Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
18 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

ร้อยรวงใจ ๓๗ (ธัญรัตน์)




อากาศยามเช้า ๆ ที่มีลมพัดเย็น ๆ สร้างความสุขใจให้กับร่างบอบบางที่เดินทอดน่องไปตามคันนา พร้อม ๆ กับรอยยิ้มแห่งความภาคภูมใจเป็นที่สุด ที่เธอได้มีโอกาสมายืนดู ท้องทุ่งนาที่แทบจะทุกเขตคามต่างก็เต็มไปด้วยต้นข้าวที่เมื่อเดือนที่แล้วยังสีเขียวขจีอยู่ แต่ตอนนี้มันเริ่มมีสีเหลือง ๆ ปนเข้ามาบ้างแล้ว

รวงข้าวที่ต่างพากันโก่งรวงโค้ง ๆ เป็นรูปเคียวเต็มไปด้วยหมอก ยอดหญ้าตามคันนาก็ไม่ยอมน้อยหน้า เท้าเล็ก ๆ เรียว ๆ รู้สึกเย็นสบายอย่างบอกไม่ถูก เมื่อเดินไปกระทบกับหยดน้ำค้างบนยอดหญ้า กล้องวีดีโอถูกเธอถ่ายเอาไว้แทบจะทุก ๆ ขั้นตอนที่ต้นข้าวของเธอเปลี่ยนรูปร่าง ตั้งเริ่มปลูกมาจนถึงเดี๋ยวนี้

“ป้าสิเฮ็ดเข่าเหม่าให้คุณเข่ากิ๋น” (ป้าจะทำข้าวเม่าให้คุณข้าวกิน)
ป้าหวางบอกเอาไว้ก่อนที่จะใช้เคียวเกี่ยวเอาข้าวที่เม็ดด้านในนุ่ม ๆ อยู่ พอได้ปริมาณที่ต้องการแล้ว ป้าหวางก็มัดเข้าด้วยกัน ก่อนจะใช้ไม้คานหาบไปกองเอาไว้โดยมีแต๋นและไข่คอยช่วย
“มื่อนี่ลุงสิมาเอาปาข่อนนำแจไฮนา” (วันนี้ลุงจะมาเอาปลาค่อนตามมุมตานา)
ลุงคำบอก ก่อนที่จะสะพายข้องลงไปในนา ก่อนใครเพื่อน ส่วนเธอพร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ ตามไปติด ๆ แล้วเจ้าปลาค่อนของลุงคำก็ทำให้เธอละลานตาไม่น้อยเลย เธอรีบแหวกต้นข้าวถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ เพราะตามมุม ๆ ของนาข้าวแต่และตานั้น
น้ำที่กำลังจะแห้งขอดต่างก็ไหลลงมารวมกันในที่ต่ำ หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่า “ข่อน” ปลาที่มีอยู่ในนาข้าวไม่รู้จะไปไหน ก็ได้แต่ว่ายไปรวมตัวกันอยู่ตรงมุมนั้น และมันก็ง่ายสำหรับลุงคำที่จะจับเอาปลาพวกนั้นด้วยมือเปล่า ๆ ถึงเป็นที่มาของคำว่า

“ปาข่อน” ซึ่งก็คือปลาที่ใกล้จะเกยตื้นนั่นเอง

“นี่ ๆ คุณ เขาให้มาช่วยจับปลานะไม่ใช่ถ่ายวีดีโอ” เขมินท์ที่เดินตามมาแหย่เธอจนได้
“เรื่องเชอะ”
เธอเบ้ปากใส่แล้วก็ปิดกล้องเก็บใส่กระเป๋าเอาไว้ เพราะได้ภาพตามที่ต้องการแล้ว จากนั้นก็รีบเดินลงในนาข้าว ตามลุงคำและคืนอื่น ๆ ไป ปล่อยให้เขามองตามไปด้วยความหมั่นไส้ ขณะที่มือก็ถลกขากางเกงยีนส์ขึ้นไปที่เข่า เพราะแรกทีเดียวเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะมานักหรอก แค่มาดูลุงเพ็งจับปลาตามปกติ แต่พอเห็นร่างบาง ๆ เดินวนอยู่ในนา ก็เกิดนึกสนุกขึ้นมาทันที จนต้องเดินมาหาเธอ

“อ้ายน้ำมาพี่ ๆ ปาล๊ายหลาย” ไข่ที่วันนี้เป็นวันหยุดของเขาจึงถือโอกาสมาจีบสาว (พี่น้ำมาทางนี้ ปลาเยอะแยะ)
“ว้าว ปลาเยอะแยะเลย แล้วเราจะเอามันไปทำอะไรล่ะ ฉันชักจะสงสารมันแล้วสิ ถ้าเราทำให้มันตาย ก็แปลว่าเราทำบาปหน่ะสิ หลวงตารู้ต้องเอ็ดฉันแน่ ๆ เลย” เธอหันไปพูดกับแต๋น
“โธ่คุณ จะใจบุญให้มันน้อย ๆ หน่อยก็จะดีอยู่หรอกนะ ปลาพวกนี้ถึงเราไม่มาจับ มันก็จะตายเพราะน้ำกำลังจะแห้ง สู้เราจับแล้วเอาไปกินเป็นอาหารดีกว่า คนอีสานนี่ไม่ใช่จะร่ำรวยกันทุกคน จนจะเมินปลาพวกนี้ได้ พวกเขาจะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหมือนกันนะ แล้วปลาก็เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนมันไม่บาปหรอก” เขาอดหมั่นไส้ไม่ได้

“เรื่อง ใครพูดด้วย” เธองอนตุ๊บป่อง ๆ เขามาตั้งแต่คราวโน้นแล้ว ยังไม่ยอมหายสักที
“อ้าว ก็ไม่มีใครตอบผมก็ตอบให้ไง โน่น ๆ ปลาว่ายไปตรงโน้นแล้ว เร็ว ๆ เข้า มัวชักช้าเดี๋ยวก็แพ้ลุงคำกันพอดี”
เขาชี้ให้เธอรีบจับปลาขาวนาตัวเขื่องที่น้ำมีไม่พอให้มันว่ายตัวตรง ๆ จนต้องนอนตะแคงว่ายไปมา
“ยุ่งฉันจะจับเอามันไปปล่อย คุณช่วยไปเอากะละมังนั่นใส่น้ำให้หน่อยได้มั้ย”
เธอรีบใช้ปากชี้แทน เพราะมือไม่ว่างกำลังหอบเอาปลาไว้เต็มมือ เขาได้แต่ทำตามที่เธอบอก เพราะขี้เกียจขัดใจ

“เอ้า แม่พระ” เขาวางกะละมังไว้ตรงคันนาแล้วก็ลงไปใหม่
“โอ้โห ลุงคำเก่งจังเลย” เธอร้องเมื่อลุงคำโกยปลาจากน้ำมาได้เป็นข้อง ๆ มาเทใส่ถังเอาไว้ แล้วก็ลงไปใหม่
“ว้าวดูสิปลาเต็มไปหมดเลย ทำไมมันมีเยอะอย่างนี้นะ แล้วฉันจะช่วยตัวไหนก่อนล่ะทีนี้ คุณ ๆ ช่วยจับตัวนั้นให้หน่อยสิ นั่น ๆ ที่วิ่ง ๆ อยู่นั่นล่ะ” เธอชี้นิ้วไปทั่ว ส่วนตัวเองก็เปลี่ยนจากยืนแล้วก้ม เป็นนั่งยอง ๆ และสุดท้ายก็คุกเข่าลงไปในนาและคานไปจนทั่วนั่นล่ะ ทั้งโคลนทั้งน้ำกระเด็นกระดอนใส่เสื้อผ้า หน้าผม โดยที่เจ้าตัวไม่ได้สนใจอีกแล้ว เพราะความที่อยากจะช่วยปลาให้รอดตาย

เขมินท์อดขำกับท่าทางของหญิงสาวแทบไม่อยู่ นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ เขาเองก็ไม่แน่ใจนักว่าเธอจะลงไปร่วมคลุกโคลนกับคนอื่นแบบนี้มั้ย ภรัณยาวันนั้นกับวันนี้ไม่ได้ห่วงสวยน้อยลงไปกว่าเดิมหรอกในความคิดของเขา แต่พักหลัง ๆ มานี้เธอมักจะอาบน้ำเร็วขึ้นกว่าเก่าในช่วงเวลาที่รีบร้อน เธอมักจะลืมห่วงสวยในเวลาที่เร่งรีบ หรือมีอะไรให้ตื่นเต้น ๆ แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งนั่นก็ไม่แย่สักเท่าไหร่ในความรู้สึกของเขานัก

“นี่คุณ จับปลาหน่ะระวัง ๆ หน่อยนะ มันมีปลาดุกและปลาแขยงที่มีครีบเป็นหนามคม ๆ ถ้าได้ปักมือเข้าไปนะ ผมรับรองว่าคุณจะเข็ดไปอีกนานเลยล่ะ” เขาเตือนเมื่อเห็นเธอสนุกสนานใหญ่ แต่เธอไม่สนใจกับคำบอกเล่าของเขาเลย
“น้าน้ำ ๆ โอ๊ย มาไป่เบิงเข่าไห่ลุงแน่เร็ว ๆ” ลุงเอิบที่อยู่นาข้าง ๆ วิ่งมาหาเขา
(น้าน้ำ ๆ โอ๊ย ช่วยไปดูข้าวให้ลุงหน่อยเร็ว ๆ)
“เป๋นอีหยังล่ะคับลุง” เขาถามแต่ยังยืนอยู่ที่เดิม (เป็นอะไรล่ะครับลุง)
“จั๊กเพี้ยอีหยังบุ๊มันกิ๋นเข่าลุง ไป่เบิงไห่ลุงเร็ว ๆ แน” ลุงเอิบบอกทั้ง ๆ ที่ยังยืนหอบแฮ็ก ๆ อยู่ตรงคันนานั้น
(ไม่รู้ว่าเพลี้ยอะไรมันกินข้าวลุง ไปดูให้หน่อยเร็ว ๆ)
“คับ ๆ ไป่เดียวนี่คับ” เขารีบขึ้นจากนาแล้วก็เดินผละจากเธอไป

“โอ๊ย เพี้ยกระโดดสีน้ำตาลตั๊วลุง มันกิ๋นตั้งแตมื่อได๋แล่วน้อ มื่อวานนี่ผมมาซองเบิงนาคุณเข่ากะบ่มีตั๊ว แตวาบ่ได้มาเบิงทางนาลุงดอก คึดวาลุงคือสิมาเบิงคูมื่อ ๆ แล่ว” เขาบอก (โอ๊ย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลครับลุง มันกินตั้งแต่เมื่อไหร่นี่ เมื่อวานผมก็มาดูนาคุณข้าวไม่เป็นมีเลย แต่ว่าไม่ด้าดูนาลุงหรอก คิดว่าลุงคงจะมาดูทุกวัน ๆ แล้ว)
“โอ๊ย ลูกลุงมันบ่ซำบายยูกุ่งเทพฯ พู่น กะเลยไป่หามัน กับมากะเห็นแบบนี่ล่ะ โอ้ย สิเฮ็ดจั๋งได๋ดีน้อ เบิดโทงเลยเข่าลุง แล่วสิเอาเงินทางได๋ไป่ไซ้หนี่ธนาคารน้อ โอ๊ย ๆ แมมึง มันคือเป๋นจั๊งซี่น้อ ๆ เข่ากำลังสิได้เกี่ยวแล่วนา มาคือซวยคักแท่น้อ”
ลุงเอิบโอดครวญกับป้าลิ่มที่นั่งหน้าเศร้าอยู่ตรงคันนาไม่ยอมพูดจากกับใครเลย
(โอ๊ย ลูกลุงมันไม่สบายอยู่กรุงเทพฯ โน่น ก็เลยไปเยี่ยมมัน กลับมาก็เห็นแบบนี้ล่ะ โอ๊ย จะทำยังไงดีล่ะ ข้าวลุงหมดแปลงเลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้นี้ธนาคารล่ะ โอ๊ย ๆ แม่ทำไมมันเป็นแบบนี้น้อ ๆ ข้าวกำลังจะได้เกี่ยวแล้วด้วย ทำไมมันซวยยังงี้)
“มีอะไรกันคุณ” ภรัณยาเห็นท่าไม่ดีก็เลยเดินตามมาดู
“เพลี้ยลงข้าวลุงเอิบดูสิหมดเลย ไม่รู้จะเกี่ยวได้กี่เกวียนกัน คุณหน่ะโชคดีนะที่ไม่โดนไปด้วย ไม่งั้นนะหมดแน่ ๆ” เขาบอก

“เหรอ แล้วลุงจะทำยังไงต่อไปล่ะคะ น่าสงสารแกจังเลย แกร้องไห้ด้วย ป้าลิ่มคะเป็นยังไงบ้าง”
เธอพูดแล้วก็เดินลงไปนั่งคุกเข่าอยู่ใกล้ ๆ ป้าลิ่มและลุงเอิบที่นั่งกอดคอกันร้องไห้ออกมาด้วยความเสียดายข้าวที่กำลังจะได้เกี่ยวในอีกไม่กี่วัน
“ลุงเลาแฮงวาสิได้เข่าเทือนี่สิไซ้หนี่ไห่เบิด เฮ็ดนากะแฮงเฮ็ดยาก ๆ กัวสิได้ดิ้นล่มดิ้นตาย”
ป้าลิ่มหันมาหาเธอแล้วก็ร้องไห้ออกมา ภรัณยาไม่เข้าใจภาษาถ่องแท้นัก แต่เธอรับรู้ว่าทั้งสองคนนั้นเสียใจมาก ๆ ที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น (ลุงแกยิ่งบอกว่าได้ข้าวคราวนี้จะใช้หนี้ให้หมด ทำนาก็ยิ่งลำบากกว่าจะได้ก็แทบล้ำแทบตาย)
“ลุงผมวาไป่เอายามาสีดซุมเข่าทีเหลือซะก๊อนไป๋ เพี้ยมันลี่ยูนำต้นเข่ากะมีอีก”
เขาบอกเมื่อกลับจากเดินสำรวจดูทั่ว ๆ บริเวณแล้ว (ลุงผมว่าไปเอายามาฉีดพวกข้าวที่เหลือก่อนเถอะ เพลี้ยมันซ่อนอยู่ตามต้นข้าวก็มีอีก)
“คับ ๆ ลุงสิฟ่าวเมือเอายาก๊อน ไป๋แมมึงเมือยูเฮือนดีกัว” (ครับ ๆ ลุงจะรีบกลับไปเอายาก่อน ไปเถอะแม่มึงกลับไปอยู่บ้านดีกว่า)
ลุงคำบอกและก็รีบดึงเอาแขนเมียรักเดินจ้ำอ้าวไป

“สงสารแกนะคุณ แล้วเราจะช่วยยังไงได้ล่ะคะ” เธอบ่นเมื่อกลับเข้ามาที่เอาปลาค่อน
“เอาไว้รอให้คุณพ่อคิดดีกว่า ผมยังไงก็ได้แล้วแต่คุณพ่อ” เขาบอกก่อนที่จะเดินลงไปในนาอีกครั้ง
“คุณข้าวรีบ ๆ นะคะเราต้องกลับไปช่วยป้าหวางทำข้าวเม่าอีก แต๋นอยากจะกินแล้วค่ะ” แต๋นบอกเมื่อเห็นเจ้านายหายไป
“ค่ะคุณแต๋น อีฉันจะรีบเดี๋ยวนี้ล่ะค่ะ ว่าแต่ทำไมลุงคำกับไข่ได้ปลาเยอะจังเลยล่ะ โอ้โห ดูสิคุณ แล้วเราจะเอาปลาไปทำอะไรกินล่ะ จะกินกันเข้าไปหมดเหรอ มีเป็นกะละมัง ๆ แบบนี้” เธออดสงสัยไม่ได้

“แหมคุณ เขาก็เอาไปแปรรูปของเขาบ้างสิ เมนูมีเป็นร้อย ๆ แล้วคุณจะได้เห็นว่าภูมิปัญญาชาวบ้านชาวอีสานหน่ะล้ำเลิศเป็นไหน ๆ เอ้า รีบ ๆ เร็ว จับตัวนั้นด้วยว่ายจู๊ด ๆ ไปโน่นแล้ว นี่เห็นมั้ยปลาช่อนตัวเบ่อเร่อเลย ทำแบบนี้ได้หรือเปล่า”
เขาชูปลาช่อนในมืออวดเธอ พร้อมกับยักคิ้วให้เธอหมั่นไส้เล่น ๆ
“แหม แค่นั้นทำเป็นคุย รอดูฉันหน่อยเหอะ เดี๋ยวจะได้อายย้อนหลังล่ะคราวนี้”
เธอบอกเพราะมองเห็นปลาตัวเบ่อเร่อไม่แพ้เขาจับได้ จึงรีบตะคุบทันที แต่ก็คว้าน้ำเหลวแทน แล้วเธอก็มุด ๆ ต้นข้าวตามมันไปเรื่อย ๆ ด้วยความสนุก

“โอ๊ย อะไรกัด หือ ๆ ๆ ปลา ๆ ปลากัดมือฉัน โอ๊บเจ็บจังเลย ปวดด้วย”
เธอยกนิ้วชี้ที่ก็มีปลาแขยงเอาครีบทิ่มไปแล้วตัวก็ติดมากับนิ้วของเธอด้วย
“นั่นประไรผมบอกแล้ว มานี่ค่อย ๆ นะ” เขารีบเดินตรงมาหา แล้วก็ค่อย ๆ ดึงเอาปลาออกจากนิ้วเธอ
“โอ๊ย เบา ๆ สิ เจ็บนะ” เธอร้องเมื่อปลาหลุดติดมือเขาไป
“เจ็บมั้ยคุณข้าว” แต๋นร้องมาถาม
“เจ็บสิถามได้ มาลองหน่อยมั้ยยายแต๋น” เธอแหวใส่เพราะมันเจ็บและเริ่มปวดจนน้ำตาไหลออกมาทีเดียว
“อุ๊ย งานเข้าอีกแล้ว” แต๋นทำหน้าเจื่อน ๆ

“มานี่มา ล้างมือล้างหน้าก่อน” เขาจูงเธอขึ้นมาแล้วก็เอาน้ำในถังที่ตักมาไว้ขังปลา ให้เธอล้างหน้าและล้างมือแทน
“พาฉันไปหาหมอทีสิ ปวดจะแย่อยู่แล้ว” เธอบอกด้วยน้ำเสียงอ่อย ๆ น้ำตาก็ไหลแหมะ ๆ ลงมา
“โอ๊ย คุณเข่าผะสาปากะแยงปักซือ ๆ เขาบ่ไป๋หาหมอดอก เบิงผมดู๊ถืกปักตั้งหลายเทือแล่วยังบ่เป็นอีหยังเลย”
ไข่บอกพร้อมกับหัวเราะออกมาด้วยความขำ (โอ๊ย คุณข้าวแค่ปลาแขยงปักเฉย ๆ เขาไม่ไปหาหมอหรอก ดูผมสิโดนปักตั้งหลายทีแล้วยังไม่เป็นอะไรเลย)
“นี่พี่ไข่ คุณข้าวหนังบางนะ ใครจะไปหนังหนาเหมือนตัวเองล่ะ” แต๋นรีบสวนแทนเจ้านาย
“ฮื่อ ๆ ปวดจังเลย มียาให้ฉันกินหรือเปล่า ทำไมมันปวดแบบนี้ล่ะ” เธอโอดครวญ
“น้าน้ำกะพาคุณเข่าไปหาพอตู้เหยือยหั่นเด๊ เลาฝนยาไห่กิ๋นสองอืนทอนั่นตั๊วกะเซา พาเลาไป๋โลด เอารถไว้คันนึง ป้าเอ่าปาค่อนเบิดแล่วป้าสิเมือเฮือนเลย” ป้าหวางออกความคิด ทำให้เขาพลอยคิดได้ (น้าน้ำก็พาคุณข้าวไปหาพ่อเฒ่าเหยือยนั่นไง แกฝนยาให้กินสองกลืนแค่นั้นแหละ พาแกไปเลยเอารถไว้คันหนึ่ง ป้าเอาปลาค่อนหมดแล้วป้าจะกลับบ้านเลย)

“ไปคุณผมจะพาไปหาหมอ ไข่เอากุญแจรถไป เสร็จแล้วก็เจอกันที่บ้านโน่นเลยนะ”
เขาโยนกุญแจรถเขาให้ไข่ เพราะจอดไว้ที่บ่อปลาซึ่งไกลกว่ารถของเธอที่จอดไว้เถียงนาเขา
“ฮื่อ ๆ ทำไมมันปวดจังเลย”
เธอร้องไห้ออกมาเพราะมันปวดจริง ๆ เขาเอื้อมมือไปจับมือของเธอเอาไว้ ขณะที่ขับรถตรงไปบ้านหมอยา
“อีกหน่อยก็หายนะ” เขาบอกและกุมมือเธอเอาไว้ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอบอุ่นไม่น้อย แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้หายปวดเลย
“เมื่อไหร่จะถึงซักทีล่ะ” เธออดถามไม่ได้เพราะปวดหนักเข้า ๆ แล้ว
“ถึงแล้ว ๆ”

แล้วเขมินท์ก็นำรถเลี้ยวเข้าไปจอดที่ลานบ้านหลังเก่า ๆ เล็ก ๆ แต่ต้นไม้ล้อมรอบบ้านแทบจะมองจากข้างนอกเข้ามาไม่เห็น เขาพาเธอเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้นอย่างไม่รอช้า ไม่นานก็พบกับลุงแก่ ๆ ที่นั่งสานแหอยู่บนแคร่ เขาไหว้ลุง ส่วนเธอก็ทำตาม เพราะเขาหันมาพยักหน้าให้ทำ

“ปากะแยงปักมือคับพอตู้ ฝนยาไห๋จั๊กนอยแนคับ” (ปลาแขยงปักมือครับผู้เฒ่า ช่วยฝนยาให้หน่อยครับ)
เขาบอกลุงแก่ ๆ ที่หันหน้ามามองการมาเยือนของเขา แล้วลุงก็เดินไปหยิบเอาห่อผ้าเก่า ๆ เปิดออกมาก็มีแต่รากไม้ เศษไม้เก่า ๆ เต็มไปหมด
“นี่คุณอย่าบอกนะว่า....” เขารีบเอามืออุดปากเธอไว้
“คุณห้ามพูดอะไรอยู่เฉย ๆ เข้าใจมั้ย” เขาทำเสียงดุใส่เธอ จนเธอต้องเงียบปากเอาไว้

เจ้ารากไม้เก่า ๆ ถูกลุงเลือกออกหนึ่งแท่ง แล้วก็นำไปฝนกับหินก้อนเบ่อเร่อ พอได้ผงแล้วลุงก็เอามือขยุ้มไปใส่ในแก้วที่มีน้ำอยู่เกือบเต็ม ปากก็ท่องคาถาภาษาที่เธอเองก็ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน เสียงพึมพำ ๆ เงียบหายไปแล้ว

“ไห่เลากิ๋นเบิดนี่ แล่วกะเอามือมาพอสิเปายาไห่” เขมินท์ส่งแก้วน้ำให้เธอดื่ม ซึ่งเธอแทบจะไม่อยากดื่ม
(ให้แกกินหมดนี่ แล้วก็เอามือมาพ่อจะเป่ายาให้)
“ดื่มสิคุณ อยากจะหายปวดหรือเปล่า”
เขาทำเสียงดุจนเธอต้องยอมดื่มน้ำจากแก้วนั้น แล้วก็ส่งมือไปให้ลุงที่อมเอาอะไรไว้ในปากเธอก็ไม่รู้ แล้วก็บ่นงึมงัม ๆ สักพักก็พ่นน้ำ ๆ ออกมาใส่มือเธอ และไม่รู้ด้วยอะไรเธอเองก็ตอบไม่ได้ เพราะสักพักมือที่ปวด ๆ อยู่ก็หายเป็นปลิดทิ้งเลย
“ขอบคุณหลาย ๆ คับพอตู้ ผมเมือก๊อนเด้อคับ” (ขอบคุณมาก ๆ ครับผู้เฒ่า ผมกลับก่อนนะครับ)
เขายกมือไหว้ลุงและก็เอาแบ็งค์ร้อยที่ควักมาตอนไหนเธอไม่รู้ วางไปที่ห่อรากไม้ของลุง ก่อนที่จะพาเธอเดินไปขึ้นรถ

“ลุงแกเป็นหมอยาแผนโบราณประจำหมู่บ้าน ใครจะถูกอะไรที่มีพิษกัดตั้งแต่ปลาแขยงอย่างคุณ ไปจนงูเห่า งูจงอาง ถ้ามีคนพามาหาแกทัน ก็มักจะรอดทุกราย จนเป็นที่กล่าวขวัญไปไกลหลายหมู่บ้าน แกก็เลยเป็นที่เคารพของคนทั่ว ๆ ไปในวิชาการรักษาของแก”
เขาบอกเมื่อขับรถพ้นออกมาจากเขตบ้านลุงแล้ว และเขาก็รู้ด้วยว่าเธอต้องการคำอธิบาย
“ถ้าฉันไม่เห็นกับตาตัวเองนะ ฉันไม่เชื่อเด็ดขาดเลย แต่ดูสิฉันหายปวดแล้วล่ะ เฮ้อ ดีจังเลยไม่ต้องไปหาหมอด้วย”
เธอบอกและยิ้มออกมาด้วยความสดใสเหมือนเดิม
“ไหนหายจริงหรือเปล่า”
เขาเอื้อมมือไปจับมือเธอเอาไว้ เหมือนตอนที่พามาทำให้เธอรู้สึกอบอุ่นอีกครั้งที่ได้รับสัมผัสจากมือเขา

“อืม มือเริ่มนิ่ม ๆ ขึ้นน่าจะหายแล้วล่ะ”
เขาบอกพร้อมกับหันมายิ้มให้เธอ จนหญิงสาวต้องรีบดึงมือกลับไปด้วยความอายที่ถูกหลอกจับมือเล่น
“บ้า” เธอทุบไปที่ไหล่ของเขา
“ผมจะไปดูร้านก่อน แล้วเย็น ๆ จะกลับมากินข้าวเม่ากับคุณ อย่ากินหมดก่อนนะ”
เขาบอกก่อนที่เธอจะลงจากรถ แล้วเขาก็ขับรถเธอออกไปซะอย่างนั้น ทิ้งรถตัวเองให้จอดไว้ที่บ้านเธอแทน
“คุณข้าวหายแล้วเหรอคะ” แต๋นร้องถามเมื่อเห็นเจ้านายวิ่งขึ้นบันไดไป
“ใช่แล้ว ไปอาบน้ำก่อนนะเดี๋ยวจะมาช่วยทำข้าวเม่า”
เธอหันไปบอกแล้วก็หายไปบนบ้าน สักพักก็เดินลงมาด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ที่น่ารักไม่หลุดคอนเซฟตามเคย

“ไหนให้ข้าวช่วยอะไรบ้างคะป้าหวาง”
เธอเดินไปหาป้าหวางที่ใช้ช้อนขูดเมล็ดข้าวออกจากรวง
“คุณเข่าเอาซ่อนขูดเข่าออกซอยป้าซะก๊อน” ป้าหวางยื่นช้อนให้เธอทำตามไปก่อน (คุณข้าวช่วยเอาช้อนขูดข้าวออกก่อน)
“แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ครบทุกรวงล่ะป้าหวาง ทำไมมันยุ่งยากจัง ทำไมเราบ่ไปซื้อเขากินเลยล่ะ ยี่สิบสามสิบบาทก็กินแทบบ่หมดแล้วนะ บ่เห็นต้องมานั่งทำแบบนี้เลย” เธอว่าเพราะเริ่มเหนื่อยเอาช้อนขูดข้าวออกจากรวงแล้ว
“โอ๊ย ไป่ซื่อเขากิ๋นมันมาสิแซบ จั๊กเฮ็ดจั๋งได๊ ไซตั้งแตสีเอาโลด สู่เฮ็ดกิ๋นเอาเองกะบ่ได้ หอมกะหอม ได้หลายกพ่อม เอาไปแบงมูได้พ่อม เอาไปวัดกะได้พ่อม ป้าเฮ็ดคูปี่” ป้าหวางให้เหตผลที่เธอเองต้องยอมแพ้ เพราะจริงทุกคำ
(โอ๊ย ไปซื้อเขากินมันไม่อร่อย ไม่รู้ทำยังไง ใส่ตั้งแต่สีด้วย สู้ทำกินเองก็ไม่ได้ หอมก็หอม ได้เยอะด้วย เอาไปแบ่งเพื่อนได้ด้วย เอาไปวัดก็ได้ด้วย ป้าทำทุกปี)

“เป็นไงคะคุณข้าวป้าหวางของเรา”
แต๋นนั่งเลือกปลาที่เอามาจากนากับไข่อยู่ถามเจ้านายพร้อมทั้งหัวเราะที่นาน ๆ ทีจะเห็นเจ้านายยอมแพ้คนสักครั้ง
“แมมึงไก้สิแล่วไป๊ ไฟดังไห่แล่วเด้อ ปากะปิ้งสุกแล่วล่ะ เดี๋ยวสิไป่ซอยบักฮูงถ่า”
ลุงคำบอกเมื่อเดินมาพร้อมกับปลาที่ย่างเสร็จแล้ว และส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจเธอไม่หยอก
(แม่มึงใกล้เสร็จหรือยัง ติดไฟไว้ให้แล้วนะ ปลาก็ปิ้งสุกแล้วล่ะ เดี๋ยวจะไปสับมะละกอรอ)
“ว๊าย คุณแต๋น แล้วปลาที่ฉันใส่กะละมังเอาไว้ล่ะ มีใครเอาไปปล่อยให้ฉันหรือยัง” เธอร้องออกมาเพราะคิดขึ้นได้
“ปล่อยแล้วค่ะคุณข้าว ลงมาในนี้หมดแล้ว” แต๋นบอกและชี้ลงไปในกะละมังอย่างหน้าตาเฉย

“อะไรนะ หมายความว่าไม่ได้เอาไปปล่อยให้ฉันเหรอยายแต๋น ฉันจะหักเงินเดือนเธอ โทษฐานละเมิดคำสั่ง ทำให้ปลาตายนี่มันบาปนะรู้มั้ย หลวงตาจะต้องเทศนาฉันแน่ ๆ เลย” เธอบ่นงุบงิบ ๆ ขณะที่มือยังขูด ๆ อยู่
“โธ่คุณข้าวคะ ก็ปลามันเป็นปลาขาวมันทนซะที่ไหนล่ะคะ แค่ขึ้นมาจากน้ำมันก็ใจเสาะตายกันหมดแล้วค่ะ พอแต๋นไปดูมันก็หงายท้องกันหมดแล้ว ป้าหวางกับลุงคำเป็นพยานได้ พี่ไข่ด้วย” แต๋นรีบบอกตามความเป็นจริง
“แมนอีหลีจ้าคุณเข่า” ป้าหวางช่วยยืนยันอีกที
“แล้วไป” เธอจึงยอมหยุดบ่น

หลังจากที่ช่วยป้าหวางขูดข้าวออกจากรวงเสร็จหมดแล้ว ป้าหวางก็ใช้ไหดินใบใหญ่ ๆ ที่มีอยู่แค่ครึ่งเดียวตั้งไปบนเตาที่ลุงคำติดไฟเอาไว้ให้แล้ว ส่วนไหครึ่งที่เหลือเธอเดาว่ามันคงแตกหรือไม่ก็โดนทำให้แตกไปนานแล้ว

“คุณเข่าเอาพายคนไป่ทางนี่ ป้าสิคนมาทางพี่” (คุณข้าวเอาพายคนไปทางนี้ ป้าจะคนมาทางนี้)
ป้าหวางจัดให้เธอไปยืนอีกฟากของไหส่วนตัวแกยืนตรงกันข้าม แล้วก็ส่งพายให้เธอใช้คนสลับกับแกคนละที
“โอย เมื่อยขาแล้วล่ะป้าหวาง แต่พูด ๆ ไปกลิ่นข้าวเม่านี่ก็ห๊อมหอมนะ”
เธอบ่น เพราะเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จ แต่ก็ได้กลิ่นหอม ๆ ของข้าวจากไหดินโชยมาเตะจมูก
“เอ้าคุณเข่านังเก้าอี้ซะ คอยสิบ่เมือย” ไข่เดินเอาเก้าอี้มาให้ทั้งสองคน (เอ้า คุณข้าวนั้งเก้าอี้ซะ จะได้ไม่เมื่อย)
“ค่อยไคแน” เธอว่า (ค่อยยังชั่ว)

ป้าหวางหยิบข้าวที่คั่วไปมาตั้งนานสองนานขึ้นมาแกะดูด้านใน แล้วก็บีบ ๆ ดูพบกว่าข้าวได้ที่แล้วก็ให้ลุงคำมาช่วยยกไหดินลงจากเตา แล้วก็เอาไปเทไว้ที่กระด้งแทน แล้วทุกคนก็ได้กินข้าวเช้าและข้าวเที่ยงพร้อมกันในเวลาต่อมา ภรัณยาพบว่าปลาที่ได้กินนั้นเนื้อมีรสหวาน ๆ และมัน ๆ กว่าทุก ๆ ครั้งที่ได้กินมา อาจจะเป็นเพราะมันสดมาก ๆ นั่นเอง

“นี่ล่ะเขาเอิ้นว่าเข่าไมปามันตัวคุณเข่า” ลุงคำบอกเมื่อเธอได้ชิมปลาไปแล้ว (นี่ล่ะเขาเรียกว่าข้าวใหม่ปลามันนะคุณข้าว)
“ใช่ค่ะตอนนี้คุณข้าวกินปลามันไปก่อน อีกหน่อยก็จะได้กินข้าวใหม่ที่ห๊อมหอมอย่าบอกใคร”
แต๋นรีบสมทบทันที
แล้วภารกิจทำข้าวเม่าก็เริ่มต่อเมื่ออาหารเสร็จไป ส่วนแต๋นก็จัดการกับปลาที่เลือกแยก ๆ ออกไปเป็นหมู่ ซึ่งเธอไม่ค่อยจะเข้าใจว่าจะเลือกไปทำไมนัก เดี๋ยวเวลากินก็เอามาแกงรวมกันอยู่ดี
“ปลาที่ตายนาน ๆ จนจะเน่านี่ เราต้องเอาไปทำปลาร้าค่ะ ส่วนปลาซิว ปลาขาว ปลาเข็ง และปลาตัวเล็ก ๆ อื่น ๆ เราจะเอาไปตากเป็นปลาแห้ง ส่วนตัวใหญ่ ๆ อย่างนี้เราจะย่างเอาไว้กินหน้าแล้งค่ะ เวลาไม่มีนี่ก็จะได้เอามาต้มโค้งให้คุณข้าวกินไงคะ แล้วนี่ปลาตัวกระจี๊ดรี๊ดนี่ ป้าหวางจะทำปลาจ่อมค่ะ พูดแล้วน้ำลายไหลเลย”
แต๋นสาธยายให้เธอฟัง ขณะที่เธอเดินไปดูกะละมังปลา

“แหม ไม่คิดจะทิ้งจริง ๆ เลยนะ แล้วเกล็ดกับขี้ปลานี่ล่ะ อย่าบอกนะว่าจะเอาไปทำแกงมาให้ฉันกินอีก” เธอแซว
“พี่ไข่ก็จะเอาไปให้คุณน้ำทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใส่ต้นไม้และนาข้าวค่ะ” แต๋นห้อยท้ายให้
“คุณเข่ามาเบิงทางพี่” ป้าหวางกวักมือเรียกเธอ ให้ไปหาแล้วป้าหวางก็พาเธอเดินไปใกล้ ๆ ยุ้งข้าวแล้วก็จัดการทำความสะอาด “เจ้าครกมอง” ที่ถูกทอดทิ้งมานาน จนสะอาดและมันวาว ข้าวเม่าที่คั่วเอาไว้ก็ถูกเทลงไปในครก
แล้วเธอก็ถูกป้าหวางสั่งให้ใช้เท้าเหยียบเจ้าด้ามครกมองที่มันย๊าวยาว พอเธอเหยียบด้ามครกมองขึ้น ป้าหวางก็เอาไม้ลงไปคน พอเธอปล่อยลงป้าหวางก็เอามือออก และก็ทำแบบนี้จนในที่สุด

“ป้าหวางข้าวเหนื่อยแล้ว...ไม่ไหวแล้ว” เธอนั่งหอบแฮ็ก ๆ แล้วก็เอามือโบกลมไปมาเพื่อคลายร้อน
“พอมึงมาเด้อมาซอยข่อยแน” ป้าหวางหัวเราะแล้วก็ร้องเรียกลุงคำที่สแตนบายอยู่ห่าง ๆ แล้ว เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง ๆ กว่าที่ข้าวที่ถูกตำจะหลุดออกมาจากเปลือกข้าวได้จนหมด พอเสร็จแล้วป้าหวางก็หอบเอาข้าวในครกมองออกมาใส่ถัง แล้วก็ตำใหม่อีก ๆ จนได้ข้าวเม่าสามถัง (พ่อมึงมาช่วยหน่อย)

“โอ้โห หอมที่สุดเลยป้าหวาง กินได้หรือยัง” เธอสูดจมูกเข้าลึก ๆ เพราะหอมจริง ๆ
“กิ๋นบ่ทันได้ดอกจ้า เอามาฝัดซะก๊อน แล่วกะเลือกเอากากมันออกอีกคอยสิกิ๋นได้”
ป้าหวางบอกขณะที่แกเอาข้าวในถังเทลงไปที่กระด้งทีละไม่มาก แล้วก็ฝัด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จนได้แต่เม็ดข้าวเม่าที่มีสีเขียวอ่อน ๆ กลิ่นหอม ๆ น่ากิ๊นน่ากิน ยิ่งเวลาเอามือลงไปกำเม็ดข้าวเม่าที่แบน ๆ นั้นจะรู้ว่ามันนุ่มนิ่มมากแค่ไหน
(กินยังไม่ได้หรอกค่ะ เอามาฝัดก่อน แล้วก็เลือกเอากากมันออกอีกถึงจะกินได้)

“กิ๋นยังบ่ทันได้ คุณเข่านังเก็บกากไห่ป้าแนเด้อ” (กินยังไม่ได้ คุณข้าวนั่งเก็บกากให้ป้าหน่อยนะ)
ข้าวที่ฝัดแล้วถูกเทใส่ถาดแล้วเธอก็ต้องนั่งเก็บกากข้าวที่ติดอยู่กับเม็ดข้าวเม่าอีก แต๋นและไข่เสร็จจากงานปลาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มาช่วยเธอเพราะมือยังคาวอยู่ แต่ไปช่วยป้าหวางฝัดข้าวแทน ส่วนไข่นั้นก็ถูกแต๋นสั่งให้ไปหักเอากิ่งกระถินมาหักแล้วก็มัดเอาไว้สี่ห้ามัด
“เอาไว้ต้มทำปลาร้าค่ะ” แต๋นบอก
“ใบกระถินนี่นะใช้ทำปลาร้า” เธอถามย้ำ
“ใช่ค่ะ คุณข้าวเคยเข้าไปดูใต้ถุนนั่นหรือเปล่าคะ ที่เป็นไห ๆ ตั้งเรียงกันอยู่หน่ะ นั่นล่ะค่ะไหปลาร้าของคุณแม่คุณข้าวเอง” แต๋นบอก

“แหม เป็นคนแถวนี้เหรอยะ ทำเป็นรู้ดี” เธออดเหน็บไม่ได้ “อ้าว ก็ป้าหวางบอกแต๋นนี่นา”
“อ้าวไข่จะเอามะพร้าวมาทำอะไรอีก อย่าบอกนะว่าจะใส่ไปในปลาร้า”
เธอถามเมื่อเห็นไข่แบกไม้ยาว ๆ ไปสอยมะพร้ามที่ต้น แล้วก็เอามาขูดไว้ให้
“โอ๊ย ใครเขาจะเอาไปใส่คะ นี่เราจะเอาไว้ใส่กินกับข้าวเม่านี่ล่ะค่ะคุณข้าว แล้วก็เอาน้ำตาลทรายโรยหน่อยนะคะ โอ้โห สวรรค์แท้ ๆ เลยค่ะ” แต๋นบอกเมื่อเธอถามเพราะความสงสัย
“เฮ้อ กว่าจะได้กินนี่ทำตั้งแต่เช้าแล้ว ก็เย็นพอดี ทำไมคนอีสานต้องทำอะไรที่มันยุ่งยากด้วยนะ”
เธออดบ่นไม่ได้ เพราะมันเสียเวลามาก ๆ จริง ๆ สำหรับความคิดเธอ

“กะบ่มีเวียกอีหยังไห่เฮ็ดตัวล่ะคุณเข่า เฮากะเฮ็ดไป่เลื่อย ๆ เมือยกะเซามีแฮงกะมาเฮ็ดไม” ป้าหวางบอกและยิ้ม
“ข้าวกินได้หรือยังป้าหวางข้าวเม่าเนี๊ยะ” เธอถามเพราะส่วนที่เลือกกากเสร็จแล้วบางส่วน
(ก็ไม่มีงานอะไรให้ทำนะคุณข้าว เราก็ทำไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก มีแรงก็มาทำใหม่)
“เอ้าคุณเข่ากำไซกะโป๋นี่ล่ะแล่วกะกิ๋นแบบหนี้ห๊อมหอม แซ๊บแซบ”
ไข่เดินถือกะลาที่ขูดมะพร้าวออกไปแล้วยื่นให้เธอใบหนึ่ง ส่วนอีกใบเขาจัดการขยุ้มข้าวเม่าแล้วก็เอาไปละเลงกับกะลามะพร้าว ที่เหลือกะทิติดกะลาอยู่ แล้วก็ใช้มือเปิบเข้าปากอย่างเอร็ดอร่อย จนเธอต้องรีบทำตาม
(เอ้า คุณข้าวกำใส่กะลานี่ล่ะ แล้วก็กินแบบนี้ห๊อมหอม อร๊อยอร่อย)
“อืม เข้าท่าแซบอีหลีน้อ” เธอเห็นด้วยอย่างยิ่ง ทำให้ทุกคนหัวเราะไปตาม ๆ กัน

เขมินท์ขับรถเข้ามาที่บ้านเธออีกครั้งในเวลาเกือบทุ่ม เขานั่งคุยกับลุงคำอย่างออกรส ส่วนภรัณยานั้นต้องช่วยป้าหวางหาจานมาไม่น้อยกว่าห้าใบ แล้วป้าหวางก็จัดแจงเอาข้าวเม่าที่ทำเสร็จใหม่ ๆ ตักใส่ในจาน จนครบ ทุกจาน

“จานนี้เอาไว้ตักบาตรหลวงตา จานนี้เอาไว้ไปให้คุณลุง ส่วนจานนี้เอาไปให้ป้าแสง ป้าติ่ง...”
เธอพูดย้ำตามคำที่ป้าหวางบอกเอาไว้
“เฮ้อ ป้าหวาง มีใครอีกมั้ยที่ป้าหวางยังคิดไม่ออก เอาไปแจกให้หมดหมู่บ้านเลยดีหรือเปล่าเนี๊ยะ ดูสินั่งทำแทบตายกว่าจะได้กิน เอาไปให้คนเกือบหมดเลย” เธออดบ่นไม่ได้







 

Create Date : 18 ตุลาคม 2551
1 comments
Last Update : 18 ตุลาคม 2551 9:03:47 น.
Counter : 352 Pageviews.

 

ได้อ่าน 3 ตอนเลย อยากกินข้าวเม่าบ้างจัง

 

โดย: ชะเอม IP: 125.24.146.133 18 ตุลาคม 2551 12:18:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธัญญะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




ขอสงวนสิทธิ์งานเขียนทุกชิ้นในบล็อคแห่งนี้ ตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 2537 ห้ามคัดลอก ดัดแปลง แก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืน จะดำเนินตามกฎหมายสูงสุด!!
Friends' blogs
[Add ธัญญะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.