bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดมหาธาตุ พิจิตร, พิจิตร Thailand
พิกัด GPS : 16° 24' 43.62" N 100° 17' 40.77" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม






สถานที่ท่องเที่ยวในบล็อกนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพิจิตรนะครับ  จะเป็นวัดโบราณทั้งสองวัดเลยครับ
 



 
 

วัดมหาธาตุ  พิจิตร
 
 






วัดมหาธาตุ  พิจิตร  ตั้งอยู่ภายในอุทยานเมืองเก่าพิจิตร  หรือ  สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร  บ้านท่าฉนวน   ต.โรงวัว  อ.เมือง  จ.พิจิตร  ทางใต้ก่อนถึงเมืองพิจิตรในปัจจุบันประมาณ  10  กิโลเมตร  มีพื้นที่รวมกว่า  400  ไร่
 


 
เมืองพิจิตรเก่านี้สันนิษฐานตามพงศาวดารเหนือ เรื่องพระยาแกรก  ว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.1601 โดยเจ้ากาญจนกุมาร ราชบุตรของพระยาโคตรบองเจ้าเมืองละโว้ที่ลี้ภัยมาสร้างเมืองชัยบวร  (บริเวณ ต.บ้านน้อย ต.บางคลาน อ.โพทะเล ในปัจจุบัน)  โดยเมืองพิจิตรที่เจ้ากาญจนกุมารสร้างนั้นตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า มีกำแพงเมือง 2 ชั้น ก่อด้วยอิฐล้อมรอบ มีป้อม ค่าย คู ประตูหอรบ ด้านเหนือยาว 10 เส้น ด้านใต้ยาว 10 เส้น ด้านตะวันตกยาว 35 เส้น  แล้วขึ้นครองเมือง  พระยาโคตรบองเทวราช
 
 



วัดมหาธาตุ  พิจิตร  สันณิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและมีการใช้งานต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง ก่อด้วยอิฐ  ตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองพิจิตรเก่า  ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า (ชาวบ้านเรียก แม่น้ำเมืองเก่า หรือ  แม่น้ำพิจิตร)   สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างคู่กับเมืองพิจิตร











 
สิ่งก่อสร้างหลักของวัดสร้างตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยจากรูปแบบแผนผังที่มีวิหารอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ซึ่งเป็นประธานของวัด และมีคูน้ำล้อมรอบตามความหมายของอุทกสีมานั้น เป็นรูปแบบของวัดที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย
 
 




พระวิหาร  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหน้าเจดีย์ประธาน (วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่แม่น้ำพิจิตรหรือแม่น้ำน่านสายเดิม)  มีขนาด 9 ห้อง  (รวมพื้นที่เป็นมุขหน้าขนาด  2  ห้อง)  ยกพื้นสูงขึ้นมา  ถ้าสังเกตุด้านข้างพระวิหารจะเห็นว่ามีแนวเสานอกผนังพระวิหาร  น่าจะเป็นแนวเสาที่รองรับชายหลังคาที่ลาดต่ำลงมาซึ่งเป็นลักษณะของวิหารที่นิยมสร้างในยุคสุโขทัย 


















 
เสาภายในเป็นเสาสี่เหลี่ยม  ด้านในสุดน่าจะเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน 
















เมื่อเดินเลยฐานชุกชีจะเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อกับฐานประทักษิณของพระเจดีย์  ตรงนี้น่าจะมีบันไดเพราะพื้นมีความต่างกันมาก  แต่ไม่น่าจะสร้างคนละคราวเพราะผนังพระวิหารยังต่อเนื่องกัน












 
 

เจดีย์ประธาน รูปแบบเจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังแบบสุโขทัย คือมีชุดบัวถลาสามชั้นบนฐานเตี้ยๆรองรับทรงระฆังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เหนือองค์ระฆังคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดพังลงมาเพราะเคยถูกต้นยางล้มฟาดจนปล้องไฉนหัก เมื่อปี พ.ศ.2479
 
 

ต่อมาในปี พ.ศ.2481 พระธาตุเจดีย์ส่วนที่เหลือก็พังลงมาเกิดโพรงทำให้เห็นว่ามีซุ้มจระนำ อยู่ภายในพระเจดีย์ มีพวงมาลัยร้อยด้วยลวดเงิน ลูกปัดเป็นหยก แต่ถูกคนร้ายขโมยไป
 


รอบพระเจดีย์มีฐานประทักษิณรอบพระเจดีย์  
 
 


พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหรือด้านหลังเจดีย์ประธาน อาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากในสมัยสุโขทัยยังไม่นิยมสร้างพระอุโบสถ ประกอบกับสมัยอยุธยานิยมสร้างพระอุโบสถในแนวเดียวกับวิหารและเจดีย์ ซึ่งสอดรับกันดีกับผลการขุดแต่งเนินโบราณสถานในปี พ.ศ.2534 ของกรมศิลปากรที่พบว่าวัดมหาธาตุมีสิ่งก่อสร้าง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานพระอุโบสถ










 








บริเวณโดยรอบพบเจดีย์รายจำนวนมากและแนวกำแพงขนาดใหญ่







 
 





ในปี พ.ศ.2495 ทางกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นเจดีย์ประธาน พบแผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณ 2 แผ่น ได้ความว่า “สุนทร” ที่อาจเกี่ยวกับคำว่า “พิจิตร” ซึ่งแปลว่างามเหมือนกัน
 


จากการพิจารณาตัวอักษรบนแผ่นอิฐโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่เข้าไปตรวจสอบวัดมหาธาตุในปี พ.ศ.2495 นี้ กำหนดอายุตัวอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 18
 


โบราณวัตถุชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ได้จากภายในองค์เจดีย์ประธาน คือ พระสุพรรณบัฏ จารึกอักษรขอมโบราณ ปรากฏชื่อ “เมืองสระหลวง” ในปี พ.ศ.1959  ซึ่งตรงกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ที่สันนิษฐานว่าคือเมืองพิจิตรเก่า
 


พระสุพรรณบัฏ หรือลานทอง เป็นแผ่นทองคำกว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 14.2 เซนติเมตร ข้อความที่ปรากฏเป็นประกาศพระบรมราชโองการ เลื่อนพระสมณศักดิ์ภิกษุรูปหนึ่งของวัดมหาธาตุ
 


โบราณวัตถุอื่นๆที่พบก่อนกรมศิลปากรเข้าพื้นที่เท่าที่พอสืบค้นได้ คือ พระเครื่องชนิดต่างๆ ได้แก่ พระบุเงิน บุทอง ใบตำแย ใบมะยม พระแก้วสีต่างๆ พระแผง พระบูชาขนาดต่างๆ เทวรูปประจำทิศโลหะ เสลี่ยงเล็กๆ ผอบ บาตร พวงมาลัยหยกร้อยด้วยลวดเงินลวดทอง แผ่นอิฐปิดทองขนาดใหญ่ 25x75x15 เซนติเมตร
 


ดังนั้นอาจสรุปลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดมหาธาตุ จังหวัดพิจิตรตามหลักฐานทางโบราณคดีได้ว่า อาจเป็นโบราณสถานที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างที่มีซุ้มจระนำภายในเจดีย์ทรงระฆัง แผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณ และประวัติการสร้างเมืองพิจิตรเก่าโดยเจ้ากาญจนกุมาร หรือพระยาโคตรบองเทวราช ต่อมาในสมัยสุโขทัย จึงมีการปฏิสังขรณ์โดยพอกเจดีย์ทรงระฆังทับ สร้างพระวิหาร และขุดคูน้ำล้อมรอบ เนื่องจากเมืองพิจิตรเก่านี้มีความสำคัญเป็นหัวเมืองเอกของสุโขทัย ดังปรากฏชื่อเมืองสระหลวงในจารึกสมัยสุโขทัย จนกระทั่งในสมัยอยุธยามีการสร้างพระอุโบสถต่อเติมที่ด้านหลังวัดมหาธาตุในแนวแกนของสิ่งก่อสร้างหลัก โดยปรากฏชื่อเมืองพิจิตร ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์
 
 
 
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของวัดนี้เมื่อพ.ศ.2478
 
 
 













 

อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 



Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 
 
 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 
 



Chubby Lawyer Tour ………………….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน
 

 
 
Create Date :25 มิถุนายน 2563 Last Update :25 มิถุนายน 2563 13:04:29 น. Counter : 1942 Pageviews. Comments :23