bloggang.com mainmenu search




วัดคฤหบดี
__________________________


กิจกรรมดี ๆ
(ฟรี) จากกรมการศาสนา

เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันที่  ๒๐  พฤษภาคม  ๒๕๕๙

มีสองเส้นทาง คือทางบก - รถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. และทางเรือ - เรือด่วนเจ้าพระยา

ทางบก ขึ้นรถที่สนามหลวง, ทางเรือ ไปท่าเรือตามเส้นทางที่แวะวัด และท่ามหาราช




  ต่อจากตอนที่แล้วเลยนะคะ จากแผนผัง วัดต่อไป เราจะไปวัดคฤหบดีค่ะ




สะพานพระราม ๘




พระบรมรูป รัชกาลที่ ๘  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล




สะพานพระราม ๘ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

พระองค์มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก ๑ แห่ง

เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี

และเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ

สะพานพระราม ๘ จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น

ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง ๓๐% และบนสะพานกรุงธน อีก 20%

และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๗.๐๐ น.

อ่านเพิ่มเติมที่วิกิพีเดียค่ะ










๑๒.๒๕ น. วันที่ ๒๐ พฤษภาคม  ๒๕๕๙



วังบางขุนพรหม พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย







วัดเทวราชกุญชรค่ะ วัดต่อไปที่เราจะไปกัน







ขึ้นจากเรือแล้วค่ะ



วัดคฤหบดี


เป็นวัดที่พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล "ภมรมนตรี" เป็นผู้สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทาน พระแซกคำ ไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถด้วย

แต่เดิมนั้นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) มีบ้านอยู่ริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือบ้านปูน ตำบลบางพลัด (แขวงบางยี่ขันปัจจุบัน)

ได้ถวายตัวเข้ารับราชการตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งยังทรงกรมเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ (บ้านเดิมคือ บริเวณวัดคฤหบดีทุกวันนี้)

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดตั้งนายภู่จางวาง

เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นว่าการพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

พระราชทานบ้านที่พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของท่าพระ (ท่าช้างวังหลัง)

ให้พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ได้อยู่อาศัยใหม่ พระยาราชมนตรีบริรักษ์ จึงได้ยกบ้านเดิมของท่านให้สร้างเป็นวัด

และนำความน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

พร้อมกับพระราชทานนามว่า "วัดคฤหบดี" และได้พระราชทานพระแซกคำไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดคฤหบดีครั้งใหญ่

ทำให้อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีสภาพถาวรมั่นคง เป็นที่พอพระราชหฤทัย

และได้ทรงพระราชทานตราประจำรัชกาลพระองค์ท่านประดิษฐานไว้จนกระทั่งบัดนี้







จุดธูปไหว้พระพุทธรูปแซกคำ ด้านนอกพระอุโบสถ



พระอุโบสถ



พระแซกคำ




หลวงพ่อแซกคำ หรือ พระแซกคำ เป็นพระพุทธรูปประธาน ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดคฤหบดี

หลวงพ่อแซกคำ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองนพคุณ หรือทองคำโบราณ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยเชียงแสนยุคปลาย

หน้าตักกว้าง ๑๘ นิ้ว ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เป็นพระพุทธรูปทองคำโบราณ สร้างขึ้นประมาณระหว่าง พ.ศ. ๑๗๐๐ - ๑๘๐๐

        เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่กับพระแก้วมรกต ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๖๙     

        ในสมัยนั้นพระยาราชสุภาวดี (เจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพเสร็จจากศึกปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว

ได้ยึดทรัพย์สมบัติกลับเข้ากรุงเทพฯ มากมาย รวมทั้งพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระแซกคำ

        เมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ พระญาณรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดคฤหบดี ในขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมาภิรมย์

ได้ปรารภถึงหลวงพ่อแซกคำว่า เป็นพระพุทธรูปมาจากเวียงจันทน์ มีอายุราว ๙๐๐ ปี

ในสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงสมัยพระนางจามเทวีสร้างเมืองหริภุญชัย

        ทั้งนี้ พระนางจามเทวี พระธิดาของกษัตริย์แห่งอาณาจักรลาวปุระ ได้ไปปกครองเมืองหริภุญชัย

จากการที่ห่างบ้านเมืองมาทำให้พระนางรำลึกถึงพระคุณพระชนกชนนี

พระนางจึงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ พระเสริม พระสุก พระใส

        รุ่งขึ้นเช้า พระนางเสด็จมายังมณฑลพิธี เพื่อทรงเปิดงานสมโภชขณะกำลังนมัสการพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์อยู่นั้น

พลันปรากฏพระพุทธรูปทององค์หนึ่งลอยมาจากอากาศลงมายังบริเวณมณฑลพิธีเข้าประดิษฐานแทรกอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์

        พระพุทธรูปทององค์นี้ถูกต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะและสวยงามมาก เมื่อมาแสดงปาฏิหาริย์ปรากฏต่อพระพักตร์

พระนางจามเทวีและประชาชนทั้งหลาย ณ มหาสโมสรนั้น พระนางก็ทรงโสมนัสให้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์

        ด้วยเหตุที่พระพุทธรูปที่ลอยมาจากเบื้องนภากาศ และเข้าประดิษฐานแทรกอยู่กลางพระพุทธรูปอีก ๓ องค์

จึงพระราชทานนามว่า "พระแซก" แต่เนื่องจากเป็นทอง จึงมีชื่อต่อว่า คำ เป็น "พระแซกคำ" ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ตลอดมา

        พระแซกคำ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่เคารพบูชา และเป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต

เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากนครเชียงใหญ่ กลับไปยังล้านช้างซึ่งตรงกับช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา

ทรงประดิษฐานพระแก้วมรกต ไว้คู่กับพระแซกคำองค์นี้ ต่อมาเมื่อทรงย้ายราชธานีจากหลวงพระบางลงมายังเวียงจันทน์

ก็โปรดให้เชิญพระแก้วมรกต พระบางและพระแซกคำ ลงไปประดิษฐาน ณ ราชธานีใหม่ด้วย พระแซกคำจึงนับเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่ง

        ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปทำศึกเวียงจันทน์

ได้อัญเชิญพระแซกคำ กลับมาถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ฐานชุกชีที่วัดอรุณราชวราราม

ต่อมา พระยาราชมนตรี (ภู่) ต้นสกุล ภมรมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารเก่าแก่ มาตั้งแต่ครั้งยังทรงกรม สร้างวัดคฤหบดีขึ้นน้อมถวาย

เป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระแซกคำไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

พระแซกคำ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใส มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนก็มักไปกราบไหว้บนบาน

ของที่นิยมถวาย ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบเนื้อ ปลาร้า ไข่เป็ด ๑๐๐ ฟอง พวงมาลัยและทองคำเปลว

ส่วนมหรสพที่ถวายมักเป็นละครชาตรี หมอลำ หรือแอ่วลาว

//atimetraveller.com/story/7









สถาปัตยกรรมของพระอุโบสถ แบบพระราชนิยม หลังคาลด ๒ ชั้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ และเครื่องถ้วยชาม

ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปดอกพุดตาน บานประตูหน้าต่างด้านในเขียนลายต้นไม้ และดอกไม้แบบจีน



พระวิหารมีลักษณะเหมือนพระอุโบสถ



พระราชานุสาวรีย์ พระนางจามเทวี







ไม่มีข้อมูลพระวิหารเลยค่ะ

















พระอุโบสถ



หลวงพ่อโต





พระบรมธาตุเจดีย์



พระบรมธาตุเจดีย์

 พระบรมธาตุเจดีย์วัดคฤหบดี สร้างแบบเรียบง่ายตามคติพระสถูปที่พุทธคยา

บนยอดเป็นรูปจำลองของผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยจารึก

เจดีย์นี้สูง ๒๑ เมตร จะเห็นเด่นชัดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 ได้มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระบรมธาตุเจดีย์ ในวันจันทร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๐๐ น.

โดยมี พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดคฤหบดี เป็นองค์ประธานฝ่ายพระสงฆ์

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. (ขณะนั้น) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

พร้อมด้วยคณะ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ม.ล.อนงค์ ชุมสาย นิลอุล

และนายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)


ประวัติความเป็นมาพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ.๑๘๙๘) ชาวอังกฤษได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในผอบที่เมืองกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยจารึกบนผอบเป็นตัวอักษรพราหมณ์

ระบุว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยะ

ถือว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพบแห่งเดียวในโลกที่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างแน่ชัด

ปรากฏว่ามีพระไทยองค์หนึ่งซึ่งทรงผนวชอยู่ที่ศรีลังกา คือ พระชินวรวงศ์ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์)

เสด็จธุดงค์ไปในที่เกิดเหตุขณะนั้น จึงได้ทรงติดต่ออุปราชอินเดีย ขอให้ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

ซึ่งรัฐบาลอังกฤษก็ได้ดำเนินการตามนั้นในเวลาต่อมา พระบรมสารีริกธาตุซึ่งมีลักษณะเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ ๆ ที่ถูกเผาไม่หมด

ถูกอัญเชิญไว้บนภูเขาทอง ณ กรุงเทพ ในครั้งนั้นพระบามสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุ

พระราชทานให้ประเทศญี่ปุ่นและชาวพุทธในประเทศอื่น ๆ รวมถึงศรีลังกา

 นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งเป็นองค์ (ชิ้น ๆ) เล็ก ๆ ซึ่งตระกูล "สุขุม" เก็บรักษาไว้ อาจเป็นด้วยพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดเกล้าฯ

ให้เจ้าพระยายมราชเป็นทูตพิเศษออกไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียแห่กลับมากรุงเทพฯ

และพระราชทานองค์ดังกล่าวให้ครั้งนั้น ปัจจุบัน บรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี

 ในส่วนของวัดนครโคลัมโบ ซึ่งมีเพียงองค์เล็ก ๆ เช่นเดียวกัน เจ้าอาวาสของทั้งสองวัดนี้ได้มอบองค์หนึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ซึ่งปัจจุบันสถิตไว้บนห้องพระที่พระตำหนักวังบางขุนพรหม ฝั่งตรงข้ามกับวัดคฤหบดี

กับอีกองค์หนึ่งได้มอบให้ ม.ล.อนงค์ (ชุมสาย) นิลอุบล คือองค์ที่อัญเชิญมาบรรจุในพระบรมธาตุเจดีย์วัดคฤหบดี

//www.komchadluek.net/news/detail/96096





ฝั่งตรงข้าม - วัดเทวราชกุญชร



๑๒.๕๕ น. มารอเรือที่ท่าน้ำ





บ้านเรือนริมน้ำเจ้าพระยา



๑๒.๕๗ น. เรือรอบต่อไป มาแล้วค่ะ



ผู้โดยสารในเรือขึ้นมาไหว้พระที่วัดคฤหบดี ส่วนที่รอที่ท่าเรือ ก็ขึ้นเรือไปต่อวัดเทวราชกุญชร



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี



จากในเรือมองกลับไป สะพานพระราม ๘ และพระบรมธาตุเจดีย์







ท่าเรือเทเวศร์



ศาลาที่เค้ามาปล่อยปลา เลี้ยงปลากัน





ต่อตอนหน้าค่ะ




Create Date :14 พฤศจิกายน 2559 Last Update :14 พฤศจิกายน 2559 21:05:41 น. Counter : 4802 Pageviews. Comments :35