bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดพระยืน ลำพูน, ลำพูน Thailand
พิกัด GPS : 18° 34' 32.55" N 99° 1' 13.64" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม





วัดถัดมาที่ได้ไปเที่ยวมาเมื่อมีโอกาสได้มาจังหวัดลำพูนคราวล่าสุดเป็นวัดที่เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อ (ความจริงวัดทุกๆวัดในจังหวัดลำพูนนอกจากวัดพระธาตุหริภุญไชยก็เพิ่งเคยได้ยินชื่อตอนหาข้อมูลเที่ยวนี่แหละครับ) แต่วัดนี้นอกจากจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อจากการหาข้อมูลท่องเที่ยวแล้ว ยังมาได้ยินชื่อวัดนี้จากวัดพระธาตุหริภุญไชยด้วย ก็เลยคิดเอาไว้ว่าต้องมาเที่ยววัดนี้ให้ได้เลยครับ



วัดพระยืน คุ้มเวียงยอง ลำพูน



การเดินทางมาวัดพระยืน จ.ลำพูน  ก็ไม่ยากครับ จากจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาประมาณ 30– 40 นาทีเท่านั้น ใช้ถนนซุเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่ – ลำปาง จะมีทางแยกเข้าตัวเมืองลำพูนแต่ทางแยกเข้าวัดพระธาตุหริภุญไชยมีหลายแยกมากครับจากการที่เจ้าของบล็อกเดินทางไปไหว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย 2 – 3 ครั้งแนะนำว่าควรใช้เส้นทางถนนซุเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่ – ลำปาง แล้วมาเลี้ยวเข้าตัวเมืองลำพูนที่แยก “ดอยติ”(ถ้านับแยกเข้าตัวเมืองลำพูนตั้งแต่ถึงจังหวัดลำพูนก็แยกที่ 3)แยกดอยติเป็ยแยกใหญ่ครับรถที่จะเลี้ยวขวาเข้าจังหวัดลำพูนจะต้องวิ่งชิดขวามาติดไฟแดง “เป็นอีกเลนหนึ่ง” ส่วนรถที่จะไปจังหวัดลำปางก็จะวิ่งซ้ายผ่านตลอดครับถ้าเลยแยกดอยติจะมีจุดสังเกตุคืออนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรึวิชัยขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนยอดดอยติครับ(ถ้ามาจากจังหวัดเชียงใหม่จะสังเกตยากหน่อยเพราะตรงนั้นเป็นโค้งขวาที่ใหญ่และยาวมากถ้าเดินทางมาจากจังหวัดลำปางจะเห็นชัดเป็นสง่าเลยครับ)



พอเลี้ยวขวาเข้าตัวจังหวัดลำพูนแล้วก็ขับตรงไปเรื่อยๆเลยครับจะเจอสามแยกใหญ่ๆแยกที่สองเป็นสามแยกที่แยกไปทางขวาครับสามแยกนี้ไม่มีชื่อนะครับแต่เป็นแยกที่จะเดินทางไปศูนย์ราชการของจังหวัดลำพูนเราเลี้ยวขวาเข้าไปแล้วขับตรงไปเรื่อยๆประมาณ 600 เมตรทางซ้ายมือคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน เยื้องๆกับสำนักงานสาธารณสุขทางขวามือคือทางเข้าวัดพระยืนให้เลี้ยวขวามือเข้าไปตามทางเลยครับ



วัดพระยืน ตั้งอยู่บริเวณบ้านเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมๆกับการสร้างนครหริภุญไชยราวปี พ.ศ. 1213 หรือปีที่ 7 หลังจากที่ได้สร้างนครหริภุญไชย บางตำราก็ว่าวัดพระยืนเดิมชื่อ อรัญญิกการาม เป็นพุทธปราการทางทิศตะวันออกของนครหริภุญไชย (เจ้าของบล็อก :- แต่เจ้าของบล็อกคิดว่าไม่น่าจะใช่เพราะพุทธปราการด้านตะวันออกคือวัดอรัญญิกกรัมการาม หรือ วัดต้นแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้ๆวัดพระยืน พุทธปราการน่าจะอยู่ล้อมเมืองไว้ไม่น่าจะตั้งอยู่ในแนวเดียวกันแบบนี้ แต่ก็อาจจะเป็นจริงก็ได้นะครับ เพราะว่าเดิมวัดอรัญญิกกรัมการาม หรือ วัดต้นแก้ว ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญไชยเหมือนในปัจจุบันนี้วัดต้นแก้วในปัจจุบันนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ส่วนวัดต้นแก้วเดิมไม่ปรากฎว่าอยู่ตรงไหนแล้วครับ หลักฐานอีกชิ้นที่มีการกล่าวถึงวัดพระยืนก็คือ “ตำนานป่าแดง” เมืองเชียงตุง บันทึกเอาไว้ว่า วัดพระยืนนี้เป็นวัดหนึ่งใน 7 วัด ซึ่งเป็นพุทธปราการ) ถ้านับจนถึงปัจจุบันนี้วัดพระยืนก็มีอายุ 1300 ปีแล้วครับ



อีกตำรานึงก็ว่าวัดพระยืนเดิมชื่อ วัดพฤทธมหาสถาน สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1606 – 1611 โดยพระเจ้าธรรมิกราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชย






ตัววัดพระยืนจะอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกวงกับวัดพระธาตหริภุญไชย จากประตูท่าสิงห์ วัดพระธาตุหริภุญไชย (ซุ้มประตูสีขาวหน้าพระวิหารที่มีสิงห์ 2 ตัว) จะมีสะพานไม้ทอดข้ามแม่น้ำแม่กวงปัจจุบันเป็นสะพานไม้ที่มั่นคงแข็งแรงมีหลังคาคลุมเรียกว่า “ขัวมุง” และมีถนนตัดตรงไปยังวัดพระยืนได้ ถนนเส้นนี้เป็นถนนโบราณปัจจุบันเป็นถนนสายวัฒนธรรมตัดผ่านชุมชนชาวยองที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลเวียงยอง จ.ลำพูน





ประมาณปี พ.ศ. 1606 พระเจ้าอาทิตยราช (บางตำราออกพระนามว่าพระเจ้าธรรมิกราช) กษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ 32 ได้หล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทับยืนสูง 18 ศอก ออกพระนามว่า “พระอัฎฐารส” แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้หลังพระวิหารวัดพระยืนพร้อมทั้งสร้างปราสาทสถูปเป็นที่ประดิษฐานพระพระอัฎฐารสด้วย





ในหนังสือตำนาลมูลศาสนา กล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 1912 พระเจ้ากือนากษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงนิมนต์พระสุมนเถระจากกรุงสุโขทัยขึ้นมาเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนานิกายรามัญวงศ์ (ลังกาวงศ์เก่า) โปรดฯให้พระสุมนเถระพำนักอยู่ที่วัดพระยืน นครหริภุญไชย ในการนี้ได้ร่วมกับพระเจ้ากือนาปฎิสังขรณ์พระมณฑปละพระพุทธรูปยืนที่พระเจ้าอาทิตยราชสร้างขึ้นแล้วสร้างพระพุทธรูปยืนขึ้นอีก 3 องค์ ด้วยศิลาแลงมีขนาดเท่าๆกัน และนำไปประดิษฐานในซุ้มเจดีย์ทรงปราสาททั้ง 3 ทิศที่เหลือ จากบทร้อยกรองเรื่อง “นิราศหริภุญไชย” ที่แต่งขึ้นราวปี พ.ศ. 2060 กล่าวถึงเจดีย์วัดพระยืนว่าเป็นเจดีย์ทรงปราสาท มีโขงทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ อันหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์ คือ พระกุกสันธะ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระสมณโคดม






ต่อมาเจดีย์ทรงปราสาทนั้นได้ทรุดโทรมและปรักหักพังลง ส่วนยอดพังลงมาจนถึงซุ้ม ส่วนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานคงเหลือสมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันออกเพียงองค์เดียว ในปี พ.ศ. 2477 พระครูศีลวิลาส (พระคันธวงศ์เถระหรือครูบาวงษ์) เจ้าคณะจังหวัดลำพูนพร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ร่วมกันปฎิสังขรณ์เจดีย์ทรงปราสาทที่ปรักหักพังลงขึ้นมาใหม่โดยให้ “หนานปัญญาเมือง” ชาวบ้านหนองเส้งผู้เป็นช่างหลวงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ โดยให้ก่อหุ้มคลุมพระเจดีย์เก่าไว้ภายใน (เป็นเหตุผลที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบนลานประทักษิณ) แล้วเอาอิฐ หิน และดินของพระเจดีย์เก่าที่พังลงมานั้นถมกลับเข้าไปในเจดีย์ใหม่ โดยเจดีย์องค์ใหม่นี้ทำด้วยศิลาแลงและอิฐมีฐานสูงกว่าพระเจดีย์องค์เดิมมาก






เจดีย์วัดพระยืนในปัจจุบันเป็นศิลปกรรมแบบพม่าคล้ายเจดีย์วัดสัพพัญญูและอานันทเจดีย์ในประเทศพม่า จากพื้นดินสร้างลดหลั่นกันเป็นชั้นๆจนถึงชั้นลานประทักษิณ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและบันไดขึ้นถึงลานประทักษิณทั้ง 4 ด้าน มีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม






ผังของเรือนธาตุของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีซุ้มจรนำขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน ยึดรูปแบบเดิมของพระเจดีย์เก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระยากือนา แต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสีทอง เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถา 4 เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น ยอดประดับด้วยฉัตร แล้วมียอดเล็กๆล้อมรอบยอดฉัตรอีก 4 ยอด






จุดที่น่าสนใจอยู่ที่เหนือลานประทักษิณใต้ฐานพระพุทธรูปยืนด้านหนึ่งมีการสร้างรูปปั้นนูนต่ำรูปเสือประดับไว้เพื่อระลึกถึงชื่อเดิมของวัดนี้คือ “วัดกู่เสือ” เพราะสมัยโบราณบริเวณวัดยังเป็นป่ารกทึบ มีเสือออกเพ่นพ่านอยู่เนืองๆ จึงมีการปั้นรูปเสือเอาไว้เพื่อระลึกถึง






ด้านหน้าของพระเจดีย์มีพระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2537 ตัวพระวิหารสร้างเป็น 2 ตอน ฐานล่างสูงประมาณ 4 เมตร ยาว 24 เมตร กว้าง 12 เมตร เดิมทางด้านเหนือมีมุขบันไดนาคขึ้นสู้พระวิหาร 2 ทาง มีห้องเล็ก 1 ห้อง ใช้เป็นที่สอนนักธรรม และมีระเบียงเดินได้รอบพระวิหาร







พระอุโบสถสร้างในสมัยพระเจ้ากือนา ได้รับการบูรณะใหญ่ครั้งล่าสุดราปี พ.ศ. 2470 กว่าๆ ราวบันไดทางเข้ามีตัวมอม ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพนิยายของทางภาคเหนือ มีพระพุทธศักยมุนีศรีหริภุญไชย หรือ หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ (องค์ใหญ่สีทอง)













นอกจากนั้นบริเวณภายในวัดหลังพระเจดีย์และหลังพระอุโบสถยังมีซากโบราณสถานอีกมากมาย จากการศึกษาปรากฏว่าอิฐเหล่านั้นมีอายุย้อนขึ้นไปถึงสมัยพระนางจามเทวีเลยทีเดียวครับ



วัดพระยืน จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่ประวัติอันยาวนานและมีสิ่งน่าชมมากมาย ทั้งภายในวัดก็มีบรรยากาศที่ร่มรืน เงียบสงบ ถ้าได้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดลำพูนอย่าลืมแวะมาเที่ยว วัดพระยืน กันนะครับ





ขอบคุณ code เพลงจากบล็อก "ป้ากล้วย" ครับ







Chubby Lawyer Tour ………………………… เที่ยวไป.... ตามใจฉัน





SmileySmileySmiley

Create Date :05 พฤษภาคม 2559 Last Update :5 พฤษภาคม 2559 18:50:36 น. Counter : 2532 Pageviews. Comments :9