"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2555
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 

เรียนรู้หมวดกรรมฐาน 3

ผู้บำเพ็ญกรรมฐานต้องบำเพ็ญศีลให้บริสุทธิ์ก่อน (ตติยปาราชิกวรรณนา) เล่ม2 หน้า 350

[กุลบุตรจะเรียนกรรมฐานต้องบำเพ็ญศีลให้บริสุทธิ์ก่อน]

กุลบุตรควรชำระศีล ๔ อย่างให้หมดจดก่อน.ในศีลนั้น  มีวิธีชำระให้หมดจด  ๓  อย่าง   คือ
ไม่ต้องอาบัติ  ๑
ออกจากอาบัติที่ต้องแล้ว  ๑
ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย  ๑.

จริงอยู่ ภาวนาย่อมสำเร็จแก่กุลบุตรผู้มีศีล บริสุทธิ์อย่างนั้น.
กุลบุตรควรบำเพ็ญแม้ศีลที่ท่านเรียกว่าอภิสมาจาริกศีล ให้บริบูรณ์ดีเสียก่อน ด้วยอำนาจวัตรเหล่านี้  คือ วัตรที่ลานพระเจดีย์  วัตรที่ลานต้นโพธิ์ อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร วัตรที่เรือนไฟ  วัตรที่โรงอุโบสถ ขันธกวัตร ๘๒ มหาวัตร ๑๔.

จริงอยู่ กุลบุตรใด พึงกล่าวว่า เรารักษาศีลอยู่,
กรรมด้วยอภิสมาจาริกวัตรจะมีประโยชน์อะไร ? ข้อที่ศีลของกุลบุตรนั้นจักบริบูรณ์ได้  นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้. แต่เมื่ออภิสมาจาริกวัตรบริบูรณ์ศีลก็จะบริบูรณ์. เมื่อศีลบริบูรณ์  สมาธิย่อมถือเอาห้อง. สมจริงดังพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่ภิกษุนั้นหนอไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ได้  นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้*  เรื่องนี้ควรให้พิสดาร. เพราะเหตุฉะนั้น  กุลบุตรนี้ควรบำเพ็ญแม้วัตร มีเจติยังคณวัตรเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่า
อภิสมาจาริวัตร ให้บริบูรณ์ด้วยดีเสียก่อน.

ตัดกังวลก่อนเรียนกรรมฐาน(ตติยปาราชิกวรรณนา) เล่ม2 หน้า 351
เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ  ๑๐  อย่างที่พระอาจารย์ ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า

ปลิโพธ  (ความกังวล)   ๑๐  อย่างนั้น

คือ อาวาส(ที่อยู่)  ๑ 
ตระกูล  ๑ 
ลาภ (คือปัจจัยสี่) ๑
คณะ (คือหมู่)  ๑
การงาน (คือการก่อสร้าง) เป็นที่คำรบห้า  ๑
 อัทธานะ  (คือเดินทางไกล)  ๑ 
ญูาติ  ๑ 
อาพาธ  ๑
คัณฐะ (คือการเรียนปริยัติ)  ๑
อิทธิฤทธิ์ ๑.

กุลบุตรผู้ตัดปลิโพธได้อย่างนั้นแล้ว   จึงควรเรียนกรรมฐาน.

เล่ม  11    หน้า   105
 
......ภิกษุปฏิบัติชั่วในปิฎก  3 เหล่านี้  (พระวินัย – พระสูตร – พระอภิธรรม) ย่อมถึงความวิบัติต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล (ละเมิดศีล)  ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) และจิตวิปลาส (บ้า) ตามลำดับ  ด้วยประการฉะนี้.......

ศีลยังไม่ดีไปทำกรรมฐาน...ผลคือบ้า  เล่ม 1 หน้า 763

.....จริงอยู่  ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า  เป็นของได้ด้วยยาก,
การบรรพชาและการอุปสมบท เป็นของได้ด้วยยากยิ่งกว่านั้น. 
แต่พระวินัยธร (ผู้ช่ำชองพระวินัย) ควรพูดอย่างนี้ว่า  เธอ  จงปัดกวาดโอกาสที่เงียบสงัด ล้วนั่งพักกลางวันชำระศีล  ให้บริสุทธิ์  จงมนสิการ (ตรึกตรอง) อาการ  ๓๒  ดูก่อน. 
ถ้าศีลของภิกษุนั้นไม่ด่างพร้อยไซร้, กรรมฐาน ย่อมสืบต่อ,  สังขารทั้งหลาย ก็เป็นของปรากฏชัดขึ้น, จิตก็เป็นเอกัคคตา (มีความสงบ)   ดุจได้บรรลุอุปจาระและอัปปนาสมาธิ  ฉะนั้น, ถึงวันจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม  เธอก็ไม่ทราบ.ในเวลาวันล่วงเลยไป เธอมาสู่ที่อุปัฏฐากแล้ว ควรพูดอย่างนี้ว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเธอ เป็นเช่นไร? ก็เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว  ควรพูดกะเธอว่า 
ขึ้นเชื่อว่าบรรพชามีความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นประโยชน์, เธออย่าประมาท บำเพ็ญสมณธรรมเถิด.

ส่วนภิกษุใด มีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ จิตย่อมปั่นป่วน ถูกไฟคือความเดือดร้อนแผดเผาอยู่  ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏัก ฉะนั้น  ภิกษุนั้น  ย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว  เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น.

ภิกษุควรทำศีลให้บริสุทธ์และทำความเห็นให้ตรงก่อนจึงเริ่มทำกรรมฐาน (ภิกขุสูตร) เล่ม30หน้า379-381

ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน  ๔  โดยส่วน  ๓

[๖๘๕]  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๖๘๖]  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอประทานพระวโรกาส  ขอพระผู้มี
พระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วพึงเป็นผู้ ๆ  เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเธอเชิญเราอย่างนั้นเหมือนกัน และเมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่าเป็นผู้ควรติดตามไปเท่านั้น

ภิกษุนั้นทูลวิงวอนว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๖๘๗]  พ. ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ  เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน.เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร. คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และควานเห็นตรง. เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง. เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓. สติปัฏฐาน ๔  เป็นไฉน.

[๖๘๘]  ดูก่อนภิกษุ
-เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ  มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย  ๑
-จงพิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ   มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑
-จงพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอก อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑
-จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ .. จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกอยู่...จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่ ...จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ ...  จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกอยู่.. .จงพิจารณาเห็นจิตใจจิตทั้งภายในภายนอกอยู่.. จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในอยู่   มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ    มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสีย ๑
-จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกอยู่  ๑ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑
-จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย  ๑.

[๖๘๙]  ดูก่อนภิกษุ เมื่อใด เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักเจริญสติปัฏฐาน  ๔ เหล่านี้ โดยส่วน ๓ อย่างนั้น. เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว ตลอดคืนหรือวันอันจักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย.

[๖๙๐]  ครั้งนั้น ภิกษุนั้นชื่นชม  ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า   กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เธอเป็นผู้ ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน  เข้าถึงอยู่รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นมิได้มี ก็แลภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบภิกขุสูตรที่  ๓

ศีลไม่บริสุทธิ์ไปทำกรรมฐานมีสิทธ์เป็นบ้า(พรหมชาลสูตร) เล่ม 11หน้า 104-105
ส่วนภิกษุปฏิบัติชั่วในพระวินัย ย่อมมีความสำคัญว่า ไม่มีโทษในผัสสะทั้งหลาย มีการถูกต้องสิ่งที่มีวิญญาณครองเป็นต้น ที่ต้องห้าม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการถูกต้องวัตถุมีเครื่องปูลาดและผ้าห่ม อันมีสัมผัสสบายที่ทรงอนุญาตไว้เป็นต้น.สมด้วยคำที่พระอริฏฐะกล่าวไว้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่าเป็นธรรมทำอันตราย แก่ธรรมเหล่านั้นไม่อาจเพื่อเป็นอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้เลยดังนี้.แต่นั้นภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ทุศีล.

ภิกษุปฏิบัติชั่วในพระสูตร ไม่รู้ความมุ่งหมายในพระบาลีมีอาทิว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ พวกเหล่านี้ มีอยู่ ปรากฏอยู่ ดังนี้ ย่อมถือเอาผิด ๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายตรัสไว้ว่า บุคคลย่อมกล่าวตู่เราทั้งหลายด้วย  ย่อมขุดซึ่งตนด้วย  ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากด้วย ด้วยการที่คนถือผิด  ดังนี้.แต่นั้น  ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิ.

ภิกษุปฏิบัติชั่วในพระอภิธรรม เมื่อคิดธรรมฟุ้งเกินไป ย่อมคิดแม้เรื่องที่ไม่ควรคิดแต่นั้นย่อมถึงจิตวิปลาส สมด้วยพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคิดอยู่ซึ่งเรื่องไม่ควรคิดทั้งหลายเหล่าใด
พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เสียจริต เรื่องไม่ควรคิดทั้งหลายเหล่านี้ ๔ ประการ บุคคลไม่ควรคิดเลย ดังนี้.

ภิกษุปฏิบัติชั่วในปิฎก ๓ เหล่านี้ ย่อมถึงความวิบัติต่างด้วยความ
เป็นผู้ทุศีล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และจิตวิปลาสนี้ตามลำดับ  ด้วยประการฉะนี้. คาถาแม้นี้ว่า

ภิกษุย่อมถึงซึ่งประเภทแห่งปริยัติใด ซึ่งสมบัติใด แม้ซึ่งวิบัติใด ในปิฎกใด ด้วยอาการใด พึงแสดงซึ่งประเภทแห่งปริยัติทั้งหมดแม้นั้น  ด้วยอาการนั้น ดังนี้

เป็นคาถามีเนื้อความอัน ข้าพเจ้ากล่าวแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
ครั้นทราบปิฎกทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ แล้ว  ผู้ศึกษาพึงทราบ
พระพุทธพจน์นี้ว่า  มี ๓ อย่าง  ด้วยอำนาจแห่งปิฎกเหล่านั้น  ด้วยประการฉะนี้.

ผู้ทำพอประมาณในศีล สมาธิ ปัญญา ล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง แสดงอาบัติบ้าง ก็อาจจะบรรลุธรรมได้(ทุติยเสขสูตร)เล่ม 34หน้า 454-456

ว่าด้วยเสขบุคคล

[๕๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิกขาบทที่สำคัญ  ๑๕๐ นี้ ย่อมมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ ศึกษากันอยู่ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่ สิกขา ๓ คืออะไรบ้าง คือ อธิสีลสิกขา  อธิจิตตสิกขา  อธิปัญญาสิกขา นี้แล  สิกขา ๓ ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
ทำพอประมาณในสมาธิ ...ในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติ (คือแสดงอาบัติ) บ้าง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร เหตุว่าไม่มีใครกล่าวความอภัพ  (คือไม่อาจบรรลุโลกุตรธรรม)  เพราะการล่วง สิกขาบทเล็กน้อย  และการออกจากอาบัตินี้  แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น  สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  ภิกษุนั้น
เพราะสิ้นสังโยชน์  ๓ เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้แน่ ที่จะได้ตรัสรู้ในข้างหน้า

ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นเพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ ราคะ  โทสะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้หนเดียวเท่านั้น  ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้

ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์
ในศีล...ในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อย บ้าง ฯลฯ  สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย   ภิกษุนั้น  เพราะสิ้นสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๕  เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลก (ที่เกิด)  นั้น มีอันไม่กลับ จากโลกนั้นเป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้  ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์
ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ ทั้งในปัญญา  เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้น ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองสำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้

อย่างนี้แล  ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทำได้เพียงเอกเทศ ย่อมได้ดีเพียงเอกเทศ ผู้ทำได้บริบูรณ์ย่อมทำได้ดีบริบูรณ์ เราจึงกล่าวว่าสิกขาบททั้งหลายหาเป็นหมันไม่.

จบทุติยเสขสูตรที่   ๖

ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความสิ้นสวะ (สัพพาสวสังวรสูตร) เล่ม 17หน้า 138-139
๒. สัพพาสวสังวรสูตร ๑

[ ๑๐ ]  พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เราจักแสดงปริยายว่าด้วย  การสังวรอาสวะทั้งปวงแก่พวกเธอ  พวกเธอจงพึง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

[๑๑]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เรากล่าวความสิ้นอาสวะไว้  สำหรับภิกษุผู้รู้อยู่  เห็นอยู่ เราไม่กล่าวความสิ้นอาสวะไว้สำหรับภิกษุผู้ไม่รู้ไม่เห็น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้อะไร  เห็นอะไร ?  ความสิ้นอาสวะจะมี ได้แก่ภิกษุผู้รู้เห็นโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย  อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคายอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว เธอย่อมละเสียได้.
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (๑)  อาสนะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นก็มี (๒)  ที่จะพึงได้เพราะการสังวรก็มี (๓) ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี (๔)   ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ๑.
ในอรรถกถา  เรียกสัพพาสวสูตร.(๕) ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี (๖) ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี  (๗)  ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี.(๑)  อาสวะที่ละได้เพราะการเห็น

[๑๒]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการเห็น?
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ   ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ.ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ  ย่อมไม่รู้ธรรมอันตนควรมนสิการ.เมื่อเขาไม่รู้ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ  ย่อมมนสิการ ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ  ไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน ?
เมื่อปุถุชนมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่  กามาสวะก็ดี  ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด  ย่อมเกิดขึ้น  ที่เกิดขึ้นแล้ว  ย่อมเจริญ  ธรรม เหล่านี้ไม่ควรมนสิการ  ซึ่งเขามนสิการอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็ธรรมที่ควรมนสิการ  ที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่เป็นไฉน.
เมื่อปุถุชนมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี  ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด  ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว  ย่อมเสื่อมสิ้นไปธรรมเหล่านี้ ควรมนสิการ ซึ่งเขาไม่มนสิการอยู่  อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว   ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น  เพราะมนสิการธรรม ที่ไม่ควรมนสิการ  และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.

การทำกรรมฐานหากภิกษุทำถูกต้อง   สายญาติตั้งแต่ลูกศิษย์จนถึงพรหมโลก ย่อมถูกต้องด้วย    (อ.ญาตกสูตร) เล่ม34หน้า24

บทว่า  พหุชนหิตาย ความว่า  ก็บริวารชนของภิกษุแม้นี้ มีสัทธิวิหาริกเป็นต้น ต่างพากันทำตามสิ่งที่ภิกษุนั้นทำแล้วเทียวด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ไม่รู้แล้วจักไม่ทำ อุปัฏฐากเป็นต้นก็เหมือนกัน เทวดาทั้งหลาย  คือ อารักขเทวดาของบริวารชนเหล่านั้น ภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดาเหล่านั้น และอากาศเทวดาผู้เป็นมิตรของภุมมเทวดา เหล่านั้น รวมถึงเทวดาที่บังเกิดในพรหมโลก ก็พากันทำตามสิ่งที่ภิกษุนั้นทำแล้วเหมือนกัน ภิกษุชื่อว่าเป็น ผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก  ด้วยประการฉะนี้.

ไม่ควรมีข้ออ้างในการทำความเพียร (อารัพภวัตถุสูตร)  เล่ม37หน้า 665-667
[๑๘๖]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารัพภวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องทำการงาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องทำการงานแล ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ ไม่พึงทำมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายได้ง่าย ผิฉะนั้น เราจะรีบปรารภความเพียรเสียก่อนเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่  ๑.

ภิกษุทำการงานแล้ว  เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ ไม่สามารถมนสิการ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ผิฉะนั้น   เราจะปรารภความ เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรม ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่  ๒.

ภิกษุต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราจักต้องเดินทาง  ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ไม่พึงกระทำมนสิการ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ง่าย  ผิฉะนั้น เราจะปรารภ
ความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่  ๓.

ภิกษุเดินทางแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ไม่สามารถมนสิการ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ผิฉะนั้น เราจะปรารภความ
เพียร  ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่  ๔.

ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการ  เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการ กายของเรา นั้นเบาควรแก่การงาน ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๖.

อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแก่เรา การที่อาพาธของเราจะพึงกลับกำเริบนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร  ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๗.

ภิกษุหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นานเธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน การที่อาการของเราจะพึงกลับกำเริบนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ผิฉะนั้นจะรีบปรารภความเพียรเสียก่อน เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ. 
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้เเจ้ง  นี้เป็นอารัพภวัตถุ
ประการที่  ๘  ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอารัพภวัตถุ   ประการนี้แล.

จบ  อารัพภวัตถุสูตรที่  ๑๙

พระพุทธเจ้าทรงให้กรรมฐานแก่ผู้มีจริตต่างๆ (อ.ทสุตตรสูตร) เล่ม 16หน้า 456-458

ด้วยสามารถแห่งความประพฤติของภิกษุเหล่านั้น

พระศาสดาจึงให้อสุภกัมมัฏฐาน  แก่ภิกษุผู้ราคะจริต
ให้เมตตากัมมัฏฐาน แก่ภิกษุผู้โทสจริต 
ให้อุทเทส  ปริปุจฺฉา การฟังธรรมตามกาลการสนทนาธรรมตามกาล  แก่ภิกษุผู้โมหะจริต
ทรงให้อานาปานัสสติกัมมัฏฐาน แก่ภิกษุผู้วิตกจริต ทรงประกาศ  ความเป็นผู้ตรัสรู้ดี แห่งพระพุทธเจ้า  ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม 

และความเป็นผู้ปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์  ในปสาทนียสูตร แก่ภิกษุผู้สัทธาจริต
ทรงตรัสพระสูตรทั้งหลายอันลึกซึ้ง อันปฏิสังยุตต์ ด้วย อนิจจตา เป็นต้น แก่ภิกษุผู้ญาณจริต
.

พวกภิกษุเหล่านั้น เรียนเอาพระกัมมัฏฐานแล้ว
ถ้าที่ใด เป็นที่สบาย  ก็อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ  ถ้าว่าไม่มีที่สบาย  ถามถึงเสนาสนะ เป็นที่สบายแล้ว  จึงไป.  พวกภิกษุเหล่านั้นอยู่ ในที่นั้น เรียนข้อปฏิบัติตลอด ๓ เดือน พากเพียรพยายามอยู่ เป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระสกทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง
เป็นพระอรหันต์บ้าง  ออกพรรษา  ปวารณาแล้ว  จากที่นั้นจึงไปยังสำนักพระศาสดา บอกแจ้งคุณที่ตนได้เฉพาะว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ข้าพระองค์  เรียนเอาพระกัมมัฏฐาน ในสำนักของพระองค์   บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว ฯลฯ
ข้าพระองค์ บรรลุพระอรหัตต์อันเป็นผลอันเลิศแล้ว ดังนี้.พวกภิกษุเหล่านี้ มาในที่นั้น ในดิถีเป็นที่จวนเข้าพรรษา อันใกล้เข้ามาแล้ว.  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งเหล่าภิกษุผู้มาแล้วไปอยู่อย่างนั้น สู่สำนักของพระอัครสาวกทั้งหลาย.  เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า.

ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงอำลาพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด. พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พวกข้าพระองค์  ยังมิได้อำลาพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเลย ดังนี้.
ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงส่งภิกษุเหล่านั้นไปในเพราะการเห็นพระอัครสาวกเหล่านั้น ด้วยพระดำรัสว่า

ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงเสพ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถิด 
ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงคบพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถิด ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี 
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตร เปรียบเหมือนมารดาผู้ยังทารกให้เกิด
โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกซึ่งเกิดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตร ย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำในประโยชน์อันสูงสุดดังนี้.

อนึ่ง แม้ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านี้แล้ว ใคร่ครวญอาสยะของภิกษุเหล่านั้น ได้ทรงเห็นว่า ภิกษุเหล่านี้ เป็นสาวกเวไนย ดังนี้.
 ธรรมดาว่าพระสาวกเวไนย ย่อมตรัสรู้ด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าบ้าง  ของพระสาวกทั้งหลายบ้าง.  แต่ว่า  พวกพระสาวก ไม่อาจเพื่อจะยังพุทธเวไนยให้ตรัสรู้ได้.  ก็พระศาสดาทรงทราบว่า  ภิกษุเหล่านั้นเป็นสาวกเวไนย
ตรวจดูอยู่ว่า  จักตรัสรู้ด้วยเทศนาของภิกษุรูปไหน  ก็ทรงเห็นว่า  ของพระสารีบุตร  ดังนี้แล้ว จึงทรงส่งไปสู่สำนักของพระเถระ. พระเถระถามภิกษุเหล่านั้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย
พวกท่านไปสำนักพระศาสดามาแล้วหรือ.

ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ขอรับ พวกกระผมไปมาแล้ว   ก็พระศาสดาทรงส่งพวกกระผมมายังสำนักของท่าน.  ลำดับนั้น  พระเถระคิดอยู่ว่า ภิกษุเหล่านี้จักตรัสรู้ด้วยเทศนาของเรา เทศนาเช่นไรหนอแล จึงจะเหมาะแก่ภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ จึงกระทำความตกลงใจว่า ภิกษุเหล่านี้ ผู้มีความสามัคคีเป็นที่มายินดี   ผู้แสดงสามัคคีรส พระเทศนา ( นี้แหละ ) เหมาะแก่เธอเหล่านั้น  ดังนี้แล้ว  ผู้ใคร่เพื่อจะแสดงพระเทศนาเช่นนั้น   จึงกล่าวคำมีว่า
เราจักกล่าวทสุตตรสูตร ดังนี้เป็นต้น.

กรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีจริตต่างๆ (อ.มหาสมยสูตร)  เล่ม14 หน้่า 100
ต่อมาก็ทรงใคร่ครวญธรรมเทศนาอันเป็นที่สบายแก่พวกจริตเหล่านั้น

ทรงกำหนดเทศนาว่า พวกเทวดาราคจริต เราจักแสดงสัมมาปริพพาชนียสูตร(สูตรว่าด้วยเรื่องที่พึงเว้นโดยชอบ) 
จักแสดงกลหวิวาทสูตร (สูตรเกี่ยวกับเรื่องทะเลาะวิวาท) แก่พวกโทสจริต
จักแสดงมหาพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกใหญ่) แก่พวกโมหจริต
จักแสดงจูฬพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกน้อย)แก่พวกวิตกจริต
จักแสดงตุวัฏฏกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของนกคุ่ม) แก่พวกสัทธาจริต
จักแสดง ปุราเภทสูตร ( สูตรว่าด้วยเรื่องแตกในอนาคต) แก่พวกพุทธิจริต

แล้วก็ทรงใส่พระทัยถึงบริษัทนั้นอีกว่า บริษัทพึงรู้ด้วยอัธยาศัยของตน ด้วยอัธยาศัยของคนอื่น ด้วยการเกิดเรื่องขึ้น หรือด้วยอำนาจการถามหนอแล แต่นั้นก็ทรงทราบว่า บริษัทพึงรู้ด้วยอำนาจการถามแล้วทรงพระดำริว่าจะมีใครหรือไม่หนอที่เป็นผู้ถือเอาอัธยาศัยของทวยเทพแล้ว  สามารถถามปัญหาด้วยอำนาจจริตได้  ได้ทรงเห็นว่า
ในพวกภิกษุทั้ง ๕๐๐รูปนั้น   แม้รูปเดียวก็จะไม่สามารถ.

จากนั้นทรงรวมเอาพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐รูป และพระสาวกชั้นเลิศ ๒ รูป ก็ทรงเห็นว่า ถึงท่านเหล่านั้นก็จะไม่อาจ แล้วทรงพระรำพึงว่า ถ้าพึงมีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าจะสามารถหรือไม่หนอ ทรงทราบว่า  ถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็จะไม่สามารถ ทรงรวมว่า ในบรรดาท้าวสักกะและท้าวสุยามะเป็นต้น ใคร ๆ จะพึงอาจ แม้ถ้าในท่านแม้เหล่านั้น ผู้ไร ๆ จะพึงอาจจะให้ถามพระองค์แล้วจะพึงตอบเสียเอง. แต่แม้ในท่านเหล่านั้น  ใคร ๆ ก็ไม่อาจ.

อาสวะที่ละด้วยอำนาจอุเทศเป็นต้น (อ.สัพพาสวสังวรสูตร) เล่ม 17หน้า 160-161
 ความจริง  อาสวะทั้งหลายที่ชื่อว่า ไม่เกิดขึ้นในสังสารวัฏซึ่งมีที่สุดแห่งเบื้องต้นที่ใครตามไปไม่รู้ แล้วโดยประการอื่น ย่อมไม่มี.  อาสวะทั้งหลายของภิกษุใดในกาลก่อนไม่ เกิดขึ้นในวัตถุหรือในอารมณ์ที่ตนไม่เคยได้เสวยมาก่อนโดยความบริสุทธิ์ ตามปกติหรือด้วยอำนาจการอุทเทศ ปริปุจฉา ปริยัติ นวกรรม  และโยนิโสมนสิการ
อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  ย่อมเกิดขึ้นโดยฉับพลันด้วยปัจจัยเช่นนั้น ในภายหลัง อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นพึงทราบว่า ยังไม่ (เคย) เกิดขึ้นแล้ว  ย่อมเกิดขึ้นดังนี้.

ส่วนอาสวะทั้งหลายซึ่งกำลังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในวัตถุและในอารมณ์เหล่านั้นนั่นแล ท่านเรียกว่า เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญ.  ขึ้นชื่อว่า   ความเจริญแห่งอาสวะทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้น ครั้งแรกโดยประการอื่นจากนี้ หามีไม่เลย.

อาสวะทั้งหลาย ของภิกษุใด ย่อมไม่เกิดขึ้น โดยความบริสุทธิ์ ตามปกติ หรือโดยเหตุมีอุทเทศ และปริปุจฉาเป็นต้น เหมือนไม่เกิดขึ้นแก่ท่านมหากัสสปะและนางภัททกาปิลานี ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้งชัดว่า อาสวะทั้งหลายของเรายังไม่ถึงการเพิกถอนด้วยมรรคหรือหนอ
อยู่กระนั้นเลย เราจะปฏิบัติเพื่อเพิกถอนอาสวะเหล่านั้น.
ต่อแต่นั้น เธอย่อมเพิกถอนอาสวะทั้งหมดนั้นด้วยมรรคภาวนา
อาสวะทั้งหลายเหล่านั้นของเธอท่านกล่าวว่า ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น.

ส่วนภิกษุใด มีสติอยู่ห่างไกล อาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นโดยเร็วพลัน เพราะความหลงลืมแห่งสติ ต่อแต่นั้น เธอนั้นก็ถึงความสังเวช
เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย ย่อมเพิกถอนอาสวะเหล่านั้นได้
อาสวะซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นเรียกว่า อันเธอย่อมละได้ เหมือน
พระมหาติสสคุตตเถระผู้  อยู่ในมัณฑลาราม.

ได้ยินว่า ท่านเริ่มอุทเทศในวิหารนั้นนั่นเอง ครั้งนั้น กิเลสก็
เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านเพราะอารมณ์อันเป็นวิสภาคกัน.ท่านข่มอารมณ์นั้นด้วยวิปัสสนาแล้วกลับไปวิหาร. อารมณ์นั้นได้ปรากฏแก่ท่านแม้ในความฝัน. ท่านเกิดความสังเวชขึ้นว่า กิเลสนี้เจริญขึ้นแล้วย่อมเป็นเรื่องทำเราให้ตกไปในอบาย ดังนี้แล้ว อำลาอาจารย์แล้วออกจากวิหารไปเรียนอสุภกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นปฎิปักษ์ต่อราคะในสำนักของพระมหาสังฆรักขิตเถระ เข้าไปสู่ระหว่างพุ่มไม้ ลาดผ้าบังสุกุลรองนั่งตัดเสียซึ่งราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕ ด้วยอนาคามิมรรค ลุกขึ้นแล้ว ไหว้อาจารย์  ในวันรุ่งขึ้นได้บรรลุอุทเทสมรรค.  ก็อาสวะทั้งหลายเหล่าใด กำลังเป็นไปยังไม่เกิดขึ้น ขึ้นชื่อว่า การละอาสวะทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยข้อปฏิบัติย่อมไม่มี.

ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องภาวนากรรมฐานได้ที่นี่
 
ศึกษาเรื่องนิพพานที่ถูกต้องตามคำสอนพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
 
 เวบวัดสามแยก




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2555
0 comments
Last Update : 6 พฤษภาคม 2555 2:18:31 น.
Counter : 1617 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.