แม้นานเนาก็ยังห่วงยอดดวงเสน่หา...
 
 

เสวนานักเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด

งานเสวนากับนักเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา จัดขึ้นในตอนบ่ายโมง ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

นอกจากข้าพเจ้า ยังมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนวนิยายของปีที่แล้ว เจ้าของเรื่อง "รังเลือด" คุณสาคร พูลสุข
กับผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเรื่องสั้นร่วมกันในคราวนี้ คือ ภู กระดาษ
และเจ้าของผลงานนวนิยายที่เข้ารอบปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รางวัล ทว่าได้รับการจัดพิมพ์ มาร่วมเสวนาด้วยกัน รวมทั้งสิ้น ๔ คน

ผู้ดำเนินรายการคือ คุณดำรงค์ บุตรดี เคยได้ยินชื่ออยู่ไกลๆ คือเหมือนจะเคยได้ยิน แต่ได้ยินไม่ถนัด อะไรทำนองนั้น
อาจจะเป็นด้วย "ความเป็นคนไกลบ้าน" ของข้าพเจ้าก็เป็นได้ ทำให้ไม่รู้จัก "ใครๆ" ในประเทศนี้นัก

เรียกง่ายๆว่าจับนักเขียนหน้าใหม่มาสัมภาษณ์ความรู้สึก และเบื้องหลังแรงจูงใจในการเขียนเรื่องที่ได้รับรางวัลให้ผู้สนใจได้ฟัง

เวทีเตี้ยๆมีเก้าอี้ตามจำนวนผู้เข้าร่วมเสวนา คือห้าตัว ข้าพเจ้าได้นั่งเป็นคนที่สี่ รายเรียงไปนั้นเป็นผุ้ชายทั้งหมด รวมทั้งคุณดำรงค์ ผู้ดำเนินรายการ นับเป็นเดือนในหมู่ดาวสาวในอ้อมหนุ่มชุ่มชื่นหัวใจเป็นอันมาก...

มีเรื่องล้อกันในหมู่ญาติกลุ่มน้อยๆของเราว่า
วันประกาศผล ข้าพเจ้าสวยที่สุดในหมู่ผู้ที่ได้รับรางวัลเลยทีเดียว
เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวในนั้น...
ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี...

กลับเข้ามาในงานเสวนาใหม่...

แต่ละคนตอบปัญหาที่ผู้ดำเนินรายการถามไปตามนั้น ข้าพเจ้าโดนยิงคำถามว่า จะมีอะไรฝากกับคนที่อยากเป็นนักเขียนบ้าง และเขียนแล้วส่งที่ไหนดี...

ข้าพเจ้านั้นเป็นคนซื่อสนิทนัก แทนที่จะบอกว่าให้ส่งไปนายอินทร์ ข้าพเจ้ากลับตอบไปว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จะส่งที่ไหนดีจนล่วงเลยอายุมาถึงปูนฉะนี้...
กลับญี่ปุ่นมาแล้ว จึงนึกได้ว่า ตอนนั้นก็ต้องตอบไปว่า เขียนเสร็จแล้วก็ต้องส่งมานายอินทร์สิคะ...
ข้าพเจ้ามักจะงงๆกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าเสมอๆ โปรดอภัย

กับคำถามเรื่องอยากจะเป็นนักเขียน ต้องทำอย่างไร
ข้าพเจ้ายืมคำของ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ตอบไปว่า
"อยากเป็นนักเขียน ก็ต้องเขียนค่ะ"

แม้จะเป็นคำยืมมากล่าว แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
เพราะแม้แต่การเขียนบล็อกอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นการฝึกเขียนของข้าพเจ้าโดยแท้...

สร้อยสัตตบรรณ




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 9 กรกฎาคม 2550 7:11:44 น.   
Counter : 397 Pageviews.  


หนังสือเล่มที่สอง

หนังสือเล่มที่สอง ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่า เป็นหนังสือของข้าพเจ้าได้ ด้วยเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียน ๒๐ คน ที่ได้รับคัดเลือกเข้าในรอบสุดท้ายในประเภทเรื่องสั้น ของโครงการนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ ๘ ประจำปี ๒๕๕๐ นี้

เรื่องสั้นที่ข้าพเจ้าส่งชื่อว่า "เพลงชีวิต ๒๕๐๕" ในนามปากกา "สร้อยสัตตบรรณ" ซึ่งเป็นนามแฝงในการเป็นเจ้าของบล็อกแห่งนี้ด้วย

ชื่อหนังสือที่ข้าพเจ้ากำลังกล่าวถึงนั้นคือ "สมภารระดับ๘" ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นดังได้กล่าวถึงความเป็นมาไปข้างต้นนั้นแล้ว

แน่นอนว่า ชื่อหนังสือเป็นไปตามชื่อเรื่องของผู้ชนะเลิศในปีนี้
ส่วนเรื่องของข้าพเจ้านั้น ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ มีเพื่อนร่วมได้รางวัลรองชนะเลิศอีกคนหนึ่ง เธอเป็นผู้ชาย อายุเห็นจะน้อยกว่าข้าพเจ้าสักสองรอบ หรือไม่ใช่ก็ใกล้เคียง

ในวันประกาศผลวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

วันที่มีม็อบที่สนามหลวง...วันที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังร้อนระอุ
ข้าพเจ้าทะเล่อทะล่ามาแต่เมืองไกลคือญี่ปุ่นในคืนก่อนวันประกาศผล และมาถึงงานล่าไปกว่า ๔๐ นาทีซึ่งไม่ใช่ปกติวิสัยของข้าพเจ้านัก
อย่างไรก็ดีมันก็ยังทัน... ขอบคุณโชคชะตาฟ้าลิขิต

เจ้าหน้าที่ต้อนรับนำข้าพเจ้าเข้าไปในห้องคอนเวนชั่นของบริษัทอมรินทร์ฯ ที่กำลังดำเนินพิธีในบรรยากาศขรึมเคร่ง
ข้าพเจ้าเดินตามเธอไปที่เก้าอี้ด้านหน้าสุด มันเว้นว่างไว้ ๑ ตัว ราวกับรอการมาของข้าพเจ้ากระนั้น...

ตัวแทนคณะกรรมการแต่ละประเภทขึ้นไปประกาศผลรางวัลอีก ๔ ประเภท คือวรรณกรรมเยาวชน นิยาย สารคดี หนังสือภาพสำหรับเด็ก
ซึ่งทั้งหมดไม่มีใครได้รับรางวัลในปีนี้

ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กำลังกล่าวถึงผลการตัดสินกลุ่มวรรณกรรมเยาวชน เมื่อข้าพเจ้าเดินไปแทรกตัวนั่งที่ว่างนั้น ได้ยินหางเสียงว่า "อีกแล้วครับทั่น" คือปีนี้ไม่มีผลงานใดเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลเหมือนปีที่แล้ว

ข้าพเจ้านั่งหุบขาเรียบร้อยด้วยนั่งหน้าสุด พื้นที่ตรงหน้าห่างไปสักสามเมตรเห็นจะได้ เป็นโพเดียมมีไฟส่องและดอกไม้ประดับสวยงาม ส่วนจะเป็นดอกอะไรบ้างนั่นสุดวิสัยที่จะจดจำ ด้วยความตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

คนที่นั่งขวามือข้าพเจ้าเป็นผู้ชายสองคน ถัดไปทางด้านซ้ายก็เป็นผู้ชาย... ผู้ชาย... และผู้ชายไปหมดทั้งแถวนั่นทีเดียว
ข้าพเจ้าเหลือบสายตาโดยระวังไม่ให้หน้าหันตามไปด้วย เพื่อหาช่อดอกไม้ที่อกของชายที่นั่งข้างๆ
หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อหาพวก...

พบว่าคนที่นั่งไปทางซ้ายทั้งสองคนนั้นมีดอกไม้กลัดที่หน้าอกทั้งคู่ แต่คนข้างขวาติดๆกันนั้นไม่มี คนขวาต่อไปนั้น มองไม่เห็น... ชะโงกหน้าก็ไม่ได้เพราะนั่งหน้าสุด

ข้าพเจ้าอนุมานคร่าวๆว่า สองคนซ้ายนี่คงจะเป็นผู้ได้รับรางวัลเหมือนข้าพเจ้าแน่ ไม่อันใดก็อันใด...

เสียง "ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ" กวีซีไรต์ที่เป็นตัวแทนคณะกรรมการตัดสินผลงานประเภทกวีนิพนธ์ กล่าวเฉลิมความงดงามของผลงาน "มหาชเล" ของ "วรภ วรภา" ให้ได้เถลิงรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ ๘ นี้อยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า
หลังจากนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่า ชายคนที่นั่งถัดไปคนที่สองจากข้าพเจ้าคนริมสุดขวามือนั่น คือ "วรภ วรภา" กวีมือรางวัล
เขากลัดทั้งดอกไม้ที่อก และผ้าคล้องคออันแสดงความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ของผู้มาร่วมงานในวันนี้

ในตอนหลังข้าพเจ้ากล่าวยิ้มๆเมื่อขึ้นไปยืนที่โพเดียม และหยอกคุณวรภ ว่า
"หากคุณวรภว่ามาไกลจากสตูลแล้ว ดิฉันมาไกลกว่า คือมาจากญี่ปุ่น ถึงเมืองไทยเมื่อคืนนี้"
เธอยิ้มกว้างขวางรับคำสัพยอกของเด็กเมื่อวานซืนเช่นข้าพเจ้า ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง

อาจารย์ฐนธัช กองทอง ตัวแทนคณะกรรมการตัดสินเรื่องสั้น มองตรงมาที่ข้าพเจ้าด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรีเมื่ออาจารย์กล่าวถึง "เพลงชีวิต ๒๕๐๕" ว่า

"............เพลงชีวิตของตัวละครในเรื่อง มิใช่เพียงเพลงชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านพ้นเท่านั้น หากยังเป็นเพลงชีวิตของสังคมที่ผ่านเลยด้วย ภายใต้ภาษาที่คัดสรรมาใช้อย่างงดงาม จึงเสนอให้เห็นถึงนัยของสังคมและชีวิตได้อย่างน่าสนใจยิ่ง"

ข้าพเจ้าทันได้เห็นสายตาที่มองตรงมาอย่างชื่นชมไม่ปิดบังจากอาจารย์ผู้เป็นตัวแทนคณะกรรมการตัดสินได้

เมื่อมีการถ่ายรูปร่วมกันกับคณะกรรมการตัดสิน และบุคลากรโครงการ รวมทั้งคุณเมตตา อุทกะพันธุ์และคุณระริน อุทกะพันธุ์ แล้ว ข้าพเจ้าได้รับการทักทายจาก "พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล" "นิเวศน์ กันไทยราษฎร์" "องอาจ จิระอร" และกรรมการท่านอื่นๆที่เข้ามาแสดงความยินดีด้วย
นับเป็นโอกาสที่ได้ทอดมาให้อย่างมิอาจลืมเลือนได้

ขอขอบพระคุณ "โอกาส" ไว้ ณ ที่นี้ด้วยระลึกรู้แน่วแน่

ฝาก "เพลงชีวิต ๒๕๐๕" ในหนังสือรวมเรื่องสั้นโครงการนายอินทร์อะวอร์ดที่ชื่อว่า "สมภารระดับ ๘" ไว้ในแหล่งหล้า...

สร้อยสัตตบรรณ

อ่าน ประกาศผลพิจารณาเรื่องสั้นของโครงการนายอินทร์อะวอร์ด ได้ที่หน้านี้

หน้าตาหนังสือดังกล่าว ที่หน้านี้

ดูผลรางวัลนายอินทร์ได้ที่หน้านี้

ประกาศผลรางวัล "นายอินทร์อะวอร์ด" ครั้งที่ ๘ ประจำปี ๒๕๕๐ หน้านี้





 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2550 5:18:42 น.   
Counter : 656 Pageviews.  


ลำนำ กับ กลอนแปด

เป็นสุขสนุกสบายอยู่ดอกหรือเจ้า
แม้นานเนาก็ยังห่วงยอดดวงเสน่หา
พ่อคิดถึง...เจ้าดวงแก้วตา
มาเถิดมา...ซบเพลานอนอย่าร้อนใจ...

นั่นเป็นลำนำที่ข้าพเจ้าแต่งขึ้น ไม่ได้ปรารถนาให้เป็นกลอนแปด
จึงไม่ได้ฝืนให้มีฉันทัลักษณ์ให้เป็นไปตามนั้น
ไม่จำเป็นเลยที่เมื่อเวลาพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ จะต้องจงใจเว้นวรรค สาม สอง สาม

"ลำนำ" ที่ว่า จะมีจังหวะเนิบนาบคล้ายๆการรำพึงให้สวยงาม ไม่ประสงค์จังหวะบังคับเหมือนกลอนแปดที่เป็นจังหวะแบบแผน
ข้าพเจ้ากำหนดจังหวะอารมณ์ของตัวละครให้เป็นดังลำนำที่เขียน
แม้จะมีคำสัมผัสบ้าง ก็เพื่อความไพเราะในถ้อยคำเท่านั้น

ข้าพเจ้าขออนุญาตตัดพ้อค่อยๆ ที่นี้
ว่าอยากให้ถือต้นฉบับเป็นสำคัญ

ข้าพเจ้าทำผิดหรือเปล่านี่...

กรกุณารี




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2550 4:51:33 น.   
Counter : 454 Pageviews.  


อันว่าด้วยเรื่องคำนำ

ที่ปกด้านในของหนังสือ เขียนว่า "พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ"

ตามที่ได้ค้นมาทั้งหลักฐานในภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น ยามาดะ นางามาสะ มาอยุธยาในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรม คือในราวปีค.ศ.1610 หรือพ.ศ.2153
คือในห้วงเวลานั้น อาจจะขึ้นลงไม่น่าจะนานจนเลยไปถึงรัชสมัยพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถได้
และเขาได้ตายในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

ข้าพเจ้าใช้คำเรียกพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมเมื่อสวรรคตแล้วว่า
"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"
ซึ่งเป็นการเรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตแล้วแต่ยังมิได้ถวายพระเพลิง ยังอยู่ในพระโกศอยู่ จึงเรียกเช่นนั้น

กระไรเลย สำนักพิมพ์ได้ตัดคำว่า "ใน" ออก และเขียนเป็นพระเจ้าอยู่ห้วบรมโกศไปเสียได้
ทำให้ "คำนำ" หรือ "คำแนะนำ" นิยายเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนผิดไปอย่างให้อภัยไม่ได้เลย

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น ทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวสมัยอยุธยาตอนปลาย ห่างจากเหตุการณ์นายยามาดะมากรุงศรีถึงกว่า150 ปี
ทรงครองราชย์ก่อนหน้าจะเสียกรุงไม่นาน คือทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าเอกทัศ

ข้าพเจ้ากลัดกลุ้มเป็นอย่างมากเมื่อเห็นคำแนะนำหนังสือเช่นนั้น แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไร

จึงขอเขียนไว้ตรงนี้ เพื่อขอบอกว่า

ข้อมูลที่ข้าพเจ้าเพียรค้นคว้าเพื่อเทียบเคียงก่อนจะเขียนออกมาเป็นนิยายหนาสองร้อยแผ่นนั่น
เป็นข้อมูลที่ข้าพเจ้านับถือว่าไม่บิดพลิ้วไปจากหลักฐานที่ปรากฎ สามารถสืบอ้างได้
อย่าเปลี่ยนมันได้ไหม...


ตามหลักฐานในภาษาญี่ปุ่น เรียกพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมว่า
"ทรงธรรมโอ" สอดรับกับหลักฐานทางฝั่งเราตามนั้น
ข้าพเจ้าสืบค้นจากหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม และเว็บไซต์หลายเว็บ
ได้พบข้อมูลเป็นประโยชน์มากจากเว็บนครศรีธรรมราช ซึ่งบันทึกไว้กระทั่งเพลงกล่อมเด็ก ที่กล่าวพาดพิงถึงความโหดร้ายของชาวญี่ปุ่นไว้ในเนื้อเพลง
ทำให้พอจะนึกจินตนาการบรรยากาศและเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นได้ตามแต่สติปัญญาจะชักนำไป

การมีบรรณาธิการเพื่อตรวจเรื่องก่อนตีพิมพ์นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
และที่สำคัญไปกว่านั้น ต้องมีบรรณาธิการที่รู้ หรือค้นเพื่อให้รู้กว่านักเขียนด้วย

นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะสื่อในวันนี้...
และนี่ไม่ใช่ความอหังการ์แต่ประการใด...

กรกุณารี




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 5 กรกฎาคม 2550 5:44:43 น.   
Counter : 458 Pageviews.  


หนังสือเล่มแรก ตอนที่๒

วันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเมื่อต้องรออะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอผลการตัดสิน
กำหนดการประกาศผลคือเดือนเมษายน ๔๙ ถูกเลื่อนออกไปอีกครึ่งปีเมื่องานสัปดาห์หนังสือเริ่มขึ้นในวันนั้น เหตุผลที่สอดรับได้อย่างดีคือ "บ้านเมืองไม่สงบ" มีการต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลอย่างดุเดือดเข้มข้นในห้วงเวลานั้น

ความหวังที่รอคอยมาถึงสี่เดือนริบหรี่ลงเหมือนแสงไฟที่มอดฟืน
ยังจำความผิดหวังในวันที่อ่านประกาศเลื่อนได้อย่างดี พร้อมกันนั้นก็ได้ระลึกรู้ถึงความจริงข้อที่ว่า สถานการณ์ทางบ้านเมืองเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะเอื้อให้รังสรรค์ศิลปะได้

นับเป็นประโยชน์ต่อความคิดอ่านและเอื้อให้มีมุมมองที่กว้างขึ้นอีกมุมหนึ่ง
แม้ว่าจะไม่น่ารื่นรมย์นัก...

เกาะติดโฮมเพจของสำนักพิมพ์ดังกล่าวราวใบ้บ้า เหตุผลเพียงเพื่อรู้ความเป็นไปของการตัดสิน
ใจคนที่รอนั้นร้อนรนเพียงใด ใจคนที่ประสบเท่านั้นจะรู้ได้
มันร้อนรุ่มและลุกลน... ไม่สามารถรังสรรค์งานเขียนใดๆได้อย่างมีสมาธิได้เลยในระหว่างนั้น
หรือหากจะได้ มันก็น้อยชิ้นเต็มที
เวทีประกวด ช่างเต็มไปด้วยความเร่าร้อนเช่นนี้เสมอหรือ...

ต้นเดือนกรกฎาคม ๔๙ หนังสือ ๕ เล่มแรกได้รับการประกาศผลบนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ดังกล่าว ยังจำความรู้สึกผิดหวังเล็กๆและคำปลอบใจตัวเองได้เมื่อไม่เห็นชื่อ "ออกญา" ปรากฎ
บอกกับตัวเองว่า "รอบต่อไป" คงประกาศ

๒๐วันหลังจากนั้น กลับมาจากช่วยงานโรงเรียนลูกพบว่า "ออกญา" เข้ารอบในตอนดึก บอกสามีและลูกสองคน ทุกคนดีใจด้วย
แปลกใจตัวเองว่า ไม่ยักดีใจมากเท่ากับที่นึกว่าตัวเองจะเป็น...
การรอคอยอันเนิ่นนาน ทำให้หัวใจเย็นชาชืดเฉยไปเสียแล้วหรืออย่างไร...

ห้าเล่มแรกที่บรรณาธิการเลือกจัดพิมพ์

ต้นเดือนตุลาคม "ออกญา" ได้โฆษณาอยู่ในหน้าแรกของโฮมเพจสำนักพิมพ์ และอยู่อย่างนั้นเนิ่นนานเป็นเวลาเกือบครึ่งปี
ที่สำคัญ ได้อยู่เป็นเล่มแรกในหน้านั้นและในจำนวน ๒๐ เล่มที่เข้ารอบตลอดมา...
ความภูมิใจระคนปนคละกับความดีใจที่ได้รับการยอมรับในงานที่รังสรรค์ขึ้น เรียกให้ไปดูหน้านั้นอยู่เกือบทุกวันเหมือนดังต้องมนต์

ได้มารู้เมื่ออ่านข่าวที่บรรณาธิการให้สัมภาษณ์ในตอนหลังว่า
เป็นเรื่องที่บรรณาธิการ "คิด" ว่าน่าจะได้เข้ารอบหนึ่งในห้าเล่มของรอบตัดสิน
อดยินดีมิได้ แม้ว่าผลที่ปรากฎจะไม่เป็นดังนั้น...

สัญญาถูกส่งมาให้เซ็นทางไปรษณีย์หลังจากที่ส่งมาทางเมลให้อ่านแล้วรอบหนึ่ง

สาระสำคัญของสัญญาเช่าลิขสิทธิ์
บอกไว้ว่า
ห้ามใช้นามปากกา "กรกุณารี" เขียน "นิยาย" ส่งสำนักพิมพ์อื่นเป็นระยะเวลาห้าปี...
ระลึกรู้ในบุญคุณที่จัดพิมพ์ให้ และ "โอกาส" ที่มอบมาแม้จะอดน้อยใจนิดๆไม่ได้...

คนที่เข้ารอบอีก ๑๙ คนเขาจะเป็นอย่างไรบ้างหนอ
นึกพลางก็เซ็นสัญญาตอบเขาไป เพราะเป็นคนง่ายๆอย่างนี้เสมอ อะลุ้มอล่วย คอมโพรไมซ์ ประนีประนอม อ่อนโยน ประมาณนางเอกเรื่องที่ตัวเองเขียนนั่นเทียว...

หน้าปกนิยายเป็นซามุไรหน้าตาขำคม แม้คิ้วจะห่างจากเปลือกตาน้อยไปหน่อยก็เถอะ...
เมื่อเห็นหน้าเขาครั้งแรกในเน็ตนั้น เห็นเหมาะเจาะจับจิตเสียจนแทบจะขอเข้าไปกราบที่อกคนวาดรูปนั้นงามๆสักสามครั้ง ด้วยระลึกในพระคุณ...

แล้ว "ออกญา" ก็วางแผงครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเดือนตุลาคม ๔๙ ในขณะที่ภาวะการเมืองกำลังร้อนระอุ

"ออกญาเสนาภิมุข" มักจะถึงเมืองไทยในยามบ้านเมืองมี "สงครามการเมือง" อยู่ทุกครั้ง... ไม่ว่าจะเป็นตัวตนจริงๆ หรือ เป็นตัวละครในหนังสือ


กรกุณารี

ตอนต่อไป "อันว่าด้วยเรื่องคำนำ"




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 8 กรกฎาคม 2550 16:51:52 น.   
Counter : 904 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

majoreenu
 
Location :
Chiba Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข้อความในหน้านี้
เป็นของที่เจ้าของสงวน
ห้ามเอาไปไม่บังควร
จงคิดครวญให้จงนาน

อาจโดนตบกะโหลก
เอาหัวโขกเสียบประจาน
เพราะเจ้าของเป็นคนพาล
ทรงเสน่ห์และเล่ห์กล

ฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ
อีกฮุ ๆ ฮุ ๆ ๆ

สร้อยสัตตบรรณ
เจ้าของบล็อก

....................................................

สร้อยสัตตบรรณ หรือกรกุณารี
ก็คนคนเดียวกัน...

ฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯฯ


ความคิดถึงที่อ่านได้
[Add majoreenu's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com