bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลอภัยภูเบศร, ปราจีนบุรี Thailand
พิกัด GPS : 14° 3' 15.65" N 101° 23' 42.45" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม



 
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
 


 

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  เลขที่  32/7  หมู่ 12  ถนนปราจีนอนุสรณ์   ต.ท่างาม  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  โดยตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำบางปะกงครับ
 


 
 
ในปี  พ.ศ. 2452  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  (ชุ่ม อภัยวงศ์)  ว่าจ้างบริษัท  โฮวาร์ด เออร์สกิน  สร้างตึกเพื่อใช้เป็นที่ประทับแรม  รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมิ่อเสด็จฯ  มายังมณฑลปราจีนบุรี  จะได้สมพระเกียรติ   แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. 2453
 
 



ในปี  พ.ศ. 2455  ตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
 



เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  (ชุ่ม อภัยวงศ์)  ถึงแก่อสัญกรรม 
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพระยาอภัยวงศ์วรเศรฐ  และถวายเป็นของทูลพระขวัญ  ในวันอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6  (พระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ ทรงมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร)  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานบ้านและที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
 
 



ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ขณะพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับที่ประเทศอังกฤษ ได้พระราชทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดนั้นแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็นที่ทำการโรงพยาบาลปราจีนบุรี  เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีพระประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้พระราชทานนามใหม่เป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 โดยสมเด็จเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จฯ มาทรงเปิดป้าย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมทั้งทรงรับโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ของทั้งสองพระองค์












 
 





ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  เป็นตัวอย่างของอาคารแบบตะวันตกที่สร้างขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับศิลปะแบบ French Baroque ผสมผสานกับลวดลายปูนปั้นที่เลียนแบบศิลปะแบบ Rococo โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่สร้างขึ้นก่อนในเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา อาคารนี้เป็นที่ระลึกถึงความจงรักภักดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าเมืองพระตะบองในขณะนั้น ที่อพยพผู้คนจากเมืองพระตะบองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและตั้งถิ่นฐานในจังหวัดปราจีนบุรีในคราวที่สยามจำต้องสูญเสียดินแดนพระตะบองเพื่อแลกกับจันทบุรีและตราดภายหลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112
 



 

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร   เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบยุโรปความสูง  2  ชั้น หลังคาทรงบั้นหยา  มุงกระเบื้องสี่เหลี่ยมเล็ก   ด้านหน้าของทั้ง 2 ชั้นมีโถงระเบียงซึ่งยื่นออกมารองรับหน้าบันที่ชั้นหลังคาโดยมีโดมเตี้ยๆอยู่เบื้องหลัง ส่วนของหน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปต้นไม้และใบไม้  มีเครื่องบอกทิศทางลมด้วยโลหะรูปไก่อยู่บนส่วนบนของอาคาร  ซุ้มประตูหน้าต่าง ขื่อ  คาน  เสา  ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายใบไม้ม้วนช่อดอกไม้ม้วนลายขมวดก้นหอย ลายหน้าสิงห์ ลายรูปช้าง พื้นอาคารทุกห้องปูด้วยกระเบื้องโมเสคลวดลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมตั้งแต่สร้างตึกเสาบันไดทำเลียนแบบเสาโรมัน และระเบียงราวบันไดเป็นไม้แกะสลักลวดลาย เพดานห้องมีภาพเขียนสีแบบปูนเปียกหรือ fresco ซึ่งแต่ละห้องจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน
 




















 
ส่วนด้านในตึกแบ่งออกเป็น  4  ห้องได้แก่



 
1. ห้องแสดงประวัติของเจ้าพระยาภัยภูเบศร์  (ชุ่ม อภัยวงศ์)











 
2. ห้องที่สองเป็นห้องที่งดงามที่สุดคือ  ห้องโถงกลางชั้นล่าง  ซึ่งยังคงลักษณะการตกแต่งภายในเป็นแบบเดิมอยู่ครบถ้วนตั้งแต่ลวดลายกระเบื้องปูพื้นภาพเขียนสีปูนเปียก  (fresco)  บนเพดานและลายปูนปั้น ปัจจุบันใช้เป็นห้องโถงที่จัดแสดงรูปปั้นของเจ้าพระยาภัยภูเบศร์  (ชุ่ม อภัยวงศ์) และพระฉายาลักษณ์ของ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นหลานและเหลนของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และยังมีการจัดแสดงของใช้ประจำตัวของท่านที่น่าสนใจ  เช่น  ตราประทับของท่านที่ทำมาจากงาช้าง กระดุมเสื้อที่สลักเป็นรูปไก่ และตะเกียงโบราณ

















 
3.  ห้องชั้นล่างซีกซ้ายของอาคารจัดรวบรวมเครื่องมือเทคโนโลยีในการผลิตยาในอดีต  เช่น  หินบทยาในสมัยทวารวดี  ครกบดยา  รางบดยา  มีดหั่นสมุนไพรแห้ง  และยังมีการจัดแสดงตัวอย่างสมุนไพรและเครื่องดองที่มีใช้ในอดีต เช่น รากของว่านสาวหลง จะมีกลิ่นหอม  คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าเพียงแต่ใครพกติดตัวไปทิศทางใดผู้ที่ได้กลิ่นก็จะงงงวยและหลงใหลอย่างยิ่ง สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักคือสาบแร้งสาบกาทั้งต้นสามารถแก้ไข้  นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังมีเขาสัตว์ชนิดต่างๆกระดูกและแร่ธาตุที่ใช้ในการรักษาอีกด้วยในห้องนี้ยังมีการรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หมอยาเคารพนับถือ และมีดหมอหลวง ในอดีตซึ่งผู้ที่จะเป็นหมอยาพื้นบ้านได้นั้นต้องมีความอดทนขยันมีคุณธรรมและต้องเป็นผู้ที่มีศิลเพราะการรักษาของหมอยา เป็นการใช้สมุนไพรรักษาควบคู่ไปกับคาถาเวทมนตร์ต้องมีการบูชาครูทุกครั้งที่มีการรักษาผู้ป่วย
 















4. ชั้นบนของอาคารได้จัดแสดงเกี่ยวกับความรู้ตำรับตำรายาไทยโบราณตำราดั้งเดิมของไทยที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์มีตั้งแต่คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทยสมุดข่อยและหนังสือหายากจำนวนมากกว่า 200 เล่ม ฉบับที่เป็นคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยมีอายุร่วม 100 ปีเขียนด้วยลายมือภาษาโบราณ เช่น อักษรขอม ไทยน้อย ภาษาบาลีเป็นต้น ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่ตามระบบการจัดเอกสารโบราณและได้รับการซ่อมแซมเพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่กับคนไทยตลอดไป
 





เดิม 
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ถูกใช้เป็นตึกอำนวยการของโรงพยาบาล   ได้มีการดัดแปลงทำชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค  ห้องจำหน่ายยา  และห้องผ่าตัด  ชั้นบนทำหน้าที่รับคนไขัหญิง  โดยมีเรือนคนไข้ชายแยกต่างหาก  มีเตียงรับคนไข้ 50 เตียง  มีโรงประกอบอาหารคนไข้  โรงซักฟอก  ที่เก็บศพ  เรือนพักคนงาน บ้านพักนายแพทย์  อย่างละ 1 หลัง  บ้านพักพยาบาลอีก 3 หลัง การเข้าถึงโรงพยาบาล เข้าได้ทางเรือเพียงอย่างเดียว จนมีการสร้างถนนขึ้นในปี พ.ศ. 2486 จนถึงปี พ.ศ. 2512 ตึกอำนวยการในปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จ  ส่วนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้ในการประชุมสัมมนาในบางกรณี
 
 





โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดปราจีนบุรี  และเป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค  มีการนวด  อบ ประคบ  และฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์  และเครื่องสำอาง
 




 
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533  นอกจากนี้ 
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ยังได้รับรางวัลพระราชทานอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2542 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  (พระยศในขณะนั้น)
 
 
 
 



ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีสำหรับข้อมูลครับ


 
 
ตำนานอภัยภูเบศร เล่าขานตำนานแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร – museumthailand.com

 
โรงพยาบาลอภัยภูเบศร

 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร – วิกิพีเดีย

 
ตึกอภัยภูเบศรให้ชมอีกครั้ง ลายกุหลาบค้นพบใหม่ – thaipost.net

 
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 
 

 
136136136


 
Create Date :24 กรกฎาคม 2566 Last Update :24 กรกฎาคม 2566 13:10:05 น. Counter : 763 Pageviews. Comments :9