"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 ธันวาคม 2555
 
All Blogs
 
เตือนนักภาวนา ระวังถูกจิตหลอก โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 6 ต.ค. 2555

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑. พระเถระเป็นหัวน้าในการทำลายพระธรรมวินัย
      ๒. แม้สามเณรก็มีสิทธิ์เตือนพระเถระได้
      ๓. ภิกษุพึงประกาศศาสนาให้ถูกต้อง เพื่อปิดอบายแก่ชาวโลก
      ๔. พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุปลุกเสกเลขยันต์ต่างๆ
      ๕. พระพุทธองค์สอนให้ระลึกถึงความตายเสมอๆ
     ฯลฯ

-พระเถระเป็นหัวน้าในการทำลายพระธรรมวินัย (ตติยอนาคตสูตร) เล่ม36หน้า195
-แม้สามเณรก็มีสิทธิ์เตือนพระเถระได้ (อ.สสิมสูตร) เล่ม24หน้า 396
-ภิกษุพึงประกาศศาสนาให้ถูกต้อง เพื่อปิดอบายแก่ชาวโลก (อ.รัตนจังกมนกัณฑ์) เล่ม73หน้า52
-พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุปลุกเสกเลขยันต์ต่างๆ (สามัญญผลสูตร) เล่ม11หน้า315
-แม้เป็นเดียรถีย์แต่ก็ยกย่องพระพุทธศาสนา (สันทกสูตร) เล่ม20หน้า536
-กฐินที่มาด้วยการเลียบเคียง เป็นกฐินที่ไม่ถูกต้อง(อ.กฐินขันธกะ) เล่ม7หน้า235
-พระพุทธเจ้า สอนให้เลือกที่สำหรับทำบุญ (เรื่องยมกปาฏิหาริย์) เล่ม42หน้า313
-ภิกษุไม่ควรใช้สอย สิ่งของที่ซื้อมาด้วยเงินตนเอง (อ.โกสิยวรรคสิกขาบทที่9) เล่ม3หน้า368-369
-ทำผิดวินัยเล็กน้อย แต่ต้องรับทุกข์ใหญ่ตลอดพุทธันดร (อ.สูจิโลมสูตร) เล่ม25หน้า391
-ภิกษุต้องอาบัติแล้ว พึงรีบเปิดเผยต่อเพื่อนพรหมจรรย์(อุโบสถขันธกะ) เล่ม6หน้า380
-อนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกต้นโพธิ์ที่วัดเชตวัน (อ.กาลิงคชาดก) เล่ม60หน้า268
-ศึกษาพระศาสนาให้มาก เป็นเหตุให้เกิดความเบาใจได้ (อ.สูตรที่3) เล่ม32หน้า121
-ฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายพระ "ได้บาปมาก"(ชีวกสูตร) เล่ม20หน้า103
-พระเทวฑัตถูกตรึงด้วยหลาวเหล็กในนรกอเวจี(เรื่องพระเทวฑัต) เล่ม40 หน้า199
-พระพุทธเจ้าสอนให้ค้นหาที่สุดโลกที่ "ร่างกาย" ของตนเอง(ปฐมโรหิตัสสสูตร) เล่ม35หน้า165
-ชาวบ้านขับไล่พระที่ประพฤติตัวไม่ดีถึง7ครั้ง7วัด (ธรรมิกสูตร) เล่ม36หน้า694
-ถึงได้รับทุกข์หนัก แต่ตายแล้วก็ไปสวรรค์(อ.อัจฉราสูตร) เล่ม24หน้า250
-พระพุทธเจ้าเมื่อยหลังและให้พระอานนท์เทศน์แทน(เสขปฏิปทาสูตร) เล่ม20หน้า 44
-ไม่จำเป็นต้องถวายของใส่มือพระ (ปทุมปุปผิยเถระ) เล่ม71หน้า325
-พระพุทธองค์สอนให้ระลึกถึงความตายเสมอๆ (ตติยปฏิปทาสูตร) เล่ม37หน้า635-643
-นิพพานแล้วเป็นอย่างไร? เป็นการถามเลยปัญหา (จูฬเวทัลลสูตร) เล่ม19หน้า332-333

พระเถระเป็นหัวน้าในการทำลายพระธรรมวินัย (ตติยอนาคตสูตร) เล่ม36หน้า195

ว่าด้วยภัยในอนาคต ๕ ประการ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ยังไม่บังเกิดในปัจจุบัน แต่จะบังเกิดในกาลต่อไป
ภัยในอนาคต ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น  ก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม  การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๑

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตข้อที่  ๒

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย  ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึก เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรมการลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๓

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลาย จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้งเป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี  จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่าง ๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักตั้งจิตเพื่อรู้ จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่า ควรศึกษาเล่าเรียน เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่  ๔

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิตไม่อบรมปัญญา ภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าใน ความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมี เพราะการลบล้างวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่  ๕

แม้สามเณรก็มีสิทธิ์เตือนพระเถระได้ (อ.สสิมสูตร) เล่ม24หน้า 396

พระเถระให้โอวาทแก่ผู้อื่นด้วย ตัวเองแม้ถูกโอวาท ก็ยอมรับด้วยเศียรเกล้า เล่ากันมาว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบ เรียนพระสารีบุตรเถระว่า ท่านสารีบุตรขอรับ ชายผ้านุ่งของท่านห้อยลงมาแน่ะ.  พระเถระไม่พูดอะไรเลยไป ณ ที่เหมาะแห่งหนึ่ง นุ่งเรียบร้อยแล้วก็มา ยืนประณมมือพูดว่า เท่านี้เหมาะไหม อาจารย์ พระเถระกล่าวว่า ผู้บวชในวันนั้น เป็นคนดี อายุ ๗ ขวบโดยกำเนิด ถึงผู้นั้นพึงสั่งสอนเรา เราก็ยอมรับด้วยกระหม่อมดังนี้.

ภิกษุพึงประกาศศาสนาให้ถูกต้อง เพื่อปิดอบายแก่ชาวโลก (อ.รัตนจังกมนกัณฑ์) เล่ม73หน้า52

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเมื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น จงแยกกันไปเที่ยวธรรมจาริกแก่มนุษย์ทั้งหลายตลอดแผ่นดินผืนนี้.เมื่อประกาศสัทธรรมของเราแก่โลกเนืองนิตย์ ก็จงอยู่เสียที่ป่าเขาอันสงัด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเมื่อทำหน้าที่พระธรรมทูต ก็จงปฏิบัติด้วยดีซึ่งคำของเรา สั่งสอนเขาเพื่อประโยชน์แก่สันติของสัตว์ทั้งหลาย.พวกเธอไม่มีอาสวะ จงช่วยปิดประตูอบายทั้งสิ้นเสียทุกประตู จงช่วยเปิดประตูสวรรค์ มรรค  และผล.พวกเธอ จงมีคุณมีกรุณาเป็นต้น เป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มพูนความรู้และความเชื่อแก่ชาวโลกทุกประการด้วยการเทศนาและการปฏิบัติ.

เมื่อพวกคฤหัสถ์ ทำการอุปการะด้วยอามิสทานเป็นนิตย์ พวกเธอ  ก็จงตอบแทนพวกเขาด้วยธรรมทานเถิด.พวกเธอเมื่อจะแสดงธงชัยของพระฤษีผู้แสวงคุณก็จงยกย่องพระสัทธรรม เมื่อการงานที่พึงทำ ทำเสร็จแล้ว ก็จงบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นเถิด.

พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุปลุกเสกเลขยันต์ต่างๆ (สามัญญผลสูตร) เล่ม11หน้า315

มหาศีล

(๑๑๔ ) ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายฟ้าผ่าเป็นต้น ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน  ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอ ทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

แม้เป็นเดียรถีย์แต่ก็ยกย่องพระพุทธศาสนา (สันทกสูตร) เล่ม20หน้า536

รู้ว่าเราหมดอาสวะได้อย่างไร

[๓๑๒]  ท่านพระอานนท์ ก็ภิกษุใด เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว.  หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อภิกษุนั้นเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดีความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้วดังนี้ ปรากฏเสมอเป็นนิจหรือ.

ดูก่อนสันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักทำอุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้ทั่วถึงอรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนมือและเท้าของบุรุษขาดไป เมื่อบุรุษนั้นเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี มือและเท้าก็เป็นอันขาดอยู่เสมอเป็นนิจนั่นเอง อนึ่ง เมื่อเขาพิจารณาย่อมรู้ได้ว่ามือและเท้าของเราขาดแล้ว ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์  มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้วมีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี อาสวะทั้งหลายก็เป็นอันสิ้นไปเสมอเป็นนิจนั่นเอง อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาย่อมรู้ได้ว่าอาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว.

[๓๑๓]  ท่านพระอานนท์ ก็ในธรรมวินัยนี้  มีภิกษุผู้นำ [ตน] ออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์มากเพียงไร.

ดูก่อนสันทกะ ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้นำ [ตน] ออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์นั้น มิไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย  ไม่ใช่สามร้อย  ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ความจริงมีอยู่มากทีเดียว.

ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์ ท่านพระอานนท์ ไม่เคยมี ในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้มีการยกย่องแต่ธรรมของตน และมีคำติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมมากมายเพียงนั้น ส่วนอาชีวกเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น  ทั้งตั้งศาสดาไว้สามคน คือนันทวัจฉะ ๑ กิสสังกิจจะ ๑ มักขลิโคสาล ๑ ว่าเป็นผู้นำ [ตน] ออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้. ลำดับนั้น สันทกปริพาชก เรียกบริษัทของตนมาว่า พ่อผู้เจริญทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อมมีผล  แต่ว่าบัดนี้เราทั้งหลายสละลาภสักการะความสรรเสริญเสียนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย. สันทกปริพาชกส่งบริษัทของตนไปในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล.

กฐินที่มาด้วยการเลียบเคียง เป็นกฐินที่ไม่ถูกต้อง(อ.กฐินขันธกะ) เล่ม7หน้า235

บทว่า ปริกถากเตน คือ ด้วยผ้าที่ภิกษุให้เกิดขึ้นด้วยพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า การถวายผ้ากฐิน สมควรอยู่ ทายกเจ้าของกฐินย่อมได้บุญมากขึ้น ชื่อว่า ผ้ากฐิน เป็นของบริสุทธิ์จริงๆ จึงจะสมควร แม้มารดาของตน ก็ไม่ควรออกปากขอ ต้องเป็นดังผ้าที่ลอยมาจากอากาศนั่นแล จึงจะเหมาะ.

พระพุทธเจ้า สอนให้เลือกที่สำหรับทำบุญ (เรื่องยมกปาฏิหาริย์) เล่ม42หน้า313

ทานที่ให้ในทักขิไณยบุคคลมีผลมาก

ถามว่า " บุรพกรรมของอินทกเทพบุตรนั้น  เป็นอย่างไร ? "
แก้ว่า " ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นได้ให้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ที่เขานำมาแล้วเพื่อตน แก่พระอนิรุทธเถระผู้เข้าไปบิณฑบาตภายในบ้าน.

บุญของเธอนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร ทำแถวเตาไฟยาวตั้ง๑๒ โยชน์ ให้แล้วตั้งหมื่นปี, เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลอย่างนั้น." เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว  พระศาสดาตรัสว่า " อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร, ทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้  ดุจพืชที่เขาหว่านดีในนาดีฉะนั้น; แต่เธอหาได้ทำอย่างนั้นไม่, เหตุนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก " เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งจึงตรัสว่า :-

" ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก,บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตนั้น; การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว, ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์ที่ยังเป็นอยู่นี้ มีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านแล้วในนาดีฉะนั้น. "

เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป  ได้ตรัสพระคาถาเหล่านั้นว่า:-

"นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีราคะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะเหตุนั้นแลทานที่บุคคลให้แล้ว ในท่านที่มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นเครื่องประทุษร้ายเพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโทสะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีโมหะเป็นเครื่องประทุษร้าย. เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโมหะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้ายหมู่สัตว์นี้มีความอยากเป็นเครื่องประทุษร้าย เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้ว ในท่านผู้มีความอยากไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. "

ภิกษุไม่ควรใช้สอย สิ่งของที่ซื้อมาด้วยเงินตนเอง (อ.โกสิยวรรคสิกขาบทที่9) เล่ม3หน้า368-369

[อธิบายปัตตจตุกกะเป็นอุทาหรณ์]

อนึ่ง ภิกษุใด รับเอารูปิยะ แล้วจ้างให้ขุดแร่เหล็กขึ้นด้วยรูปิยะนั้น, ให้ช่างเหล็กถลุงแร่เหล็กนั้น แล้วให้ทำบาตรด้วยโลหะนั้น. บาตรนี้ ชื่อว่า เป็นมหาอกัปปิยะ ภิกษุนั้นไม่อาจทำให้เป็นกัปปิยะได้ด้วยอุบายไร ๆ. ก็ถ้าว่า ทำลายบาตรนั้นแล้วให้ช่างทำกระถาง. แม้กระถางนั้นก็เป็นอกัปปิยะ.ให้กระทำมีด แม้ไม้สีพื้นที่ตัดด้วยมีดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ. ให้กระทำเบ็ด แม้ปลาที่เขาให้ตายด้วยเบ็ดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ. ภิกษุให้ช่างเผาตัวมีดให้ร้อนแล้ว แช่น้ำ หรือนมสดให้ร้อน. แม้น้ำและนมสดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะเช่นกัน.

ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า ก็ภิกษุใด รับรูปิยะแล้วซื้อบาตรด้วยรูปิยะนั้น, แม้บาตรนี้ของภิกษุนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ ไม่สมควรแม้แก่สหธรรมิกทั้ง ๕. แต่ภิกษุนั้นอาจทำบาตรนั้น ให้เป็นกัปปิยะได้. จริงอยู่บาตรนั้น จะเป็นกัปปิยะได้ ต่อเมื่อให้มูลค่าแก่เจ้าของมูลค่า และเมื่อให้บาตรแก่เจ้าของบาตร. ภิกษุจะให้กัปปิยภัณฑ์แล้วรับเอาไปใช้สอยสมควรอยู่.

ฝ่ายภิกษุใด ให้รับเอารูปิยะไว้แล้วไปยังตระกูลช่างเหล็กกับด้วยกัปปิยการก เห็นบาตรแล้วพูดว่า บาตรนี้ เราชอบใจ. และกัปปิยการกให้รูปิยะนั้นแล้ว ให้ช่างเหล็กตกลง. แม้บาตรใบนี้ อันภิกษุนั้นถือเอาโดยกัปปิยโวหาร เป็นเช่นกับบาตรใบที่ ๒ นั่นเอง จัดเป็นอกัปปิยะเหมือนกัน เพราะภิกษุรับมูลค่า.

ทำผิดวินัยเล็กน้อย แต่ต้องรับทุกข์ใหญ่ตลอดพุทธันดร (อ.สูจิโลมสูตร) เล่ม25หน้า391

บทว่า สูจิโลมสฺส คือมีชนเช่นหนามแข็ง. ได้ยินว่า ยักษ์นั้น บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป มาแต่ที่ไกล มีเหงื่อไคลท่วมตัว ไม่ลาดเตียงของสงฆ์ที่เขาแต่งตั้งไว้ดีแล้ว นอนด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ.ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้นได้มีการกระทำนั้น เหมือนสีดำที่ผ้าขาว. เธอไม่อาจยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นในอัตภาพนั้นได้ ทำกาละแล้วมาเกิดเป็นัยกษ์ที่ทิ้งขยะ ใกล้ประตูบ้านคยา. ก็เมื่อเขาเกิดมาแล้ว ก็มีขนแหลมแข็งทั่วตัวคล้ายขนวัว. ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแลดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นยักษ์นั้นมาสู่ครองอาวัชชนจิตครั้งแรก จึงทรงดำริว่า ยักษ์นี้เสวยทุกข์ใหญ่ตลอดพุทธันดรหนึ่ง ความสวัสดีจะพึงมีแก่เขาเพราะอาศัยเราหรือไม่หนอ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคเบื้องต้น. ลำดับนั้น ทรงใคร่จะทำการสงเคราะห์ยักษ์นั้นทรงนุ่งผ้า ๒ ชั้นที่ย้อมแล้ว  ห่มจีวรใหญ่ขนาดสุคตประมาณละพระคันธกุฎีดุจวิมานเทวดา เสด็จไปสู่ที่ทิ้งขยะ เหม็นด้วยทรากศพช้างวัวม้ามนุษย์และสุนัขเป็นต้น ประทับนั่งในที่นั้นเหมือนนั่งในพระคันธกุฎีใหญ่. ท่านหมายเอาความข้อนั้นจึงกล่าวว่า ในที่อยู่ของยักษ์สูจิโลมะ ดังนี้.

ภิกษุต้องอาบัติแล้ว พึงรีบเปิดเผยต่อเพื่อนพรหมจรรย์(อุโบสถขันธกะ) เล่ม6หน้า380

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้:-

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอกความบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าจักสวดปาติโมกข์ พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟัง จงใส่ใจซึ่งปาติโมกข์นั้นให้สำเร็จประโยชน์ ท่านผู้ใดมีอาบัติท่านผู้นั้น พึงเปิดเผย เมื่ออาบัติไม่มี พึงนิ่งอยู่ ก็ด้วยความเป็นผู้นิ่งแลข้าพเจ้าจักทราบท่านทั้งหลายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การสวดประกาศกว่าจะครบ ๓จบ ในบริษัทเห็นปานนี้ย่อมเป็นเหมือนการกล่าวแก้เฉพาะรูป  ที่ถูกถามผู้เดียวฉะนั้น ก็ภิกษุรูปใด เมื่อสวดประกาศกว่าจะครบ ๓ จบ รู้ลึกได้ ไม่ยอมเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชานมุสาวาท

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่เธอ.

อนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกต้นโพธิ์ที่วัดเชตวัน (อ.กาลิงคชาดก) เล่ม60หน้า268

พระอานนท์เถระบอกแก่พระเจ้าโกศล อนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้น ให้ขุดหลุม ณ ที่เป็นที่ปลูกต้นโพธิที่ประตูพระเชตวัน แล้วกล่าวกะพระมหาโมคคัลลานเถระว่า ท่านขอรับ กระผมจักปลูกต้นโพธิที่ประตูพระเชตวัน ช่วยนำเอาลูกโพธิสุกจากต้นมหาโพธิให้กระผมทีเถิด.

พระมหาโมคคัลลานเถระรับว่า ดีละ แล้วเหาะไปยังโพธิมณฑลเอาจีวรรับลูกโพธิที่หล่นจากขั้วแต่ยังไม่ถึงพื้นดิน ได้แล้วนำมาถวายพระอานนทเถระ. พระอานนทเถระได้แจ้งความพระเจ้าโกศลเป็นต้นว่า เราจักปลูกต้นโพธิ์ในที่นี้. พระเจ้าโกศลให้ราชบุรุษถือเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างเสด็จมาพร้อมด้วยบริวารใหญ่ในเวลาเย็น. อนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และผู้มีศรัทธาอื่น ๆ ก็ได้ทำเช่นนั้น....

อนาถปิณฑิก มหาเศรษฐีรวบรวมเปือกตมที่มีกลิ่นหอมแล้ว ฝังลูกโพธิสุกไว้ในเปือกตมนั้น พอลูกโพธิพ้นมือมหาเศรษฐี เมื่อชนทั้งปวงกำลังแลดูอยู่ ได้ปรากฏลำต้นโพธิประมาณเท่างอนไถ สูงห้าสิบศอก แตกกิ่งใหญ่ห้ากิ่ง ๆ ละห้าสิบศอก คือในทิศทั้งสี่และเบื้องบน ต้นโพธินั้นเป็นต้นไม้ใหญ่กว่าต้นไม้ใหญ่ในป่า ตั้งขึ้นในทันใดนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้.

ศึกษาพระศาสนาให้มาก เป็นเหตุให้เกิดความเบาใจได้ (อ.สูตรที่3) เล่ม32หน้า121

เมื่อตถาคตเที่ยวจาริกกลับมายังเชตวัน ทั่ววิหารรุ่งเรื่องไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ คลาคล่ำไปด้วยผู้แสวงคุณ แต่มาบัดนี้ ปรากฏว่าภิกษุสงฆ์เบาบางลง และโดยมากภิกษุเกิดโรคผอมเหลืองขึ้น นี่เหตุอะไรกันหนอ. พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายเกิดความวังเวชจำเดิมแต่เวลาที่พระองค์แสดงพระธรรมเทศนา อัคคิขันโธปมสูตร คิดว่า พวกเรา ไม่สามารถจะปรนนิบัติธรรมนั้น โดยอาการทั้งปวงได้ และการที่ภิกษุผู้ประพฤติไม่ชอบบริโภคไทยธรรม ที่เขาให้ด้วยศรัทธาของชน ไม่ควรเลย จึงครุ่นคิดจะสึกเป็นคฤหัสถ์.

ขณะนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดธรรมสังเวช. จึงตรัสกะพระเถระว่า เมื่อเรายับยั้งอยู่ในที่หลีกเร้น  ใคร ๆไม่บอกฐานะอันเป็นที่เบาใจอย่างหนึ่ง แก่เหล่าบุตรของเราเลย เหตุอันเป็นที่เบาใจในศาสนานี้มีมาก เหมือนท่าเป็นที่ลงสู่สาครทะเลฉะนั้นไปเถิด อานนท์ จงจัดพุทธอาสน์ ในบริเวณคันธกุฏี จงให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน. พระเถระได้กระทำอย่างนั้น.  พระศาสดา เสด็จสู่บวรพุทธอาสน์ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายนั่นเป็นส่วนเบื้องต้นทั้งหมดแห่งเมตตา ไม่ใช่อัปปนา ไม่ใช่อุเบกขาเป็นเพียงแผ่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น. จึงทรงแสดงอัจฉราสังฆาตสูตรนี้ เพื่อเป็นอัตถุปปัตติเหตุนี้.

ฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายพระ "ได้บาปมาก"(ชีวกสูตร) เล่ม20หน้า103

ฆ่าสัตว์ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ  ๕  ประการ

[๖๐] ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่  ๑ นี้. 
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ..ประการที่  ๒ .
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ...ประการที่ ๓ . 
สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส....ประการที่  ๔ . 
ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ...ประการที่  ๕ .

ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
[๖๑]  หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ..

พระเทวฑัตถูกตรึงด้วยหลาวเหล็กในนรกอเวจี(เรื่องพระเทวฑัต) เล่ม40 หน้า199

พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก

จริงอยู่ พระเทวทัตนั้น จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้วเกิดในอเวจี. และเธอเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ ถูกไฟไหม้อยู่  เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว. สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ  ๓๐๐ โยชน์, ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน  จนถึงหมวกหู, เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่างจนถึงข้อเท้า, หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝาด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า, อีกหลาวหนึ่งออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออกส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก. พระเทวทัตนั้น เป็นผู้ไหวติงไม่ได้อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น ด้วยประการอย่างนี้.

พระพุทธเจ้าสอนให้ค้นหาที่สุดโลกที่ "ร่างกาย" ของตนเอง(ปฐมโรหิตัสสสูตร) เล่ม35หน้า165

พระพุทธเจ้าตรัสย้ำความและไขความว่า อาวุโส ในที่สุดโลกใดแล ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายไม่จุติไม่อุปบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงจะไม่พึงเห็น ไม่พึงไปถึงได้ด้วยการเดินทางไป แต่เราก็ไม่กล่าวว่า เมื่อยังไม่ถึงที่สุดโลกแล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ เออ นี่แน่ะอาวุโส เราบัญญัติโลก และโลกสมุทัย
โลกนิโรธ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา ในกเลวระ (ร่างกาย)  อันยาวประมาณ๑ วา ซึ่งมีสัญญาและมีใจ.

ที่สุดโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วยการเดินทางไป  แต่ไหน ๆ มา แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุดโลกแล้วจะพ้นทุกข์ได้เป็นไม่มีเพราะเหตุนั้น  ผู้มีปัญญาดีรู้จักโลก ถึงที่สุดโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  รู้ที่สุดโลกสงบบาปแล้ว ย่อมไม่ปรารถนาทั้งโลกนี้ทั้งโลกอื่น.

ชาวบ้านขับไล่พระที่ประพฤติตัวไม่ดีถึง7ครั้ง7วัด (ธรรมิกสูตร) เล่ม36หน้า694

ว่าด้วยธรรมของสมณะและศาสดาทั้ง ๖

ท่านธรรมิกะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่งที่มีอยู่ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ทราบข่าวว่า ท่านพระธรรมิกะย่อมด่าบริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีซึ่งภิกษุทั้งหลายที่จรมาอาศัยด้วยวาจาและภิกษุผู้จรมาอาศัยเหล่านั้น  ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนมทคิดกันว่า พวกเราได้บำรุงภิกษุสงฆ์  ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็แต่ว่า พวกภิกษุที่จรมาอาศัยย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกภิกษุผู้จรมาอาศัยหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น  พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า ท่านพระธรรมิกะนี้แลย่อมด่าบริภาษ เบียดเบียนทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุผู้จรมาอาศัยด้วยวาจา และพวกภิกษุที่จรมาอาศัยเหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า  บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หนีไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านไม่ควรอยู่ในนี้ต่อไป.

ครั้งนั้น  ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ที่อาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ..ครั้งนั้น  พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสแม้นี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้.

ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสแม้นั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ในอาวาสนั้น ท่าพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ...ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ท่านพระธรรมิกะให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง  ๗  แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด..

ถึงได้รับทุกข์หนัก แต่ตายแล้วก็ไปสวรรค์(อ.อัจฉราสูตร) เล่ม24หน้า250

ได้ยินว่า เทวบุตรนี้บวชในพระศาสนาของพระศาสดา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่ ปวารณาแล้วในกาลแห่งตนมีพรรษา ๕ ทำมาติกาทั้งสองให้แคล่วคล่องแล้ว ศึกษาแล้วถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เรียนพระกรรมฐานอันเป็นที่พอใจแล้ว เป็นผู้ประพฤติเบาพร้อมเข้าไปสู่ป่า คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตว่า มัชฌิมยามอันใด เป็นส่วนแห่งการนอนดังนี้ แม้เมื่อมัชฌิมยามนั้นถึงพร้อมแล้ว เราก็ยังกลัวต่อความประมาท ดังนี้ จึงสละเตียงนอนแล้ว พยายามทั้งกลางคืนและกลางวันทำกรรมฐานนั่นแหละไว้ในใจ.

ลำดับนั้น  ลมทั้งหลายเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นในภายในแห่งภิกษุนั้นทำลายชีวิตเสียแล้ว. ภิกษุนั้นได้ทำกาละในเพราะธุระ คือความเพียรนั่นแหละ.อนึ่ง ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จงกรมอยู่ในเพราะการจงกรมก็ตาม ยืนอยู่เพราะอาศัยส่วนที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ก็ตาม วางจีวรไว้ที่สุดแห่งที่จงกรมเหนือศรีษะแล้วนั่งหรือนอนก็ตาม กำลังแสดงธรรมบนธรรมาสน์อันเขาตกแต่งในท่ามกลางแห่งบริษัทก็ตาม  ย่อมกระทำกาละ ภิกษุนั้นทั้งหมดชื่อว่ากระทำกาละในเพราะธุระ คือความเพียร. แม้ภิกษุนี้ก็ทำกาละแล้ว ในที่เป็นที่จงกรมเพราะความที่ตนเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อยจึงยังมิได้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ได้ถือปฏิสนธิในภพดาวดึงส์ที่ประตูวิมานใหญ่ ราวกะว่าหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้นอัตภาพของเทวบุตรนั้นมีสามคาวุตเกิดขึ้น เหมือนเสาระเนียดปิดทองในขณะนั้นนั่นแหละ.

พระพุทธเจ้าเมื่อยหลังและให้พระอานนท์เทศน์แทน(เสขปฏิปทาสูตร) เล่ม20หน้า 44

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมากแล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า ดูก่อนอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคลจงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์เถิด เราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลังนั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น สำเร็จสีหไสยา ด้วยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการสัญญาในอันที่จะเสด็จลุกขึ้น.

ไม่จำเป็นต้องถวายของใส่มือพระ (ปทุมปุปผิยเถระ) เล่ม71หน้า325

ว่าด้วยผลแห่งการโยนดอกปทุมขึ้นบูชา

[๙๒] เราเข้าไปยังป่าบัว บริโภคเหง้าบัวอยู่ ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
 มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ประการ.
เราจับดอกปทุมโยนขึ้นไปในอากาศ เราระลึกถึงกรรมอันลามกแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต.
ครั้นบวชแล้ว  มีกายและใจอันสำรวมแล้ว ละวจีทุจริตชำระอาชีพให้บริสุทธิ์.
ในกัปที่  ๙๒ แต่กัปนี้ เราบูชา (พระพุทธเจ้าด้วย) ดอกไม้ใด ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา.ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (จักรพรรดิ) ๑๘ ครั้ง  ทรงพระนาม
เหมือนกันว่า ปทุมภาสะ ในกัปที่ ๑๘ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน๔๘ ครั้ง.
คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔  วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว 
ดังนี้.

พระพุทธองค์สอนให้ระลึกถึงความตายเสมอๆ (ตติยปฏิปทาสูตร) เล่ม37หน้า635-643

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เธอทั้งหลายย่อมเจริญมรณสติหรือหนอ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมากหนอ 
 โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดคืนหนึ่ง... 
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ครั้งวัน...
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่ว เวลาบริโภคบิณฑบาตมื้อหนึ่ง.....
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่ว เวลาบริโภคบิณฑบาตครึ่งหนึ่ง...
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวได้   ๔-๕  คำแล้วกลืนกิน   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณสติเพื่อความ สิ้นอาสวะช้า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วว่าเคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน พึงมนสิการ ถึงคำสอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมากหนอ โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้าหรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก   

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวไม่ ประมาทอยู่ ย่อมเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ประมาทอยู่ ก็เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

จตุตถปฏิปทาสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมาย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ

คือ งูพึงกัดเราก็ได้  แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา    อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้  เพราะเหตุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล 

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นอกุศลอันเรายังละไม่ได้  ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร   ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้  หรือศีรษะถูกไฟไหม้  พึงกระทำ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง  เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้นฉะนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่าธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี  ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางวันเวียนมาถึง ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้  เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยาอันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้  มนุษย์หลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน  มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล นั้นนเรายังละไม่ได้ที่จะพึงทำอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวันมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม  ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้  พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้ยิ่งเพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า  ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้  กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด.

นิพพานแล้วเป็นอย่างไร? เป็นการถามเลยปัญหา (จูฬเวทัลลสูตร) เล่ม19หน้า332-333

อนึ่งภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละความสุขความทุกข์เสีย เพราะความโสมนัสแลความโทมนัสทั้ง ๒ ดับสูญในก่อนเทียว แล้วได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีความที่สติเป็นคุณบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่ ท่านย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยย่อมไม่ตามนอนอยู่
ในจตุตถฌานนั้น.

[๕๑๒]  วิ.(วิสาขะ) พระแม่เจ้า. ก็สิ่งใดเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
ธ.(ภิกษุณีธรรมทินนา) คุณวิสาขะ. ความกำหนัด เป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
วิ.  สิ่งใดเล่า เป็นส่วนเปรียบแห่งทุกขเวทนา พระแม่เจ้า
ธ.  คุณวิสาขะ. โทษะกระทบใจ เป็นส่วนเปรียบแห่งทุกขเวทนา
วิ.  พระแม่เจ้า. สิ่งใดเล่า เป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา
ธ.  ความไม่รู้แจ้ง เป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา คุณวิสาขะ.
วิ.  พระแม่เจ้า. ก็สิ่งใดเล่า เป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา.
ธ.  คุณวิสาขะ. ความที่ไม่รู้แจ้งชัด เป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา.
วิ.  พระแม่เจ้า. ก็สิ่งใดเล่า เป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา.
ธ.  คุณวิสาขะ. ความพ้นกิเลส เป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา.
วิ.  พระแม่เจ้า. ก็สิ่งใดเล่าเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุตติ.
ธ.  คุณวิสาขะ. พระนิพพาน เป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุตติ.
วิ.  พระแม่เจ้า ก็อะไรเล่า เป็นส่วนเปรียบแห่งนิพพาน.
ธ.  วิสาขะ ท่านล่วงเกินปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่
สุดรอบ แห่งปัญหาทั้งหลายได้ ด้วยว่าการประพฤติพรหมจรรย์ ก็ย่อมหยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า มีที่สุดจบลงเพียงพระนิพพานเท่านั้น. ถ้าหากท่านจำนงอยู่ไซร้ พึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลถามความเรื่องนี้เถิด และพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสพยากรณ์
แก่ท่านฉันใด ท่านก็พึงทรงจำข้อพยากรณ์นั้นไว้ ฉันนั้นเถิด.

[๕๑๓] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชมอนุโมทนาข้อภาษิตแห่งนางธรรมทินนาภิกษุณีแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะที่นั่ง  ถวายนมัสการทำประทักษิณ นางธรรมทินนาภิกษุณีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประพับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรแล้ว กราบทูลข้อปุจฉาแลพยากรณ์ ที่ตนไต่ถามและข้อความที่นางธรรมทินนาภิกษุณีวิสัชนาทุกประการ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ  แต่เบื้องต้นตลอดถึงที่สุด. ครั้นวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า วิสาขะ. นางธรรมทินนาภิกษุณี เป็นบัณฑิตมีปัญญายิ่งใหญ่  และข้อความอันนี้ แม้หากว่าท่านจะถามเราผู้ตถาคต ตถาคต ก็จะพึงพยากรณ์กล่าวแก้ข้อวิสัชนาอย่างนี้  เหมือนข้อความที่นางธรรมทินนาภิกษุณีได้พยากรณ์แล้ว ไม่แปลกกันเลย อันนี้แลเป็นเนื้อความนั่นแล้ว ท่านจงจำทรงไว้ให้แน่นอนเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์อันนี้แล้ว วิสาขอุบาสกก็ได้ชื่นชมเพลินเฉพาะภาษิตแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้.

-วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-เวบพี่ดาบตำรวจต้น http://www.piyavat.com

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




Create Date : 15 ธันวาคม 2555
Last Update : 10 มิถุนายน 2556 17:22:59 น. 2 comments
Counter : 1902 Pageviews.

 
ขณะนี้กำลังมีถ่ายทอดสด จากวัดป่าสามแยก
วันที่ 15 ธันวาคม 2555


ดูวีดีโอช่องที่ 1 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทช้า: 56k)
www.samyaek.com

ดูวีดีโอช่องที่ 2 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทเร็ว: 212k)
www.samyaek.com/?channel=2


สำหรับท่านที่มีปัญหาดูถ่ายทอดสดไม่ได้
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.0


การใช้ iPad, iPhone, iPod touch ดูถ่ายทอดสด (มีโปรแกรมฟรีแนะนำให้ใช้)
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5531.0

วิธีใช้ Tablet ตระกูล Android ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5512.0


สมาชิกท่านใดมีปัญหาในการรับชม
(ปัญหาอันเกิดจากคอมพิวเตอร์ของท่านเอง)

หากได้แก้ไขตามลิงค์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับชมได้
ให้ท่านติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยณรงค์ รัตนเกษมสุข (เม้ง)
Dtac : 081-554-1699 , AIS 081-935-1651
e-mail : macmagic99@hotmail.com


โดย: Budratsa วันที่: 15 ธันวาคม 2555 เวลา:21:27:34 น.  

 
...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456



โดย: Budratsa วันที่: 16 ธันวาคม 2555 เวลา:18:13:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.