bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : จุดนัดพบยม - น่าน ต.เกยไชยเหนือ อ.ชมแสง นครสวรรค์, นครสวรรค์ Thailand
พิกัด GPS : 15° 52' 14.19" N 100° 15' 50.54" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม





 
สถานที่เที่ยวแห่งต่อไปที่จะชวนไปเที่ยวเป็นสถานที่เที่ยวแห่งสุดท้ายจริงๆแล้วในทริป  “อำเภอชุมแสง  จังหวัดนครสวรรค์”  ครับ  ความจริงสถานที่แห่งนี้อยู่บริเวณหน้าวัดเกยไชยเหนือ  อำเภอชุมแสง  จังหวัดนครสวรรค์  แต่เห็นว่าเนื่อหาจะไปเกี่ยวข้องกันเลยเอามาตั้งเป็นอีก  entry  นึงครับ
 


 

จุดบรรจบแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน  อ.ชุมแสง  จ.นครสวรรค์



 
 
คิดว่าทุกคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่าแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยคือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  (ถึงแม้ว่าชื่อ  “เจ้าพระยา”  ยังมีที่มาไม่แน่นอนด้วยหลายสาเหตุ  เก็บไว้เล่าวันหลังนะครับ)  ซึ่งเกิดจากรวมตัวของแม่น้ำสำคัญที่ไหลลงมาจากเทือกเขาทางภาคเหนือของประเทศไทยคือ  แม่น้ำปิง  แม่น้ำวัง  แม่น้ำยม  และแม่น้ำน่าน
 
 

แม่น้ำยม  มีต้นกำเนิดบนเทือกเขาผีปันน้ำและเทือกเขาแดนลาว ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพะเยาและแพร่ โดยมีแม่น้ำงิม และ แม่น้ำควร ไหลมาบรรจบกันที่บ้านบุญยืน ตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา  แม่น้ำยมมีความยาวประมาณ 735 กิโลเมตร ไหลผ่านที่ราบสูงของอำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร
 
ชนิดและปริมาณพันธุ์ไม้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล คือ มีมากในฤดูหนาวและฤดูร้อน ลดลงในฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำสูงและกระแสน้ำไหลแรงจนทำให้พืชใต้น้ำและบนผิวน้ำถูกพัดพากระจัดกระจายไป พืชใต้น้ำมีเพียงชนิดเดียวคือสาหร่ายหางกระรอกซึ่งเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในฤดูร้อน เนื่องจากระดับน้ำไม่สูงมาก แสงแดดสามารถส่องถึงได้ นอกจากนี้ยังพบต้นกก พืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม โผล่พ้นน้ำกระจายอยู่ทั่วไป แม่น้ำยมมีพืชชายน้ำหลายชนิด เช่น หญ้าคา หญ้าแพรก พง และอ้อ
 
ในแม่น้ำยมมีปลาน้ำจืด 38 ชนิด ปริมาณปลามีมากที่สุดในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ปลาที่พบมาก ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาซิว และปลารากกล้วย
 
 

แม่น้ำน่าน  มีต้นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหลวงพระบาง  ในเขตอำเภอบ่อเกลือเหนือ  จังหวัดน่าน มีความยาวตลอดลำน้ำ 740 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุด ในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน  มีแม่น้ำสาขาคือ  แม่น้ำปาด  แม่น้ำว้า  แม่น้ำแควน้อย  แม่น้ำวังทอง  ไหลผ่านจังหวัดน่าน  อุตรดิตถ์  พิษณุโลก  พิจิตร 
 
 
ตอนเด็กๆ  เจ้าของบล็อกจินตนาการไปเองว่าการรวมกันของแม่น้ำทั้ง  4  สาย  เป็นการรวมกันเลยทีเดียว  4  สาย  เมื่อครั้งที่พ่อของเจ้าของบล็อกไปทำงานเป็นผู้อำนวยการภาคที่กรมเจ้าท่านครสวรรค์เจ้าของบล็อกก็ตามไปเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์แล้วได้เห็น  “ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา”  ที่จังหวัดนครสวรรค์  ก็เกิดความสงสัยว่าทำไม  “ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา”  ถึงมีแม่น้ำแค่  2  สายมาบรรจบกันเท่านั้น  ที่เรียนมามี  4  สายนี่นา ....
 
 
พอร่ำเรียนสูงขึ้นถึงได้รู้ว่าการบรรจบกันของแม่น้ำทั้ง  4  สาย  (ปิง  วัง  ยม  และน่าน)  ไม่ได้บรรจบกันครั้งเดียว  แต่บรรจบเป็นคู่ๆก่อนแล้วจึงไหลมาบรรจบกันที่  “ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา”  ที่จังหวัดนครสวรรค์  โดยแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังไหลมาบรรจบกันที่รอยต่อระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชร  และไหลเรื่อยลงมาที่  ปากน้ำโพ  นครสวรรค์ 



 
ส่วนแม่น้ำยม  และ  แม่น้ำน่าน  ไหลเรื่อยลงมาบรรจบกันที่  ต.เกยไชยเหนือ  อ.ชุมแสง  จ.นครสวรรค์  บริเวณหน้าวัดเกยไชยเหนือ 














 
 
เราจะเห็นความแตกต่างของสีของแม่น้ำทั้งสองสายครับ  คือแม่น้ำน่าน  จะไหลเชียวกว่า  และมีสีขุ่น  แดงกว่า  ส่วนแม่น้ำยมจะไหลเอื่อยกว่าและสีของน้ำก็จะเป็นสีออกเขียวๆ  เมื่อแม่น้ำทั้งสองสายรวมกันแล้วก็จะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังที่ไหลรวมกันมาก่อนที่  ตำบลปากน้ำโพ  จ.นครสวรรค์  ครับ









 





 
139138137
Create Date :28 สิงหาคม 2562 Last Update :28 สิงหาคม 2562 13:02:33 น. Counter : 2865 Pageviews. Comments :11