
มีเรื่องเล่ากันว่าไม้สักท่อนนี้มีขนาดใหญ่  และมีความยาวมาก  ไหลล่องลงมาตามแม่น้ำวัง  แล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดท่าคราวน้อย  (ชื่อเดิมของวัดศรีรองเมือง)  ศรัทธาวัดได้นำไม้สักท่อนนี้มาไว้ที่วัด  ก็มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้และเอาดอกไม้ ธูปเทียนมาบูชา   วันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้องลมแรงมากแต่เทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ  บรรดาศรัทธาวัดและพร้อมด้วยจองตะก่าอินต๊ะและแม่จองตะก่าคำออนจึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะพม่า  คือพระพุทธรูปบัวเข็ม มีลักษณะพระเศียรมีใบบัวปิดอยู่







 
ภายในพระวิหารมีเสากลมใหญ่หลายต้น  ล้วนตกแต่งด้วยศิลปะการปั้นรักเป็นลวดลาย  (กระแหนะ)  เครือดอกไม้ พันธุ์พฤกษา แล้วประดับด้วยกระจกหลากสีเต็มทั้งต้น  และทุกๆต้นจะมีลายแทบจะไม่ซ้ำกันเลย  โดยเฉพาะเสาหน้าพระประธานจะปั้นรักเป็นรูปเทพารักษ์ คน ยักษ์ วานร และสัตว์ป่า เหมือนในป่าหิมพานต์











เพดาน
วัดศรีรองเมืองก็เป็นอีกสิ่งที่ควรจะแหงนหน้าขึ้นไปมองนะครับ  เป็นลายไม้แกะสลักละเอียดประณีต  ทาสีประดับกระจก  แต่ละช่องๆแทบจะมีลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลยครับ










 
 
เดิมภายใน
วัดศรีรองเมืองมีทั้งวิหารใหญ่และวิหารน้อย สำหรับวิหารน้อยนั้นมีอยู่ถึง 9 หลัง แต่ปัจจุบันวิหารน้อยเหล่านั้นปรักหักพังไปจนหมดสิ้น จึงเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ซึ่งเป็นวิหารประธานของวัดเพียงหลังเดียว ปัจจุบันวัดมีอายุประมาณ 103 ปี  กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2524
 
 
ลงจากพระวิหารแล้วเดินออมมมาทางด้านข้างจะเจอกับบ่อน้ำโบราณสร้างขึ้นพร้อมๆกับการสร้างวัด  (ปัจจุบันมีอายุกว่า  100  ปีแล้ว)  ว่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์  ใช้ชำระล้างสิ่งที่เป็น  “คึด”  หรือสิ่งอัปมงคล







 
 

พระธาตุเจดีย์แม่เฒ่าปะโอ จองตอง สร้างใน พ.ศ.2445 ภายในบรรจุสารีริกธาตุ  เป็นเจดีย์ศิลปะพม่า







 
 




และ
พระอุโบสถ  สร้างขึ้นในปี  พ.ศ.  2475  สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  ตามแบบที่ได้รับความนิยมในพม่าในเวลานั้น







 
 




ละครเรื่อง 
รากนครา  ใช้วัดศรีรองเมืองเป็น  location  ที่ชั้นสองของพระวิหาร  โดยสมมุติว่าเป็นตำหนักของเจ้าแสนอินต๊ะ  ผู้ครองเมืองเชียงเงิน  ฉากที่มั่นใจมากว่าถ่ายทำที่วัดศรีรองเมืองแน่ๆก็คือฉากที่เป็นเรือนที่พักของเจ้าแม้นเมือง  (แต้ว  ณฐพร)  และมิ่งหล้า  (มิว  นิษฐา)  โดยเฉพาะฉากเดินเข้าเดินออกด้านหน้าชั้นบนพระวิหาร  และฉากที่แม้เมืองต้องออกจากเชียงเงินไปแต่งงานกับเจ้าน้อยศุขวงศ์  (หมาก  ปริญ)  ที่เมืองเชียงพระคำ  แล้วมิ่งหล้าออกมาด่าว่า 
“อีปี้ทรยศๆๆๆๆ”













 

 

แต่ถึงฉากที่เป็นเรือนของแม้นเมืองและมิ่งหล้าตอนกลางคืนเจ้าของบล็อกจะมั่นใจว่าถ่ายทำที่วัดศรีรองเมืองเหมือนกันโดยดูจากการประดับตกแต่ง  สีฝาอาคาร  สีประตู  แต่ ... เจ้าของบล็อกก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่  เพราะฉากกลางคืนนั้นนักแสดงทั้งสองคนแต่งตัวไม่มิดชิด  ห่มผ้ารัดอก  นุ่งผ้าถุง  (ไม่ได้ใส่เสื้อเรียบร้อยเหมือนฉากกลางวันเพราะอยู่บ้านเฉยๆบ้าง  จะนอนแล้วบ้าง)  มันจะถ่ายทำกันบนพระวิหารได้หรือเปล่าอันนี้ก็คงต้องให้ผู้รู้มาช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะครับ
 



งานนี้คนที่กรี๊ดกร๊าดมากที่สุดคือน้ำปิง  เพราะก่อนจะไปเที่ยวก็ให้นางดูละครย้อนหลังเป็นน้ำจิ้มก่อนจะไปเห็นของจริง  พอได้เห็นของจริงนางก็ตื่นเต้ลยกใหญ่  ....  พูดตลอดว่า  ....  พี่แต้วเดินมาตรงนี้ ... พี่แต้วนั่งตรงโน้น ...  บอกตรงๆว่า 
“เจ้าของบล็อกหายเหนื่อยกับการจัดทริปครอบครัวทริปนี้เลยครับ”  ได้เห็นน้ำปิงเที่ยวแบบสนุกสนาน  ไม่เบื่อ  ได้เห็นแม่ของเจ้าของบล็อกมีความสุขแล้ว .... เจ้าของบล็อกก็อิ่มใจไปด้วยครับ
 



 
วัดศรีรองเมืองเป็นวัดสุดท้ายในจังหวัดลำปางที่ได้ไปเที่ยวมา  บล็อกหน้าจะกลับไปเป็นวัดสวยๆที่เชียงใหม่อีกนะครับ














 
139138138
Create Date :14 ตุลาคม 2562 Last Update :14 ตุลาคม 2562 22:27:13 น. Counter : 3885 Pageviews. Comments :12