แม้นานเนาก็ยังห่วงยอดดวงเสน่หา...
 
 

ลูกนิมิต

ให้บังเอิญกำลังเขียนเกี่ยวกับเรื่องวัด จึงเช็คคำว่าลูกนิมิต ว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง
คลิกไปมาพบหน้าที่แสดงไว้ด้านล่างเข้า กลอนเพราะมากจึงนำมาแปะไว้

เขาเขียนคำอธิษฐานเวลาปิดทองลูกนิมิตไว้ดังนี้ ลงท้ายว่าโดยธรรมสาธก
เข้าใจว่าเป็นคนแต่ง ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
เริ่มด้วยวรรครับ เพราะและได้ใจความดีเหลือเกิน

ขอเดชะ บุญทาน การกุศล
ปิดนิมิต อุโบสถ ทศพล
เริ่มลูกต้น กลางโบสถ์ โชติตระการ

เป็นนิมิต ลูกเอก เสกประสาท
งามโอภาส มาศเฉลิม เสริมสัณฐาน
เป็นนิมิต เตือนตา สาธุการ
ท่ามกลางงาน บุญพิธี ผูกสีมา

เกิดชาติหน้า อย่ารู้เข็ญ ได้เป็นใหญ่
รูปวิไล เป็นเสน่ห์ ดังเลขา
ปิดนิมิต ลูกทิศ บูรพา
ให้ก้าวหน้า เกียรติยศ ปรากฏไกล

ปิดนิมิต ลูกทิศ อาคเนย์
ขอให้เท- วาประสิทธิ์ พิสมัย
ปิดนิมิต ทิศทัก- ษิณศักดิชัย
ให้สมใจ สมบัติ วัฒนา

ปิดนิมิต ลูกทิศ หรดี
ขอให้ชี- วิตมั่น ชันษา
ปิดนิมิต ทิศประจิม อิ่มอุรา
ปรารถนา ใดได้ ดั่งใจปอง

ปิดนิมิต ทิศพายัพ ดับทุกข์โศก
นิราศโรค นิราศภัย ร้ายทั้งผอง
ปิดนิมิต ทิศอุดร กรประคอง
ได้เงินทอง สมหมาย ทุกรายการ

ปิดนิมิต ทิศอีสาน ประการท้าย
ให้สมหมาย ได้สุข ทุกสถาน
รวมเก้าลูก สุกใส ใจเบิกบาน
กว่าจะถึง ซึ่งนิพพาน เมื่อนั้น เทอญ

-โดยธรรมสาธก-

รับข้อมูลจาก "//th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95"






 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 4 ธันวาคม 2551 7:42:38 น.   
Counter : 972 Pageviews.  


ว่าด้วยหนังสือเรื่อง "ก้มหน้าเที่ยว"

หนังสือสารคดีสำหรับเยาวชนเรื่อง "ก้มหน้าเที่ยว" ที่แม่ยุ้ยส่งประกวดในครั้งนี้ นับเป็นหนังสือสารคดีเรื่องแรกสำหรับตัวเอง
เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ "ฝาท่อระบายน้ำ" ในประเทศญี่ปุ่นเป็นธีมหลัก และลากนำเข้าสู่เนื้อหาเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อีกนิทานพื้นบ้าน และความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น
สาเหตุที่หลากหลายไปด้วยแขนงเนื้อหาดังกล่าวมาข้างต้นนั้น
มีที่มาจาก "รูปภาพ" ที่ปรากฏบนฝาท่อระบายน้ำดังกล่าว
หาใช่ความรู้อันแตกฉาน (ซ่านเซ็น) ของคนเขียนแต่อย่างใดไม่

ด้วยเวลาเขียน หรือก่อนหน้าที่จะเขียน แม่ยุ้ยจะต้องระดมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวบรวมไว้ในสมอง (น้อยๆ)
รอจนข้อมูลตกตะกอนแล้วจึงจะเขียนได้
สาเหตุที่ต้องรอให้ข้อมูลตกตะกอนก็เป็นเพราะว่า ถ้าไม่รอให้ตกเสียก่อน แม่ยุ้ยก็จะพานเขียนทุกอย่างที่ได้อ่านมาลงไปหมด เพราะจำแม่นมาก...
ซึ่งบางข้อมูลก็ห่างไกลจากภาพบนฝาท่อไปมาก
ข้อเขียนในหนังสือก้มหน้าเที่ยว จึงใช้เวลานับแต่ถ่ายภาพจนเขียนเสร็จเป็นเวลากว่าปี

กลับมาถึงแรงจูงใจในการเขียนสารคดีเรื่องนี้กันอีกรอบ

ฝาท่อระบายน้ำที่ญี่ปุ่นทำเป็นรูปภาพสวยงามแตกต่างกันไปในทุกๆ เมือง จึงอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปไว้ และเมื่อถ่ายมากๆ เข้า ก็เริ่มอยากรู้ว่า เหตุใดจึงเป็นรูปนั้นรูปนี้ ทำไมจึงเป็นรูปเรือถ่อข้ามฟาก ทำไมเป็นรูปดอกบัว ทำไมเป็นรูปประภาคาร ฯลฯ
และความอยากรู้ดังกล่าวโน้มนำให้ค้นคว้าต่อมา จนถึงอดไม่ได้ที่จะสะกิดให้คนอื่นร่วมดูด้วย ดังที่เคยนำภาพมาลงที่นี่ ในหน้า "รายถนนยลพินิจ" ที่แปลรื่นรมย์อยู่คนเดียวว่า
การมองอย่างพิเคราะห์ที่ถนนอัน (มีฝาท่อ) เรียงรายอยู่ หรืออะไรก็ได้ที่ความหมายคล้ายๆ กัน

เมื่อดำริจะเขียนเรื่องนี้ส่งประกวด หน้ารายถนนฯ จึงถูกปิดลงไม่ให้ดูกันง่ายๆ
เพราะเกรงจะขัดกติกาการส่งเข้าประกวด

มาบัดนี้ เรื่องฝาท่อระบายน้ำ อีกฝาท่อน้ำดับเพลิง ก็ได้กลายเป็นหนังสือ สมใจคนเขียนแล้ว จึงจะเปิดหน้ารายถนนฯ ให้ดูกันได้ตามปกติ
อาจหาดูรูปสีสวยงามของฝาท่อ ที่ในหนังสือกลายเป็นภาพขาวดำไปเสียสิ้นได้ ด้วยแน่วแน่ในความเห็นว่า คงจะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นกว่าที่เห็นในหนังสือมากมายไปตามนั้น...

และในวาระที่ได้พิมพ์เป็นเล่ม จึงขอขอบคุณสำนักพิมพ์ รวมทั้งผู้คนในกองบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องทั้งปวงมา ณ ที่นี้

สร้อยสัตตบรรณ
๒๓ พฤศจิกายน ๕๑

หาดูหนังสือได้ที่หน้าข้างล่างนี้

//www.nanmeebooks.com/book/online_cat1_detail.php?bid=2067&isbn=2581-32-9



วงเล็บหมายเหตุไว้เสียหน่อยว่า เนื้อหาโดยย่อที่เขียนไว้ที่หน้าดังกล่าวของสนพ. ไม่ได้เป็นสำนวนของแม่ยุ้ยเจ้าของเรื่อง

อีกอยากจะบอกด้วยกังวานเสียงอันดังกัมปนาทว่า
ไม่ใช่สาวไทยพลัดถิ่น ที่ฟังแล้วเหมือนเป็นคนหนีตายไปอาศัยอยู่ในประเทศใหม่ซึ่งทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นแต่ประการใด
แต่ไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นเพราะมีสามีเป็นชนชาตินั้นๆ ไปอยู่ตามเงื่อนไขแห่งชีวิตที่ตัวเองได้เลือกแล้วด้วยความสมัครใจ

ย้ำอีกครั้งว่า มิได้เป็นผู้พลัดถิ่นหรือสิ้นไร้ไม้ตอกแต่อย่างใด

แม่ยุ้ย




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2551 9:37:33 น.   
Counter : 961 Pageviews.  


ไปรับรางวัลแว่นแก้ว

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม่ยุ้ยได้ไปรับพระราชทานโล่รางวัลและประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ที่ศาลาดุสิดาลัย

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลจากพระหัดุถ์ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สำนักพิมพ์ส่งจดหมายมาและให้ตอบรับด้วยว่าจะไปหรือไม่ อย่างไร
คือจะไปเองที่ศาลาดุสิดาลัย หรือจะไปสมทบเพื่อร่วมกันไป ที่สำนักพิมพ์ซอยสวัสดี (สุขุมวิท๓๑) ก็ตามแต่จะสะดวก
แม่ยุ้ยเลือกอย่างหลัง

ชุดสูทดำที่ใส่คราวไปร่วมงานประกาศผลนายอินทร์อะวอร์ดได้ออกงานอีกครั้ง แต่คราวนี้ใส่กระโปรงดำแทนกางเกงดำ เพราะเข้าวังต้องนุ่งกระโปรง
ผมยาวนั้นเกล้าเรียบร้อย ไม่ให้รุ่งริ่งรุงรัง
บรรยากาศรับปริญญา หวนคืนมานิดๆ คือต้องทำให้เรียบร้อยที่สุด
แม่ยุ้ยระวังให้ถุงน่องเป็นสีเนื้อ และยังหากระเป๋าสีดำไปด้วย

ที่กลัวว่าเขาจะไม่ให้ถือกระเป๋าเข้าไปด้วยนั่นก็หายไป เมื่อเขามีเครื่องแสกนกระเป๋าเหมือนกับในสนามบิน หรือที่ศูนย์สิริกิติ์
และกระเป๋านี้ก็ได้ถือไปเข้าแถวรอรับเสด็จด้วย ไม่ได้ถูกริบไว้ในลอกเกอร์แต่อย่างใด
เมื่อถามเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยสอนและซักซ้อมการเข้ารับ ก็ได้ความว่า
ให้วางไว้ข้างหลังของท่านนั่นแหละ
เราวางกระเป๋าเรียงๆ กันไว้อย่างที่คุณลุงหมอบเฝ้า (ตั้งชื่อให้เสียเลย) บอก

คุณลุงหมอบเฝ้า ยังสอนวิธีเอางานและการถอนสายบัว
แม่ยุ้ยทำได้ดีทั้งการถอนสายบัวและเอางาน เลยช่วยบอกคนข้างหน้าว่า
เวลาถอนสายบัว ให้ถอยเท้าข้างที่ไม่ถนัดไปทางด้านข้าง แทบจะไขว้กับอีกเท้าที่เหลือมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
เพราะจะทำให้เทค บาลานซ์ได้ดีกว่าการถอยเท้าไปเป็นเส้นตรง
อันนี้อาจารย์สอนตอนซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน และยังจำได้แม่นจนถึงวันนี้

แม่ยุ้ยได้รางวัลน่าเอ็นดู คือรางวัลชมเชย
ขอนอกเรื่องนิดว่า รางวัลนี้ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น "รางวัลเอ็นดู" จะน่ารักน่ารับกว่ามากมายนัก...

ในห้าคนที่ไปรับรางวัลฐานะนักเขียน แม่ยุ้ยรับเป็นคนสุดท้าย
เพราะได้รางวัลน่าเอ็นดูดังกล่าว

เราสองคนแม่ลูก คือแม่ยุ้ยและแม่ของแม่ยุ้ยรอดูข่าวในพระราชสำนักตอนสองทุ่ม
ในข่าวช่อง ๓ หลังจากภาพผู้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว
แม่ยุ้ยได้เห็นตัวเองกำลังถอนสายบัว และคุกเข่ารับพระราชทานรางวัล จนกระทั่งหันหลังถอยออกมา
ยังไม่ทันได้ถอนสายบัวครั้งสุดท้าย ภาพข่าวก็เป็นของคณะผู้เข้าเฝ้าฯ ลำดับถัดมา

แม่ยุ้ยชี้บอกคุณยาย (แม่ตัวเอง) ว่า
"แม่... ยุ้ยอยู่นี่ไง"

ระหว่างนั้นก็ไม่วายดีใจว่า ผู้ตัดต่อข่าวของช่อง ๓ อาจจะเห็นว่าแม่ยุ้ยถอนสายบัวและเอางานสวยที่สุดก็เป็นได้...

สร้อยสัตตบรรณ
ในวันรุ่งขึ้นที่กลับจากเมืองไทย
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2551 7:43:45 น.   
Counter : 522 Pageviews.  


หิ่งห้อย

วาดรูปแล้วก็ไม่ออกจากโหมดวาดรูปได้อีกเหมือนกัน คนเรา...

ครูชิโนฮาร่าสอนว่า ให้เอาพู่กันจุ่มน้ำเยอะๆ ละเลงสีเหลืองใสให้เป็นวงกลมวาวๆ ตรงนั้น ตรงโน้น ตรงนี้ ตรงนู้น รอให้แห้ง
แล้วก็วาดใบหญ้า โดยเอาพู่กันจุ่มน้ำก่อนจิ้มสีน้ำเงิน เพราะสมมุติว่าเป็นตอนกลางคืน ใบหญ้าก็ต้องสีหม่นตามสีของราตรีไปดังนั้น
แซมสีเขียวเสียหน่อยก็ได้พอเอาความจริงเข้าแทรก เพราะชีวิตตั้งอยู่บนหลักตรรกะ มีอันนั้นก็ต้องมีอันนี้ มีฉันก็ต้องมีเธอมาอยู่คู่ แม้จะพบกันช้าไปหน่อยก็ตามที... เกี่ยวกันไหมนี่...

เอาสีเมจิกวาดหิ่งห้อย ให้มี ๖ ขา เสริมหนวดพองาม เคราไม่เอา สกปรก...
จิ้มสีส้มปนตรงก้นเขาหน่อย ประมาณไฟแรงสูง ถ้าเว้นช่องให้เห็นสีขาวนิดๆ หน่อยๆ ก็จะดูปีกเขามีมิติขึ้นมาหน่อย ไม่แบนแต๊ดแต๋เป็นสีดำไปทั้งตัวกลายเป็นแมลง(ถูก)ทับ
สัจธรรมข้อนี้วาดรูปที่สิบห้า จึงเพิ่งค้นพบและนึกออก ประมาณเอ็นไลท์เทนเมนท์บังเกิดนั่นเทียว

ไม่ต้องมีฝีมือเลย แต่ต้องมีสีและกระดาษ ระหว่างวาด จะได้สมาธิมั่นๆ คืนกลับมาสู่จิตใจอันว้าวุ่นวังเวง และวกวน เผลอๆ อาจกลายเป็นวิเวกแทน...
เพราะจะมีแต่ภาพวาดแลกระดาษขาวที่อยู่ตรงหน้า
หากจะมีพุทธิปัญญาพวยพุ่งขึ้นมาได้ แม้เพียงแรงเทียนเท่าหิ่งห้อย ๑ ตัว
ก็จะยินดีหาน้อยไม่...

โอ้ ชีวิตคิดไฉน...

กรกุณารี
๒๒ กันยา๕๑


หิ่งห้อย ไม่ใช่แมลงสาบเด้อ


รูปแรกที่วาด แสงหิ่งห้อยเกรงใจเพื่อนด้วยกันมาก ไม่กล้าทอประกาย


หิ่งห้อยเมืองเขาไม่มีต้นลำพูริมน้ำ อาศัยเกาะใบหญ้า ดีไปอีกแบบ
ต้นลำพูท่าจะวาดยาก...


วาดไปสัก ๒๐ รูปก็จะถึงจุดอิ่มตัว เอามาเรียงๆ กันสร้างโลเคชั่นนิยายก็ไม่เลวเหมือนกัน


หิ่งห้อย ฤๅจะแข่งกับแสงจันทร์...
แต่อยากแข่ง...




 

Create Date : 22 กันยายน 2551   
Last Update : 26 กันยายน 2551 6:06:01 น.   
Counter : 2706 Pageviews.  


กรกุณารี่ (อีกครั้ง)

กรกุณารี่ คือกรกุณารี รวมกับแกลเลอรี่ เป็นกรกุณารี่ไปดังนั้น
กลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เลยนั่งวาดรูปทั้งวันไม่ไปไหน
เพื่อรวบรวมสมาธิให้คืนมา แล้วก็ว่าจะเขียนเรื่องต่อไป

ไม่ได้เขียนบล็อกนานๆ ภาษาแข็งๆ ไปแล้วค่ะ และนั่นจึงต้องเขียนรูป เพื่อเรียกสมาธิกลับคืนมาใหม่ ให้จิตว่างๆ เพื่อที่จะเขียนเรื่องใหม่ได้โดยไม่มีเงาของเรื่องที่เพิ่งเกลาต้นฉบับไปหมาดๆ มาปกคลุม
หนังสือเล่มใหม่ออกเมื่อใด แล้วจะมาบอกที่ตรงนี้นะคะ
บอกนิดนึงก็ได้ว่า เป็นหนังสือกึ่งสารคดี
เขียนและดูรูปไปก่อนเพื่อเรียกขวัญของตัวเองคืนมา และเพื่อรังสรรค์งานชิ้นต่อไป ประสาคนอารมณ์อ่อนไหว ประมาณลวดดอกไม้ไหวนั่นเทียว...


เขาเรียกว่าดอกอากาพันซัส


ดอกจริงอยู่นี่


เขาเรียกว่า "โฮสึกิ"


เด็ดออกมาวางเรียงกัน


ของจริงอยู่นี่ อัพแล้วสีตกแฮะ


โฮสึกิ ほおずき


ที่วาดไว้ทั้งหม่ดแต่เช้า


อันนี้วาดตามครู ไม่รู้ดอกอะไร


ดอกไฮเดรนเยีย หรืออาจิไซ (อีกแล้ว) วาดแล้วสบายใจดี
บานช่วงหน้าฝนชุกคือกรกฎา ชอบน้ำนัก น่าเป็นดอกบัวไปรู้แล้วรู้รอด...


วาดเดี่ยวๆ บ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ

กรกุณารี ในวันว้าง
ที่ไม่ใช่วันว่าง...




 

Create Date : 17 กันยายน 2551   
Last Update : 17 กันยายน 2551 21:36:43 น.   
Counter : 1173 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

majoreenu
 
Location :
Chiba Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข้อความในหน้านี้
เป็นของที่เจ้าของสงวน
ห้ามเอาไปไม่บังควร
จงคิดครวญให้จงนาน

อาจโดนตบกะโหลก
เอาหัวโขกเสียบประจาน
เพราะเจ้าของเป็นคนพาล
ทรงเสน่ห์และเล่ห์กล

ฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ
อีกฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ

สร้อยสัตตบรรณ
เจ้าของบล็อก

....................................................

สร้อยสัตตบรรณ หรือกรกุณารี
ก็คนคนเดียวกัน...

ฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯ


ความคิดถึงที่อ่านได้
[Add majoreenu's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com