แม้นานเนาก็ยังห่วงยอดดวงเสน่หา...
 
 

บันทึกญี่ปุ่นฉบับอุปสรรคขวางกั้น

ข้อแม้ที่พระบิดายื่นนั่นหนักหนา คือกว่าจะได้เจอกันก็อีกหนึ่งปีข้างหน้า และระหว่างนั้นก็หันกลับมาทอผ้าต่อไป หนำซ้ำบางปีฝนตกท่วมทางที่จะได้พานพบกันเสียอีก อันทางที่ได้พบกันนั้นเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า อามาโนะกาวะ แปลเป็นไทยว่า ทางช้างเผือก แปลเป็นฝรั่งว่า ทางน้ำนมหรือมิลกี้เวย์ ภาษาม้งไม่มีเพราะไม่รู้จักเลยบอกไม่ได้

ตำนานในเมืองกุ้งพันอ้อย หรือเวียตนามกล่าวไว้ว่า มีนกกามาสยายปีกต่อกันเป็นสะพานให้ทั้งสองได้พบกันในวันนี้ในปีที่ฝนตก
ส่วนตำนานเมืองญี่ปุ่นบอกว่าเป็นนกกางเขน อีกตำนานที่เป็นบทอ่านเอาเรื่องในแบบเรียนของนักเรียนชั้นป.๕ บอกว่าเป็นหงส์ขาว หรือที่เรียกว่า ฮักขุโจ

อนึ่ง ที่ไม่ได้แปลว่าสอง ต้องทำใจกว้างหน่อยว่าตำนานนี้สืบทอดมาเนิ่นนาน ผิดเพี้ยนแตกแยกย่อยลงในรายละเอียดนั่นเป็นเรื่องธรรมดา
ด้วยคนเรานั้นช่างคิดช่างรังสรรค์นั่นเองปะไร...
แล้วคนเราก็ช่างพูดเสียด้วย เรื่องที่พูดเมื่อวานนี้กับวันนี้ยังเพี้ยนกันไปได้ แล้วนี่พูดกันมาตั้งเป็นพันปี จะไม่ให้เพี้ยนกระไรได้

เคาะข้อมูลต่อไปก็ได้ว่า นกกากับนกกางเขนเป็นวงศ์เดียวกัน ส่วนหงส์ขาวนั่นดูพาฝันกว่าอีกามากมายอยู่ ก็อาจคิดไปได้เช่นกัน
ต่อจากนั้นแม่ยุ้ยก็สันนิษฐานไปเรื่อยๆ ตามใจชอบ เป็นต้นว่า นกกาคงไม่ค่อยน่ารักนักเลยเปลี่ยนตำนานเสียหน่อยหรืออะไรก็ว่าไป
คนแต่งนิทานหรืออีกทีหนึ่ง คนแต่งหนังสือ ต้องมีจินตนาการกว้างๆ ไกลๆ หน่อย
แต่แม่ยุ้ยไม่ค่อยมี เวลาเขียนหนังสือเลยซบความเป็นจริงเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องที่เขียนจึงไม่ได้รับการคัดเลือกไง ฮึ... มีรำพัน...

น่าสนใจตรงที่ว่าทุกชาติที่ว่ามา มีทางช้างเผือกเป็นชื่อเรียกเป็นภาษาของตนเองทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่มีก็คงต้องขอยืมชื่อที่คนอื่นเรียกมาเรียกแทน อย่างที่เราเรียกแครอทตามฝรั่งไป ไม่ได้มานั่งคิดคำใหม่เป็นหัวผักกาดสีส้ม หรือหัวผักกาดกระต่ายบั๊กบันนี่ หรืออะไรก็ว่าไป... หรือญี่ปุ่นไม่มีทุเรียนกับผักชี ก็เรียกทุเรียนเรียกผักชีตามเราไปดังนั้น
ตรงจุดที่มีคำเรียกในภาษาของตัวเองนี้จึงทำให้พอจะมองเห็นว่า มนุษย์เรามีความสนใจต่อสิ่งที่อยู่บนฟ้าไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเท่าไรเลย
อามาโนะกาวะ แปลตรงได้ว่า คลองแห่งท้องฟ้า มิลกี้เวย์แปลว่าอะไรก็ช่างมันเถิด แต่มีชื่อเรียกของตัวเอง
ชื่อเรียกแต่ละชื่อบอกเล่าความคิดอ่านที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน แม่ยุ้ยสนใจเรื่องชื่อสิ่งต่างๆ อยู่เป็นปฐม จึงมักคิดไปถึงที่มาอีกเรื่องราวที่เกี่ยวพันอยู่เสมอ โดยขึ้นคำถามว่า ทำไมถึงมีชื่อเช่นนี้

กลับมาที่ตำนานรักที่บัดนี้มีอุปสรรคขวากหนามมากั้นเสียแล้ว ก็ได้ความตามท้องเรื่องว่า ด้วยเรื่องราวดังที่เล่ามาสามวันสามคืนไม่หลับไม่นอน (ว่าเข้าไปโน่น)
ดาวเจ้าหญิงโอริฮิเมะ กับดาวฮิโคโบชิคนเลี้ยงวัว ก็จะได้โคจรมาพบกันในวันที่ ๗ กรกฎาคม ของทุกปี ตามความเชื่อและตำนานที่ผูกไว้
คนญี่ปุ่นก็ถือกัน (ไม่เอาจริงจังมากหรอกนะคะ) ว่าถ้าเขียนคำอธิษฐานแล้วก็จะได้สมใจนึกบางลำภู
อันวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดนั่นว่ากันตามวงปีของเก่า แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นสากล จึงกลายเป็น ๗ กรกฎาคมไปเป๊ะๆ เอาเข้าจริงๆ บางปีก็เป็นเดือนสิงหาโน่นก็มี ละเอียดกว่านี้ให้คลิกอ่านที่บทอ้างอิง

ประเพณีนี้ก็ยึดถือทำกันมาเป็นเทศกาลในบรรยากาศงานวัดบ้านเรา แต่อาจจะอลังการหน่อยในบางท้องที่ และหนักหน่อยในบางเมืองประมาณงานกาชาดจังหวัดลำปางนั่นแล้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปแล้วตามยุคสมัยที่มีดีแล้วต้องโชว์เช่นนี้

ทิ้งท้ายไว้ในวันก่อนว่าจะบอกชื่อสากลของดาวสองดวง จึงไปค้นมาแปะไว้ดังต่อไปนี้
ดาวโอริฮิเมะ เรียกแบบฝรั่งว่า ดาวเวกา (Vega) เป็นดาวที่สุกสว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ ละเอียดกว่านี้ก็ขี้เกียจเขียนซะแล้ว เพราะต้องหาข้อมูลเอามาลำดับเทียบเคียงทั้งสามภาษาก่อน สรุปเฉพาะที่ต้องการ แล้วจึงจะเขียนได้ตามมาตรฐานแม่ยุ้ย นึกได้แค่นี้ก็เลยต้องหยุด เพราะแค่เขียนบทความนี้บทเดียวก็กินเวลา 5 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว
ขอลาไปก่อนแล้วเอยด้วยการบอกต่ออีกนิดว่า
ดาวคนเลี้ยงวัวฮิโคโบชิ มีชื่อว่า Altair ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila)
อยากจะเล่าต่อไปอีกว่าดาวนกกานกแร้งที่ว่านั่นก็มีความสำคัญในตำนานนี้เพราะว่าดาวทั้งสามดวงที่ว่ามาจัดเป็นดาวเด่นทำให้เกิดสามเหลี่ยมหน้าร้อนในช่วงเดือนกรกฎาสิงหา ฯลฯ
ขอไปอ่านเองได้ที่เว็บอ้างอิงนะคะ อีกชื่อดาวภาษาไทยก็คงจะมี แต่ละเอียดยิบย่อยมากมายเหลือเกิน หญิงค้นมาแล้วเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาเขียนต่อค่ะ

อ้างอิงเรื่องดาวเวกา ดาวอัลแตร์ ดาวพิณ ดาวนกอินทรี อีกเรื่องราวของทานาบาตะ ได้ที่วิกีพิเดีย ที่นี่ ที่โน่น และที่นั่น นู่นๆๆๆ ดังด่อไปนี้
จะทำลิงค์ใส่ก็คลิกลากเมาส์ไม่ไป สุดปัญญาเรียมเอย

//en.wikipedia.org/wiki/Vega
//ja.wikipedia.org/wiki/%E4%B8%83%E5%A4%95
//ja.wikipedia.org/wiki/%E3%82%A2%E3%83%AB%E3%82%BF%E3%82%A4%E3%83%AB
//ja.wikipedia.org/wiki/%E3%82%8F%E3%81%97%E5%BA%A7

และขอบังคมลาหยุดยาวเพื่อเขียนหนังสือนะคะ มาฝากรักได้ที่นี่ ถ้าไม่รักก็แล้วไปค่ะ
หญิงจะมาที่บล็อกนี้ตามอำเภอใจ จนกว่าจะเขียนหนังสือเสร็จค่ะ

กรกุณารี หรือ สร้อยสัตตบรรณ




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2551 16:54:45 น.   
Counter : 466 Pageviews.  


บันทึกญี่ปุ่นฉบับตำนานรัก


ความรักเอย เจ้าลอยลมมาหรือไร
มาดลจิต มาดลใจ...... เสน่หา
รักนี้จริงจากใจหรือเปล่า หรือเย้าเราให้เฝ้าร่ำหา
หรือแกล้งเพียงแต่แลตา ยั่วอุรา ให้หลง ลำพอง ....

นายฮิโคะโบชิคงจะครวญเพลงนี้ผ่านสายลมในยามค่ำเพียรพร่ำคำรักไปถึงสาวเจ้าสมัยที่มองตากันใหม่ๆ แล้วยังไม่รู้ใจว่าเธอรักจริงหวังแต่ง หรือแกล้งช้อนสายตาเย้าเล่นให้เอนไหวใจแกว่ง
อยากจะบอกนายฮิโคโบชิเสียตรงนี้ว่า สาวเจ้าก็คิดถึงพ่อไม่น้อยอยู่เหมือนกัน...
อุ๊ยตาย เอาเรื่องของตัวเองใส่ลงไปได้อย่างไร...

ฮิโคะโบชิที่ว่า คือชื่อของดวงดาวสกาวส่องอยู่บนฟ้าคนละฟากฝั่งกับของนางเอก ซึ่งก็คือดาวอีกดวงหนึ่งมีชื่อว่าดาวโอริฮิเมะ ชื่อก็บอกว่าเธอเป็นเจ้าหญิง (ฮิเมะแปลว่าเจ้าหญิง)
ตำนานเขาบอกว่านายดาวฮิโคโบชินั่นเป็นคนเลี้ยงวัว ทำอีท่าใดก็ไม่รู้ไปเจอกับเจ้าหญิงเข้าได้
จะต้อนวัวไปหาหญ้ากินในเขตพระราชฐาน หรือเจ้าหญิงจะออกมาเดินอ่อยเหยื่ออยู่แถวๆ ฟาร์มขุนโคทำสเต๊กแถวๆ โคราช ก็สุดหยั่งเดาได้
หรืออย่างไรก็ยกให้คนคิดตำนานนี้รับผิดรับชอบไปแต่ผู้เดียวก็ละกัน

อันว่าตำนานรักนี้รับมาแต่เมืองจีน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า มีต้นกำเนิดแต่เมืองจีน ประเทศที่มีหรือเคยมีตัวหนังสือจีนประจำชาตินั่นมีตำนานนี้กันทั่วไป ตามที่สืบเสาะเคาะหาข้อมูลด้วยคีย์บอร์ดอย่างเดียวนี่ก็ได้มาหลายประเทศอยู่ คือญี่ปุ่น เกาหลี เหนือใต้ เวียตนาม ไทวัน (ไต้หวัน) ยังไม่มีโอกาสสัมภาษณ์และสัมผัสชาวเขาเผ่าม้ง ว่ามีตำนานรักอย่างนี้ไหม เพราะนั่นก็พูดภาษาจีนอยู่สาขาหนึ่งเหมือนกัน
ในฮ่องกงจะเป็นอย่างไร ไม่มีโอกาสได้รู้ข้อมูลอีกเหมือนกัน แต่ในเวียตนามนั่นมีแน่ ซึ่งจะเล่าละเอียดสืบไป ถ้ารักกันจริงก็ตามอ่านเอาแถวๆ นี้ ถ้าไม่รักก็แล้วไปเถอะไม่ว่ากัน
แม่ยุ้ยหาข้อมูลในวิกิพิเดีย แล้วเขากล่าวเอาไว้ดังนั้น เช็กทั้งสองภาษาคืออังกฤษกะญี่ปุ่น อ่านภาษาเวียตนามไม่ออก เลยเทียบข้อมูลได้เพียงนี้ วิกิพิเดียของม้งก็ไม่มี จึงสุดปัญญาเรียมเอย...

กลับมาที่เรื่องรักหนักอุรากันใหม่เพื่อไม่ให้ไถลเถลือกไปไกลหัวข้อที่ว่าไว้นัก
ก็ปรากฏชัดเจนว่าไม่มีอุปสรรคขวากหนามอะไรก่อนแต่งงาน ทั้งสองคนก็ได้แต่งงานกันมีความสุขไป เสด็จพ่อไม่ยักรังเกียจคนเลี้ยงวัว
และตามสัจธรรมของความรักนี่ เขาว่าถ้าไม่มีอุปสรรคแล้วมันเหมือนมีอะไรขาดๆ ไปชอบกลอยู่ กวีก็เลยรังสรรค์เรื่องให้ยาวต่อไปอีกว่าดังนี้

ก่อนจะรู้ต่อไปว่าเรื่องเป็นอย่างไร ต้องปูพื้นก่อนว่าเจ้าหญิงโอริฮิเมะนี่มีความสามารถทอผ้าเป็นเยี่ยมยอด (โอริแปลว่าทอผ้านั่นอย่างไร)
พระองค์หญิงมิ่งธิดาแห่งห้วงหาวทรงพระทอผ้าได้เป็นเลิศประเสริฐศิริหาใครเทียมมิได้ในสามโลก
คือผ้าที่เธอทอนั้นใส่หน้าร้อนก็เย็นซื่นม่วนในหัวอกอยู่หลาย
ครั้นพอหน้าหนาวสาวเจ้าก็ทอได้ผ้าที่นุ่งห่มแล้วอบอุ่นละมุนกายเป็นยิ่งนัก แต่ตรงนี้บางตำนานก็ว่าทอผ้าได้เจ็ดสี และแน่นอนว่าสวยเสียด้วย

ปูมไม่ได้เล่าละเอียดว่านายเลี้ยงวัวเลี้ยงได้ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า จะมีท่าต้อนวัวแปลกแตกต่างจากฟาร์มอื่น ทำนองเต้นแร้พร้องเพลงกล่อมวัวตอนมันกินหญ้า หรือไม่อย่างไรก็ไม่แจ้ง
เอาเป็นว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษก็ละกัน แต่ที่แน่ๆ คือแกเป็นคนขยันขันแข็ง

อุปสรรครักที่ว่า มาเป็นเรื่องเป็นราวเอาก็ตอนแต่งงานดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์นี่เอง สองคนดื่มน้ำผึ้งชนแก้วกันไม่รู้แล้ว หรือจะเอานิ้วชี้จิ้มน้ำผึ้งดูดก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเอานิ้วก้อยจิ้มก็ได้ เพราะดูญิ้ง หญิงดี ตรงนี้ก็ช่างมันไปเถอะ

เอาเป็นว่าสองคนรักกันหวานแหวว เพียรร้องเพลงคู่อยู่ในทุ่งกว้างอยู่นั่นแล้วไม่เลิกรา งานการไม่เป็นอันทำ ผ้าที่เคยทอวันละสามร้อยกว่าล้านยาร์ดในหนึ่งวินาที (ตัวเลขนี่ก็ว่าไปเรื่อยๆ) ก็ปล่อยปละละเลยแทบจะเลิกกิจการ

กล่าวฝ่ายนายเลี้ยงวัวก็ปล่อยวัวกินหญ้าตามบุญตามกรรม ไม่เต้นแร้พร้องเพลงกล่อมวัว อีกทั้งไม่ยอมพาไปหาหญ้าอันอุดมกินที่อื่นใดไม่ เป็นเหตุให้วัวผอมโซโกโรโกโรกน่าสงสารเป็นยิ่งนัก

เมื่อวัวผอมได้ที่ และผลผลิตของโรงงานทอผ้าตราเจ้าหญิงโอริฮิเมะนั่งพับเพียบผลิตผ้าไม่ได้ตามที่เคยเป็น พระบิดาก็กริ้ว ลงโทษให้ทั้งสองแยกจากกัน และให้ได้พบกันปีละครั้งเดียวเท่านั้น คือในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งก็คือวันทานาบาตะ ดังนี้แล

พระธิดาก็ร้องไห้แล้วอีทีนี้ แต่แม่ยุ้ยไม่ร้องไห้ เพราะได้พบหน้าทุกครั้งที่ไปหาพาชื่นทรวงม่วนในอุราเป็นยิ่งนัก
เข้าเรื่องตัวเองอีกแล้ว กลับมาก่อนๆ...

พรุ่งนี้จะมาบอกว่าดาวเจ้าหญิงชื่อเป็นสากลว่าดาวอะไร ดาวนายเลี้ยงวัวนั่นอีก
อ่านตำนานรักดาวฉบับแม่ยุ้ยแล้วก็กรองเอาแต่เนื้อๆ นะคะ
เราเตือนท่านแล้ว




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 14 กรกฎาคม 2551 5:04:22 น.   
Counter : 527 Pageviews.  


บันทึกญี่ปุ่นฉบับอ่อนหวาน

ที่ตั้งชื่อเรื่องว่าอย่างนั้น เพราะเราจะอ้อนวอนกับดวงดาว จึงต้องทำตัวอ่อนหวานน่ารักน่าบันดาลให้สมปรารถนาตามคำขอไปดังนั้น

บ้านของเรามีต้นไผ่ขึ้นอยู่เกือบจะรอบบ้าน เพราะไผ่ก็เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง ขึ้นได้ขึ้นดีชอนรากไปทั่ว เมื่อหน้าสปริงมาถึงหน่อไม้ก็ขึ้นอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ยิ่งเมื่อมาถึงวันนี้ที่อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ หน่อไม้ก็ขึ้นชำแรกแทรกหินก้อนเล็กๆ ในสนามน้อยๆ อยู่กลาดเกลื่อนไป ร้อนให้สามีต้องฟันทิ้งเสียบ้าง ต้นไผ่โตไวมากจนน่าตกใจ ตอนเช้าแม่ยุ้ยเห็นไผ่ต้นนั้นสูงแค่เอวเท่านั้น พอตกเย็นมันสูงท่วมหัวแม่ยุ้ยเสียแล้ว ยืนยันว่าเป็นไผ่ต้นเดียวกัน โตไวๆ อย่างนี้ น่าหลอกให้ใครไปนั่งแปะอยู่ในสนามบ้านแม่ยุ้ยนัก...
ที่ต้องเล่าเรื่องต้นไผ่ เพราะใบทันซาขุต้องเอาไปแขวนกับต้นไผ่นั่นเอง ก็เท่านั้น เล่าซะยาว...

บ้านใดที่มีเด็กๆ พ่อแม่ก็จะไปตัดกิ่งไผ่เอามาปัก ประดับประดาด้วยกระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นรูปโคมไฟบ้าง รูปดอกไม้ที่บานหน้านี้บ้าง ใครที่ตัดกระดาษประดิดประดอยไม่ได้เขาก็มีชุดประดับขาย ก็ไปซื้อเอามาแต่งต้นไผ่ ดูๆ ไปก็คล้ายๆ การประดับต้นคริสต์มาสอยู่เหมือนกัน นี่พูดในแง่ของการช่วยกันประดับแต่งเท่านั้น มิได้หมายรวมความเชื่อแอนด์ที่มาต่างๆ
เมื่อประดับต้นไผ่ได้สวยสมใจพระเดชพระคุณแล้ว ก็ให้ลูกๆ เขียนคำอธิษฐานกัน แม่ยุ้ยชวนลูกๆ เขียนคำอธิษฐานแล้วเอาไปผูกต้นไผ่ที่ในสนามทุกปี สองสาวมีเรื่องอธิษฐานเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและเนื้อหาชีวิตของแต่ละคน แม่ยุ้ยก็เหมือนกัน มาถึงตรงนี้เลยจะนำคำอธิษฐานของปีนี้มาลงเสียหน่อย แม่ยุ้ยเขียนในใบทันซาขุว่า

ขอให้สมที่หมายมาดปรารถนา
ขอจงพาคำวอนที่อ่อนหวาน
ให้สบสมที่หมายแม้นมาแสนนาน
ขอพิษฐานกับดวงดาวบนหาวไกล...

ต่อจากนี้ก็เอามาลงไม่ได้แล้ว เป็นความลับเด้อ...
วันต่อไปจะเป็นเรื่องราวที่มาของทานาบาตะมัตสึริ เล่าเรื่องที่บ้านเสียจนหมดเนื้อที่ จึงขอผัดไปเป็นวันพรุ่งนี้นะคะ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 19:34:23 น.   
Counter : 348 Pageviews.  


บันทึกญี่ปุ่นฉบับเว้าวอน

เขียนวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑

วันที่เจ็ดเดือนเจ็ด หรือเขียนอีกทีว่า วันที่ ๗ กรกฎาคม ของทุกๆ ปี
ญี่ปุ่นจะมีประเพณีหน่อมแน้มน่าเอ็นดู มักกระทำกันกว้างขวางในหมู่เด็กอนุบาลและประถมต้น
ที่ต้องใช้ำคำว่า มักกระทำกันกว้างขวางในหมู่เด็กๆ นั้นให้ความหมายว่า
ไม่เพียงทำแต่เด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ทำได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่ทำนั้นจะเป็นพ่อหรือแม่ของเด็กอนุบาลดังกล่าว
หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นมาอีกนิดว่า ในหมู่คนที่ไม่มีเด็กๆ อยู่ในบ้านก็มักจะไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆ ปล่อยให้วันที่ ๗ ผ่านไปเหมือนวันที่ ๗ ของทุกๆ เดือนที่ผ่านมาและกำลังจะผ่านไป

ประเพณีเว้าวอนอ้อนดวงดาวที่แม่ยุ้ยไม่ได้แปลตรงแต่แปลเอาความนี้ เรียกเป็นภาษาเขาว่า ทานาบาตะมัตสึริ
ก่อนที่จะไขเรื่องที่มาที่ไปของเทศกาลนี้ คงต้องขอยกเนื้อหาวิธีการร่วมเทศกาลกันเสียก่อนดังนี้

ราวกลางเดือนมิถุนายน นอกจากโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนชั้นประถมต้นแล้ว ตามห้างร้าน หรือซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีต้นไผ่สูงถึงเพดานห้าง หรืออาจจะไม่ถึงก็ได้ถ้าเพดานห้างนั้นสูงนัก คือไผ่จะสูงราวๆ สองเมตรหรือกว่านั้นนิดหน่อย
ที่โต๊ะข้างๆ ต้นไผ่ที่ถูกตัดมาตั้ง จะมีกระดาษหลากสีขนาดเท่ากระดาษที่คั่นหนังสือหรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อยวางไว้ให้พร้อมปากกา
ผู้ร่วมรายการก็คือประดาลูกค้าทั้งหลายที่มาอุดหนุนทางห้าง หรือทางร้านก็ตามแต่ ก็จะเขียนความปรารถนาหรือเรียกเป็นภาษาเขาว่า เนไงโกโตะ ลงในกระดาษสีที่เขาเตรียมไว้ให้ แล้วก็เอาไปผูกกับกิ่งไผ่ บางห้างเห็นว่าผูกลำบากนักก็จะเตรียมที่เย็บกระดาษรอไว้ให้
เราเขียนคำเว้าวอนเสร็จแล้วก็เย็บติดไปกับใบไผ่เสียเลยก็มี แต่ส่วนมากเขาก็จะเพียรผูกกัน กระดาษที่เขียนคำอธิษฐานนี้เรียกสามคำจำไม่ง่ายว่า ทันซาขุ

แล้วทันซาขุก็จะถูกผูกมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านมาเกือบสองอาทิตย์ และตามจำนวนคนที่มาแวะห้างแล้วแวะร่วมกิจกรรมเขียนคำอธิษฐาน
กาลผ่านมาจนเมื่อใกล้จะถึงวันที่ ๗ กรกฎาคม ทันซาขุก็จะห้อยระย้าลดหลั่นกันไปตามกิ่งก้านที่แผ่ไปทั่ว ดูเหมือนกับดอกไม้แห่งคำอธิษฐานเบ่งบานอยู่ตรงนั้นตรงนี้แลเห็นเป็นสีแดง สีเขียว ฯลฯ แต้มแต่งต้นไผ่อยู่นั่นเทียว และด้วยเพียงลมเบาๆ อันเกิดจากการที่ใครสักคนเดินผ่าน กระดาษสีเขียนคำอธิษฐานทันซาขุก็จะพลิ้วปลิวสะบัดพัดไหวไปมาอยู่บนต้นไผ่ที่ใบเริ่มเหี่ยวออกเป็นสีน้ำตาลแล้ว แต่ตรงจุดนี้ช่างมันไปเถิด แม่ยุ้ยก็ละเอียดยิบย่อยบอกกันทุกภาพไปทีเดียวเชียว พลอยลบอารมณ์สุนทรีไปเสียสิ้น กลับมาที่ต้นไผ่ใบเหี่ยวใหม่อีกรอบ...

เมื่อพอจะเห็นภาพต้นทันซาขุ (แม่ยุ้ยเรียกเองเพื่อให้เข้าใจง่าย) เราก็มาทำความรู้จักตำนานอีกความเป็นมาและเป็นไป คือประเพณีที่ประกอบขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลดังกล่าวกัน

ต่อพรุ่งนี้ค่ะ




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 20:58:38 น.   
Counter : 367 Pageviews.  


คุณแม่ยังสวยค่ะ

ขึ้นชื่อเรื่องให้น่าสมเพชไปยังงั้นเอง ความจริงก็เป็นอย่างที่จั่วหัวไว้ล่ะค่ะ...
โฮะๆๆๆ

เมื่อวานลูกสาวคนโตหันมาบอกแม่ตอนอยู่ในครัวด้วยกันว่า เพื่อนที่โรงเรียนถามว่าคุณแม่อายุสามสิบกว่าๆ ใช่ไหม ลูกไม่ลืมบอกประโยคถัดมาให้คนแก่ชื่นใจว่า เพื่อนเขาบอกว่าคุณแม่สวยจัง
หันไปยักคิ้วหนึ่งแผล็บ แล้วตอบลูกว่า
บอกไปว่าแม่จะห้าสิบแล้วเด้อ

เลยเอามาเล่าต่อให้หมั่นไส้เล่นๆ ฮุๆๆ

วันนี้วัน ทานาบาตะ (วันที่เจ็ดเดือนเจ็ด) มีประเพณีอธิษฐานกับดวงดาว
เรื่องราวความเป็นมาจะเขียนเล่าวันต่อๆ ไป
หรืออาจจะเอาของเก่าที่เคยเขียนบล็อกไว้ที่ผู้จัดการมาแปะให้อ่านใหม่ที่นี่นะคะ สำหรับแฟนเพลงที่ไม่เคยรู้จักบล็อกของแม่ยุ้ยที่โน่น (ซึ่งเลิกเขียนไปนานแล้ว)

ต่อจากเวลานี้ ก็ขอตัวเขียนหนังสือเรื่องต่อไปค่ะ

นางยุ้ย







 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 7 กรกฎาคม 2551 8:59:25 น.   
Counter : 353 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

majoreenu
 
Location :
Chiba Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข้อความในหน้านี้
เป็นของที่เจ้าของสงวน
ห้ามเอาไปไม่บังควร
จงคิดครวญให้จงนาน

อาจโดนตบกะโหลก
เอาหัวโขกเสียบประจาน
เพราะเจ้าของเป็นคนพาล
ทรงเสน่ห์และเล่ห์กล

ฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ
อีกฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ

สร้อยสัตตบรรณ
เจ้าของบล็อก

....................................................

สร้อยสัตตบรรณ หรือกรกุณารี
ก็คนคนเดียวกัน...

ฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯ


ความคิดถึงที่อ่านได้
[Add majoreenu's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com