"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
15 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
นิพพานมี 2 ประเภท โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 12 ตุลาคม 2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรม ชุดนี้
      ๑.   ผู้ที่ไปร่วมบุญกับเขา จะได้เป็นบริวารของผู้นำทำบุญ
      ๒.   บุคคลผู้ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ธรรมได้เร็วในพุทธศานา
      ๓.   "นิพพาน" ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ 2 ประเภท
      ๔.   คำสอนขอศาสนาอื่นๆ ไม่ทำให้รอดไปจากทุกข์ได้เลย
      ๕.   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลส
     ฯลฯ


-ผู้ที่ไปร่วมบุญกับเขา จะได้เป็นบริวารของผู้นำทำบุญ(เรื่องเศรษฐีชื่อพิชาลปททะ)เล่ม42หน้า27
-ลูกศิษย์500ที่ไปอยู่กับพระยโสช เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด(ยโสชสูตร)เล่ม44หน้า304-322
-พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งใด ไม่มีผิดพลาด แม้แต่น้อยนิด(อ.มูลปริยายสูตร)เล่ม17หน้า116-117
-บุคคลผู้ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ธรรมได้เร็วในพุทธศานา(วิตถารสูตร)เล่ม35หน้า386
-สัมมาทิฏฐิเท่านั้น เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย(ปุพพังคสูตร)เล่ม38หน้า383
-พรหมปุถุชน ยังไม่พ้นจากอบายทั้งหลายมีมรรคเบื้องต้น(ปฐมฌานสูตร)เล่ม35หน้า325
-"นิพพาน" ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ 2ประเภท(ธาตุสูตร)เล่ม45หน้า304
-พระอรหันต์มีหลายประเภท แตกต่างไปตามวาสนาบารมี(อ.มูลปริยายสูตร)เล่ม17หน้า128
-ขานางสุปิยา หายจากแผลฉกรรจ์ เพราะพระพุทธเจ้า(เภสัชชขันธกะ)เล่ม7หน้า96
-สร้างบุญ เพื่อปิดบาปไว้ก่อน(พหุลกรรม)เล่ม34หน้า124,เล่ม21หน้า150
-การปฏิบัติที่ผิดๆ ต่อพระสงฆ์ที่ดีๆ เป็นบาปมาก(อ.สังคีติสูตร)เล่ม16หน้า308
-ขันธ์ทั้ง5เป็นบ่วงแห่งมาร(มารสูตร)เล่ม27หน้า438
-ขันธ์ทั้ง5เป็นเรื่องไร้สาระไม่มีแก่นสารให้ยึดถือ(เผณปิณฑสูตร)เล่ม27หน้า 316                                                                                                                                                 
-ในพระพุทธศาสนา อุบาสิกาสกปรกเลวทรามก็มี(จัณฑาลสูตร)เล่ม36หน้า373
-การเพ่งคิดอยู่กับราคะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าตำหนิ(โคปกโมคคัลาลานสูตร)เล่ม22หน้า162
-การอดน้ำ อดอาหาร เพื่อทำกรรมฐาน ไม่ถือว่าผิดธรรม(ตติยปาราชิกวรรณา)เล่ม2หน้า428
-พระเจ้าสิวิราช อธิษฐานบุญมาใช้ในปัจจุบันภพได้(อ.สิวิราชจริยา)เล่ม74หน้า145
-คำสอนขอศาสนาอื่นๆ ไม่ทำให้รอดไปจากทุกข์ได้เลย(สุริยสูตร)เล่ม37หน้า217
-ผู้เบื่อใจที่ไม่ถูกต้อง และได้ฌาน จะไปเกิดที่อสัญญีภพ(อ.เอกนิทเทส)เล่ม68หน้า181
-พระโสณะโกฬิวิสะ เดินจงกรมจนเท้าแตกและท้อใจ(จัมมขันธกะ)เล่ม7หน้า5
-ตัวอย่างของผู้ที่มีบารมีเต็ม แต่ไม่ได้ตรัสรู้ธรรม(เรื่องบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก)เล่ม42หน้า183
-นิพพาน เป็นของมอบให้กันไม่ได้ ต้องเพียรทำเอง(อัจจายิกสูตร)เล่ม34หน้า474
-ชื่อว่า รูปร่างทั้งหลาย เพราะต้องย่อยยับไปไม่เหลือ(ชัชชนิยสูตร)เล่ม27หน้า185,หน้า192
-พระอริยะมีหลากหลายประเภท ตามวาสนาบารมี(อ.ตติยเสขสูตร)เล่ม34หน้า460
-เมื่อมีความกังวล กรรมฐานย่อมไม่เจริญ(ตติยเสขสูตร)เล่ม2หน้า350-352
-พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลส(โฆฏมุขสูตร)เล่ม21หน้า329
-พระสารีบุตรใช้กุศโลบายกับโจรเคราแดง(เรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง)เล่ม41หน้า422
-พระพุทธเจ้าให้สอบถามกับพระสงฆ์ ผู้ทรงรู้ความดี(มหาโคปาลสูตร)เล่ม19หน้า54,หน้า57
-จะเป็นพระโสดาบันต้องมีมากกว่าศีล และพระรัตนตรัย(ปฐมเวรภยสูตร)เล่ม31หน้า352-354
-พระพุทธเจ้าให้ศึกษาไปตามลำดับ อย่าลัดขั้นตอน(คณกโมคคัลลานสูตร)เล่ม22หน้า143

-ผู้ที่ไปร่วมบุญกับเขา จะได้เป็นบริวารของผู้นำทำบุญ(เรื่องเศรษฐีชื่อพิชาลปททะ) เล่ม42หน้า27

ให้ทานเองและชวนคนอื่น  ได้สมบัติ  ๒ อย่าง

สมัยหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยเนื่องเป็นพวกเดียวกัน. อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา ตรัสอย่างนี้ว่า "อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานด้วยตน, (แต่) ไม่ชักชวนผู้อื่น. เขาย่อมได้โภคสมบัติ, (แต่)ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว ๆ; บางคนไม่ให้ทานด้วยตน.ชักชวนแต่คนอื่น.เขาย่อมได้บริวารสมบัติ (แต่) ไม่ได้โภคสมบัติในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ; บางคนไม่ให้ทานด้วยตนด้วย ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย. เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้ว ๆ;  เป็นคนเที่ยวกินเดน บางคน ให้ทานด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย,. เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ ในที่แห่งคนเกิดแล้วๆ."


-พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งใด ไม่มีผิดพลาด แม้แต่น้อยนิด(อ.มูลปริยายสูตร)เล่ม17หน้า116-117


ตถาคตผู้มีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า "ตถาคต" เพราะทรงมีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้   อย่างไร ?
ตอบว่า การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์(บัลลังก์ที่มารไม่สามารถทำให้พ่ายแพ้ได้, บัลลังก์ของผู้ชนะ) ภายใต้ควงไม้โพธิ์ ทรงบั่นเศียรมารทั้ง ๓ แล้วตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก็ดี การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ในตอนกลางคืนก็ดีตลอดระยะเวลา ๔๕  ปี  ในระหว่างนี้ (ช่วงหลังตรัสรู้และก่อนปรินิพพาน) คือในระยะเวลาครั้งปฐมโพธิกาลบ้าง ครั้งมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ครั้งปัจฉิมโพธิกาลบ้าง พระพุทธพจน์ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้  จะเป็นสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละก็ตาม พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดอัน วิญญูชนกล่าวตำหนิไม่ได้ทั้งโดยอรรถ (ความหมาย, เนื้อหาสาระ) ทั้งโดยพยัญชนะ (ตัวหนังสือ) ไม่ขาดไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ย่ำยีความเมาด้วยราคะ ย่ำยีความเมาด้วยโทสะและโมหะ ความผิดพลาดในพระพุทธพจน์นั้นแม้เพียงปลายขนทรายก็ไม่มีดี ทั้งหมดนั้นเป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ราวกับประทับตราด้วยพระราชลัญจกรอันเดียวกัน ราวกับว่าดวงด้วยทะนานเดียวกัน และราวกับว่าชั่งด้วยตาชั่งคันเดียวกันฉะนั้น.

เพราะเหตุนั้น  พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า การที่พระตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในตอนกลางคืนก็ดี การที่พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในตอนกลางคืนก็ดี การที่พระตถาคตตรัสสนทนาชี้แจงรนระหว่างนี้ก็ดี ทั้งหมดนั้น
เป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า  ตถาคต.

ชื่อว่า  อาคทะ  อธิบายว่า ได้แก่คำพูด. การตรัสของพระตถาคตนั้นจริงแท้ คือไม่วิปริต    เพราะเหตุนั้น  จึงได้รับขนานพระนามว่า  ตถาคต

-บุคคลผู้ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ธรรมได้เร็วในพุทธศานา(วิตถารสูตร)เล่ม35หน้า386

วิตถารสูตร ว่าด้วยปฏิปทา  ๔

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔  นี้  ฯลฯ คือ
ทุกฺขา  ปฏิปทา  ทนฺธาภิญฺา  ปฏิบัติลำบาก  ทั้งรู้ได้ช้า
ทุกฺขา  ปฏิปทา  ขิปปาภิญฺา  ปฏิบัติลำบาก  แต่รู้ได้เร็ว
สุขา  ปฏิปทา  ทนฺธาภิญฺา  ปฏิบัติสะดวก  แต่รู้ได้ช้า
สุขา  ปฏิปทา  ขิปฺปาภิญฺา   ปฏิบัติสะดวก  ทั้งรู้ได้เร็ว

ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้าเป็นไฉน?  บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคน
มีราคะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนือง ๆ บ้าง  โดยปกติเป็นคน
มีโทสะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนือง ๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน
มีโมหะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิด เพราะโมหะเนือง ๆ บ้าง อินทรีย์ ๕
คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ  ปัญญา ของเขาก็อ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อน
เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า  นี้เรียกว่า
ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า

ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคน
มีราคะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนืองๆ บ้าง  โดยปกติเป็นคน
มีโทสะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคน
มีโมหะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะเนืองๆ บ้าง  แต่อินทรีย์ ๕
คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาแก่กล้า  เพราะอินทรีย์ ๕ นี้ แก่กล้า เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว


ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้าเป็นไฉน? บุคคลบางคนโดยปกติ  มิใช่
เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ  มิใช่เป็นคนมี
โทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่
เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ แต่อินทรีย์ ๕
คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อน
เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า


ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วเป็นไฉน ๆ  บุคคลบางคนโดยปกติ  มิใช่
เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ  โดยปกติมิใช่
เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติ
มิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ  ทั้งอินทรีย์
๕  คือ  สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ  ปัญญา ของเขาก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก ทั้งได้รู้เร็ว


-สัมมาทิฏฐิเท่านั้น เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย(ปุพพังคสูตร)เล่ม38หน้า383


ปุพพังคสูตร ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์เมื่อจะอุทัย คือ  แสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา ย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาสติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาวายามะ สัมมาสมาธิย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาสติ สัมมาญาณะย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มี สัมมาสมาธิ  สัมมาวิมุตติย่อมเพียงพอแก่บุคคลผู้มีสัมมาญาณะ.


-"นิพพาน" ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ 2ประเภท(ธาตุสูตร)เล่ม45หน้า304

ธาตุสูตร ว่าด้วยเรื่องนิพพานธาตุ  ๒ ประการ

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ  ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน
คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ 


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น ย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จักเย็น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

นิพพานธาตุ  ๒ ประการนี้  พระตถาคต ผู้มีจักษุผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ประกาศไว้แล้ว อันนิพพานธาตุอย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้  ชื่อว่า สอุปาทิเสสะ เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุ  (อีกอย่างหนึ่ง)เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งทลายโดยประการทั้งปวง อันมีในเบื้องหน้า ชื่อว่าอนุปาทิเสสะ ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้  มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา เครื่องนำไปสู่ภพ ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นกิเลส เพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ เป็นผู้คงที่ ละภพได้ทั้งหมด.


-พระอรหันต์มีหลายประเภท แตกต่างไปตามวาสนาบารมี(อ.มูลปริยายสูตร)เล่ม17หน้า128

ถามว่ อรหัตตมรรคของพระสาวกทั้งหลายจัดเป็นโพธิญาณอันยอดเยี่ยมหรือไม่  ?
ตอบว่ ไม่จัด.
ถามว่า  เพราะเหตุไร ?
ตอบว่า  เพราะให้คุณไม่ได้ทุกอย่าง.

เป็นความจริง บรรดาพระสาวกเหล่านั้น อรหัตตมรรคของบางท่านให้ได้เฉพาะอรหัตตผลเท่านั้น. ของบางท่านให้วิชชา ๓ ของบางท่านให้อภิญญา ๖ ของบางท่านให้ปฏิสัมภิทา ๔ ของบางท่านให้สาวกบารมีญาณ.แม้ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ให้เฉพาะปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น ส่วนอรหัตตมรรคของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมให้คุณสมบัติทุกอย่าง  เปรียบเหมือนการอภิเษก (ในราชสมบัติ)  ของพระราชาย่อมให้ความเป็นใหญ่ ในโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้น โพธิญาณของใคร ๆ อื่นจึงไม่จัดว่ายอดเยี่ยม

-ขานางสุปิยา หายจากแผลฉกรรจ์ เพราะพระพุทธเจ้า(เภสัชชขันธกะ)เล่ม7หน้า96

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถานอุบาสกสุปปิยะผู้ยืนอยู่  ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสิกาสุปปิยาไปไหน  ?
อุ.  นางป่วย  พระพุทธเจ้าข้า.
พ.  ถ้าเช่นนั้น  เชิญอุบาสิกาสุปปิยามา.
อุ.   นางไม่สามารถ   พระพุทธเจ้าข้า.
พ.  ถ้าเช่นนั้น  พวกเธอช่วยกันพยุงพามา.
ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปปิยามาเฝ้า พร้อมกับนางได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติทันที อุบายสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา จึงพากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคตทรงมีพระฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้นเต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง...พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะแลอุบาสิกาสุปปิยาเห็นแจ้ง สมาทาน  อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.


-สร้างบุญ เพื่อปิดบาปไว้ก่อน(พหุลกรรม)เล่ม34หน้า124,เล่ม21หน้า150


อธิบายพหุลกรรม

ส่วนในกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดมาก กรรมนั้นชื่อว่าพหุลกรรม. พหุลกรรมนั้น  พึงทราบด้วยอำนาจอาเสวนะที่ได้แล้ว ตลอดกาลนาน อีกอย่างหนึ่ง ในฝ่ายกุศลกรรม กรรมใดที่มีกำลังสร้างโสมนัสให้ในฝ่ายอกุศลกรรม สร้างความเดือดร้อนให้ กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม  อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อนักมวยปล้ำ ๒ คนขึ้นเวที คนใดมีกำลังมาก คนนั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม  (แพ้) ไป ฉันใด พหุลกรรมนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกันจะทับถมกรรมพวกนี้ที่มีกำลังน้อย (ชนะ) ไป. กรรมใดมากโดยการเสพจนคุ้นหรือมีกำลังโดยอำนาจทำให้เดือนร้อนมาก กรรมนั้นจะให้ผล เหมือนกรรมของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย  ฉะนั้น.


เล่ม21หน้า150
ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล (อังคุลิมาลสูตร) 21/150/21 


พระองคุลิมาลอุทา

 ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุตติสุขเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง
ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ  ฉะนั้นผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสีย
ได้ด้วยกุศล 
ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา  ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้
ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึงพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น....


-การปฏิบัติที่ผิดๆ ต่อพระสงฆ์ที่ดีๆ เป็นบาปมาก(อ.สังคีติสูตร)เล่ม16หน้า308


คำว่า  ทกฺขิเณยฺยคฺคิ นี้ คำว่า ทกฺขิณา คือปัจจัย ๔.  ภิกษุสงฆ์  ชื่อว่า  ทักขิไณยบุคคล.  ภิกษุสงฆ์ ชื่อว่า มีอุปการะมากเเก่คฤหัสถ์ ด้วยการชักนำ ให้ประพฤติในกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นต้นว่า สรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล. การเลี้ยงดูมารดาบิดา การบำรุงสมณพราหมณ์ผู้มีธรรม.คฤหัสถ์ที่ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์ บริภาษด่าทอภิกษุสงฆ์ ย่อมไปเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น ดังนั้น แม้ภิกษุสงฆ์ท่านก็เรียกว่า ทักขิเณยยัคคิ ด้วยอรรถว่า ตามเผาไหม้โดยนัยก่อนเช่นกัน.

-ขันธ์ทั้ง5เป็นบ่วงแห่งมาร(มารสูตร)เล่ม27หน้า438

มารสูตร ว่าด้วยขันธมาร

 กรุงสาวัตถี. ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ มารเป็นไฉนหนอ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญาเป็นมาร สังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร ดูก่อนราธะ  อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ครั้นหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.


-ขันธ์ทั้ง5เป็นเรื่องไร้สาระไม่มีแก่นสารให้ยึดถือ(เผณปิณฑสูตร)เล่ม27หน้า 316 

เผณปิณฑสูตร ว่าด้วยขันธ์   ๕  เปรียบด้วยฟองน้ำเป็นต้น

 สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่ฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองอโยธยา. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พัดพาเอาฟองน้ำก้อนใหญ่มา บุรุษผู้มีตาดี จะพึงเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคายซึ่งฟองน้ำจำนวนมากนั้น เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคายฟองน้ำนั้น  พึงปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้น จะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.ดูก่อนภิกษุทั้งหลายรูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต เป็นอนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ที่ไกลที่ใกล้  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูรูป นั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย รูป นั้นก็จะปรากฏ เป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในรูป จะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกอยู่ในสรทสมัยต่อมน้ำจะเกิดขึ้นและดับไปในน้ำ บุรุษผู้มีตาดี จะพึงเพ่งพิจารณาดูต่อมน้ำนั้นโดยแยบคาย  เมื่อเธอเพ่งพิจารณาดูโดยแยบคาย  ต่อมน้ำนั้นก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในต่อมน้ำ จะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูเวทนานั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย เวทนานั้นจะปรากฏเป็นของว่าง  เป็นของเปล่า เป็นของหาสาระมิได้เลย สาระในเวทนา จะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูคิมหันต์ดำรงอยู่แล้ว ในเวลาเที่ยง พะยับแดดเต้นระยิบระยับ บุรุษผู้มีตาดี พึงเพ่งพินิจพิจารณาดูพะยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย พะยับแดดนั้นจะปรากฏเป็นของว่างทีเดียว ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระในพะยับแดด จะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง  ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล.

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยแก่นไม้เสาะหาแก่นไม้  เที่ยวแสวงหาแก่นไม้  ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปป่า เขามองเห็นต้นกล้วยใหญ่  ลำต้นตรง ยังใหม่ ยังไม่เกิดหยวกแข็ง ในป่านั้นเขาพึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว ก็ทอนปลาย ครั้นทอนปลายแล้ว ก็ลอกกาบออก เมื่อลอกกาบกล้วยนั้นออก แม้แต่กระพี้ เขาก็จะไม่ได้ในต้นกล้วยนั้น จะได้แก่นมาแต่ไหน? บุรุษผู้มีตาดี คงเพ่งพินิจพิจารณาดูต้นกล้วยนั้นโดยแยบคาย เมื่อเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย ต้นกล้วยก็จะปรากฏว่าเป็นของว่าง เป็นของเปล่าไม่มีแก่นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แก่นในต้นกล้วยนั้น จะมีได้อย่างไรฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน หรือที่มีอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุ เพ่งพินิจพิจารณาดู  สังขารนั้นโดยแยบคายเมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย สังขารนั้นจะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระในสังขารทั้งหลาย จะพึงมีได้อย่างไร ?

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกล หรือลูกมือของนักเล่นกล แสดงมายากลที่สี่แยก บุรุษมีตาดี พึงเพ่งพินิจพิจารณาดูมายากลนั้นโดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย มายากล ก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ไม่จริงเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความจริง (สาระ) ในมายากล จักมีได้อย่างไร ฉันใด.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูวิญญาณนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจ พิจารณาดูโดยแยบคาย วิญญาณก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่าหาสาระมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ จะเบื่อหน่ายในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารทั้งหลายบ้าง ในวิญญาณบ้าง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น  เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า เราหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นได้ตรัสเวยยากรณพจน์แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทรงแสดงรูป อุปมาด้วยฟองน้ำ เวทนา อุปมาด้วยต่อมน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพะยับแดด  สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยมายากล. ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณา (เบญจขันธ์) อยู่โดยแยบคาย ด้วยประการใด ๆ เบญจขันธ์ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้น ๆ แก่เธอผู้เห็นอยู่โดยแยบคาย  ก็การละธรรม ๓ อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงมีปัญญาเสมอแผ่นดิน ทรงปรารภกายนี้แล้วแสดงไว้ เธอทั้งหลาย จงดูรูปที่เขาทิ้งแล้วเถิด.อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละกายนี้ไปเมื่อใด เมื่อนั้นกายนี้จะถูกเขาทอดทิ้ง นอนอยู่ ไม่มีจิตใจเป็นเหยื่อของสัตว์. การสืบเนื่องกันนี้เป็นเช่นนี้ นี้เป็นมายากล ที่คนโง่พร่ำเพ้อถึง ขันธ์ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นเพชฌฆาต ตนหนึ่ง สาระในเบญจขันธ์นี้ไม่มี ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้วมีสติ สัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อปรารถนา อจุติบท(นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตน ประพฤติดุจบุคคลผู้มีไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น ดังนี้.


-ในพระพุทธศาสนา อุบาสิกาสกปรกเลวทรามก็มี(จัณฑาลสูตร)เล่ม36หน้า373


จัณฑาลสูตร ว่าด้วยธรรมสำหรับอุบาสกดีและอุบาสกชั่ว

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด คือ
อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ เป็นผู้ทุศีล ๑ เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว  เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ ทำการสนับสนุนในศาสนานั้น ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด....

-การเพ่งคิดอยู่กับราคะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าตำหนิ(โคปกโมคคัลาลานสูตร) เล่ม22หน้า162

โคปกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วยเหตุที่ไม่มีใครถึงธรรมเท่าเทียมพระพุทธเจ้า


อา. ดูก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ ไม่ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นไร

ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีใจรัญจวนด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจมุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน มีใจปั่นป่วนด้วยพยาบาท ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดพยาบาทอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริงเธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจมุ่งหมายเฉพาะพยาบาท  ทำพยาบาทไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยถีนมิทธะ ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่และไม่รู้จักสลัดถีนมิทธะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะถีนมิทธะ ทำถีนมิทธะไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดอุทธัจจกุกกุจจะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะอุทธัจจกุกกุจจะ ทำอุทธัจจกุกกจจะไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยวิจิกิจฉา ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดวิจิกิจฉาอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะวิจิกิจฉา ทำวิจิกิจฉาไว้ในภายใน ดูก่อนพราหมณ์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล.
   ดูก่อนพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล....

-พระเจ้าสิวิราช อธิษฐานบุญมาใช้ในปัจจุบันภพได้(อ.สิวิราชจริยา)เล่ม74หน้า145

พระเจ้าสิวิราช ตั้งสัตยาธิษฐาน แล้วได้ดวงตาอันเป็นทิพย์เกิดขึ้น มองเห็นได้100 โยชน์ ผ่านนอกฝา และภูเขา

ลำดับนั้นท้าวสักกะจึงตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านสิวิราช ท่านประสงค์จะตาย ชอบความตายหรือ หรือว่า เพราะตาบอด.พระมหาสัตว์ ตรัสว่า เพราะตาบอดซิพระองค์. ท้าวสักกะตรัสว่า ข้าแต่มหาราช ชื่อว่าทานมิได้ให้ผลเพื่อภพอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยแม้เพื่อผลในปัจจุบันด้วย.เพราะฉะนั้นท่านจงตั้งสัตยาธิษฐานอาศัยบุญแห่งทานของท่านเถิด.ด้วยกำลังแห่งสัตยาธิษฐานนั้นนั่นแหละ นัยน์ตาของท่านจักเกิดขึ้นเหมือนอย่างเดิม. พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นมหาทานเราให้ดีแล้ว เมื่อจะทรงตั้งสัตยาธิษฐาน จึงตรัสว่า :-

พวกวณิพกหลายเหล่าหลายตระกูลมาเพื่อขอกะเรา บรรดาวณิพกที่มาเหล่านั้น ผู้ใดขอเราผู้นั้นก็เป็นที่รักของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ขอนัยน์ตาของเราจงเกิดขึ้นอย่างเดิมเกิด.

ทันใดนั้นเองพระเนตรดวงที่หนึ่งก็เกิดขึ้นพร้อมกับพระดำรัสของพระมหาสัตว์ ต่อจากนั้นเพื่อให้พระเนตรดวงที่สองเกิดพระมหาสัตว์จึงตรัสว่า :-


พราหมณ์นั้นมาเพื่อขอกะเราว่า ขอท่านจงให้นัยน์ตาเถิด เราได้ให้นัยน์ตาทั้งสองข้างแต่พราหมณ์ผู้ขอนั้น ปีติล้นพ้นได้เข้าไปถึงเรา ความโสมนัสไม่น้อยบังเกิดขึ้น  ด้วยสัจจวาจานี้ ขอนัยน์ตาดวงที่สองจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด.


-ชื่อว่า รูปร่างทั้งหลาย เพราะต้องย่อยยับไปไม่เหลือ(ชัชชนิยสูตร)เล่ม27หน้า185,หน้า192

สลายไปจึงเรียกว่ารูป สลายไปเพราะอะไร?
สลายไปเพราะหนาวบ้างเพราะร้อนบ้าง เพราะหิวบ้าง เพราะระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง.

หน้า192
บทว่า รุปฺปติ ความว่า กำเริบ  คือถูกกระทบกระทั่ง อธิบายว่า ถูกบีบคั้น คือ แตกสลาย.
ในคำว่า สีเตนปิ รุปฺปติ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :
...
จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายในประเทศเหล่านั้น ถึงความสิ้นชีวิตไป  เพราะมีสรีระแตกสลายไป เพราะความหนาว.


-พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลส(โฆฏมุขสูตร)เล่ม21หน้า329

ดูก่อนพราหมณ์ พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ...เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี หรือ  บุคคลผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้ฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตเจ้า เขาประกอบด้วยศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมา แห่งธุลี (คือกิเลส) บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่ขัดแล้วไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาค ออกบวชเป็นบรรพชิต.


-คำสอนขอศาสนาอื่นๆ ไม่ทำให้รอดไปจากทุกข์ได้เลย(สุริยสูตร)เล่ม37หน้า217

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อสุเนตตะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็ศาสดาชื่อสุเนตตะนั้น มีสาวกอยู่หลายร้อย เธอแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก และเมื่อสุเนตตศาสดาแสดงธรรมเพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก สาวกเหล่าใดรู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติพรหมโลก ส่วนสาวกเหล่าใดยังไม่รู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง  สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี บางพวกเข้าถึงความเป็นแห่งเทวดาชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช  บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคฤหบดีมหาศาล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดามีความคิดเห็นว่า การที่เราจะพึงเป็นผู้มีสติเสมอกับสาวกทั้งหลายในสัมปรายภพไม่สมควรเลย ผิฉะนั้น เราควรจะเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้นไปอีก  ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดาจึงได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกวิบัติเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เข้าถึงวิมานพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก เกิดเป็ท้าวสักจอมเทวดา ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ได้ชัยชนะสงคราม สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง พระราชโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิ ล้วนแต่องอาจ กล้าหาญ ชาญชัย ย่ำยีศัตรูได้ พระเจ้าจักรพรรดิ์นั้นทรงปกครองปฐพีมณฑล อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ใช้ธรรมปกครอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สุเนตตศาสดานั้นแล มีอายุยืนนานดำรงมั่นอยู่อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ  ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นจากทุกข์ได้  ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังไม่ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดธรรม ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อริยศีล ๑ อริยสมาธิ ๑ อริยปัญญา ๑ อริยวิมุติ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุติ เราตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว เราถอนตัณหาในภพได้แล้ว ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี.

ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว  จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติอันยิ่ง พระโคดมผู้ทรงพระยศตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสนา ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ยิ่งด้วยประการดังนี้แล้ว ตรัสบอกธรรม ๔ ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงกระทำที่สุดทุกข์แล้วปรินิพพาน.


-ตัวอย่างของผู้ที่มีบารมีเต็ม แต่ไม่ได้ตรัสรู้ธรรม(เรื่องบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก) เล่ม42หน้า183


เศรษฐีต้องเที่ยวขอทาน

ครั้นในเวลาที่เขาแก่ลง เจ้าของเรือนจึงไล่เขาออกจากเรือน ที่เขามีโภคะหมดแล้ว ขายเรือนของตัว (แต่ยัง) ถืออาศัยอยู่ก่อน.เขาพาภรรยาไปอาศัยเรือนของชนอื่นอยู่ ถือชิ้นกระเบื้องเที่ยวไปขอทานปรารภจะบริโภคภัตที่เป็นเดนของชนแล้ว. ครั้งนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขายืนอยู่ที่ประตูโรงฉัน คอยรับโภชนะที่เป็นเดนอันภิกษุหนุ่มและสามเณรให้ในวันหนึ่ง จึงทรงแย้มพระโอษฐ์  ลำดับนั้นพระอานนทเถระทูลถามถึงเหตุที่ทรงแย้มกะพระองค์.พระศาสดา เมื่อจะตรัสบอกเหตุที่ทรงแย้ม จึงว่า
"อานนท์  เธอจงดูบุตรเศรษฐี ผู้มีทรัพย์มากผู้นี้ ผลาญทรัพย์เสีย ๑๖๐ โกฏิ พาภรรยาเที่ยวขอ ทานอยู่ในนครนี้แล: ก็ถ้าบุตรเศรษฐีไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดสิ้น จักประกอบการงานในปฐมวัย ก็จักได้เป็นเศรษฐีชั้นเลิศในนครนี้แล และถ้าจักออกบวช, ก็จักบรรลุอรหัต.แม้ภรรยาของเขาก็จักดำรงอยู่ในอนาคามิผล.ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้หมดไป จักประกอบการงานในมัชฌิมวัย.จักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ ๒. ออกบวชจักได้เป็นอนาคามี.แม้ภรรยาของเขาก็จักดำรงอยู่ในสกทาคามิผล.ถ้าไม่ผลาญทรัพย์ให้สิ้นไป ประกอบการงานในปัจฉิมวัยจักได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ ๓ แม้ออกบวช ก็จักได้เป็น สกทาคามี,แม้ภรรยาของเขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.แต่เดี๋ยวนี้บุตรเศรษฐีนั่นทั้งเสื่อมแล้วจากโภคะของคฤหัสถ์ ทั้งเสื่อมแล้วจากสามัญผล.ก็แลครั้นเสื่อมแล้ว จึงเป็นเหมือนนกกะเรียนในเปือกตมแห้งฉะนั้น "

ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
"พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมซบเซาดังนกกะเรียนแก่ ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลาฉะนั้น.
พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า เหมือนลูกศรที่ตกจากแล่งฉะนั้น.“

-ผู้เบื่อใจที่ไม่ถูกต้อง และได้ฌาน จะไปเกิดที่อสัญญีภพ(อ.เอกนิทเทส)เล่ม68หน้า181

ในคำนั้น ปัจจยาหาร ย่อมได้ในอสัญญีภพ. จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกที่บวชเป็นเดียรถีย์ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นออกจากฌานนั้นแล้ว ก็เห็นว่าจิตนี้ เป็นของน่าติเตียนมาก ความไม่มีจิตเสียเลย เป็นการดี.เพราะทุกข์มีการฆ่าและจองจำเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจิต, เมื่อไม่มีจิตทุกข์นั้นก็ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเกิดความยินดีพอใจ ฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้วเกิดในอสัญญีภพ.ผู้ใดตั้งอยู่ในอิริยาบถใดในมนุษย์  ผู้นั้นก็ย่อมเกิดด้วยอิริยาบถนั้นสถิตอยู่ตลอด ๕๐๐ กัป.เป็นเหมือนนอน นั่งหรือยืนตลอดกาลยาวนานมีประมาณเพียงนั้น.ก็ปัจจยาหารย่อมได้แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น.เพราะสัตว์เหล่านั้นเจริญฌานใดแล้วเกิด ฌานนั้นก็เป็นปัจจัยแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เหมือนลูกศรที่ยิงไปด้วยกำลังแห่งสายธนู กำลังสายธนูมีกำลังเพียงใด ก็ไปได้เพียงนั้น ฉันใด กำลังฌานปัจจัยมีประมาณเพียงใด ก็สถิตอยู่ได้เพียงนั้น ฉันนั้น.เมื่อกำลังฌานปัจจัยสิ้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็จุติ ดุจลูกศรที่มีกำลังสิ้นแล้วฉะนั้น.

-นิพพาน เป็นของมอบให้กันไม่ได้ ต้องเพียรทำเอง(อัจจายิกสูตร)เล่ม34หน้า474

อัจจายิกสูตร ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ


 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะ (กิจที่ต้องรีบทำ)ของคฤหบดีชาวนา ๓ นี้ อัจจายิกกรณียะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ คฤหบดีชาวนารีบๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดี ครั้นแล้วรีบ ๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วรีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง นี้แล อัจจายิกกรณียะ ของคฤหบดีชาวนา ๓ แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้ข้าวงอกในวันนี้ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้ ที่ถูกย่อมมีสมัย ที่ข้าวนั้นเปลี่ยนสภาพไปตามฤดูย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง
ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ นี้ คืออะไรบ้าง คือการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา การบำเพ็ญอธิจิตตสิกขา การบำเพ็ญอธิปัญญาสิกขา นี้แล  อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ แต่ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้จิตของตนเลิกยึดถือหลุดพ้นจากอาสวะ ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้  หรือมะรืนนี้ได้ ที่ถูก ย่อมมีสมัย ที่เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลไปศึกษาอธิจิตไป ศึกษาอธิปัญญาไป จิตย่อมจะเลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะได้เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะของเราในการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาต้องกล้าแข็งภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

ที่มา : วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com/index.php




Create Date : 15 ธันวาคม 2556
Last Update : 30 ธันวาคม 2556 3:32:18 น. 2 comments
Counter : 747 Pageviews.

 
-พระโสณะโกฬิวิสะ เดินจงกรมจนเท้าแตกและท้อใจ(จัมมขันธกะ)เล่ม7หน้า5

เศรษฐีบุตรโสณ - โกฬิวิสะออกบวช

ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้มีความปริวิตก ดังนี้ ว่า
ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้สมบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เรา พึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ครั้นประชาชนเหล่านั้นชื่นชมยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากประชาชน พวกนั้นหลีกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง .เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แต่
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไร ๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้รับบรรพชา อุปสมบทในพุทธสำนักแล้ว ก็แลท่านพระโสณะอุปสมบทแล้วไม่นาน ได้พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น

-การอดน้ำ อดอาหาร เพื่อทำกรรมฐาน ไม่ถือว่าผิดธรรม(ตติยปาราชิกวรรณา)เล่ม2หน้า428

จริงอยู่ แม้ภิกษุใด อาพาธมีความประสงค์จะตาย เมื่อเภสัชและผู้อุปัฏฐากมีอยู่ ก็ตัดอาหารเสีย, ภิกษุนั้นต้องทุกกฏทีเดียว.ส่วนภิกษุใด อาพาธหนักเป็นเครื่องผูกพันอยู่นาน(ต้องรักษาพยาบาลอยู่นาน) ภิกษุทั้งหลายผู้อุปัฏฐากอยู่ ย่อมลำบาก เกลียดชังคืออึดอัดอยู่ ด้วยคิดว่า เมื่อไรหนอ? พวกเราจักพ้นจากภิกษุอาพาธ. ถ้าภิกษุนั้น คิดว่า อัตภาพนี้ แม้ถูกประคับประคองไว้ ก็ไม่ดำรงอยู่ และภิกษุทั้งหลายก็ลำบาก แล้วตัดอาหารเสีย ไม่เสพเภสัช,ข้อที่เธอตัดอาหารเสียนั้น ย่อมควร. ส่วนภิกษุใดคิดว่า โรคนี้ร้ายแรง, อายุสังขาร ย่อมไม่ดำรงอยู่, และการบรรลุคุณวิเศษของเรานี้ ย่อมปรากฏ เหมือนอยู่ในเงื้อมมือแล้ว จึงตัดอาหารเสีย; ข้อที่เธอตัดอาหารเสียนั้น ย่อมควรเหมือนกัน.
แม้เมื่อภิกษุผู้ไม่อาพาธ เกิดความสังเวชขึ้นแล้ว ตัดอาหารเสีย ด้วยหัวข้อกรรมฐาน เพราะติดได้ว่า ชื่อว่าการแสวงหาอาหารเป็นที่เนิ่นช้า, เราจักตามประกอบกรรมจานเท่านั้น ดังนี้,ข้อที่เธอตัดอาหารเสียนั้น ย่อมควร. ภิกษุพยากรณ์การบรรลุคุณวิเศษ แล้วตัดอาหารเสีย; ข้อนั้นย่อมไม่ควร. แต่จะบอกแก่ลัชชีภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสภาคกัน ควรอยู่.

-เมื่อมีความกังวล กรรมฐานย่อมไม่เจริญ(ตติยเสขสูตร)เล่ม2หน้า350-352

[กุลบุตรจะเรียนกรรมฐานต้องบำเพ็ญศีลให้บริสุทธิ์ก่อน]

กุลบุตรควรชำระศีล ๔ อย่างให้หมดจดก่อน. ในศีลนั้น มีวิธีชำระให้หมดจด ๓ อย่าง คือ ไม่ต้องอาบัติ ๑ ออกจากอาบัติที่ต้องแล้ว ๑ ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย ๑. จริงอยู่ ภาวนาย่อมสำเร็จแก่กุลบุตรผู้มีศีลบริสุทธิ์อย่างนั้น. กุลบุตรควรบำเพ็ญแม้ศีลที่ท่านเรียกว่าอภิสมาจาริกศีล ให้บริบูรณ์ดีเสียก่อน ด้วยอำนาจวัตรเหล่านี้ คือ วัตรที่ลานพระเจดีย์ วัตรที่ ลานต้นโพธิ์ อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร วัตรที่เรือนไฟ วัตรที่โรงอุโบสถ ขันธกวัตร ๘๒ มหาวัตร ๑๔. จริงอยู่ กุลบุตรใด พึงกล่าวว่า เรารักษาศีลอยู่,กรรมด้วยอภิสมาจาริกวัตรจะมีประโยชน์อะไร? ข้อที่ศีลของกุลบุตรนั้นจักบริบูรณ์ได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้. แต่เมื่ออภิสมาจาริกวัตรบริบูรณ์ ศีลก็จะบริบูรณ์.เมื่อศีลบริบูรณ์ สมาธิย่อมถือเอาห้อง. สมจริงดังพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อที่ภิกษุนั้นหนอไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้* เพราะเหตุฉะนั้น กุลบุตรนี้ควรบำเพ็ญแม้วัตร มีเจติยังคณวัตรเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่า อภิสมาจาริวัตร ให้บริบูรณ์ด้วยดีเสียก่อน.
เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ ๑๐ อย่างที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า

ปลิโพธ(ความกังวล)๑๐ อย่างนั้น คือ
อาวาส ๑ ตระกูล ๑ ลาภ(คือปัจจัยสี่)๑ คณะ(คือหมู่)๑ การงาน(คือการก่อสร้าง) เป็นที่คำรบห้า ๑ อัทธานะ(คือเดินทางไกล)๑ ญูาติ ๑ อาพาธ ๑ คัณฐะ(คือการเรียนปริยัติ)๑ อิทธิฤทธิ์ ๑.

กุลบุตรผู้ตัดปลิโพธได้อย่างนั้นแล้ว จึงควรเรียนกรรมฐาน.

[กรรมฐาน ๒ พร้อมทั้งอธิบาย]

กรรมฐานนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน (กรรมฐานมีประโยชน์ในกุศลธรรมทั้งปวง)๑ ปาริหาริยกัมมัฏฐาน (กรรมฐานควรบริหารรักษา) ๑. บรรดากรรมฐาน ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า สัพพัตถกกมมัฏฐานได้แก่ เมตตา (ที่เจริญไป) ในหมู่ภิกษุเป็นต้น และมรณัสสติ (การระลึก
ถึงความตาย). พระอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อสุภสัญญา บ้าง. จริงอยู่ ภิกษุผู้จะเจริญกรรมฐาน ครั้งแรกต้องตัดปลิโพธเสียก่อน แล้วจึงเจริญเมตตาไปในหมู่ภิกษุผู้อยู่ในสีมา, ลำดับนั้น พึงเจริญไปในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมา,ลำดับจากนั้นพึงเจริญไปในอิสรชนในโคจรคาม, ต่อจากนั้นพึงเจริญไปในเหล่าสรรพสัตว์กระทั่งถึงขาวบานในโคจรคามนั้น. แท้จริง ภิกษุนั้น ทำพวกชนผู้อยู่ร่วมกันให้เกิดมีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตาในหมู่ภิกษุ.เวลานั้น เธอจะมีความอยู่เป็นสุข. เธอย่อมเป็นผู้อันเหล่าเทวดาผู้มีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตาในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมาจัดการอารักขาไว้เป็นอย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบธรรม.ทั้งเป็นผู้อันอิสรชนทั้งหลาย ผู้มีจิตสันดานอ่อนโยน เพราะเมตตาในอิสรชนในโคจรคาม จัดรักษาระแวดระวังไว้อย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบธรรม. และเป็นผู้อันชาวบ้านเหล่านั้นผู้มีจิตถูกอบรมให้เลื่อมใส เพราะเมตตาในพวกชาวบ้านในโคจรคามนั้น ไม่ดูหมิ่นเที่ยวไป. เป็นผู้เที่ยวไปไม่ถูกอะไร ๆ กระทบกระทั่งในที่ทุกสถาน เพราะเมตตาในเหล่าสรรพสัตว์. อนึ่งเธอเมื่อคิดว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ด้วยมรณัสสติ ละการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย เป็นผู้มีความสลดใจเจริญสูงขึ้นเป็นลำดับ ย่อมเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน. ตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้น แม้ในอารมณ์ที่เป็นทิพย์ เพราะอสุภสัญญา.เพราะเหตุนั้น คุณธรรมทั้ง ๓ (คือ เมตตา ๑ มรณัสสติ ๑ อสุภสัญญา ๑) นั้น ของภิกษุนั้น ท่านเรียกว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน เพราะทำอธิบายว่า เป็นกรรมฐานอันกุลบุตรพึงปรารถนา คือ พึงต้องการในที่ทุกสถาน เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมาก และเพราะความเป็นปทัฏฐาน แห่งการหมั่นประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียร ตามที่ประสงค์ไป โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้.ก็บรรดาอารมณ์ ๓๘ ประการ กรรมฐานใด ที่คล้อยตามจริตของกุลบุตรใด กรรมฐานนั้น ท่านเรียกว่า ปารหาริยกรรมฐาน เพราะเป็นกรรมฐานที่กุลบุตรนั้น ควรบริหารไว้เป็นนิตย์ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นเองแต่ในตติยปาราชิกนี้ อานาปานกรรมฐานนี้แล ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกรรมฐาน.ในอธิการว่าด้วยอานาปานกัมมัฏฐานนี้ มีความสังเขปเท่านี้. ส่วนความพิสดารนักศึกษาผู้ต้องการกถาว่าด้วยการชำระศีลให้หมดจด และกถาว่า ด้วยการตัดปลิโพธ พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.

-พรหมปุถุชน ยังไม่พ้นจากอบายทั้งหลายมีมรรคเบื้องต้น(ปฐมฌานสูตร)เล่ม35หน้า325

ปฐมฌานสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้เจริญฌาน ๔ จำพวก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน ? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจปฐมฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยปฐมฌานนั้น ตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น น้อมใจไปในปฐมฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยปฐมฌานนั้นไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำรงอยู่ในชั้นพรหม นั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นทั้งหมดให้สิ้นไปแล้วย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดาขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจทุติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยทุติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในทุติยฌานนั้นน้อมใจไปในทุติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยทุติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกอาภัสสระ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้วย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณ
อายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือในเมื่อคติ อุบัติ มีอยู่.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจตติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยตติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในตติยฌานนั้น น้อมใจไปในตติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยตติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๔ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระมีพระภาคเจ้า ดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้น ตราบเท่าตลอดอายุยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ ผิดแผกแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติ มีอยู่.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจจตุตถฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยจตุตถฌานนั้น ตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น น้อมใจไปในจตุตถฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยจตตุถฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าเวหัปผละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ กัป เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าเวหัปผละ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้วย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.


โดย: Budratsa วันที่: 15 ธันวาคม 2556 เวลา:19:20:33 น.  

 
-พระอริยะมีหลากหลายประเภท ตามวาสนาบารมี(อ.ตติยเสขสูตร)เล่ม34หน้า460

พระโสดาบัน

บทว่า โกล โกโล ได้แก่ (พระโสดาบัน) ไปจากตระกูลสู่ตระกูล.
ก็ในบทว่า. ตระกูล นี้ ท่านประสงค์เอา ภพ เพราะเหตุนั้น แม้ในบทว่า ๒ หรือ ๓ ตระกูลนี้ พึงทราบความหมายว่า ๒ หรือ ๓ ภพ. จริงอยู่ พระโสดาบันนี้ย่อมท่องเที่ยวไป ๒ ภพบ้าง ๓ ภพบ้าง หรืออย่างสูงที่สุดก็ ๖ ภพ เพราะเหตุนั้น พึงเห็นวิกัป (ข้อกำหนด)ในบทนี้อย่างนี้ว่า ๒ ภพบ้าง ๓ ภพบ้าง ๔ ภพบ้าง ๕ ภพบ้าง ๖ ภพบ้าง.

พระสกทาคามี

บทว่า เอกวีชี มีรูปวิเคราะห์ว่า พืชของภพหนึ่งเท่านั้น ของพระอริยะนี้มีอยู่ เหตุนั้น พระอริยะนี้จึงชื่อว่า เอกวีชี (ผู้มีพืชครั้งเดียว).

พระอนาคามี

ในบทว่า อุทฺธ โสโต เป็นต้น อธิบายว่า พระอนาคามีประเภท อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี มีกระแสในเบื้องบนและไปถึงอกนิฏฐภพก็มี ๑
พระอนาคามีประเภทอุทธังโสโตนอกนิฏฐคามี มีกระแสในเบื้องบนแต่ไปไม่ถึงอกนิฏฐภพ ก็มี ๑
พระอนาคามีประเภทนอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ไม่มีกระแสในเบื้องบนแต่ไปถึงอกนิฏฐภพ ก็มี ๑
พระอนาคามีประเภทนอุทธังโสโตนอกนิฏฐคามี ไม่มีกระแสในเบื้องบนและไปไม่ถึงอกนิฏฐภพก็มี ๑.

บรรดาพระอนาคามี ๔ จำพวกนั้น พระอนาคามีใดได้บรรลุอนาคามิผลในโลกนี้แล้ว บังเกิดในชั้นสุทธาวาสมีชั้นอวิหาเป็นต้น ดำรงอยู่ในชั้นอวิหานั้น จนตราบสิ้นอายุแล้ว ก็บังเกิดในชั้นสุทธาวาสชั้นสูงๆขึ้นไปถึงสุทธาวาสชั้นอกนิฏฐะ พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อุทธังโสโตอนิฏฐคามี.ส่วนพระอนาคามีใดบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหาเป็นต้น (แต่) ไม่ปรินิพพานในสุทธาวาสชั้นนั้น ไปปรินิพพานในพรหมโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไปโดยยังไม่ถึงสุทธาวาสชั้นอกนิฏฐะ พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อุทธังโสโตนอกนิฏฐคามี.พระอนาคามีใดจุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอกนิฏฐะเลยทีเดียว พระอนาคามีนี้ชื่อว่า นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี.
ส่วนพระอนาคามีใดบังเกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งในบรรดาสุทธาวาส ๔ มีอวิหาเป็นต้น แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสชั้นนั้นแล พระอนาคามีนี้ชื่อว่า นอุทธังโสโตนอลนิฏฐคามี.

ส่วนพระอนาคามีผู้อุบัติในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว บรรลุอรหัตผลด้วยจิตที่เป็นสสังขารและเป็นสัปปโยค พระอนาคามีนี้ชื่อว่า สสังขารปรินิพพายี.

พระอนาคามีผู้บรรลุอรหัตผล ด้วยจิตที่เป็นอสังขารเป็นอสัปปโยคพระอนาคามีนี้ชื่อว่า
อสังขารปรินิพพายี.

พระอนาคามีใดบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา ซึ่งมีอายุ ๑,๐๐๐ กัป ผ่านพ้นไปได้ ๑๐๐ กัปแรก ก็บรรลุอรหัตผล พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อุปหัจจปรินิพพายี.

แม้ในสุทธาวาสชั้นอตัปปาเป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.

บทว่า อนฺตราปรินพฺพายี ความว่า พระอนาคามีใด อายุยังไม่ทันเลยครึ่งไปก็ปรินิพพาน พระอนาคามีนั้นมี ๓ ประเภท คือ อันดับแรกพระอนาคามีท่านหนึ่ง บังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหาซึ่งมีอายุ ๑,๐๐๐ กัปเเล้วก็บรรลุอรหัตผลในวันที่บังเกิดนั้นเอง หากว่ามิได้บรรลุอรหัตผลในวันที่ตนบังเกิด แต่ว่าได้บรรลุในที่สุด ๑๐๐ กัปแรก พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี ประเภทที่ ๑.

พระอนาคามีอีกท่านหนึ่ง ไม่สามารถบรรลุอรหัตผลได้อย่างนั้น(แต่ว่า) ได้บรรลุในที่สุด ๒๐๐ กัป พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี ประเภทที่ ๒.

พระอนาคามีอีกท่านหนึ่ง แม้ในที่สุด ๒๐๐ กัป อย่างนั้นก็ไม่สามารถ(บรรลุอรหัตผล) ได้ (แต่ว่า) ได้บรรลุในที่สุด ๔๐๐ กัป พระอนาคามีนี้ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี ประเภทที่ ๓.

พระโสดาบัน ๒๔ เป็นต้น

อนึ่ง นักศึกษาพึงดำรงอยู่ในฐานะนี้ แล้วกล่าวถึงพระโสดาบัน ๒๔ จำพวก พระสกทาคามี ๑๒ จำพวก พระอนาคามี ๔๘ จำพวก และพระอรหันต์ ๑๒ จำพวก.อธิบายว่า ในศาสนานี้ มีธุระ ๒ คือ สัทธาธุระ ๑ ปัญญาธุระ ๑ มีปฏิปทา ๔ มีทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา เป็นต้น.

ในสัทธาธุระ กับ ปัญญาธุระนั้น พระโสดาบันบุคคลท่านหนึ่ง ยึดมั่นด้วยสัทธาธุระจนได้บรรสุโสดาปัตติผล บังเกิดในภพหนึ่ง แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ พระโสดาบันบุคคลท่านนี้จัดเป็นเอกพีชีประเภทหนึ่ง พระโสดาบันบุคคลประเภทเอกพีชีนั้น มี ๔ ประเภทด้วยอำนาจปฏิปทา. พระโสดาบันบุคคลประเภทเอกพีชีผู้ยึดมั่น ด้วยสัทธาธุระนี้เป็นฉันใด แม้ท่านที่ยึดมั่นด้วย
ปัญญาธุระก็เป็นฉันนั้น รวมเป็นว่าพระโสดาบันบุคคลประเภทเอกพีชีมี ๘ ประเภท.
พระโสดาบันประเภท โกล โกละ และพระโสดาบันประเภท สัตตักขัตตุปรมะ ก็เหมือนกัน คือมีประเภทละ ๘ รวมเป็นว่า พระโสดาบันเหล่านี้มี ๒๔ ประเภท.

ในวิโมกข์ทั้ง ๓ พระสกทาคามีบุคคลผู้บรรลุภูมิ ของพระสกทาคามี ก็มี ๔ ด้วยอำนาจปฏิปทา ๔ อนึ่ง พระสกทาคามีบุคคลผู้บรรลุภูมิของพระสกทาคามี ด้วยอนิมิตวิโมกข์ก็มี ๔ ผู้บรรลุภูมิของพระสกทาคามี ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ก็มี ๔ รวมเป็นว่า พระสกทาคามีเหล่านี้ มี ๑๒ ประเภท.

ส่วนในพรหมโลกชั้นอวิหา พระอนาคามีมีอยู่ ๕ คือ พระอนาคามี ประเภทอันตราปรินิพพายีมี ๓ พระอนาคามีประเภทอุปหัจจปรินิพพายี มี ๑ พระอนาคามีประเภทอุทธังโสโตอกนิฏฐคามีมี ๑. พระอนาคามีเหล่านั้นแยกเป็น ๑๐ คือ พระอนาคามีประเภท อสังขารปรินิพพายีมี ๕ พระอนาคามีประเภทสสังขารปรินิพพายีอีก ๕.ในสุทธาวาสชั้นอตัปปา เป็นต้น ก็มีจำนวนเท่ากัน แต่ในสุทธาวาสชั้นอกนิฏฐะ พระอนาคามีประเภทอุทธังโสโตไม่มี. เพราะฉะนั้น ในสุทธาวาส ชั้นอกนิฏฐะนั้น จึงมีพระอนาคามี ๘ คือ พระอนาคามีประเภท สสังขารปรินิพพายีมี ๔ พระอนาคามีประเภทอสังขารปรินิพพายีมี ๔ (เหมือนกัน )รวมเป็นว่า พระอนาคามีเหลานี้มีทั้งหมด ๔๘. แม้พระอรหันต์ ก็พึงทราบว่า มี ๑๒ เหมือนพระสกทาคามี. แม้ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภารเจ้า ก็ตรัสสิกขา ๓ ไว้คละกัน.


โดย: Budratsa วันที่: 30 ธันวาคม 2556 เวลา:3:32:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.