bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเจดีย์สี่ห้อง สุโขทัย, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 16° 59' 50.07" N 99° 42' 30.14" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม







เรายังเที่ยวอยู่ในจังหวัดสุโขทัยอยู่นะครับ และโบราณสถานแห่งต่อไปที่จะพาไปเที่ยวในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ใกล้ๆวัดก้อนแลงที่พาไปเที่ยวในบล็อกที่แล้วครับ




วัดเจดีย์สี่ห้อง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย




วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่บนถนน นะโม – วัดเชตุพน นอกกำแพงเมืองด้านใต้ ห่างจากประตูนะโมซึ่งเป็นประตูเมืองทางด้านทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากวัดเชตุพนประมาณ 100 เมตร





เนื่องจากวัดเจดีย์สี่ห้องกับวัดเชตุพนตั้งอยู่ใกล้ๆกัน เคยมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดเดียวกันแต่ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ มีความเห็นแย้งว่าวัดเจดีย์สี่ห้อง กับวัดเชตุพนเป็นคนละวัดกัน เหตุผลเพราะว่ากลุ่มศาสนสถานของทั้ง 2วัดมีคูน้ำทั้ง 2วัดแยกกันโดยเด็ดขาดอันเป็นแบบแผนของวัดในสมัยสุโขทัยที่ใช้เขตคูน้ำเป็นเขตสังฆกรรมหรือประกอบกิจกรรมทางสงฆ์ และมีการพบซากพระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดเจดีย์สี่ห้อง ซึ่งมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งอาจจะเป็นอุโบสถของวัดเจดีย์สี่ห้อง หรือเป็นอุโบสถที่ใช้ร่วมกันของวัดเจดีย์สี่ห้อง และวัดเชตุพน หรืออาจจะเป็นอุโบสถของวัดอื่นอีกวัดหนึ่งก็ได้ซึ่งการศึกษาขุดค้นทำได้ลำบากแล้วเพราะพื้นดินถูกรบกวนเพื่อการทำเกษตรกรรมมานานแล้ว





ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงวัดเจดีย์สี่ห้องเลย






วัดเจดีย์สี่ห้องหันหน้าวัดไปทางตะวันออก ในปัจจุบันมีทางเดินเท้าเข้ามาจากหลังเจดีย์ประธาน พระวิหารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 25 เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นตรงกลางคาดว่าทำพาไลยื่นออกมาคลุมบันไดทางขึ้นด้วย เนื่องจากมีเสา 2 ต้นตรงบันไดทางขึ้น เสาพระวิหารเป็นก้อนศิลาแลงวางซ้อนกันแล้วโกลนเป็นรูปเสา พระวิหารเป็นอาคารมีผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ผนังด้านข้างทำช่องแสงเป็นระยะๆตลอดทั้ง 2ด้าน ด้านในสุดมีฐานชุกชีสูงประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ บนฝาผนังมุขด้านหน้า (ปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว) พบร่องรอยปูนปั้นติดอยู่














เจดีย์ประธานอยู่ในแนวแกนเดียวกับพระวิหารลักษณะเป็นเจดีย์กลมแบบลังกาตั้งบนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัสสูงขนาดกว้างยาว ด้านละ 9 เมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัยตอนปลาย (มีรูปแบบคล้ายเจดีย์วัดศรีพิจิกกีรติกัลยาราม) ฐานเขียงของเจดีย์เป็นของเก่าประดับลวดลายปูนปั่นรูปครุฑขี่ช้างโผล่จากฐานเจดีย์ครึ่งตัว สลับกับรูปเทวดาที่มี 4 กร และ 2 กร สวมอาภรณ์เครื่องประดับต่างๆกัน ในมือถือภาชนะมีพรรณพฤกษาโผล่พ้นออกมานอกภาชนะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ภาชานะนี้เรียกว่า “ปูรณฆฎะ” อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ กล่าวๆไว้ว่าน่าสร้างตามคติลังกา หมายถึง มนุษยนาค ซึ่งเป็นเทพอยู่ในโลกบาดาล










ส่วนบนที่พ้นจากชั้นฐานเขียงขึ้นไปแต่เดิมหักพังลงสิ้นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้กรมศิลปากรได้บูรณะตามรูปแบบที่ “สันนิษฐาน” ตามพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสสุโขทัย ทรงกล่าวถึงเจดีย์วัดเจดีย์สี่ห้องไว้ว่า “ที่ฐานรองระฆังทำเป็นคูหาสี่ทิศ” แสดงให้เห็นว่าเจดีย์วัดเจดีย์สี่ห้องแต่เดิมนั้นเป็นเจดีย์ที่มีคูหาสี่ทิศ (น่าจะมีลักษณะเดียวกันกับเจดีย์วัดต้นจันทร์) แต่เมื่อกรมศิลปากรทำการบูรณะองค์ระฆังใหม่ “มิได้ก่อคูหาเข้าไปด้วย (พิริยะ ไกรฤกษ์)”









วิหารและเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด กว้าง 50 เมตร ยาว 100 เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดกว้าง 15 เมตร และมีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมอยู่อีกทีหนึ่ง มีขนาด กว้าง 110 เมตร ยาว 150 เมตร จากการขุดแต่งโบราณสถานโดยกรมศิลปากรพบโบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย รูปปั้นต่างๆ รูปผู้หญิง ผู้ชาย เทวดา กษัตริย์ พราหมณ์ แต่งเครื่องแต่งกายแบบต่างๆ




เสียดายที่ไม่ได้เดินไปชมพระอุโบสถเพราะว่าอยู่ห่างออกไปถึง 100 กว่าเมตร




SmileySmileySmiley

Create Date :08 มีนาคม 2560 Last Update :9 มีนาคม 2560 8:38:58 น. Counter : 2575 Pageviews. Comments :8