"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
เมษายน 2557
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 เมษายน 2557
 
All Blogs
 
ความเป็นอยู่ของพระอรหันต์ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 2 ก.พ. 2557

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรม ชุดนี้
      ๑.     วิปัสสนปกิเลสไม่ใช่วัตถุแห่งอกุศล
      ๒.     พระอรหันต์เป็นผู้อยู่เหนือบุญ-บาปทั้งปวง
      ๓.     ขอขมาต่อพระอรหันต์ที่ปรินิพพานไปแล้วก็ได้
      ๔.     เพราะความกังวลทำให้พระอรหันต์เข้าสมาบัติไม่ได้
      ๕.     พระภิกษุไม่สามารถรับเงินค่าจีวรโดยตรงได้
     ฯลฯ




-วิปัสสนปกิเลสไม่ใช่วัตถุแห่งอกุศล เล่ม67หน้า648-649
-พระอรหันต์เป็นผู้อยู่เหนือบุญ-บาปทั้งปวง(เรื่องพระเรวตะเถระ)เล่ม43หน้า500
-พระอรหันต์เป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว(อ.มิคสาลาสูตร)เล่ม38หน้า242
-ขอขมาต่อพระอรหันต์ที่ปรินิพพานไปแล้วก็ได้(วิธีขอขมาฯ) เล่ม1หน้า300
-เพราะความกังวลทำให้พระอรหันต์เข้าสมาบัติไม่ได้(อ.คณกโมคคัลลานสูตร)เล่ม22หน้า152
-พระภิกษุไม่สามารถรับเงินค่าจีวรโดยตรงได้(จีวรวรรคสิกขาบทที่10)เล่ม3หน้า848
-ไม่จำเป็นต้องถวายของใส่มือพระก็ได้(อ.มหาปทานสูตร)เล่ม13หน้า159
-ควรใส่บาตรด้วยอาหารที่ถูกกับธาตุขันธ์พระดีกว่า(เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง)เล่ม40หน้า399-405


-วิปัสสนปกิเลสไม่ใช่วัตถุแห่งอกุศล เล่ม67หน้า648-649

ครั้นกุลบุตรนั้นเริ่มวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนูปกิเลส(เครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา)๑๐ อย่างย่อมเกิดขึ้น คือ โอภาส(แสงสว่าง)๑ ญาณ๑ ปีติ ปัสสัทธิ๑ สุข๑ อธิโมกข์(ความน้อมใจเชื่อ)๑ ปัคคหะ(การประคองไว้)๑ อุปัฏฐานะ(การเข้าไปตั้งไว้)๑ อุเบกขานิกันติ(ความใคร่)๑.

ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ เพราะญาณมีกำลังในขณะแห่งวิปัสสนาโลหิตย่อมผ่องใส ชื่อว่า โอภาส.เพราะโลหิตผ่องใสนั้น ความสว่างแห่งจิตย่อมเกิด.พระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ครั้นเห็นดังนั้นแล้วพอใจแสงสว่างนั้น ด้วยคิดว่า เราบรรลุมรรคแล้ว.แม้ญาณก็เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น.ญาณนั้นบริสุทธิ์ผ่องใส ย่อมเป็นไปแก่ผู้พิจารณาสังขารทั้งหลายพระโยคาวจรเห็นดังนั้นย่อมพอใจว่า เราได้บรรลุมรรคแล้วดุจในครั้งก่อน.ปีติ ก็เป็นวิปัสสนาปีติเท่านั้น.ในขณะนั้น ปีติ ๕ อย่างย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น.ปัสสัทธิ ได้แก่ ปัสสัทธิในวิปัสสนา.ในสมัยนั้น กายและจิตไม่กระวนกระวาย ไม่มีความกระด้าง ไม่มีความไม่ควรแก่การงาน ไม่มีความไข้ ไม่มีความงอ.แม้สุขก็เป็นสุขในวิปัสสนาเท่านั้น.นัยว่าในสมัยนั้น ร่างกายทุกส่วนชุ่มชื่น ประณีตยิ่งเป็นสุขย่อมเกิดขึ้น.ศรัทธาเป็นไปในขณะแห่งวิปัสสนา ชื่อว่า อธิโมกข์.จริงอยู่ ในขณะนั้นศรัทธาที่มีกำลัง ซึ่งยังจิตและเจตสิกให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ตั้งอยู่ด้วยดีย่อมเกิดขึ้น.ความเพียรที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนา ชื่อว่าปัคคหะ.จริงอยู่ ในขณะนั้น ความเพียรที่ประคองไว้ดีแล้วไม่ย่อหย่อนอันตนปรารภยิ่งแล้วย่อมเกิดขึ้น.สติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนา ชื่อว่า อุปัฏฐาน.จริงอยู่ ในสมัยนั้น สติที่ตั้งมั่นดีแล้วย่อมเกิดขึ้น.อุเบกขามี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาและอาวัชชนะ(การพิจารณา).จริงอยู่ ในขณะนั้นญาณกล่าวคือวิปัสสนูเปกขา อันมีความเป็นกลางในการยึดถือสังขารทั้งปวง เป็นสภาพมีกำลังย่อมเกิดขึ้น.แม้อุเบกขาในมโนทวาราวัชชนะก็ย่อมเกิดขึ้น.อนึ่ง อุเบกขานั้นกล้าเฉียบแหลมย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้พิจารณาถึงฐานะนั้นๆ.ความใคร่ในวิปัสสนา ชื่อว่า นิกนฺติ.

จริงอยู่ ในวิปัสสนูปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น ความใคร่มีอาการสงบสุขุม กระทำความอาลัยย่อมเกิดขึ้น.โอภาสเป็นต้นในวิปัสสนูปกิเลสนี้ท่านกล่าวว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นวัตถุแห่งกิเลสมิใช่เพราะเป็นอกุศล.แต่นิกันติความใคร่ เป็นทั้งอุปกิเลส เป็นทั้งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส.ก็ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้นไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ย่อมกำหนดมรรคและมิใช่มรรคว่า ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น มิใช่มรรค แต่วิปัสสนาญาณอันไปตามวิถี พ้นจากอุปกิเลสเป็นมรรค.


-พระอรหันต์เป็นผู้อยู่เหนือบุญ-บาปทั้งปวง(เรื่องพระเรวตะเถระ)เล่ม43หน้า500

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภพระเรวตเถระ

พระขีณาสพไม่มีบุญและบาป

จริงอยู่ ในเรื่องนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า" น่าอัศจรรย์ สามเณรมีลาภ,น่าอัศจรรย์สามเณรมีบุญ;รูปเดียว(แท้) สร้างเรือนยอด ๕๐๐ หลังเพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูปได้."พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุญย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา,บาปก็มิได้มี;บุญบาปทั้งสองเธอละเสียแล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-

"ผู้ใดล่วงบุญและบาปทั้งสอง และกิเลสเครื่อง
ข้องเสียได้ในโลกนี้,เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความโศก
มีธุลีไปปราศแล้ว ผู้บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์."



-พระอรหันต์เป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว(อ.มิคสาลาสูตร)เล่ม38หน้า242

อรรถกถามิคสาลาสูตรที่ ๕

บทว่า ทุสฺลีโล ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีศีล. บทว่า เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ผลสมาธิ.บทว่า ปุญฺวิมุตฺต ได้แก่ ผลญาณ. บทว่า ปนฺปชานาติ ได้แก่ ไม่รู้โดยการเรียนและการสอบถาม.ในคำว่า ทุสฺสีลฺย อปริเสสนิรุชฺฌติ นี้ ความทุศีล ๕ อย่าง โสดาปัตติมรรคละได้ก่อน ความทุศีล ๑๐ อย่าง พระอรหัตมรรคละได้ ในขณะผลจิต[คืออรหัตผล]ความทุศีลเหล่านั้น เป็นอัน ชื่อว่ามรรคละได้แล้ว.ทรงหมายถึงขณะแห่งผลาจิต ในสูตรนี้ จึงตรัสว่า นิรุชฺฌติ ก็ศีลของปุถุชนย่อมขาดด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ต้องอาบัติปาราชิก ลาสิกขา เข้ารีดเดียรถีย์ บรรลุพระอรหัต ตาย.ในเหตุ ๕ ประการนั้น เหตุ ๓ ประการข้างต้น เป็นไปเพื่อความเสื่อม ประการที่ ๔ เป็นไปเพื่อความเจริญ ประการที่ ๕ ไม่เป็นไปเพื่อเสื่อมหรือเพื่อเจริญ ถามว่า ก็ศีลนี้ขาดเพราะบรรลุพระอรหัตอย่างไร?.
ตอบว่า เพราะว่าศีลของปุถุชนเป็นกุศลกรรมส่วนเดียว
เท่านั้น ส่วนพระอรหัตมรรค เป็นรูปเพื่อสิ้นกุศลกรรมและอกุศลกรรมศีลขาดเพราะบรรลุพระอรหัตอย่างนี้.

-ขอขมาต่อพระอรหันต์ที่ปรินิพพานไปแล้วก็ได้(วิธีขอขมาฯ)เล่ม1หน้า300

[วิธีขอขมาเพื่อให้อดโทษให้ในการด่าใส่ร้าย]


เพราะฉะนั้น ผู้ใดแม้อื่น กล่าวใส่ร้ายพระอริยเจ้า ผู้นั้นไปแล้วถ้าท่านแก่กว่าตนไซร้, ก็พึงให้ท่านอดโทษให้ ด้วยเรียนท่านว่า "กระผมได้กล่าวคำนี้และคำนี้กะพระคุณเจ้าแล้ว ขอพระคุณเจ้าได้อดโทษนั้นให้กระผมด้วยเถิด" ถ้าท่านอ่อนกว่าตนไซร้ ไหว้ท่านแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลีพึงขอให้ท่านอดโทษให้ ด้วยเรียนท่านว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ!กระผมได้กล่าว คำนี้และคำนี้กะท่านแล้ว ขอท่านจงอดโทษนั้นให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" ถ้าท่านไม่ยอมอดโทษให้ หรือท่านหลีกไปยังทิศ(อื่น)เสีย พึงไปยังสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหารนั้น.ถ้าท่านแก่กว่าตนไซร้ พึงยืนขอขมาโทษทีเดียวถ้าท่านอ่อนกว่าตนไซร้ ก็พึงนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี ให้ท่านช่วยอดโทษให้ พึงกราบเรียนให้ท่านอดโทษอย่างนี้ว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! กระผมได้กล่าวคำนี้ และคำนี้กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้นแล้ว ขอท่านผู้มีอายุรูปนั้น จงอดโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด"

ถ้าพระอริยเจ้านั้นปรินิพพานแล้วไซร้,ควรไปยังสถานที่ตั้งเตียงที่ท่านปรินิพาน แม้ไปจนถึงป่าช้าแล้ว พึงให้อดโทษให้เมื่อตนได้กระทำแล้วอย่างนี้ กรรมคือการใส่ร้ายนั้น ก็ไม่เป็นทั้งสัคคาวรณ์มัคคาวรณ์(ไม่ห้ามทั้งสวรรค์ทั้งมรรค) ย่อมกลับเป็นปกติเดิมทีเดียว.


-เพราะความกังวลทำให้พระอรหันต์เข้าสมาบัติไม่ได้(อ.คณกโมคคัลลานสูตร)เล่ม22หน้า152

บทว่า สติสมฺปชญฺย ได้แก่เพื่อประโยชน์คือความพร้อมเพรียงด้วยสติสัมปชัญญะทั้งหลาย.ก็เหล่าพระขีณาสพ มี ๒ พวกคือ สตตวิหารี และ โนสตตวิหารี ในพระขีณาสพ ๒ พวกเหล่านั้น พระขีณาสพผู้สตตวิหารี แม้กระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจจะเข้าผลสมาบัติได้.ส่วนพระขีณาสพผู้เป็นโนสตตวิหารี เป็นผู้ขวนขวายกิจในกิจการมีประมาณเล็กน้อย ก็ไม่อาจแนบสนิทผลสมาบัติได้ ในข้อนั้นมีเรื่องดังต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง ได้ยินว่า พระขีณาสพองค์หนึ่ง พาสามเณรขีณาสพองค์หนึ่งไปอยู่ป่า.ในการอยู่ป่านั้นเสนาสนะตกถึงพระมหาเถระ ไม่ถึงสามเณร.พระเถระวิตกถึงเรื่องนั้น ไม่อาจทำแนบสนิทผลสมาบัติได้แม้แต่วันเดียว. ส่วนสามเณรทำเวลาทั้ง ๓ เดือน ให้ล่วงไปด้วยความยินดีในผลสมาบัติ ถามพระเถระว่า ท่านขอรับ การอยู่ป่าเป็นความสบายหรือ? พระเถระกล่าวว่า ไม่เกิดความสบายดอกเธอ.ดังนั้น เมื่อจะทรงแสดงว่า พระขีณาสพแม้เห็นปานนั้น อาจเข้าสมาบัติได้โดยนึกถึงธรรมเหล่านี้ ตั้งแต่ตอนต้นทีเดียว

-พระภิกษุไม่สามารถรับเงินค่าจีวรโดยตรงได้(จีวรวรรคสิกขาบทที่10)เล่ม3หน้า848

พระบัญญัติ

อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาจักร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาจักรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้งเป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองทรัพย์ก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใดทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่างได้ฉิบหายเสียหาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.

-ไม่จำเป็นต้องถวายของใส่มือพระก็ได้(อ.มหาปทานสูตร)เล่ม13หน้า159

ในวันนั้นภรรยาเศรษฐีร้องให้พูดกะลูกสาวว่า ลูกเอ๋ย หากบิดาของลูกยังมีชีวิตอยู่ วันนี้แม่คงจะยังพระทศพลให้เสวยก่อน.ลูกสาวพูดกะแม่ว่า แม่จ๋าอย่าคิดไปเลย ลูกจักกระทำโดยที่หมู่ภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจักเสวยภิกษาของพวกเราก่อน.แต่นั้นในถาดทองคำมีค่าประมาณหนึ่งแสน เต็มไปด้วยข้าวปายาสไม่มีน้ำ นางได้ปรุงเนยใส่น้ำผึ้งน้ำตาลกรวดเป็นต้น เอาถาดใบอื่นครอบถาดทองคำล้อมถาดนั้นด้วยสายพวงดอกมะลิกระทำคล้ายเชือกร้อยดอกไม้ ในเวลาพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่บ้านนางยกขึ้นเอง แวดล้อมด้วยหมู่พี่เลี้ยงออกจากเรือน.ในระหว่างทางพวกคนใช้ของเสนาบดีกล่าวว่า ดูก่อนแม่นาง เจ้าอย่ามาทางนี้.ธรรมดาหญิงผู้มีบุญมากย่อมมีคำพูดน่าพอใจ.เมื่อคนใช้ของเสนาบดีเหล่านั้นพูดบ่อยๆ ก็ไม่อาจห้ามถ้อยคำของนางได้.นางกล่าวว่า อาจ๋า ลุงจ๋า น้าจ๋า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงไม่ให้ฉันไปเล่า.คนรับใช้เหล่านั้นกล่าวว่า เสนาบดีตั้งเราไว้ว่า พวกท่านจงอย่าให้ใครๆ อื่นถวายของเคี้ยวของบริโภคได้.นางกล่าวว่า ก็พวกท่านเห็นของเคี้ยวของบริโภคในมือของฉันหรือ.คนใช้ตอบว่า พวกเราเห็นพวงดอกไม้.นางถามว่า เสนาบดีของพวกท่านไม่ให้เพื่อทำแม้การบูชาด้วยพวงดอกไม้ดอกหรือ.คนใช้ตอบว่า ให้ซิแม่นาง.นางกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงหลีกไปเถิด แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์ทรงให้รับพวงดอกไม้นี้เถิดพระเจ้าข้า.พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูคนใช้ของเสนาบดีคนหนึ่งให้รับพวงดอกไม้.นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า เมื่อข้าพเจ้ามีอันต้องเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ขอจงอย่ามีชีวิตหวาดสะดุ้งเลย ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ และขอให้ชื่อว่าสุมนาในที่ที่เกิด....

-ควรใส่บาตรด้วยอาหารที่ถูกกับธาตุขันธ์พระดีกว่า(เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง)เล่ม40หน้า399-405

ภิกษุ ๖๐ รูปบรรลุพระอรหัต

เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้อาหารอันเป็นที่สบาย จิตก็เป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เดียว( แน่วแน่ ).พวกเธอมีจิตแน่วแน่เจริญวิปัสสนา ต่อกาลไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย แล้วคิดว่า
"น่าขอบคุณ ! มหาอุบาสิกาเป็นที่พึ่งของพวกเรา; ถ้าพวกเราไม่ได้อาหารอันเป็นที่สบายแล้วไซร้,การแทงตลอดมรรคและผล คงจักไม่ได้มีแก่พวกเรา( เป็นแน่);บัดนี้ พวกเราอยู่จำพรรษาปวารณาแล้ว จักไปสู่สำนักของพระศาสดา."พวกเธออำลามหาอุบาสิกาว่า "พวกฉันใคร่จะเฝ้าพระศาสดา."
มหาอุบาสิกากล่าวว่า "ดีแล้วพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย" แล้วตามไปส่งภิกษุเหล่านั้น,กล่าวคำอันเป็นที่รักเป็นอันมากว่า "ขอท่านทั้งหลาย พึง(มา)เยี่ยมดิฉันแม้อีก" ดังนี้เป็นต้น แล้วจึงกลับ.

พระศาสดาตรัสถามสุขทุกข์กะภิกษุเหล่านั้น

ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นแล ถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง อันพระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย(สรีรยนต์มีจักร ๔ มีทวาร๙)พวกเธอพออดทนได้ดอกหรือ? พวกเธอพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ดอกหรือ? อนึ่ง พวกเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?"จึงกราบทูลว่า" พออดทนได้พระเจ้าข้า พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระเจ้าข้า,อนึ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลาย มิได้ลำบากด้วยบิณฑบาตเลย,เพราะว่าอุบาสิกาคนหนึ่ง ชื่อมาติกมาตา ทราบวาระจิตของพวกข้าพระองค์.เมื่อพวกข้าพระองค์คิดว่า 'ไฉนหนอมหาอุบาสิกาจะพึงจัดแจงอาหารชื่อเห็นปานนี้เพื่อพวกเรา.'(นาง)ก็ได้จัดแจงอาหารถวายตามที่พวกข้าพระองค์คิดแล้ว" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกานั้น.

อุบาสิกาจักของถวายตามที่ภิกษุต้องการ


ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง สดับถ้อยคำสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกานั้นแล้ว เป็นผู้ใคร่จะไปในที่นั้น เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว ทูลลาพระศาสดาว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไปยังบ้านนั้น" แล้วออกจากพระเชตวัน ถึงบ้านนั้นโดยลำดับ ในวันที่ตนเข้าไปสู่วิหาร คิดว่า "เขาเล่าลือว่า อุบาสิกานี้ ย่อมรู้ถึงเหตุอันบุคคลอื่นคิดแล้วๆ.ก็เราเหน็ดเหนื่อยแล้วในหนทางจักไม่สามารถกวาดวิหารได้,ไฉนหนอ อุบาสิกานี้จะพึงส่งคนผู้ชำระวิหารมาเพื่อเรา."อุบาสิกานั่งในเรือนนั่นเองรำพึงอยู่ ทราบความนั้นแล้ว จึงส่งคนไป ด้วยคำว่า "เจ้าจงไป,ชำระวิหารแล้วจึงมา." ฝ่ายภิกษุนอกนี้อยากดื่มน้ำ จึงคิดว่า "ไฉนหนอ อุบาสิกานี้จะพึงทำน้ำดื่มละลายน้ำตาลกรวดส่งมาให้แก่เรา."อุบาสิกาก็ได้ส่งน้ำนั้นไปให้.เธอคิด(อีก)ว่า "ขออุบาสิกา จงส่งข้าวยาคูมีรสสนิทและแกงอ่อมมาเพื่อเรา ในวันพรุ่งนี้แต่เช้าตรู่เถิด." อุบาสิกาก็ได้ทำอย่างนั้น.
ภิกษุนั้นดื่มข้าวยาคูแล้ว คิดว่า "ไฉนหนอ อุบาสิกาพึงส่งของขบเคี้ยวเห็นปานนี้มาเพื่อเรา." อุบาสิกาก็ได้ส่งของเคี้ยวแม้นั้นไปแล้ว เธอคิดว่า" อุบาสิกานี้ส่งวัตถุที่เราคิดแล้วๆ ทุกๆ สิ่งมา; เราอยากจะพบอุบาสิกานั่น, ไฉนหนอ นางพึงให้คนถือโภชนะมีรสเลิศต่างๆ เพื่อเรา มาด้วยตนเองทีเดียว." อุบาสิกาคิดว่า "ภิกษุผู้บุตรของเราประสงค์จะเห็นเราหวังการไปของเราอยู่," ดังนี้แล้ว จึงให้คนถือโภชนะไปสู่วิหารแล้วได้ถวายแก่ภิกษุนั้น.

ภิกษุนั้นทำภัตกิจแล้ว ถามว่า "มหาอุบาสิกา ท่านหรือ? ชื่อว่า มาจิกมาตา."
อุบาสิกา. ถูกแล้ว พ่อ.
ภิกษุ.  อุบาสิกา  ท่านทราบจิตของคนอื่นหรือ ?
อุบาสิกา. ถามดิฉันทำไม?  พ่อ.
ภิกษุ. ท่านได้ทำวัตถุทุกๆ สิ่งที่ฉันคิดแล้วๆ,เพราะฉะนั้น ฉันจึงถามท่าน.
อุบาสิกา. พ่อ ภิกษุที่รู้จิตของคนอื่น ก็มีมาก.
ภิกษุ. ฉันไม่ได้ถามถึงคนอื่น,ถาม(เฉพาะตัว)ท่านอุบาสิกา.
แม้เป็นอย่างนั้น อุบาสิกาก็มิได้บอก(ตรง ๆ)ว่า " ดิฉันรู้จิตของคนอื่น"(กลับ)กล่าวว่า" ลูกเอ๋ย ธรรมดาคนทั้งหลายผู้รู้จิตของคนอื่น ย่อมทำอย่างนั้นได้.
"

ภิกษุลาอุบาสิกากลับไปเฝ้าพระศาสดา

ภิกษุนั้นคิดว่า "กรรมนี้หนักหนอ,ธรรมดาปุถุชน ย่อมคิดถึงอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง; ถ้าเราจักคิดสิ่งอันไม่สมควรแล้วไซร้,อุบาสิกานี้ ก็พึงยังเราให้ถึงซึ่งประการอันแปลก เหมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมด้วยของกลางฉะนั้น;เราควรหนีไปเสียจากที่นี้" แล้วกล่าวว่า "อุบาสิกา ฉันจักลาไปละ."
อุบาสิกา. ท่านจักไปที่ไหน? พระผู้เป็นเจ้า.
ภิกษุ.  ฉันจักไปสู่สำนักพระศาสดา อุบาสิกา.
อุบาสิกา. ขอท่านจงอยู่ในที่นี้ก่อนเถิด เจ้าข้า.
ภิกษุนั้นกล่าวว่า " ฉันจักไม่อยู่ อุบาสิกา จักต้องไปอย่างแน่นอน"แล้วได้เดินออก(จากที่นั้น)ไปสู่สำนักของพระศาสดา.


พระศาสดาแนะให้รักษาจิตอย่างเดียว


ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเธอว่า " ภิกษุ เธออยู่ในที่นั้นไม่ได้หรือ ?"
ภิกษุ.  เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่สามารถอยู่ในที่นั้นได้.
พระศาสดา. เพราะเหตุไร? ภิกษุ.
ภิกษุ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ(เพราะว่า)อุบาสิกานั้น ย่อมรู้ถึงเรื่องอันคนอื่นคิดแล้วๆ ทุกประการ,ข้าพระองค์คิดว่า"ก็ธรรมดาปุถุชน ย่อมคิดอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง;ถ้าเราจักคิดสิ่งบางอย่างอันไม่สมควรแล้วไซร้,อุบาสิกานั้น ก็จักยังเราให้ถึงซึ่งประการอันแปลกเหมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมทั้งของกลางฉะนั้น"ดังนี้แล้วจึงได้มา.
พระศาสดา.  ภิกษุ เธอควรอยู่ในที่นั้นแหละ.
ภิกษุ.  ข้าพระองค์ไม่สามารถ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักอยู่ในที่นั้นไม่ได้.
พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจักอาจรักษาสิ่งหนึ่งเท่านั้นได้ไหม ?
ภิกษุ.  รักษาอะไร? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ตรัสว่า " เธอจงรักษาจิตของเธอนั่นแหละ ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก, เธอจงข่มจิตของเธอไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์อะไรๆ อย่างอื่น,  ธรรมดาจิตอันบุคคลข่มได้ยาก" ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

"การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมดาเร็ว
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี(เพราะว่า) 
จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.


แก้อรรถ

บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ในพระคาถานั้น(ดังต่อไปนี้).ธรรมดาจิตนี้ อันบุคคลย่อมข่มได้โดยยาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทุนฺนิคฺคห.
จิตนี้ย่อมเกิดและดับเร็ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ลหุ ซึ่งจิตอันข่มได้ยาก อันเกิดและดับเร็วนั้น.
บาทพระคาถาว่า ยตฺถ กามนิปาติโน ความว่า มักตกไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั่นแล.   
จริงอยู่ จิตนี้ ย่อมไม่รู้จักฐานะอันตนควรได้ หรือฐานะอันไม่ควรได้,ฐานะอันสมควรหรือฐานะอันไม่สมควรย่อมไม่พิจารณาดูชาติ ไม่พิจารณาดูโคตร ไม่พิจารณาดูวัย;ย่อมตกไปในอารมณ์ที่ตนปรารถนาอย่างเดียว.เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่."
การฝึกจิตเห็นปานนี้นั้น เป็นการดี คือความที่จิตอันบุคคลฝึกฝนด้วยอริยมรรค ๔(คือ โสดาปัตติมรรค๑ สกทาคามิมรรค๑ อนาคามิมรรค๑ อรหัตมรรค๑)ได้แก่ ความที่จิตอันบุคคลทำแล้วโดยประการที่จิตสิ้นพยศได้ เป็นการดี.
ถามว่า "เพราะเหตุไร?"
แก้ว่า "เพราะว่า จิตนี้อันบุคคลฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้ คือว่า จิตที่บุคคลฝึกแล้ว ได้แก่ทำให้สิ้นพยศ ย่อมนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่มรรคผล และสุขคือพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์."

ในกาลจบเทศนา บริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น,เทศนาสำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.


ภิกษุนั้นกลับไปสู่มาติกคามอีก

พระศาสดาครั้นประทานโอวาทนี้แก่ภิกษุนั้นแล้ว จึงทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า "ไปเถิด ภิกษุ เธออย่าคิดอะไรๆ อย่างอื่น จงอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ." ภิกษุนั้นได้พระโอวาทจากสำนักของพระศาสดาแล้ว จึงได้ไป(อยู่ )ในที่นั้น,ไม่ได้คิดอะไรๆ ที่ชวนให้คิดภายนอกเลย.
ฝ่ายมหาอุบาสิกา เมื่อตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระเถระแล้วกำหนด(รู้)ด้วยญาณของตนนั่นแลว่า " บัดนี้ ภิกษุผู้บุตรของเราได้อาจารย์ให้โอวาทแล้วจึงกลับมาอีก" แล้วได้จัดแจงอาหารอันเป็นที่สบายถวายแก่พระเถระนั้น.


พระเถระบรรลุพระอรหัตและระลึกชาติได้


พระเถระนั้นได้โภชนะอันเป็นที่สบายแล้ว โดย ๒-๓ วันเท่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่มรรคและผล คิดว่า" น่าขอบใจ มหาอุบาสิกาได้เป็นที่พึ่งของเราแล้ว เราอาศัยมหาอุบาสิกานี้ จึงถึงซึ่งการแล่นออกจากภพได้,แล้วใคร่ครวญอยู่ว่า มหาอุบาสิกานี้ได้เป็นที่พึ่งของเราในอัตภาพนี้ก่อน,ก็เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร มหาอุบาสิกานี้เคยเป็นที่พึ่งในอัตภาพแม้อื่นๆ หรือไม่?แล้วจึงตาม ระลึกไปตลอด ๙๙ อัตภาพ.
แม้มหาอุบาสิกานั้น ก็เป็นนางบาทบริจาริกา(ภริยา)ของพระเถระนั้นใน ๙๙ อัตภาพ เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในชายเหล่าอื่น จึงให้ปลงพระเถระนั้นเสียจากชีวิต.
พระเถระครั้นเห็นโทษของมหาอุบาสิกานั้นเพียงเท่านี้แล้ว จึงคิดว่า
" น่าสังเวช มหาอุบาสิกานี้ได้ทำกรรมหนักมาแล้ว."

=> ที่มา : วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com/index.php

=> หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

=> ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/





Create Date : 05 เมษายน 2557
Last Update : 11 เมษายน 2557 2:59:00 น. 2 comments
Counter : 1708 Pageviews.

 
ขณะนี้วันเสาร์ 5 /4/57 เวลาประเทศไทย 20:24 น.โดยประมาณ มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

ดูได้ที่
=>//www.samyaek.com

=> หรือ สามารถดูทางช่องสำรอง: //live.samyaek.com/

=> หรือ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ //new.livestream.com/samyaek/samyaek

=> หรือ
//www.login.in.th/flashstreaming/flash_url/watsamyaek/425/350.html


โดย: Budratsa วันที่: 5 เมษายน 2557 เวลา:20:26:20 น.  

 
สุขแท้ คือ สารเอนโดฟีนหลั่งที่สมอง ร่างการจะสมดุลด้วยฮอร์โมนต่าง ตามที่ผู้สร้างมนุษย์กำหนดสภาวะในคุณค่านั้นไว้

ทุกข์ คือ การหลั่งสารแห่งการต่อสู้ เมื่อเราต่อสู้ ต่อต้านกับความจริง หรือเรื่องที่ไม่ตรงกับจริตเรา สารนั้นทางการแพทย์เรียกว่า"อาดีนารีน" สารนี้ จะตกค้างเป็นสารก่อมะเร็ง สุ่มไปในร่างกาย นี่เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดสภาวะมาจากผู้สร้างมนุษย์

เรื่องจริงนี้ มีหลักฐานมาเป็นเวลา3500กว่าปีมาแล้ว แต่มนุษย์ถูกวรรณกรรม ถูกการปกครอง ปิดกั้นการเข้าถึงหลักฐาน ทั้งๆที่มีพยานมากมายได้เคยรับทราบสารนั้นด้วยตนเองมายืนยัน(มากกว่า4000ล้านคน)

อยู่กับปัจจุบัน เรื่องนี้ ก็สามารถยืนยันทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวางอยู่อีกด้วย

ทำอย่างไรถึงจะสุขมากกว่าทุกข์

ก็ทำตามภาระหน้าที่ ที่ผู้สร้างมนุษย์ที่มีพระคุณต่อมนุษย์กำหนดมาให้ซิ "มนุษย์ มีหน้าที่เป็นผู้ตักเตือนซึ่งกันและกัน"(ไม่มีระดับใบประกาศทางการศึกษา อาชีพ การแต่งกาย ชาติตระกูล นามสกุล จำนวนทรัพย์สมบัติ กำหนดนะ)

ผู้มีอาชีพพระเตือน อาชีพแพทย์ ตามภาระหน้าที่ ผู้มีอาชีพพระก็หลั่งสารเอนโดฟีน มีความสุข อายุยืนขึ้น หากแพทย์ ไม่เชื่อโดยภาระหน้าที่เขา อาดียารีนก็ไม่หลั่ง เขาก็ยังคงมีความสุข แต่หากเขาพยายามต่อต้านตอบโต้ เขาจะหลั่งสารอาดีนารีน แพทย์นั้นก็ทุกข์

อีกตัวอย่าง อาชีพกรรมกรใช้สิทธิ์ใช้หน้าที่ตักเตือนผู้มีอาชีพพระ หากพระจะโกรธ เพราะยึดติดว่า อาชีพฉันสูงส่งใครเตือนไม่ได้ พระนั้นก็จะหลั่งอาดีนารีน ก็มีทุกข์ แต่หากพระแค่ไม่เชื่อ พระก็ไม่เชื่อไปตามหน้าที่ ทั้งคู่ไม่มีใครทุกข์ (แต่ส่วนใหญ่ยึดติด ไม่ดำรงศีลข้อ12เท่าไร).

ทำกันไปตามภาระหน้าที่ ที่ผู้สร้างมนุษย์มอบหมายให้มากันได้ทุกๆคน ไม่เกิดทุกข์เลย


โดย: ตามภาระหน้าที่ มีแต่สุข IP: 124.121.208.245 วันที่: 12 เมษายน 2557 เวลา:21:05:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.