bloggang.com mainmenu search

ทัวร์ไหว้พระ ๙ วัด ตอนที่ ๖ htmlentities(' >')>> วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร

สวัสดีวันจันทร์ค่ะ อย่างที่บอกนะคะ ช่วงนี้ลูกปิดเทอม หัวฟูมากค่ะ ยังพออัพบล็อกในวันเวลาเดิมได้อยู่ แต่แวะไปหาช้าหน่อยนะคะ ทัวร์ไหว้พระ ๙ วัด จากดีลเอ็นโซโก้ ซื้อ ๑ แถม ๑ ทริปนี้ ตั้งแต่วันที่่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ต่อเลย...วัดที่ ๕ ค่ะ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร

วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ท้องที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐ มีเนื้อที่ยาวประมาณ ๖ เส้น กว้างยาว ๔ เส้น มีคลองและคูเป็นที่หมายเขต เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร

ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วไปประหารชีวิต ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ เก๋งด้านหน้า วิหาร กำแพงแก้ว และอื่นๆ และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม

นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องป่าช้าขึ้น คือ เมรุ สร้างหอสวดมนต์ หอทิ้งทาน โรงโขน โรงหุ่น ระทา และพลับพลา โรงครัว พร้อมทุกอย่าง ถวายเป็นของพระบรมมหาราชวัง สำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพอีกส่วนหนึ่ง ต่อมารัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ขยายเขตของวัดให้กว้างออกไปกว่าของเดิม แล้วโปรดฯ ให้สร้างกุฏิตึกขึ้นหมู่หนึ่ง ๖ หลัง มีหอฉัน อยู่กลางและมีหอเล็กติดกับกำแพง ๒ หอ พร้อมทั้งหอระฆัง หอไตร และสร้างกุฏิฝากระดาน ศาลาการเปรียญเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก ยุคนี้พระอารามเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

อ่านต่อเว็บวัด คลิกเลยค่ะ







ผ่านวัดอรุณ เมื่อตอนที่แล้ว ถัดมา... ๐๙.๕๘ น. ผ่านวัดระฆังโฆษิตาราม





๑๐.๕๗ น. รพ.ศิริราช









พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ยังไม่ได้ไปซักที





พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ยังไม่ได้ไปอีกเหมือนกันค่ะ





๑๑.๑๙ น. เรือจอดที่ท่านี้





แวะอ่านหน่อยเนาะ





เห็นแต่ลูกกะตา (หรือจะโดนขัง)









มีที่จอดรถพอสมควร แต่เรามาทางเรือ สะดวกกว่า








สวยตั้งแต่ประตูทางเข้าเลย




พระอุโบสถ

เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุข ๓ ชั้น มีมุมยื่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ติดกระเบื้องเคลือบสีทอง หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑ ประดับอยู่ในซุ้ม ลงรักปิดทอง ที่มุขทัั้งด้านหน้าและด้านหลังมีเสามุขรองรับ รอบบริเวณมุขในระดับเดียวกับเสาก่อกำแพงเตี้ยๆ เป็นระเบียง ประตูเข้าพระอุโบสถด้านหน้ามี ๓ ช่อง ด้านหลัง ๒ ช่อง ประตูบานกลางด้านหน้าทำซุ้มเป็นยอดเจดีย์ ประตูด้านข้างทั้ง ๒ ประตู ทำซุ้มเรือนแก้ว หน้าต่างประดับซุ้มด้านละ ๕ ช่อง บานประตูด้านนอกทำลายรดน้ำ พุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ทรงพุ่มตัวเทศ บานประตูด้านในเป็นลายเขียนสี รูปเซี่ยวกางเหยียบสัตว์























หน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ มีตุ๊กตาจีน




พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สูง ๘ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๑ คืบ ไม่ปรากฏพระนามแต่แรก ชาวบ้านเรียกขานว่า “พระศาสดา” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏเรื่องราว แต่พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปเห็นว่า เป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี (วัดสุทัศน์) จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเชิญมาแต่สุโขทัย เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑













ภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เป็นที่ยกย่องกันว่าฝีมือเป็นเยี่ยม เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ผนังชั้นล่างระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพทศชาติชาดก โดยจิตรกรที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นที่สำคัญ คือหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และหลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) จิตรกรทั้ง ๒ ท่านนี้ เคยเขียนภาพมาแล้วที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แต่ถูกไฟไหม้ไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามนี้ ทั้งหลวงวิจิตรเจษฎาและหลวงเสนีบริรักษ์ เขียนภาพที่ผนังด้านทิศตะวันตก หลวงวิจิตรเจษฎาเขียนเรื่องเนมิราช หลวงเสนีบริรักษ์เขียนเรื่องมโหสถ






คุณ ปลาทอง สมองน้อย เคยอัพบล็อกเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดนี้ไปแล้ว ไปชมกันได้ค่ะ





ฝาผนังด้านซ้ายพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติ





เหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม









ผนังด้านหน้าพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และตอนประสูติ





เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพมารผจญ ที่เรียกร้องให้พระพุทธองค์ลงจากบัลลังก์ แต่พระพุทธเจ้าปฏิเสธ และมีภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นพยาน





ผนังด้านหลังพระประธานระหว่างช่องประตูเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก

เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนเปิดโลก พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ และทรงเปิดโลกสวรรค์ มนุษย์ และนรก





ส่วนผนังด้านขวาพระประธานระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกต่อไปจนครบ ๑๓ กัณฑ์





เพดานเขียนลายทองมีดาวประดับ สวยงามยิ่งนัก ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสยามก็ว่าได้





บานประตูด้านในเป็นลายเขียนสี รูปเซี่ยวกางเหยียบสัตว์





น่าจะใช่ เรื่องสุวรรณสามชาดก นะคะ





ประตูบานกลางด้านหน้าทำซุ้มเป็นยอดเจดีย์ ประตูด้านข้างทั้ง ๒ ประตู ทำซุ้มเรือนแก้ว





เก็บไม่หมดค่ะ มุมแคบมาก





หมอกมาด้วย...น่าจะมีภาพเดียวค่ะ / เหนือประตูด้านข้าง ๒ ข้างที่เป็นซุ้มเรือนแก้ว





เครื่องแขวน ?




พระวิหาร

เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาชั้นเดียว มุงกระเบื้องเคลือบสี มีมุขขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ติดกระเบื้องเคลือบสีทอง หน้าบันเป็นรูปเทพพนม ปิดทอง











ภายในมีพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาก่อปูนหุ้มปิดทอง เป็นพระปางสมาธิ สูงตลอดพระรัศมี ๔ ศอก ๑ คือ ๙ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๙ นิ้ว





เบื้องหน้าพระประธาน เป็นพระอัครสาวก ๒ องค์ ยืนพนมมือ หันหน้าเข้าหาพระประธาน ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปทรงทรงเครื่องอีก ๒ องค์





ด้านหน้าพระวิหาร เป็นที่ตั้งของเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต พระโอรสในรัชกาลที่ ๑)





๑๑.๔๐ น. ไปต่อวัดที่ ๖ ตอนหน้าค่ะ




Create Date :10 มีนาคม 2557 Last Update :10 มีนาคม 2557 5:25:05 น. Counter : 7170 Pageviews. Comments :43