"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
23 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
ชาวพุทธ ต้องรู้จักประมาณการบริโภค โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 2 มี.ค.2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑.   ชาวพุทธ ต้องรู้จักประมาณในการบริโภค
      ๒.   นรกของนักรบอาชีพ
      ๓.   ความหมายของคนแก่และเด็กในพุทธศาสนา
      ๔.   ไม่ควรดูหมิ่นบาปกรรมว่า แค่เล็กน้อย
      ๕.   แค่หยอกล้อเล่นๆ ก็เป็นบาปน่ากลัว
     ฯลฯ 


-นรกของนักรบอาชีพ(โยธาชีวสูตร)เล่ม29หน้า184
-ถึงนิพพานแล้วต้องสละทุกๆอย่าง(อลคัททูปมสูตร)เล่ม18หน้า287
-พระพุทธเจ้าถูกด่าแบบบริบูรณ์(เรื่องของพระองค์)เล่ม43หน้า226
-ชาวพุทธ ต้องรู้จักประมาณในการบริโภค เล่ม25หน้า261, เล่ม28หน้า395
-พระภิกษุต้องเลี้ยงตนเอง ไม่เลี้ยงผู้อื่น(มหากัสสปสูตร)เล่ม44หน้า96, 67/604
-ความหมายของคนแก่และเด็กในพุทธศาสนา(สูตร7)เล่ม33หน้า390
-พระพุทธเจ้าหนีจากลูกศิษย์ที่ว่ายาก สอนยาก(โกสัมพิขันธกะ)เล่ม7หน้า472
-ไม่ควรดูหมิ่นบาปกรรมว่า แค่เล็กน้อย(เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร)เล่ม42หน้า24
-แค่หยอกล้อเล่นๆ ก็เป็นบาปน่ากลัว(อ.อัมพลักขรเปตวัตถุ)เล่ม49หน้า479

ชาวพุทธ ต้องรู้จักประมาณในการบริโภค เล่ม25หน้า261, เล่ม28หน้า395
บทว่า อุทเร ยโต ได้แก่สำรวมในท้อง คือสำรวม คือ บริโภคพอประมาณ รู้จักประมาณในอาหาร. ด้วยมุขคือความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ เป็นอันท่านกล่าวการเสพเฉพาะปัจจัยสันนิสสิตศีลแล้ว. ถามว่า  ด้วยข้อนั้น ท่านแสดงความอย่างไร.  ตอบว่า ท่านแสดงความว่า  พราหมณ์ ท่านหว่านพืชแล้ว ล้อมด้วยรั้วหนามรั้วต้นไม้หรือกำแพง เพื่อรักษาข้าวกล้า ฝูงโคกระบือและเนื้อทั้งหลายเข้าไปไม่ได้ แย่งข้าวกล้าไม่ได้ เพราะการล้อมนั้น ฉันใดเราตถาคตก็ฉันนั้น หว่านพืช  คือ ศรัทธาเป็นอันมากแล้ว ล้อมรั้ว ๓ ชั้นได้แก่ควบคุมกาย ควบคุมวาจา และควบคุมอาหาร  เพื่อรักษากุศลธรรมนานาประการ  ฝูงโคกระบือและเนื้อกล่าวคืออกุศลธรรมมีราคะเป็นต้น เข้าไปไม่ได้ แย่งข้าวกล้าคือกุศลนานาประการของเราไปไม่ได้เพราะการล้อมรั้วนั้น.

เล่ม28หน้า395
[๓๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า เราไม่บริโภค เพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา  เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่ง บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อให้เป็นไปได้เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์  ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงทายาแผล ก็เพียงเพื่อต้องการให้เนื้อขึ้นมา หรือบุรุษพึงหยอดน้ำมันเพลารถก็เพียงเพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้ ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า เราไม่บริโภคเพื่อเล่นเพื่อความมัวเมา เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่งผิว บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อให้เป็นไปได้ เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล 

นรกของนักรบอาชีพ(โยธาชีวสูตร)เล่ม29หน้า184

โยธาชีวสูตร ว่าด้วยปัญหาของนักรบอาชีพ

[๕๙๓] ครั้งนั้นแล นายบ้านนักรบอาชีพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ได้สดับคำของนักรบอาชีพทั้งอาจารย์ และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าอย่างไร 
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าเลยนายบ้าน ขอพักข้อนี้เสียเถิด อย่าถามข้อนี้กะเราเลย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นายนักรบอาชีพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับคำของนักรบอาชีพทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสว่ากะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนนายบ้าน เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายบ้าน ของดข้อนี้เสียเถิดอย่าถามเราถึงข้อนี้เลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน ดูก่อนนายบ้าน นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม  ผู้นั้นยึดหน่วงจิตกระทำไว้ไม่ดีตั้งจิตไว้ไม่ดีก่อนว่า สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศหรือว่าอย่าได้มี คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตายผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเกิดในนรกชื่อสรชิต  ก็ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงความ คนอื่นฆ่าผู้นั้นซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ดังนี้ไชร้ ความเห็นของผู้นั้นเป็นความเห็นผิด 
ดูก่อนนายบ้าน ก็เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานของบุคคลผู้มีความเห็นผิด

[๕๙๔]  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนักรบอาชีพร้องไห้สอื้น น้ำตาไหล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนายบ้านเราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลยนายบ้าน ของดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย เขาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ กะข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักรบอาชีพทั้งอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลงสิ้นกาลนานว่านักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงความ คนอื่นฆ่าผู้นั้น ซึ่งกำลังอุตสาหะพยายามให้ถึงความตาย นักรบอาชีพคนนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิต ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักได้เห็นรูป ฉะนั้นข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบ โยธาชีวสูตรที่  ๓

ถึงนิพพานแล้วต้องสละทุกๆอย่าง(อลคัททูปมสูตร)เล่ม18หน้า287

[๒๘๐]  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบท้วงน้ำใหญ่ฝั่งข้างนี้ น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้าฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละ เรือหรือสะพานสำหรับข้ามเพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้นไม่พึงมี บุรุษนั้นพึงดำริอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่แล ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละเรือหรือสะพานสำหรับข้ามเพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้นย่อมไม่มี  ถ้ากระไร เราพึงรวบรวมหญ้าไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นทุ่น แล้วอาศัยทุ่นนั้น พยายามด้วยมือและเท้าพึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี  ทีนั้นแล บุรุษนั้นรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้มาผูกเป็นทุ่น  อาศัยทุ่นนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโดยความสวัสดี บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งได้แล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า ทุ่นนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยทุ่นนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า ข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้ากระไร เรายกทุ่นนี้ขึ้นบนศีรษะ หรือแบกที่บ่า แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา  ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่าถูกหน้าที่ในทุ่นนั้นบ้างหรือหนอ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูก  พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไรจึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในทุ่นนั้น. ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า ทุ่นนี้มีอุปการะแก่เรามากแลเราอาศัยทุ่นนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้ากระไร เราพึงยกทุ่นนี้ขึ้นวางไว้บนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำแล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นกระทำอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในทุ่นนั้น  แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมมีอุปมาด้วยทุ่นเพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยทุ่นที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลายจะป่วยการกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า.

พระพุทธเจ้าถูกด่าแบบบริบูรณ์(เรื่องของพระองค์)เล่ม43หน้า226

เรื่องของพระองค์  พระศาสดาถูกพวกมิจฉาทิฏฐิด่า

เรื่องข้าพเจ้าให้พิสดารแล้ว ในวรรณนาแห่งพระคาถาแรกแห่ง อัปปมาทวรรคนั่นแล. จริงอยู่ ในที่นั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ฉะนี้ว่า "พระนางมาคันทิยา ไม่อาจทำอะไรๆ แก่หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุขเหล่านั้นได้" จึงทรงดำริว่า "เราจักทำกิจที่ควรทำแก่พระสมณโคดมให้ได้" ดังนี้แล้ว ให้สินจ้างแก่ชาวนครทั้งหลายแล้ว กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายพร้อมกับพวกผู้ชายที่เป็นทาสและกรรมกร จงด่าจงบริภาษพระสมณโคดมผู้เสด็จเที่ยวเข้ามาภายในพระนคร ให้หนีไป."พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ติดตามพระศาสดาผู้เสด็จเข้าไปภายในพระนคร ด่าอยู่ บริภาษอยู่ ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ว่า "เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นอูฐ เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน, สุคติไม่มีสำหรับเจ้าทุคติเท่านั้นอันเจ้าพึงหวัง."

พระภิกษุต้องเลี้ยงตนเอง ไม่เลี้ยงผู้อื่น(มหากัสสปสูตร)เล่ม44หน้า96, 67/604

มหากัสสปสูตร ว่าด้วยพระมหากัสสปะไม่รับบิณฑบาตเทวดารับของคนขัดสน

[๔๓]สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์   ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก สมัยต่อมา ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้วได้คิดว่า ไฉนเราพึงเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ก็สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวายเพื่อจะให้ท่านพระมหากัสสปะได้บิณฑบาต ท่านพระมหากัสสปะห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้นแล้ว เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือเอาบาตรและจีวรเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตตามทางที่อยู่แห่งมนุษย์ขัดสนที่อยู่แห่งมนุษย์กำพร้า ที่อยู่แห่งช่างหูก พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัสสปะกำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ 
ตามทางที่อยู่แห่งมนุษย์ขัดสน ที่อยู่แห่งมนุษย์กำพร้า ที่อยู่แห่งช่างหูก.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

เรากล่าวบุคคลมิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น ผู้รู้ยิ่ง ผู้ฝึกตนแล้ว 
ดำรงอยู่แล้วในสารธรรม ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว
ผู้มีโทษอันคายแล้วว่า เป็นพราหมณ์.

เล่ม67หน้า604 
[๗๗๙]  คำว่า ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาสทั้งหมด ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวลในความสั่งสม ปลงผมและหนวดแล้วครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม้มีกังวลเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านำลงแล้วซึ่งเครื่องหมายของ
คฤหัสถ์  ครองผ้าย้อมน้ำฝาคออกบวช เหมือนต้น
ปาริฉัตตกะมีใบทึบ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.

[๗๘๐] พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่ทำความติดใจในรสทั้ง
หลาย  ไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุให้เหลวไหล ไม่เลี้ยงผู้อื่น
เที่ยวไปตามลำดับตรอก มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยว
ไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.

ความหมายของคนแก่และเด็กในพุทธศาสนา(สูตร7)เล่ม33หน้า390

สูตรที่ ๗ ว่าด้วยชื่อว่าเป็นบัณฑิตและเป็นเถระ มิใช่เพราะเป็นคนแก่

[๒๘๓] ๓๗. สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวันใกล้เมืองมธุรา ครั้งนั้นแล พราหมณ์กัณฑรายนะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูก่อนท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ท่านสมณะกัจจานะ หาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาล
ผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูก่อนท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูก่อนกัจจานะ การกระทำเช่นนี้นั้นเป็นการไม่สมควรแท้.

ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็ก ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็นพระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี แต่กำเนิดก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกามถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้

ดูก่อนพราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิทประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผาไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียวแล.

ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะได้ลุกจากที่นั่งแล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่มด้วยเศียรเกล้า กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ  ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

พระพุทธเจ้าหนีจากลูกศิษย์ที่ว่ายาก สอนยาก(โกสัมพิขันธกะ)เล่ม7หน้า472

[๒๔๕]  พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระโอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบสามว่า อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย อย่าบาดหมางกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย อธรรมวาทีภิกษุรูปนั้น ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นคำรบสามว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมได้โปรดทรงยับยั้งเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดทรงมีความขวนขวายน้อย  ประกอบสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระพุทธเจ้า จักปรากฏด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้หัวดื้อนักแล เราจะให้โมฆบุรุษเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ดังนี้ แล้วเสด็จลุกจากพระพุทธอาสนะกลับไป.

ทีฆาวุภาณวาร ที่ ๑ จบ

ไม่ควรดูหมิ่นบาปกรรมว่า แค่เล็กน้อย(เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร)เล่ม42หน้า24

เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง
ผู้ไม่ถนอมบริขาร  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาวมญฺเถ  ปาปสฺส "เป็นต้น.

ของสงฆ์ใช้เเล้วควรรีบเก็บ

ได้ยินว่า ภิกษุนั้น ใช้สอยบริขารอันต่างด้วยเตียงและตั่งเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในภายนอกแล้ว ทิ้งไว้ในที่นั้นนั่นเอง. บริขารย่อมเสียหายไป เพราะฝนบ้าง แดดบ้าง พวกสัตว์มีปลวกเป็นต้นบ้าง. ภิกษุนั้น เมื่อพวกภิกษุกล่าวเตือนว่า "ผู้มีอายุ ธรรมดาบริขาร ภิกษุควรเก็บงำมิใช่หรือ ? "กลับกล่าวว่า "กรรมที่ผมทำนั่นนิดหน่อย ผู้มีอายุ,บริขารนั่นไม่มีจิต, ความวิจิตรก็ไม่มี "ดังนี้แล้ว (ยังขืน) ทำอยู่อย่างนั้นนั่นแลอีก. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลกิริยา (การ) ของเธอแด่พระศาสดา.
พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุ ข่าวว่าเธอทำอย่างนั้นจริงหรือ ? "เธอแม้ถูกพระศาสดาตรัสถามแล้ว ก็กราบทูลอย่างดูหมิ่นอย่างนั้นนั่นแหละว่า "ข้าเเต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นจะเป็นอะไร, ข้าพระองค์ทำกรรมเล็กน้อย. บริขารนั้น ไม่มีจิต.  ความวิจิตรก็ไม่มี. "

อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่านิดหน่อย

ทีนั้น พระศาสดาตรัสกับเธอว่า "อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้นย่อมไม่ควร,ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย;เหมือนอย่างว่า ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอยู่ ไม่เต็มได้ด้วยหยาดน้ำ หยาดเดียวโดยแท้,ถึงกระนั้น เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้เเน่ๆ ฉันใด. บุคคลผู้ทำบาปกรรมอยู่ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว.เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

๕. มาวมญฺเถ  ปาปสฺส น มตฺต  มิสฺสติ
อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
อาปูรติ พาโล ปาปสฺส โถกกปิ อาจิน.

" บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณ
น้อยจักไม่มาถึง ' แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่
ตกลง (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด,ชนพาลเมื่อสั่งสม
บาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น. "

แค่หยอกล้อเล่นๆก็เป็นบาปน่ากลัว(อ.อัมพลักขรเปตวัตถุ)เล่ม49หน้า479

เบื้องหน้าแต่นั้น พระราชาและเปรตทั้งสองนั้น จึงมีคาถา เป็นเครื่องตรัสโต้ตอบกันดังนี้ว่า  :-

พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า  :-
ท่านขี่ม้าอันประดับประดาแล้วเข้าไปยังสำนักของบุรุษที่ถูกเสียบหลาว ม้าขาวตัวนี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชมนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร

เปรตกราบทูลว่า :-
ที่กลางเมืองเวสาลีนั้น มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส เอาศีรษะโค ศีรษะหนึ่งวางทอดที่หลุมให้เป็นสะพาน ข้าพระองค์และบุคคลอื่น เหยียบบนศีรษะโคนั้น เดินไปได้สะดวก ม้านี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชมนี้เป็นผลแห่งกรรมนั่นเอง

พระเจ้าสักขระตรัสถามว่า :-
ท่านมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ และมีกลิ่นหอมฟุ้งไป ท่านได้สำเร็จฤทธิ์แห่งเทวดา เป็นผู้มีอานุภาพมาก แต่เป็นคนเปลือยกาย นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.

เปรตนั้นกราบทูลว่า :-
เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นคนไม่มักโกรธทั้งมีจิตเลื่อมใสอยู่เป็นนิตย์ พูดกับคนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์มีรัศมีเป็นทิพย์สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้นข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญ ข้าพระองค์มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไปเนืองนิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ ข้าพระองค์ลักเอาผ้าซ่อนไว้บนบก ไม่มีความประสงค์จะลักขโมย และไม่มีจิตคิดประทุษร้าย เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์ จึงเป็นคนเปลือยกาย เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง.

พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า  :-
ผู้ใดทำบาปเล่น ๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ผู้นั้นได้รับผลกรรมเช่นนี้ ส่วนผู้ใดตั้งใจทำบาปจริง ๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวผลกรรม.ของผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร ?

เปรตกราบทูลว่า :-
มนุษย์เหล่าใด มีความดำริชั่วร้าย เป็นผู้เศร้าหมองด้วยกายและวาจา เพราะกายแตกตายไป มนุษย์เหล่านั้น ย่อมเข้าถึงนรกในสัมปรายภพ โดยไม่ต้องสงสัย ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ ยินดียิ่งในทาน มีอัตภาพอันสงเคราะห์แล้ว เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพ โดยไม่ต้องสงสัย.

วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com , และ Facebook https://www.facebook.com/tripitaka91

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




Create Date : 23 มิถุนายน 2556
Last Update : 23 มิถุนายน 2556 19:56:45 น. 2 comments
Counter : 1077 Pageviews.

 
ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
www.samyaek.com

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ Android (แอนดรอยด์) เช่น Samsung Galaxy Note
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30460#msg30460

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ iPad (ไอแพด)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30465#msg30465


โดย: Budratsa วันที่: 23 มิถุนายน 2556 เวลา:17:36:38 น.  

 
...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com คลิกที่กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456
........................................

หรือ ติดต่อเจ้าของบล็อก มีทั้ง91เล่ม แล้วให้ดาวโหลดเอง จะส่งผ่านเมล์ไปให้ ท่านใดสนใจติดต่อที่เจ้าของบล็อก จะฝากเมล์ไว้ที่ช่องคอมเม้นต์หรือส่งเมล์หาเจ้าของบล็อก (เมล์ในProfile) โปรดระบุว่า "ขอพระไตรปิฏกชุด 91 เล่ม"

ยินดีในบุญกับท่านที่ต้องการศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยค่ะ


โดย: Budratsa วันที่: 23 มิถุนายน 2556 เวลา:18:01:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.