bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อัมพวา สมุทรสงคราม, สมุทรสงคราม Thailand
พิกัด GPS : 13° 25' 30.69" N 99° 57' 8.92" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 
 





บล็อก  “ท่องเที่ยวไทย”  ในปีนี้ก็ยังเป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้เคยไปเที่ยวมามาโพสเหมือนปีที่แล้วครับ  เนื่องจากเจ้าของบล็อกกักตัวเองอยู่กับบ้านมาเป็นปีแล้วครับ  ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น
 
 
 
 
 
ในบล็อก
“ท่องเที่ยวไทย"  บล็อกนี้  เจ้าของบล็อกขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่โบราณสถานกันบ้างนะครับ  เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง  เดี๋ยวจะเบื่อซะก่อน
 
 
 




 
วันนี้จะพาไปเที่ยวสถานทีท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่ไม่ไกลจากรุงเทพฯ  ครับ  สถานที่ท่องเที่ยวที่เจ้าของบล็อกจะพาไปเที่ยวในบล็อกนี้เป็นทั้งสถานทีท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์  เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประเภทอุทยานสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วยครับ  ....  อยากรู้แล้วใช่มั๊ยครับว่าเจ้าของบล็อกจะพาไปเที่ยวที่ไหน  ....  เลื่อนลงไปอ่านกันเลยครับ  .....
 
 
 






 
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 
อัมพวา  สมุทรสงคราม

 
 
 
 
 




อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากสั้นๆ  ว่า  อุทยาน ร.2   ตั้งอยู่ที่ถนนอัมพวา  ตำบลอัมพวา  อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม  ติดริมแม่น้ำแม่กลอง อยู่ใกล้ๆตลาดน้ำอัมพวา  และวัดอัมพวันเจติยาราม   
 
 
 










 
 

อุทยาน ร.2  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น  11  ไร่   พระราชสมุทรเมธี  อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม  เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย   ซึ่งที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นอาณาเขตสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่  2   (ว่ากันว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่  1  ดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตร  เมื่อได้สมรสกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี  (พระนามเดิม  นาค)  ธิดาเศรษฐีมอญเมืองอัพวา  ได้ปลูกเรือนอยู่หลังวัดอัมวันเจติยาราม  ซึ่งมีอาณาเขตต่อเนื่องกับ  อุทยาน ร.2 นี้  และยังเชื่อกันอีกด้วยว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดอัมวันเจติยาราม   เป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งทรงให้มีการบูรณะวัดอัพวันเจติยารามครั้งใหญ่  และและทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  สมเด็จพระบรมชนกนาถมาบรรจุไว้ในพระปรางค์) 
 
 




 
การเดินชม 
อุทยาน ร.2  ทั้งเนื้อที่ประมาณ  12  ไร่  เราต้องออกแรงเดินกันมากหน่อยนะครับ  เพราะเจ้าหน้าที่เค้าให้จอดรถไว้ด้านหน้า  พอซื้อบัตรเข้าชมแล้วต้องเดินเท้าเข้าไปครับ  บรรยากาศร่มรื่นมากครับ  อาจจะมีแดดร้อนบ้าง  ได้เหงื่อบ้าง  แต่ก็มีร่มไม้ใหญ่ๆอยู่ตลอดเส้นทางครับ  มีจุดให้แวะพักตามรายทางให้ได้นั่งพัก








 
 




 
ภายใน  
อุทยาน ร.2  มีสิ่งที่น่าสนใจคือ  เรือนไทยหมู่ 5 หลัง 
 


 
 

 เรือนไทยหมู่ 5 หลัง  นี้  จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  แสดงศิลปวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยโบราณ  ......   เจ้าของบล็อกไม่ได้ถ่ายรูปภายในมาให้ดูนะครับ  เพราะบางห้องก็ห้ามถ่ายรูป  บางห้องให้ถ่ายรูปได้แต่หุ่นที่ใช้จัดแสดงก็ดูน่ากลัวอยู่ครับ  ....  อิอิอิ  เลยถ่ายแต่ภาพเรือนไทยรวมๆมาให้ดูครับ

























 
 

 เรือนไทยหมู่ 5 หลัง  นี้มีความสวยงามได้สัดส่วนเป็นอย่างมาก  จนได้ไปปรากฏเป็น  location  ในการถ่ายทำภาพยนต์อยู่เนืองๆ  เท่าที่เจ้าของบล็อกจำได้ก็มีภาพยนตร์เรื่อง  เรือนมยุรา  ที่นำแสดงโดย  พี่ตั้ว  ศรัญญู  วงษ์กระจ่าง  ผู้ล่วงลับ  และ  พี่นุส  นุสบา  วานิชอังกูร  ปุณนกันต์  ครับ
 
 












 
ด้านหน้าของ 
เรือนไทยหมู่ 5 หลัง  เป็นสนามกว้าง  แต่มีพื้นที่เป็นเนินลดหลั่นสูงๆต่ำๆ ตรงบริเวณรอบๆ  คือ  โรงละครกลางแจ้ง  สำหรับใช้จัดการแสดงโขน ละคร  ดนตรี  ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  นอกจากนี้ยังใช้ในการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในโอกาสต่างๆ  งานสำคัญที่จัดกันเป็นประจำทุกปีก็คือ  งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ช่วงเดือนกุมภมพันธ์ของทุกที  จะมีการแสดง  โขน  ละคร  โดยนักแสดงจากกรมศิลปากร  อย่างยิ่งใหญ่  อลังการ  ที่  โรงละครกลางแจ้ง  ทุกปี   และที่สำคัญคือ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จฯ  เป็นองค์ประธาน  ประทับทอดพระเนตรการแสดงจนจบทุกปีเลยครับ
 
 


 
 
เดินถัดจาก 
เรือนไทยหมู่ 5 หลัง  เข้าไปหาแม่น้ำแม่กลองทั้งสองข้างทางเดินเท้าร่มรื่นมากๆครับ  เหมือนเดินอยู่ในสวนผลไม้สมัยโบราณ  มีทั้งต้นหมาก  ต้มมะพร้าว  ผลไม้  ไม้ยืนต้นหายาก  นานาชนิด  ตามที่เค้าบอกเอาไว้ในอินเตอร์เนท  มีพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดกว่า  140  ชนิด  เชียวครับ  บางชนิดเจ้าของบล็อกก็เคยได้ยินแต่ชื่อนะครับ  ไม่เคยเห็นต้นจริงๆเลย   เช่น  ยี่สุ่น  ช้างโน้ม  ทับทิมหนู  สารภี
 












 
 
ที่สำคัญ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี   โปรดเกล้าฯ  ให้นำ 
มะพร้าวพญาซอ  นำมาปลูกไว้ภายใน  อุทยาน  ร.2  ด้วย  เป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก  ซึ่ง  มะพร้าวพญาซอ  เป็นมะพร้าวพันธุ์หายาก  ที่นำ  กะโหลกมะพร้าว  (ลูกมะพร้าว)  มาทำเป็นกะโหลกซออู้และซอสามสายครับ 
 
 



 
นอกจากนี้ทั่วทั้งบริเวณ  อุทยาน ร.2  ยังมีตั้งแสดง
ประติมากรรมตัวละคร  ในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาทิ รูปหล่อตัวละครเรื่องสังข์ทอง  ไกรทอง   รามเกียรติ์  เป็นต้น









 
 
 





ส่วนสุดท้ายของ  อุทยาน ร.2  คือส่วนที่อยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง  เป็นส่วนที่ร่มรื่น  มีทิวทัศน์สวยงามไม่แพ้ส่วนอื่นๆของ  
อุทยาน ร.2    เลยครับ  นอกจากนั้นเรายังได้รับลมแม่น้ำเย็นๆ  พัดมาตลอดเวลา  ทำให้ชื่นใจ  คลายร้อน  ได้อีกด้วยครับ
 




 









ที่ริมตลิ่งตลอดพื้นที่ของ 
อุทยาน ร.2  จะปลูก  ต้นลำพู  เอาไว้ให้ได้ศึกษากันครับ  สังเกตได้จากต้นลำพูจะมีรากอากาศรอบโคนต้น  คล้ายๆกับต้นไม้ในป่าโกงกางครับ  เพราะต้นลำพูชอบขึ้นอยู่บริเวณชายน้ำ  ต้องเจอกับน้ำขึ้น – น้ำลง  ตลอดเวลา  จึงต้องมีรากอากาศไว้ช่วยจับสารอาหารที่จำเป็นที่ลอยมาตามน้ำครับ 









 
 
 



 
การเดินทางมา 
อุทยาน ร.2   สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข  35  (ถนนพระราม  2)  ถึงกิโลเมตรที่  63  เลี้ยวขวาเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม  แล้วขับรถไปทางอำเภออัมพวา  (มีป้ายบอกตลอดทาง)
 
 
 




ขออัญเชิญเพลงไทยเดิม 
"บุหลันลอยเลื่อน"  อันเป็นป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาให้ฟังด้วยครับ
















ขอขอบคุณท่านผู้มีอุปการคุณสำหรับข้อมูล  ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ



 
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.๒)

 
อุทยาน ร.2 อัมพวา – ไปด้วยกัน.คอม

 
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) – มิวเซียมไทยแลนด์.คอม
 
 











134133136
Create Date :06 มิถุนายน 2565 Last Update :6 มิถุนายน 2565 11:17:34 น. Counter : 816 Pageviews. Comments :20