bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม, สมุทรสงคราม Thailand
พิกัด GPS : 13° 24' 40.46" N 99° 57' 33.80" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม



บล็อก  “ท่องเที่ยวไทย”  ในบล็อกนี้เจ้าของบล็อกยังคงขอกลับไปคง  concept  การท่องเที่ยวแบบเดิมๆนะครับ  คือ  การไปเที่ยวชม  วัดเก่าๆ  โบราณสถานต่างๆ  ครับ
 



 
 
วัดที่จะพาไปเที่ยวใน  entry  นี้  อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯครับ  เจ้าของบล็อกไปมาหลายครั้งแล้วครับ  ไม่ใช่เพราติดใจครับ  เป็นเพราะ 
“หลงทาง”  บ้าง  “ขับรถเลย”  บ้าง  เนื่องจากจังหวัดที่วัดนี้ตั้งอยู่เป็นจังหวัดเล็กๆ  พื้นที่สวนใหญ่เป็นสวนผลไม้  มีวัดเยอะมากครับ  เจ้าของบล็อกมาครั้งที่  2  หรือ  3  นี่แหละครับ  ถึงได้มาถึงแบบไม่   “หลงทาง”  และ  “ขับรถเลย”
 




 
 

วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  สมุทรสงคราม
 


 


 

วัดบางกะพ้อม  อัมพวา   เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  มีพื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน 62 ตารางวา  ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา  อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร  อยู่ริมถนนสาย  แม่กลอง – บางแพ  ช่วงก่อนถึงตลาดน้ำอัมพวา  ระหว่างวัดแก้วฟ้ากับวัดนางวัง  ตรงทางโค้งพอดีเลยครับ  ถ้าไม่สังเกตุดีๆก็อาจจะขับรถเลยไปได้ครับ
 




 

วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  เป็นวัดโบราณ  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ  พ.ศ.  2310 
 
 



มีตำนานเล่ากันว่า .....  ผู้สร้างวัดเป็นครอบครัวที่หนีภัยพม่ามาจากกรุงศรีอยุธยาพาครอบครัวและทรัพย์สมบัติลงเรือรอนแรมมาจนถึงบริเวณที่เป็นวัดปัจจุบันนี้  คงเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สงบและร่มรื่น  จึงได้สร้างที่พักอาศัย  พร้อมทั้งประกอบอาชีพสานกระบุง  ตระกร้า  เสื่อ  และพ้อม  เพื่อเลี้ยงชีพ
 




(พ้อม  (ภาษาถิ่น)  หมายถึงภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเปลือก  มีลักษณะก้นสอบ  กลางป่อง  ปากสอบ  กว้างตั้งแต่  2 –  4  ศอก  สูงประมาณ  4  ศอก  สานตั้งแต่ก้นก่อนแล้วจึงสานด้านข้าง  ผู้สานต้องเข้าไปนั่งหรือยืนสานอยู่ข้างใน  ยิ่งสานก็ยิ่งสูงขึ้นไปจนบังตัวผู้สาน  เหลือเพียงไหล่  หรือศีรษะโผล่ออกมา)
 



 
อยู่มาวันหนึ่งมีคนบอกว่ามีกองทหารพม่ามาให้รีบหนี  สามีภรรยากำลังสานพ้อมอยู่เห็นว่าหนีไปไม่ทันแล้ว จึงได้แอบบังตัวอยู่ในพ้อมที่กำลังสานขาย  พร้อมกับตั้งสัตนาธิษฐานต่อพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขออย่าให้พม่าเห็น  หากรอดพ้นไปได้ก็จะสร้างวัดถวาย  ณ  สถานที่นี้  เมื่อกองทหารพม่าได้ผ่านหไปแล้ว  สามีภรรยาได้ออกจากพ้อม  จึงได้สร้างวัดถวายตามสัตยาธิษฐานตั้งใจไว้  ให้ชื่อว่า  วัดบังกับพ้อม  ต่อมาชื่อที่เรียกก็เพี้ยนเป็น  บังกะพ้อม  และ  วัดบางกะพ้อม  ในปัจจุบัน
 
 
 


ครอบครัวของท่านได้สร้างอุโบสถไม้  วิหารประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง  กุฏิสงฆ์  ศาลาการเปรียญ  และศาลาโรงทาน  และได้ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.  2312  ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี  และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ  พ.ศ. 2471
 
 



บุตร  หลาน  เหลน  ของท่านที่สร้างวัดนี้ได้บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ  ของวัดเพิ่มเติมสืบกันต่อๆ มา  เท่าที่ทราบรายชื่ออยู่ปัจจุบัน  คือ  
 


นายเหม็น – นางสะอิ้ง  นายสน – นางเพี้ยน  นายสุวรรณ – นางจับ  (ต้นตระกูลสมสุวรรณ) 

พระสินธุชลสงคราม (เผื่อน ณ บางช้าง) และคุณหญิง (จันทร์ ณ บางช้าง)

พลเรือเอกพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) และคุณหญิง (จง แสงชูโต) ฯลฯ
 
 


จนกระทั่งลูกหลานเหลนของท่านเหล่านี้ได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดนี้ต่อๆ  กันมาจนถึงทุกวันนี้


 
 
 

พระอุโบสถ  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี  หลังคากระเบื้องเคลือบ  ประดับด้วยช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์  คงได้รับการบูรณะมาตลอด  















 
หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑประกอบด้วยลายกนก



 
พระอุโบสถทำทางเดินคล้ายสะพานเพื่อเข้า – ออก  พระอุโบสถ  คงทำไว้ถ้าเกิดน้ำท่วม  เป็นอยู่ใกล้แม่น้ำ













 
สิ่งที่น่าสนใจของ  
วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  คือ วิหารพระพุทธบาท  4  รอย  ครับ
 
 
 
มีเรื่องเล่ากันว่า 
วิหารพระพุทธบาท  4  รอย  หลังนี้สร้างขึ้นมาพร้อม ๆ  กับการสร้างวัดแต่ว่ายังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย  กระทั่งในรัชกาลที่  2  มีเชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่งในราชวงศ์จักรีได้ออกผนวชและได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม  ท่านจึงได้สร้างวิหารต่อให้เสร็จสมบูรณ์
 



 
ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีน  หลังคาทรงทึบ  ด้านหน้ามีพาไลสำหรับกันฝน  หลังคามุงกระเบื้องดินเผา  ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นรูปบุคคลขนาดใหญ่  2  คน  คนหนึ่งนั่งเก้าอี้  อีกคนหนึ่งยืน  แต่งกายคล้ายทหารชาติตะวันตกทั้งสองคน  และลวดลายพันธ์พฤกษา













 
 
 





โครงสร้างวิหารก่ออิฐถือปูนทึบ  ไม่มีเสา  ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักเครื่องหนังคา   ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ  1  ช่อง  ซุ้มหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น  กรอบหน้าต่างเป็นรูปไข่







 
 




 
ด้านหน้าและหลังมีประตูทางเข้า  กรอบซุ้มประตูเป็นรูปกลมเหมือนกรอบซุ้มประตูในศิลปะจีนประดับด้วยลวดลายดอกไม้  มีซุ้มประตูทั้งทางด้านน้าและด้านหลังทำเป็นปูนปั้นลักษณะคล้ายเก๋งจีน  2  ชั้น  ทาสีสวยงาม  มีบันไดทางขึ้นเป็นรูปครึ่งวงกลม 














 
 
ทางด้านหน้ามีรูปตุ๊กตาทหารปูนปั้น   (สังเกตดีๆว่ามีเสื้อผ้า  เครื่องแต่งกาย  คล้ายๆทหารในปัจจุบัน)  ด้านหลังเป็นรูปปั้นตุ๊กตาแบบจีน 









 

 
ด้านในกลางพระวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไม้ขนาดใหญ่ประดับมุก  4 ­ รอยซ้อนกัน  มีจารึกว่า  ”ขุนรองจ่าเมืองและอุบาสิกาทรัพย์” 











 



 
ฝาผนังโดยรอบด้านล่างจะมีซุ้มโค้งประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่าง ๆ  











 
 

ด้านบนมีภาพปูนปั้นนูนสูงทาสีปิดทองตกแต่ง  โดยเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ดังนี้


 
 
ภาพพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่  ณ  สถานที่ต่าง ๆ  คือ  ภูเขาสุวรรณมาลิก  ภูเขาสุวรรณบรรพต  ภูเขาสุมนกูฏ   เมืองโยนกนคร  และที่หาดทรายแม่น้ำนัมทานที









 
 









ภาพราตรีสุดท้ายก่อนทีพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานที่  สาลวโนทยาน   เมื่องกุสินารา  มีพุทธบริษัทเข้ารับปัจฉิมโอวาท และภาพโปรดสุภัททปริพาชก ปัจฉิมสาวก
 
 











ภาพหีบพระบรมศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีพระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระสงฆ์  และพุทธบริษัทเข้าถวายพระเพลิง










 
 
ภาพพุทธประวัติรวมๆ หลายปาง เช่น ปางชักผ้าบังสกุล ฯลฯ












 



 
รู้สึกว่าภาพปูนปั้นแบบนูนสูงประดับตกแต่งฝาผนังแทนภาพวาดอย่างที่นิยมกันจะมีอีกที่นึงที่เคยไปชมมาคือที่  วัดไผ่ล้อม  (ร้าง)  กลางเมืองเพชรบุรีนะครับ  แต่ที่  วัดไผ่ล้อม  (ร้าง)  เป็นฝีมือช่างในสมัยปลายๆอยุธยาครับ  แต่ที่  วิหารพระพุทธบาท  4  รอย  วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นประมาณต้มรัตนโกสินทร์ครับ
 
 

 
รูปแบบของสถาปัตยกรรม  สันนิษฐานวาคงจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที4  และมีเรื่องเล่ากันว่า  ในพระวิหารเดิมปูด้วยแผ่นเงิน  แต่ได้สูญหายไปสมัยสงครามโลกครั้งที่  2
 
 




 พระวิหารแกลบ  ลักษณะเป็นอาคารก่อออิฐถือปูนขนาดเล็กหลังคาเครืองไม้มุงกระเบื้อง  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงลงรักปิดทองขนาดใหญ่  ประทับนัง  แสดงปางมารวิชัย  ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น   โดยรอบวิหารแกลบมีระเบียงเตี้ยๆ  ก่ออิฐถือปูน













 
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตทีดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที  4  ตอนพิเศษ  ลงวันที  4  ธันวาคม  2539
 



 
 
เจ้าของบล็อกติดใจศาลาการเปรียญเก่า และศาลาโรงทานเก่ามากครับ  คลาสสิคที่สุดเลยครับ
 
 



 
ครั้งแรกที่ได้มาที่
  วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  เป็นตอนเย็นๆ  เกือบจะโพล้เพล้แล้วครับ  เจ้าของบล็อกเห็นศาลาการเปรียญเก่าก็ถูกใจมาก  จะเดินเข้าไปถ่ายรูปให้ทั่วๆ  เผอิญสายตาเหลือบไปเห็น  “ผ้าขาวสีหม่นๆ”  เจ้าของบล็อกตัวชาวาบบบบบบบบบ  ก้าวขาไม่ออกเลยครับ  .....  จนคนที่ไปด้วยกันช่วยมองให้ถึงได้รู้ว่าเป็นมุ้งเก่าๆ  ใครคงเอามาแขวนไว้  ..............  แต่เจ้าของบล็อกก็ไม่กล้าเดินเข้าไปถ่ายรูปแล้วครับ  เลยเดินทางกลับ  จนอีกหลายๆเดือนถึงได้กลับไปที่  วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  อีกครั้ง  คราวนี้ไปถึง  วัดบางกะพ้อม  อัมพวา  ตอนเที่ยงๆกันเลยครับ  มองดูจนทั่วแล้วก็ไม่ใครอุตริเอามุ้งไปแขวนไว้ที่ศาลาการเปรียญเก่าแล้ว  ถึงได้กล้าเดินขึ้นไปถ่ายรูป  ถึงการนั้นก็ตามครับ  พอเจ้าของบล็อกก้าวขึ้นไปบนศาลาการเปรียญเก่า  รู้สึกอากาศมันเย็นๆผิดปกติครับ  และรู้สึกเสียวสันหลังวูบๆ  วาบๆ  ตลอดเวลาที่อยู่บนศาลาการเปรียญเก่า  เลยรีบๆถ่ายรูป  แล้วยกมือขอโทษ  แล้วรีบลงมาครับ
 






















 
 
เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น.
 
 
 
 
 
 

 
ขอขอบคุณท่านผู้มีรายนามต่อไปนี้ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระขึ้นอีกเยอะเลยครับ




 
วัดบางกะพ้อม  -  สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม

 
กราบ “หลวงพ่อคง” องค์ใหญ่ อิ่มบุญสุขใจที่วัดบางกะพ้อม - ผู้จัดการออนไลน์

 
วัดบางกะพ้อม - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
สักการะ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม วัดดัง สมุทรสงคราม ไหว้พระใกล้กรุงเทพ – AungAoey
 




 







134136139
Create Date :07 กันยายน 2565 Last Update :7 กันยายน 2565 12:29:08 น. Counter : 1658 Pageviews. Comments :9