bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : กู่ช้าง - กู้ม้า ลำพูน, ลำพูน Thailand
พิกัด GPS : 18° 35' 10.33" N 99° 1' 6.77" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม





เรามาถึงสถานที่แห่งสุดท้ายที่ได้ไปมาในทริปลำพูนล่าสุดแล้วครับ สถานที่แห่งนี้ชาวลำพูนถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ความเคารพนับถือและกราบไหว้บูชากันเป็นอย่างมากครับ



กู่ช้าง – กู่ม้า ลำพูน



จากหน้าวัดพระธาตุหริภุญไชยขับตรงไปผ่านวัดช้างรองทางซ้ายมือผ่านประตูท่าทางทางซ้ายมือพอถึงโค้งก็เลี้ยวซ้ายไปตามโค้งแล้วจะเห็นวงเวียนทางขวามือให้เข้าวงเวียนแล้วตรงไปครับขับตรงไปเรื่อยๆ ผ่านวัดสันป่ายางหลวงอยู่ทางซ้ายมือไปเรื่อยๆจนถึงโรงแรมแท่นทองทางซ้ายมือ แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยก ตรงมานิดนึงให้ขับไปทางซ้ายจะผ่านหน้าวัดไก่แก้ว เลี้ยวซ้ายที่สามแยกแล้วตรงมาเรื่อยๆก็จะถึงกู่ช้าง – กู่ม้า ครับ


*** ไม่มีแผนที่เสมือนจริงนะครับเพราะมันจะดูสับสนครับ ***









กู่ช้าง – กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่สำคัญเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนเป็นอย่างมากครับ ในสถานที่นี้จะมีเจดีย์อยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งรูปร่างแปลกตา ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังครับ





เจดีย์องค์ที่มีรูปร่างแปลกตาคือ “กู่ช้าง” ( “กู่” ในภาษาถิ่นแปลว่าเจดีย์หรือสถูป) มีตำนานเล่าไว้ว่าพระนางจามเทวีมีช้างทรงคู่บารมีอยู่ช้างหนึ่ง (ถ้าเป็นช้างทรง สรรพนามเรียกว่า “ช้าง” , ถ้าเป็นช้างบ้าน สรรพนามเรียกว่า “เชือก” , ถ้าเป็นช้างป่า สรรพนามเรียกว่า “ตัว”) ชื่อ “ผู้ก่ำงาเขียว” มีผิวกายสีดำ มีงาสีเขียวคล้ำ (จริงๆน่าจะเป็นงาที่มีสีคล้ำๆ ออกเทาๆ ดำๆ มากกว่า เหมือนงาช้างดำเมืองน่าน) ช้างทรงช้างนี้มีฤทธานุภาพมาก ถ้าหันหน้าไปประจันหน้ากับข้าศึก ข้าศึกจะอ่อนแรงลงไปทันใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งา” ของผู้ก่ำงาเขียว หากงาชี้ไปทางใดก็จะเกิดภัยพิบัติและผู้คนล้มตาย เมื่อผู้ก่ำงาเขียวได้ “ล้ม” (แปลว่า ตาย) ลงในวันขึ้น 9 เดือน 9 เจ้าอนัตตยศและเจ้ามหันตยศนำร่างของ “ผู้ก่ำงาเขียว” ใส่แพล่องไปตามลำน้ำกวง พระนางจามเทวีโปรดฯ ให้นำร่างของ “ผู้ก่ำงาเขียว” กลับเข้าฝั่งเนื่องจาก “ผู้ก่ำงาเขียว” มีฤทธานุภาพมากหากนำร่างใส่แพลอยไปตามน้ำผู้คนที่อยูทางใต้น้ำจะได้รับความเดือดร้อน และให้นำร่างของผู้ก่ำงาเขียวมาฝังเอาไว้ ณ ท่าน้ำวัดไก่แก้ว และด้วยอิทธิฤทธิ์ของผู้ก่ำงาเขียวจำเป็นที่จะต้องฝังร่างโดยให้งาชี้ฟ้า แล้วก่อเจดีย์ครอบเอาไว้





ลักษณะของกู่ช้างเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะพิเศษก่อด้วยอิฐชั้นนอกสอปูน สูงประมาณ 30 เมตร ตั้งอยู่บนฐานเขียงกลมซ้อนเหลื่อมกัน 5 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ องค์ระฆังเป็นทรงกลมที่ถูกยืดขึ้นไปกว่าปกติเป็นทรงกระบอก ยอดเจดีย์จะไม่แหลมหรือเป็นทรงปราค์เหมือนเจดีย์ทั่วไปแต่จะเป็นยอดตัด ปลายสอบเข้าหากัน มีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน มีลักษณะคล้ายเจดีย์บอบอคยี ในอาณาจักรพยูหรือศรีเกษตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า เจดีย์ง๊ะจเวนะดาวในเมืองพุกาม และเจดีย์รายรอบๆเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย






แต่หลักฐานทางโบราณคดีไม่พบร่องรอยศิลปกรรมแบบหริภุญไชย ดังนั้นนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่ากู้ช้างน่าจะสร้างขค้นในสมัยล้านนาประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 21

นักโบราณคดียังเชื่ออีกด้วยว่ากู่ช้างน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพราะเป็นยุคที่ได้รวบรวมเอาเจดีย์หลายๆแบบจากหลายๆที่มาจำลองเอาไว้ในอาณาจักรล้านนา เช่นนำเอารูทรงของเจดีย์พุทธคยาที่อินเดียมาสร้างที่วัดเจ็ดยอด





 



ส่วนกู่ม้าเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มียอดแล้ว ตั้งอยู่ด้านหลังกู้ช้าง เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหัตยศ พระโอรสของพระนางจามเทวีที่ครองนครหริภุญไชยต่อจากพระนางจามเทวี ลักษณะของกู่ม้าเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐเช่นเดียวกัน ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีฐานเขียงทรงกลมซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ ชั้นลูกแก้วอกไก่ องค์ระฆังเป็นทรงระฆังคว่ำ ยอดเจดีย์เหนือชั้นบัลลังก์ได้พังลงมาหมด






ชาวลำพูนเคารพนับถือกู่ช้าง - กู่ม้ามาก มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้างไว้ด้านหน้าองค์เจดีย์ มีรูปปั้นจำลอง “ผู้ก่ำงาเขียว” ช้างทรงของพระนางจามเทวีเพื่อให้ประชาชนมาสักการะ เชื่อกันว่าหากได้ลอดใต้ท้อง “ผู้ก่ำงาเขียว” จะเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนา ในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ของทุกปีจะมีงานรดน้ำดำหัวและงานสักการะเจ้าพ่อ “ผู้ก่ำงาเขียว” เพื่อขอขมาลาโทษและและขอพร




และนี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในลำพูนแห่งสุดท้ายที่ได้ไปเที่ยวมาในทริปนี้นะครับ  ก่อนจะขึ้นซีรีีย์สถานที่ท่องเที่ยวในสุโขทัยยาวๆจะขอคั่นด้วยโรงแรมในเชียงใหม่ซัก  2  ที่นะครับ  แล้วพบกันในบล็อกท่องเที่ยวสบล็อกหน้าครับผม 




ขอขอบคุณ Code เพลงจากบล็อก "ป้ากล้วย" ครับ







Chubby Lawyer Tour ............................... เที่ยวไป ........ ตามใจฉัน




SmileySmileySmiley

Create Date :16 พฤษภาคม 2559 Last Update :16 พฤษภาคม 2559 17:07:52 น. Counter : 5175 Pageviews. Comments :13