bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเจ้าจันทร์ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ศรีสัชนาลัยสุโขทัย, สุโขทัย Thailand
พิกัด GPS : 17° 25' 42.89" N 99° 48' 16.92" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 






บล็อกในปีนี้ก็ยังเป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้เคยไปเที่ยวมามาโพสเหมือนปีที่แล้วครับ  เนื่องจากเจ้าของบล็อกกักตัวเองอยู่กับบ้านมาเป็นปีแล้วครับ  ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น 
 



 
 
บล็อกนี้จะเป็นบล็อกสุดท้ายที่จะพาไปเที่ยวโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  อำเภอศรีสัชนาลัย  สุโขทัย  กันนะครับ  บล็อกท่องเที่ยวไทยบล็อกถัดไปจะพาไปเที่ยวโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  อำเภอเมือง  สุโขทัยกันนะครับ
 
 
 




 
วัดเจ้าจันทร์  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย 

ศรีสัชนาลัย  สุโขทัย 
 






 





 

วัดเจ้าจันทร์  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ศรีสัชนาลัย  สุโขทัย  เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายนอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย  ค่อนมาทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ศรีสัชนาลัย  ห่างจาก  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ศรีสัชนาลัย   400  เมตร  สามารถเดินเที่ยวชมจากวัดชมชื่น  (ในบล็อกที่แล้ว)  มาถึงวัดเจ้าจันทร์ได้เลยครับ
 







 
 





อย่างที่ได้เคยเล่าให้ฟังในบล็อกเที่ยวทั่วไทย  2  บล็อก  ก่อนหน้านี้ว่า  พื้นที่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุศรีสัชนาลัย  วัดชมชื่น  และ 
วัดเจ้าจันทร์  เป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานมาก่อนยุคสุโขทัย  ยิ่งกว่านั้นก่อนที่จะเป็นเมืองเชลียงซะอีกครับ







 
 





 
จากการศึกษาขุดค้นบริเวณชั้นดินซึ่งแสดงถึงชั้นวัฒนธรรมที่มาก่อนเมืองเชลียง  ย้อนไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 9  พบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์  12  โครง  และจากแบบแผนการฝังศพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทวาราวดี  กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่  10 – 11  และจากการขุดค้นของกรมศิลปากรในการสำรวจตลิ่งแม่น้ำยมเมื่อเดือน ก.ค.  2536  พบกลุ่มโบราณสถาน  เศษถ่าน  ดินเผาหนาแน่นอยู่ลึกลงจากผิวดินประมาณ 5-6 เมตร  และพบโถเคลือบสีขาวคล้ายเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง  สันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่  11 - 15







 
 



 
และอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อตอนต้นแล้วว่า 
วัดเจ้าจันทร์  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  เป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัย  ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด  ตัวโบราณสถานโดยฉพาะตัวปราสาทกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่  18   ร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายน  คาดว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7  ในยุคที่ขอมยังมีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้อยู่  (ก่อนที่จะมาถึงสมัยสุโขทัย)







 
 




ชื่อของ 
วัดเจ้าจันทร์  ยังปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว   “เที่ยวเมืองพระร่วง”  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่าเป็นเทวสถานหรือศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  เพราะมีปรางค์ทำนองเดียวกับวัดศรีสวายและวัดพระพายหลวงของเมืองสุโขทัย  และพบเศียรพระศิวะทำจากศิลาและมีอุณาโลมด้วย






 




 
ผังของ 
วัดเจ้าจันทร์  วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก  โดยมีปราสาทเป็นประธานของวัด 
 


 
ด้านหน้าสุดจะเป็น
  วิหาร  จากการขุดค้นแล้วพบว่าสร้างภายหลังปราสาท  โดยการถมอัดลูกรังบริเวณรอบๆปราสาทแล้วสร้างวิหาร  จึงทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ - บัวหงายของปราสาทจมอยู่ใต้ดิน
 


 

วิหาร  ก่อด้วยศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาด  7  ห้อง  มีมุขโถงยื่นไปทางด้านหน้า  มีบันไดทางเข้า –  ออก  ตรงที่ติดกับมุขกลางทั้งสองข้าง 








 




 







เสาวิหารทำจากศิลาแลงตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมวางซ้อนสลับกัน







 
 



 
ด้านในเป็นฐานชุกชีสูง  อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุม  พบโกลนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ







 
 



 
ด้านหลังวิหารมี 
ปราสาท  ที่มีอายุเก่าแก่กว่าวิหาร
 



 
ตัวปราสาทอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส  เป็นปราสาททรงจัตุรมุข  (รูปทรงคล้ายๆเครื่องหมายบวก)  ฐานปราสาทเป็นฐานหน้ากระดานหรือฐานเขียง  (ฐานรูปสี่เหลี่ยมเรียบๆ)  สันนิษฐานว่าอาจจจะมีฐานบัวคว่ำ – บัวหงาย  รองรับอีกชั้นหนึ่งอยู่ใต้ผิวดิน  เนื่องจากพบระเบียบของฐานลูกบัวรอง  1  ชั้น  รองรับอยู่ – คล้ายๆกับที่ 
ปราสาทตาผาแดง  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 
 
 








 






ถัดขึ้นไปจากชั้นฐานเป็นชั้นเรือนธาตุ  (ตัวปราสาท)  ก่อด้วยศิลาแลง  อยู่ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบ  ยังคงหลงเหลือร่องรอยปูนปั้นประดับตกแต่งนิดหน่อยตรงใกล้ๆฐาน 








 






 
เรือนธาตุทำเป็นมุขยื่นออกมาเล็กน้อยเพื่อทำเป็นซุ้มประตูทั้ง  4  ด้าน  (จัตุรมุข)  แต่จะมีทางเข้าจริงเพียงด้านเดียวคือด้านตะวันออก  ที่เหลือทั้ง  3  ด้านเป็นประตูหลอก  (แต่จะเป็นมากกว่าประตูหลอกคือทำเป็นซุ้มเว้าเข้าไปเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ  โดยพบฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสติดกับกำแพงด้านใน)
 






 




 
ซุ้มประตูก่อแบบลดหลั่น  เหลื่อมกันเป็นซุ้มโค้ง


หน้าบันเหนือกรอบประตูมี  2  ชั้น  ชั้นแรกจะยื่นออกมารับกับมุขของเรือนธาตุ  ส่วนหน้าบันชั้นบนจะถดเข้าไปเล็กน้อย 







 





 
ถัดขึ้นไปเป็นชั้นรัดประคด  หรือ  ชั้นวิมาน  มี  3  ชั้น  ลดหลั่นกันขึ้นไป  แต่ละชั้นมีซุ้มช่องบัญชรเป็นลักษณะเสาตั้งคานทับขนาดเล็ก  (ลักษณะคล้ายๆประตูปราสาท)  มีปีกนกและกลีบขนุนประดับตกแต่งทั้ง  3  ชั้น
 


ด้านบนสุดเป็นชั้นบัวกลุ่มยอดปราสาท  และกลศ








 










 
ด้านในห้องครรคฤหะพบฐานชุกชีและโกลนพระพุทธรูป
 









 
ด้านเหนือติดๆกันกับปราสาทมี 
มณฑป  สร้างด้วยศิลาแลง  ก่อผนังสูงทึบ  3  ด้าน  เว้นด้านทิศเหนือเพื่อเป็นทางเข้า   ด้านในพบโกลนพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบพระองค์  1  องค์  (พระอัฐารส)  หลังคาสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องไม้  มุงด้วยกระเบื้อง  เพราะพบกระเบื้องหลังคาแตกกระจายอยู่ทั่วไป
 






 


 






มีข้อสันนิษฐานหลายทางว่า 
ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธเป็นอะไรกันแน่
 
 



ศาสตราจารย์ฌอง  บวสเซอริเยร์  (Jean  Boisselier)  นายเอ บี  กริสโวลด์  และศาสตราจารย์หม่อมเจ้าศุภัทรดิส  ดิสกุล  สันนิษฐานว่าเป็นธรรมศาลา  หรือที่พักคนเดินทาง  ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7  เนื่องจากอาคารรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7 
 



 
 
อาจารย์พิริยะ  ไกรฤกษ์  มีความเห็นว่า  ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ไม่น่าจะเป็นธรรมศาลาดังที่ปรากฎในหลักศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์  เนื่องจากผังของธรรมศาลาในทุกๆที่ที่พบจะมีผังที่เหมือนกัน  แต่ผังของปราสาทวัดเจ้าจันทร์กลับแตกต่างออกไป  เช่น  ผังของปราสาทเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุม  แต่น่าจะเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นไล่เลี่ยกับพระศรีรัตนมหาธาตุชเลียง
 
 
 



 
ล่าสุด  อาจารย์วรนัย  พงศาชลากร  นักค้นคว้าด้านโบราณคดีมีความเห็นว่า  ปราสาทวัดเจ้าจันทร์  น่าจะสร้างขึ้นภายหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7  ประมาณต้นพุทธสตวรรษที่  19 
 



 
โดย  อาจาราย์ฉันทัศ  เพียรธรรม  สรุปข้อแตกต่างจากการสร้างปราสาทในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่  7  3  ประการคือ
 


 
1. ไม่มีประตูหลอก  แต่จะทำเป็นช่องเว้าหรือซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ


 
2. ปกติปราสาทประธานของขอมจะมีชั้นซ้อน  4  ชั้น  รวมกับชั้นหลักเป็น  5  ชั้น  แต่ปราสาทวัดเจ้าจันทร์มีชั้นซ้อน  3  ชั้น


 

3. ปราสาทขอมจะมีบรรณแถลงทั้ง  4  ทิศ  และนาคปักที่มุมทั้ง  4  แต่ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ไม่มีบรรณแถลง จะมีแต่ส่วนหน้าบัณที่ยืดสูงขึ้นไป
 
 



อาจารย์วรนัย  พงศาชลากร  ยังกล่าวอีกว่า  ในศิลาจารึกหลักที่  2  บรรทัดที่  39  มีข้อความปรากฏว่า 
 


 

“พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดนั้น  ให้สร้างเจดีย์มีคุณแก่ท้าวพระยา  เป็นอาจารย์พระนธิบาลแก่ฝูงกษัตราธิราชทั้งหลาย  มาสถิตอยู่ในศรีเสชนาไล”
 



 
เพราะฉะนั้นปราสาทวัดเจ้าจันทร์ก็อาจจะสร้างโดยพ่อขุนผาเมือง  หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  7  โดยมีรูปแบบ  “คล้ายๆ”  กับปราสาทในศิลปะบายนก็ได้
 
 
 





ขอบพระคุณท่านที่มีรายนามดังต่อไปนี้ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ
 
 
 
 
 
 

Thailand  Tourism  Directory  -  วัดเจ้าจันทร์

 
Human  Excellence  -  33.  วัดเจ้าจันทร์  ศรีสัชนาลัย

 
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  -  วัดเจ้าจันทร์

 
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย – วัดเจ้าจันทร์


สารนิพนธ์ “ตรวจสอบหน้าที่การใช้งานของปราสาทวัดเจ้าจันทร์จากหลักฐานศิลปกรรม” โดย  พรพิมล  ระวัง 
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร 



 
ปริศนา ใครสร้างปราสาทเจ้าจันทร์ ไม่ใช่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7? – เสียงสะท้อนอดีต



















 
 
 
Create Date :07 กุมภาพันธ์ 2565 Last Update :7 กุมภาพันธ์ 2565 12:21:52 น. Counter : 915 Pageviews. Comments :21