"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
9 ธันวาคม 2555
 
All Blogs
 
ที่นี่โลกมนุษย์ อย่าให้เทวดามาใหญ่ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 22 ก.ย. 2555

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑. ประเพณีเก็บกระดูกผู้ตายที่เป็นปุถุชนนั้นไร้สาระ
      ๒. การให้มหรพไม่จัดว่าเป็นบุญตามหลักธรรม
      ๓. เกิดมาเป็นกระเทยแบบ "เป็นๆหายๆ" ก็มี
      ๔. สันตติมหาอำมาตย์นิพพานกลางอากาศ
      ๕. ภิกษุต้องเคารพ อุปัชฌาย์-อาจารย์ เหมือนพ่อ
     ฯลฯ

-ประเพณีเก็บกระดูกผู้ตายที่เป็นปุถุชนนั้นไร้สาระ (โธวนสูตร) เล่ม38หน้า347
-การให้มหรพไม่จัดว่าเป็นบุญตามหลักธรรม เล่ม10หน้า490
-เกิดมาเป็นกระเทยแบบ "เป็นๆหายๆ" ก็มี (อ.ปัณฑกวัตถุ) เล่ม6หน้า309
-เพศเปลี่ยนจากชายกลายเป็นหญิงเพราะรักพระ (เรื่องพระโสไรยเถระ) เล่ม40หน้า445
-สันตติมหาอำมาตย์นิพพานกลางอากาศ (เรื่องสันตติมหาอำมาตย์) เล่ม42หน้า113
-ภิกษุต้องเคารพ อุปัชฌาย์-อาจารย์ เหมือนพ่อ (อุปัชฌาวัตร) เล่ม6หน้า138
-ภิกษุห้ามไหว้มาตุคาม (บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก) เล่ม 9หน้า136
-ครุธรรม  ๘ ประการ สำหรับภิกษุณี เล่ม9 หน้า444
-รูปแบบ "โรงทาน" ที่จัดการให้ทานแบบพอดีๆ (เรื่องนางสามาวดี) เล่ม40หน้า256

ประเพณีเก็บกระดูกผู้ตายที่เป็นปุถุชนนั้นไร้สาระ (โธวนสูตร) เล่ม38หน้า347

ว่าด้วยการล้างของพระอริยะ

[๑๐๗]   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในทักษิณาชนบท มีธรรมเนียมการล้างกระดูกแห่งญาติผู้ตาย ในธรรมเนียมการล้างกระดูกนั้น มีข้าวบ้าง น้ำบ้าง ของขบเคี้ยวบ้าง ของบริโภคบ้าง เครื่องลิ้มบ้าง เครื่องดื่มบ้าง การฟ้อนบ้าง เพลงขับบ้าง การประโคมบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเนียมการล้างนั้นมีอยู่ เรามิได้กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการล้างนั้นแลเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน  ไม่เป็นของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย  เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การล้างที่เป็นของพระอริยะย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด...จากความโศก  ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความดับแค้นใจได้นั้น เป็นไฉน 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความเห็นชอบ ย่อมล้างความเห็นผิด ล้างอกุศลบาปธรรมเป็นอันมาก ที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเป็นอันมาก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์  เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความดำริชอบ ย่อมล้างความดำริผิด . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีวาจาชอบ ย่อมล้างวาจาผิด. . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีการงานชอบ ย่อมล้างการงานผิด. . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมล้างการเลี้ยงชีพผิด...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความพยายามชอบ ย่อมล้างความพยายามผิด..
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความพยายามชอบ  ย่อมล้างความผิด...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความตั้งใจชอบ  ย่อมล้างความตั้งใจผิด....
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความรู้ชอบ ย่อมล้างความรู้ผิด...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้มีความหลุดพ้นชอบ ย่อมล้างความหลุดพ้นผิด ล้างอกุศลบาปธรรมเป็นอันมาก  ที่เกิดขึ้นเพราะความหลุดพ้นผิดเป็นปัจจัย และกุศลธรรมเป็นอัน มาก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะความหลุดพ้นชอบเป็นปัจจัย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การล้างที่เป็นของพระอริยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ที่สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอาศัยแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา  ย่อมพ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความตาย ผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์  ความโทมนัสและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจได้.

การให้มหรพไม่จัดว่าเป็นบุญตามหลักธรรม เล่ม10หน้า490

การให้ไม่จัดเป็นบุญ แต่โลกสมมติว่าเป็นบุญมี ๕ คือ
ให้น้ำเมา  ๑
ให้มหรสพ  ๑ 
ให้สตรี ๑
ให้โคผู้  ๑ 
ให้จิตรกรรม ๑

เกิดมาเป็นกระเทยแบบ "เป็นๆหายๆ" ก็มี (อ.ปัณฑกวัตถุ) เล่ม6หน้า309

ในคำว่า ปณฺฑโก ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ มีวินิจฉัยว่า บัณเฑาะก์มี ๕ ชนิด  คือ  อาสิตตาบัณเฑาะก์  ๑  อุสุยยบัณเฑาะก์  ๑  โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ๑ ปักขบัณเฑาะก์ ๑  นปุงสกับบัณเฑาะก์ ๑.

ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น บัณเฑาะก์ใดเอาปากอมองคชาตของชายเหล่าอื่น ถูกน้ำอสุจิรดเอาแล้ว    ความเร่าร้อนจึงสงบไป บัณเฑาะก์นี้ ชื่ออาสิตตบัณเฑาะก์.

ฝ่ายบัณเฑาะก์ใดเห็นอัชฌาจารของชนเหล่าอื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป   บัณเฑาะก์นี้ ชื่ออุสุยยบัณเฑาะก์.

บัณเฑาะก์ใดมีอวัยวะดังพืชทั้งหลาย ถูกนำไปปราศแล้วคือ ถูกเขาตอนเสียแล้ว ด้วยความพยายาม๑**  บัณเฑาะก์นี้ ชื่อโอปักกมิยบัณเฑาะก์.

ส่วนบางคนข้างแรมเป็นบัณเฑาะก์  ด้วยอานุภาพแห่งอกุศลวิบาก แต่ข้างขึ้น ความเร่าร้อนของเขาย่อมสงบไป นี้ชี่อว่า ปักขบัณเฑาะก์.
 
ส่วนบัณเฑาะก์ใด เกิดไม่มีเพศ  ไม่มีภาวรูป ในปฏิสนธิทีเดียว คือไม่ปรากฏว่าชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด บัณเฑาะก์นี้ ชื่อนปุงสกับบัณเฑาะก์.

ในอรรถกถาชื่อกุรุนทีแก้ว่า  ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสุยยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา, ๓ ชนิดนอกนี้ห้าม แม้ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนั้น สำหรับปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น. ก็ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนี้ บัณเฑาะก์ใดทรงห้ามบรรพชา.

**๑. ทางสันสฤต อุปกฺรม (อุปกฺกม) หมายความว่า จิกิตฺสา (ติกิจฺฉา) ก็ได้ดังนั้น อุปกฺกม ในที่นี้จึงน่าจะหมายความไปทางวิธีหมอ เช่นการเยียวยาผำตัดเป็นต้น.

เพศเปลี่ยนจากชายกลายเป็นหญิงเพราะรักพระ (เรื่องพระโสไรยเถระ) เล่ม40หน้า445

เศรษฐีบุตรกลับเพศเป็นหญิงแล้วหลบหนี

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี, ลูกชายของโสไรยเศรษฐี ในโสไรยนคร นั่งบนยานน้อยอันมีความสุขกับสหายผู้หนึ่งออกไปจากนคร เพื่อประโยชน์จะอาบน้ำด้วยบริวารเป็นอันมาก.ขณะนั้น พระมหากัจจายนเถระ มีความประสงค์จะเข้าไปสู่โสไรยนครเพื่อบิณฑบาต ห่มผ้าสังฆาฏิภายนอกพระนคร. ก็สรีระของพระเถระมีสีเหมือนทองคำ ลูกชายของโสไรยเศรษฐี เห็นท่านแล้ว จึงคิดว่า
" สวยจริงหนอ พระเถระรูปนี้  ควรเป็นภริยาของเรา, หรือสีแห่งสรีระของภริยาของเรา   พึงเป็นเหมือนสีแห่งสรีระของพระเถระนั้น."
 ในขณะสักว่าเขาคิดแล้วเท่านั้น เพศชายของเศรษฐีบุตรนั้น ก็หายไป, เพศหญิงได้ปรากฏแล้ว.
เขาละอายจึงลงจากยานน้อยหนีไป. ชนใกล้เคียงจำลูกชายเศรษฐีนั้นไม่ได้ จึงกล่าวว่า "อะไรนั่น ๆ ?" แม้นางก็เดินไปสู่หนทางอันไปยังเมืองตักกสิลา...

สันตติมหาอำมาตย์นิพพานกลางอากาศ (เรื่องสันตติมหาอำมาตย์) เล่ม42หน้า113

สันตติมหาอำมาตย์  ได้ครองราชสมบัติ  ๗  วัน

 ในกาลครั้งหนึ่ง  สันตติมหาอำมาตย์นั้นปราบปรามปัจจันตชนบท ของพระเจ้าปเสนทิโกศล  อันกำเริบให้สงบแล้วกลับมา.ต่อมา  พระราชาทรงพอพระหฤทัย  ประทานราชสมบัติให้ ๗ วัน ได้ประทานหญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับนางหนึ่งแก่เขา. เขาเป็นผู้มึนเมาสุราสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างแล้วขึ้นสู่คอช้างตัวประเสริฐไปสู่ท่าอาบน้ำ เห็นพระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ระหว่างประตู  อยู่บนคอช้างตัวประเสริฐนั่นเอง  ผงกศีรษะถวายบังคมแล้ว.

พระศาสดาทรงทำการแย้ม พระอานนท์ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อะไรหนอแล ? เป็นเหตุให้ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ"
เมื่อจะตรัสบอกเหตุแห่งการแย้ม จึงตรัสว่า
  "อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์,  ในวันนี้เอง เขาทั้งประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างเทียว  มาสู่สำนักของเรา  จักบรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาอันประกอบด้วยบท  ๔ แล้ว  นั่งบนอากาศ ชั่ว ๗ ลำตาล จักปรินิพพาน."

การปรินิพพานของสันตติมหาอำมาตย์

สันตติมหาอำมาตย์นั้น ครั้นทูลบุรพกรรมของตนอย่างนั้นแล้ว นั่งบนอากาศเทียว เข้าเตโชธาตุ ปรินิพพานแล้ว. เปลวไฟเกิดขึ้นในสรีระไหม้เนื้อและโลหิตแล้ว.  ธาตุทั้งหลายดุจดอกมะลิเหลืออยู่แล้ว. พระศาสดา ทรงคลี่ผ้าขาว.  ธาตุทั้งหลายก็ตกลงบนผ้าขาวนั้น.พระศาสดา ทรงบรรจุธาตุเหล่านั้นแล้ว รับสั่งให้สร้างสถูปไว้ที่ทางใหญ่๔ เเพร่ง ด้วยทรงประสงค์ว่า " มหาชนไหว้แล้ว จักเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ. "

สันตติมหาอำมาตย์ควรเรียกว่าสมณะหรือพราหมณ์

พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า " ผู้มีอายุ สันตติมหาอำมาตย์บรรลุพระอรหัตในเวลาจบพระคาถา ๆ เดียว ยังประดับประดาอยู่นั่นแหละ นั่งบนอากาศปรินิพพานแล้ว. การเรียกเธอว่า ' สมณะ'  ควรหรือหนอแล  ?  หรือเรียกเธอว่า ' พราหมณ์ ' จึงจะควร. "

 ภิกษุทั้งหลาย การเรียกบุตรของเราแม้ว่า "สมณะ "  ก็ควร. เรียกว่า "พราหมณ์" ก็ควรเหมือนกัน "

ภิกษุต้องเคารพ อุปัชฌาย์-อาจารย์ เหมือนพ่อ (อุปัชฌาวัตร) เล่ม6หน้า138

ทรงอนุญาตอุปัชฌายะ

[๘๐]  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน

ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ  ความกำจัด ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌายะ อุปัชฌายะจักตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริกจักตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌายะฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌายะและสัทธิวิหาริกนั้น ต่างจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้.

วิธีถืออุปัชฌายะ

สัทธิวิหาริกนั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้านั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวคำอย่างนี้   ๓ หน.

ท่านเจ้าข้า  ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า.
ท่านเจ้าข้า  ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า.
ท่านเจ้าข้า  ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า.

อุปัชฌายะรับว่า ดีละ เบาใจละ ชอบแก่อุบายละ สมควรละ หรือรับว่า จงยังความปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด ดังนี้ ก็ได้.

รับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยกายด้วยวาจาก็ได้ เป็นอันสัทธิวิหาริก ถืออุปัชฌายะแล้ว.

ไม่รับด้วยกาย  ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยทั้งกายและวาจา ไม่เป็นอันสัทธิวิหาริกถืออุปัชฌายะ.

ภิกษุห้ามไหว้มาตุคาม (บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก) เล่ม 9หน้า136

[๒๖๔]   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้  คือ

อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑
ไม่ควรไหว้ อนุปสัมบัน  ๑ 
ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑
ไม่ควรไหว้มาตุคาม ๑
ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑  
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต   ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑
ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน  ๑

ครุธรรม  ๘ ประการ สำหรับภิกษุณี เล่ม9 หน้า444

[๕๑๖]   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง  คือ:-

๑.  ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว  ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม  แก่ภิกษุทีปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้  ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา  ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๒.  ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา  ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๓.  ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑  เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑  จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๔.   ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน   หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๕.  ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ   เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๖.   ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๗.   ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ  โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งธรรมแม้นี้  ภิกษุณีต้องสักการะ   เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๘.  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุเปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี  ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

รูปแบบ "โรงทาน" ที่จัดการให้ทานแบบพอดีๆ (เรื่องนางสามาวดี) เล่ม40หน้า256

ทำลายฝาเรือนหนีย่อมพ้นอหิวาตก์

อหิวาตกโรคตกแล้ว ในเรือนของภัททวติยเศรษฐีเมื่ออหิวาตกโรคนั้นตกแล้ว แมลงวันย่อมตายก่อน, ต่อนั้น ตั๊กแตน หนู ไก่ สุกร สุนัข แมว โค ทาสหญิง ทาสชาย ย่อมตายไปโดยลำดับกันทีเดียว. มนุษย์เจ้าของเรือนย่อมตายทีหลังเขาทั้งหมด. ในชนเหล่านั้น พวกใดทำลายฝาเรือนหนีไป พวกนั้นย่อมได้ชีวิต. แม้ในกาลนั้น เศรษฐี ภริยาและลูกสาว ก็หนีไปโดยวิธีนั้น ปรารถนาจะเห็นโฆสกเศรษฐี  จึงดำเนินไปสู่กรุงโกสัมพี. ๓ คนนั้น มีเสบียงหมดลงในระหว่างทาง มีสรีระอิดโรยด้วยลมและแดด และด้วยความหิวกระหายถึงกรุงโกสัมพีด้วยความลำบาก อาบน้ำในสถานอันสบายด้วยน้ำแล้วก็เข้าไปสู่ศาลาแห่งหนึ่ง ที่ประตูเมือง.

ในกาลครั้งนั้น  เศรษฐีกล่าวกะภริยาว่า " นางผู้เจริญ  ผู้มาโดยทำนองนี้  ย่อมไม่ถูกใจแม้ของแม่ผู้บังเกิดเกล้า, ทราบว่า สหายของเราสละทรัพย์วันละพัน ให้ทานแก่คนเดินทาง คนกำพร้าเป็นต้น,
เราส่งลูกสาวไปในที่นั้น ให้นำอาหารมา บำรุงสรีระในที่นี้แล สักวันสองวันแล้ว จึงจักเยือนสหาย. " นางรับว่า " ดีแล้ว นาย."  เขาพากันพักอยู่ที่ศาลานั้นแล. ในวันรุ่งขึ้น เมื่อเขาบอกเวลาแล้ว เมื่อคน
กำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น กำลังไปเพื่อต้องการอาหาร, มารดาและบิดาจึงส่งลูกสาวไปด้วยคำว่า " แม่  จงไปนำอาหารมาเพื่อพวกเรา."
ธิดาของตระกูลที่มีโภคะมาก ไม่ละอายเทียว  เพราะความที่ตนมีความละอายอันความวิบัติตัดขาดแล้ว ถือถาดไปเพื่อต้องการอาหารกับคนกำพร้า

อันมิตตกุฎุมพี ถามว่า "ท่านจักรับกี่ส่วน ? แม่ " ก็บอกว่า "๓ ส่วน."

ทีนั้น มิตตกุฎุมพี จึงให้ภัตตาหาร ๓ ส่วนแก่นาง. เมื่อนางนำภัตมาแล้ว ทั้ง ๓ ก็นั่งเพื่อบริโภคร่วมกัน. ครั้งนั้น มารดาและลูกสาว จึงกล่าวกะเศรษฐีว่า " นาย  อันความวิบัติ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ตระกูลใหญ่,
อย่านึกถึงพวกฉัน จงบริโภคเถิด, อย่าคิดเลย ." อ้อนวอนด้วยประการต่าง ๆ ยังเศรษฐีนั้น ให้บริโภคแล้ว  ด้วยประการอย่างนี้.

เศรษฐีนั้นบริโภคแล้ว  ไม่สามารถจะให้อาหารย่อยได้,  เมื่ออรุณขึ้นไปอยู่, ก็ได้ทำกาละแล้ว. มารดาและลูกสาว คร่ำครวญร่ำไห้ด้วยประการต่าง ๆ.  ในวันรุ่งขึ้น เด็กหญิง (กุมาริกา) เดินร้องไห้ไปเพื่อต้องการอาหาร

อันมิตตกุฎุมพีนั้นเห็นเขาแล้ว จึงถามว่า " ท่านจักรับกี่ส่วน ? แม่  จึงบอกว่า " ๒ ส่วน." 
มิตตกุฎุมพีนั้น จึงได้ให้ ๒ ส่วน. นางนำมาแล้ว ก็อ้อนวอนให้มารดาบริโภค. มารดานั้นอันธิดาของตนนั้นอ้อนวอนอยู่ บริโภคแล้ว ไม่สามารถจะให้อาหารย่อยได้ ในวันนั้น ก็ได้ทำกาละแล้ว. 

เด็กหญิงผู้เดียวเท่านั้น  ร้องไห้ร่ำไร เป็นผู้มีความทุกข์เพราะความหิว อันเกิดขึ้นแล้วอย่างหนัก เพราะความเกิดขึ้นแห่งทุกข์นั้ ในวันรุ่งขึ้น เดินร้องไห้ไปเพื่อต้องการอาหารกับพวกยากจน

อันมิตตกุฎุมพีถามว่า "ท่านจักรับกี่ส่วน ?
แม่"จึงบอกว่า "ส่วนเดียว." 
มิตตกุฎุมพีจำนางผู้รับภัตได้ทั้ง ๓  วัน, 

เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวกะนางว่า "จงฉิบหายเถิด หญิงถ่อย วันนี้เจ้ารู้จักประมาณท้องของเจ้าหรือ ?" ธิดามีตระกูลสมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะเหมือนต้องประหารด้วยหอกที่อก และเหมือนรดด้วยน้ำด่างที่แผล ร้องถามว่า" อะไร ?  นาย.

"มิตตกุฎุมพี. วันก่อนเจ้ารับเอาไปแล้ว ๓ ส่วน. วันวาน ๒ ส่วน วันนี้รับเอาส่วนเดียว,  วันนี้ เจ้ารู้ประมาณท้องของตัวแล้วหรือ  ?
กุลธิดา. นาย ท่านอย่าเข้าใจฉันว่า "รับไปเพื่อตนเองผู้เดียว."
มิต. เมื่อเป็นเช่นนี้  ทำไมจึงรับเอาไป ๓ ส่วน ? 
แม่.กุล. ในวันก่อน พวกฉันมีกัน  ๓ คน นาย, วานนี้ มี ๒ คน,
วันนี้ มีฉันผู้เดียวเท่านั้น.

มิตตกุฎุมพี จึงถามว่า "ด้วยเหตุไร ?"  ฟังเรื่องทั้งหมด อันนางบอกแล้ว ตั้งแต่ต้น ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ เกิดความเศร้าใจอย่างเหลือเกิน จึงบอกว่า "แม่ เมื่อมีเหตุอย่างนี้ อย่าคิดไปเลย,
ท่านเป็นธิดาของภัททวติยเศรษฐี ตั้งแต่วันนี้ไป จงเป็นธิดาของเราเถิด"ดังนี้แล้ว จุมพิตที่ศีรษะ นำไปสู่ที่เรือน ตั้งไว้ในตำแหน่งธิดาคนโต ของตนแล้ว.

-วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




Create Date : 09 ธันวาคม 2555
Last Update : 10 มิถุนายน 2556 17:13:33 น. 2 comments
Counter : 1426 Pageviews.

 
ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
ดูวีดีโอช่องที่ 1 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทช้า: 56k)
www.samyaek.com

ดูวีดีโอช่องที่ 2 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทเร็ว: 212k)
www.samyaek.com/?channel=2

สำหรับท่านที่มีปัญหาดูถ่ายทอดสดไม่ได้
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.0

การใช้ iPad, iPhone, iPod touch ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5531.0

วิธีใช้ Tablet ตระกูล Android ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5512.0

สมาชิกท่านใดมีปัญหาในการรับชม
(ปัญหาอันเกิดจากคอมพิวเตอร์ของท่านเอง)

หากได้แก้ไขตามลิงค์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับชมได้
ให้ท่านติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยณรงค์ รัตนเกษมสุข (เม้ง)
Dtac : 081-554-1699 , AIS 081-935-1651
e-mail : macmagic99@hotmail.com


โดย: Budratsa วันที่: 9 ธันวาคม 2555 เวลา:19:49:12 น.  

 
ขอบคุณคะ


โดย: ณัฐ IP: 49.48.78.252 วันที่: 10 ธันวาคม 2555 เวลา:5:14:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.