"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
ท่องพุทโธไม่รู้ความหมาย ก็ไม่หายโง่ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 26 ตุลาคม 2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรม ชุดนี้
      ๑.    เป็นพระภิกษุ ต้องไม่ทำตัวรับใช้พวกฆราวาส ญาติโยม
      ๒.    เป็นพระภิกษุ ห้ามรับสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย
      ๓.    พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ กรณีที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ
      ๔.    ผีเปรตบอกให้คนถวายทาน แล้วอุทิศผลบุญไปให้ด้วย
      ๕.    ร่างการคนมีรู 9 รู และมีของสกปรก ไหลออกมาตลอดเวลา
     ฯลฯ




-เป็นพระภิกษุ ต้องไม่ทำตัวรับใช้พวกฆราวาส ญาติโยม(สามัญญผลสูตร)เล่ม11หน้า311
-เมื่อเทวดาตาย โลกมนุษย์จัดเป็นสุคตของพวกเทวดา(จวมานสูตร)เล่ม45หน้า501
-มีแต่เพียงนิพพานเท่านั้น ที่เป็นอมตะ(ทุติยอนุรุทธสูตร)เล่ม34หน้า565
-เป็นพระภิกษุ ห้ามรับสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย(สมัญญผลสูตร)เล่ม11หน้า311
-ลักษณะของคนที่กลัว และไม่กลัวต่อความตาย(อภยสูตร)เล่ม35หน้า444
-แม้ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ปฏิบัติตามอย่างอรหันต์ก็ได้(วิสาขาสูตร)เล่ม37หน้า507
-เมื่อคนอายุแสนปี อายุ500ปีจึงควรแก่การแต่งงาน(จักกวัตติสูตร)เล่ม15หน้า118
-เมื่อทำผิดพระพุทธเจ้าก็ลงโทษ เมื่อสำนึกท่านก็ให้อภัย(เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี)เล่ม9หน้า38-43
-เพราะไปทำกรรมฐาน แต่เจอผีรบกวนย่างหนัก(อ.เมตตสูตร)เล่ม39หน้า333
-พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ กรณีที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ(กัณฑินชาดก)เล่ม55หน้า248
-คำพระพุทธเจ้า หนึ่งไม่มีสอง กล่าวอย่างไรเป็นอย่างนั้นแน่นอน(โลกสูตร)เล่ม45หน้า723
-ศึกษาพุทธศาสน์ แล้วต้องปฏิบัติด้วยจึงจะมีความหมาย เล่ม17หน้า136,เล่ม22หน้า288
-พระพุทธเจ้า ไม่ได้เสกน้ำมนต์คราวที่ไปเมืองเวสาลี(อ.รัตนสูตร)เล่ม39หน้า215-227
-คนฉลาดเช่นพระโพธิสัตว์เป็นพระอริยะไม่เกิดที่อสัญญีภพ เล่ม55หน้า75,เล่ม80หน้า297
-พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง ดำเนินไปนิพพานเท่านั้น(โธตกมาณวกปัญหานิทเทส)เล่ม67หน้า171
-ผีเปรตบอกให้คนถวายทาน แล้วอุทิศผลบุญไปให้ด้วย(มัตตาเปติวัตถุ)เล่ม49หน้า169-170
-ร่างการคนมีรู 9รู และมีของสกปรก ไหลออกมาตลอดเวลา(คัณฑสูตร)เล่ม37หน้า765
-ภิกษุทำตัวรับใช้โยม ตายแล้วจะไปเกิดในอบายทั้งนั้น(อ.วัตถูปมสูตร)เล่ม17หน้า443

-เป็นพระภิกษุ ต้องไม่ทำตัวรับใช้พวกฆราวาส ญาติโยม(สามัญญผลสูตร)เล่ม11หน้า311

๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้.


-เป็นพระภิกษุ ห้ามรับสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย(สมัญญผลสูตร)เล่ม11หน้า311

๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรี และกุมารี.
๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสี และทาส.
๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะ และแกะ.
๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่ เละสุกร.
๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.


-ภิกษุทำตัวรับใช้โยม ตายแล้วจะไปเกิดในอบายทั้งนั้น(อ.วัตถูปมสูตร)เล่ม17หน้า443

ฝ่ายบรรพชิต บวชในศาสนานี้แล้ว มีจิตใจเศร้าหมอง อาสารับใช้คนอื่นทำตัวเป็นหมอ ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์ ทำลายเจดียสถาน เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่เป็นต้น ประพฤติอนาจาร และเที่ยวไปยังสถานที่อโคจรแม้ทั้งสิ้น นี้ชื่อว่า อนาคาริยปฏิปัตติทุคคติ ของบรรพชิตนั้น.บรรพชิตนั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นแล้ว ครั้นกายแตก(มรณภาพ)ย่อมไปสู่นรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ชื่อว่าเป็นสมณยักษ์ สมณเปรต มีกายลุกโชติช่วงด้วยผ้าสังฆาฏิเป็นต้น ที่ถูกไฟไหม้แล้ว ส่งเสียงร้องครวญครางเที่ยวไป นี้ชื่อว่า คติทุคคติ ของบรรพชิตนั้น.


-เมื่อเทวดาตาย โลกมนุษย์จัดเป็นสุคตของพวกเทวดา(จวมานสูตร)เล่ม45หน้า501


 จวมานสูตร ว่าด้วยเทวดาจุติมีนิมิต ๕ ประการ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิต ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑ ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑ เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้น ไปสู่คติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑.
 เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย? อะไรเป็นส่วนแห่งลาภทีเทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว? อนึ่งอะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย? พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความเป็นมนุษย์แลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย ซึ่งเทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็ศรัทธาของเทวดานั้นแล เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย.

 เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด ท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้ว มั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต  และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญ อันให้เกิดสมบัติ(อุปธิ)นั้นให้มากด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์ เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่าแน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อย ๆ.

-มีแต่เพียงนิพพานเท่านั้น ที่เป็นอมตะ(ทุติยอนุรุทธสูตร)เล่ม34หน้า565

ทุติยอนุรุทธสูตร ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร

ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรครั้นเข้าไปถึงแล้วก็ชื่นชมกับท่านพระสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความชื่นบานต่อกันเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร ข้าพเจ้า(อยู่)ในที่นี้ตรวจดูสหัสสโลก(๑,๐๐๐โลก)ได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า.
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโส อนุรุทธะ ข้อที่ท่านว่า ข้าพเจ้าตรวจดูสหัสสโลกได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ นี้เป็นเพราะมานะ ข้อที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือนกายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย  จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นี้เป็นเพราะอุทธัจจะ
ข้อที่ว่า เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทานหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า นี้เป็นเพราะกุกกุจจะ ทางที่ดีนะ ท่านอนุรุทธะจงละธรรม๓ ประการนี้เสีย อย่าใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้
แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (ธาตุไม่ตาย คือ พระนิพพาน)เถิด.........

ภายหลัง ท่านอนุรุทธะ ก็ละธรรม ๓ ประการนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ อยู่มาท่านหลีกจากหมู่อยู่คนเดียว ไม่ประมาท  ทำความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ไม่ช้าเลย...ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว.


-ลักษณะของคนที่กลัว และไม่กลัวต่อความตาย(อภยสูตร)เล่ม35หน้า444


อภยสูตร ว่าด้วยบุคคลที่กลัวและไม่กลัวตาย ๔ จำพวก

ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่


-ดูก่อนพราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน?

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความ ทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใด อย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอและเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักอย่างใดไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก..ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสุดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขาเมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกัน ความกลัวไว้ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง ดูก่อนพราหมณ์คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณเท่าใดเราละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก...ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว  ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก...ดูก่อนพราหมณ์  แม้บุคคลนี้แล มีความเป็นธรรมดาย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย ดูก่อนพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มี ความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

-ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นไฉน ?

 บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรักปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากควานทะยานอยากในกามทั้งหลายมีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ  และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก...ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลแม้นี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาปไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ทำกุศลไว้ ทำธรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้ว จักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก...ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนั้นแล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย.

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย


-แม้ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ปฏิบัติตามอย่างอรหันต์ก็ได้(วิสาขาสูตร)เล่ม37หน้า507

บุคคลไม่พึงฆ่าสตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ พึงเว้นจากเมถุนธรรม อันมิใช่ความประพฤติของพรหม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา ไม่พึงบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ในราตรี ไม่พึงทัดทรงดอกไม้และของหอม พึงนอนบนเตียง บนแผ่นดิน หรือบนเครื่องลาดด้วยหญ้าบัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถ ๘ ประการนี้แล ที่พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศแล้ว พระจันทร์เเละพระอาทิตย์ทั้งสองส่องสว่างไสว ย่อมโคจรไปตามวิถีเพียงไร พระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นก็ขจัดมืดได้เพียงนั้น ลอยอยู่บนอากาศ ส่องแสงสว่างทั่วทุกทิศในท้องฟ้า ทรัพย์ใดอันมีอยู่ในระหว่างนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ อย่างดี หรือทองมีสีสุกใส ที่เรียกกันว่า หตกะ พระจันทร์ พระอาทิตย์และทรัพย์นั้นๆ ก็ยังไม่ได้แม้เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เปรียบเหมือนรัศมี พระจันทร์ ข่มหมู่ดวงดาวทั้งหมด ฉะนั้น เพราะฉะนั้นแหละ หญิงหรือชายผู้มีศีล เข้าอยู่ในอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว กระทำบุญทั้งหลายอันมีสุขเป็นกำไร ไม่มีใครติเตียน ย่อมเข้าถึงสวรรค์.

-เมื่อคนอายุแสนปี อายุ500ปีจึงควรแก่การแต่งงาน(จักกวัตติสูตร)เล่ม15หน้า118

ว่าด้วยการงดเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ อายุยืน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี จักเกิดมีอาพาธ ๓ อย่าง คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้    จักมั่งคั่งและรุ่งเรือง มีบ้านนิคมและราชธานีพอชั่วไก่บินตก.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปีชมพูทวีปนี้ประหนึ่งว่าอเวจีนรก จักยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อ   หรือป่าไม้แก่น ฉะนั้น

-เพราะไปทำกรรมฐาน แต่เจอผีรบกวนย่างหนัก(อ.เมตตสูตร)เล่ม39หน้า333


เทวดาเหล่านั้น จึงเนรมิตรูปยักษ์ที่น่ากลัว ยืนอยู่ข้างหน้าๆ เวลาภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมตอนกลางคืน และทำเสียงที่น่าหวาดกลัว เพราะเห็นรูปเหล่านั้น และได้ยินเสียงนั้นหัวใจของภิกษุทั้งหลาย ก็กวัดแกว่ง ภิกษุเหล่านั้น มีผิวเผือดและเกิดเป็นโรคผอมเหลือง ด้วยเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่อาจทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้เมื่อจิตไม่มีอารมณ์เดียวสลดใจบ่อย ๆ เพราะความกลัว สติของภิกษุเหล่านั้นก็หลงเลือนไป แต่นั้น อารมณ์ที่เหม็นๆ ก็ประจวบแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งมีสติหลงลืมแล้ว. มันสมองของภิกษุเหล่านั้น ก็เหมือนถูกกลิ่นเหม็นนั้นบีบคั้น โรคปวดศีรษะก็เกิดอย่างหนัก.ภิกษุเหล่านั้น ก็ไม่ยอมบอกเรื่องนั้นแก่กันและกัน.

-พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ กรณีที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ(กัณฑินชาดก)เล่ม55หน้า248

แม้ชนบทใดมีสตรีเป็นผู้นำ จัดแจงปกครอง ก็ถูกติเตียน เหล่าสัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาตุคาม ก็ถูกติเตียนเหมือนกัน แล้วแสดงเรื่องสำหรับติเตียน ๓ ประการ ด้วยคาถา ๑ คาถา เมื่อเทวดาทั้งหลายในป่าไห้สาธุการแล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เมื่อจะยังไพรสณฑ์นั้น ให้บันลือขึ้นด้วยเสียงอันไพเราะ จึงแสดงธรรมด้วยคาถานี้ว่า

เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ผู้ยิ่งไปเต็มกำลัง เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใดตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น บัณฑิตก็ติเตียนแล้วเหมือนกัน.


-คำพระพุทธเจ้า หนึ่งไม่มีสอง กล่าวอย่างไรเป็นอย่างนั้นแน่นอน(โลกสูตร)เล่ม45หน้า723


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตย่อมตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ย่อมตรัสบอกแสดงซึ่งพุทธพจน์อันใดในระหว่างนี้ พุทธพจน์นั้นทั้งหมด ย่อมเป็นอย่างนั้นนั่นแลไม่เป็นไปอย่างอื่น ฉะนั้น .

-ศึกษาพุทธศาสน์ แล้วต้องปฏิบัติด้วยจึงจะมีความหมาย เล่ม17หน้า136,เล่ม22หน้า288

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง เราตถาคตแสดงธรรมมีเหตุ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตนั้นแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง ฯลฯ ไห่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ โอวาทจึงเป็นสิ่งที่ควรทำตามอนุสาสนีเป็นสิ่งที่ควรทำตาม.

-เล่ม22หน้า288

ทุกข์ไม่มีแก่ท่านผู้ไม่มีปฏิสนธิ

ถามว่า คนเหล่าไหน ย่อมรู้เนื้อความภาษิตนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ตอบว่า เบื้องต้น ชนเหล่าใดร่ำเรียนบาลี และอรรถกถาของพระสูตรนี้ แต่ไม่ทำตามที่ร่ำเรียนมานั้น ไม่ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทา ตามที่กล่าวแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่รู้. ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้กระทำตามที่เล่าเรียนมานั้น ปฏิบัติอนุโลมปฏิปทาตามที่กล่าวแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้.


-คนฉลาดเช่นพระโพธิสัตว์เป็นพระอริยะไม่เกิดที่อสัญญีภพ เล่ม55หน้า75,เล่ม80หน้า297

นรชนผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทุกประการผู้เที่ยงต่อโพธิญาณ ตลอดสงสารอันมีระยะกาลยาวนาน แม้นับด้วยร้อยโกฎิกัป จะไม่เกิดในอเวจี แม้ในโลกันตรนรกก็เช่นกัน แม้เมื่อเกิดในทุคติ จะไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต ขุปปิปาสาเปรต กาลกัญชิกาสูร ไม่เป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เมื่อจะเกิดในมนุษย์ ก็ไม่เป็นคนบอดแต่กำเนิด ไม่เป็นคนหูหนวก ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เกิดเป็นสตรี ไม่เป็นอุภโตพยัญชนก(คนสองเพศ) และกะเทย นรชนผู้เที่ยงต่อโพธิญาณจะไม่มีใจติดพันในสิงใด พ้นจากอนันตริยกรรม เป็นผู้มีโคจรสะอาดในที่ทั้งปวง ไม่ซ่องเสพมิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผลในการกระทำกรรม แม้จะอยู่ในพวกสัตว์ทั้งหลายก็ไม่เกิดเป็นอสัญญีสัตว์ ในพวกที่อยู่ในสุทธาวาส ก็ไม่มีเหตุไปเกิด เป็นสัตบุรุษน้อมใจไปในเนกขัมมะ ปลดเปลื้องภพน้อยใหญ่ออก ประพฤติแต่ประโยชน์แก่โลก  มุ่งบำเพ็ญบารมีทุกประการเที่ยวไป.

-เล่ม80หน้า297

ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์

ชื่อว่า เรื่องประพฤติพรหมจรรย์.การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มี ๒ อย่าง คือ การเจริญมรรค ๑. การบรรพชา ๑. การบรรพชา ย่อมไม่มีในเทพทั้งหลาย. เว้นอสัญญีสัตว์แล้ว การเจริญมรรค ท่านไม่ปฏิเสธในเทพทั้งหลายที่เหลือ.

-พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง ดำเนินไปนิพพานเท่านั้น(โธตกมาณวกปัญหานิทเทส)เล่ม67หน้า171


ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง ใครถามทางแล้วก็บอกให้ บุคคลทั้งหลายปฏิบัติอยู่ด้วยตน พึงพ้นได้เอง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า เราไม่อาจปลดเปลื้อง

-ผีเปรตบอกให้คนถวายทาน แล้วอุทิศผลบุญไปให้ด้วย(มัตตาเปติวัตถุ)เล่ม49หน้า169-170

นางเปรตนั้นกล่าวว่า

ฉันเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น การเปลือยกาย และมีรูปร่างน่าเกลียดเป็นต้นนี้ เป็นการยังความละอายของหญิงทั้งหลายให้กำเริบ ขออย่าให้กฏุมพีได้เห็นฉันเลย.

นางติสสากล่าวว่า

ถ้าอย่างนั้น ฉันจะให้สิ่งไร หรือทำบุญอะไรให้แก่ท่าน ท่านจึงจะได้ความสุขสำเร็จ ความปรารถนาทั้งปวง.

นางเปรตนั้นกล่าวว่า

ขอท่านจงนิมนต์ภิกษุจากสงฆ์ ๔ รูป และจากบุคคล ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหารแล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อทำอย่างนั้นฉันจึงจะได้ความสุข  สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง.

นางติสสารับคำแล้ว นิมนต์ภิกษุ ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตรจีวรแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ข้าว น้ำและเครื่องนุ่งห่มอันเป็นวิบาก ได้บังเกิดขึ้นในทันใดนั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี  ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์อันวิจิตรเข้าไปหานางติสสาผู้ร่วมสามี.


-ร่างการคนมีรู 9 รู และมีของสกปรก ไหลออกมาตลอดเวลา(คัณฑสูตร)เล่ม37หน้า765


คัณฑสูตร ว่าด้วยปากแผล ๙ แห่ง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝีที่เกิดขึ้นหลายปีฝีนั้นพึงมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะพึงไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งพึงไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น ฉันใด คำว่าฝีนี้แลเป็นชื่อของกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยงต้องลูบไล้นวดฟั้น มีความกระจัดกระจายเป็นธรรมดา กายนั้นมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดทั้งนั้น ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละเธอทั้งหลายจงเบื่อหน่ายในกายนี้.


ที่มา : วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com/index.php



Create Date : 29 ธันวาคม 2556
Last Update : 30 ธันวาคม 2556 0:41:12 น. 4 comments
Counter : 1437 Pageviews.

 
-เมื่อทำผิดพระพุทธเจ้าก็ลงโทษ เมื่อสำนึกท่านก็ให้อภัย(เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี)เล่ม9หน้า38-43

เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี

สมัยนั้น เจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะ และพระภุมมชก จึงเจ้าวัฑฒลิจฉวี เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้วกล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สอง เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สอง ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สาม เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย.
ว. ผมผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไม พระคุณเจ้าจึงไม่ทักทายปราศรัยกับผม.
ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ ท่านวัฑฒะ พวกอาตมาถูกท่านพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ ท่านยังเพิกเฉยได้.
ว. ผมจะช่วยเหลืออย่างไร ขอรับ.
ภิ. ท่านวัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก.
ว. ผมจะทำอย่างไร ผมสามารถจะช่วยได้ด้วยวิธีไหน.
ภิ. มาเถิด ท่านวัฑฒะ ท่านจงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไรไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉัน ถูกพระทัพพมัลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า.
เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไรไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้ กลับมีลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูก่อนทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีนี้ กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า.
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้า . . .
แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูก่อนทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีนี้กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ดูก่อนทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำจงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ จงบอกว่าไม่ได้ทำ.
ท. ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอย่เล่า พระพุทธเจ้า.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์.

องค์แห่งการคว่ำบาตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ :-

๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย
๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ .

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้ :-

กรรมวาจาคว่ำบาตร

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวี โจท ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ อย่าให้
คบกับสงฆ์ นี้เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีโจทท่านพระทัพพมัลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ การคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.บาตรอันสงฆ์คว่ำแล้วแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒลิจฉวีว่า ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้ พอเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ไม่ได้แล้วก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง.

ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑตลิจฉวีว่า ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปนักเลย พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์เลื่อมใส จึงเจ้าวัฑฒลิจฉวี พร้อมด้วยบุตรภรรยา พร้อมด้วยมิตรอำมาตย์ พร้อมด้วยญาติสาโลหิต มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้าโทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉันที่ได้โจทพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิดพระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้วตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษ ที่ได้โจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้นของท่าน การที่ท่านเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรมถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงหงายบาตร แก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้.

องค์แห่งการหงายบาตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ :-

๑. ไม่ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่เป็นประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย
๓ . ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔. ไม่ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกร้าวกัน
๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคบกับสงฆ์ไม่ได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติชอบหายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์.
พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม.

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้ :-

กรรมวาจาหงายบาตร

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวีแล้ว คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ เธอประพฤติชอบ หายเย่อยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงหงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้ นี้เป็นญัตติท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ เธอประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่งประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์ สงฆ์หงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้ การหงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ทำไห้คบกับสงฆ์ได้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่งไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูดบาตรอันสงฆ์หงายแล้วแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้ ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ในเขตพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกทางภัคคชนบท เสด็จจาริกโดยลำดับถึงภัคคชนบทแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เภสกฬามฤคทายวัน เขตเมืองสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคชนบทนั้น


โดย: Budratsa วันที่: 29 ธันวาคม 2556 เวลา:20:37:37 น.  

 
-พระพุทธเจ้า ไม่ได้เสกน้ำมนต์คราวที่ไปเมืองเวสาลี(อ.รัตนสูตร)เล่ม39หน้า215-227

รัตนสูตร ว่าด้วยรัตนอันประณีต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรัตนสูตรเป็นคาถาว่าดังนี้

หมู่ภูตเหล่าใด อยู่ภาคพื้นดิน หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นอากาศ มาประชุมกันแล้วในที่นี้ ขอหมู่ภูตทั้งหมด จงมีใจดี และจงฟังสุภาษิตโดยเคารพเพราะฉะนั้น ขอท่านฟังหมดจงตั้งใจฟัง จงแผ่เมตตาในหมู่ประชาที่เป็นมนุษย์ มนุษย์เหล่าใด ย่อมนำพลีกรรมไปทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงไม่ประมาท ช่วยรักษามนุษย์เหล่านั้น.

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในในที่นี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจและรัตนะนั้นที่เสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า. ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

พระศากยมุนี พระหฤทัยตั้งมั่นทรงบรรลุธรรมใด เป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมประณีต สิ่งไรๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้นไม่มี แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม.ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญสมาธิ อันใดว่าเป็นธรรมอันสะอาด ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวสมาธิอันใดว่าให้ผลโดยลำดับ สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธิอันนั้นไม่มี แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม. ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระสุคต ควรแก่ทักษิณาทาน ทานทั้งหลาย ที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

พระอริยบุคคลเหล่าใด ในศาสนาของพระพุทธโคดม ประกอบดีแล้ว มีใจมั่นคง ปราศจากความอาลัย พระอริยบุคคลเหล่านั้น ถึงพระอรหัตที่ควรถึงหยั่งเข้าสู่พระนิพพาน ได้ความดับกิเลสเปล่า ๆ เสวยผลอยู่ แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

พระโสดาบันจำพวกใด ทำให้แจ้งอริยสัจ ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งทรงแสดงดีแล้ว ถึงแม้ว่าพระใสดาบันจำพวกนั้น จะเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้า ท่านก็ไม่ถือเอาภพที่ ๘ แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี.

สักกาายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ สังโยชน์ธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นอันพระโสดาบันละได้แล้ว พร้อมกับทัสสนสัมปทา[คือโสดาปัตติมรรค] ที่เดียว อนึ่ง พระโสดาบันเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ ไม่อาจที่จะทำอภิฐาน ๖ [คืออนันตริยธรรม ๕ กับการเข้ารีต] แน่อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมี.

ถึงแม้ว่าพระโสดาบันนั้น ยังทำบาปกรรมทางกายวาจาหรือใจไปบ้าง [เพราะความประมาท] ท่านไม่อาจจะปกปิดบาปกรรมนั้นได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสความที่พระโสดาบัน ผู้เห็นบทคือพระนิพพานแล้ว ไม่อาจปกปิดบาปกรรมนั้นไว้แล้ว แม้อันนี้ เป็นรัตนะอัน ประณีตในพระสงฆ์ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมี.

พุ่มไม้งามในป่า ยอดมีดอกบานสะพรั่งในต้นเดือนคิมหะ แห่งฤดูคิมหันต์ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ อันให้ถึงพระนิพพานเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็อุปมาฉันนั้นแม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า. ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมี.

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริญ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐประทานธรรมอันประเสริญ ทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ. แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า.ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมี.

กรรมเก่าของพระอริยบุคคลเหล่าใดสิ้นแล้วกรรมสมภพใหม่ ย่อมไม่มี พระอริยบุคคลเหล่าใด มีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป พระอริยบุคคลเหล่านั้น มีพืชสิ้นไปแล้ว มีความพอใจงอกไม่ได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา ย่อมปรินิพพานดับสนิท เหมือนประทีปดวงนี้ฉะนั้น. แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมี.

ท้าวสักกเทวราชตรัสเสริมเป็นคาถาว่าดังนี้ หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นอากาศมาประชุมกันในที่นี้ พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธะ ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดี จงมี.

หมู่ภูตเหล่าใดอยู่ภาคพื้นดิน หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นอากาศมาประชุมกัน แล้วในที่นี้พวกเรานอบน้อมพระตถาคตธรรม อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดี จงมี.

หมู่ภูตเหล่าใด อยู่ภาคพื้นดิน หรือเหล่าใดอยู่ภาคพื้นอากาศ มาประชุมกันแล้วในที่นี้ พวกเรานอบน้อมพระตถาคตสงฆ์ อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้วขอความสวัสดี จงมี.

พรรณนารัตนสูตร ประโยชน์แห่งบทตั้ง

บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความแห่งรัตนสูตรที่ยกขึ้นตั้งในลำดับต่อจากมงคลสูตรนั้น โดยนัยเป็นต้นว่า ยานีธ ภูตานิ. ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้น ไว้ในที่นี้ ต่อจากนั้น เมื่อแสดงการหยั่งลงสู่ความแห่งสูตรนี้ ทางนิทานวจนะอันบริสุทธิ์ดี เหมือนการลงสู่น้ำในแม่น้ำและหนองเป็นต้น ทางท่าน้ำที่หมดจดดี ประกาศนัยนี้ว่า สูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ไหน กล่าวเพราะเหตุใด แล้วจึงทำการพรรณนาความแห่งรัตนสูตรนี้.

ในสองสูตรนั้น เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการรักษาตัวเอง และการกำจัดอาสวะทั้งหลายที่มีการทำไม่ดี และการไม่ทำดีเป็นปัจจัยด้วยมงคลสูตร ส่วนสูตรนี้ ให้สำเร็จการรักษาผู้อื่น และการกำจัดอาสวะทั้งหลายที่มีอมนุษย์เป็นต้นเป็นปัจจัย ฉะนั้น สูตรนี้จึงเป็นอันตั้งไว้ในลำดับต่อจากมงคลสูตรนั้นแล.

ประโยชน์แห่งการตั้งรัตนสูตรนั้นไว้ในที่นี้เท่านี้ก่อน

เรื่องกรุงเวสาลี

บัดนี้ ในข้อว่า เยน วุตฺต ยทา ยติถ ยสฺมา เจต นี้ ผู้ทักท้วง กล่าวว่า ก็สูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด.ขอชี้แจงดังนี้ ความจริง สูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส พระสาวกเป็นต้นหากล่าวไม่. ตรัสเมื่อใด.ตรัสเมื่อกรุงเวสาลีถูกอุปัทวะทั้งหลาย มีทุพภิกขภัยเป็นต้นเข้าขัดขวาง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพวกเจ้าลิจฉวีทูลร้องขอนำเสด็จมาแต่กรุงราชคฤห์ เมื่อนั้น รัตนสูตรนั้น พระองค์ก็ตรัสเพื่อบำบัด อุปัทวะเหล่านั้น ในกรุงเวสาลี.การวิสัชนาปัญหาเหล่านั้น โดยสังเขปมีเท่านี้.ส่วนพิศดาร พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้นับแต่เรื่องๆ กรุงเวสาลีเป็นต้นไป.
ดังได้สดับมา พระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระครรภ์ พระนางทรงทราบแล้วก็ได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ.พระราชาก็พระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์.พระนางได้รับบริหารพระครรภ์มาเป็นอย่างดี ก็เสด็จเข้าสู่เรือนประสูติ ในเวลาพระครรภ์แก่. เหล่าท่านผู้มีบุญย่อมออกจากครรภ์ในเวลาใกล้รุ่ง. ก็ในบรรดาท่านผู้มีบุญเหล่านั้น พระอัครมเหสีพระองค์นั้น ก็เป็นผู้มีบุญพระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระนางก็ประสูติ ชิ้นเนื้อเสมือนดอกชะบามีพื้นกลีบสีแดงดังครั่ง ต่อจากนั้น พระเทวีพระองค์อื่นๆ ก็ประสูติพระโอรสเสมือนรูปทอง. พระอัครมเหสีประสูติชิ้นเนื้อ ดังนั้น
พระนางทรงดำริว่า "เสียงติเตียนจะพึงเกิดแก่เรา ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราชา" เพราะทรงกลัวการติเตียนนั้น จึงทรงสั่งให้ใส่ชิ้นเนื้อนั้นลงในภาชนะใบหนึ่ง เอาภาชนะอีกใบหนึ่งครอบปิดไว้ ประทับตราพระราชลัญจกรแล้ว ให้ลอยไปตามกระแสแม่น้ำคงคา พอเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทิ้งลงไป เทวดาทั้งหลายก็จัดการอารักขา ทั้งเอายางมหาหิงคุ์จารึกแผ่นทองผูกติดไว้ที่ภาชนะนั้นว่า พระราชโอรสธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี. ต่อนั้นภาชนะนั้น มิได้ถูกภัยคือคลื่นรบกวน ก็ลอยไปตามกระแสแน่น้ำคงคา.
สมัยนั้น ดาบสรูปหนึ่งอาศัยครอบครัวของคนเลี้ยงโค อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา. เช้าตรู่ ดาบสรูปนั้นก็ลงสู่แม่น้ำคงคา แลเห็นภาชนะนั้นลอยมา ก็ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา ด้วยเข้าใจว่าเป็นของที่เขาทิ้งแล้ว.ต่อนั้น ก็แล เห็นแผ่นจารึกอักษรและตราพระราชลัญจกร ก็แก้ออกเห็นชิ้นเนื้อนั้น ครั้นเห็นแล้ว ดาบสรูปนั้นก็คิดว่า เห็นทีจะเป็นสัตว์เกิดในครรภ์ ดังนั้น จึงไม่เน่าเหม็น ก็นำชิ้นเนื้อนั้น ไปยังอาศรม วางไว้ในที่สะอาด.ล่วงไปครึ่งเดือนชิ้นเนื้อก็แยกเป็น ๒ ชิ้น ดาบสเห็นแล้ว ก็วางไว้อย่างดี. ต่อจากนั้นล่วงไปอีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นก็เกิดปมชิ้นละ ๕ สาขา เพื่อเป็นมือ เท้าและศีรษะ ดาบสก็บรรจงวางไว้เป็นอย่างดีอีก.ต่อนั้น อีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อ ชิ้นหนึ่งก็เป็นทารก เสมือนรูปทอง อีกชิ้นหนึ่งก็เป็นทาริกา ดาบสเกิดความ

รักดังบุตรในทารกทั้งสองนั้น.น้ำนมก็บังเกิดจากหัวนิ้วแน่มือของดาบสนั้นตั้งแต่นั้นมา ดาบสได้น้ำนมและอาหารมาก็บริโภคอาหาร หยอดน้ำนมในปากของทารกทั้งสอง.สิ่งใดๆ เข้าไปในท้องของทารกนั้น สิ่งนั้นๆ ทั้งหมด ก็จะแลเห็นเหมือนเข้าไปในภาชนะทำด้วยแก้วมณี.ทารกทั้งสอง ไม่มีผิวอย่างนี้.แต่อาจารย์พวกอื่น ๆ กล่าวว่า ผิวของทารกทั้งของนั้น ใสถึงกันและกันเหมือนถูกร้อยด้วยวางไว้.ทารกเหล่านั้น จึงปรากฏชื่อว่า ลิจฉวี เพราะไม่มีผิว หรือเพราะมีผิวใส ด้วยประการฉะนี้.

ดาบสเลี้ยงทารก พอตะวันขึ้นก็เข้าบ้านแสวงหาอาหาร ตอนสาย ๆ ก็กลับ.คนเลี้ยงโคทั้งหลาย รู้ถึงการขวนขวายนั้นของดาบสนั้น ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า การเลี้ยงทารกเป็นกังวลห่วงใยของเหล่านักบวช ขอท่านโปรดให้ทารกแก่พวกเราเถิด พวกเราจะช่วยกันเลี้ยง ขอท่านโปรดทำกิจกรรมของท่านเถิด.ดาบสก็ยอมรับ. วันรุ่งขึ้น พวกคนเลี้ยงโคก็ช่วยกันทำหนทางให้เรียบแล้วโรยทราย ยกธง มีดนตรีบรรเลงพากันมายังอาศรม.ดาบสกล่าวว่าทารกทั้งสองมีบุญมาก พวกท่านจงช่วยกันเลี้ยงให้เจริญวัย ด้วยความไม่ประมาท ครั้นให้เจริญวัยแล้ว จงจัดการอาวาหวิวาหกันและกัน ให้พระราชาทรงยินดีด้วยปัญจโครส จงเลือกหาภูมิประเทศช่วยกันสร้างพระนครขึ้น จงอภิเษกพระกุมารเสีย ณ ที่นั้น แล้วมอบทารกให้.พวกคนเลี้ยงโครับคำแล้วก็นำทารกไปเลี้ยงดู.ทารกทั้งสอง เจริญเติบโตก็เล่นการเล่น ใช้มือบ้าง เท้าบ้าง ทุบถีบพวกเด็กลูกของคนเลี้ยงโคอื่นๆ ในที่ทะเลาะกัน เด็กลูกคนเลี้ยงโคเหล่านั้นก็ร้องไห้ ถูกมารดาบิดาถามว่าร้องไห้ทำไม ก็บอกว่า เจ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ที่ดาบสเลี้ยงเหล่านั้น ข่มเหงเรา. แต่นั้น มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้น ก็กล่าวว่า ทารกสองคนนี้ชอบข่มเหงให้เด็กอื่นๆ.เดือดร้อน จะไม่สงเคราะห์มัน ละเว้นมันเสีย.เขาว่าตั้งแต่นั้นมา ประเทศที่นั้น จึงถูกเรียกว่า วัชชี ขนาด ๓๐๐ โยชน์. ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงโคทำพระราชาให้ยินดีแล้ว เลือกเอาประเทศที่นั้นสร้างพระนครลงในประเทศนั้น แล้วอภิเษกพระกุมาร ซึ่งพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ตั้งเป็นพระราชา ได้ทำการวิวาหมงคลกับทาริกาของพระองค์ ได้วางกติกากฎเกณฑ์ไว้ว่า จะไม่นำทาริกามาจากภายนอก และไม่ให้ทาริกาจากที่นี้แก่ใครๆ โดยการอยู่ร่วมกันครั้งแรกของพระกุมารกุมารีนั้น ก็เกิดทารกคู่หนึ่ง เป็นธิดา ๑ โอรส ๑ โดยอาการอย่างนี้ ก็เกิดเป็นคู่ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง.แต่นั้น เมื่อทารกเหล่านั้น เจริญวัยโดยลำดับ นครนั้นก็ไม่พอที่จะบรรจุอารามอุทยาน สถานที่อยู่ บริวารและสมบัติ จึงล้อมรอบด้วยประการ ๓ ชั้น ระหว่างคาวุต หนึ่งๆ เพราะนครนั้น ถูกขยายกว้างออกบ่อยๆ จึงเกิดนามว่าเวสาลีนี้แล.

การนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า

ก็กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติก็มั่นคงไพบูลย์ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗ ,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมากมีคนเกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.

สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง.คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร.พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น.เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย.ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น.พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น พิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไร ๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร.ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านั้นย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น จึงดีพระทัยตรัสว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ.เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้า ทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า.ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา.ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัยแล้ว นำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสองพะระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระราชาไม่ทรงรับรองตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด.เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่าเมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลีการอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาส จบสูตร

สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระองค์ทรงรับ จะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น โปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็น นี้พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใน วิหารหลังหนึ่งๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน.ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ตกลงกันว่า จะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลี และแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้น สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูปๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น.ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น.แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.

เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา.นาคราชทั้งหลาย มีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา.ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี.ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ.

ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืดมีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไปส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ดังขึ้นทั้งสี่ทิศ.ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาค เจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมาชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้น เท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี.เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนที่มาส่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.การวิสัชนาปัญหาเหล่านั้นว่า ก็พระสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้พิสดาร ทั้งแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไป ด้วยประการฉะนี้.

ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตร นี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้นท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร. พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็หลายกำแพงเมืองหนีไป.พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระ ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง หาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้.ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้า และมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร.แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่น ๆ ด้วย.แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ณที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นนั่นแหละแก่ทุกคนแล.ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่า รัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้น เป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้พิสดารแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้.


โดย: Budratsa วันที่: 29 ธันวาคม 2556 เวลา:21:04:01 น.  

 
ขณะนี้ วันอาทิตย์ ที่ 29 ธันวามคม 2556 เวลาประเทศไทย 21.06 น. มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

ดูได้ที่
=> //www.samyaek.com

=>หรือ สามารถดูทางช่องสำรอง:
//new.livestream.com/samyaek/samyaek

=>หรือ :
//www.login.in.th/flashstreaming/flash_url/watsamyaek/425/350.html



โดย: Budratsa วันที่: 29 ธันวาคม 2556 เวลา:21:09:00 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ 2557 คุณบัวค่ะ...

ครอบครัวตัวออ.ขอส่งความสุข

ให้คุณบัว และครอบครัวมีความสุขมากๆ

สุขภาพแข็งแรง ร่ำรวยเงินทองตลอดไปนะค่ะ



โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 2 มกราคม 2557 เวลา:1:42:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.