bloggang.com mainmenu search


เหตุที่ได้นามว่า "วัดพนัญเชิง"

๑. คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายว่า “นั่งขัดสมาธิ” ฉะนั้น คำว่า “วัดพนัญเชิง” “วัดพระแนงเชิง” หรือ “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายความถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั่นเอง

๒. เพราะการสร้างพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยเป็นประธานของวัด อาจเป็นลักษณะพิเศษจึงขนานนามวัดตามพระพุทธลักษณะที่สร้างเป็นปางมารวิชัยก็อาจเป็นได้ โดยเฉพาะพระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

๓. เพราะสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงจะนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต
ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว คำว่า “ วัดพนัญเชิง” ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงอาศัยเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้ไปต่าง ๆ กัน จึงโปรดให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิงไว้ดังนี้

“วัดพนัญเชิง” อีกคำหนึ่งว่า “วัดพระเจ้าพนัญเชิง” ให้คงเรียกอยู่อย่างเดิมอย่าอุตริเล่นลิ้น เรียกว่าผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองมาแต่ไหนๆมาแปลงว่าผนังเชิงก็ไม่เพราะ จะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร สำแดงแต่ความโง่ของผู้แปลงไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่า “พนัญเชิง” ด้วยเหตุไรประการหนึ่ง วัดนั้นเป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็เจ้าของเดิมตั้งชื่อนั้นไว้จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรก็ไม่รู้ มาแปลงขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็ไม่สู้จะสบาย ไม่พอที่ย้ายก็อย่ายกไปเลย ให้คงไว้ตามเดิมเถิด”










วัดพนัญเชิง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (จากคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่าเป็นพระอารามหลวงลำดับที่ ๑๕) อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ตำบลหอรัตนไชย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตอนใต้ของเกาะเมือง ทางราชการใช้ชื่อว่าตำบลคลองสวนพลู (หรือตำบลกะมัง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา










พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) เป็นชนิดพระปูนปั้นปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว สูงตลอดรัศมี ๙ วา ๒ ศอก ประดิษฐ์อยู่ในพระวิหารใหญ่ตามฝาผนังพระวิหารใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน ทำเป็นช่องๆ ไว้บรรจุพระพุทธรูป ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นพระขนาดเล็กตามภาษาชาวบ้านว่า “พระงั่ง” ในทำเนียบพระพุทธรูปกล่าวว่า สร้างเมื่อปีชวด พ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ๒๖ ปี แต่ไม่ได้ความว่าใครเป็นผู้สร้าง ได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื่องจากไฟไหม้ผ้าห่มพระพุทธไตรรัตนนายก ในพ.ศ.๒๔๔๔ ทำให้ชำรุดหลายแห่ง และซ่อมแซมเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีการทำอุณาโลมเปลี่ยนใหม่ยกขึ้นติดตามเดิมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.๒๕๔๙ กำลังจะดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่โดยจะทำการปิดทองใหม่ทั้งองค์ เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นที่น่าศรัทธาของพุทธศาสนิกชน











เห็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ อยู่ข้างบน เตรียมโยนผ้าที่ห่มลงมาแล้วค่ะ






พระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วย คือ ตามคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกนั้น พระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี เหตุนี้ประชาชนจึงมีความเคารพนับถือมาก ถึงหน้าเทศกาลได้ไปประชุมกันนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี





คนแย่งกันแตะจับ...เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ






ขั้นตอนการพับเก็บผ้า....สังเกตกองผ้าสิคะ ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน










ภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนี้ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ๓ องค์ เรียงจากซ้ายไปขวา ดังนี้

๒.๑ พระพุทธรูปทอง สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๔ ศอก ๓ นิ้ว
๒.๒ พระพุทธรูปปูนปั้น สมัยอยุธยาปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก ๑๑ นิ้ว
๒.๓ พระพุทธรูปนาก สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก













พระพุทธรูปทองและนาคนั้น สันนิษฐานว่าสร้างสมัยตอนปลายสุโขทัยราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมทีเดียวหุ้มปูนลงรักปิดทองไว้ เข้าใจว่าคงหุ้มมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางวัดจัดทำความสะอาดจึงได้พบรอยปูนกระเทาะออก เห็นว่าเป็นทองและนาค จึงได้กระเทาะปูนออกดังปรากฏเห็นอยู่ในทุกวันนี้









ปกติเวลามากราบหลวงพ่อโต...พอเสร็จเรียบร้อยก็จะกลับบ้านเลยเพราะคนเยอะ วันนี้เรามาถึงตอนเย็นแล้ว คนไม่ค่อยมี (เพราะไปตลาดน้ำอโยธยา และวิหารพระมงคลบพิตรก่อน เลยมาถึงซะเย็นค่ะ) คราวนี้...ลองเดินดูว่ามีอะไรบ้างค่ะ






ศาลเจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อกวนอูและเทพเจ้าอุ่ยท้อ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำด้านทิศเหนือของวัด ติดกับตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๙ เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระสังกัจจายน์ เจ้าแม่กวนอิม (พระโพธิสัตว์) เจ้าพ่อกวนอู(เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์)และเทพเจ้าอุ่ยท้อ (เทพเจ้าผู้คุ้มครองพระศาสนา) ซึ่งประชาชนให้ความเคารพนับถือมา









ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นศาลเจ้าของจีน ถือว่าเป็นที่สถิตของพระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาพระเจ้ากรุงจีนซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ตามที่กล่าวไว้ในตำนวนการสร้างวัด ชาวจีนเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย” ตั้งอยู่ริมน้ำด้านเหนือนอกกำแพงแก้ว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน มุขด้านหลังเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนตั้งแท่นบูชาและรูปเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ชั้นล่างตั้งแท่นบูชารูปเจ้าพ่อกวนอิม ใกล้ ๆ ศาลนี้มีสมอเรืออันหนึ่ง ชาวบ้านงมขึ้นมาจากท่าน้ำหน้าวัด กล่าวกันว่าเป็นสมอเรือของนางสร้อยดอกหมาก ปัจจุบันได้เก็บไว้ในศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากแล้ว ได้รับการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีการปั้นลวดลายประดับทั้งภายในและภายนอก ให้มีลักษณะแบบเก็งจีน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม




















ท่าเรือ และเลี้ยงปลาค่ะ








สำหรับคนที่มาทางเรือ จะมาขึ้นท่าหน้าวัดพนัญเชิงตรงนี้ค่ะ





สุดท้ายแล้วค่ะ....ดอกไม้ภายในบริเวณวัด





















บล็อกหน้า...ขอคั่นด้วยการพาไปกินอาหารเหนืออีกครั้งค่ะ


เพราะไม่งั้นก็จะมีซีรีส์ไหว้พระอีกหลายบล็อกแน่ๆ....


ขอบคุณข้อมูลจาก...//www.watphananchoeng.com


ขอบคุณบีจี คุณญามี่ค่ะ





Create Date :03 กันยายน 2553 Last Update :12 กรกฎาคม 2558 15:09:07 น. Counter : Pageviews. Comments :41