bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเชตุพน สุโขทัย, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 16° 59' 56.20" N 99° 42' 14.30" E



ดูแผนที่เพิ่มเติม




หายไปนานมากๆ เกือบปีอ่ะครับถ้าได้อ่านในบล็อกทำอาหารแล้วคงรู้ว่าย้ายบ้าน คอมฯเจ๊ง เปลี่ยนตารางชีวิตให้วุ่นวายไปหมด ตอนนี้ (คิดว่า) ทุกอย่างคงเข้าที่แล้ว คอมก็ซ่อมแล้ว มีเวลานั่งว่างๆก่อนไปรับหลานที่โรงเรียนก็เอามางานที่ชอบ และอาจจะทำประโยชน์ให้เกิดกับสังคมหน่อยครับ



วัดต่อไปที่จะพาไปเที่ยวกันในบริเวณใกล้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยก็อยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์สี่ห้องนะครับ จริงๆแล้วจะอยู่คนละฝังถนนแทบจะตรงกันข้ามกันเลยครับ วัดนี้เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโบราณสถานที่อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์(เส้นถนน ประตูนะโม – วัดเชตุพน) เลยนะครับ และยังมีความสวยงามแปลกตามากๆอีกด้วย จะสวยงามอย่างไร มีขนาดใหญ่แค่ไหนไปติดตามชมกันเลยครับ




วัดเชตุพน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย




วัดเชตุพน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากประตูนะโม (ประตูเมืองทางทิตใต้) ไปตามถนน นะโม – วัดเชตุพน ประมาณ 2 กิโลเมตร วัดเชตุพนตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับทางเข้าวัดเจดีย์สี่ห้องพอดีครับ






ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสร้างเมือใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าน่าจะสร้างหลังจากสมัยของพ่อขุนรามคำแหงเพราะในหลักศิลจารึกหลักที่1 (ที่รู้จักกันดี) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1835 ไม่ปรากฏชื่อวัดเชตุพน แต่มาปรากฎชื่อวัดเชตุพนในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1955 (อันนี้ก็เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ จริงๆแล้ววัดเชตุพน “อาจ” สร้างก่อนหรือหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ เพียงแต่ว่าในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งไม่ได้กล่าวถึงเท่านั้นเอง - เจ้าของบล็อก) และพบหลักศิลาจารึกวัดเชตุพน พ.ศ. 2057 ระบุว่าเจ้าธรรมรังสีซึ่งบวชได้ 22 พรรษา มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูป








วัดเชตุพน มีขนาดที่กว้างใหญ่มากๆ แค่กำแพงวัดชั้นนอกก็กว้างขวางมากๆ ภายในกำแพงชั้นนอกของวัดมีการวางผังของวัดที่สวยงาม ทำคูน้ำล้อมรอบถึง 2 ชั้น เจ้าของบล็อกคิดเอาเองนะครับว่าน่าจะเป็นวัดที่สำคัญหรืออาจจะเป็นวัดหลวงสร้างโดยพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้สร้างวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างวัดก็ดูแปลกตาไปจากวัดที่เป็นโบราณสถานอื่นๆที่เคยเห็นมา นอกจากจะใช้ศิลาแลงและอิฐอันเป็นวัสดุก่อสร้างที่พบเห็นได้ในโบราณสถานทั่วไปในสุโขทัยแล้ว ยังมีการใช้หินชนวนก้อนใหญ่ๆมาใช้ในการก่อสร้างอีกด้วย ทำให้วัดเชตุพนดูสวยงามแปลกตามากๆครับ



ก่อนที่จะเดินเข้ากำแพงต้องข้ามคูน้ำกว้าง 25 เมตร ล้อมรอบเขตพุทธาวาสยกเว้นพระอุโบสถเอาไว้ แล้วถึงเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบเขตพุทธาวาสยกเว้นพระอุโบสถไว้ทั้งหมด ขนาดของกำแพงอิฐ กว้าง 180 เมตร ยาว 200 เมตร






พอเดินผ่านซุ้มกำแพงวัดเข้าไปจะเห็นว่ารอบพระวิหารกับมณฑปตรงกลางมีคูน้ำกว้าง 10 เมตรล้อมรอบเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง พื้นที่ที่เป็นพระวิหารกับมณฑปกว้าง 35 เมตร ยาว 70 เมตร มีสะพานหินชนวนแผ่นใหญ่มากพาดข้าม (ไม่ทราบว่าเป็นของโบราณหรือเปล่านะครับ กรมศิลปากรชอบเล่นตลกกับโบราณสถานครับ) แนวแกนประธานของวัดเป็นแนวเดี่ยวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก โดยหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก (คือทางที่เดินเข้ามาครับ แสดงว่าวัดคงตั้งอยู่ริมถนนโบราณอย่างนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว)








พระวิหารก่อด้วยอิฐมีผังเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6 ห้อง กว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลาง ส่วนบันไดทางขึ้น –ลงหลังอยู่ค่อนไปทางมุมขวามือ และตามรูปแบบสันนิษฐานแล้วน่าจะเป็นพระวิหารแบบที่มีผนังทั้ง 4 ด้าน ผังของเสาพระวิหาร มี 2 แถว เสาที่อยู่รอบนอกทั้งหมดตามรูปแบบสันนิษฐานเป็นเสาที่รองรับชายคาพระวิหารมีขนาดเล็กและสั้นกว่าเสาพระวิหารแถวในทั้ง2 แถว เสาทำจากศิลาแลงเป็นก้อนๆซ้อนกันแล้วโกลนเป็นรูปเสากลมแล้วฉาบปูนทั้งต้น พื้นพระวิหารปูด้วยอิฐ ที่ท้ายพระวิหารมีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน ฐานชุกชีมีสองระดับครับ น่าจะสำหรับการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและพระพุทธรูปองค์อื่นๆอีกหลายองค์











ด้านหลังพระวิหารในแนวเดียวกันกับพระวิหารเป็น “มณฑปพระสี่อิริยาบถ” ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักของวัดแทนเจดีย์ มีรั้วหินชนวนเป็นระแนงกั้นแบบปิด 3 ด้าน คือด้านข้างทั้ง 2 ด้าน และด้านหลัง ทั้งสามด้านนี้มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ตรงกึ่งกลางทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านหน้ามีรั้วหินชนวนกั้นแต่ไม่ตลอด เว้นด้านขาวและซ้ายเป็นทางเข้า ตังมณฑปมีลักษณะเป็นอาคารปิดรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่สร้างค่อนมาทางด้านหน้าของรั้วใกล้กับพระวิหาร มณฑปสร้างด้วยหินชนวนเป็นหลัก กว้างยาวด้านละ 11 เมตร ผนังของมณฑปทำจากหินชนวนแท่งใหญ่ๆ ทำเป็นเดือยแบบเข้าไม้ ปัจจุบันรั้วหินชนวนหักพังลงเกือบหมดเหลือให้เห็นแต่ด้านที่ติดกับพระวิหารเท่านั้น












ตรงกลางมณฑปเป็นพระสี่อิริยาบถขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐและจะมีเสาค้ำหลังคาทำด้วยศิลาแลงตัดเป็นก้อนกลมขนาดใหญ่ซ้อนกันแล้วโกลนเป็นรูปเสาอยู่โดยรอบ


ด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา (เดิน)

ด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน

ด้านทิศตะวันเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง

ด้านทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปนอน(ไสยาสน์)


พระพุทธรูปปางประทับนั่งกับปางไสยยาสน์ได้หักพังลงมาหมดแล้วแทบจะไม่เห็นร่องรอยไว้ให้จิตนาการเลยครับ  แต่ปางลีลากับปางประทับยืนยังสมบูรณ์อยู่มากครับ







ด้านหลังมณฑปพระสี่อิริยาบถมีมณฑปขนาดย่อมลงมาหน่อยก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้างยาวด้านละ 7 เมตร มีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป ระหว่างมณฑปพระสี่อิริยาบถกับมณฑปขนาดย่อมมีรั้วหินชนวนกั้นไว้ด้วย






นอกจากนั้นยังมีซากสิ่งก่อสร้างต่างๆ เจดีย์ อยู่อีกมากครับ เจ้าของบล็อกไม่ได้เดินไปดูพระอุโบสถเพราะไม่ทราบมาก่อนว่ามีพระอุโบสถด้วย เพิ่งจะมารู้ก็เมื่อตอนหาข้อมูลทำบล็อกนี่แหละคราบ


วัดเชตุพนเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามแปลกตา ถ้าจะมาเที่ยวชมควรจะเผื่อเวลาไว้เยอะๆนะคราบ




SmileySmileySmiley

Create Date :09 มกราคม 2561 Last Update :9 มกราคม 2561 9:13:50 น. Counter : 1752 Pageviews. Comments :9