bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : เรือหลวงประแส ปากน้ำประแส, ระยอง Thailand
พิกัด GPS : 12° 41' 49.38" N 101° 42' 16.57" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม




บล็อกท่องเที่ยวบล็อกนี้เราก็ยังคงเที่ยวอยู่ในจังหวัดระยองกันนะครับ  วันนี้จะพามาเที่ยวสิ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การรบของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดระยองกันครับ
 
 




อนุสรณ์เรือหลวงประแส  ชายหาดประแส ปากน้ำประแส
อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 
 





อนุสรณ์เรือหลวงประแส  ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง


 
จากกรุงเทพฯใช้ถนนสุขุมวิท ผ่านตัวเมืองระยอง ผ่านอำเภอแกลง มาสักระยะหนึ่ง พบแยกปากน้ำประแสให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3162 เข้าสู่เส้นทางไปปากน้ำประแสจนสุดทาง จะมีป้ายบอกทางไปตลอดจนถึงอนุสรณ์สถาน






 


 

เรือหลวงประแส  ลำนี้เป็นลำที่  2  ที่ได้ขึ้นระวางประจำการ  เรือหลวงประแสลำที่หนึ่งประสบเคราะห์กรรมจากสงคราม เกยตื้นที่ชายฝั่งประเทศเกาหลีเหนือ ในสงครามคาบสมุทรเกาหลีที่ประเทศไทยส่งกองกำลังไปช่วยรบในนามกองกำลังสหประชาติ


 
ในปี พ.ศ.2494  รัฐบาลไทยในยุคนั้นได้ติดต่อขอซื้อเรือรบเพิ่มจากสหรัฐอเมริกา  หลังจากเรือรบหลวงประแส (ลำที่ 2) เข้าประจำการในกองทัพเรือ   ก็ได้ปฎิบัติงานในการรบในคาบสมุทรเกาหลีต่อจากเรืองหลวงประแส  (ลำที่หนึ่ง)   เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2495   คือออกเรือลาดตะเวนปิดอ่าวคุ้มกันเรือลำเลียง เรือบรรทุกน้ำมัน เรือกวาดทุ่นระเบิด ระดมยิงฝั่งเป็นครั้งคราว โดยมียุทธบริเวณตั้งแต่ท่าเรือปูซานฝั่งตะวันออก เรื่อยไปจนถึงวอนซานในเกาหลี และตลอดระยะเวลาประมาณ ๒ ปีเศษ ร.ล.ประแส ได้ออกปฏิบัติการตามภารกิจทางยุทธการรวม ๓๒ ครั้ง ระยะเวลาประมาณ ๓๐๐ วัน


 
หลังจากที่ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๗ แล้ว    ร.ล.ประแสยังคงวางกำลังอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘ กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ ๒/๒๕๗ ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย สำหรับกำลังทางเรือ กำหนดให้ถอนกำลัง พร้อมด้วย ร.ล.ท่าจีน และ ร.ล.ประแส กลับและให้เรือทั้ง ๒ ลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบก ในระหว่างการเดินทางกลับด้วย
 


ก่อนหมู่เรือจะเดินทางกลับ ได้เข้ารับการซ่อมทำที่อู่โยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ เนื่องจากเรือชำรุดทรุดโทรมในขณะออกปฏิบัติการตามภารกิจ ในระหว่างที่เรือทั้ง ๒ ลำ กำลังเข้ารับ การซ่อมใหญ่ในอู่ที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะอยู่นั้น ในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๐.๓๐ น. พันเอก ชัยรัตน์ อินทุภูมิ หัวหน้านายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ ได้นำ พันโท อำนวย โสมนัส ผู้บังคับกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๖ และ นาวาโท สงัด ชลออยู่ ผู้บังคับ มส. เข้าเยี่ยมคำนับและอำลา พลเอก ฮัล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังสหประชาชาติ ในโอกาสที่หน่วยทหารไทย ทั้งทหารบกและทหารเรือจะถอนกำลังกลับ พลเอก ฮัล ได้กล่าวบอกแก่ผู้บังคับหน่วยทหารไทยด้วยว่า ทหารไทย มีศักยภาพทางด้านการรบเป็นอย่างมาก  พร้อม ชมเชยความสามารถพร้อมกับมอบเกียรติบัตรชมเชยหน่วยทหารไทยและหนังสือชมเชย และ ยังกล่าว   ซึ่งถือว่า เรือรบประแสร์ไดสร้างชื่อเสียงและสักยภาพ ทางด้านทหารของไทยมาแล้ว ในอดีต
 

 
นอกจากนั้น  เรือหลวงประแสก็ยังปฎิบัติหน้าที่ในวาระต่างๆ เช่น  ปฏิบัติการทางทะเลที่ญี่ปุ่น  ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และรักษาอาณาเขต ดินแดนอธิปไตยของประเทศ ด้วยการแล่นลาดตระเวนไปทั่วอ่าวไทย












 
จนกระทั้งในปี พ.ศ.2537  จากการใช้งานมาอย่างยาวนานทำให้ตัวเรือมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่คุ้มกับการซ่อม  ทางกองทัพเรือจึงได้ทำการปลดประจำการ เรือรบหลวงประแส  และนำไปใช้ในการฝึกภาคทางเรือของนักเรียนนายเรือแทน  


 
เทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้เสนอโครงการก่อสร้างอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นับแต่นั้นมาเรือรบดังกล่าวจึงถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณปากน้ำประแสตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นสัญลักษณ์สำคัญเมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนชุมชนปากน้ำประแส









 
โดยในวันที่   24 ธันวาคม 2546  เวลา  15.00 น. เรือหลวงประแสได้เคลื่อนย้ายจากอู่เรือราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือในการลากจูงเรือมาถึงจังหวัดระยอง โดยอ้อมเกาะมันมาจอดพักที่ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2546 และได้รับความอนุเคราะห์จากชาวประมงในลุ่มน้ำประแส ร่วมกันนำเรือประมงทำการลากจูงเรือหลวงประแสต่อจากกองทัพเรือ มาถึงปากแม่น้ำประแสในเวลา 10.00 น. จอดพักเป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วนำเรือหลวงประแสเข้าสู่ฐานจอดที่ได้จัดเตรียมไว้ นับเป็นการแล่นครั้งสุดท้ายของเรือรบหลวงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การรักษาอธิปไตยของราชนาวีไทย











 



คุณลักษณะสำคัญของ  เรือหลวงประแส


 
เรือหลวงประแส  เป็นเรือประเภท ฟริเกต ระวางขับน้ำ ปกติ 2,199 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,277 ตัน ขนาด ความยาวตลอดลำ 92.8 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 87.3 เมตร ความกว้างมากที่สุด 11.5 เมตร ความกว้างที่แนวน้ำ 11.3 เมตร กินน้ำลึก ปกติหัว 2.74 เมตร ท้าย 3.05 เมตร อาวุธ ปืน 76/50 มม. 3 กระบอก ปืนกล 40/60 มม. 2 กระบอก ปืนกล 20 มม. 9 กระบอก แท่นยิงอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดเฮจฮอก 1 แท่น แท่นยิงระเบิดลึก 8 แท่น รางปล่อยระเบิดลึก 2 ราง ท่อตอร์ปิโดแท่นเดี่ยว 2 แท่น (2 ท่อยิง) เครื่องจักร ไอน้ำชนิดข้อเสือข้อต่อ 2 เครื่อง กำลัง 5,500 แรงม้า ใบจักรคู่ ความเร็ว สูงสุด 20.3 นอต มัธยัสถ์ 15 นอต รัศมีทำการ ที่ความเร็วสูงสุด 3,440 ไมล์ ความเร็วมัธยัสถ์ 7,383 ไมล์ ทหารประจำเรือ 216 นาย ต่อที่ อู่ คอนโซลิเดทเต็ด สตีล เมืองวิลมิงตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา




























 
อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 

Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 
 
 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 
 


Chubby Lawyer Tour ………………….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน

 
Create Date :28 กันยายน 2563 Last Update :28 กันยายน 2563 13:35:38 น. Counter : 2987 Pageviews. Comments :21