bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : ถนนยมจินดา อ.เมือง จ.ระยอง, ระยอง Thailand
พิกัด GPS : 12° 40' 46.93" N 101° 16' 41.90" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม




ถนนยมจินดา  ระยอง
 
 




ถนนยมจินดา  เป็นถนนสายแรกของจังหวัดระยอง  ถนนยมจินดาถูกตัดขึ้นโดยดำริของ   พระศรีสมุทรโภค (อิ่ม ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย  ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2443  ก่อนที่จะมีการตัดถนนสุขุมวิทหลายสิบปีครับ







 
 




 
ก่อนที่จะมีการตัดถนนยมจินดา  การค้าขายในตัวเมืองระยองใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก  ชุมชนหลักของจังหวัดระยองดั้งเดิมจึงอยู่บริเวณแม่น้ำระยอง 
 


 
เมื่อมีการตัด
ถนนยมจินดาขึ้นเป็นถนนสายแรกของเมืองระยองให้ทอดยาวขนานไปกับแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าแห่งแรกของเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก  แหล่งการค้าจึงย้ายจากในน้ำขึ้นมาบนบก และถนนยมจินดาก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเมืองระยองนับแต่นั้นเป็นต้นมา



 
ในสมัยนั้น  เจ้าสัวนายทุนมาปักหลักทำธุรกิจบน
ถนนยมจินดา คหบดีและเศรษฐีต่างท้องถิ่นก็มักจะมาจับจองที่ดินสำหรับสร้างบ้านเรือน  รวมถึงร้านค้าต่างๆ ก็ทยอยมาเปิดที่นี่  มีอาคารพาณิชย์จึงเรียงรายเต็มสองฝั่งถนน  ทั้งโรงหนัง  โรงฝิ่น  โรงสี  ธนาคาร  ร้านทอง  ร้านยาจีน  ร้านเครื่องเขียน  และอู่ต่อเรือ  เพราะเป็นถนนสายแรก  ความเจริญทั้งหมดของเมืองระยองจึงกระจุกตัวอยู่ที่ถนนยมจินดา ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นย่านคนรวยไปโดยปริยาย





















 
 











ถนนยมจินดา  มีความยาวประมาณ  1  กิโลเมตรกว่าๆ  ถ้าดูจากแผนที่แล้วจะเริ่มตั้งแต่แยกถนนภักดีบริรักษ์จนถึงถนนตากสินมหาราช  ถนนทั้งสองข้างทางก็จะเต็มไปด้วยบ้านไม้แบบบ้านแถวโบราณ  ทั้งชั้นเดียวและ  2  ชั้น  สลับกับบ้านและอาคารที่เป็นตึกแบบโบราณมากมาย  ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กึ่งอนุรักษ์โดยเทศบาล  และชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันทะนุบำรุง  เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอีกแห่งหนึ่ง
 




 
สำหรับวันธรรมดาพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับสัญจรทั่วไปของชุมชน  แต่ในเสาร์ - อาทิตย์ จะปิดการสัญจรเพื่อทำเป็นถนนคนเดิน
 





 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม : ศาสนสถานของชาวจีนกลางชุมชนยมจินดา
 



ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือศาลตุ้ยบ้วยเนี่ย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2421 เพื่อประดิษฐานองค์เจ้าแม่ทับทิมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่กราบไหว้ของชาวระยอง  มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2510 โดยการซื้อที่ดินฝั่งทิศตะวันออก เพื่อสร้างเป็นซุ้มประตูทางเข้าออกศาล
 



เจ้าแม่ทับทิมเป็นชื่อเรียกของเทพธิดามหาสมุทร หากชุมชนใดตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ  หรือ  ทะเล  และมีชาวจีน  ก็มักมีการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมไว้กราบไหว้
 



ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ถนนยมจินดาหันออกสู่แม่น้ำระยอง  เพื่อให้ชาวเรือที่ผ่านไปมาในอดีตได้แวะกราบไหว้ขอพรให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น  ขอพรให้รอดพ้นจากอันตรายขณะเดินเรือในทะเล  นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาในย่านนี้และยังเป็นที่เคารพของคนทั่วไปในแถบนี้ด้วย
 
 


ศาลเจ้านี้จึงเป็นหลักฐานของการเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนที่ไม่ทิ้งขนบดั้งเดิมของตนซึ่งมีชีวิตพันผูกอยู่กับเทพเจ้า  นอกจากศาลเจ้าแม่ทับทิมจะเป็นตัวแทนของการมีอยู่ของกลุ่มชาวจีนบนถนนสายนี้แล้ว   ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่แม้จะไม่ได้อยู่รวมกันเป็นชุมชนหนาแน่นเหมือนแต่ก่อน  แต่ก็ยังกลับมารวมตัวกันเมื่อถึงงานเทศกาลสำคัญๆ โดยในแต่ละปีจะมีการจัดงานต่างๆ เช่น งานกินเจ งานลุยไฟ งานแจกข้าวสาร
 
 


ส่วนช่วงเย็นของวันธรรมดา บริเวณ ‘ศาลางิ้ว’ ภายในตัวศาล ก็ยังกลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าอากงอาม่าในพื้นที่ ที่มักมานั่งพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตอย่างออกรสชาติ เป็นจุดนัดพบขนาดย่อมของคนในชุมชนไปในตัว
 
 









 

ตึกกี่พ้ง : ตึกสไตล์ชิโน–โปรตุกีสหลังแรกในระยอง
 


เจ้าของตึกคนแรกคือ กี่พง แซ่ตั๋น เศรษฐีชาวจีนจากปักษ์ใต้ ตึกกี่พ้งถือว่าเป็นตึกแบบตะวันตกหลังแรกของเมืองระยอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นตึกสองชั้นทรงสี่เหลี่ยมซึ่งมีความยาวถึง 12 คูหา ด้านหน้าไม่กว้างนักแต่เน้นให้อาคารมีความลึกและยาว
 



อาคารเป็นศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีส หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาตึกทรงนี้จากย่านเก่าเมืองภูเก็ต เพราะมีการว่าจ้างช่างชาวภูเก็ตมาสร้างตึกหลังนี้ สมัยก่อนเป็นที่จำหน่ายพริกไทยและเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองจีน ต่อมาทายาทคือนายสิงห์และนางกราย กลิ่นสมุทร ได้เก็บรักษาตึกหลังนี้ไว้ ปัจจุบันพื้นที่ครึ่งหนึ่งของตึกกี่พ้งถูกแบ่งทำเป็นร้านขายของ
 









 

ตึกเถ้าแก่เทียน : อดีตธนาคารพาณิชย์แห่งแรก สู่แกลเลอรีและศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์
 



ตึกนี้เปลี่ยนมือมาหลายเจ้าของซึ่งล้วนแต่เข้ามาสร้างตำนานบนถนนยมจินดา โดยแรกเริ่มท่านขุนพานิชชลาสินธุ์ หรือเถ้าแก่เทียน เป็นผู้สร้างตึกนี้ซึ่งเป็นตึกปูนเก่าแก่เป็นอันดับ 2 รองจากตึกกี่พ้ง
 


ตัวตึกเป็นศิลปะชิโน-โปรตุกีสที่ให้กลิ่นอายจีนผสมตะวันตก โดยเถ้าแก่เทียนได้แรงบันดาลใจมาจากตึกรามในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านเกิด บริเวณจั่วด้านบนของผนังตึกทั้งสองข้างมีการตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายประณีต
 



สมัยแรกที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า ต่อมามีการแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นสำนักงานธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของระยองในสมัยนั้น ภายหลังเปิดเป็นแกลเลอรีศิลปะในนาม ‘ดาวินชี สตูดิโอ’ หรือ ‘วิกเถ้าแก่เทียน’
 



ปัจจุบันตึกเถ้าแก่เทียนถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (Rayong Creativity Development Center – RCDC) เป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองระยองและถนนยมจินดา มีนิทรรศการพัฒนาการของเมืองระยอง ภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก และภาพวาดตึกรามบ้านช่องต่างๆ บนถนนยมจินดา รวบรวมมาจัดแสดงที่ศูนย์นี้ด้วย ไฮไลต์อีกอย่างคือด้านข้างตึกมีภาพสตรีทอาร์ตที่วาดขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบโครงสร้างอิฐภายในตัวอาคารเดิม กลายเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินที่ใครแวะมายมจินดาจะต้องไม่พลาด
 
 









 

บ้านสัตย์อุดม : บ้านขุนนางเก่าสู่กล่องเก็บอดีตในนามพิพิธภัณฑ์เมืองระยอง
 



เดิมทีเป็นบ้านของขุนศรีอุทัยเขตร์ (โป๊ง สัตย์อุดม) ขุนนางผู้เป็นเจ้าของโรงสี โรงหนัง และอู่ต่อเรือ จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือเป็นบ้านไม้สองชั้นที่ยังคงเก็บรักษาช่องลมที่มีลวดลายฉลุสไตล์จีนไว้



 
ปัจจุบันบ้านไม้หลังนี้ถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองระยองซึ่งได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากบ้านสัตย์อุดม โดยเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง ให้เป็นที่รวบรวมของเก่าของดีของจังหวัด ทั้งภาพถ่ายโบราณหาชมยาก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวระยองในอดีต เช่น เฟอร์นิเจอร์สมัยโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ที่หาดูได้ยาก เปลือกหอยโบราณ ภาพเจ้าเมืองระยอง ภาพการแต่งกายสมัยก่อน ภาพตึกรามบ้านช่องสมัยโบราณ
 
 







 



บ้านมาลีวณิชย์ : บ้านไม้สไตล์จีนที่ประดับด้วยกระเบื้องจากอิตาลี
 



บ้านมาลีวณิชย์เป็นอาคารหลังใหญ่ทำจากไม้ทั้งหลัง ใช้เทคนิคการสร้างแบบโบราณคือกั้นผนังด้วยไม้ฝาแบบบานเกล็ด และเป็นประตูแบบบานเฟี้ยมซึ่งเป็นลักษณะดั้งเดิมของร้านค้าชาวจีนมาตั้งแต่อดีต ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสกจากอิตาลีซึ่งปัจจุบันยังคงเก็บรักษาพื้นเดิมไว้อยู่ ปัจจุบันบ้านนี้เป็นร้านขายหนังสือและหมอนของชาวจีน



 
จากการบอกเล่าของเจ้าของบ้านรุ่นที่สอง บ้านมาลีวณิชย์ยังคงรูปแบบและวัสดุเดิมไว้โดยไม่มีการต่อเติมหรือซ่อมแซมมากนัก และเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของบ้านไม้เก่าใจกลางชุมชนยมจินดาที่แสดงให้เห็นความเก่าแก่และความรุ่งเรืองของชุมชนการค้าของชาวจีน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีสำหรับข้อมูลครับ
 
 
 
 

เที่ยวระยอง 1 วัน ชิลๆ เดินเที่ยวย่านเก่า ถนนยมจินดา แวะชิมชาที่ ราย็อง – เอิงเอย

 
พาเดินเท้าสำรวจสถาปัตยกรรมเก่าแก่ร้อยปีบนถนนยมจินดา ย่านเก่าที่ได้ชื่อว่าเป็น Beverly Hills แห่งระยอง – พิมพ์พญา เจริญศริพันธ์

 
เดินเล่น-ชิม-ชม ที่ ‘ยมจินดา’ ย่านเมืองเก่าใจกลางจังหวัดระยอง - มณิสร วรรณศิริกุล

 
 



 
135136139



 
Create Date :08 สิงหาคม 2566 Last Update :8 สิงหาคม 2566 13:26:29 น. Counter : 1353 Pageviews. Comments :27