bloggang.com mainmenu search




วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


สวัสดีบ่ายวันอังคารค่ะ ไม่พูดเยอะ ต่อเลยนะคะ




พระปรางค์วัดอรุณ


พระปรางค์วัดอรุณ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร วัดอรุณเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง ชนิด "ราชวรมหาวิหาร" หนึ่งในจำนวนสี่วัดที่มีทั้งหมด ในกรุงเทพมหานคร คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ วัีดสุทัศน์เทพวราราม และวัดอรุณราชวราราม

















มุมมองจากสวนนาคราภิรมย์ ที่เคยถ่ายไว้ค่ะ











มุมที่อยู่ตรงหน้า เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลาบ่ายสามโมงค่ะ























พระปรางค์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชปรารภสร้างพระปรางค์ในวัดอรุณ ซึ่งเดิมสร้างสูง ๑๖ เมตรนั้น ให้สูงขึ้นอีก เพื่อเป็นศรีแก่พระนคร แต่พอทรงกำหนดแผนผังที่จะสร้างใน พ.ศ. ๒๓๖๓ ได้รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางรากบ้างแล้ว ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ดำเนินการสร้างพระปรางค์ต่อ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๕ พอสร้างเสร็จจนถึงยกยอดนภศูล และพระมหามงกุฏไว้บนยอด แต่ไม่ทันจัดงานฉลองก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดงานฉลองโดยสังเขป ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ ถมลานให้สูงขึ้นและทำรั้วเหล็ก โปรดฯ ให้จัดงานฉลองและทรงสถาปนาวัดอรุณราชวราราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก





























องค์พระปรางค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะรูปทรงและส่วนประกอบ ของพระปรางค์ สร้างได้ส่วนสัดสวยงาม สูง ๘๑.๘๕ เมตร วัดรอบฐาน ๒๓๔ เมตร ประกอบด้วยปรางค์เล็กล้อมอยู่ ๔ ทิศ และมีพระมณฑปอยู่ทั้ง ๔ ทิศ จากยอดพระปรางค์ลงไปหาฐาน มีสิ่งต่าง ๆ ตามลำดับคือ

- พระมหามงกุฏ

- นภศูล (บางแห่งเรียก "ลำภุขัน")

- พระนารายณ์แบก

- พญาครุฑแบก







































ซุ้มยอดปรางค์ประจำทิศ มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในทั้ง ๔ ทิศ กำแพงแก้วกั้นฐานทักษิณมี ๓ ชั้น ชั้นบนมีรูปเทวดาแบก ชั้นที่ ๒ มีรูปปั้นพญากระบี่ (ลิง) แบก ชั้นที่ ๓ มีรูปปั้นยักษ์แบก ตรงฐานมีซุ้มบรรจุตัวกินนร รูปปั้นติดผนังโดยรอบพระปรางค์เล็ก (สี่ทิศ) เป็นเครื่องประดับ พระปรางค์องค์ใหญ่ ภายในมีรูป พระพรายทรงม้าขาว เชิงบาตร มีรูปยักษ์และกระบี่แบกสลับกัน และในซุ้มล่าง บรรจุตัวกินนร ปูนปั้นติดผนังโดยรอบ ส่วนพระมณฑปประจำทิศ ก็มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ปางประสูติ ปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางเสด็จปรินิพพาน










































พระปรางค์ใหญ่เล็ก และพระมณฑปตกแต่งด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบ มีลวดลายที่ทำสำเร็จแล้วจากต่างประเทศ (ประเทศจีน เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงติดต่อค้าขายกับจีน) ส่วนที่เลาะจากถ้วยชามในเมืองไทย ถ้วยชามที่ยังคงรูปเดิมบ้าง และเปลือกหอยสีต่าง ๆ นำมาเลือก และเรียงติดเข้าเป็นลวดลาย รูปต่างๆ พระปรางค์วัดอรุณ ได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐






















































ไปไหว้พระกันต่อที่พระวิหารค่ะ



















ปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีน ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารนี้เป็นการเปรียญของวัดด้วย









































พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร



















มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้ และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งนี้































ภาพสุดท้ายของบล็อกนี้ค่ะ














ข้อมูลจาก //www.watarun.org/



//allknowledges.tripod.com/prangwatchaeng.html




บล็อกหน้า...ยังคงเป็นมหากาพย์ไหว้พระ ๓ วัดและยังอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามค่ะ




ขอบคุณทุกท่านที่แวะทักทายกัน










Create Date :30 สิงหาคม 2554 Last Update :30 สิงหาคม 2554 13:35:40 น. Counter : Pageviews. Comments :37