bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดหลวง อ.เมือง จ.แพร่, แพร่ Thailand
พิกัด GPS : 18° 8' 42.84" N 100° 8' 12.74" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม






สถานที่ท่องเที่ยวแห่งถัดไปเป็นจุดแวะพักท่องเที่ยวสุดท้ายในเมืองแพร่ของทริปนี้  เพราะตามแพลนการเดินทางของเราจะต้องเดินทางขากลับไปพักที่พิษณุโลก  1  คืนก่อนจะแวะเที่ยววัดเก่าในจังหวัดพิจิตรก่อนเดินทางกลับบ้านครับ
 
 


 

วัดหลวง  จ.แพร่
 



 

วัดหลวง  ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านวัดหลวง ถนนคำลือ ซอย 1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.แพร่  เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่  บางสำนักก็ยกวัดหลวงให้เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นพร้อมๆกับการสถาปนาเมืองแพร่โบราณเลยทีเดียว
 
 


วัดหลวง ว่ากันว่ามีอายุการก่อสร้างนับพันๆปี  โดยในระยะเริ่มแรกของการสร้างเมืองในบริเวณที่ราบฝั่งแม่นำยมซึ่งมีชื่อว่า  เมืองพลนคร  โดย  พ่อขุนหลวงพล  มีการสร้างวัดขึ้นในบริเวณทิศตะวันตกของคุ้มเจ้าหลวงเมื่อปี พ . ศ . ๑๓๗๒  มีการสร้าง  วิหารหลวงพลนคร  (เรียกชื่อตามผู้ที่ก่อตั้ง  เมืองพล  ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองแพร่)  สำหรับประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวงพระประธานของเมืองพลนคร  และเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา  ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนที่เพิ่งจะร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองกันมา
 


ต่อมาในปี พ . ศ . ๑๖๐๐ ชนชาติขอมได้ยกทัพเข้ารุกรานเมืองพลนคร แม้เจ้าเมืองจะเข้าต่อสู้อย่างเต็มกำลังแต่ก็ไม่สามารถด้านทานทัพใหญ่ของขอมได้ ในครั้งนั้นเข้าศึกได้เผาทำลายเมืองรวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ ได้เผาลอกเอาทองหุ้มพระเจ้าแสนหลวงไปด้วย ผู้คนจึงอพยพออกนอกเมือง  จากนั้นขอมได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น
 เมืองโกศัย 
 

จนถึง พ . ศ . ๑๗๑๙ เมื่อพม่าขยายอิทธิพลมาสู่ดินแดนนล้านนาและขับไล่ขอมออกไปจากเมืองโกศัยแล้ว พม่าได้เรียกเมืองพลว่า  
เมืองแพล   ต่อมา พญาพีระไชยวงศ์ เจ้าเมืองแพลได้ทำไมตรีกับพม่าและได้ร่วมกับ  ส่างมังการะ   เจ้าเมืองพม่า ทำการบูรณะ วัดหลวง รวมทั้งการทำทุงกระด้าง ( อ่าน “ ตุงกะด้าง ”) และเสาหงส์ซึ่งทำด้วยไม้แกะสลักเพื่อถวายเป็นพุทธบูชานอกจากนั้น เจ้าเมืองแพลและชาวเมืองแพลยังได้ร่วมสร้างพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ โดยการก่อเจดีย์ ด้วยอิฐปูนรูปทรง ๘ เหลี่ยม บนฐานสูง ๑ เมตร รูปสี่เหลียมจัตุรัส พร้อมกันนั้น ได้หุ้มทองพระเจ้าแสนหลวงและขนานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดหลวงไชยวงศ์
 


ในปี พ.ศ. ๑๘๗๙ เมืองแพลตกเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย สมเด็จพระมหาธรรมราชลิไทได้เสด็จขึ้นมาสร้างและบูรณะวัดหลายแห่งในอาณาจักรล้านนา สำหรับวัดหลวงโปรดฯ ให้บูรณ์ะพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำด้วยการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบองค์เดิมแล้วพระราชทานแก่วัดว่า   
วัดหลวงสมเด็จ  ในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ พระสร้อยสุริยะ เจ้าเมืองแพร่ ได้บูรณะวัดหลวงโดยมีพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่เป็นผู้อุปถัมภ์ ต่อมา มีการบูรณะศาสนสถานในวัดหลวงโดยเจ้าเมืองแพร่องค์ต่อๆ มา ด้วยการสร้างปูชนีวัตถุต่างๆ ได้แก่พระพุทธมิงเมืองและพระเจ้าแสนทอง ซึ่งสร้างโดยเจ้าเมืองแพร่จันทราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ จากนั้น เจ้าหลวงพิมพิสาร ได้ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระธาตุหลวงงไชยช้างค้ำชำรุดพังลงด้านหนึ่งครูบาเจ้าธรรมชัยจึงทำการบูรณะขึ้นใหม่
 

จากนั้นเป็นต้นมา มีการบูรณะศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดเพิ่มโดยลำดับ ได้แก่ พระวิหารหลวงพลนคร พระอุโบสถพระธาตุไชยช้างค้ำ ซุ้มประตูวัด หอพระธรรม รวมทั้งพระพุทธรูปอีกหลายองค์ จนวัดหลวงมีสภาพที่สมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
 
 


วิหารหลวงพลนคร   เป็นวิหารทรงโรง  ขนาด  6  ห้อง  ห้องด้านหน้าเดิมน่าจะเป็นมุขหน้า  2  ห้อง  (เดิมเข้าใจว่าคงจะเป็นโถงมุขหน้าโล่งๆ  ต่อมาภายหลังจีงก่อนผนังเพิ่มเติมให้เป็นวิหารแบบปิด  เจ้าของบล็อกเดาเอาจากหน้าต่างพระวิหาร  2  ห้องแรกที่ไม่มีการเจาะหน้าต่างแต่ทำเป็นช่องลูกกรงให้แสงแดดและลมผ่านเข้าไปภายใน  ต่างจาก  4  ห้องถัดไปจะมีการเจาะหน้าต่าง)  มีการทำซุ้มประตูทางเข้าตกแต่งอย่างสวยงาม 





 






ตัววิหารก่อด้วยอิฐถือปูน  ยกพื้นสูงจากพื้นดิน  มีบันไดนาคปูนปั้นทาสีสวยงาม









 


หลังคามี  2  ตับ  และซ้อนกัน  2  ชั้น  ใบระกาเป็นรูปพญานาคแบบล้านนา  ส่วนช่อฟ้าทำเป็นรูปหงส์






 



 
หน้าบัน  (หน้าแหนบ)  สร้างด้วยไม้สัก แกะสลักลวดลายหน้ากาลคายช่อดอกไม้แล้วมีเทพยืนพนมมือ  2  ข้างมีรูปสัตว์  (ลิง)  หรือเปล่าไม่แน่ใจกับลายก้านขด  ด้านล่างหน้าแหนบมีแถวเทพยืนพนมมือ  12  องค์

ส่วนของรวงผึ้งแกะเป็นรูปสิงห์  8  ตัว  เป็นคู่  3  คู่  อยู่ตรงกลาง  อีกข้างละตัวยืนเดี่ยวๆ  ส่วนรวงผึ้งตรงปีกนกก็ทำเป็นรูปสิงห์ยืนเรียงกันด้านละ  6  ตัว










 

เมื่อผ่านซุ้มประตูทางเข้าจะมี 
โขงประตู  ด้านในอีกหนึ่งชั้น  คาดว่าน่าจะเป็นประตูทางเข้าเดิมตรงโถงข้างหน้าซึ่งภายหลังมีการก่อปิดจนทึบ  โขงประตู  มีลักษณะเพรียวแต่ลายปูนปั้นออกจะลบเลือนไปตามกาลเวลา















 
 
ด้านใน 
โขงประตู  มีการวาดรูปพระพุทธเจ้าทั้ง  29  พระองค์และหม้อปูรณฆฎะ  (พระพุทธเจ้าในอดีต  28  พระองค์  กับ  พระศรีอาริยเมตไตรซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอีก  1  พระองค์)









 
 
ภายในพระวิหารไม่มีการตกแต่งใดๆ  (หรืออาจจะมีแต่มีการบูรณะแบบลบไปแล้ว)  ท้ายพระวิหารประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งปางสมาธิ  ศิลปะล้านนาผสมกับสุโขทัย (น่าจะเป็นล้านนาอย่างเดียวเพราะมีพุทธลักษณะคล้ายๆกับพระพุทธรูปในเมืองน่าน – เจ้าของบล็อก) 

ภายในวิหารจึงเป็นที่เก็บแผ่นไม้สัก ขนาดความยาวประมาณ ๓ เมตร แกะสลักลวดลายที่ชัดเจนเป็นรูปพญานาค ๔ คู่ ซึ่งเรียกว่า
“ ตุงกระด้าง ” โดยตอกติดกับเสาไม้










 
พระวิหารไม่มีเพดาน  แต่ท้ายพระวิหารตรงกับที่ประดิษฐาน  พระเจ้าแสนหลวง  มีเพดานทำเป็นดอกไม้  9  ดอก  เป็นความเชื่อเช่นเดียวกับการทอผ้าโฮลปิดานของภาคอีสานที่นิยนทอผ้าไหมมัดหมี่เพื่อขึงเหนือพระพุทธรูป  เพื่อกำหนดบริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในอาคาร  บางความเชื่อบอกว่าทำเลียนแบบคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า








 


 
 
เสาที่เขียนลายทองในพระวิหาร  2  ต้น  ข้างพระเจ้าแสนหลวงเจ้าของบล็อกคาดว่าน่าจะเป็นเสาเดิมของพระวิหารซึ่งเดิมคงเป็นวิหารเครื่องไม้จำเป็นต้องมีเสาหลวงเป็นคู่ๆตามจำนวนห้อง  แต่เมือมีการบูรณะเป็นวิหารแบบก่ออิฐแล้วใช้การถ่ายน้ำหนักหลังคาลงบนผนังจึงสามารถตัดเสาพระวิหารออกไป  คงเหลือคู่สุดท้ายตรงพระประธานไว้ตามเดิม






 
 
 


ตรงข้ามกันกับพระวิหารห่างออกไปประมาณ  20  เมตร  มีประตูวัดที่เก่าแก่ เรียกว่า
"ประตูโขง" ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นประตูของเจ้าเมืองผ่านเท่านั้น  มีลักษณะคล้ายเจดีย์ย่อมุม  ก่อด้วยอิฐโบราณถือปูนและอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม  ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว  โดยภายในฉาบด้วยปูน  ด้านหน้าก่ออิฐถือปูนปิดทางเข้าออก นอกจากนี้มีการสร้างกำแพงวัดด้านหน้าเพิ่มเดิม รวมทั้งสร้างประตูวัดขึ้นใหม่






 



 
 
ติดกับพระวิหารเป็น  น่าจะเป็นพระอุโบสถของวัดหลวงมีชื่อว่า ”
โบสถ์เจ้าผู้ครองนคร ” สร้างด้วยอิฐถือปูน มีขนาดย่อมกว่าวิหารมาก  ที่หน้าแหนบของซุ้มประตูแกะสลักเป็นรูปช้าง  ที่เครื่องบนใบระกาเป็นแบบภาคเหนือแต่ช่อฟ้าเปลี่ยนไปเป็นแบบภาคกลาง
 
บันไดทางขึ้นด้านหน้าตรงประตู ๑ ช่อง ซึ่งตัวบันไดมีความกว้างประมาณ ๑ เมตร ภายในโบสถ์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป ๑ องค์  บางเวบบอกว่าคือ  พระเจ้าแสนทอง ซึ่งสร้างโดยเจ้าเมืองแพร่จันทราโดยมีจารึกอักษรฝักขามใต้ฐานด้านหน้าพระพุทธรูป










 
 






ด้านหลังพระอุโบสถคือ 
หอไตร 
 










ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ตั้งของ 
พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ  ซึ่งสร้างด้วยอิฐถือปูนทาสีขาวและเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี รูปแบบการก่อสร้าง เป็นศิลปะล้านนารูปทรง ๘ เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานรูปเหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างงด้านละประมาณ ๕ เมตร ฐานสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร รอบๆ องค์พระธาตุ จะมีซุ้ม ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยช่องกลางระหว่างซุ้มทั้ง ๔ ทิศ จะมีรูปปั้นช้างสีขาวครึ่งตัวโผล่ออกมาจากตัวพระธาตุ ส่วนยอดของพระธาตุประดับด้วยช่อดอกไม้สีทอง

























 
139140139














 
Create Date :15 มิถุนายน 2563 Last Update :15 มิถุนายน 2563 20:41:31 น. Counter : 2628 Pageviews. Comments :13