bloggang.com mainmenu search

วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร (๒)

ต่อตอนที่ ๒ ค่ะ

วัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือ วัดพิชัยญาติ ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ บริเวณที่เดิมเรียกว่าวงเวียนเล็ก ในแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศศรีลังกา เพื่อนำมาประดิษฐาน ณ ลานพระปรางค์ วัดพิชยญาติการาม ให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สักการะ และสวดมนต์บทอุปปาตะสันติคาถาบูชาพระพุทธเจ้าในวันสำคัญทางศาสนาและทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์

ทุกๆ ปี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์และชุมชุนฝั่งธนบุรี ได้จัดให้มีการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ โดยจัดขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุรพมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย



อ่านเพิ่มเติมเว็บของวัด คลิกเลยค่ะ








พานดอกไม้ ธูป เทียน บูชา พระบรมสารีริกธาตุ








พระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา





ด้านหน้าซ้ายมือ ทางขึ้นพระปรางค์ค่ะ










พระปรางค์ วัดพิชยญาติการาม หรือ "พุทธปรางค์" พระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัลป์ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว ๔ พระองค์ กับอนาคตพระพุทธเจ้าอีก ๑ พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย

ส่วนล่าง ปรางค์ทั้ง ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ประกอบด้วยชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ๑ ชุด รองรับลานประทักษิณซึ่งสามารถเดินได้รอบปรางค์ทั้ง ๓ องค์








ส่วนกลาง เหนือลานประทักษิณขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุ ที่ทำเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ๑ ฐาน รองรับด้วยอาคารจัตุรมุขอยู่ในผังเพิ่มมุมและยกเก็จเพื่อรับมุขที่มีประตูทั้ง ๔ ด้าน เหนือฐานบัว ประกอบด้วยชั้นยักษ์แบก ๑ ชั้น ที่เสาประดับผนัง และเสาประดับกรอบประตู ส่วนล่างประดับด้วยลาย "กาบพรหมศร" และส่วนบัวหัวเสาประดับด้วย "กาบบน" ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังคาจัตุรมุขทำซ้อนกัน ๓ ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป เป็นหลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้องประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ (ลักษณะผสมระหว่างปากเป็นนก และหงอนเป็นนาค บางครั้งเรียกว่า "นกเจ่า") ภายในกรอบหน้าบันประดับลวดลายพรรณพฤกษา มีชั้นเทพนม ๑ แถว รองรับส่วนหน้าบันทั้งหมด

ส่วนยอด คือส่วนปรางค์หรือปราสาทเหนือหลังคาจัตุรมุขประกอบด้วยชั้นฐานยักษ์แบกสลับกับชั้นเทพนมอย่างละ ๒ ฐาน รองรับชั้นปราสาทที่ทำซ้อนกันเป็นชั้นๆ ๖ ชั้น แต่ละชั้นประดับบรรพ์แถลงหรือกลีบขนุนปรางค์ ลักษณะทรงกลีบขนุนปรางค์ทำแนบชิดกับองค์ปรางค์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการสืบต่อมาจากสมัยอยุธยา ถ้าเป็นของปราสาทขอมกลีบขนุนจะแยกห่างจากตัวปราสาท และมีลวดลายประดับ











ภายในพระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์ ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ, พระโกนาคม หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก, พระกัสสปะ หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้, พระโคตมหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก อยู่ในท่านั่งสมาธิหันหลังชนกัน อันเป็นอิริยาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอยู่ในคืนวันตรัสรู้ ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระปรางค์ ๓ ยอด ที่วัดพิชยญาติการามแห่งนี้






พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานบัวแข้งสิงห์ ส่วนบัวหงายมีลายกลีบบัว "บัวแวงหรือบัวเกสร" มีผ้าทิพย์ประดับด้านหน้า พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบพระเนตรบนป้ายเป็นแผ่น เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ถ่ายทอดมายังรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็กๆ พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายเพรียวบาง ท่านั่งสง่างาม







นอกจากนี้ยังเป็นที่บรรจุอัฐิของตระกูลบุนนาค ที่สำคัญคือ สมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์

(สมเด็จองค์ใหญ่ - ผู้สร้างวัดประยุรวงศาวาส) และสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ (สมเด็จองค์น้อย - ผู้สร้างวัดพิชยญาติการาม)





ซุ้มประตูปรางค์องค์ใหญ่





มองไปที่ปรางค์ปีกด้านตะวันออก




พระศรีอาริยเมตไตรย วัดพิชยญาติการาม

หรือพระศรีอาริย์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา ประดิษฐานในปรางค์ปีกด้านทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิประทับนั่งหันพระพักตร์ไปยังพระอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ในปรางค์ประธาน รับกับตติที่ว่าพระองค์ คือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในภัทรกัลป์นี้






พระพักตร์รูปแบบเดียวกับอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ สวมมงกุฎยอดแหลมทรงสูงประดับกรรเจียกจร การครองจีวร สังฆาฏิมีลวดลายที่ขอบผ้า มีเครื่องทรงอื่นๆ ได้แก่ กรองศอ สังวาล ๒ สายไขว้กันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กำไลต้นแขน (พาหุรัด) กำไลข้อมือ (ทองพระกร) และพระธำมรงค์







มองไปเห็นพระเจดีย์ พระอุโบสถ








เผาฟืน ?





ปรางค์ปีกทั้ง ๒ องค์





ดูปรางค์ประธานเป็นหลักค่ะ ฝั่งทิศตะวันออก - ตก




ปรางค์ทั้ง ๒ องค์ ตั้งอยู่บนลานประทักษิณเดียวกับปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ แต่แตกต่างจากปรางค์ประธาน อาคารจัตุรมุขประกอบด้วยส่วนฐานสิงห์ ลูกแก้วอกไก่รองรับ ลักษณะของอาคารจัตุรมุขลดส่วนลงจากอาคารประธาน ไม่มีชั้นยักษ์แบกและเทพนม หลังคาจัตุรมุขเหลือเพียง ๒ ชั้น ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์









พระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย

พระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย สลักบนแผ่นศิลาสำริด ที่อยู่คู่วัดมาเกือบ ๒๐๐ ปี ประดิษฐานด้านตะวันตกของพระปรางค์องค์ใหญ่ มีตำนานเล่าขานถึงกำเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอยว่า พระโคตมะพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ได้ทรงอธิษฐานว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้จะปรากฏเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้มากราบไหว้และสักการบูชา













ภาพสุดท้ายของตอนนี้ค่ะ





ข้อมูลเพิ่มเติม : หนังสือ งานช่าง สมัยพระนั่งเกล้าฯ โดย อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์


Create Date :06 มกราคม 2557 Last Update :6 มกราคม 2557 5:38:40 น. Counter : 7053 Pageviews. Comments :43