bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : ประตูรามณรงค์ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สุโขทัย, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 17° 25' 30.85" N 99° 47' 16.80" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม







Entry นี้เป็นการเริ่มต้นซีรีย์ท่องเที่ยวยาวๆ (ยาวมากจริงๆ) อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จะพาไปตระเวนเที่ยวโบราณที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย – อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ครับ



เกริ่นให้ฟังก่อนว่าตอนแรกที่วางแผนไปเที่ยวสุโขทัยกะว่าจะไปแค่  3 วันเท่านั้น โดยวันแรกออกจากบ้านแต่มืดถึงสุโขทัยประมาณเที่ยงๆ แล้วยิงยาวอีก 55 กิโลเมตรมาเที่ยวศรีสัชนาลัยเลย วันที่สองค่อยอยู่เที่ยวสุโขทัยทั้งวัน วันที่สามเก็บตกนิดหน่อยๆแล้วออกจากสุโขทัยไม่เกินเที่ยงก็จะถึงบ้านมืดๆพอดี .... แต่มาคิดกลับไปกลับมาพร้อมกับดูจำนวนโบราณสถานที่ศรีสัชนาลัยที่มีเยอะมากแล้วคิดว่าเวลาครึ่งวันคงไม่พอแน่ๆ ก็เลยเปลี่ยนใจโดยออกจากกรุงเทพฯบ่ายๆเย็นๆ ค้างพิษณุโลกหนึ่งคืนแล้วเช้าขับรถไปเที่ยวศรีสัชนาลัยเลยจะได้มีเวลาเที่ยวทั้งวัน (เอาเข้าจริงๆก็เวลาไม่พออยู่ดีครับ แค่อุทยานประวัติศาสตร์เดินเที่ยวไปเรื่อยๆก็หมดเวลาไปครึ่งวันแล้วครับ) แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยไปตะลุยเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่เอาเข้าจริงก็เที่ยวไม่ครบทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย–อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครับ เจ้าของบล็อกว่าถ้าเอาที่สบายๆ ไม่รีบ เหนื่อยไหนพักนั่นการเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย – อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยต้องใช้เวลา 4-5 วันอ่ะครับ

(เจ้าของบล็อกไปเกิดอาการขาแพลงตอนเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเสร็จแล้ว เลยตีรถกลับมาตัวเมืองสุโขทัยเลย ตั้งใจไว้ว่าจะต้องไปเก็บโบราณสถานที่ศรีสัชนาลัยอีกครั้งแน่ๆ)



เจ้าของบล็อกทำการบ้านมาระดับหนึ่งนอกจากการวางแผนการท่องเที่ยวคือไปอ่ายรายละเอียดของสถานที่ตามเวบไซด์ต่างๆจะได้ทราบคร่าวๆว่าอะไรห้ามพลาดเมื่อกลับมาแล้วก็ไปฟังคุณพชรและอ.สุเนตร คุยเรื่องเมื่องเชลียงและเมืองสุโขทัยใน youtube อีก เลยรู้สึกว่า “ศึก” ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก การหาข้อมูลจากในเวบไซต์น่าจะไม่พอเลยไปหาหนังสือเกี่ยวกับสุโขทัยและประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัยมาอ่านอีก จนถึงวันนี้ก็ยังอ่านหนังสือที่ซื้อมาไม่จบนะครับ แต่ (คิดเอาเองว่า) สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆได้พอสมควร



เจ้าของบล็อกขอนินทาเจ้าหน้าที่ขายบัตรเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนิดนึงครับ จำได้ว่าเมื่อประมาณ 5 - 6 ปีที่แล้วเจ้าของบล็อกเคยนำรถเข้าไปภายในอุทยานฯได้ แต่มาคราวนี้เอารถเข้าไปอุทยานฯไม่ได้ ด้องใช้รถรางของทางอุทยานฯ เท่านั้น อันนี้เจ้าของบล็อกเห็นด้วยนะครับ ตามเมืองมรดกโลกใหญ่ๆเช่นเวนิส หรือฟลอร์เรนซ์ ก็ห้ามรถยนต์ขนาดใหญ่วิ่งในเมือง ..... เจ้าหน้าที่หญิงที่ขายบัตรให้ “เหมารอบ” รถเลย อันนี้ก็เข้าใจได้อีกเพราะนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันน้อย ให้รอคงจะรอนาน แล้วเจ้าของบล็อกอยากจะถ่ายรูปแบบละเอียดๆ ทุกๆซอก ทุกๆมุม จะให้ไปแชร์รถกับคนอื่นก็เดี๋ยวต้องมาเกรงใจกัน คนอื่นก็ต้องรอนาน เจ้าของบล็อกเองก็ไม่ได้ถ่ายรูปจนพอใจ .......แต่เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกว่า “ใช้เวลาได้ประมาณชั่วโมงนึงนะคะ” ..... เจ้าของบล็อกก็ “เดี๋ยวก่อนนะ คุณบอกว่า “เหมา” ทำไมจำกัดเวลาชั่วโมงเดียวล่ะ” เจ้าหน้าที่บอกว่า “ชั่วโมงนึงน่าจะพอ ... เท่าที่เห็นยังไม่มีใครใช้เวลาเกินชั่วโมงเลย”...... (คุณยังไม่เคยเจอคนที่บ้าถ่ายรูปโบราณสถานอย่างเจ้าของบล็อก ... คิดในใจนะครับ)



เจ้าของบล็อกเลยถามว่าถ้าเดินเองได้มั๊ย .....เจ้าหน้าที่บอกว่าไกลนะ ..... อ้าว ไกลแล้วทำไมจำกัดเวลารถรางล่ะ ......เจ้าหน้าที่เลยบอก .....”ตามใจค่ะ” ...... ภูมิใจกับการบริการของกรมศิลปากรจริ๊งงงงงงงงง



“อาณาจักรสุโขทัย” ไม่ได้เกิดขึ้นในแผนที่โบราณภายในข้ามคืนนะครับ แต่เดิม “ขอม” มีอำนาจในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยไล่ขึ้นมาถึงภาคเหนือตอนล่าง (โบราณสถานบางแห่งของสุโขทัยและศรีสัชนาลัยก็ยังมีอิทธิพลของขอมอยู่ เช่น ปราสาทหินวัดชมชื่น ศรีสัชนาลัย หรือวัดพระพายหลวง สุโขทัย) จนกระทั่งขอมอ่อนกำลังลงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไทยจึงตั้งตนเป็นอิสระได้ (การตั้งตนก็ไม่ได้ง่ายแบบพลิกฝ่ามือ ต้องผ่านการสู้รบกันนานทีเดียวกว่าจะตั้งตนเป็นอิสระได้) เกิดผู้ปกครองคนไทยขึ้นคือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ครองทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองชเลียง เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชมน์ ขอมสบาดโขลญลำพง (ผู้รู้บอกว่าเป็นชื่อตำแหน่งไม่ใช่ชื่อตัว) ก็ได้กลับมาตีเมืองสุโขทัยได้อีก ต่อมาพ่อขุนบางกลางท่าวผู้นำกลุ่มคนไทยกับพ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม เจ้าเมืองรอด (ฉอด) กลับมายึดเมืองสุโขทัยคืนมาได้ สถาปนาพ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปกครองเมืองสุโขทัยเป็นการเริ่มต้นพระราชวงศ์พระร่วงปกครองกรุงสุโขทัยโดยศรีสัชนาลัยเป็นเมืองลูกหลวงที่พระโอรสองค์โตจะต้องไปปกครอง







เมืองเก่าศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมบริเวณที่แม่น้ำคดเป็นไส้ไก่หรือบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบันเรียกว่า “เมืองเชลียง หรือ เมืองเชลียงชมชื่น” เป็นเมืองคู่กันกับสุโขทัย ต่อมาเมืองเชลียงมีการย้ายเมืองมาอยู่ทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตรบริเวณแก่งหลวงเรียก “เมืองศรีสัชนาลัย” มีการสร้างกำแพงล้อมรอบเมืองเพื่อเป็นปราการป้องกันผู้รุกรานสันนิษฐานว่าเดิมคงพูนดินขึ้นมาเป็นเนินดินแล้วอัดให้แน่น มาก่ออิฐทับเนินดินในสมัยอยุธยาตอนต้น (ในสมัยอยุธยาตอนต้นสุโขทัยก็ยังมีอยู่นะครับจนเมื่อถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถสุโขทัยถึงได้หมดอำนาจจริงๆ) ผังเมืองศรีสัชนาลัยเป็นรูปรีทอดตัวไปตามลำน้ำยมควบรวมเอาเมืองเชลียงเอาไว้ด้วย โดยมีกำแพงเมืองส่วนที่ล้อมเขาพนมเพลิงเป็นศิลาแลงส่วนเชื่อมต่อกับวัดพระศรีมหาธาตุที่เป็นกำแพงดิน



กำแพงเมืองศรีสัชนาลัย  (ไม่รวมส่วนของเมืองเชลียง)  จริงๆมีผังเกือบจะเป็นรูปสีเหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงล้อมรอบ 3 ชั้น ชั้นนอกสุดกับชั้นกลางเป็นกำแพงดินอัดแน่นส่วนชั้นในสุดเป็นกำแพงศิลาแลงกว้าง 1.5 - 1.9เมตร สูง 2.6 – 3.8 เมตร มีความยาวโดยรอบ 3.79 กิโลเมตร มีประตูเมืองทั้งหมด 6 ประตู (ประตูรามณรงค์, ประตูเตาหม้อ, ประตูดอนแหลม, ประตูไชยพฤกษ์ และประตูชนะสงคราม เฉพาะที่ประตูรามณรงค์ ประตูดอนแหลม และประตูชนะสงครามเท่านั้นที่มีร่องรอยของป้อม)









ประตูรามณรงค์ อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในสุดด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 3.50 เมตร สูง 4 เมตร ฐานประตูเป็นแถวบัวคว่ำ กรอบนอกที่สี่มุมเป็นลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง บริเวณกึ่งกลางขอบประตูแต่ละด้านเจาะสกัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้าง 1.50 เมตรสำหรับติดตั้งโครงสร้างไม้ของประตู ถัดออกมาเป็นทางเดิน กรอบทางเดินก่อด้วยศิลาแลงภายในอัดแน่นด้วยดินลูกรังเป็นแนวยาวไปสู่ป้อมด้านหน้า









ตัวป้อมมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 18 X 22 X 3 เมตร ผนังด้านนอกสุดสกัดลงบนชั้นหินดินดาน ส่วนด้านอื่นๆก่อด้วยศิลาแลงก่ออย่างไม่เป็นระเบียบ ตัวประตูและป้อมล้อมรอบด้วยคูเมืองและสระท้องกุลี










ปัจจุบันประตูรามณรงค์เป็นประตูทางเข้าหลักของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อเดินผ่านประตูรามณรงค์เข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความร่มรื่น เงียบสงบ ถ้าไม่กลัวเหนื่อย เมื่อย เจ้าของบล็อกแนะนำให้ “เดิน” เที่ยวเอาเองดีกว่าครับ ได้บรรยากาศกว่าเยอะ













Chubby Lawyer Tour ............................. เที่ยวไป ................... ตามใจฉัน





SmileySmileySmiley

Create Date :10 มิถุนายน 2559 Last Update :10 มิถุนายน 2559 11:31:32 น. Counter : 4433 Pageviews. Comments :18