bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : ตึกราชินี อ่างศิลา, ชลบุรี Thailand
พิกัด GPS : 13° 20' 24.47" N 100° 55' 31.87" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม




 


ตึกราชินี  อ่างศิลา 






 
ตึกราชินี  หรือ  ตึกแดง  ตั้งอยู่ตำบลอ่างศิลา  อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี  ตั้งอยู่ริมทะเล  บริเวณโค้งถนนเลียบชายทะเลอ่างศิลา  ทางเข้าตลาดเก่าอ่างศิลาเลยครับ
 
 



ท่านที่จะไปเยี่ยมชมรบกวนจอดรถไว้ริมถนนทางเข้าตลาดเก่าอ่างศิลานะครับ  เพราะภายในบริเวณ  ตึกราชินี  หรือ  ตึกแดง  ไม่มีที่จอดรถครับ







 
 
 



อ่างศิลา  เป็นหมู่บ้านประมงริมฝั่งทะเล เดิมชื่อ  อ่างหิน  เนื่องจากมีแอ่งหินแกรนิตผสมหินทรายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน  เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  เสด็จฯ  ประพาสเมืองชลบุรี  ได้ประทับพักค้างแรมที่ค่ายหลวงอ่างศิลา  ได้มีพระราชหัตเลขา  ลงวันที่  9  มกราคม  พ.ศ. 2419  พรรณนา  อ่างศิลา  ไว้ตอนหนึ่งว่า ...

 
 
 

“ ... เรียกชื่อว่า  อ่างศิลา  นั้น  เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน  มีศิลาก้อนใหญ่ๆ  เป็นศิลาดาด  และเป็นสระยาวรีอยู่  2  แห่ง ๆ  หนึ่ง  ลึก  7  ศอก  กว้าง  7  ศอก  ยาว  10  วา  แห่งหนึ่งลึก  6  ศอก  กว้าง  1  วา  2  ศอก  ยาว  7  วา  เป็นที่ขังน้ำฝน  น้ำฝนไม่รั่วไม่ซึมไปได้”
 
 



จริงๆแล้ว 
ตึกราชินี  หรือ  ตึกแดง  มี  ตึกขาว  หรือ  ตึกมหาราช  สร้างคู่กันมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่  4  โดย  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  (ช่วง บุนนาค)  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมุหกลาโหม  ได้สร้าง  ตึกหลังใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วย   เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  (เจ้าคุณกรมท่า)  จึงได้ก่อสร้างตึกอีกหลังหนึ่ง  แต่มีขนาดเล็กกว่าของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์     ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีในระหว่างที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซ่อมแซมอาคาร  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จพระพาสยุโรปแล้ว  จึงพระราชทานนามให้อาคารทั้ง  2  หลัง โดยโปรดเกล้าให้เรียกอาคารหลังใหญ่ว่า  ตึกมหาราช  และอาคารหลังเล็กเรียกว่า  ตึกราชินี



 
 
ต่อมาภายหลังคนทั่วไปเรียกกันว่า 
ตึกราชินี  -  ตึกแดง  และ  ตึกขาว -  ตึกมหาราช   คงเป็นเพราะเรียกตามสีที่ใช้ทาตึกทั้งสองหลัง  ตึกมหาราช  ทาสีขาวทั้งตึก  จึงเรียกว่า  ตึกขาว  ส่วน  ตึกราชินี  ทาสีแดงทั้งตึก  จึงเรียกว่า ตึกแดง
 



 
ปัจจุบันทั้ง 
ตึกราชินี  -  ตึกแดง  และ  ตึกขาว -  ตึกมหาราช  จัดตั้งเป็น   พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราช  ตึกราชินี  -  ตึกแดง   ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมแล้ว  ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์  ส่วน  ตึกขาว -  ตึกมหาราช  อยู่ในขั้นตอนการบูรณะซ่อมแซม
 




ตึกราชินี  -  ตึกแดง  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น  ทาสีแดงทั้งหลัง  ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโคโลเนียลแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่  4  หลังคาทรงปั้นหยา  ยกจั่ว  มีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดินที่เอียงลาด   มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน  บริเวณมุขชั้นล่างเป็นผนังทึบ  มีประตูรูปซุ้มโค้งส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง  ส่วนล่างเป็นบานลูกฟักทำจากไม้  ลักษณะหน้าต่างเป็นบานคู่ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง  ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด  ส่วนของเฉลียงระเบียงลูกกรงนั้นใช้เป็นทางสัญจรและที่รับลมซึ่งมีลักษณะเหมือนบ้านกงสุลอังกฤษ และโปรตุเกสในสมัยนั้น 















 



ตึกราชินี  -  ตึกแดง  นับเป็นที่พักตากอากาศแห่งแรกไทย  เนื่องจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  พระสนมเอกในรัชกาลที่  5  ได้เสด็จมาพักรักษาพระองค์ที่  ตึกราชินี  หรือ  ตึกแดง  เมื่อปีพุทธศักราช 2449  เพื่อรักษาโรคพระปัปผาสะพิการในระยะเริ่มแรก  (โรคปอด)   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แพทย์หลวงรักษาโดยด่วนและได้เสด็จไปประทับที่  ตึกราชินี  ที่  ต.อ่างศิลา  จ.ชลบุรี  ซึ่งเป็นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เพื่อรักษาพระองค์  ระหว่างที่เจ้าดารารัศมีประทับรักษาพระองค์ที่อ่างศิลา  ได้ทรงมีดำริว่า  ที่ตำบลอ่างศิลาเป็นที่กันดารน้ำจืด  จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างบ่อน้ำจืดพระราชทาน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อบ่อว่า  “บ่อนพรัฐ”  และมีพระราชดำรัสให้กรมสมมตอมรพันธ์ทำจารึกไว้ที่บ่อ พร้อมกับจัดงานพิธีฉลองบ่อด้วย  จึงนับได้ว่า ตึกราชินี  -  ตึกแดง   เป็นที่พักตากอากาศแห่งแรกของไทย















 
 

 
ด้านบน 
ตึกราชินี  -  ตึกแดง  มีการแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ  โดยรักษาบรรยากาศเดิมๆเอาไว้  มีการจัดแสดงภาพและนิทรรศการต่างๆ  ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของอ่างศิลา  บางส่วนของ  ตึกราชินี  หรือ  ตึกแดง  สามารถเดินชมได้ภายนอกเท่านั้น  












 
 
 



 
 
จากพระราชหัตเลขาเกี่ยวกับ 
อ่างศิลา  ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  เมื่อครั้งที่ประพาสเมืองชลบุรี  และได้ประทับพักค้างแรมที่ค่ายหลวงอ่างศิลา  ในปี  พ.ศ. 2419  เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโยธาธิบดีเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง  จึงให้หลวงศักดิ์ฤทธิ์ชลเขตร  ปลัดเมืองชลบุรีเป็นนายงาน  ก่อเสริมปากบ่อกั้นน้ำมิให้น้ำที่สกปรกไหลกลับลงไปในบ่อได้  ราษฎร  ชาวบ้าน  หรือชาวเรือ  ผ่านไปมาได้อาศัยน้ำฝนในอ่างศิลานั้นบริโภคดื่มกิน










 
 
 
ใกล้ๆกับบ่อน้ำ  มีกินก้อนหนึ่ง  มีรอยคล้ายรอยเท้าคนเหยียบเอาไว้  ชาวบ้านจึงเอาไปผูกกับนิทานพื้นบ้านว่าเป็นรอยเท้าของพรานบุญ  บางคนก็ว่าเป็น 
รอยพระพุทธบาท
 










 
คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นชาวอ่างศิลาโดยกำเนิดเล่าต่อๆกันมาว่า  เมื่อครั้งที่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  เสด็จฯ  ประพาสเมืองชลบุรี  ใน  พ.ศ. 2419   ได้ประทับพักผ่อนพระอิริยาบทบนก้อนหินก้อนนี้ครับ













 
เปิดวันจันทร์ - วันอาทิตย์ 09.00 - 16.30
 
 
 
 
 
 

ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีสำหรับข้อมูลการท่องเที่ยวครับ 
 
 
 
 
 

ตึกมหาราช ตึกราชินี อ่างศิลา – กรมศิลปกร


 
ตึกแดง ตึกขาว อ่างศิลา – ไปด้วยกัน.com


 
ตึกมหาราช-ตึกราชินี – mronline

 

เที่ยวอ่างศิลา ชมตึกแดง-ตึกขาว คุณค่าทางประวัติศาสตร์ –  Knight-errant

 

ตึกแดง – สำนักบริหารศิลปะวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิ
ทยาลั





 
140139138
Create Date :23 มิถุนายน 2566 Last Update :23 มิถุนายน 2566 9:40:49 น. Counter : 1021 Pageviews. Comments :33