bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วิหารเจ้าแม่จามเทวี วัดปงยางคก ห้างฉัตร ลำปาง, ลำปาง Thailand
พิกัด GPS : 18° 16' 50.09" N 99° 23' 3.24" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม

ในทริปเชียงใหม่ที่ไปมาล่าสุดเราได้ใช้เวลา  1  วัน  ในการเดินทางไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จังหวัดลำปางและลำพูน  ก็เลยแวะเที่ยววัดเก่าสวยๆมา  2-3  ที่ด้วยครับ
 
 
 

พระวิหารเจ้าแม่จามเทวี  วัดปงยางคก 
อ.ห้างฉัตร  จ.ลำปาง

 

 

พระวิหารเจ้าแม่จามเทวี  ตั้งอยู่ที่วัดปงยางคก  (ทิพย์ช้างอนุสรณ์)  ตำบลปงยางคก  อำเภอห้างฉัตร  จังหวัดลำปาง 
 
วัดปงยางคกอยู่บนเส้นทาง เกาะคา - ห้างฉัตร ทางเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง  แต่วัดปงยางคกจะถึงก่อน  โดยแยกออกมาจากเส้นซุปเปอร์ไฮเวย์ ( เชียงใหม่ - ลำปาง ) ราว 5 กม. ติดๆกับ อบต.ปงยางคก  เลยครับ
 
 
วัดนี้อยู่ห่างออกมาจากเส้นทางหลักที่ไปวัดพระธาตุลำปางหลวงก็เลยมีนักท่องเที่ยวมาแวะชมน้อยครับ  คนไม่ค่อยพลุกพล่าน  ข้อเสียของการที่มีคนน้อยคือเหล่า “เจ้าถิ่น”  ก็กระจายตัวอยู่ทั่วไป  แถมหวงที่ซะด้วยครับ  เจ้าของบล็อกจะเดินไปถ่ายรูปทางด้านหลังของพระวิหารซะหน่อยไม่รู้ว่าไปพาพวกมาจากไหนกัน เป้นฝูงเชียวครับ  เจ้าของบล็อกเลยไม่ได้ไปถ่ายรูปทางด้านหลังพระวิหารเลยครับ




 






 
จะขอเล่า .... ไม่ใช่เล่าครับ ไปแอบก๊อบมาจากในเนท ....
 
 
…….. ประมาณ พ.ศ. 1243  พระนางจามเทวีซึ่งครองนครหริภุญไชย  (ลำพูน)  ได้เสด็จออกจากนครหริภุญไชยเพื่อเสด็จมาเยี่ยมเจ้าอนันตยศ  ราชบุตรองค์ที่สอง  ณ  เขลางค์นคร  (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดลำปาง)   เมื่อได้เดินทางมาถึง ณ ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งเห็นเป็นที่ที่เหมาะแก่การยั้ง  (หยุด)  ขบวนเสด็จจึงสร้างเมืองลำลอง แล้วพัก ณ ที่แห่งนั้น  ต่อมาได้ชื่อว่า "เวียงรมณีย์" (เมืองตาล)  (ปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้าง มีแต่คูดินตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอ ห้างฉัตร ประมาณ 2 ก.ม.)  ขณะที่พักอยู่ที่เวียงมณีย์นั้นก็ได้สร้างฉัตรทองคำสำหรับจะไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง (ที่ใช้ช่างสร้างฉัตร ในเวลาต่อมาเรียกว่า บ้านห้างฉัตร อันเป็นนามของอำเภอห้างฉัตรในปัจจุบันนี้)
 
เมื่อสร้างฉัตรทองคำเสร็จแล้ว ก็ทรงช้างพระที่นั่งเดินไปตามเส้นทางเพื่อไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง  พอไปถึง ณ ที่แห่งหนึ่งปรากฏอัศจรรย์ ช้างพระที่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ พระแม่เจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงพักรี้พล ณ ที่นั้น ตกกลางคืนจึงอธิฐานว่าถ้าที่นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ขอให้ปรากฏปาฏิหาริย์ขึ้น ขาดคำพระดำรัสของพระแม่เจ้าก็ปรากฏแสงฉัพพรรณรังสีแห่งพระบรมสารีริกธาตุพวยพุ่งขึ้น ณ ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง จึงทรงให้ปลูกวิหารจามเทวีรอบจอมปลวกไว้ด้วยมณฑปปราสาทตลอดจนสร้างรูปจ๊างนบ ไว้หน้าวิหาร เป็นรูปช้างทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงขึ้นเหนือหัวในท่าคารวะและปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้พันธุ์มาจากลังกาทวีปไว้พร้อมสรรพ ต่อมา ณ ที่แห่งนี้จึงเรียกว่า "บ้านปงจ๊างนบ" ต่อมาหลายร้อยปี นามนี้ก็ได้เพี้ยนไป เป็น "ปงยางคก"……
 
 
จากในอินเตอร์เนทผู้รู้บางท่านก็บอกว่า
พระวิหารเจ้าแม่จามเทวีหลังแรกไม่น่าจะอยู่แล้ว  เพราะเป็นวิหารไม้ที่เปิดโล่ง  การดูแลรักษาก็จะทำยากกว่าวิหารไม้แบบปิดทึบ  ระยะเวลานับตั้งแต่พระนางจามเทวีก็ตั้งพันกว่าปีมาแล้ว  หลังที่อยู่ในปัจจุบันน่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยา


 

พระวิหารเจ้าแม่จามเทวี   สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี  พ.ศ.  1253  เป็นวิหารพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็ก  มีความสวยงามมากเป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมภาคเหนือยุคหริภุญไชยสกุลช่างเขลางค์  มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร  เดิมมุงด้วยแป้นไม้เกล็ด แต่ในปัจจุบันนี้มุงด้วยดินขอเกล็ด เนื่องจากแป้นไม้เกล็ดได้ผุกร่อนไปตามกาลเวลา  ลักษณะทั่วไปของวิหารไม่เหมือนกับวิหารในสมัยปัจจุบัน


หลังคาพระวิหารลดด้านหน้าสามชั้น  ด้านหลังสองชั้น   ผืนหลังคา 2 ตับ ช่อฟ้า ป้านลม หน้าบัน คำช่างล้านนาเรียก  “หน้าแหนบ”  เป็นแบบล้านนาดั้งเดิม  มุงกระเบื้องดินขอ  (เดิมคงเป็นแป้นไม้เกล็ดแต่ได้ผุกร่อนไปจึงได้เปลี่ยนมามุงด้วยดินขอ)  ไม่มีฝ้าเพดาน คันทวย คำช่างล้านนาเรียก นาคตัน  แกะสลัก ฉลุโปร่ง เป็นรูปนาค แต่ละชิ้นมีลวดลายที่ไม่เหมือนกันเลย.











 

พระวิหารเจ้าแม่จามเทวีมีการประดับตกแต่งภายในด้วยลวดลายลงรักปิดทอง ซึ่งภาษาถิ่นของล้านนาจะเรียกว่า “ลายคำ” ลวดลายลงรักปิดทองบนพื้นสีแดง  (ชาด)  อยู่ในพื้นที่สำคัญต่างๆ ของวิหาร เช่น ในบริเวณตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนของวิหาร หรือที่เรียกว่า “ขื่อม้าตั่งไหม” เสาวิหารตลอดจนผนังภายในวิหารและแผงไม้คอสอง ตกแต่งด้วยลายคำเต็มพื้นที่  มีทั้งภาพอดีตพุทธเจ้า และลายเลียนแบบธรรมชาติ อาทิ พรรณพฤกษา นก และอื่นๆ  ภาพที่มีชื่อเสียงในความประณีตอ่อนช้อย ปรากฏทางซ้ายในภาพ บนแผงไม้ระหว่างเสา คือ ลายหม้อดอก  หม้อดอก เรียกอีกอย่างว่า  “หม้อปูรณฆฏะ”   มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย หมายถึงหม้อน้ำอันมีน้ำเต็มบริบูรณ์ ไม้เลื้อยสื่อความหมายถึงความเจริญงอกงามและความร่มเย็น  ลวดลายหม้อน้ำคล้ายแจกัน บรรจุกอบัว มีก้าน ใบ และดอก สูงพ้นปากหม้อลดหลั่นกันเป็นพุ่ม แสดงการสักการะพระพุทธเจ้า หรือพระประธาน  ภาพอดีตพระพุทธเจ้า ตามคติทางศาสนา เคยมีพระพุทธเจ้าบังเกิดในโลกมากมายประหนึ่งเม็ดทรายในมหาสมุทร ก่อนที่จะมีพระศากยโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  
















 










ตัววิหารเป็นอาหารโถง  (โล่ง)  สร้างด้วยไม้  ฐานพระวิหารอยู่ต่ำกว่าพื้นดินประมาณหนึ่งฟุต  (เดิมคงสูงประมาณสามศอกเศษ)  ตอนล่างเปิดโล่งตลอดไม่มีประตูและหน้าต่าง ตอนสุดท้ายในสุดของพระวิหารมีผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้าน ล้อม  “กู่พระเจ้า”  หรือ  “โขงพระเจ้า”   (คือซุ้มปราสาทเรือนยอดก่อนอิฐก๋วม  (สวม)  พระประธานเอาไว้)    


ท้ายวิหารก่อผนังทึบ  ห้องที่สามและห้องที่สี่ก่อผนังเจาะช่องแสงเพื่อกันฝนสาด  เป็นที่ตั้งของมณฑปทรงปราสาทประดิษฐานพระประธาน   คำช่างล้านนาเรียกว่า  “โขงพระเจ้า”   ก่อด้วยอิฐ  ฐานซุ้มทำลายปูนปั้นย่อมุมไม้สิบสอง  และในซุ้มประดิษฐานพระประธานปางสมาธิเพชร ผนังด้านซ้ายมือของมณฑปก่อสร้างเป็นซุ้มลายปูนปั้น ภายในซุ้มยังประดิษฐานรูปปั้นพระพุทธรูปปางประทานพรอยู่ภายใน  ภาพเขียนบนผนังด้านหลังพระประธานซึ่งเป็นภาพต้นศรีมหาโพธิ์สามต้น มีเทวดาถือฉัตรและช่อดอกไม้ประดับทั้งสองข้างของพระประธาน





 

 










 
ผนังด้านยาวเป็น  “ฝาย้อย”  คือ ทำด้วยไม้เข้าเดือยเป็นแผงปิดลงมาประมาณครึ่งเสา ฝาด้านในเขียนภาพและลวดลายตกแต่งเต็มพื้นที่ทั้ง  2  ข้าง 
 
 





 
 

ถ้าเดินไปทางด้านขวาของพระวิหารจะเห็นรอยถากที่ฝาผนังด้านนอกของพระวิหาร  ว่ากันว่าเป็นรอยดาบของการรบระหว่างหนานทิพย์ช้างกับท้าวมหายศ  (หนานติ๊บจ้าง  หรือ  หนานทิพย์ช้าง  ภายหลังได้อวยยศเป็น  เจ้าพระยาสุรวฤาชัยสงคราม  วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร ผู้กู้อิสรภาพจากพม่า  เล่ากันว่าก่อนที่เจ้าหนานติ๊บจ๊างจะได้ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าพระยาสุรวฤาชัยสงคราม ขึ้นปกครองเขลางค์นครลำปางพระองค์ก็ได้เคยศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดปงยางคกนี้มาก่อน
 
 

วิหารเจ้าแม่จามเทวี  แห่งวัดปงยางคก  เป็นสถานที่ที่น่าแวะชมเป็นอย่างมาก  ถ้าแวะมาลำปางอย่าลืมเผื่อเวลามาเที่ยวชมด้วยนะครับ
 







131132133
Create Date :22 กันยายน 2562 Last Update :22 กันยายน 2562 9:35:31 น. Counter : 2115 Pageviews. Comments :14