bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดโพธิ์ประทับช้าง พิจิตร, พิจิตร Thailand
พิกัด GPS : 16° 18' 10.34" N 100° 18' 56.63" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม






สถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ไปเที่ยวมาเป็นแห่งสุดท้ายในทริป  น่าน – แพร่ – พิษุณุโลก – พิจิตร  เมื่อปลายปีที่แล้วครับ  สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ในจังหวัดพิจิตร  เราเดินทางไปเที่ยวชมกันก่อนที่จะกลับบ้านครับ
 
 



วัดโพธิ์ประทับช้าง  จังหวัดพิจิตร
 



 
วัดโพธิ์ประทับช้าง 
ตั้งอยู่ที่ ริมฝั่งแม่น้ำน่านเก่า ด้านทิศตะวันออก ห่างจากที่ทำการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ประมาณ 7 กิโลเมตร  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิจิตร-วังจิก ก่อนถึงวังจิก 2 กิโลเมตร มีทางแยกซ้าย เข้าสู่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ก่อนถึง อำเภอจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึง  วัดโพธิ์ประทับช้าง 
 


 
ตั้งอยู่เลขที่ 246 บ้านโพธิ์ประทับช้าง หหมู่ที่3 ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร







 

 
วัดโพธิ์ประทับช้าง 
เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242 - 2244   ในสมัยพระเจ้าเสือ   หรือ  พระนามอย่างเป็นทางการว่าสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี  (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพ่อเดื่อ  พระนามก่อนหน้านั้น) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 29  (เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงลำดับที่ 2)  ทรงครองราชย์ในช่วง พ.ศ.2246-2251  เพื่อเป็น อนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์   และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระเจ้าเสือในปี พ.ศ.2244
 
 


เล่ากันว่า  ...  ในสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช ระหว่างทางนางสนมคนหนึ่งเกิดเจ็บครรภ์และคลอดทารกเพศชาย ตรงลานระหว่างต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อ  ทรงให้นำรกเด็กน้อยไปฝังไว้ใต้ต้นมะเดื่อ  ซึ่งภายหลังได้ขึ้นครองแผ่นดินอยุธยา และทรงพระนามว่า พระเจ้าดอกเดื่อ ตามชื่อต้นไม้ที่ทรงมีประสูติกาล  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกเด็กชายให้เป็นลูกให้พระเพทราชา   ต่อมานายเดื่อได้รับราชการเป็นขุนสรศักดิ์  
 
 


เมื่อใกล้สิ้นรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ขุนสรศักดิ์ก็ได้คบคิดกับพระเพทราชาทำการยึดอำนาจแล้วสถาปนาพระเพทราชาขึ้นเป็นกษัตริย์  ส่วนตนเองได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และในปีพ.ศ.2246 จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์  รู้จักกันต่อมาว่าพระเจ้าเสือ(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่8)
 
 


 
วัดโพธิ์ประทับช้าง 
  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า โบราณสถานจึงหันหน้าลงสู่แม่น้ำน่านที่อยู่ทางทิศตะวันตก เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ มีพระอุโบสถเป็นประธานอยู่กึ่งกลางเขตพุทธาวาส จากข้อมูลสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บอกลักษณะแผนผังการใช้พื้นที่ แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ เขตพุทธวาส และเขตสังฆาวาส  โดยมีกำแพงแก้วก่ออิฐสูงใหญ่และคูน้ำแบ่งขอบเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาสออกจากกันอย่างชัดเจน
 
 



เขตพุทธาวาส ล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเข้า 4 ด้าน ภายในกำแพงประกอบด้วย พระอุโบสถ (ประธานของวัด หันหน้าลงสู่แม่น้ำน่านเก่าทางด้านทิศตะวันตกไหลผ่าน เส้นทางคมนาคมในสมัยนั้น) เจดีย์คู่ ปรางค์ราย มณฑป ศาลาราย และฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขนาดเล็กเรียงรายอยู่ข้างกำแพง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจดีย์รายหรือแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ที่นอกกำแพงด้านทิศเหนือมีฐานอาคารเล็ก 1 หลัง น่าจะเป็นวิหารน้อย และด้านทิศใต้ยังมีวิหารและเจดีย์รายอีก 1 องค์
 


 

ซุ้มประตูวัด มีขนาดสูงใหญ่ รูปทรงแบบซุ้มประตูวัดราชบูรณะ และวัดสำคัญอื่นๆในจังหวัดอยุธยา







 









พระอุโบสถ  ผังของ วัดโพธิ์ประทับช้าง สร้างให้พระอุโบสถเป็นประธานของวัดตามคติการสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนปลายที่นิยมสร้างพระอุโบสถเป็นประธานแทนพระมหาธาตุ   ลักษณะทางสถาปัตยกรรมรูปแบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย   ตั้งอยู่บนฐานไพทีสูงมีกำแพงล้อมรอบ  ลักษณะของวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ขนาด  7  ห้อง  อุโบสถมีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร (รวมมุขเด็จหน้า-หลัง)  ลักษณะฐานแอ่นโค้งอยุธยาตอนปลาย 












 









พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังก่ออิฐหนาเกือบเมตรเพื่อรองรับน้ำหนักโครงหลังคาร่วมกับเสา หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง  ด้านหน้ามีประตูทางเข้าพระอุโบสถ  2  ประตู  และมุขเด็จด้านหน้า  ด้านหลังพระอุโบสมีประตู  2  ประตูและมูขเด็จแต่ไม่มีประตูกลาง  กรอบประตูตกแต่งด้วยซุ้มยอดบุษบก  ผนังอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นช่องแสงแคบๆ ให้แสงสว่างเข้าด้านใน มีเสาร่วมรับน้ำหนักโครงสร้างเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุม ซุ้มหน้าต่างบางซุ้มยังเหลือร่องรอยของลวดลายกนกก้านขดและลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับซุ้มอยู่  ลวดลายที่ประดับรอบๆกรอบซุ้มหน้าต่างคล้ายๆกับที่วัดกุฎีดาว  จ.อยุธยา   นอกอุโบสถมีใบเสมาขนาดเล็กทั้ง 8 ทิศ  เป็นเสมาหินชนวน  ที่เอวแกะเป็นตัวเหงากนกเปลวพลิ้วสวยงาม  มีแถบเส้นขนาดใหญ่ บริเวณกลางใบเสมา เรียกว่า “นมเสมา” ใบเสมาตั้งอยู่บนแท่นฐานก่ออิฐย่อมมุมสิบสองเป็นฐานสิงห์ ใบเสมานี้มีลักษณะคล้ายกันที่วัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ในพระนครศรีอยุธยา





















    




ตรงนี้น่าจะทำไว้สอดคานประตูครับ  จะเห็นถึงความหนาของผนัง  และเห็นว่าไม่ที่ทำคานประตูท่อนใหญ่มาก










 





 
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นองค์ใหญ่บนฐานชุกชีที่สูงมาก ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโต  หรือ  หลวงพ่อยิ้ม  หน้าตักกว้าง 4 ศอก กว้าง 5 ศอก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประทับบนชุกชี ฐานสิงห์ย่อมุมสิบสอง   เป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดโพธิ์ประทับช้าง มีอายุได้  300  ปีเศษ ซึ่งองค์ปัจจุบันนี้เป็นการซ่อมแซมบูรณะขึ้นใหม่หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากการ ถูกต้นไม้แถบบริเวณนั้นโค่นทับจนเศียร และองค์พระหักลงได้รับความเสียหาย ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อหลายสิบปี แต่ก็ยังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือสืบมา













 
มุมพระอุโบสถด้านหน้ามี 
พระปรางค์  2  องค์ขนาบซ้ายขวาด้านละองค์องค์ด้านขวาพังทลายลง พระปรางค์เป็นแบบอยุธยาตอนปลายสูงเพรียวชลูด องค์ที่พังลงยังเห็นรูเสียบแกนไม้ชัดเจน  รูปแบบทางสถาปัยกรรมคล้ายคลึงกับพระปรางค์ที่วัดบรมพุทธาราม  จ.อยุธยา



แต่พระปรางค์องค์ด้านซ้ายยอดหักหล่นลงมาบนฐานไพที















ปรางค์องค์ขวามือสมบูรณ์กว่า











ข้างพระอุโบสถมี
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสร้างอยู่บนฐานเดียวกัน  คู่กัน  ฝั่งละ  2  องค์  ที่ฐานพระปรางค๋์และเจดีย์เจาะช่องโดยรอบ  อาจจะเอาไว้วางตะเกียงประทีป














 
 
มุมกำแพงแก้วด้านหน้ามี
ศาลารายทั้ง  2  ด้าน  (ซ้าย – ขวา)  ลักษณะเป็นศาลาโถง  ไม่ก่อผนัง











 

มณฑป  ตั้งอยู่ทางด้าขวาของพระอุโบสถ  ระหว่างศาลาโถงและพระปรางค์  สัณนิษฐานว่าอาจประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระพุทธบาทไม่แน่ใจเพราะไม่เหลือร่องรอย











ด้านนอกทางซ้ายของกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถมี
พระเจดีย์ที่หักพังจนเหลือแต่ฐานชั้นล่างซึ่งเป็นฐานสิงห์  ทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง










 
ด้านหลังพระเจดีย์เป็น 
พระวิหาร  เป็นอาคารก่ออิฐ  2  ชั้น  หันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ผนังด้านทิศเหนือ – ใต้ชั้นล่างก่อช่องประตูด้านละ  3  ช่อง  ภายในชั้นล่างของอาคารพบแนวเสา  2  แนว  คาดว่าน่าจะใช้รองรับคานของพื้นชั้นที่สองที่ปูด้วยไม้กระดาน  ในชั้นที่สองก่อหน้าต่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  อาคารชั้นที่  2  ด้านทิศตะวันตกมียื่นออกไปคล้ายมุขเด็จ   รูปแบบของอาคารคล้ายอาคารทรงตึกที่เป็นที่นิยมสร้างกันตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมยุโรปและตะวันออกกลาง  ลักษณะเหมือนพระตำหนักคำหยาด อ่างทอง  นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้น่าจะเป็นตำหนักของพระเจ้าเสือ









 

ศาลาปลื้องเครื่อง เป็นอาคารก่อฐานสูงไม่มีบันไดขึ้นเพราะน่าจะเอาไว้เทียบพระราชยานแทนเกย








 


 
นอกคูน้ำด้านหน้าวัดคือ  
เขตสังฆาวาส  บริเวณด้านทิศเหนือมีแนวเสาอาคารขนาดใหญ่ขนาด  9  ห้อง  น่าจะเป็นศาลาการเปรียญล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วอีกชั้น  ด้านทิศใต้เป็นกลุ่มอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นหมู่กุฎิสงฆ์






 
 



 
ด้านหน้าพระอุโบสถนอกกำแพงแก้วมีต้นมะเดื่อซึ่ง  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงปลูก  เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินนำคณะอาจารย์และนักเรียนนายร้อย  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  ทัศนศีกษาในวันที่  23  มิถุนายน  2537










 
 
ปัจจุบันวัดโพธิ์ประทับช้าง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และกรมศิลปากรกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานไว้ทั้งสิ้น 69 ไร่ 1งาน 16 ตาราวา
 
 

 
วัดโพธิ์ประทับช้างเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ยังใช้สอยจนปัจจุบัน  แม้จะมีอายุกว่า 300 ปีแล้วก็ตาม
 
 
 
 
 
 
 
 



 
 

อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 


Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 
 

 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 

 



Chubby Lawyer Tour…….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน



 
139138137
Create Date :04 กรกฎาคม 2563 Last Update :4 กรกฎาคม 2563 15:03:24 น. Counter : 2886 Pageviews. Comments :15